วังเชอนงโซ
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
ชาโตเดอเชอนงโซ หรือ พระราชวังเชอนงโซ (ฝรั่งเศส: Château de Chenonceau) ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านเชอนงโซ (Chenonceaux) ในจังหวัดแอ็งเดรลัวร์ แคว้นซ็องทร์-วาลเดอลัวร์ ประเทศฝรั่งเศส วังเดิมสร้างบนโรงป่นแป้งเก่า[2]บนฝั่งแม่น้ำแชร์ และสร้างมาก่อนหน้าที่จะมีหลักฐานทางเอกสารเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 11 วังปัจจุบันออกแบบโดยฟีลีแบร์ เดอ ลอร์ม[1] (Philibert De l'Orme) สถาปนิกเรอเนซองซ์
วังเชอนงโซ Château de Chenonceau | |
---|---|
วังเชอนงโซ | |
ประเภท | วัง |
พื้นที่ | เชอนงโซ, ฝรั่งเศส |
ประวัติศาสตร์ | |
สร้าง | ค.ศ. 1515 - ค.ศ. 1521 |
สร้างโดย | พระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 แห่งฝรั่งเศส |
ประวัติ
แก้ปราสาทเดิมถูกวางเพลิงเมื่อปีค.ศ. 1411 เพื่อเป็นการแก้แค้นที่ฌ็อง มาร์ก (Jean Marques) ผู้เป็นเจ้าของใช้อำนาจในทางที่ผิด หลังจากนั้นเมื่อราวปีค.ศ. 1430 ฌ็อง มาร์กก็สร้างปราสาทใหม่โดยมีการสร้างเสริมอย่างแข็งแรง ปีแยร์ มาร์ก (Pierre Marques) ผู้เป็นเจ้าของต่อมาไปทำหนึ้เป็นสินมากจนต้องขายปราสาทให้กับทอมัส โบเย (Thomas Bohier) ผู้เป็นราชมนตรีของพระเจ้าชาร์ลที่ 7 แห่งฝรั่งเศสเมื่อปีค.ศ. 1513 โบเยรื้อปราสาทเดิมทิ้งแล้วสร้างวังใหม่ระหว่างปี ค.ศ. 1515 ถึงปี ค.ศ. 1521 โดยให้กาเตอรีน บรีซอเน (Catherine Briçonnet) ผู้เป็นภรรยาเป็นผู้ดูแลการก่อสร้าง กาเตอรีนชอบจัดงานเลี้ยงสำหรับข้าราชสำนักรวมทั้งพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1[3] ถึงสองครั้ง
ต่อมาพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 ก็ยึดวังจากลูกของโบเย ผู้เป็นหนี้หลวงเป็นจำนวนมากมาย หลังจากพระเจ้าฟร็องซัวสิ้นพระชนม์เมื่อปีค.ศ. 1547 พระเจ้าอ็องรีที่ 2 ก็พระราชทานเชอนงโซให้กับดียาน เดอ ปัวตีเย[4] (Diane de Poitiers) ผู้เป็นพระสนมคนโปรด ดียานติดใจเชอนงโซและชอบทิวทัศน์ริมฝั่งแม่น้ำแชร์มาก จนสั่งให้สร้างสะพานเชื่อมตัววังกับฝั่งตรงข้าม และสร้างสวนดอกไม้ สวนครัว และสวนผลไม้ขนาดใหญ่ สวนที่อยู่ริมแม่น้ำได้รับการป้องกันจากน้ำท่วมด้วยกำแพงหิน ตัวสวนเป็นรูปสามเหลี่ยมสี่อัน
ตามกฎหมายแล้วเชอนงโซเป็นของหลวง แต่ดียาน เดอ ปัวตีเยก็อยู่อย่างเป็นเจ้าของเต็มตัวมาจนถึงปี ค.ศ. 1555 เมื่อมีปัญหาว่าใครควรจะเป็นเจ้าของที่ถูกต้อง แต่ในที่สุดดียานก็ได้เป็นเจ้าของถูกต้องตามกฎหมาย แต่เพียงสี่ปีต่อมาเมื่อพระเจ้าอ็องรีที่ 2 เสด็จสวรรคตเมื่อปี ค.ศ. 1559 พระราชินีแคทเธอรีน เดอ เมดิชิ[5] (Catherine de' Medici) พระอัครมเหสีของพระเจ้าอ็องรีก็ขับดียานออกจากเชอนงโซ แต่เพราะวังไม่ได้เป็นของหลวง แคทเธอรินจึงไม่ทรงสามารถยึดได้โดยไม่มีข้อแลกเปลี่ยน จึงทรงบังคับให้ดียานแลกเชอนงโซกับวังโชมง[6] (Château Chaumont) หลังจากนั้นก็ทรงปรับปรุงเชอนงโซและสร้างสวนเพิ่มอีกหลายสวน จนกลายเป็นวังที่ทรงโปรดปรานมาก
ในฐานะที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน สมเด็จพระราชชนนีแคทเธอริน เด เมดิชิสามารถใช้เงินจำนวนมากในการปรับปรุงและจัดงานหรูหราที่เชอนงโซได้ เมื่อปี ค.ศ. 1560 ก็ทรงจัดให้มีการแสดงดอกไม้ไฟขึ้นเป็นครั้งแรกในฝรั่งเศสที่เชอนงโซ เพื่อเป็นการฉลองการขึ้นครองราชสมบัติของพระเจ้าฟร็องซัวที่ 2 ผู้เป็นพระโอรสของพระองค์
หลังจากสมเด็จพระราชินีแคทเธอรินเสด็จสวรรคตเมื่อปี ค.ศ. 1589 วังก็ตกไปเป็นของหลุยส์ เดอ ลอแรน-โวเดมง (Louise de Lorraine-Vaudémont) พระอัครมเหสีของพระเจ้าอ็องรีที่ 3 ผู้เป็นพระโอรสอีกองค์หนึ่งของพระราชินีแคทเธอริน เมื่อพระราชินีหลุยส์ได้รับข่าวการปลงพระชนม์ของพระสวามีก็ทรงโศกเศร้ามากจนไม่ทรงมีสติสัมปชัญญะและทรงใช้เวลาบั้นปลายของชีวิตอย่างเป็นแม่ม่ายเต็มตัว เที่ยวเดินเทียวไปเทียวมาในชุดแม่ม่ายภายในวังที่ตกแต่งด้วยพรมแขวนผนัง[7]ดำที่ปักเป็นหัวกะโหลกไขว้
พระสนมอีกคนหนึ่งที่ได้อยู่ที่วังนี้เมื่อปี ค.ศ. 1624 คือกาเบรียล แด็สเทร (Gabrielle d'Estrées) ในพระเจ้าอ็องรีที่ 4 หลังจากนั้นเชอนงโซก็ตกไปเป็นของผู้สืบสายมาจากพระราชินีหลุยส์--ดยุกเซซาร์ เดอ บูร์บง, ดยุกแห่งว็องโดม (César de Bourbon, duc de Vendôme) และภรรยาดัชเชสฟร็องซวซ เดอ ลอแรน (Françoise de Lorraine) และผ่านต่อมาทางสายวาลัว (Valois) หลังจากนั้นวังก็มีผู้พำนักไม่พำนักบ้างมากว่าร้อยปี
เมื่อปี ค.ศ. 1720 ดยุกแห่งบูร์บงก็ซื้อวังเชอนงโซ แล้วค่อย ๆ ขายสมบัติภายในวังไปทีละน้อย รูปปั้นหลายรูปก็ตกไปเป็นของพระราชวังแวร์ซาย ในที่สุดวังเชอนงโซก็ถูกขายให้กับโกลด ดูว์แป็ง (Claude Dupin)
มาดามหลุยส์ ดูว์แป็ง ภรรยาของโกลด ดูว์แป็งเป็นลูกสาวของซามูเอล แบร์นาร์ (Samuel Bernard) นักลงทุน และเป็นย่าของนักประพันธ์ฌอร์ฌ ซ็องด์ (George Sand) เป็นผู้ทำให้เชอนงโซกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้งหนี่งโดยการจัดงานเลี้ยงสำหรับผู้นำในยุคภูมิปัญญาเช่น วอลแตร์ มองแต็สกีเยอ (Montesquieu) ฌอร์ฌ-หลุยส์ เลอแกลร์ก (Georges-Louis Leclerc) แบร์นาร์ เลอ บอวีเย เดอ ฟงเตอแนล (Bernard le Bovier de Fontenelle) ปีแยร์ เดอ มารีโว (Pierre de Marivaux) และฌ็อง-ฌัก รูโซ มาดามหลุยส์ปกป้องเชอนงโซจากการถูกทำลายระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส เพราะเชอนงโซเป็นจุดเดียวสำหรับข้ามแม่น้ำแชร์ในบริเวณนั้น จึงมีประโยชน์ต่อการเดินทางและการค้าขาย
นอกจากนั้นก็ยังกล่าวกันว่ามาดามหลุยส์เป็นผู้เปลี่ยนการสะกดคำว่า “Chenonceaux” เป็น “Chenonceau” เพื่อเอาใจชาวบ้านระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส เพราะ “x” เป็นสัญลักษณ์ของฐานันดร เมื่อเอาอักษร “x” ออกก็เป็นการแสดงความจงรักต่อระบบการปกครองใหม่ แต่เรื่องนี้ก็ไม่มีหลักฐานยืนยัน แต่การสะกด “Chenonceau” โดยไม่มี “x” ก็ยังใช้กันอยู่จนทุกวันนี้
เมื่อปี ค.ศ. 1864 แดเนียล วิลสัน (Daniel Wilson) ชาวสกอตแลนด์ผู้ร่ำรวยจากการติดตั้งตะเกียงแก๊สทั่วปารีสซื้อวังนี้ให้ลูกสาว ผู้ใช้เงินจำนวนมากจัดงานเลี้ยงจนกระทั่งหมดตัว ในที่สุดวังถูกยึดและขายให้โฮเซ เอมีเลียว เตร์รี (José-Emilio Terry) มหาเศรษฐีชาวคิวบา เมื่อปีค.ศ. 1891 เทอรีขายเชอนงโซต่อให้กับฟรานซิสโก เทอรีผู้เป็นญาติ และเมื่อปีค.ศ. 1896 ในที่สุดตระกูลเมอนีเย (Menier) ที่มีชื่อเสียงจากการทำช็อกโกแลตก็ซื้อเชอนงโซเมื่อปีค.ศ. 1913 และเป็นเจ้าของมาจนถึงปัจจุบันนี้
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งตัววังก็ใช้เป็นโรงพยาบาล และระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เชอนงโซถูกใช้เป็นที่หนีจากบริเวณที่ยึดครองโดยนาซี ไปอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำแชร์ที่เป็นวิชีฝรั่งเศสที่เป็นอิสระจากส่วนที่ยึดครองโดยเยอรมนี
เมื่อปี ค.ศ. 1951ตระกูลเมอนีเยมอบให้แบร์นาร์ วัวแซ็ง (Bernard Voisin) เป็นผู้บูรณะเชอนงโซซึ่งอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมมากและสวนที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากน้ำท่วมเมื่อปี ค.ศ. 1940 ให้คืนสู่สภาพที่สวยงามตามที่เคยเป็นมา
ลักษณะของสถาปัตยกรรมของเชอนงโซ เป็นแบบผสมระหว่างสถาปัตยกรรมกอธิคและสถาปัตยกรรมเรอเนซองซ์ตอนต้น ในปัจจุบันวังเปิดให้คนเข้าชมและเป็นวังที่มีผู้เข้าชมเป็นอันดับสองรองจากพระราชวังแวร์ซาย
ภายใน
แก้ลานด้านหน้าและหอมาร์ก
แก้เมื่อทอมัส โบเยสร้างเชอนงโซใหม่เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 16 ก็ได้รื้อส่วนที่อยู่อาศัยเดิมและโรงบดแป้งของตระกูลมาร์กออกหมดยกเว้นหอเก่า และสร้างวังใหม่บนตอม่อของโรงบดแป้งเก่า หอเก่าหรือหอมาร์ก (Marques Tower) มาต่อเติมเปลี่ยนแปลงเป็นแบบเรอเนซองซ์ ลานหน้าวางแบบลานปราสาทยุคกลางล้อมรอบด้วยคู ใกล้ ๆ หอมาร์กมีบ่อที่แต่งด้วยไคเมร่าและเหยี่ยวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของตระกูลมาร์ก
ประตูทางเข้าขนาดใหญ่สร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 ทำจากไม้แกะสลัก ทางด้านซ้ายเป็นตราประจำตัวของทอมัส โบเย ทางขวาเป็นของกาเตอรีน บรีซอเน ผู้เป็นภรรยา เหนือตราเป็นตัวซาลาแมนเดอร์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1[8] และคำสลัก “François, by the grace of God, King of France and Claude, Queen of the French” (ฟร็องซัว, โดยพรจากพระเป็นเจ้า, พระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส และโกลด, พระราชินีฝรั่งเศส)
ห้องยาม
แก้เดิมเป็นห้องที่ยามใช้พักเมื่อออกเวร บนเตาผิงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ตกแต่งด้วยตราประจำตัวของทอมัส โบเย และบนประตูไม้โอคคริสต์ศตวรรษที่ 16 ภายใต้นักบุญผู้พิทักษ์—นักบุญแคทเธอริน และนักบุญทอมัส--เป็นคำขวัญของทอมัส โบเยและกาเตอรีน บรีซอเน “S'il vient à point, me souviendra” ซึ่งแปลว่า “ถ้าสามารถสร้างวังได้ก็จะมีคนระลึกถึง”
บนกำแพงมีพรมแขวนผนังแบบเฟลมมิชจากคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นฉากชีวิตของการอยู่ในปราสาท การขอแต่งงาน และการล่าสัตว์ หีบ[9]เป็นแบบกอธิค และเรอเนซองซ์ ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ใช้เป็นที่เก็บเครื่องเงิน, เครื่องครัว และพรมแขวนผนัง หีบเป็นสิ่งทางราชสำนักใช้ขนย้ายสิ่งของเมื่อย้ายที่อยู่จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง
เพดานเป็นอักษร “H” ไขว้กับ “C” ซึ่งเป็นอักษรย่อของแคทเธอริน เดอ เมดิชิ และ พระเจ้าอ็องรีที่ 2 แต่เพราะความรักที่พระเจ้าอ็องรีมีต่อดียาน เดอ ปัวตีเยพระองค์ก็ให้ทำอักษรให้ดูเหมือน “D” และ “H” พื้นเป็นกระเบื้องจากอิตาลีที่เรียกว่า “majolica” ที่สร้างเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 16
ชาเปล
แก้จากห้องพักทหารยามเป็นทางเข้าสู่ชาเปลซึ่งมีประตูที่มีรูปปั้นพระแม่มารีอยู่เหนือประตู บนบานประตูเป็นสัญลักษณ์ของพระเยซูและนักบุญทอมัสสาวก และมีประโยคจากพระวรสารนักบุญจอห์นว่า “เอานิ้วจิ้มตรงนี้” (“Lay your finger here”) และ “ท่านคือลอร์ดและพระเจ้าของข้า” (“You are my Lord and my God”) จาก ยน 20:27
หน้าต่างประดับกระจกสีเดิมของชาเปลได้ถูกระเบิดทำลายระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2เมื่อปี ค.ศ. 1944 หน้าต่างสมัยใหม่ที่สร้างแทนทำโดยแม็กซ์ อินกรองด์ (Max Ingrand) ผู้เชี่ยวชาญทางการประดับกระจกสีเมื่อปี ค.ศ. 1954 ในซุ้มทางด้านขวามีรูปแกะพระแม่มารีและพระบุตรจากหินอ่อนที่มาจากคาร์ราราในประเทศอิตาลี โดยมิโน ดา ฟิเอโซโล (Mino da Fiesole) ทางเดินกลางของชาเปลเป็นที่ที่พระราชินีเข้าร่วมพิธีมิสซาซึ่งสลักปี ค.ศ. 1521 ไว้
ทางด้านขวาของแท่นบูชาเป็นโต๊ะพิธีที่แกะสลักอย่างสวยงามพร้อมกับคำขวัญของทอมัส โบเย บนกำแพงมีคำจารึกโดยทหารรักษาพระองค์ของ พระราชินีแมรีสจ๊วต ทางด้านขวา “Man's anger does not accomplish God's Justice” จารึกเมื่อปี ค.ศ. 1543 และ “Do not let yourself be won over by Evil” จารึกเมื่อปี ค.ศ. 1546 ภาพเขียน:
- “พระแม่มารีกับผ้าคลุมสีฟ้า” (The Virgin in a blue veil) โดยจิโอวานนี บัททิสตา ซาลวิ ดา ซัสโซเฟอร์ราโต (Giovanni Battista Salvi da Sassoferrato)
- “พระเยซูเทศนาพระเจ้าเฟอร์ดินานด์และพระราชินีอิสซาเบลลา” (Jesus preaching before Ferdinand and Isabella) โดยอลอนโซ คาโน (Alonso Cano)
- “นักบุญแอนโทนีแห่งปาดัว” (Saint Anthony of Padua) โดย บาโทโลเม เอสเตบาน มูริลโล
- “อัสสัมชัญ” โดยฌอง จูเวเนท์ (Jean Jouvenet)
มาดามดูว์แป็งช่วยให้ชาเปลรอดมาจากถูกทำลายระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศสโดยใช้ชาเปลเป็นที่เก็บไม้ฟืน
ห้องนอนของดียาน เดอ ปัวตีเย
แก้ห้องที่ใช้โดยดียาน เดอ ปัวตีเยผู้เป็นพระสนมเอกของพระเจ้าอ็องรีที่ 2 มีเตาผิงโดยฌ็อง กูฌง (Jean Goujon) ผู้เป็นประติมากรตระกูลฟองเทนโบล บนเตาผิงมีอักษรไขว้ของพระเจ้าอ็องรีที่ 2 และแค็ทเธอริน เด เมดิชิ เป็นตัว “H” และ “C” ซึ่งเมื่อดูแล้วก็คล้ายตัว “H” ไขว้กับ “D”[10] สำหรับ “Diane” เพดานเป็นแบบ coffer[11] ก็มีอักษรไขว้เช่นกัน เหนือเตาผิงเป็นภาพ แค็ทเธอริน เด เมดิชิ ที่เขียนเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยโซวาจ (Sauvage)
เตียงสี่เสา[12]สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 17 และเก้าอี้ของพระเจ้าอ็องรีที่ 2 หุ้มด้วยหนัง cordovan นอกจากนั้นก็ยังมีพรมทอแขวนผนังจากฟลานเดิร์สสองผืนใหญ่จากคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นภาพ:
- “ชัยชนะของความแข็งแกร่ง” (The triumph of Strength) ทรงรถม้าลากด้วยสิงห์โตสองตัวล้อมรอบไปด้วยฉากจากพันธสัญญาเดิม ขอบบนเป็นคำจารึกภาษาละติน ซึ่งแปลว่า “ผู้ซึ่งพอใจในของขวัญจากสวรรค์จะไม่ถอยจากการทำความดีที่เรียกร้อง”
- “ชัยชนะของความเผื่อแผ่” (The triumph of Charity) ทรงรถม้า ในมือหนึ่งถือหัวใจอีกมือหนึ่งชี้ไปยังพระอาทิตย์ มีคำจารึกภาษาละติน ซึ่งแปลว่า “ผู้ซึ่งแสดงความแข็งแกร่งเมื่อเผชิญอันตรายจะได้รับการให้อภัยเป็นรางวัลเมื่อวาระสุดท้ายมาถึง”
ทางซ้ายของห้องนอนเป็นหน้าต่าง “พระแม่มารีและพระบุตร” โดย บาโทโลเม เอสเตบาน มูริลโล ทางด้านขวาของเตาผิงมีภาพเขียนแบบอิตาลีจากคริสต์ศตวรรษที่ 18 “พระเยซูถูกสั่งให้ถอดพระภูษา” โดยฟรานซิสโก ริบาลตา (Francisco Ribalta) ภายใต้ภาพเขียนเป็นชั้นหนังสือที่มีเอกสารเกี่ยวกับเชอนงโซ เล่มหนึ่งมีลายเซ็นของทอมัส โบเย และ ดียาน เดอ ปัวตีเย
ห้องเขียว
แก้เมื่อพระราชินีแคทเธอริน เด เมดิชิได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 9 แห่งฝรั่งเศส พระราชโอรสเมื่อยังทรงพระเยาว์เมื่อปี ค.ศ. 1560 ทรงปกครองฝรั่งเศสจากห้องทรงพระอักษรในวังเชอนงโซห้องนี้ บนเพดานคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งยังเป็นเพดานเดิมยังพอมองเห็นอักษรไขว้ “C” และตู้อิตาลีจากคริสต์ศตวรรษเดียวกัน 2 ตู้สองข้างประตู
งานชิ้นที่เด่นที่สุดในห้องคืองานพรมทอแขวนผนังของบรัสเซลส์จากคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่เรียกว่า “To the birthwort” เป็นลักษณะศิลปะแบบกอธิค และ เรอเนซองซ์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการพบทวีปอเมริกาและพฤกษชาติที่พบที่นั่น ในภาพทอจะมีไก่ฟ้าเปรู, สับปะรด, กล้วยไม้, ทับทิม, สัตว์ และพืชพันธ์ไม้หลากหลายที่จนบัดนั้นก็ยังไม่เป็นที่รู้จักหรือเห็นกันในทวีปยุโรป แต่สีเดิมของพรมที่เป็นสีเขียวปัจจุบันเป็นสีน้ำเงินตามกาลเวลา
บนผนังแขวนภาพไว้หลายภาพแต่ที่สำคัญ ๆ คือ
- “พระราชินีแห่งชีบา” (The Queen of Sheba) และ ภาพเหมือนของ Doge โดย ทินโทเรตโต
- “Ivory Catchfly” โดย จาค็อป จอร์แดงส์ (Jacob Jordaens)
- “แซมซันและสิงห์โต” (Samson and the Lion) โดย เฮ็นดริค โกลทเซียส (Hendrik Goltzius)
- “พระเยซูไล่พ่อค้าออกจากวัด” (Jesus chasing the merchants from the Temple) โดยฌอง จูเวเนท์ (Jean Jouvenet)
- “x” (Allegorical Scene) บนโลหะ โดยบาร์โทโลเมียส สแปรงเกอร์ (Bartholomeus Spranger)
- “ศึกษาศีรษะสตรี” (Study of a woman's head) โดย เพาโล เวโรเนเซ
- “หนีไปอียิปต์” (The flight to Egypt) โดย นิโคลาส์ ปูแซน
- “เด็กกับผลไม้” (Child with Fruits) โดย แอนโทนี แวน ไดค์
ห้องสมุด
แก้ห้องนี้เป็นห้องเล็ก ๆ ที่ใช้โดยพระราชินีแคทเธอริน เดอ เมดิชิ มีทิวทัศน์แม่น้ำแชร์และสวนของดียาน เพดานแบบ coffer แบบอิตาลีทำจากไม้โอคเมื่อปีค.ศ. 1525 ซึ่งมีที่ห้อยกุญแจเล็ก ๆ เป็นงานแบบนี้ชิ้นแรกที่ทำในฝรั่งเศส และมีอักษรย่อ “T.B.K.” ของผู้สร้างวัง ทอมัส โบเย และกาเตอรีน บรีซอเน เหนือประตูเป็นภาพเขียน “ครอบครัวพระเยซู” โดย อันเดรีย เดล ซาร์โต อันเดรอา เดล ซาร์โต ภาพเขียนอื่น ๆ ก็มี
- “ฉากจากชีวิตของนักบุญเบ็นเนดิค” (Scenes from the life of Saint Benedict) โดย จาโคโป บาสสาโน (Jacopo Bassano)
- “ผู้พลีชีพ” (A Martyr) โดย อันโทนิโอ ดา คอร์เรจจิโอ
- “ครอบครัวพระเยซู” โดย ฌอง จูเวเนท์ (Jean Jouvenet)
- ภาพเขียนในกรอบกลม[13] “Hébé and Ganymède, the cupbearers of the Gods, relieved near Olympia” เขียนเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 17 แบบฝรั่งเศส
ห้องรับรอง
แก้จากห้องนอนของดียาน เดอ ปัวตีเยเป็นทางแคบไปสู่แกลเลอรี เมื่อปี ค.ศ. 1576 พระราชินีแคทเธอริน เด เมดิชิสร้างห้องรับรองใหญ่เป็นโถงยาวเบนสะพานข้ามแม่น้ำแชร์ของดียาน เดอ ปัวตีเย ตามผังของฟิลิแบรต์ เดอ ลอร์เม (Philibert de l'Orme) ห้องยาว 60 เมตรและกว้าง 6 เมตร มีหน้าต่าง 18 บาน พึ้นเป็นหินชอล์คและหินชนวน เพดานแสดงโครง ห้องนี้เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1577 ในงานที่แคทเธอริน เด เมดิชิทรงเป็นจัดสำหรับพระเจ้าอ็องรีที่ 3
ทางด้านยาวทั้งสองของห้องเป็นเตาผิงแบบเรอเนซองซ์ซึ่งทางด้านใต้อยู่ใกล้ประตูที่ออกไปทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำแชร์ ภาพเขียนในกรอบกลมมาเพิ่มในคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นภาพคนสำคัญ ๆ
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 กัสตง เมอนีเย (Gaston Menier) เจ้าของวังแปลงห้องทุกห้องในวังเป็นโรงพยาบาลด้วยเงินส่วนตัว ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2ห้องรับรองใช้เป็นทางเดินข้ามจากบริเวณที่ถูกยึดครองโดยเยอรมนีไปอึกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำแชร์ที่มิได้ถูกยึดครอง
ห้องโถง
แก้ห้องโถงตกแต่งด้วยเพดานโค้งสันที่มีหินหลักแยกจากกันเป็นเส้นขาด ตะกร้าตกแต่งด้วยใบไม้ ดอกกุหลาบ ยุวเทพ (cherubs) ปนาลี และ สัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ห้องนี้สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1515 ถือว่าเป็นห้องที่แกะสลักที่สวยที่สุดห้องหนึ่งในการตกแต่งแบบเรอเนซองซ์แบบฝรั่งเศส
ตรงทางเข้าเหนือประตูมีฐานที่เว้าเข้าไปที่เป็นที่ตั้งรูปปั้นนักบุญจอห์นแบ็พทิสต์ผู้เป็นนักบุญผู้พิทักษ์วังเชอนงโซ และ Masdone อิตาเลียนแบบลูคา เดลลา รอบเบีย (Luca della Robbia) โต๊ะหินอ่อนเป็นแบบเรอเนซองซ์ เหนือประตูทางเข้า เป็นหน้าต่างประดับกระจกสีทึ่สร้างเมื่อ ปี ค.ศ. 1954 โดยแม็กซ์ อินกรองด์ (Max Ingrand) เป็นตำนานของนักบุญอูแบร์
ครัว
แก้ครัวของวังเชอนงโซตั้งอยู่ชั้นล่างสุดซึ่งมีฐานอยู่บนแม่น้ำแชร์ใกล้ครัวมีที่จอดเรือส่งของ ตามตำนานว่ากันว่าเป็นที่ที่ดียานอาบน้ำ ที่เก็บอาหารอยู่ต่ำกว่าครัวภายใต้หลังคาโค้ง เตาผิงในครัวสร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งตั้งอยู่ข้างเตาอบขนมปังเป็นเตาผิงที่ใหญ่ที่สุดในวังเชอนงโซ สาเหตุที่เตาผิงในครัวมีขนาดใหญ่เพราะในสมัยโบราณก่อนที่จะมีเตาที่เห็นในรูปการทำอาหารทุกอย่างทำที่เตาผิง นอกจากครัวแล้วก็มี ห้องเก็บเนื้อสัตว์ซึ่งยังมีขอแขวนเนื้อและเขียงใหญ่สำหรับสับและตัดเนี้อ และห้องเก็บอาหารอื่น ๆ
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ครัวก็ถูกปรับปรุงโดยติดตั้งอุปกรณ์เครื่องครัวที่ทันสมัยเพื่อให้เหมาะกับการเป็นโรงพยาบาล
ห้องนอนพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1
แก้ในห้องนี้มีเตาผิงแบบเรอเนซองซ์บนแท่นเหนือเตาผิงเป็นคำขวัญของทอมัส โบเย “S'il vient à point, me souviendra” ซึ่งแปลว่า “ถ้าสร้างวังได้ก็จะมีคนระลึกถึง” เหนือประตูเป็นตราของโบเย เครื่องตกแต่งก็มีโต๊ะแบบฝรั่งเศส สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 15 และ ตู้แบบอิตาลีที่สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 16 สิ่งที่น่าสนใจคือปากกาหมึกซึมงาช้างฝังมุกซึ่งเป็นของขวัญแต่งงานที่แมรีสจ๊วตมอบให้พระเจ้าฟร็องซัวที่ 2
บนผนังแขวนภาพดียาน เดอ ปัวตีเย ในภาพเทพีไดแอนนาแห่งการล่าสัตว์ โดยฟรันเชสโก ปรีมาติชโช จิตรกรตระกูลการเขียนแบบฟงแตนโบล พริมาทิชชิโอวาดภาพที่วังเชอนงโซเมื่อ ปี ค.ศ. 1556 บนกรอบเป็นตราของดียานดัชเชสแห่งเอทอมพส์
ทั้งสองด้านเป็นภาพเขียนโดย มิเรเวลท์ (Mirevelt) เรเวนสไตน์ (Ravenstein) และภาพเหมือนของแอนโทนี แวน ไดค์ ถัดไปเป็นภาพวาดใหญ่ของกาเบรียล แด็สเทรแต่งตัวเป็นไดแอนนาเทพีแห่งการล่าสัตว์โดยอ็องบรวซ ดูว์บัว (Ambroise Dubois) ที่หน้าต่างเป็นภาพอาร์คิมิดีส ฟรานซิสโก เซอบาราน และรูป “บาทหลวงสองคน” แบบเยอรมนีจากคริสต์ศตวรรษที่ 17 ด้านขวาของเตาผิงเป็นภาพ “The Three Graces”[14] โดย ฌอง แบ็พทิสต์ แวน ลู (Jean-Baptiste van Loo) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสามสาวพี่น้องจากเนสเล มาดามแห่งชาโตรู มาดามแวนทิมีล และมาดามเมอีผู้เป็นคนโปรดของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15
ห้องพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
แก้เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1650 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14เสด็จมาเยี่ยมวังเชอนงโซ หลังจากนั้นทรงมอบภาพเหมือนโดยอิยาซินธ์ ริโกด์[15] (Hyacinthe Rigaud) ให้แก่ดยุกเซซาร์ เดอ แวงดมผู้เป็นลุงซึ่งมีกรอบที่ทำอย่างสวยงามทำด้วยไม้สี่ชิ้นโดยเลอโปทร์ (Lepautre) พร้อมกับเฟอร์นิเจอร์ที่บุด้วยพรมทอจากโอบูซองและตู้แบบบูล (Boulle) เพื่อเป็นที่ระลึกในการทรงมาเยี่ยม
เหนือเตาผิงเป็นตราซาลาแมนเดอร์และเออร์มิน ซึ่งคล้ายกับตราซาลาแมนเดอร์ของพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 และพระราชินีโกลด เพดานเป็นแบบที่แสดงคาน บนบัวคอร์นิชมีอักษรย่อ “T.B.K.” ของครอบครัวโบเย เหนือตู้เป็นภาพ “พระบุตรและนักบุญจอห์นแบ็พทิสต์” โดยปีเตอร์ พอล รูเบนส์ซึ่งโจเซฟ โบนาปาร์ต น้องชายของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1ซื้อมาจากพระเจ้าแผ่นดินสเปนเมื่อ ปี ค.ศ. 1889
ภายในห้องนี้มีภาพเขียนแบบฝรั่งเศสของคริสต์ศตวรรษที่ 18:
- ภาพเหมือนพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ฌอง แบ็พทิสต์ แวน ลู
- “เจ้าหญิงแห่งโรฮัน” (Princess of Rohan) โดย นาติเย (Nattier)
- “ภาพเหมือนของชามิลลาร์ด ราชมนตรีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14” และ “ภาพเหมือนของผู้ชาย” โดย เนท์แชร์
- “ภาพเหมือนพระเจ้าฟิลลิปที่ 5 แห่งสเปน” โดยรองซ์ (Ranc)
- “ภาพเหมือนแซมมูเอล เบอร์นาร์ด” นายธนาคารของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14โดยมืยาร์ด .
บันได
แก้บันไดสร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 16 สลักเป็นใบไม้เป็นสัญลักษณ์ของกฎหมายเก่า (ภายใต้สตรีที่มีผ้าผูกตากับหนังสือและไม้เท้านักแสวงบุญ) และกฎหมายใหม่ (สตรีไม่มีผ้าผูกตาถือใบปาล์มและถ้วยศักดิ์สิทธิ์)
บันไดนี้น่าสนใจตรงที่เป็นบันไดแรกที่เป็นบันไดตรงแทนที่จะเวียนตามแบบจากอิตาลีเหนือบันไดเป็นเพดานโค้งสัน ส่วนตัดกันตัดฉากตกแต่งด้วยหินปุ่ม ในช่วงระหว่างสันตกแต่งด้วยคน, ผลไม้, และดอกไม้ แต่ถูกทำลายไปบ้างระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส ราวบันไดสองข้างมาพบกันที่ลานบันไดที่เป็นซุ้มโค้ง บนผนังชั้นสองของบันไดตกแต่งรูปในกรอบกลมของสตรีปล่อยผมสลวย จากบันไดไปเป็นทิวทัศน์แม่น้ำแชร์
โถงกาเตอรีน บรีซอเน
แก้ชั้นล่างปูด้วยดินเผาประทับตราเฟลอร์เดอลี[16] (fleur de lis) ไขว้กริช เพดานแบบเปิดคาน
เหนีอประตูเป็นภาพเขียนในกรอบกลมซึ่งนำมาจากอิตาลีโดยพระราชินีแคทเธอริน เด เมดิชิเป็นรูปจักรพรรดิโรมัน: กาลบา, คลอเดียส, เจอร์มันนิคัส, วิเทลเลียส, และ เนโร นอกจากนั้นก็ยังมีพรมทอแบบแขวนผนังเป็นรูปการล่าสัตว์ทอจากรูปที่ร่างโดยแวน เดอร์ มูเล็ง (Antony Francis van der Meulen)
ห้องนอนห้าราชินี
แก้ห้องนี้ตั้งชื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระธิดาสององค์และพระธิดาสะไภ้สามองค์ของพระราชินีแคทเธอริน เด เมดิชิ:
- พระราชินีมาร์โกท์ (Marguerite de Valois) พระชายาของพระเจ้าอ็องรีที่ 4
- พระราชินีเอลิซาเบธแห่งวาลัวร์ (Elisabeth of Valois) พระชายาของพระเจ้าฟิลลิปที่ 2 แห่งสเปน
- พระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ พระชายาของพระเจ้าฟร็องซัวที่ 2
- พระราชินีเอลิซาเบธแห่งออสเตรีย (Elisabeth of Valois) พระชายาของพระเจ้าชาร์ลที่ 9
- พระราชินีลุยส เดอ ลอเรน-โวเดมง พระชายาของพระเจ้าอ็องรีที่ 3
บนเพดานคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นตราประจำพระองค์ของพระราชินีทั้งห้า เตาผิงสร้างสมัยเรอเนซองซ์ บนผนังแขวนพรมทอเป็นฉากการยึดเมืองทรอยและการลักตัวเฮเล็นแห่งทรอย, การแสดงการต่อสู้ที่โคลีเซียม, การสวมมงกุฏของพระเจ้าเดวิด และฉากจากชีวิตของแซมซัน เฟอร์นิเจอร์เป็นเตียงสี่เสา โต๊ะแบบกอธิคสองตัวบนโต๊ะมีรูปปั้นหัวผู้หญิงสองหัว และหีบฝังสิ่งตกแต่ง
ภาพเขียน
- “Worshipping the Wise Men” โดย ปีเตอร์ พอล รูเบนส์ เป็นภาพร่างของภาพใหญ่ที่พิพิธภัณฑ์ปราโด
- “ภาพเหมือนดัชเชสแห่งโอลอน” (Portrait of the Duchess of Olonne) โดยมีญาร์ (Mignard)
- “อพอลโลที่บ้านของแอดมีทแห่งอาร์โกโน” (Apollo at the home of Admete the Argonaut) แบบอิตาลี คริสต์ศตวรรษที่ 17
ห้องนอนแคทเธอริน เด เมดิชิ
แก้ห้องนอนนี้ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์แกะสลักจากคริสต์ศตวรรษที่ 16 และพรมทอเฟล็มมิชจากคริสต์ศตวรรษเดียวกันเป็นรูปชีวิตของแซมซัน นอกจากนั้นก็ตกแต่งสัตว์จากตำนานและสุภาษิตเช่นจากเรื่อง “ความชำนาญดีกว่าความฉลาดแกมโกง” เตาผิงและพื้นสร้างสมัยเรอเนซองซ์ ทางขวาของเตียงมีภาพ “สอนเรี่องรัก” (The teaching of Love) โดยอันโทนิโอ ดา คอร์เรจจิโอ วาดบนไม้ซึ่งภาพเดียวกันที่วาดบนผ้าใบอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกรุงลอนดอน
ห้องนอนเซซาร์แห่งวองโดม
แก้ห้องนอนนี้ทำให้ระลึกถึงเซซาร์ เดอ วองโดม[17] (Cesar Vendôme) พระโอรสของพระเจ้าอ็องรีที่ 4 กับกาเบรียล แด็สเทรผู้กลายมาเป็นเจ้าของวังเชอนงโซเมื่อปี ค.ศ. 1624 สิ่งที่น่าสนใจในห้องนี้ก็มี
- เพดานแบบเปิดคานตกแต่งด้วยบัวคอร์นิชเป็นปืนใหญ่
- เตาผิงสมัยเรอเนซองซ์ทางตะวันตกจากทาสีเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีตราประจำตัวของทอมัส โบเย แบกด้วยรูปผู้หญิงเทินเสา[18] (caryatids) แกะจากไม้
- หน้าต่างทางตะวันตกมีกรอบเป็นผู้หญิงเทินเสาแกะจากไม้จากคริสต์ศตวรรษที่ 17
- บนผนังมีพรมทอบรัสเซลล์จากคริสต์ศตวรรษที่ 17 สามผืนเป็นตำนานของเทพีดีมีเทอร์ (Demeter) และเทพีเพอร์เซ็พโฟนี (Persephone)
- การเดินทางของดีมีเทอร์ และ เพอร์เซ็พโฟนีไปนรก ให้ผลไม้แก่มวลมนุษย์ และเพอร์เซ็พโฟนีกลับมาใช้ชีวิตบนโลกหกเดือนซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนฤดูกาล
- ขอบพรมทำอย่างงดงามตามแบบพรมบรัสเซลล์ตกแต่งด้วยช่อผลไม้ ดอกไม้ออกมาจาก "กรวยแห่งความอุดมสมบูรณ์" (cornucopia)
- เตียงสี่เสาและเฟอร์นิเจอร์ในห้องนี้ทำในคริสต์ศตวรรษที่ 16
- ทางด้านซ้ายของหน้าต่างเป็นภาพเขียน “ภาพเหมือนนักบุญโจเซฟ” โดย บาร์โตโลเม เอสเตบัน มูรีโย
ห้องนอนกาเบรียล แด็สเทร
แก้ห้องนี้เป็นห้องของกาเบรียล แด็สเทรพระสนมคนโปรดในพระเจ้าอ็องรีที่ 4 ผู้เป็นพระมารดาของเซซาร์แห่งวองโดมพระโอรสนอกสมรสของพระเจ้าอ็องรี เป็นเพดานแบบเปิดคาน พื้น เตาผิงและเฟอร์นิเจอร์เป็นสมัยเรอเนซองซ์ ใกล้เตียงสี่เสาแขวนพรมทอเฟลมมิชจากคริสต์ศตวรรษที่ 16 ผนังอีกสามด้านมีพรมแขวนเช่นกัน ร่างโดยลูคาส แวน เลย์เด็น (Lucas van Leyden) เป็นพรมชุดที่หายากเรียกันว่าชุด “The Lucas months” ซึ่งประกอบด้วย
เหนือตู้เป็นภาพเขียนแบบฟลอเรนซ์จากคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นรูปนักบุญซิซิเลียซึ่งเป็นนักบุญผู้พิทักษ์นักดนตรี เหนือประตูเป็นภาพเขียน “Child to the Lamb” โดยฟรานซิสโก ริบาลตา
โถงชั้นสอง
แก้ห้องนี้มิได้ถูกซ่อมแซมโดยสถาปนิกโรเก(Roguet) ผู้เป็นลูกศิษย์ของเออแฌน วียอเล-เลอ-ดุ๊ก (Eugène Viollet-le-Duc) ในห้องนี้มีพรมทอเนอยี (Neuilly) จากคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นสัญลักษณ์ของแม่น้ำแชร์ซึ่งมีเรือกอนโดลาลอยอยู่ เรือนึ้นำมาจากเวนิสพร้อมกับผู้พายเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยมาดามเพลูซ (Madame Pelouze) เจ้าของวังในขณะนั้น โต๊ะและพื้นหินเป็นแบบสมัยเรอเนซองซ์
ห้องนอนของหลุยส์แห่งลอแรน-โวเดมง
แก้หลังจากที่ได้รับข่าวการปลงพระชนม์ของพระเจ้าอ็องรีที่ 3 พระสวามีโดยพระเคลมองท์ (Jacques Clément) เมี่อวันที่ 1 สิงหาคม ปี ค.ศ. 1589 พระราชินีหลุยส์แห่งลอแรน-โวเดมงก็ทรงย้ายมาดำรงชีวิตอยู่ที่เชอนงโซเพื่อสวดมนต์และวิปัสนา ทรงล้อมรอบด้วยชีจนวังเป็นเหมือนสำนักชี และมักทรงเสื้อขาวซึ่งเป็นสีไว้ทุกข์หลวง จึงเป็นที่รู้จักกันว่า “พระราชินีขาว” ห้องนอนสร้างใหม่แต่เพดานเป็นของเดิม ตกแต่งด้วยสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของการไว้ทุกข์เช่น น้ำตาเงิน, widows' cordons, มงกุฏหนาม, และอักษรกรีก “l” - “lambda” สำหรับ “Louise” ซึ่งเป็นอักษรย่อของพระองค์เองไขว้กับ “H” สำหรับ “Henri III”
ภายในห้องมีภาพเขียนพระเยซูสวมมงกุฏหนามภาพเขียนบนไม้จากคริสต์ศตวรรษที่ 16 อยู่บนเตาผิง เฟอร์นิเจอร์จากคริสต์ศตวรรษเดียวกัน
สวน
แก้วังเชอนงโซล้อมรอบไปด้วยสวน ทางด้านขวาเป็นสวนดียาน เดอ ปัวตีเย ซึ่งทางเข้าเป็นบ้านผู้ดูแล “ลาแชนเซลเลอรี” (La Chancellerie) สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 16 กลางสวนมีน้ำพุซึ่ง (Jacques Androuet du Cerceau) กล่าวถึงในหนังสือชื่อ “สิ่งก่อสร้างที่สวยที่สุดในฝรั่งเศส” (Les plus Excellents Bâtiments de France) ค.ศ. 1576 สวนกันจากน้ำท่วมจากแม่น้ำแชร์โดยเทอเรสซึ่งทำให้เห็นทิวทัศน์ของแม่น้ำจากวัง
ทางด้านซ้ายเป็นสวนพระราชินีแคทเธอริน เดอ เมดิชิ ซึ่งมีสระกลางสวน จากสวนจะเห็นฟาซาดด้านตะวันตกของวัง
ทางสวนปลูกต้นไม้ตกแต่ง 130,000 ต้นทุกครั้งที่เปลี่ยนสวนจากฤดูใบไม้ผลิเป็นฤดูร้อน นอกจากนั้นก็มีโรงม้า และฟาร์มตัวหม่อนซึ่งนำเข้ามาในฝรั่งเศสโดยแคทเธอริน เดอ เมดิชิ และฟาร์ม และ ปาร์คที่มีเนื้อที่ทั้งหมด 70 เฮ็คตาร์
ถนนใหญ่รายด้วยต้นเพลน ด้านหนึ่งเป็นสวนเขาวงกต[19] ตัดแต่งจากพุ่มต้นยู (yew) สองพันพุ่มตามแบบอิตาลีจากคริสต์ศตวรรษที่ 18
อ้างอิง
แก้ข้อมูลเพิ่มเติม
แก้สมุดภาพ
แก้-
ผังวังแสดงให้เห็นตัววัง (5) แกลเลอรีบนสะพานข้ามแม่น้ำแชร์ (6) และสวน (3)
-
ตัววังบนแม่น้ำแชร์
-
มองจากสวนผ่านหอมาร์ก
-
ด้านหน้า
-
ตู้แบบอิตาลีในห้องนอนพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1
-
โถงทางเดินในตัววัง
-
ดียานแต่งตัวเป็นเทพีไดแอนนา
-
“The Three Graces” โดย ฌอง แบ็พทิสต์ แวน ลู
-
ทางด้านใต้ของแกลเลอรี
-
เตาผิงที่ใช้ทำอาหารในครัว
47°19′30″N 1°04′14″E / 47.3250°N 1.0706°E