พระเจ้าอีริคที่ 4 แห่งเดนมาร์ก

พระเจ้าอีริคที่ 4 แห่งเดนมาร์ก เป็นที่รู้จักในพระนาม อีริคผู้รีดไถเงิน หรือ Eric Ploughpenny (เดนมาร์ก: Erik Plovpenning); ราว ค.ศ. 1216 - 10 สิงหาคม ค.ศ. 1250) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์กตั้งแต่ค.ศ. 1241 จนกระทั่งสวรรคตในปีค.ศ. 1250 รัชกาลของพระองค์สร้างความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองต่อพระราชอนุชาของพระองค์[1]

พระเจ้าอีริคที่ 4 ผู้รีดไถเงิน
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
พระบรมสาทิสลักษณ์ภาพเฟรสโกในโบสถ์นักบุญเบ็นท์ ริงสเต็ด
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์กและชาวเวนด์
ครองราชย์1232 – 1241
กษัตริย์ร่วม
1241 – 1250
กษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว
ก่อนหน้าวัลเดมาร์ที่ 2 และ
วัลเดมาร์ยุวกษัตริย์
ถัดไปอเบล
ประสูติราว ค.ศ. 1216
สวรรคต10 สิงหาคม ค.ศ. 1250(1250-08-10) (34 ปี)
อ่าวชเลใกล้ปราสาทก็อททร็อป
ฝังพระศพครั้งแรกที่มหาวิหารชเลสวิก
ครั้งต่อมาที่โบสถ์นักบุญเบ็นท์, ริงสเต็ด, เดนมาร์ก
คู่อภิเษกจัตตาแห่งแซกโซนี
พระราชบุตร
พระนามเต็ม
อีริค วัลเดมาร์เซน แอสตริดเซน
ราชวงศ์แอสตริดเซน
พระราชบิดาพระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก
พระราชมารดาเจ้าหญิงบึเร็งการียาแห่งโปรตุเกส
ศาสนาโรมันคาทอลิก

ช่วงต้นพระชนมชีพ แก้

เจ้าชายอีริคทรงเป็นพระราชโอรสในพระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์กที่ประสูติแต่เจ้าหญิงบึเร็งการียาแห่งโปรตุเกส[2] และเป็นพระเชษฐาในเจ้าชายอเบลและเจ้าชายคริสตอฟเฟอร์ พระองค์ประสูติราวค.ศ. 1216

ในปีค.ศ. 1218 พระเชษฐาต่างพระมารดาของพระองค์คือ วัลเดมาร์ยุวกษัตริย์ ได้ครองราชย์เป็นกษัตริย์ร่วมกับพระราชบิดาและเป็นรัชทายาทในราชบัลลังก์ โดยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ดยุกแห่งชเลสวิก หลังจากยุวกษัตริย์วัลเดมาร์สวรรคตก่อนที่จะได้เสวยราชย์ในปีค.ศ. 1231 อีริคจึงได้รับการสวมมงกุฎเป็นพระมหากษัตริย์ที่มหาวิหารลุนด์ในวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1232 โดยเป็นพระประมุขร่วมกับพระราชบิดาและเป็นรัชทายาทในราชบัลลังก์ ต่อจากนั้นพระองค์ได้ยกดัชชีชเลสวิกให้แก่เจ้าชายอเบล พระราชอนุชาของพระองค์ เมื่อพระราชบิดาสวรรคตในปีค.ศ. 1241 พระองค์จึงได้สืบราชบัลลังก์[3]

รัชกาล แก้

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระเจ้าอีริคที่ 4
 
ตราประจำพระอิสริยยศ
การทูลHans Majestæt
(ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท)
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับDeres Majestæt
(พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ)

รัชกาลของพระองค์เต็มไปด้วยความขัดแย้งที่ขมขื่น โดยเฉพาะการต่อต้านของพระราชอนุชา ดยุกอเบลแห่งชเลสวิกทรงต้องการแยกตัวเป็นอิสระโดยได้รับการสนับสนุนจากเหล่าเคานท์ในฮ็อลชไตน์ กษัตริย์อีริคที่ 4 ยังต้องทรงต่อสู้กับเหล่าชาวนาในแคว้นสคาเนีย ที่ก่อกบฏต่อการจ่ายภาษีหนักให้ทางการในเรื่องของการไถนา จำนวนคันไถของคนหนึ่งคนเป็นเครื่องวัดความมั่งคั่งของคนๆ นั้น ทำให้กษัตริย์ทรงได้รับฉายานามว่า "plough-penny" (ไถ-เงิน) (เดนมาร์ก: Erik Plovpenning) [4]

กษัตริย์อีริคที่ 4 ทรงครองราชย์ได้หนึ่งปี ก็เกิดความขัดแย้งกับพระราชอนุชา ดยุกอเบลแห่งชเลสวิก ในปีค.ศ. 1242 ความขัดแย้งกินเวลาต่อเนื่องสองปีก่อนที่พระราชอนุชายินยอมที่จะพักรบในปีค.ศ. 1244 เพื่อร่วมรบในสงครามครูเสดในเอสโตเนีย ในขณะเดียวกันกษัตริย์อีริคทรงเผชิญปัญหากับภาคีทางศาสนาที่มองว่าพวกเขาต้องได้รับการยกเว้นการเสียภาษีตามที่กษัตริย์อีริคทรงประเมิน กษัตริย์อีริคทรงต้องการให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินของคริสตจักรเช่นเดียวกับผู้ถือครองที่ดินรายอื่น สมเด็จพระสันตะปาปาทรงส่งเอกอัครสมณทูตมาเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างกษัตริย์กับเหล่าบิชอปในโอเดนเซในปีค.ศ. 1245 การปัพพาชนียกรรมได้ถูกใช้เป็นคำขู่แก่ใครก็ตาม ไม่ว่าจะมีอำนาจมากหรือน้อยที่ทำการล่วงเกินสิทธิพิเศษของคริสตจักรสมัยโบราณ สิ่งนี้ถูกส่งมาเตือนกษัตริย์อีริคที่ 4 ว่าคริสตจักรจะไม่ยอมหากพระองค์ยังคงดำเนินการประเมินทรัพย์สินของศาสนจักรเพื่อวัตถุประสงค์ทางภาษีต่อไป[5]

ในปีค.ศ. 1249 กษัตริย์อีริคทรงพิโรธใส่นีลส์ สติกเซน บิชอปแห่งรอสคิลด์ เขาได้หลบหนีออกจากเดนมาร์กในปีเดียวกัน กษัตริย์อีริคทรงยึดทรัพย์สินของบาทหลวงในเกาะเชลลันด์รวมถึงเมืองโคเปนเฮเกนซึ่งเป็นเมืองเกิดใหม่ แม้ว่ามีการแทรกแซงจากสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 4 ทรงสนับสนุนการคืนสถานะของบิชอปและส่งคืนทรัพย์สมบัติให้สังฆมณฑล แต่ข้อพิพาทก็ไม่สามารถยุติได้ นีเอลส์ สติกเซนมรณภาพในปีค.ศ. 1249 ณ โบสถ์แคลร์โวซ์ ทรัพย์สินก็ไม่ถูกฟื้นคืนให้ให้สังฆมณฑลจนกระทั่งกษัตริย์อีริคที่ 4 สวรรคตในปีค.ศ. 1250[6]

ความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์อีริคที่ 4 และพระราชอนุชาทั้งสองได้มาถึงจุดแตกหักอีกครั้งในปีค.ศ. 1246 เริ่มจากการที่กษัตริย์อีริคทรงยกทัพบุกฮ็อลชไตน์ โดยพยายามยึดดินแดนที่เคยเป็นของพระราชบิดาคืนมา ดยุกอเบลแห่งชเลสวิกทรงอภิเษกสมรสกับธิดาของอดอล์ฟที่ 4 แห่งฮ็อลชไตน์และทรงเคยเป็นผู้ปกครองของน้องชายในพระชายาทั้งสอง คือ เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์ ได้แก่ โยฮันน์ที่ 1 เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์-คีล และเกอร์ฮาร์ดที่ 1 เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์-อิตเซโฮเอ เจ้าชายอเบล ดยุกแห่งชเลสวิกทรงบีบบังคับให้พระเชษฐายกเลิกแผนการโจมตีเสีย ในปีถัดมา ดยุกอเบลและทหารฮ็อลชไตน์ได้บุกเข้าไปคาบสมุทรจัตแลนด์และเกาะฟึน ได้เผาทำลายและปล้นสะดมตั้งแต่เมืองราเนอส์ไปจนถึงโอเดนเซ เจ้าชายอเบลได้รับการสนับสนุนจากสันนิบาตฮันเซอเมืองลือเบ็ค และพระราชอนุชาคือ เจ้าชายคริสตอฟเฟอร์ ลอร์ดแห่งลอลลันด์และฟัลสเตอ และพระเชษฐาต่างมารดาคือ คนุด ดยุกแห่งเบคิงเงอ[7]

กษัตริย์อีริคที่ 4 ทรงตอบโต้ทันที ด้วยการยึดเมืองรีเบคืน และยึดเมืองสเวนบอร์กซึ่งเป็นเมืองที่เจ้าชายอเบลได้รับเป็นมรดกจากพระราชบิดา ในปีค.ศ. 1247 พระองค์ยึดครองปราสาทอาเรสคอฟบนเกาะฟึน และจับกุมเจ้าชายคริสตอฟเฟอร์ พระอนุชาและดยุกคนุด พระเชษฐาต่างมารดาไว้เป็นเชลย มีการจัดทำสนธิสัญญาสันติภาพด้วยเจ้าหญิงโซฟีแห่งเดนมาร์ก (1217-1247) พระขนิษฐาในกษัตริย์อีริคที่ 4 พระนางทรงเป็นพระชายาในโยฮันที่ 1 มาร์เกรฟแห่งบรันเดนบูร์ก (ราวค.ศ. 1213-1266) โดยมีข้อตกลงให้กษัตริย์อีริคครอบครองเดนมาร์กทั้งหมด ในปีค.ศ. 1249 ชาวนาในสคาเนียลุกฮือก่อกบฏต่อต้านภาษีคันไถ กษัตริย์ทรงสามารถรักษาความสงบไว้ได้ด้วยการช่วยเหลือจากเกาะเชลลันด์ แต่ศาสนจักร ดยุกอเบลและชาวเยอรมันทางตอนใต้ของคาบสมุทรจัตแลนด์ได้รวมตัวกันเป็นพันธมิตรต่อต้านกษัตริย์[8] [9]

ลอบปลงพระชนม์ แก้

กษัตริย์อีริคทรงระดมพลและมุ่งหน้าสู่ดัชชีเอสโตเนียเพื่อปกป้องฐานทัพของพระองค์ที่นั่นในปีค.ศ. 1249 แต่เมื่อทรงเสด็จกลับเดนมาร์กในปีค.ศ. 1250 พระองค์ทรงนำกองทัพไปที่ฮ็อลชไตน์เพื่อป้องกันการยึดครองป้อมปราการที่เรนส์บูร์กและเพื่อสั่งสอนเหล่าเคานท์เยอรมันว่าพระองค์ยังคงเป็นกษัตริย์ของพวกเขาอยู่ พระอนุชาของพระองค์ เจ้าชายอเบล ดยุกแห่งชเลสวิกเสนอให้พระเชษฐาเข้ามาประทับที่ปราสาทก็อททร็อปในชเลสวิก ในเย็นวันนั้นกษัตริย์เดนมาร์กทรงเล่นเกมพนันกับหนึ่งในอัศวินชาวเยอรมัน มหาดเล็กของดยุกและกลุ่มชายฉกรรจ์ได้บุกเข้ามาจับกุมกษัตริย์เป็นนักโทษ พวกเขามัดตัวพระองค์และลากพระองค์ออกจากตำหนักของดยุกและลงเรือพายออกไปยังอ่าวชเล กลุ่มชายฉกรรจ์พายเรืออกไปเป็นลำที่สอง เมื่อกษัตริย์อีริกทรงได้ยินเสียงของศัตรูของพระองค์คือ เลฟ กัดมุนด์เซน (ราวค.ศ. 1195-1252) พระองค์ก็ตระหนักได้ว่าต้องทรงถูกสังหารแน่ หนึ่งในผู้จับกุมพระองค์ได้รับค่าจ้างวางเพื่อมอบความตายแก่กษัตริย์ด้วยคมขวาน กษัตริย์อีริคที่ 4 ทรงถูกตัดพระเศียรและพระบรมศพถูกโยนทิ้งอ่าวชเล เช้าวันต่อมา ชาวประมงสองคนได้พบพระวรกายไร้เศียรของกษัตริย์ติดอยู่กับตาข่ายดักปลา พวกเขานำพระบรมศพไปที่โบสถ์คณะโดมินิกันในชเลสวิก ต่อมาพระบรมศพของพระองค์ถูกย้ายไปฝังที่โบสถ์นักบุญเบ็นท์, ริงสเต็ด, เดนมาร์ก ในปีค.ศ. 1257[10] [11]

พระราชอนุชาของกษัตริย์อีริค คือ เจ้าชายอเบล ได้ครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์เดนมาร์ก กษัตริย์อเบลทรงยืนยันว่าพระองค์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปลงพระชนม์ แต่ภายในเวลาหนึ่งปีครึ่ง กษัตริย์อเบลก็ถูกลอบปลงพระชนม์ สุดท้ายพระอนุชาอีกองค์ก็ได้ครองราชย์ต่อ คือ พระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 1 แห่งเดนมาร์ก[12]

อภิเษกสมรสและพระโอรสธิดา แก้

กษัตริย์อีริคที่ 4 ทรงอภิเษกสมรสในวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1239 กับจัตตาแห่งแซกโซนี ธิดาในอัลเบร็ชท์ที่ 1 ดยุกแห่งแซกโซนี (ราวค.ศ. 1175-1260)[13] ทรงมีพระโอรสธิดาร่วมกันดังนี้

  พระนาม ประสูติ สิ้นพระชนม์ คู่สมรส และพระโอรส-ธิดา
  เจ้าหญิงโซเฟีย สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน ค.ศ. 1241 ค.ศ. 1286 อภิเษกสมรส ค.ศ. 1260 กับ
พระเจ้าวัลเดมาร์แห่งสวีเดน[2]
มีพระโอรสธิดา 6 พระองค์ ได้แก่
เจ้าหญิงอิงเงอร์บอร์กแห่งสวีเดน เคานท์เตสแห่งฮ็อลชไตน์
เจ้าชายอีริค วัลเดมาร์สันแห่งสวีเดน
เจ้าหญิงมารีนาแห่งสวีเดน เคานท์เตสแห่งดีโปลซ์
เจ้าหญิงรีเชซาแห่งสวีเดน สมเด็จพระราชินีแห่งโปแลนด์
เจ้าหญิงคาทารีนา วัลเดมาร์สด็อทเทอร์แห่งสวีเดน
เจ้าหญิงมาร์กาเรธา วัลเดมาร์สด็อทเทอร์แห่งสวีเดน
- เจ้าชายคนุดแห่งเดนมาร์ก ค.ศ. 1242 ค.ศ. 1242 สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์
- เจ้าหญิงอิงเงอบอร์ก สมเด็จพระราชินีแห่งนอร์เวย์ ค.ศ. 1244 ค.ศ. 1287 อภิเษกสมรส 11 กันยายน ค.ศ. 1261 กับ
พระเจ้ามักนุสที่ 6 แห่งนอร์เวย์[2]
มีพระโอรส 4 พระองค์ ได้แก่
เจ้าชายโอลาฟแห่งนอร์เวย์
เจ้าชายมักนุสแห่งนอร์เวย์
พระเจ้าอีริคที่ 2 แห่งนอร์เวย์
พระเจ้าโฮกุนที่ 5 แห่งนอร์เวย์
- เจ้าหญิงจัตตา อธิการิณีอารามนักบุญอักเนทา ค.ศ. 1246 ค.ศ. 1284 ไม่อภิเษกสมรส
อธิการิณีอารามนักบุญอักเนส, รอสคิลด์[2]
- เจ้าชายคริสตอฟแห่งเดนมาร์ก ค.ศ. 1247 ค.ศ. 1247 สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์
- เจ้าหญิงอักเนส อธิการิณีอารามนักบุญอักเนทา ค.ศ. 1249 ค.ศ. 1288/1295 อธิการิณีอารามนักบุญอักเนส, รอสคิลด์ เป็นที่เล่าลือว่าทรงอภิเษกสมรสกับอีริค ลอร์ดแห่งลังก์เอลันด์[2]

อ้างอิง แก้

  1. "Erik 4. Plovpenning, 1216-50". Danmarks Historien. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Line 2007, p. 581.
  3. "Berengaria (ca. 1197-1221)". Dansk Kvindebiografisk Leksikon. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  4. "Erik Plovpenning". Danmarks Konger. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  5. "Den hellige Erik Plovpenning (1216-1250)". Den katolske kirke. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  6. "Niels Stigsen". roskildehistorie.dk. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  7. "Christoffer 1., ca. 1219-1259". Danmarks Historien. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  8. "Arreskov Slot". danskefilm.dk. สืบค้นเมื่อ August 1, 2020.
  9. "Johann I. (Markgraf von Brandenburg)". Allgemeine Deutsche Biographie. สืบค้นเมื่อ August 1, 2020.
  10. "The Monastery of Ringsted and the St. Bendt's Church". Visit Ringsted. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  11. "Lave Gudmundsen". Dansk Biografisk Leksikon. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  12. "Christoffer 2. 1276-1332". Danmarks Historien (Aarhus University). สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  13. "Albrecht I. (Albert)". Deutsche Biographie. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.

แหล่งที่มาอื่น แก้

  • Line, Philip (2007). Kingship and State Formation in Sweden: 1130 - 1290. (Brill Publishers). ISBN 978-90-47-41983-9
  • Bain, Robert Nisbet (1905) Scandinavia: A Political History of Denmark, Norway and Sweden from 1513 to 1900 (Cambridge: University Press)
ก่อนหน้า พระเจ้าอีริคที่ 4 แห่งเดนมาร์ก ถัดไป
พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 2    
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
ร่วมกับ
พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 2
(1232 - 1241)

(ค.ศ. 1241 - ค.ศ. 1250)
  พระเจ้าอเบล
พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 2
พระประมุขแต่เพียงผู้เดียว
   
ดยุกแห่งชเลสวิก
ร่วมกับ
พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 2

(ค.ศ. 1216 - ค.ศ. 1232)
  พระเจ้าอเบล