การตั้งชื่อระบบไบเออร์
การตั้งชื่อระบบไบเออร์ (อังกฤษ: Bayer designation) เป็นระบบการตั้งชื่อสำหรับดาวฤกษ์ ที่เผยแพร่ในปี ค.ศ. 1603 โดยโยฮัน ไบเออร์ นักกฎหมายชาวเยอรมัน ในแผนภูมิดาว อูราโนเมเทรีย ของเขา และยังรวมถึงรายชื่อดาวฤกษ์เพิ่มเติมบางส่วนที่ถูกเพิ่มและแก้ไขในภายหลังโดยนักดาราศาสตร์ คนอื่น ๆ ในยุคต่อมาด้วย
ไบเออร์ได้ตั้งชื่อดาวฤกษ์โดยใช้ชุดตัวอักษรกรีก α, β, γ, ......, ω ตามลำดับโชติมาตรของดาวในโดยแยกเป็นแต่ละกลุ่มดาว แล้วต่อท้ายด้วยชื่อกลุ่มดาวนั้น ๆ[1] เช่นดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวคนครึ่งม้า จะได้ชื่อเป็น α คนครึ่งม้า ซึ่งเวลาเขียนชื่อระบบนี้ในภาษาอังกฤษอาจมีการเขียนแทนได้หลายแบบดังนี้
- α Centauri
- alpha Centauri
- α Cen
- alpha Cen
- alp Cen
อักษรที่ใช้
แก้การตั้งชื่อระบบไบเออร์นอกจากจะใช้อักษรกรีก 24 ตัวแล้วก็ยังใช้ตัวอักษรที่ไม่ใช่อักษรกรีกด้วย โดยไล่ตามลำดับดังต่อไปนี้:
- α, β, γ, ……, ω
- A
- b, c, ……, z
- B, C, ……, Q
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ชื่อในระบบไบเออร์สำหรับอักษรละตินตั้งแต่ A เป็นต้นไปแทบไม่ได้ถูกใช้งาน
เหตุผลที่ไบเออร์ไม่ใช้ตัวพิมพ์เล็ก a นั้นไม่เป็นที่ทราบชัดเจน แต่คิดว่าเพื่อป้องกันความสับสนกับดาว α อักษรที่ถูกใช้โดยไบเออร์เองคือจนถึง z เท่านั้น ส่วนตัวพิมพ์ใหญ่ตั้งแต่ B เป็นต้นมาคือตัวอักษรที่ตั้งเพิ่มเติมโดยนักดาราศาสตร์คนอื่น ๆ ในยุคหลัง นักดาราศาสตร์คนอื่น ๆ ใช้ตัวพิมพ์เล็ก a และตัวพิมพ์ใหญ่ตั้งแต่ R เป็นต้นไปด้วย เพียงแต่ตัวพิมพ์ใหญ่ตั้งแต่ R จะใช้สำหรับเป็นชื่อของดาวแปรแสง แต่ในปัจจุบันไม่ถือว่านี่เป็นระบบไบเออร์
การเรียงลำดับ
แก้ในสมัยของไบเออร์ การสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้านั้นทำได้แค่การสังเกตด้วยสายตาเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่สามารถวัดความสว่างของดาวฤกษ์อย่างแม่นยำได้ และไม่มีธรรมเนียมในการแสดงอันดับความสว่างของดาวเป็นจุดทศนิยม ดังนั้นอันดับวามสว่างของดาวที่ใช้ในระบบไบเออร์จึงไม่ใช่ค่าโชติมาตรแบบสมัยใหม่ที่ใช้ค่าเป็นจำนวนจริงได้ตามที่ต้องการ แต่เป็นการจัดอันดับแบบดั้งเดิมที่แสดงด้วยเลขจำนวนเต็ม ตั้งแต่ 1 ถึง 6
ด้วยเหตุผลนี้ ดาวฤกษ์สว่างอันดับ 1 (สว่างกว่าโชติมาตร 1.5) มักจะถูกกำหนดให้ใช้อักษรลำดับต้นกว่าดาวฤกษ์อันดับ 2 (โชติมาตร 1.5 - 2.5) แต่ในระหว่างดาวฤกษ์อันดับ 1 (หรือ 2) ด้วยกันเองนั้นมักจะไม่ได้เรียงความสว่างตามลำดับจริง ๆ
ในอันดับความสว่างเดียวกันมักจะเรียงตามลำดับตำแหน่ง เช่นถ้าเป็นในกรณีของกลุ่มดาวที่เป็นบุคคลหรือสัตว์มักจะเรียงลำดับจากส่วนศรีษะก่อน แต่ก็ไม่ได้มีกฎที่ตายตัว เช่นในกลุ่มดาวพิณ และกลุ่มดาวคนยิงธนู การเรียงลำดับดูเหมือนจะสุ่มมั่วซั่ว ไม่มีใครทราบหลักการเรียงที่แน่ชัด
- ดาวฤกษ์ในกลุ่มดาวจระเข้ทั้งหมดถูกพิจารณาว่าเป็นดาวที่มีโชติมาตรอันดับ 2 ในเวลานั้น และเรียงเลขตามลำดับตำแหน่งจากปลายหัวของหมีใหญ่ (ด้านถ้วยของกระบวย) อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันแล้วว่าที่จริงดาว δ ถือเป็นดาวฤกษ์อันดับ 3 ที่มีโชติมาตร 3.32
- ดาวไถ 3 ดวงที่เป็นเข็มขัดในกลุ่มดาวนายพรานถูกระบุว่าเป็นดาวฤกษ์อันดับ 2 ทั้งหมด และเรียงเลขตามลำดับจากขอบด้านศรีษะของนายพราน (δ → ε → ζ)
- ระหว่างดาวคาสตอร์ (โชติมาตร 1.59) กับดาวพอลลุกซ์ (โชติมาตร 1.15) ในกลุ่มดาวคนคู่ ดาวคาสตอร์ถูกจัดเป็นดาว α แม้ว่าจริง ๆ ดาวพอลลุกซ์จะสว่างกว่าเล็กน้อยก็ตาม
- ในกลุ่มดาวมังกร ดาว α ซึ่งในอดีตเคยเป็นดาวเหนือนั้นเป็นดาวฤกษ์อันดับ 4 ที่มีโชติมาตร 3.68 ในขณะที่ดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดคือดาว γ เป็นดาวฤกษ์อันดับ 2 ที่มีโชติมาตร 2.23
ดาว α สว่างที่สุดหรือไม่
แก้หากมีดาวฤกษ์ที่มีโชติมาตรอันดับเท่ากันกับดาว α แล้ว ดาว α ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นดาวที่สว่างที่สุดเสมอไป
ในบรรดากลุ่มดาวทั้ง 88 กลุ่มนั้น
- กลุ่มดาวที่ดาว α สว่างที่สุดมี 58 กลุ่ม
- กลุ่มดาวที่ดาวα ไม่ได้สว่างที่สุดมี 26 กลุ่ม (รวมถึงกรณีที่ความสว่างเปลี่ยนไปเนื่องจากดาว α เป็นดาวแปรแสง)
- กลุ่มดาวที่ไม่มีดาว α เลยมี 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มดาวสิงโตเล็ก, กลุ่มดาวไม้ฉาก, กลุ่มดาวท้ายเรือ และ กลุ่มดาวใบเรือ
การปรับเปลี่ยนกลุ่มดาว
แก้กลุ่มดาวหลายกลุ่มได้ถูกสร้างขึ้นหลังจากสมัยของไบเออร์ และได้รับชื่อในระบบไบเออร์ใหม่
นีกอลา หลุยส์ เดอ ลากาย นักดาราศาสตร์ ชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 ได้กำหนดการแบ่งกลุ่มดาวเรืออาร์โกใหม่และกำหนดชื่อในระบบไบเออร์ใหม่โดยอิสระ ในปี 1922 เมื่อสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลแบ่งกลุ่มดาวเรืออาร์โกออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มดาวท้ายเรือ กลุ่มดาวใบเรือ และ กลุ่มดาวกระดูกงูเรือ ชื่อในระบบไบเออร์เดิมได้ถูกโอนไปยังกลุ่มดาวใหม่ 3 กลุ่มนี้ โดยใช้ตัวอักษรนำหน้าเดิมทั้งอย่างนั้น มีเพียงชื่อของกลุ่มดาวเท่านั้นที่เปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น α และ β เรืออาร์โก กลายเป็น α และ β กระดูกงูเรือ และ γ เรืออาร์โก กลายเป็น γ ใบเรือ ดังนั้น ชื่อในระบบไบเออร์ของกลุ่มดาวทั้งสามนี้จึงเต็มไปด้วยอักษรที่ขาดแหว่งไป เช่น ไม่มีดาว α และ β ในกลุ่มดาวใบเรือ และไม่มีดาวตั้งแต่ α ถึง ε ในกลุ่มดาวท้ายเรือ
ในสมัยของไบเออร์ ขอบเขตระหว่างกลุ่มดาวยังไม่ได้ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน และดาวบางดวงที่อยู่ใกล้ขอบเขตได้ถูกกำหนดชื่อในระบบไบเออร์ในกลุ่มดาวทั้งสอง แต่หลังจากที่สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลได้กำหนดกลุ่มดาว 88 กลุ่มในปี 1922 แล้ว และในปี 1928 เมื่อเออแฌน เดลปอร์ตได้ทำการกำหนดขอบเขตของกลุ่มดาวอย่างเคร่งครัดขึ้นมา ดาวเหล่านั้นก็ได้ถูกจัดให้อยู่แค่ในกลุ่มดาวกลุ่มหนึ่งด้วย ในตอนนั้นชื่อในระบบไบเออร์ที่ซ้ำซ้อนกันได้ถูกยกเลิก ดังเช่นในตารางด้านล่าง
ชื่อที่ใช้อยู่ถึงปัจจุบัน | ชื่อที่เลิกใช้แล้ว |
---|---|
α Andromedae[2] | δ Pegasi |
51 Andromedae[3] | υ Persei |
β Tauri[4] | γ Aurigae |
G Scorpii | γ Telescopii |
H Scorpii | β Normae |
N Scorpii | α Normae |
σ Librae | γ Scorpii |
วัตถุท้องฟ้าอื่นนอกจากดาวฤกษ์
แก้ปัจจุบันชื่อในระบบไบเออร์ใช้แค่เพียงกับดาวฤกษ์เป็นหลัก แต่ในสมัยก่อนนั้นยังไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างดาวฤกษ์ กระจุกดาว และ เนบิวลา ได้อย่างชัดเจน ระบบไบเออร์จึงได้มีการกำหนดชื่อให้กับวัตถุท้องฟ้าต่าง ๆ รวมทั้งกระจุกดาวด้วย ในปัจจุบันได้มีการกำหนดชื่อใหม่ให้กับวัตถุเหล่านั้นโดยส่วนใหญ่แล้ว แต่ก็ยังมีที่ยังคงใช้จนถึงปัจจุบัน
ตารางต่อไปนี้แสดงตัวอย่างวัตถุท้องฟ้าที่ถูกกำหนดชื่อในระบบไบเออร์
ชื่อในระบบไบเออร์ | วัตถุท้องฟ้าเดิม | ชนิด |
---|---|---|
ε Cancri | กระจุกดาวรวงผึ้ง | กระจุกดาวเปิด |
ω Centauri | โอเมกาคนครึ่งม้า | กระจุกดาวทรงกลม |
χ Persei | กระจุกดาวแฝด | กระจุกดาวเปิด |
η Carinae | เนบิวลากระดูกงูเรือ | เนบิวลา |
นอกจากนี้แล้ว ดาวฤกษ์สว่างที่สุดในกระจุกดาวเปิดบางกระจุกก็มีชื่อในระบบไบเออร์ เช่น IC 2602 (θ Carinae)[5], Mel 20 (α Persei)[6], Collinder 69 (λ Orionis)[7]
หมายเลขตัวยก
แก้การสังเกตด้วยตาในสมัยของไบเออร์ไม่สามารถแยกดาวหลายดวงออกจากกันได้ ทำให้ดาวแต่ละดวงถูกตั้งชื่อในระบบไบเออร์แบบรวม ๆ กันเหมือนเป็นวัตถุเดียว ดังนั้นจึงมีการใช้ตัวยกเพื่อแยกความแตกต่างระหว่างดาวแต่ละดวงนั้น
ตัวอย่างเช่น ดาวคู่ปลอม ζ Scorpii นั้นแยกออกเป็น ζ1 Scorpii และ ζ2 Scorpii
นอกจากนี้ ดาวฤกษ์หลายดวงที่อยู่ห่างกันก็อาจมีชื่อในระบบไบเออร์ชื่อเดียว กรณีดังกล่าวนี้ก็แยกแยะด้วยหมายเลขตัวยก เช่น ดาว π1 - π6 Orionis
ความสัมพันธ์กับการตั้งชื่อระบบอื่น ๆ
แก้การตั้งชื่อดาวแปรแสง
แก้ในระบบการตั้งชื่อให้กับดาวแปรแสงซึ่งคิดขึ้นโดยฟรีดริช วิลเฮ็ล์ม อาร์เกลันเดอร์นั้นจะมีส่วนคล้ายกับการตั้งชื่อระบบไบเออร์ตรงที่ใช้อักษรตามด้วยชื่อกลุ่มดาว แต่จะใช้แค่ตัวอักษรตั้งแต่ R เป็นต้นมา นอกจากนี้แล้ว ดาวที่มีชื่อในระบบไบเออร์เป็นอักษรกรีกอยู่แล้วในระบบไบเออร์จะไม่ได้ถูกตั้งชื่อในระบบนี้[8]
ระบบแฟลมสตีด
แก้อีกระบบการตั้งชื่อดาวฤกษ์ที่คล้ายกับระบบไบเออร์ก็คือระบบแฟลมสตีด
ดาวฤกษ์ที่มีชื่อในระบบแฟลมสตีดมีจำนวนมากกว่าในระบบไบเออร์ ดาวฤกษ์ที่มีชื่อในระบบไบเออร์ส่วนใหญ่จะมีในระบบแฟลมสตีดด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หลายดวงมีเฉพาะในระบบไบเออร์เท่านั้น เพราะระบบไบเออร์ครอบคลุมทั่วทั้งทรงกลมท้องฟ้า ในขณะที่ระบบแฟลมสตีดจะครอบคลุมเฉพาะดวงดาวที่มองเห็นได้จากอังกฤษ ดังนั้นกลุ่มดาวที่อยู่ใกล้ขั้วท้องฟ้าใต้จึงไม่มีเลขเฟลมสตีดเลย
หากว่าระบบไบเออร์และระบบแฟลมสตีดทับซ้อนกัน และชื่อในระบบไบเออร์เป็นอักษรกรีกธรรมดา โดยทั่วไปจะใช้ระบบไบเออร์เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ดาวที่ระบบไบเออร์เป็นตัวอักษรละตินมักใช้ระบบแฟลมสตีดแทน ดังนั้นชื่อที่เป็นอักษรละตินในระบบไบเออร์จึงมักใช้เฉพาะที่ไม่มีในระบบแฟลมสตีด
อ้างอิง
แก้- ↑ 理科年表 国立天文台編 (平成25年 第86冊 ed.). 丸善出版. p. 106頁. ISBN 978-4-621-08606-3.
- ↑ "SIMBAD Astronomical Database". Results for alf And. สืบค้นเมื่อ 2016-09-19.
- ↑ "SIMBAD Astronomical Database". Results for ups Per. สืบค้นเมื่อ 2016-09-19.
- ↑ "SIMBAD Astronomical Database". Results for bet Tau. สืบค้นเมื่อ 2016-09-19.
- ↑ "SIMBAD Astronomical Database". Results for IC 2602. สืบค้นเมื่อ 2016-09-19.
- ↑ "SIMBAD Astronomical Database". Results for Cl Melotte 20. สืบค้นเมื่อ 2016-09-19.
- ↑ "SIMBAD Astronomical Database". Results for Cl Collinder 69. สืบค้นเมื่อ 2016-09-19.
- ↑ 天体観測の教科書 変光星観測編. 誠文堂新光社. p. 17頁. ISBN 978-4-416-20917-2.天体観測の教科書 変光星観測編. 誠文堂新光社. p. 17頁. ISBN 978-4-416-20917-2.