พระเจ้าคริสเตียนที่ 1 แห่งเดนมาร์ก

พระเจ้าคริสเตียนที่ 1 แห่งเดนมาร์ก (กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1426 - 21 พฤษภาคม ค.ศ. 1481) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์คาบสมุทรสแกนดิเนเวียภายใต้สหภาพคาลมาร์ พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์เดนมาร์ก (ค.ศ. 1448-1481) นอร์เวย์ (ค.ศ. 1450-1481) และสวีเดน (ค.ศ. 1457-1464) ตั้งแต่ค.ศ. 1460 ถึง 1481 พระองค์ยังทรงเป็นดยุคแห่งชเลสวิช (ภายใต้เดนมาร์ก) และเคานท์แห่งฮ็อลชไตน์ (หลังค.ศ. 1474) (ภายใต้จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์) พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของราชวงศ์อ็อลเดินบวร์ค[1]

คริสเตียนที่ 1
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก, สวีเดนและนอร์เวย์
พระบรมสาทิสลักษณ์คริสเตียนที่ 1 พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก, สวีเดนและนอร์เวย์ ที่ปราสาทเฟรเดอริกบอร์ก วาดราวศตวรรษที่ 15
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
ครองราชย์1 กันยายน ค.ศ. 1448 - 21 พฤษภาคม ค.ศ. 1481
(32 ปี 262 วัน)
ราชาภิเษก28 ตุลาคม ค.ศ. 1449
โบสถ์พระนางมารี, โคเปนเฮเกน
ก่อนหน้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 3
ถัดไปฮันส์
พระมหากษัตริย์แห่งนอร์เวย์
ครองราชย์13 พฤษภาคม ค.ศ. 1450 - 21 พฤษภาคม ค.ศ. 1481
(31 ปี 8 วัน)
ราชาภิเษก2 สิงหาคม ค.ศ. 1450
ทร็อนไฮม์
ก่อนหน้าคาร์ลที่ 1
ถัดไปฮันส์
พระมหากษัตริย์แห่งสวีเดน
ครองราชย์2 สิงหาคม ค.ศ. 1457 - 29 มิถุนายน ค.ศ. 1464
(6 ปี 332 วัน)
ราชาภิเษก29 มิถุนายน ค.ศ. 1457
อุปซอลา
ก่อนหน้าคาร์ลที่ 8
ถัดไปคาร์ลที่ 8
พระราชสมภพกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1426
อ็อลเดินบวร์ค
สวรรคต21 พฤษภาคม ค.ศ. 1481 (55 ปี)
ปราสาทโคเปนเฮเกน
ฝังพระศพมหาวิหารรอสกิลด์ รอสกิลด์
ชายาโดโรเธียแห่งบรันเดินบวร์ค
พระราชบุตร
พระนามเต็ม
คริสเตียน ฟ็อน อ็อลเดินบวร์ค
ราชวงศ์อ็อลเดินบวร์ค
พระราชบิดาดีทริช เคานท์แห่งอ็อลเดินบวร์ค
พระราชมารดาเฮลวิกแห่งเชาม์บวร์ค
ศาสนาโรมันคาทอลิก

ในช่วงช่องว่างแห่งอำนาจที่เกิดขึ้นหลังจากการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 3 แห่งเดนมาร์ก หรือ คริสตอฟแห่งบาวาเรีย (ค.ศ. 1416-1448) โดยปราศจากรัชทายาทสายตรง สวีเดนได้เลือกพระเจ้าคาร์ลที่ 8 แห่งสวีเดน (ค.ศ. 1408-1470) เป็นกษัตริย์ด้วยความพยายามที่จะสร้างสหภาพขึ้นมาใหม่ภายใต้กษัตริย์ชาวสวีเดน กษัตริย์คาร์ลได้รับเลือกเป็นพระมหากษัตริย์นอร์เวย์ในปีถัดมา อย่างไรก็ตามเหล่าเคานท์แห่งฮ็อลชไตน์จากตระกูลเชาม์บวร์คได้ทำให้สภาขุนนางเดนมาร์กเลือกคริสเตียนเป็นพระมหากษัตริย์เดนมาร์ก ต่อมาทรงได้สืบราชบัลลังก์นอร์เวย์ในค.ศ. 1450 และสวีเดนในค.ศ. 1457 ทรงสามารถฟื้นฟูเอกภาพของสหภาพคาลมาร์ได้ในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ในค.ศ. 1463 สวีเดนถอนตัวออกจากสหภาพ และกษัตริย์คริสเตียนทรงพยายามทำสงครามเพื่อยึดสวีเดนคืนแต่ก็พ่ายแพ้ต่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งสวีเดน คือ สเตียน สตูเร ผู้อาวุโส ในยุทธการที่บรุนเคแบร์ ค.ศ. 1471[2]

ในค.ศ. 1460 หลังการถึงแก่กรรมของอดอล์ฟที่ 8 เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์ ดยุคแห่งชเลสวิช น้าของกษัตริย์คริสเตียน กษัตริย์คริสเตียนจึงสืบตำแหน่งดยุคแห่งชเลสวิชและเคานท์แห่งฮ็อลชไตน์

พระราชประวัติ แก้

ช่วงต้นพระชนม์ชีพ แก้

 
ภาพ ดยุคอดอล์ฟปฏิเสธบัลลังก์และแนะนำให้เลือกเคานท์คริสเตียนแห่งอ็อลเดินบวร์ค ผู้เป็นหลานชายแทน จิตรกรรมประวัติศาสตร์วาดโดยคริสตอฟเฟอร์ วิลเฮล์ม เอ็คเกอส์แบร์ก ในค.ศ. 1819

คริสเตียนแห่งอ็อลเดินบวร์ค เสด็จพระราชสมภพเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1426 ในอ็อลเดินบวร์ค แถบเยอรมนีเหนือ โดยเป็นบุตรชายองค์ใหญ่ในดีทริช เคานท์แห่งอ็อลเดินบวร์คที่ประสูติแต่เฮลวิกแห่งเชาม์บวร์ค ชายาคนที่สอง (ตาย ค.ศ. 1436) กษัตริย์คริสเตียนมีอนุชาสององค์ คือ มอริซ (ค.ศ. 1428-1464) และเกอร์ฮาร์ด (ค.ศ. 1430-1500) และขนิษฐา 1 องค์ คือ อาเดิลไฮท์

พระองค์เป็นสมาชิกตระกูลอ็อลเดินบวร์ค ผ่านทางบิดา โดยเป็นครอบครัวตระกูลเคานท์ที่ปกครองแถบตะวันตกของแม่น้ำเวเซอร์ ในตะวันตกเฉียงเหนือของเยอรมนีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 โดยมีฐานที่มั่นในอ็อลเดินบวร์คและเดลเมนโฮร์ส ตระกูลค่อยๆ ขยายอำนาจครอบคลุมพื้นที่อิทธิพลของชาติพันธ์ุชาวฟรีเชีย บิดาของคริสเตียนได้รับสมญานามว่า ผู้โชคดี (the Fortunate) เนื่องจากพระองค์สามารถรวบรวมแผ่นดินของครอบครัวและขยายอำนาจออกไปได้ มารดาของคริสเตียน คือ เฮลวิก เป็นธิดาในเกอร์ฮาร์ดที่ 6 เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์-เรนส์บวร์ค และเป็นพี่สาวใน อดอล์ฟ ดยุคแห่งชเลสวิช โดยสายตระกูลทางมารดา คริสเตียนสืบราชสันตติวงศ์มาจากพระเจ้าอีริคที่ 5 แห่งเดนมาร์ก ผ่านทางพระราชธิดาองค์ใหญ่คือ เจ้าหญิงรีเชซาแห่งเดนมาร์ก (สิ้นพระชนม์ ค.ศ. 1308) และยังทรงสืบราชสันตติวงศ์มาจากพระเจ้าอเบลแห่งเดนมาร์กผ่านทางพระราชธิดาคือ เจ้าหญิงโซฟีแห่งเดนมาร์ก ต่อมาเชื้อสายทางบิดาของคริสเตียน สืบราชสันตติวงศ์มาจากพระเจ้าอีริคที่ 4 แห่งเดนมาร์ก ผ่านทางพระราชธิดาคือ เจ้าหญิงโซเฟียแห่งเดนมาร์ก สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน ดังนั้นคริสเตียนจึงสืบราชสันตติวงศ์มาจากพระราชโอรสทั้งสามของพระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์กที่ประสูติแต่พระมเหสีองค์ที่สอง เจ้าหญิงบึเร็งการียาแห่งโปรตุเกส สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก

หลังการทิวงคตของบิดาในค.ศ. 1440 คริสเตียนและเหล่าอนุชาร่วมกันสืบตำแหน่งของบิดาในฐานะเคานท์แห่งอ็อลเดินบวร์คและเดลเมนโฮร์ส คริสเตียนได้รับการเลี้ยงดูโดยอดอล์ฟ ดยุคแห่งชเลสวิช (ค.ศ. 1401-1459) ผู้เป็นน้า ซึ่งเป็นดยุคที่ไร้ทายาท เขาหวังว่าหลานชายจะได้สืบตำแหน่งดยุค และยังทำให้คริสเตียนได้รับเลือกเป็นผู้สืบตำแหน่งดัชชีชเลสวิชต่อจากเขา[3]

พระมหากษัตริย์เดนมาร์ก แก้

 
สัญญาการขึ้นครองราชย์ที่กษัตริย์คริสเตียนที่ 1 ทรงลงพระปรมาภิไธย

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1448 พระเจ้าคริสตอฟเฟอร์แห่งเดนมาร์ก, สวีเดนและนอร์เวย์ เสด็จสวรรคตอย่างกะทันหันโดยปราศจากรัชทายาท การสวรรคตของพระองค์ทำให้สหภาพของทั้งสามราชอาณาจักรต้องล่มสลาย เนื่องจากเดนมาร์กและนอร์เวย์แยกตัวจากกัน และสถานภาพของนอร์เวย์ก็ไม่ชัดเจน ราชบัลลังก์ที่ว่างลงได้ถูกพิจารณาโดยสภาราชอาณาจักรซึ่งมีมติให้ถวายราชบัลลังก์แก่อดอล์ฟ ดยุคแห่งชเลสวิช ซึ่งเป็นขุนนางที่โดดเด่นที่สุดในเครือศักดินาราชอาณาจักรเดนมาร์ก ดยุคปฏิเสธและเขาได้แนะนำให้มอบราชบัลลังก์แก่คริสเตียนแห่งอ็อลเดินบวร์ค หลานชายของเขาแทน โดยก่อนที่จะได้รับเลือก คริสเตียนสาบานว่าจะปฏิบัติตาม คอนสติตูชิโอ วัลเดมาเรียนา อันกำหนดมาตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 3 แห่งเดนมาร์ก ซึ่งเป็นการสัญญาว่าในอนาคต คนๆ เดียวจะไม่สามารถปกครองทั้งชเลสวิชและเดนมาร์กพร้อมกันได้ ทางสภายังแนะนำให้คริสเตียนต้องอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระพันปีหลวงโดโรเธียแห่งบรันเดินบวร์ค พระราชินีม่ายในกษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ ในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1448 หลังทรงลงพระปรมาภิไธยในสัญญาการขึ้นครองราชย์ เคานท์คริสเตียนจึงได้รับเลือกตั้งให้สืบราชบัลลังก์เดนมาร์กในฐานะ กษัตริย์คริสเตียนที่ 1 ในการประชุมสภาที่เมืองวีบอร์ก พระราชพิธีราชาภิเษกจัดขึ้นในวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1449 ณ โบสถ์พระนางมารี เมืองโคเปนเฮเกน และมีการจัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับพระราชินีโดโรเธียในคราวเดียวกันด้วย[4]

พระมหากษัตริย์แห่งสวีเดนและนอร์เวย์ แก้

 
พระเจ้าคริสเตียนที่ 1 และสมเด็จพระราชินีโดโรเธีย

ในขณะเดียวกัน วันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1448 สวีเดนได้เลือกเจ้ากรมวัง คาร์ล คนุตสัน บอนเดอ ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าคาร์ลที่ 8 แห่งสวีเดน ส่วนนอร์เวย์ต้องเผชิญปัญหาในการเลือกระหว่างจะเป็นสหภาพร่วมกับเดนมาร์กหรือสวีเดน หรือจะสถาปนาพระมหากษัตริย์ของตนเอง ตัวเลือกหลังสุดถูกปฏิเสธอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการแย่งชิงอำนาจระหว่างผู้สนับสนุนคริสเตียนแห่งเดนมาร์ก กับผู้สนับสนุนคาร์ลแห่งสวีเดน สภาราชอาณาจักรริคสรัดแห่งนอร์เวย์แตกแยกกัน ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1449 สมาชิกสภาส่วนหนึ่งได้ประกาศให้คาร์ลเป็นกษัตริย์ แต่ในวันที่ 15 มิถุนายน ปีเดียวกัน สมาชิกสภาส่วนหนึ่งได้เดินทางไปสวามิภักดิ์ต่อคริสเตียน ในวันที่ 20 พฤศจิกายน กษัตริย์คาร์ลแห่งสวีเดนได้รับการประกาศเป็นกษัตริย์แห่งนอร์เวย์ที่ทร็อนไฮม์

อย่างไรก็ตาม สวีเดนพยายามหลีกเลี่ยงที่จะก่อสงครามกับเดนมาร์ก ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1450 สภาราชอาณาจักรสวีเดนได้บังคับให้กษัตริย์คาร์ลสละสิทธิในราชบัลลังก์นอร์เวย์แก่กษัตริย์คริสเตียน ในฤดูร้อน ค.ศ. 1450 กษัตริย์คริสเตียนเสด็จเยือนนอร์เวย์ด้วยเรือพระที่นั่งขนาดใหญ่ และในวันที่ 2 สิงหาคม พระองค์ได้ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกที่เมืองทร็อนไฮม์ ในวันที่ 29 สิงหาคม สนธิสัญญาสหภาพระหว่างเดนมาร์กและนอร์เวย์ได้มีการลงนามที่เมืองบาร์เกิน นอร์เวย์แต่เดิมเป็นราชาธิปไตยแบบสืบราชสันตติวงศ์ แต่การสืบราชสันตติวงศ์นี้ถูกมองข้ามตลอดยุคสมัย ในการสืบราชสันตติวงศ์ครั้งสุดท้าย การอ้างสิทธิ์ผ่านสายเลือดได้ถูกมองข้ามด้วยเหตุผลทางการเมือง ในตอนนี้มีการระบุอย่างชัดเจนว่าเดนมาร์ก-นอร์เวย์เป็นระบอบราชาธอิปไตยแบบเลือกตั้ง สนธิสัญญากำหนดว่าเดนมาร์กและนอร์เวย์ควรมีพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวกันตลอดกาล และกษัตริย์เหล่านั้นจะถูกเลือกจากเหล่าพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนหน้าถ้ากษัตริย์นั้นยังมีทายาท

 
พรมผนังพระบรมสาทิสลักษณ์พระเจ้าคริสเตียนที่ 1 แห่งเดนมาร์ก

กษัตริย์คาร์ลที่ 8 คนุตสันเริ่มไม่เป็นที่นิยมมากขึ้นในสวีเดน และถูกขับออกจากราชบัลลังก์ในค.ศ. 1457 กษัตริย์คริสเตียนทรงมุ่งหมายให้พระองค์ได้รับเลือกเป็นพระมหากษัตริย์สวีเดน ดังนั้นจึงเป็นการสถาปนาสหภาพคาลมาร์ขึ้นมาใหม่ พระองค์ได้รับอำนาจชั่วคราวจากผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน อาร์คบิชอปจอน เบ็งก์สัน อ็อกเซนสแทร์นาและขุนนางอีริค อักเซลสัน ท็อท อย่างไรก็ตามสถานการณ์ทางการเมืองในสวีเดนมีความผันผวนและเกิดการแตกแยกของกลุ่มการเมืองต่างๆ (ระหว่างฝ่ายสหภาพกับฝ่ายชาตินิยม) รัชกาลของพระองค์จึงสิ้นสุดในค.ศ. 1464 เมื่อเค็ททิล คาร์ลสัน (วาซา) บิชอปแห่งลินเชอปิง ได้รับการสถาปนาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนถัดไป คาร์ล คนุตสันทรงถูกเรียกกลับมาเป็นพระมหากษัตริย์สวีเดน แม้ว่าในภายหลังพระองค์ต้องลี้ภัยอีกเป็นครั้งที่สอง และต่อมาทรงถูกเรียกพระองค์กลับมาเป็นพระมหากษัตริย์อีก และเสด็จสวรรคตในการเป็นพระมหากษัตริย์ครั้งที่สาม กษัตริย์คริสเตียนทรงพยายามครั้งสุดท้ายในการครองราชบัลลังก์สวีเดน แต่ก็สิ้นสุดลงด้วยการศึกที่ล้มเหลวในยุทธการที่บรุนเคแบร์ (นอกสต็อกโฮล์ม) เดือนตุลาคม ค.ศ. 1471 พระองค์พ่ายแพ้ต่อกองทัพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สเตียน สตูเร ผู้อาวุโส กษัตริย์คริสเตียนยังคงอ้างสิทธิในราชบัลลังก์สวีเดนตราบจนสวรรคตในค.ศ. 1481[5][6][7][8]

ดยุคและเคานท์ แก้

ในค.ศ. 1460 กษัตริย์คริสเตียนทรงได้รับตำแหน่งดยุคแห่งดัชชีชเลสวิช อันเป็นที่ดินศักดินาของเดนมาร์ก และตำแหน่งเคานท์แห่งฮ็อลชไตน์-เรนส์บวร์ค ที่ดินศักดินาซัคเซิน-เลาเอินบวร์คภายในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ กษัตริย์คริสเตียนสืบตำแหน่งซัคเซิน-เลาเอินบวร์คและชเลสวิช หลังจากเกิดช่วงว่างระหว่างรัชกาลในระยะสั้นๆ ด้วยพระองค์เป็นโอรสองค์ใหญ่ในพี่สาวของอดอล์ฟ ดยุคแห่งชเลสวิชและเคานท์แห่งฮ็อลชไตน์ เฟือสท์ของตระกูลเชาม์บวร์ค ซึ่งเสียชีวิตในวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1459 โดยไร้ทายาท การสืบตำแหน่งของกษัตริย์คริสเตียนได้รับการยอมรับจากสภาฐานันดรแห่งราชอาณาจักร (ขุนนางและผู้แทน) ของปฐมดัชชีเหล่านี้ ที่เมืองรีเบ ในวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 1460 (สนธิสัญญารีเบ) ในค.ศ. 1474 เจ้าศักดินาของตระกูลเชาม์บวร์ค คือ จักรพรรดิฟรีดริชที่ 3 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ได้เลื่อนอิสริยยศของกษัตริย์คริสเตียนจากเคานท์แห่งฮ็อลชไตน์เป็น ดยุคแห่งดัชชีฮ็อลชไตน์ ดังนั้นจึงทำให้กลายเป็นข้าราชบริพารของจักรวรรดิไปโดยปริยาย (ไรชส์อุนมิทเทิลบาร์ไคท์ หรือ อำนาจอธิปไตยซึ่งประมุขขึ้นโดยตรงต่อจักรพรรดิ)

ปลายรัชกาล แก้

 
ภาพวาดพระมหากษัตริย์เดนมาร์กเสด็จเยือนปราสาทมัลปากาในเมืองแบร์กาโม ซึ่งมีการจัดงานเลี้ยงพระกระยาหารเพื่อเป็นเกียรติแก่นายพลชาวเวนิส บาร์โทโลมิโอ คอลเลโอนี

อาณาเขตส่วนพระองค์ของกษัตริย์คริสเตียนมีขนาดใหญ่ที่สุดในช่วงค.ศ. 1460-1464 ก่อนที่จะสูญเสียสวีเดนไป แต่หลายดินแดนในราชอาณาจักรของพระองค์ต้องการการปกครองตนเอง และมีการต่อสู้อย่างต่อเนื่อง เดนมาร์กจึงเป็นดินแดนศูนย์กลางพระราชอำนาจที่สำคัญที่สุดของพระองค์

ในค.ศ. 1474 กษัตริย์คริสเตียนเสด็จประพาสต่างอาณาจักรสองครั้ง ในเดือนเมษายน พระองค์เสด็จเยือนมิลาน (พระองค์ประทับที่ลอมบาร์ดี มีการเฉลิมฉลองด้วยการวาดภาพเฟรสโกโดยโรมานิโนที่ปราสาทมัลปากา) และเสด็จเยือนโรม ในอิตาลี พระองค์ทรงเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระสันตะปาปาซิกซ์ตุสที่ 4 ในฤดูใบไม้ผลิปีเดียวกัน พระองค์ได้เข้าพบชาร์ลแห่งบูร์กอญ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างพระองค์กับอนาคตจักรพรรดิมัคซีมีลีอานที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ประทับในดัชชีบูร์กอญเป็นเวลาหลายเดือน ก่อนเสด็จไปยังเนเธอร์แลนด์ในต้นค.ศ. 1475

 
ภาพวาดอุปมานิทัศน์การก่อตั้งมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนโดยกษัตริย์คริสเตียนที่ 1

พระองค์ทรงได้รับการอนุญาตจากสมเด็จพระสันตะปาปาซิกซ์ตุสที่ 4 ในค.ศ. 1475 ที่ทรงโปรดให้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยในเดนมาร์ก มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนจึงได้รับการก่อตั้งจากกษัตริย์คริสเตียนที่ 1 ในวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1479

สวรรคตและพิธีพระบรมศพ แก้

กษัตริย์คริสเตียนเสด็จสวรรคตที่ปราสาทโคเปนเฮเกน ในวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 1481 สิริพระชนมายุ 55 พรรษา พระบรมศพได้ถูกฝังที่หอสวดมนต์แห่งปราชญ์ในมหาวิหารรอสกิลด์ เมืองรอสกิลด์ เป็นหอสวดมนต์ที่มีการตกแต่งอย่างหรูหราซึ่งพระองค์และสมเด็จพระราชินีโดโรเธียสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นโบสถ์เล็กในการฝังพระศพสมาชิกในพระราชวงศ์อ็อลเดินบวร์ค การฝังพระบรมศพกษัตริย์คริสเตียนที่ 1 และสมเด็จพระราชินีโดโรเธียถูกทำเครื่องหมายด้วยหินธรรมดาคู่หนึ่งในฐานะอนุสาวรีย์ที่ฝังศพ

พระราชมรดก แก้

ราชวงศ์อ็อลเดินบวร์คได้รับการสถาปนาครองราชบัลลังก์เดนมาร์ก และราชบัลลังก์นอร์เวย์จนถึงค.ศ. 1818 และกลับมาครองราชย์อีกครั้งในค.ศ. 1905 และยังคงได้ครองราชบัลลังก์สวีเดนในช่วงรัชกาลของกษัตริย์คริสเตียน และพระราชโอรสของพระองค์ พระเจ้าฮันส์แห่งเดนมาร์ก จนถึงพระราชนัดดา พระเจ้าคริสเตียนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก และยังรวมถึงช่วงค.ศ. 1751-1818 ด้วย[9]

ตราอาร์ม แก้

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระเจ้าคริสเตียนที่ 1
 
ตราประจำพระอิสริยยศ
การทูลHans Majestæt
(ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท)
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับDeres Majestæt
(พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ)

พระโอรส-ธิดา แก้

พระเจ้าคริสเตียนที่ 1 กับพระราชินีโดโรเธียทรงมีพระโอรส-ธิดาทั้งหมด 5 พระองค์ ได้แก่

  พระนาม ประสูติ สิ้นพระชนม์ คู่สมรส และพระโอรส-ธิดา
  เจ้าชายโอลาฟแห่งเดนมาร์ก ค.ศ. 1450 ค.ศ. 1451 สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์
  เจ้าชายคนุตแห่งเดนมาร์ก ค.ศ. 1451 ค.ศ. 1455 สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์
  พระเจ้าฮันส์แห่งเดนมาร์ก 2 กุมภาพันธ์
ค.ศ. 1455
20 กุมภาพันธ์
ค.ศ. 1513
อภิเษกสมรส วันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1478 กับ
คริสตินาแห่งซัคเซิน
มีพระโอรสธิดา 6 พระองค์ ได้แก่
เจ้าชายจอห์น
เจ้าชายเอิร์นส์
พระเจ้าคริสเตียนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก
เจ้าชายจาค็อบ เดอะดาเชียน
เอลิซาเบธแห่งเดนมาร์ก อีเล็กเตรสแห่งบรันเดินบวร์ค
เจ้าชายฟรานซิสแห่งเดนมาร์ก
  มาร์เกรเธอแห่งเดนมาร์ก สมเด็จพระราชินีแห่งสกอตแลนด์ 23 มิถุนายน
ค.ศ. 1456
14 กรกฎาคม
ค.ศ. 1486
อภิเษกสมรส เดือนกรกฎาคมค.ศ. 1469 กับ
พระเจ้าเจมส์ที่ 3 แห่งสกอตแลนด์
มีพระโอรส 3 พระองค์ ได้แก่
พระเจ้าเจมส์ที่ 4 แห่งสกอตแลนด์
เจมส์ สจวต ดยุกแห่งรอส
จอห์น สจวต เอิร์ลแห่งมาร์
  พระเจ้าเฟรเดอริกที่ 1 แห่งเดนมาร์ก 7 ตุลาคม
ค.ศ. 1471
10 เมษายน
ค.ศ. 1533
อภิเษกสมรสครั้งที่ 1 ค.ศ. 1502 กับ
แอนนาแห่งบรันเดินบวร์ค
มีพระโอรสธิดา 2 พระองค์ ได้แก่
พระเจ้าคริสเตียนที่ 3 แห่งเดนมาร์ก
โดโรเธียแห่งเดนมาร์ก ดัชเชสแห่งปรัสเซีย

อภิเษกสมรสครั้งที่ 2 วันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 1518 กับ
โซฟีแห่งพอเมอเรเนีย
มีพระโอรสธิดา 6 พระองค์ ได้แก่
จอห์นที่ 2 ดยุกแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ฮาเดอร์สเลฟ
เอลิซาเบธแห่งเดนมาร์ก ดัชเชสแห่งเม็คเลนบวร์ก
อดอล์ฟ ดยุกแห่งฮ็อลชไตน์-ก็อตท็อป
เจ้าหญิงแอนน์แห่งเดนมาร์ก
โดโรเธียแห่งเดนมาร์ก ดัชเชสแห่งเม็คเลนบวร์ก
เจ้าชายบิชอปเฟรเดอริกแห่งเดนมาร์ก

พงศาวลี แก้

ราชสันตติวงศ์เดนมาร์ก แก้

ราชวงศ์แอสตริด
พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก
พระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 1 แห่งเดนมาร์กพระเจ้าอเบลแห่งเดนมาร์กพระเจ้าอีริคที่ 4 แห่งเดนมาร์ก
พระเจ้าอีริคที่ 5 แห่งเดนมาร์กโซฟีแห่งเดนมาร์ก เจ้าหญิงแห่งอัลฮัลท์-เบิร์นบวร์คโซเฟียแห่งเดนมาร์ก สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน
รีเชซาแห่งเดนมาร์กแบร์นฮาร์ทที่ 2 เจ้าชายแห่งอัลฮัลท์-เบิร์นบวร์คอิงเงอบอร์ก เคานท์เตสแห่งฮ็อลชไตน์-พลุน
โซฟีแห่งเม็คเลินบวร์ค-แวร์เลอแบร์นฮาร์ทที่ 3 เจ้าชายแห่งอัลฮัลท์-เบิร์นบวร์คเกอร์ฮาร์ดที่ 4 เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์-พลุน
ไฮน์ริชที่ 2 เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์-เรนส์บวร์คคาทารีนาแห่งอัลฮัลท์-เบิร์นบวร์คอิงเงอบอร์ก เคานท์เตสแห่งอ็อลเดินบวร์ค
เกอร์ฮาร์ดที่ 6 เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์-เรนส์บวร์คคาทารีนา เอลิซาเบธแห่งเบราน์ชไวค์คริสเตียนที่ 5 เคานท์แห่งอ็อลเดินบวร์ค
เฮลวิกแห่งเชาม์บวร์คดีทริช เคานท์แห่งอ็อลเดินบวร์ค
คริสเตียนที่ 1
ราชวงศ์อ็อลเดินบวร์ค

เชิงอรรถ แก้

  1. Burke's Royal families of the World, I Europe & Latin America ISBN 0 85011 023 8 p. 68
  2. "Battle of Brunkeberg 1471". tripod.com. สืบค้นเมื่อ 1 June 2018.
  3. "Adolf VIII". Allgemeine Deutsche Biographie. สืบค้นเมื่อ 1 June 2018.
  4. "Dorothea, 1430-95, Dronning". Dansk biografisk Lexikon. สืบค้นเมื่อ 1 June 2018.
  5. "Erik Axelsson Tott". Biografiskt lexikon för Finland 1. Svenska tiden. สืบค้นเมื่อ 1 June 2018.
  6. Christer Engstrand. "Kettil Vasa (Karlsson)". historiska-personer.nu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-09-09. สืบค้นเมื่อ 1 June 2018.
  7. "Jöns Bengtsson (Oxenstierna)". Svenskt biografiskt lexikon. สืบค้นเมื่อ 1 June 2018.
  8. Örjan Martinsson. "Sten Sture den äldre". Tacitus.nu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-04-22. สืบค้นเมื่อ 1 June 2018.
  9. Burke's Royal Families of the World ISBN 0-85011-023-8 p 60

บรรณานุกรม แก้

เว็บไซต์อ้างอิง แก้

ก่อนหน้า พระเจ้าคริสเตียนที่ 1 แห่งเดนมาร์ก ถัดไป
คริสตอฟเฟอร์ที่ 3    
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
(ค.ศ. 1448 - ค.ศ. 1481)
  ฮันส์
คาร์ล    
พระมหากษัตริย์แห่งนอร์เวย์
(ค.ศ. 1450 - ค.ศ. 1481)
  ว่าง
ผู้สำเร็จราชการยอน สวาลสัน สเมอร์
ลำดับถัดไป
ฮันส์
ว่าง
ผู้สำเร็จราชการจอน เบ็งก์สัน อ็อกเซนสแทร์นาและอีริค อักเซลสัน ท็อท
ลำดับก่อนหน้า
คาร์ลที่ 8
   
พระมหากษัตริย์แห่งสวีเดน
(ค.ศ. 1457 - ค.ศ. 1464)
  ว่าง
ผู้สำเร็จราชการเค็ททิล คาร์ลสัน (วาซา)
ลำดับถัดไป
คาร์ลที่ 8
ดีทริช    
เคานท์แห่งอ็อลเดินบวร์ค
ในฐานะเคานท์คริสเตียนที่ 7

(ค.ศ. 1440 - ค.ศ. 1450)
  เกอร์ฮาร์ดที่ 6
อดอล์ฟที่ 8    
เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์-เรนส์บวร์ค
(ค.ศ. 1460 - ค.ศ. 1474)
  เปลี่ยนตำแหน่งเป็นดยุค
อดอล์ฟที่ 8    
ดยุคแห่งชเลสวิช
(ค.ศ. 1460 - ค.ศ. 1481)
  โยฮันที่ 1และฟรีดริชที่ 1
เปลี่ยนตำแหน่งเป็นดยุค    
ดยุคแห่งฮ็อลชไตน์
(ค.ศ. 1474 - ค.ศ. 1481)
  โยฮันที่ 1และฟรีดริชที่ 1