สนั่น เกตุทัต
สนั่น เกตุทัต (14 กรกฎาคม พ.ศ. 2458 – 11 มีนาคม พ.ศ. 2548) ผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์[1] อดีตปลัดและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เคยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516[2]
สนั่น เกตุทัต | |
---|---|
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง | |
ดำรงตำแหน่ง 30 พฤษภาคม – 5 พฤศจิกายน 2517 | |
นายกรัฐมนตรี | สัญญา ธรรมศักดิ์ |
ก่อนหน้า | เยื่อ สุสายัณห์ |
ถัดไป | ประมุท บุรณศิริ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2458 บ้านถนนนครสวรรค์ อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 11 มีนาคม พ.ศ. 2548 (89 ปี) |
เชื้อชาติ | ไทย |
คู่สมรส | สัจจา เกตุทัต |
บุตร | 2 คน |
บุพการี |
|
ศิษย์เก่า | มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง |
อาชีพ | |
วิชาชีพ | ข้าราชการพลเรือน |
ประวัติ
แก้อาจารย์สนั่น เกตุทัต เกิดเมื่อวันพุธที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2458 ณ บ้านถนนนครสวรรค์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรคนที่ 4 ในบรรดาพี่น้องรวม 7 คน ของพระพิเรนทรเทพบดีศรีสมุห (เนียน เกตุทัต) กับ นางสงวน เกตุทัต (วิริยศิริ) บิดารับราชการกระทรวงมหาดไทย[3] เมื่ออาจารย์สนั่นอายุประมาณ 6 - 7 ขวบ บิดาย้ายไปเป็นตำรวจรักษาพระองค์อยู่กระทรวงวัง และเช่าบ้านในตรอกวัดสามพระยา จึงได้เข้าเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ที่โรงเรียนวัดสามพระยา
อาจารย์สนั่นเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดสามพระยาจนจบชั้นมัธยมปีที่ 3 จึงย้ายไปเรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ 4 ที่โรงเรียนวัดราชาธิวาส ซึ่งเป็นช่วงที่บิดาปลูกบ้านใหม่อยู่ในซอยวัดราชาธิวาสใกล้ๆกับวัด และไปเรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ 6 ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ชีวิตในวัยรุ่นของอาจารย์สนั่นเป็นชีวิตที่รื่นรมย์ สนุกสนาน ชีวิตอยู่กับแม่น้ำเจ้าพระยา ชอบเล่นน้ำ เล่นกีฬามาก จนไม่มีเวลาอ่านหนังสือทำให้สอบตกในชั้นมัธยมปีที่ 7 และสอบตกอีกเมื่อเรียนชั้นมัธยมปีที่ 8 แต่ด้วยความมานะและตั้งใจจริงอันเป็นนิสัยติดตัวมาตั้งแต่เด็ก ทำให้สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 8 ได้ใน พ.ศ. 2476
พ.ศ. 2478 เข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง สอบได้เป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตในปี พ.ศ. 2481 และมีคะแนนสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 ระดับประเทศของผู้สำเร็จการศึกษาทั้งหมด 69 คน
เมื่อจบชั้นมัธยมปีที่ 8 ไปสมัครเข้าทำงานในตำแหน่งเสมียนกองล่ามและชวเลข สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ 20 บาท และย้ายไปเป็นเสมียนประจำกรมการศาลฎีกา (ผู้พิพากษาศาลฎีกา) กระทรวงยุติธรรม ประจำตัวพระยาพลางกูรธรรมวิจัย ทำงานในตำแหน่งนี้เกือบ 4 ปี ได้รับพระราชทานเงินเดือนขึ้นปีละ 2 บาท ในขณะนั้นกำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองด้วย ต่อมาทำงานด้านนกฎหมาย สำนวน คดีความ คำพิพากษา ตลอดจนรวบรวมคำพิพากษาฎีกาต่าง ๆ ไว้มากมาย ต่อมาได้สละสิทธิ์ตำแหน่งจ่าศาลที่แม่ฮ่องสอน เพราะบิดาของท่านทัดทานไว้เนื่องจากเห็นว่าเป็นจังหวัดที่อยู่ห่างไกลติดต่อสื่อสารและไปมาหาสู่กันลำบาก
ใน พ.ศ. 2482 กรมสรรพากรประกาศรับสมัครบุคคลที่เป็นธรรมศาสตร์บัณฑิต หรือเนติบัณฑิต เข้ารับราชการในตำแหน่งที่ต้องใช้วิชากฎหมายประจำกองข้าหลวงตรวจการสรรพากรภาค จำนวน 5 คน เพื่อไปประจำตามภาคต่างๆ มี 5 ภาค อาจารย์สนั่นไปสมัครสอบและสอบได้เป็นอันดับที่ 2 มีสิทธิ์ได้เลือกไปประจำภาคตามความสมัครใจของผู้สอบได้อันดับต่างๆ อาจารย์สนั่นตัดสินใจเลือกอยู่กองข้าหลวงตรวจการ จึงได้เริ่มงานที่กระทรวงการคลังในตำแหน่งสรรพากรภาค 3 จังหวัดนครราชสีมา ภายหลังจากจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และได้กลับมาสมรสกับนางสาวสัจจา จันทรวณิค ที่กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2485 ต่อมาได้ย้ายไปประจำแผนกกองตรวจการสรรพากร ภาค 4 จังหวัดมหาสารคาม จนมีบุตรชายคนแรก คือ เด็กชายณรงค์ เกตุทัต (คุณณรงค์ เกตุทัต กรรมการอำนวยการมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์)
พ.ศ. 2486 - 2495 อาจารย์สนั่น เกตุทัต ได้ย้ายมาประจำในกรุงเทพมหานคร และทำงานในตำแหน่งหัวหน้าแผนกภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำกรมสรรพากร ในเขตสรรพากรภาค 1 เป็นงานที่หนักมาก เพราะจำนวนผู้เสียภาษีในเขตสรรพากรภาค 1 มีถึง 17 จังหวัด และเป็นช่วงเวลาที่กำลังมีสงครามมหาเอเชียบูรพา อาจารย์สนั่นจึงอพยพครอบครัวหลบภัยไปอยู่ตามที่ต่างๆ หลายแห่ง ครั้งสุดท้ายอพยพไปอยู่ในคลองบางระมาด ฝั่งธนบุรี และ ณ ที่นี้ อาจารย์สนั่นได้มีบุตรอีกหนึ่งคน คือ เด็กหญิงสมศรี เกตุทัต (อาจารย์สมศรี (เกตุทัต) ลัทธพิพัฒน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และกรรมการอำนวยการมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์)
อาจารย์สนั่นทำงานในแผนกภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่หลายปี จึงได้เลื่อนชั้นรับตำแหน่งใหม่เป็นหัวหน้ากองนิติการ ทำหน้าที่ด้านกฎหมายโดยเฉพาะ และในปี พ.ศ. 2497 ได้ไปดำรงตำแหน่งสรรพากรภาค 7 (นครปฐม) อีกตำแหน่งหนึ่ง เนื่องจากกรมสรรพากรได้ขยายภาคจาก 5 ภาค ขึ้นเป็น 9 ภาค ทำให้ต้องเดินทางไปทำงานไปมาทั้งสองแห่ง ผลจากการที่ได้ทำงานหลายหน้าที่จึงได้เลื่อนชั้นเป็นนิติกรพิเศษ แล้วเลื่อนตำแหน่งต่อไปเป็นผู้อำนวยการกองนิติการ ในปี พ.ศ. 2499 ขณะมีอายุ 41 ปี ช่วงเวลาที่อยู่กองนิติการนี้ อาจารย์สนั่นได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์พิเศษในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ได้แก่ วิทยาลัยกรุงเทพการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหน้าที่สอนวิชากฎหมายภาษีอากร ให้นักศึกษาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ทำให้อาจารย์สนั่น ได้นำความเป็น “ครู” ไปใช้ในการทำราชการด้วย
อาจารย์สนั่น ทำงานด้านภาษีอากรหลายปี จนในปี พ.ศ. 2508 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น รองอธิบดีกรมสรรพากรฝ่ายปราบปรามที่ดูแลควบคุมการจัดเก็บภาษีอากรทุกประเภททั่วราชอาณาจักร โดยทำงานในตำแหน่งรองอธิบดีกรมสรรพากรอยู่ 4 ปีและในปี พ.ศ. 2511 ได้รับแต่งตั้งให้เป็น อธิบดีกรมธนารักษ์ ซึ่งต้องดูแลทรัพย์สินของแผ่นดินทั่วประเทศ ตลอดจนควบคุม ดูแลเกี่ยวกับการผลิตเหรียญกษาปณ์ทุกชนิด อาจารย์สนั่นได้ขยายงานโดยกำหนดให้มีเจ้าหน้าที่กรมธนารักษ์ประจำจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบไปยังจังหวัดต่างๆ อาจารย์สนั่นเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์จนถึง พ.ศ. 2515 ตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรว่างลง ปลัดกระทรวงการคลังขณะนั้น คือ คุณบุญมา วงษ์สวรรค์ ประสงค์จะให้อาจารย์สนั่นไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร อาจเป็นเพราะได้เห็นผลงาน และความสามารถของอาจารย์สนั่นเกี่ยวกับการดูแลจัดเก็บภาษีที่กรมสรรพากรมาแล้ว อาจารย์สนั่นจึงต้องไปรับตำแหน่ง อธิบดีกรมศุลกากร ในปีพ.ศ. 2515 ทำหน้าที่ควบคุมและจัดเก็บภาษีเกี่ยวกับสินค้านำเข้าและสินค้าส่งออกบางชนิด ควบคุมและปราบปรามการลักลอบสินค้านำเข้าโดยไม่เสียภาษีของกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งเป็นงานที่ไม่ยาก แต่ค่อนข้างเสี่ยงอันตราย อาจารย์สนั่นเป็นอธิบดีกรมศุลกากรได้เพียงปีเศษๆ ปลายปี พ.ศ. 2516 อาจารย์ได้รับโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งสูงสุดของการเป็นข้าราชการประจำ และในช่วงเวลาไม่ห่างกันเท่าใดนัก อาจารย์ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
หลังจากที่ทำงานในตำแหน่งปลัดกระทรวงผ่านไปได้ 6 เดือน ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้อาจารย์สนั่น เกตุทัต ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในคณะรัฐบาลที่มี ฯพณฯ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี[4] อาจารย์สนั่นปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งปลัดกระทรวงควบคู่กับการเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อยู่ระยะหนึ่ง เมื่อมีเหตุการณ์ทางการเมืองที่ทำให้อาจารย์ต้องลำบากใจในการทำงาน จึงขอลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง[5] คงทำหน้าที่เฉพาะตำแหน่งปลัดกระทรวงเพียงตำแหน่งเดียว จนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2518
อาจารย์สนั่น เกตุทัต ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคหัวใจล้มเหลว เมื่อวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2548 ศิริอายุ 89 ปี เมื่อท่านสิ้นชีวิต ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมรับศพของท่านไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ โดยได้พระราชทานโกศแปดเหลี่ยมเป็นเครื่องประกอบเกียรติยศ พระราชทานพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมในเจ็ดวันแรก พระราชทานพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลครบ 50 วัน 100 วัน และพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในการออกเมรุ รวมทั้งได้ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชทานเพลิงศพ
การศึกษา
แก้พ.ศ. 2471 - จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวัดราชาธิวาส
พ.ศ. 2476 - จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 โรงเรียนเทพศิรินทร์
พ.ศ. 2481 - ธรรมศาสตร์บัณฑิต (ได้อันดับที่ 1 ระดับประเทศ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง
พ.ศ. 2506 - ปริญญาบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
ประวัติการทำงาน
แก้งานรับราชการ
แก้พ.ศ. 2478 - 2482 - เสมียนประจำผู้พิพากษาศาลฎีกา กระทรวงยุติธรรม
พ.ศ. 2482 - 2485 - ตำแหน่งประจำแผนกกองตรวจการสรรพากร ภาค 4
พ.ศ. 2486 - 2495 - หัวหน้าแผนกภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำกรมสรรพากร
พ.ศ. 2495 - 2493 - หัวหน้าแผนกพิจารณาอุทธรณ์
พ.ศ. 2497 - 2499 - ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นเอก ตำแหน่งสรรพากรภาค 7
พ.ศ. 2499 - 2505 - หัวหน้ากองนิติการ
พ.ศ. 2505 - 2506 - ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นพิเศษ ตำแหน่งหัวหน้ากองนิติการ
พ.ศ. 2506 - 2508 - นิติกรพิเศษ กรมสรรพากร
พ.ศ. 2508 - 2510 - รองอธิบดีกรมสรรพากร
พ.ศ. 2511 - 2514 - อธิบดีกรมธนารักษ์
พ.ศ. 2515 - จนถึงแก่กรรม - กรรมการอำนวยการพระคลังข้างที่
พ.ศ. 2515 - 2518 - สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
พ.ศ. 2515 - 2516 - อธิบดีกรมศุลกากร
พ.ศ. 2516 - 2517 - ปลัดกระทรวงการคลัง
พ.ศ. 2517 - 2518 - รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
งานวิชาการ
แก้- อาจารย์พิเศษ วิชาการภาษีอากร ระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง
- อาจารย์พิเศษ วิชากฎหมายภาษีอากร ระดับปริญญาตรีและปริญญาโท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- อาจารย์พิเศษ วิชากฎหมายภาษีอากร วิทยาลัยกรุงเทพการบัญชี
งานบริหาร
แก้- ผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และผู้รับใบอนุญาต
- ประธานกรรมการ บริษัท สำนักงานสนั่น เกตุทัตและเพื่อน จำกัด
- ประธานกรรมการ บริษัท สยามร่วมมิตร จำกัด
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2546 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[6]
- พ.ศ. 2514 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[7]
- พ.ศ. 2536 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) (ฝ่ายหน้า)[8]
- พ.ศ. 2478 – เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (พ.ร.ธ.)[9]
- พ.ศ. 2504 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[10]
- พ.ศ. 2513 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 3 (ภ.ป.ร.3)[11]
การก่อตั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
แก้มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ก่อตั้งโดยดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ และอาจารย์สนั่น เกตุทัต
เมื่อปี พ.ศ. 2508 ขณะที่อาจารย์สนั่น เกตุทัต ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร มีความรับผิดชอบสูงกับงานในหน้าที่ควบคุมการจัดเก็บภาษีอากรทุกประเภททั่วราชอาณาจักร และขณะเดียวกันอาจารย์ยังมีความรับผิดชอบในหน้าที่ครูสอนหนังสือในสถาบันการศึกษาหลายแห่งด้วย และ ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ ผู้มีศักดิ์เป็นน้องเขย ซึ่งทำงานด้านการศึกษาในตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยการค้า (พ.ศ. 2507 - 2508) ในที่สุดกระทรวงศึกษาธิการได้อนุญาตให้ “โรงเรียนธุรกิจบัณฑิตย์” เปิดทำการได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 ต่อมาในวันที่ 30 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ โดยมี ฯพณฯ ทวี บุณยเกตุ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมกับเปลี่ยนคำว่า “โรงเรียน” เป็น “สถาบัน” ก่อตั้งบนพื้นที่ 1 ไร่ 14 ตารางวา ณ เลขที่ 73 ถนนพระราม 6 สถาบันการศึกษานาม “ธุรกิจบัณฑิตย์” ใน พ.ศ. 2513 ต่อมาใน พ.ศ. 2527 เปลี่ยนมาเป็น “มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์” บนเนื้อที่ 36 ไร่ ริมคลองประปา ถนนประชาชื่น
ตำแหน่งงานของอาจารย์สนั่น เกตุทัต ในมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
แก้- ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 - เมื่อแรกเริ่มตั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ อาจารย์สนั่น เกตุทัต เป็นอาจารย์สอนวิชาการภาษีอากรและกฎหมายภาษีอากร ในสถาบันธุรกิจบัณฑิตย์
- 16 มิถุนายน พ.ศ. 2513 - เมื่อเริ่มมีพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2512 อาจารย์สนั่น เกตุทัต ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารวิทยาลัย (กรรมการสภามหาวิทยาลัย)
- พ.ศ. 2522 - เป็นอุปนายกสภาวิทยาลัย
- พ.ศ. 2528 - 2540 - เป็นอุปนายกสภามหาวิทยาลัย
- 13 สิงหาคม พ.ศ. 2540 - เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์กิตติมศักดิ์จนถึงแก่กรรม
อ้างอิง
แก้- ↑ "ศาสตราภิชาน และ สิปนนท์เกตุทัต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-15. สืบค้นเมื่อ 2019-02-08.
- ↑ "พระบรมราชโองการ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 2014-07-08.
- ↑ อรชา เผือกสุวรรณ. ประวัติอาจารย์สนั่น เกตุทัต. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต, 2552. 34 หน้า.
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (๓๐ ราย)
- ↑ คณะรัฐมนตรี คณะที่ 34[ลิงก์เสีย]
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2015-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๑๙ ข หน้า ๕๒, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๘ ตอนที่ ๑๕๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๔, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๕๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑, ๓ พฤษภาคม ๒๕๓๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, บัญชีรายนาม ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ, เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๘๖๒, ๑๕ มีนาคม ๒๔๗๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๗๘ ตอนที่ ๑๐๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๘๑๔, ๑๕ ธันวาคม ๒๕๐๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๘๗ ตอนที่ ๒๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๗, ๑๓ มีนาคม ๒๕๑๓