ยอห์นผู้ให้บัพติศมา
ยอห์นผู้ให้บัพติศมา[1] (โปรเตสแตนต์เดิมเรียกว่ายอห์นผู้ให้รับบัพติศมา) ยอห์นผู้ทำพิธีล้าง[2](คาทอลิก) หรือนักบุญยอห์น บัปติสต์[3](คาทอลิก) (อังกฤษ: John the Baptist; John the Baptizer) เป็นนักเทศน์ชาวยิวในคริสศตวรรษที่ 1 ถือว่าเป็นผู้เผยพระวจนะในสี่ศาสนาคือ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาบาไฮ และศาสนามันดาอี ท่านถูกกล่าวถึงในพระวรสาร คัมภีร์อัลกุรอาน และคัมภีร์ของศาสนาบาไฮ นักบุญยอห์นบัปติสต์บางทีก็รู้จักกันในชื่อ “ยอห์นผู้มาก่อน” (John the Forerunner) เพราะถือกันว่านักบุญยอห์นเป็นผู้มาล่วงหน้าก่อนพระเยซู
นักบุญยอห์น | |
---|---|
![]() ภาพ John the Baptist Preaching in the Wilderness | |
ผู้ให้บัพติศมา ผู้เผยพระวจนะ และมรณสักขี | |
เกิด | ราว 6–2 ปีก่อน ค.ศ. |
เสียชีวิต | ราว ค.ศ. 30 |
นิกาย | ศาสนาคริสต์, ศาสนาอิสลาม, ศาสนาบาไฮ, ศาสนามันดาอี, ดรูซ |
วันฉลอง | 24 มิถุนายน (เกิด) |
สัญลักษณ์ | กางเขน ลูกแกะ ศีรษะของนักบุญยอห์นแบปติสต์เอง |
องค์อุปถัมภ์ | แคนาดา ฝรั่งเศส เปอร์โตริโก อัศวินฮอสปิทัลเลอร์ ฟลอเรนซ์ เจนัว และที่อื่น ๆ |
ประวัติแก้ไข
พระวรสารนักบุญลูกากล่าวว่ายอห์นเป็นบุตรของนักบุญเศคาริยาห์ปุโรหิตและนักบุญเอลีซาเบธจากตระกูลปุโรหิตอาโรน ฉะนั้นยอห์นจึงมีตำแหน่งเป็นปุโรหิตโดยปริยาย ก่อนการกำเนิดของยอห์นผู้ให้บัพติศมา ขณะที่เศคาริยาห์กำลังทำพิธีอยู่ในพระวิหารในกรุงเยรูซาเลม ทูตสวรรค์กาเบรียลได้มาบอกเขาถึงการกำเนิด ชื่อ และงานของยอห์น ทูตสวรรค์องค์นั้นยังไปบอกมารีย์ว่า “ดูซิ ถึงนางเอลีซาเบธญาติของเธอชราแล้ว ก็ยังตั้งครรภ์มีบุตรเป็นชายด้วย บัดนี้ นางนั้นที่คนเขาถือว่าเป็นหญิงหมัน ก็มีครรภ์ได้หกเดือนแล้ว” (ลก 1:7) ลูกาผู้นิพนธ์พระวรสารกล่าวว่ายอห์นเกิดก่อนพระเยซูราว 6 เดือนและความตื่นเต้นที่เศคาริยาห์ได้มีลูกจีงทำให้พูดไม่ออกไปจนยอห์นได้ทำพิธีสุหนัต (ลก 1:64)
เมื่อโตขึ้นยอห์นกลายเป็นผู้เผยพระวจนะ และได้วิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์เฮโรด อันทีพาส จากการที่ทรงรับนางเฮโรเดียส พระชายาของเจ้าชายฟิลิป พระอนุชา มาเป็นมเหสี นางเฮโรเดียสพยาบาทยอห์นมาก จึงขอให้กษัตริย์เฮโรดมาประหาร พระองค์ก็จับยอห์นมาขังไว้แต่ยังไม่กล้าประหาร เพราะทรงทราบว่ายอห์นเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์และชอบธรรม และทรงโปรดฟังคำสอนของยอห์นด้วย[4]
ในงานฉลองวันคล้ายวันประสูติของกษัตริย์เฮโรด ธิดาของนางเฮโรเดียส (เชื่อกันว่าคือนางสะโลเม) ได้เต้นรำถวายในงานจนเป็นที่พอพระทัย จนตรัสว่าจะให้ทุกสิ่งที่นางปรารถนาเป็นรางวัล นางไปปรึกษามารดาและได้รับคำแนะนำให้ทูลขอศีรษะของยอห์นใส่ถาดมาถวาย เมื่อพระเจ้าเฮโรดทราบก็เสียพระทัยมาก แต่ออกพระโอษฐ์ไปแล้วและไม่อยากเสียหน้ากับแขกที่มาในงาน จึงรับสั่งให้เพชฌฆาตไปตัดศีรษะยอห์นในคุกแล้วใส่ถาดส่งไปให้ตามที่นางขอ นางก็นำไปให้นางเฮโรเดียสต่อ ศิษย์ของยอห์นทราบว่าท่านถูกประหารแล้วก็มารับศพไปฝังไว้ในอุโมงค์[4]
วันฉลองแก้ไข
ปฏิทินโรมันคาทอลิกกำหนด "วันสมโภชนักบุญยอห์นแบปติสต์บังเกิด" ตรงกับวันที่ 24 มิถุนายนซึ่งเป็นเวลา 6 เดือนก่อนวันคริสต์มาสซึ่งสมมติกันว่าเป็นการประสูติของพระเยซู และกำหนดให้วันที่ 29 สิงหาคม เป็น "วันระลึกถึงนักบุญยอห์นแบปติสต์ถูกตัดศีรษะ"
ข้อวิจารณ์แก้ไข
พระวรสารนักบุญลูการะบุว่าพระเยซูกับยอห์นเป็นญาติกัน โดยกล่าวว่ามารีย์กับเอลีซาเบธเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน (ลก 1:36) แต่ข้อความนี้ไม่มีกล่าวในพระวรสารฉบับอื่น เรมอนด์ อี บราวน์ ผู้เป็นนักวิชาการคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าความเกี่ยวข้องกันนี้ออกจะเป็นที่น่าสงสัย[5] เกซา เวิรมเมส (Geza Vermes) นักวิชาการทางคริสต์ศาสนากล่าวว่า “ไม่เป็นความจริง, และไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่าเป็นสิ่งที่ลูกาสร้างขึ้น”[6]
ในศิลปะแก้ไข
ในประเทศไทยมีการสร้างรูปประติมากรรมของยอห์นโคลงภาพฤๅษีดัดตนในเขามอ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกว่า "โยฮันปริพาชก" อยู่ในส่วน แก้ขัดแข้ง ขัดขา[7] ดังปรากฏความตอนหนึ่งว่า
๏ ปริพาชกนี้ชื่อ | โยฮัน แลแฮ | |
น้ำพึ่งตั๊กแตนฉัน | เช่นเข้า | |
อยู่ยังฝั่งโยระดัน | หนังอูฐ ครองนา | |
นั่งดัดหัดถ์ถ่างเท้า | ขัดแข้งขาหาย ฯ | |
— พระองค์เจ้าทินกร[8] |
มีความหมายว่า ปริพาชกโยฮัน ผู้รับประทานน้ำผึ้งตั๊กแตนแทนข้าว จาริกอยู่ ณ ดินแดนแถบแม่น้ำจอร์แดน ดินแดนแห่งอูฐ นั่งถ่างเท้า ถ่างมือ และดีดนิ้วด้วยท่าวิตรรกมุทรา ดัดตนแก้ลมขัดแย้ง ลมขัดขา[9] โดยคำว่าปริพาชกแปลว่า ผู้จาริกไป ผู้ท่องเที่ยวไป แต่คนไทยใช้เรียกนักบวชนอกศาสนาพุทธแทน ส่วนที่นำยอห์นมาแสดงท่าทางดัดตนนี้ เพราะคนไทยในสมัยนั้นถือว่าเป็นการนำบุคคลพิเศษเท่าที่รู้จักมาเรียบเรียงไว้ในจักรวาลวิทยาของไทย[7]
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ พระคริสตธรรมคัมภีร์ไทย ฉบับมาตรฐาน มัทธิว 3:1
- ↑ ลก 1:5-25 ทูตสวรรค์แจ้งข่าวการเกิดของยอห์นผู้ทำพิธีล้าง[ลิงก์เสีย]
- ↑ "ประวัตินักบุญตลอดปี:นักบุญยอห์น แบปติสต์ บังเกิด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-26. สืบค้นเมื่อ 2011-12-31.
- ↑ 4.0 4.1 มาระโก บทที่ 6. พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
- ↑ Raymond Edward Brown, The Virginal Conception and Bodily Resurrection of Jesus, Paulist Press (1973), page 54
- ↑ Geza Vermes, The Nativity, page 143.
- ↑ 7.0 7.1 ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ (24 มีนาคม 2564). "ฤๅษีดัดตน : ผู้วิเศษนานาชาติ ในจักรวาลวิทยาที่วัดโพธิ์". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 29 มกราคม 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ จารึกวัดพระเชตุพนตอนโคลงภาพฤๅษีดัดตน โคลงภาพคนต่างภาษา และ โคลงด้านการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน. พระนคร : การพิมพ์พาณิชย์. 2507, หน้า 81
- ↑ Chalengsak Chuaorrawan. "โคลงบทที่ 84 ดัดตนแก้ขัดแข้ง ขัดขา". โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ฯ. สืบค้นเมื่อ 29 มกราคม 2566.
{{cite web}}
: horizontal tab character ใน|title=
ที่ตำแหน่ง 13 (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: ยอห์นผู้ให้บัพติศมา |
บทความเกี่ยวกับศาสนาคริสต์นี้ยังเป็นโครง คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยการเพิ่มเติมข้อมูล |