วังบางขุนพรหม เป็นวังที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ต้นราชสกุลบริพัตร และ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี พระมารดา วังบางขุนพรหมอยู่ในเนื้อที่ 33 ไร่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทางทิศใต้ของวังเทวะเวสม์ วังบางขุนพรหม มีตำหนักรวม 2 ตำหนัก ได้แก่ ตำหนักใหญ่ และตำหนักสมเด็จ โดยตำหนักใหญ่ ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2444 โดยการออกแบบของคาร์ล ซันเดรสกี สถาปนิกชาวเยอรมัน แต่ไม่แล้วเสร็จ จึงได้มารีโอ ตามัญโญ สถาปนิกที่มีชื่อเสียงชาวอิตาลี มาดำเนินการออกแบบจนแล้วเสร็จ ส่วนตำหนักสมเด็จ เป็นตำหนักที่เพิ่มเติมติดกับตำหนักใหญ่ ได้รับการออกแบบโดยคาร์ล เดอห์ริง สถาปนิกชาวเยอรมัน ในปี พ.ศ. 2454

วังบางขุนพรหม
วังบางขุนพรหม มุมมองจากสะพานพระราม 8
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปลี่ยนสภาพ
ประเภทวัง
สถาปัตยกรรม
ที่ตั้งแขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร
เมือง กรุงเทพมหานคร
ประเทศ ไทย
เริ่มสร้าง
  • ตำหนักใหญ่
    (พ.ศ. 2444 - 2449)
  • ตำหนักสมเด็จ
    (พ.ศ. 2454 - 2456)[1]
เจ้าของธนาคารแห่งประเทศไทย
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างโครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน ผนังรับน้ำหนัก มีโครงสร้างหลังคาไม้เนื้อแข็ง[2]
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกตำหนักใหญ่

ตำหนักสมเด็จ

  • คาร์ล เดอห์ริง
วิศวกร
  • เอมิลโย โจวันนี อูเจนโย กอลโล
  • คาร์โล อันเลกรี
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนวังบางขุนพรหม (ธนาคารแห่งประเทศไทย)
ขึ้นเมื่อ14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0000063
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทย

ภายหลังสร้างแล้วเสร็จได้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี จนถึงปี พ.ศ. 2470 จนการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 วังแห่งนี้ได้ตกเป็นของรัฐบาล กลายเป็นสถานที่ราชการต่างๆ ทั้ง กรมยุวชนทหารบก สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ และตั้งแต่ พ.ศ. 2488 จนถึงปัจจุบัน วังบางขุนพรหม เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย[3]

ภายในวังบางขุนพรหมมี ห้องสีชมพู และห้องสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นห้องที่ได้รับการตกแต่งอย่างหรูหรา วิจิตร และมีชื่อเสียงที่สุด เดิมเป็นห้องรับแขกสำคัญ และบำเพ็ญพระกุศลของวังบางขุนพรหม ปัจจุบันจัดแสดง ภาพเขียน ภาพถ่ายเจ้านายในราชสกุลบริพัตร สิ่งของ เครื่องใช้ในวังบางขุนพรหม เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต[4]

ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมตามแบบตะวันตกทั้ง นีโอ-บารอก โรโกโก อาร์นูโว และ อาร์ตเดโค ทำให้วังบางขุนพรหม ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในวังที่สวยที่สุดเมืองไทย[5] และเป็นวังที่สถาปัตยกรรมบารอกและโรโคโค ที่สมบูรณ์ที่สุด

ประวัติ แก้

วังบางขุนพรหมนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมจัดซื้อที่ดินพระราชทานแด่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เมื่อ พ.ศ. 2442 ใช้เป็นที่ประทับ และยังเป็นสถานที่จัดงานสโมสรสันนิบาต ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองหลายครั้ง นอกจากนี้ยังใช้เป็นที่จัดงานสังสรรค์ของพระบรมวงศานุวงศ์ และเป็นสถานที่ให้ครูชาวต่างประเทศใช้จัดสอนวิชาต่าง ๆ ให้กับพระธิดาและเจ้านายฝ่ายในของวังอื่น ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีชื่อเรียกกันในสมัยนั่นว่า "บางขุนพรหมยูนิเวอร์ซิตี้"

ซึ่งวังบางขุนพรหม ได้รับการยอมรับว่าเป็นวังที่ประทับของเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า ที่ถือว่าใหญ่โตที่สุด โอ่อ่าที่สุด ทำให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้ที่ประทับ ได้รับสมัญญานามจากคนทั่วไปว่า "เจ้าฟ้าวังบางขุนพรหม" หรือ"จอมพลบางขุนพรหม"[6]

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้ย้ายออกจากวังบางขุนพรหม เสด็จฯไปประทับอยู่ที่ตำหนักประเสบัน เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย อย่างกะทันหันและประทับอยู่ที่นั่นจนสิ้นพระชนม์ ภายหลัง จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีแนวคิดจะคืนวังบางขุนพรหมให้แก่พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร ทายาทของเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ โดยจะให้พลโทประยูร ภมรมนตรี เป็นคนกลางถือจดหมาย แต่พลโทประยูรไม่เห็นด้วยและเอาจดหมายไปเก็บไว้เอง

วังบางขุนพรหม ได้ใช้เป็นที่ตั้งของกรมยุวชนทหาร สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ และหน่วยงานราชการอีกหลายแห่ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2488 ธนาคารแห่งประเทศไทยเช่าวังบางขุนพรหมเป็นที่ทำการธนาคารจากกรมธนารักษ์ ใน พ.ศ. 2502 จึงได้จัดซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด โดยแลกกับบ้านมนังคศิลา ในราคา 39.185 ล้านบาท

เมื่อ พ.ศ. 2496 มีการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ก็จัดตั้งสำนักงาน บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด และ ทำการถ่ายทอดจากที่นี่ เมื่อ พ.ศ. 2498 เรียกว่า สถานีโทรทัศน์ ไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม ย้ายออกไปใน พ.ศ. 2520 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. และ โมเดิร์นไนน์ ทีวี ตามลำดับ

สถาปัตยกรรม แก้

วังบางขุนพรหม ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบเรอเนซองส์ ผสมผสานกับลวดลายศิลปะแบบนีโอ-บารอก ประตูวังสร้างด้วยเหล็กดัดและเสาปูนประดับลวดลายปูนปั้นที่งดงาม กึ่งกลางสนามมีน้ำพุประดับขอบบ่อด้วยรูปเงือกฝรั่งชายหญิงและสัตว์น้ำต่างๆ

  • ตำหนักใหญ่ หรือ ตำหนักทูลกระหม่อม ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. 2449 ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียน นายมาริโอ ตามาญโญ ศิลปะสถาปัตยกรรมแบบ บาโรก และโรโกโก เป็นตึก 2 ชั้น ที่ปลายปีกอีกด้านหนึ่งเป็นหอกลม 3 ชั้น ความงามของตึกจะอยู่ที่ลักษณะเสาชนิดต่าง ๆ ทั้งเสากลม เสาเหลี่ยม เสาแบน เสาบิดเป็นเกลียว ตามหัวเสาประดับด้วยลวดลายปูนปั้น หน้าต่างมีหลายแบบ มีหน้าต่างรูปไข่ ล้อมด้วยลายปูนปั้นรูปดอกคัทลียา และหน้าต่างรูปครึ่งวงกลมมีรูปเครือไม้และผลไม้ หลังคาเป็นแบบทรงมังซาร์ด
  • ตำหนักสมเด็จ สร้างขึ้นภายหลังประมาณ พ.ศ. 2456 เพื่อเป็นที่ ประทับของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ออกแบบโดย นายคาร์ล เดอริง (Karl Dohring) สถาปนิกชาวเยอรมัน ผู้ออกแบบพระราชวังบ้านปืน จังหวัดเพชรบุรี และวังวรดิศ ถนนหลานหลวง มีลักษณะ ศิลปะสถาปัตยกรรม แบบอาร์ตนูโว และอาร์ตเดโค มีจุดเด่นที่หลังคาเป็นแบบ จั่วสูงหัวตัด
  • ตำหนักหอ เป็นเรือน 2 ชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูนเป็นผนัง ชั้นบนเป็นไม้สัก ชั้น 3 ใช้เป็นห้องประทับ หลังคามุงกระเบื้องสามเสน ก่อสร้างเป็นตำหนักแรก เพื่อให้ทรงใช้เป็นที่ประทับเมื่อทรงเดินทางกลับจากประเทศเยอรมนีใน พ.ศ. 2446 ออกแบบโดยพระสถิตย์นิมานการ ต่อมาได้สร้างห้องเครื่อง (ห้องครัว) เพิ่มเติม
  • ตำหนักน้ำ เป็นตำหนักไม้อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่ทรงพระอักษร ห้องบรรทม และเป็นที่เสด็จลงเรือเมื่อครั้งยังทรงดำรงตำแหน่งอยู่กระทรวงทหารเรือ
  • ศาลาแตร เป็นศาลาวงกลม สร้างแบบยุโรปเรียกกันว่า "กระโจมแตร" ใช้เป็นที่ตั้งวงดนตรีแตรวงของทหารเรือ ทหารบก เมื่อมีการเลี้ยงต้อนรับแขก[7]

[8][9][10]

อ้างอิง แก้

  1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรศรี โพวาทอง, เอกสารคำสอน รายวิชา 2501296 มรดกสถาปัตยกรรมไทย, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้าที่ 104 .สืบค้นเมื่อ 08/05/2560
  2. เยือนวังบางขุนพรหม ชมความงามสถาปัตยกรรมเก่าแก่อายุนับ 100 ปี, travel.kapook.com/ .วันที่ 3 เม.ย. 2557
  3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรศรี โพวาทอง, เอกสารคำสอน รายวิชา 2501296 มรดกสถาปัตยกรรมไทย, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้าที่ 100 .สืบค้นเมื่อ 08/05/2560
  4. วังบางขุนพรหม วังเทวะเวสม์ 2 สุดยอดพิพิธภัณฑ์“ไฮเทค” เก็บถาวร 2017-12-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ผู้จัดการออนไลน์ .วันที่ 16 ส.ค. 2549
  5. วังบางขุนพรหม อลังการงานศิลป์...สงบงามเหนือกาลเวลา, chillpainai.com .สืบค้นเมื่อวันที่ 08/05/2560
  6. นักการเมืองไร้แผ่นดิน, คอลัมน์ เรื่องเก่าเล่าใหม่ โดย โรม บุนนาค. หน้า 65-66 นิตยสาร all ฉบับเดือนมกราคม พ.ศ. 2550
  7. "วังบางขุนพรหม" 100 ปี แห่งความทรงจำ
  8. "พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-29. สืบค้นเมื่อ 2008-05-23.
  9. "วังบางขุนพรหม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-12. สืบค้นเมื่อ 2006-06-12.
  10. "บันทึกวัฒนธรรม: "วังบางขุนพรหม" ยูนิเวอร์ซิตี้...แห่งสยาม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-05-24. สืบค้นเมื่อ 2006-06-12.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°46′06″N 100°30′00″E / 13.768236°N 100.500022°E / 13.768236; 100.500022