คำวิเศษณ์

(เปลี่ยนทางจาก คุณศัพท์)

คำวิเศษณ์ หรือ คำคุณศัพท์ คือคำที่ทำหน้าที่ขยายคำนาม คำสรรพนาม คำกริยา หรือคำวิเศษณ์ด้วยกัน เพื่อให้ได้ความชัดเจนยิ่งขึ้น ในภาษาไทย คำวิเศษณ์สามารถใช้ขยายได้ทั้งคำนาม คำสรรพนาม คำกริยา และคำวิเศษณ์ ในขณะที่ในภาษาอังกฤษจะแยกคำวิเศษณ์ออกเป็นสองประเภทคือ คำคุณศัพท์ (adjective) ใช้ขยายได้เฉพาะคำนามและสรรพนามเท่านั้น และคำกริยาวิเศษณ์ (adverbs) ใช้ขยายคำกริยา คำคุณศัพท์ และคำกริยาวิเศษณ์ด้วยกัน

ชนิดของคำวิเศษณ์

แก้

คำวิเศษณ์ในภาษาไทยมี 10 ชนิดดังนี้

  1. กาลวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์บอกเวลา เช่น เช้า สาย บ่าย เย็น อดีต อนาคต เป็นต้น เช่น พรุ่งนี้เป็นวันเกิดของคุณแม่ หรือ เขามาโรงเรียนสาย
  2. สถานวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์บอกสถานที่ เช่น ใกล้ ไกล บน ล่าง เหนือ ใต้ ซ้าย ขวา เป็นต้น เช่น ฉันนั่งเรียนอยู่แถวหน้า
  3. นิยมวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกความชี้เฉพาะ เช่น นี้ นั่น โน่น ทั้งนี้ ทั้งนั้น แน่นอน เป็นต้น เช่น บ้านนั้นไม่มีใครอยู่ หรือ เขาเป็นคนขยันแน่ ๆ
  4. อนิยมวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกความไม่ชี้เฉพาะ เช่น ใด อื่น ไหน อะไร ใคร ฉันใด เป็นต้น เช่น เธอจะมาเวลาใดก็ได้ หรือ คุณจะนั่งเก้าอื้ตัวไหนก็ได้
  5. ปฤจฉาวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์แสดงคำถาม หรือแสดงความสงสัย เช่น ใด ไร ไหน อะไร สิ่งใด ทำไม เป็นต้น เช่น เสื้อตัวนี้ราคาเท่าไร หรือ เขาจะมาเมื่อไร
  6. ประพันธวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่ทำหน้าที่เชื่อมคำหรือประโยคให้มีความเกี่ยวข้องกัน เช่นคำว่า ที่ ซึ่ง อัน
  7. ประมาณวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์บอกจำนวน หรือปริมาณ เช่น หนึ่ง สอง สาม มาก น้อย บ่อย หลาย บรรดา ต่าง บ้าง เป็นต้น เช่น เขามีเงินห้าบาท หรือ เขามาหาฉันบ่อย ๆ
  8. ประติเษธวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่แสดงความปฏิเสธ หรือไม่ยอมรับ เช่น ไม่ ไม่ใช่ มิ มิใช่ ไม่ได้ หามิได้ เป็นต้น เช่น เขามิได้มาคนเดียว หรือ ของนี้ไม่ใช่ของฉัน ฉันจึงรับไว้ไม่ได้
  9. ประติชญาวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่ใช้แสดงการขานรับหรือโต้ตอบ เช่น ครับ ขอรับ ค่ะ เป็นต้น เช่น คุณครับมีคนมาหาขอรับ หรือ คุณครูขา สวัสดีค่ะ/ครับ
  10. ลักษณวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกลักษณะต่าง ๆ เช่น
  • บอกชนิดสี เช่น เหลือง แดง ส้ม เขียว ฟ้า
  • บอกขนาด เช่น ใหญ่ เล็ก
  • บอกสัณฐาน เช่น กลม แบน
  • บอกกลิ่น เช่น หอม เหม็น
  • บอกรส เช่น เปรี้ยว หวาน เค็ม ขม
  • บอกความรู้สึก เช่น ร้อน เย็น

อ้างอิง

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้