กลุ่มดาวนายพราน
กลุ่มดาวนายพราน (อังกฤษ: Orion) เป็นกลุ่มดาวที่มีชื่อเสียง คนไทยเรียกว่า ดาวเต่า การที่มีดาวฤกษ์สว่างหลายดวงเป็นสมาชิก และมีตำแหน่งอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตรฟ้า ทำให้มองเห็นได้ทั่วโลก และอาจเป็นที่รู้จักกว้างขวางที่สุดในบรรดากลุ่มดาวบนท้องฟ้า[1] ดาวสามดวงที่ประกอบกันเป็น "เข็มขัดของนายพราน" เป็นดาวที่มีความสว่างปานกลางแต่ก็สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย สำหรับผู้สังเกตการณ์ที่อยู่ในซีกโลกเหนือจะสามารถมองเห็นกลุ่มดาวนี้ได้ตั้งแต่ช่วงเย็นของเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนมกราคม จากนั้นจะสามารถเห็นได้ในช่วงเช้ามืดตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน[2][3]
คลิกเพื่อดูรูปใหญ่ | |
ชื่อย่อ: | Ori |
---|---|
ชื่อคุณศัพท์: | Orionis |
สัญลักษณ์: | โอไรอัน |
ไรต์แอสเซนชัน: | 5 ชั่วโมง |
เดคลิเนชัน: | 5° |
เนื้อที่: | 594 ตารางองศา (อันดับที่ 26) |
จำนวนดาวฤกษ์: (ความส่องสว่างปรากฏน้อยกว่า 3) | 8 |
ดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุด: | ดาวไรเจล (β Orionis) (ความส่องสว่างปรากฏ = 0.12) |
ฝนดาวตก: | ฝนดาวตกนายพราน ฝนดาวตกไคนายพราน |
กลุ่มดาวที่ติดกัน: | กลุ่มดาวคนคู่ กลุ่มดาววัว กลุ่มดาวแม่น้ำ กลุ่มดาวกระต่ายป่า กลุ่มดาวยูนิคอร์น |
มองเห็นได้ในระหว่างละติจูด +85° ถึง −75° มองเห็นได้ดีที่สุดในเวลา 21.00 น. ของเดือนมกราคม | |
ตำแหน่งของกลุ่มดาวนายพรานเทียบกับกลุ่มดาวข้างเคียงสามารถจินตนาการออกมาเป็นภาพได้ดังนี้ : นายพรานโอไรอันยืนอยู่ข้างแม่น้ำเอริดานัส มีหมาล่าเนื้อสองตัวอยู่เคียงข้างคือ คานิสใหญ่และคานิสเล็ก เขากำลังสู้กับวัวเทารัส โดยมีเหยื่ออื่นอยู่ข้างๆ อีกเช่น ลีปัสกระต่ายป่า
กลุ่มดาวนายพรานมีดาวไรเจลเป็นดาวสว่างที่สุด แต่ดาวที่มีชื่อเสียงคือดาวบีเทลจุส ดาวยักษ์แดงซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งในสามดวงของดาวสามเหลี่ยมฤดูหนาว (คือดาวบีเทลจุส ดาวซิริอุส และดาวโปรซิออน) เราสามารถใช้กลุ่มดาวนายพรานสำหรับการชี้ดาวต่างๆ ได้มากมาย เช่น ลากจากดาวอัลนิลัม ไป ดาวเมสสา จะชี้ตรงทิศเหนือ ใต้กลุ่มดาวนายพรานเป็นกลุ่มดาวกระต่ายป่า ดาวไรเจลอยู่ติดกับกลุ่มดาวแม่น้ำที่มีดาวอะเคอร์นาเป็นดาวเด่น (ไม่ได้อยู่ติดกัน) เข็มขัดนายพรานชี้ไปที่ดาวตาวัว (อัลดิบารัน) และถ้าลากจากไรเจลผ่านบีเทลจุสจะได้ดาวคาสเตอร์ เป็นต้น
รายชื่อดาวในกลุ่ม
แก้กลุ่มดาวนายพรานเป็นกลุ่มดาวที่มีดาวฤกษ์สว่างเป็นสมาชิกอยู่มาก มีดาวฤกษ์ในตำแหน่งหลักทั้งสิ้น 8 ชุด มีรายละเอียดดังนี้
- λ Ori (ดาวเมสสา) เป็นดาวส่วนหัวของนายพราน มีความส่องสว่างปรากฏ 3.54
- α Ori (ดาวบีเทลจุส) อยู่ที่ไหล่ขวาของนายพราน เป็นดาวยักษ์แดงที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าวงโคจรของดาวอังคาร แม้จะได้รหัสว่า อัลฟา (α) แต่ระดับความสว่างก็ยังเป็นรองแก่ดาวไรเจล มีความส่องสว่างปรากฏ 0.42 (แปรแสงได้ระหว่าง 0.3-1.2)
- γ Ori (ดาวเบลลาทริกซ์) อยู่ที่ไหล่ซ้ายของนายพราน มีความส่องสว่างปรากฏ 1.64
- ζ Ori (ดาวอัลนิแทค), ε Ori (ดาวอัลนิลัม) และ δ Ori (ดาวมินทาคา) ประกอบกันเป็นแนวเส้นที่เป็นที่รู้จักว่า "เข็มขัดของนายพราน" (Orion's Belt) ซึ่งเป็นจุดสังเกตค้นหากลุ่มดาวได้อย่างง่ายที่สุด มีความส่องสว่างปรากฏ 2.00 ,1.70 ,2.23 ตามลำดับ
- η Ori (เอต้า โอไรอัน) อยู่ระหว่างดาวมินทาคากับไรเจล มีความส่องสว่างปรากฏ 3.42
- κ Ori (ดาวไซฟ์) อยู่ที่เข่าขวาของนายพราน มีความส่องสว่างปรากฏ 2.09
- β Ori (ดาวไรเจล) อยู่ที่เข่าซ้ายของนายพราน เป็นดาวสีน้ำเงินขาวขนาดใหญ่ที่สว่างมากที่สุดดวงหนึ่งบนท้องฟ้า มีดาวในระบบดาวสามดวงที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีความส่องสว่างปรากฏ 0.12
- ι Ori (ดาวฮัตซยา) อยู่ที่ตำแหน่งยอดดาบของนายพราน มีความส่องสว่างปรากฏ 2.77
เช่นเดียวกับดาวฤกษ์สว่างดวงอื่นๆ ชื่อ บีเทลจุส ไรเจล ไซฟ์ อัลนิแทค มินทาคา อัลนิลัม ฮัตซยา และเมสสา มีต้นกำเนิดมาจากคำในภาษาอาหรับ
การระบุตำแหน่งดาวอื่น
แก้กลุ่มดาวนายพรานมีประโยชน์อย่างยิ่งในการใช้ค้นหาตำแหน่งของดาวอื่นๆ เมื่อลากเส้นจากแนวเข็มขัดนายพรานออกไปทางตะวันออกเฉียงใต้ จะพบดาวซิริอุสในกลุ่มดาวสุนัขใหญ่ ถ้าลากต่อออกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ จะพบดาวอัลดิบาแรน เส้นตรงที่ลากผ่านไหล่ทั้งสองข้างของนายพรานออกไปทางตะวันออกจะชี้ไปยังตำแหน่งของดาวโปรซิออนในกลุ่มดาวสุนัขเล็ก ถ้าลากเส้นจากดาวไรเจลผ่านดาวบีเทลจุสต่อออกไปจะพบดาวคาสเตอร์กับดาวพอลลักซ์ในกลุ่มดาวคนคู่ นอกจากนี้ ดาวไรเจลยังเป็นดาวสมาชิกดวงหนึ่งของวงกลมฤดูหนาว ส่วนซิริอุสและโปรซิออนเป็นส่วนหนึ่งของทั้งดาวสามเหลี่ยมฤดูหนาวและวงกลมฤดูหนาว[4]
วัตถุท้องฟ้าในกลุ่มดาว
แก้ใต้ตำแหน่งเข็มขัดของโอไรอันจะเป็นดาบนายพราน บริเวณนี้มีดาวหลายดวงเช่น θ1 โอไรอัน และ θ2 โอไรอัน หรือเรียกชื่อว่า กระจุกดาวทราเปเซียม และเนบิวลานายพราน (M42) เป็นวัตถุท้องฟ้าที่สามารถมองเห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่า หากใช้กล้องสองตาช่วย จะสามารถมองเห็นกลุ่มเมฆหมุนวนอยู่รอบๆ รวมถึงแก๊สเรืองแสงและฝุ่น
เนบิวลาที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งคือ IC 424 หรือเนบิวลาหัวม้า ใกล้กับตำแหน่งดาว ζ โอไรอัน (Alnitak)เป็นเมฆฝุ่นมืดๆ ที่เกาะกลุ่มเป็นรูปร่างคล้ายหัวม้าอันเป็นที่มาของชื่อ
ถ้าใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กส่องสำรวจดูรอบๆ บริเวณกลุ่มดาวนายพราน จะสามารถมองเห็นวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจอีกมากมายในเขตอวกาศลึกในแถบนี้ เช่น เนบิวลา M43 เนบิวลา M78 รวมถึงระบบดาวอีกหลายกลุ่มรวมถึง ไอโอตาโอไรอัน และซิกมาโอไรอันด้วย ถ้าใช้กล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ขึ้นก็อาจมองเห็นวัตถุบางอย่างเช่น เนบิวลาเพลิง (NGC 2024) ตลอดจนระบบดาวหลายดวงและเนบิวลาขนาดเล็กที่มีแสงจางๆ ได้อีก
เนบิวลาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งอยู่ในกลุ่มเมฆโมเลกูลาร์โอไรอัน ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 1,500 ปีแสง มีความกว้างหลายร้อยปีแสง ถือเป็นย่านกำเนิดดาวฤกษ์ใหม่ที่หนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งในดาราจักรของเรา
อ้างอิง
แก้- ↑ Dolan, Chris. "Orion" เก็บถาวร 2011-12-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-10-05.
- ↑ "Introduction to the Constellations". เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-10-10.
- ↑ "Look for Orion the Hunter, and Sirius the Dog Star >> skywatching". เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-10-10.
- ↑ "Orion Constellation". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-21. สืบค้นเมื่อ 2008-11-06.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ดาวไถ (Orion's Belt and Orion Nebula) เก็บถาวร 2006-12-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน