มนพร เจริญศรี
มนพร เจริญศรี ม.ว.ม. ป.ช. (เกิด 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508) ชื่อเล่น เดือน เป็นนักการเมืองชาวไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม เขต 2 สังกัดพรรคเพื่อไทย 3 สมัย อดีตนายก อบจ.นครพนม และประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรี จังหวัดนครพนมตั้งแต่ พ.ศ. 2552 จนถึงปัจจุบัน
มนพร เจริญศรี | |
---|---|
มนพร ใน พ.ศ. 2566 | |
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม | |
เริ่มดำรงตำแหน่ง 1 กันยายน พ.ศ. 2566 (1 ปี 37 วัน) ดำรงตำแหน่งร่วมกับ สุรพงษ์ ปิยะโชติ | |
นายกรัฐมนตรี | เศรษฐา ทวีสิน แพทองธาร ชินวัตร |
รัฐมนตรีว่าการ | สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ |
ก่อนหน้า | อธิรัฐ รัตนเศรษฐ |
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครพนม | |
เริ่มดำรงตำแหน่ง 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 (13 ปี 151 วัน) | |
ก่อนหน้า | ไพจิต ศรีวรขาน อลงกต มณีกาศ |
เขตเลือกตั้ง | เขต 2 (2554–ปัจจุบัน) |
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม | |
ดำรงตำแหน่ง 14 มีนาคม พ.ศ. 2547 – 13 มีนาคม พ.ศ. 2551 (4 ปี 0 วัน) | |
ถัดไป | สมชอบ นิติพจน์ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ประเทศไทย |
พรรคการเมือง | เพื่อไทย (2554–ปัจจุบัน) |
คู่สมรส | เอกรินทร์ เจริญศรี |
ลายมือชื่อ | |
ประวัติ
มนพร เจริญศรี เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 ที่อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม[1] มีชื่อเล่นว่า เดือน เป็นบุตรสาวของนายสุนทร และนางจันทร์ฟอง ทำทอง มีพี่น้อง 2 คน สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจาก โรงเรียนนครพนมวิทยาคม ระดับปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์ ระดับอนุปริญญา วิทยาลัยนานาชาติเซนต์เทเรซา ระดับปริญญาโท ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ ระดับปริญญาเอก ศิลปศาสตร์ดุษฏีบัญฑิต สาขาสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก
มนพร สมรสกับนายเอกรินทร์ เจริญศรี และมีธิดา 1 คน ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ใน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อนึ่ง เธอเป็นบุตรบุญธรรมของ นายประสงค์ บูรณ์พงศ์ อดีต ส.ส. นครพนม หลายสมัย และรัฐมนตรีในหลายรัฐบาล (บรรหาร ศิลปอาชา, พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ)[2]
งานการเมือง
การเมืองท้องถิ่น
เธอเข้าสู่การเมืองจากการลงเลือกตั้ง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม โดยชนะการเลือกตั้งในเขตอำเภอเมือง และดำรงตำแหน่งเป็น รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม ต่อมาได้เข้าสู่งานบริหาร จากการได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกสภาจังหวัด ที่ร่วมกันโหวตให้เธอเป็น รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม ในภายหลัง มนพร ชนะการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2547 นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในสนามการเมืองท้องถิ่นของเธอ[3]
การเคลื่อนไหวทางการเมือง
มนพร คือนักต่อสู้ในนามคนเสื้อแดงจังหวัดนครพนม นับตั้งแต่หลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ภายใต้การนำของพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เธอเข้าร่วมการชุมนุมหลายครั้ง หลังเธอได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในปี 2554 เธออาสามารับผิดชอบงานในกรรมาธิการการมีส่วนร่วมพัฒนาการเมือง เพื่อทวงสิทธิให้กับคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตจากการชุมนุม[4]
การเข้าสู่สนามการเมืองใหญ่
มนพรได้รับการขนานนามจากพี่น้องในพื้นที่ ว่าเป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่มีผลงานพัฒนาที่เด่นชัด ใกล้ชิด ติดดิน และเข้าถึงพี่น้องประชาชน ในปี 2554 เธอลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนมเป็นครั้งแรก ในสังกัดพรรคเพื่อไทย และได้คะแนนเสียงอย่างถล่มทลายกว่า 53,714 เสียง คิดเป็นกว่า 64.29% ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตเธอ ภายหลังการรัฐประหาร มนพร ยังคงลงเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม อย่างต่อเนื่องในปี การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 เธอสามารถเอาชนะ ศุภชัย โพธิ์สุ หรือ "สหายแสง" ตัวเต็งจากพรรคภูมิใจไทย กว่า 9,328 คะแนน นับเป็นอีกหนึ่งสมรภูมิการเลือกตั้งที่สร้างชื่อเสียงให้เธอ[5]
เธอเป็นนักประสานงานระหว่างพรรคการเมือง และเป็นที่ไว้วางใจในกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวิปฝ่ายต่างๆ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น "ผู้ประสาน 10 ทิศ" ในสภาผู้แทนราษฎร และยังเป็นเลขานุการภาคอีสาน ของพรรคเพื่อไทย
ต่อมาเธอได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ในปี 2566[6]
ตำแหน่งทางการเมือง
- สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม (เขตอำเภอเมือง)
- รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม
- รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม
- นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครพนม 3 สมัย (2554 - ปัจจุบัน)
- โฆษก คณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร (2554 - 2557)
- เลขานุการวิปฝ่านค้าน สภาผู้แทนราษฎร (2562 - 2566)
- เลขานุการ คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร (2562 - 2566)
- โฆษก คณะกรรมาธิการพระพุทธศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร (2562 - 2566)
- รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (2564 - 2566)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- พ.ศ. 2567 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[7]
- พ.ศ. 2563 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[8]
อ้างอิง
- ↑ ฐานข้อมูล ผู้แทนราษฎร
- ↑ มนพร เจริญศรี vs อารมณ์ เวียงด้าน คู่ชิงดำ ส.ส.นครพนม เขต 2 วันที่ 3 ก.ค.54
- ↑ "ประวัติ มนพร เจริญศรี Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ". 2023-07-04.
- ↑ Ltd.Thailand, VOICE TV (2023-07-28). "Voice Politics : 'มนพร เจริญศรี' ครูใหญ่ สส. 'เพื่อไทย' ดีเอ็นเอไม่ยอม 'เผด็จการ". VoiceTV.
- ↑ narongs. "ทำความรู้จัก 'ส.ส.เดือน' มนพร เจริญศรี ส.ส.นครพนม 3 สมัย พรรคเพื่อไทย". เดลินิวส์.
- ↑ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง คณะรัฐมนตรี "เศรษฐา" นายกฯ ควบ "รมว.คลัง"
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสายสะพาย ประจำปี ๒๕๖๗, เล่ม ๑๔๑ ตอนพิเศษ ๑ ข หน้า ๒, ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๖๓, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑ ข หน้า ๘, ๒๒ มกราคม ๒๕๖๔
แหล่งข้อมูลอื่น
- นางมนพร เจริญศรี เก็บถาวร 2012-08-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เว็บไซต์รัฐสภาไทย
- บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนางมนพร เจริญศรี[ลิงก์เสีย], สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
- ข้อมูลนักการเมือง (นางมนพร เจริญศรี), ศูนย์ข้อมูลนักการเมือง
ก่อนหน้า | มนพร เจริญศรี | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
อธิรัฐ รัตนเศรษฐ | รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (ครม. 63) (1 กันยายน พ.ศ. 2566 – ปัจจุบัน) |
อยู่ในวาระ |