สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร (14 กันยายน พ.ศ. 2420 – 2 มกราคม พ.ศ. 2466) เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เป็นพระราชธิดาชั้นทูลกระหม่อมพระองค์แรกในรัชกาลที่ 5[1] มีพระโสทรานุชาพระองค์หนึ่ง คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต กล่าวกันว่าพระองค์เป็นเจ้านายผู้มีพระสิริโฉมงดงามเป็นที่สุด และเป็นพระราชธิดาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดปราน[1][2]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 5 เจ้าฟ้าชั้นเอก
กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร
ประสูติ14 กันยายน พ.ศ. 2420
พระบรมมหาราชวัง ประเทศสยาม
สิ้นพระชนม์2 มกราคม พ.ศ. 2466 (45 ปี)
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ประเทศสยาม
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

พระประวัติ

แก้

พระชนม์ชีพช่วงต้น

แก้
 
ทูลกระหม่อมหญิงเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ก่อนโสกันต์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 19 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เมื่อเวลา 09.21 น. ของวันศุกร์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 10 ปีฉลู นพศก จ.ศ. 1239 ตรงกับวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2420[1] ได้รับพระราชทานพระนามจากสมเด็จพระชนกนาถเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมปีเดียวกัน ดังปรากฏใน จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่ 5 ความว่า "เวลาบ่าย 5 โมงเศษไปสมโภชเดือนลูกฟ้าหญิง ให้ชื่อสุทธาทิพย์รัตนสุขุมขัติยกัลยาวดี..."[3] และรับพระราชทานพระสุพรรณบัตรเฉลิมพระนามเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2430[4] พระชนกนาถตรัสเรียกว่า "ลูกหญิง" ชาววังออกพระนามว่า "ทูลกระหม่อมหญิง" หรือ "ทูลกระหม่อมหญิงใหญ่" เนื่องจากพระองค์เป็นพระราชธิดาเจ้าฟ้าชั้นเอกพระองค์แรกในรัชกาล[1]

เล่ากันว่าก่อนที่พระองค์จะประสูตินั้น มีเจ้านายสตรีคือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ยังเป็นทาริกาอยู่ เล่าขานนิยมชมชื่นกันในหมู่ชาววังและเจ้านายว่ามีพระรูปโฉมสวยงามนัก ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชธิดาพระองค์นี้ ความที่ทูลกระหม่อมหญิงมีพระรูปโฉมงดงาม ถึงกับพระบิดารับสั่งกับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ว่า "ฉันไม่แพ้เธอแล้ว กรมพิชิต" หมายความว่าทรงมี "ลูกสาว" สวยไม่แพ้พระธิดากรมหลวงพิชิตฯ[5] แต่ที่สำคัญคือพระองค์มีพระพักตร์และพระรูปโฉมคล้ายคลึงกับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะเคยตรัสว่า "หน้าลูกหญิงเหมือนย่า พ่ออยากจุดธูปเทียนบูชาเหลือเกิน" และพระราชทานพระธำมรงค์ให้[6]

หม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล ทรงเล่าประทานไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร เมื่อทรงพระเยาว์นั้น ผิวพรรณขาวผุดผ่องไม่มีร่องรอยใด ๆ บนพระวรกายเลย จนเป็นที่เกรงกันในเวลานั้นว่าจะมีพระชนม์ไม่ยืน เมื่อมีพระชันษาได้หนึ่งปี วันหนึ่งขณะพระพี่เลี้ยงเชิญเสด็จขึ้นเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับพระองค์ส่งพระราชทานต่อพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ปลายพระขนงของพระองค์ได้กระแทกกับขอบพานจนเกิดแผลเป็น ทำให้ชาววังโล่งใจว่าทรงมีแผลเป็น และคงจะมีพระชนม์ยืน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทรทรงเข้ารับการศึกษาอย่างกุลสตรีชาววังตามโบราณราชประเพณีที่โรงเรียนราชกุมารีในพระบรมมหาราชวัง ทรงศึกษาวิชาภาษาไทยจากพระมารดา และพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)[7] และทรงศึกษาวิชาภาษาอังกฤษจากครูมีทินและครูทิมจนแตกฉาน[6]

หลังโสกันต์

แก้
 
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ทรงฉายคู่กับสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี พระมารดา

เมื่อพระชันษาได้ 11 ปี พระองค์ได้เข้าพระพิธีโสกันต์ เมื่อทรงเครื่องสวมชฎาแล้วพระบิดาถึงกับตรัสว่า "ลูกพ่องามปานเทวดา" และเมื่อมีขบวนแห่โสกันต์นั้นมีเกร็ดเชิงซุบซิบเล่าต่อกันมาว่า บรรดาชาวบ้านที่ได้มาเฝ้าชมขบวนแห่ครั้งนั้นต่างก็ออกปากว่า "ลูกท่านงามนัก เลยต้องแห่กันถึงเย็น" อันที่จริงแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวีทรงพระประชวรพระโรคปัจจุบันและได้บรรทมหนุนที่พระเพลาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปในพระราชพิธีไม่ได้ จึงทำให้พิธีแห่โสกันต์นั้นต้องเลื่อนไปถึงค่ำ[2] หลังพระราชพิธีโสกันต์ พระองค์ต้องงดเสด็จออกจากพระราชฐานฝ่ายในและทรงสะพักอย่างขัตติยราชนารี แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทรทรงกันแสง และทูลขอพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้รับสั่งให้พระองค์เป็นเด็กต่อ เพื่อที่จะถวายงานราชเลขานุการิณีรับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระชนกนาถที่ฝ่ายหน้าได้ต่อไป ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้เป็นตามนั้น แต่ทรงตรัสไว้ว่า "เมื่ออายุครบ 18 เมื่อใดพ่อจะไม่ยอมลูกหญิงอีก"[5][6]

หลังจากนั้นเป็นต้นมา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ทรงปฏิบัติตนเป็นเจ้านายฝ่ายในตามอย่างโบราณราชประเพณีอย่างเคร่งครัด ครั้นเจ้าคุณจอมมารดาสำลี ในรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นขรัวยายพิราลัยเมื่อ พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้บำเพ็ญกุศลศพของเจ้าคุณจอมมารดาภายในพระบรมมหาราชวัง เพราะ "เพื่อความสะดวกแก่ลูกหญิงไม่ต้องข้ามฟาก"[6]

ในราชสำนักยุโรปมักเรียกพระองค์ซึ่งเป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ว่า "ปรินเซสรอยัล" ซึ่งเทียบกับพระอิสริยยศ "สยามบรมราชกุมารี" ในปัจจุบัน[6] ครั้นวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2446 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี ขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายในมีพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร[8] เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์เดียวในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้รับพระราชทานกรมสูงสุดถึงกรมหลวง และพระนามกรมยังหมายความถึงกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นนามของเมืองหลวง[6]

การประชวรและการสิ้นพระชนม์

แก้

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ประชวรพระโรคที่พระปัปผาสะและสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 16.12 น. ของวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2465 (นับแบบปัจจุบันเป็น พ.ศ. 2466) สิริพระชันษา 45 ปี เวลา 17.30 น. ของวันถัดมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯมาพระราชทานน้ำหลวงสรงพระศพที่วังบางขุนพรหม เจ้าพนักงานเชิญพระศพลงพระลอง ประดิษฐานบนแว่นฟ้า 3 ชั้น ประกอบพระโกศกุดั่นใหญ่ยอดพุ่มเฟื่อง ตั้งเครื่องสูง 8 ชุมสาย 2 และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แล้วทรงทอดผ้าไตรเสร็จ พระสงฆ์สวดสดับปกรณ์แล้วถวายอนุโมทนา โปรดให้มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมทั้งกลางวันกลางคืนมีกำหนด 2 เดือน[9] ถึงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2466 เจ้าพนักงานเปลี่ยนพระโกศเป็นพระโกศทองใหญ่ เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาบำเพ็ญพระราชกุศล พระเทพมุนี (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) แสดงพระธรรมเทศนาหนึ่งกัณฑ์ วันที่ 4 ธันวาคม เวลา 13.00 น. เจ้าพนักงานเปลื้องพระโกศออก เชิญพระลองทรงพระศพขึ้นพระวอวิมานเทียมม้าออกจากวังบางขุนพรหมไปหยุดหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เชิญพระศพขึ้นพระเวชยันตราชรถ พระญาณวราภรณ์อ่านพระอภิธรรมนำขบวนเชิญพระศพไปยังพระเมรุท้องสนามหลวง ประกอบพระโกศจันทน์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า แสดงพระธรรมเทศนาหนึ่งกัณฑ์ เวลา 17.50 น. จึงพระราชทานเพลิงพระศพ[10]

ชีวิตส่วนพระองค์

แก้

พระจริยวัตร

แก้
 
จากซ้าย: สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี, เจ้าคุณจอมมารดาสำลี ในรัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

หม่อมราชวงศ์สุดใจ บรรยงกะเสนา ผู้ที่ได้มาพึ่งพระบารมีทูลกระหม่อมหญิงมาตั้งแต่อายุ 11 ปี จนถึงสิ้นพระชนม์ ได้เขียนเล่าถึงทูลกระหม่อมหญิงว่า "ยังมิได้เล่าถึงพระรูปพระโฉมที่งดงามยิ่ง เมื่อทรงพระเจริญพระชันษาแล้ว ทูลกระหม่อมแดง (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) ยังทรงชมว่า "พี่หญิงช่างงามจริง แม้ท่าบ้วนน้ำหมากก็ไม่เหมือนใคร" ส่วนพระมรรยาท พระอิริยาบถ ก็ได้ยินแต่คนสรรเสริญ และยอพระเกียรติ ว่าด้วยพระกุศลที่ได้ทรงทำไว้แต่หนหลังบันดาลให้งามพร้อมทั้งพระรูปโฉม พระนิสัย และน้ำพระทัย เป็นยอดขัตติยนารี"

หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล บันทึกไว้เมื่อคราวเกศากันต์ความว่า "ข้าพเจ้าพอใจจะอยู่กับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร เมื่ออยู่ในวังเคยทรงเล่าประทานว่า ข้าพเจ้าไปเดินตามทูลกระหม่อมหญิงติดอกต้องใจที่จะอยู่กับท่าน ไปงานในวังครั้งใดก็มุ่งที่จะไปเฝ้าทูลกระหม่อมนี้อยู่เสมอ"[6] ส่วนหม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล บันทึกเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทรไว้ว่า "ในชั่วชีวิต 5 ขวบของข้าพเจ้า ยังไม่เคยเห็นใครที่งามและน่ารักเหมือนพระองค์ท่านเลย"[6]

แต่สำหรับในสายตาเด็ก ๆ อย่างพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงมองว่าทูลกระหม่อมหญิงนั้น "งามมาก แต่ค่อนข้างน่ากลัว" เนื่องจากเป็นพระราชธิดาชั้นทูลกระหม่อมพระองค์ใหญ่จึงเป็นชั้น "พระปิตุจฉา" ของเจ้านายชั้นพระราชนัดดาในรัชกาลที่ 5 เป็นส่วนมาก เมื่อพระบิดาตรัสเรียกว่า ลูกหญิง และผู้อื่นตรัสเรียกและระบุถึงว่า ทูลกระหม่อมหญิง เจ้านายชั้นพระภาติยะบางพระองค์จึงเผลอพระองค์ตรัสเรียกว่า ทูลกระหม่อมป้าหญิง ดังเช่นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือเรื่อง เกิดวังปารุสก์ เล่ม 1 ว่า "ทูลกระหม่อมหญิงนั้น ทรงงามมาก แต่ค่อนข้างน่ากลัว" และเมื่อวันหนึ่งพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ตรัสเรียกทูลกระหม่อมหญิงว่า ทูลกระหม่อมป้าหญิง ก็ทรงถูกตำหนิว่า "อะไร ทูลกระหม่อมป้าชายมีที่ไหน"[6]

ความสนพระทัย

แก้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทรโปรดของสวยงาม พระองค์มีพระปรีชาสามารถด้านการถักนิตติง (Knitting) และแท็ตติง (Tatting) จนได้รับรางวัลประจำปีวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร นอกจากนี้พระองค์ยังโปรดการจัดดอกไม้ ร้อยดอกไม้[7] โดยทรงแปลงวิธีปักดอกไม้ขวดซึ่งแต่เดิมจะปักเสมอกันเป็นพุ่มมาแบบสูงข้างต่ำข้าง และปักใบไม้แซมหรือปล่อยให้ดอกห้อยลงมาบ้างกระจายกันไป พระองค์เป็นผู้ประดิษฐ์พวงมาลัยที่ผูกห้อยจากริบบินเป็นพระองค์แรก[6] พระองค์โปรดการถ่ายภาพ สามารถล้างและอัดภาพได้ด้วยพระองค์เอง[7] โดยภาพถ่ายของพระองค์ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดประจำปีด้วยเช่นกัน[6]

พระองค์มีพระนิพนธ์จำนวนหนึ่ง หนึ่งในนั้นคือ "ฉันท์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์" ในรูปแบบอินทรวิเชียรฉันท์ 11 ปรากฏในหนังสือ กลอนจารึกแต่งประทีปที่บางปะอิน เมื่องานรัชฎาภิเศกในรัชชกาลที่ 5 ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2464[7]

พระกรณียกิจ

แก้
 
ขณะตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อคราเสด็จประพาสชวา พ.ศ. 2444

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทรทรงรับราชการเป็นราชเลขานุการิณีในพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและได้มีโอกาสตามเสด็จประพาสต้นหลายครั้ง[11] รวมทั้งตามเสด็จประพาสชวา ซึ่งได้โดยเสด็จออกแขกเมืองร่วมกับพระบิดา เมื่อพระบิดากำลังเสวยเครื่องและทรงงานไปด้วย จะมีรับสั่งให้พระองค์ทรงอักษรตามพระราชดำรัสสั่งงาน[12]

พระกรณียกิจด้านสาธารณกุศลนั้น พระองค์ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อร่วมก่อตั้งสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม (สภากาชาดไทย) และยังทรงดำรงตำแหน่งอุปนายิกาสภาอุณาโลมแดง ร่วมกับเจ้านายฝ่ายในอีกหลายพระองค์ เช่น สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี, พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา, พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา[13]

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเงิน 200,000 บาท ในโอกาสคล้ายวันประสูติเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2460 ในการสร้างตึกสุทธาทิพย์ ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย[14] นับเป็นพระราชวงศ์ฝ่ายในพระองค์แรกที่ทรงบริจาคทรัพย์สร้างตึกถึง 200,000 บาท นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงดำรงตำแหน่งสมาชิกพิเศษของสภากาชาดไทย เนื่องจากพระกรณียกิจที่พระองค์เป็นผู้อุปถัมภ์ช่วยเหลือกิจการสภากาชาดมาโดยตลอด[15]

พระเกียรติยศ

แก้
ธรรมเนียมพระยศของ
กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร
 
ธงประจำพระอิสริยยศ
 
ตราประจำพระองค์
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพะยะค่ะ/เพคะ

พระอิสริยยศ

แก้
  • 14 กันยายน พ.ศ. 2420 – 14 ตุลาคม พ.ศ. 2420 : สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิง
  • 14 ตุลาคม พ.ศ. 2420 – 9 สิงหาคม พ.ศ. 2446 : สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี
  • 9 สิงหาคม พ.ศ. 2446 – 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 : สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร[16]
  • 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 – 2 มกราคม พ.ศ. 2466 : สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร[17][18]
  • 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร[19]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของตระกูลต่าง ๆ ดังต่อไปนี้[9]

พระอนุสรณ์

แก้
  • ตึกสุทธาทิพย์ ตั้งอยู่ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นตึกที่สร้างขึ้นจากการบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเงิน 200,000 บาท เนื่องในโอกาสคล้ายวันประสูติเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2460
  • เรือสุทธาทิพย์ เป็นเรือกลไฟเหล็กของบริษัท Siam Steam Navigation ตั้งชื่อตามพระนาม "สมเด็จเจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์" ปัจจุบัน เรือสุทธาทิพย์ได้จมลงระหว่างเกาะโรงโขนกับเกาะจวง เนื่องจากถูกระเบิดจากเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร [26]

พงศาวลี

แก้

อ้างอิง

แก้
เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5, หน้า 103-104
  2. 2.0 2.1 หอมติดกระดาน, หน้า 191
  3. พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5, หน้า 105
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระราชทานพระสุพรรรณบัตร สถาปนาพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน ขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุธาทิพยรัตน์, เล่ม 4, ตอน 38, 6 มกราคม จ.ศ. 1887, หน้า 304
  5. 5.0 5.1 "รัชกาลที่ 5 รับสั่ง"ฉันไม่เธอแพ้แล้ว"เมื่อทรงมี"ลูกสาวสวย"ไม่แพ้กรมหลวงพิชิตปรีชากร". ศิลปวัฒนธรรม. 11 พฤศจิกายน 2562. สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 6.10 "ตำนานใน "กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร" พระราชธิดาที่ร.5 ออกพระโอษฐ์ "งามเหมือนเทวดา"". ศิลปวัฒนธรรม. 13 เมษายน 2563. สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์ และพลตรี หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี (13 เมษายน 2563). "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน สุขุมขัตติยกัลยาวดี". นามานุกรมวรรณคดีไทย. สืบค้นเมื่อ 4 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการประกาศตั้งกรม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฝ่ายใน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี เก็บถาวร 2012-06-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 20, ตอน 19, 9 สิงหาคม พ.ศ. 2446, หน้า 312
  9. 9.0 9.1 ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสิ้นพระชนม์ เก็บถาวร 2009-02-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 39, ตอน ง, 7 มกราคม พ.ศ. 2466, หน้า 2779
  10. "การพระเมรุท้องสนามหลวง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 40 (ง): 4000–4011. 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2466. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  11. http://valuablebook.tkpark.or.th/pdf/annals.pdf[ลิงก์เสีย] จดหมายเหตุการเสด็จประพาสต้นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
  12. หอมติดกระดาน, หน้า 75-76
  13. "อุปนายิกาสภาอุณาโลมแดง". สภากาชาดไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-31. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  14. วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย[ลิงก์เสีย]
  15. พิพิธภัณฑ์มีชีวิต สภากาชาดไทย[ลิงก์เสีย], สืบค้นวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
  16. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-06-04. สืบค้นเมื่อ 2007-12-15.
  17. "พระบรมราชโองการ ประกาศคำนำพระนามพระบรมวงศานุวงษ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 (ก): 1. 30 ตุลาคม 2453.
  18. "พระบรมราชโองการ ประกาศคำนำพระนามพระบรมวงศานุวงษ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 28 (ก): 154. 30 กรกฎาคม 2454.
  19. "ประกาศ คำนำพระนามพระบรมวงศานุวงศ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 52 (0ง): 1179–1180. 14 กรกฎาคม 2478.
  20. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวพระราชพิธีโสกันต พระราชพิธีโสกันตพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุธาทิพยรัตน และพระราชทานพระสุพรรณบัตรและเครื่องราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ฟ้าสุธาทิพยรัตน, เล่ม 4, ตอน 38, 6 มกราคม จ.ศ. 1249, หน้า 300
  21. ราชกิจจานุเบกษา, การเฉลิมพระสุพรรณบัตร เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 20, ตอน 19, 9 สิงหาคม ร.ศ. 122, หน้า 307
  22. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม 10, ตอน 35, 26 พฤศจิกายน ร.ศ. 112, หน้า 374
  23. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ฝ่ายใน เก็บถาวร 2015-10-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 21, ตอน 32, 6 พฤศจิกายน ร.ศ. 123, หน้า 570
  24. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบันฝ่ายใน เก็บถาวร 2011-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 25, ตอน 39, 27 ธันวาคม ร.ศ. 127, หน้า 1153
  25. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบัน ฝ่ายใน, เล่ม 29, ตอน 0 ง, 22 มกราคม ร.ศ. 131, หน้า 2444
  26. ดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์. "เรือจมสุทธาทิพย์". สืบค้นเมื่อ 8 กันยายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
บรรณานุกรม
  • สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ราชสกุลวงศ์. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2554. 296 หน้า. หน้า 69. ISBN 978-974-417-594-6
  • จิรวัฒน์ อุตตมะกุล, นายแพทย์. พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : ลายคำ, 2552. 600 หน้า. ISBN 978-974-9747-52-0
  • ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. หอมติดกระดาน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553. 394 หน้า. ISBN 978-974-02-0643-9

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้