โจรสลัดบาร์บารี

โจรสลัดบาร์บารี (อังกฤษ: Barbary corsairs) เป็นโจรสลัดมุสลิมที่ก่อความไม่สงบในบริเวณแอฟริกาเหนือตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 11 ระหว่างสงครามครูเสดจนกระทั่งถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 บาร์บารีตั้งหลักแหล่งอยู่ตามเมืองท่าทางตอนเหนือของแอฟริกาเช่นตูนิส ตริโปลี แอลเจียร์ส ซาเล และเมืองท่าในโมร็อกโก และมักจะทำการรังควานในบริเวณฝั่งทะเลบาร์บารี[1] เหยื่อของบาร์บารีอยู่ในทะเลเมดิเตอเรเนียน ทางตอนใต้ตามชายฝั่งทะเลทางด้านมหาสมุทรแอตแลนติกของแอฟริกาตะวันตก และ ทางตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติกไปจนถึงไอซ์แลนด์ บาร์บารีมักจะเลือกโจมตีเรือของชาวยุโรปตะวันตกทางตะวันตกของทะเลเมดิเตอเรเนียน นอกจากนั้นก็ยังทำการโจมตีเมืองชายฝั่งทะเลของยุโรปและจับคริสเตียนเป็นทาสเพื่อขายให้แก่อิสลามในบริเวณเช่นแอลจีเรีย และ โมร็อกโก[2][3]

เฮย์เรดดิน บาร์บารอสซา

การโจมตีของบาร์บารีต่อเรือฝรั่งเศส สเปน และอังกฤษ และตามชายฝั่งทะเลในสเปนและอิตาลีทำให้ผู้คนละทิ้งจากบริเวณต่างๆ เหล่านั้นจนกระทั่งมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 โจรสลัดบาร์บารีจับชาวยุโรปราว 800,000 ถึง 1.25 ล้านคนไปเป็นทาส[2] ส่วนใหญ่จากหมู่บ้านตามชายฝั่งทะเลในอิตาลี สเปน และ โปรตุเกส และบางครั้งก็ในฝรั่งเศส อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ และไอซ์แลนด์ และบางครั้งก็ไปถึงอเมริกาเหนือ บาร์บารีที่มีชื่อเสียงที่สุดคือเฮย์เรดดิน บาร์บารอสซา และ โอรุค ไรส์ (Oruç Reis) ผู้มีอำนาจในแอลเจียร์สเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นการเริ่มการมีอิทธิพลของจักรวรรดิออตโตมันในแอฟริกาเหนือเป็นเวลาสี่ร้อยปี และเป็นการก่อตั้งศูนย์กลางของกิจการโจรสลัดในทะเลเมดิเตอเรเนียน

หลังจากสงครามนโปเลียนและการประชุมแห่งเวียนนาในปี ค.ศ. 1815 และการเข้าเกี่ยวข้องของรัฐนาวีของสหรัฐอเมริกาในสงครามบาบารีครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ. 1801 ถึงปี ค.ศ. 1805 และ ครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1815 เมื่อมหาอำนาจของยุโรปเห็นถึงความจำเป็นในการกำจัดอำนาจของโจรสลัดบาร์บารี หลังจากนั้นอำนาจของโจรสลัดบาร์บารีก็ลดถอยลง นอกจากนั้นฝรั่งเศสก็เข้ายึดบริเวณส่วนใหญ่ตามฝั่งทะเลบาร์บารีในคริสต์ศตวรรษที่ 19

อ้างอิง แก้

  1. A medieval term for the Maghreb after its Berber inhabitants.
  2. 2.0 2.1 "British Slaves on the Barbary Coast".
  3. "Jefferson Versus the Muslim Pirates by Christopher Hitchens, City Journal Spring 2007". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-25. สืบค้นเมื่อ 2009-08-15.

ดูเพิ่ม แก้