พระเจ้าอีริคที่ 5 แห่งเดนมาร์ก
พระเจ้าอีริคที่ 5 แห่งเดนมาร์ก หรือ พระเจ้าอีริคที่ 5 "เศษเพนนี" (ค.ศ. 1249 - 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1286) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์กระหว่างค.ศ. 1259 ถึง ค.ศ. 1286 หลังจากพระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 1 แห่งเดนมาร์ก พระราชบิดาสวรรคต สมเด็จพระราชินีมาร์เกเรเธ ซัมบีเรีย พระราชมารดาของพระองค์ปกครองเดนมาร์ในพระนามของพระองค์จนถึงค.ศ. 1266 และได้รับการพิสูจน์ว่าพระนางทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่มีความสามารถ ในระหว่างปีค.ศ. 1261 ถึงค.ศ. 1262 กษัตริย์หนุ่มและพระราชมารดาทรงกลายเป็นนักโทษในฮ็อลชไตน์ จากความพ่ายแพ้ในสงคราม หลังจากนั้นพระองค์ประทับในบรันเดินบวร์ค ซึ่งพระองค์ถูกจับกุมโดยโยฮันน์ที่ 1 มาร์เกรฟแห่งบรันเดินบวร์ค (ราวค.ศ. 1213-1266)[1]
พระเจ้าอีริคที่ 5 แห่งเดนมาร์ก | |||||
---|---|---|---|---|---|
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก | |||||
จุลจิตรกรรมของพระเจ้าอีริคที่ 5 แห่งเดนมาร์ก ราวปี ค.ศ. 1282 | |||||
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก | |||||
ครองราชย์ | 29 พฤษภาคม 1259 – 22 พฤศจิกายน 1286 | ||||
ราชาภิเษก | 25 ธันวาคม ค.ศ. 1259 | ||||
ก่อนหน้า | คริสตอฟเฟอร์ที่ 1 | ||||
ถัดไป | อีริคที่ 6 | ||||
ผู้สำเร็จราชการ สมเด็จพระพันปีหลวงมาร์เกเรเธ ซัมบีเรีย (1259-1264) | |||||
ประสูติ | ค.ศ. 1249 | ||||
สวรรคต | 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1286 ฟินเดอรัป, วีบอร์ก, เดนมาร์ก | (37 ปี)||||
ฝังพระศพ | มหาวิหารวีบอร์ก วีบอร์ก, เดนมาร์ก | ||||
คู่อภิเษก | อักเนสแห่งบรันเดินบวร์ค | ||||
พระราชบุตร |
| ||||
| |||||
ราชวงศ์ | แอสตริดเซน | ||||
พระราชบิดา | พระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 1 แห่งเดนมาร์ก | ||||
พระราชมารดา | มาร์เกเรเธ ซัมบีเรีย | ||||
ศาสนา | โรมันคาทอลิก |
พระสมัญญานาม
แก้พระเจ้าอีริคที่ 5 ทรงมีพระสมัญญานามว่า "คลิปปิง" (Klipping) หรือ "กลิปปิง" (Glipping) เป็นการกล่าวถึงเหรียญเงินเพนนีในยุคสมัยกลางที่ใช้หมดไป ("เศษเพนนี"; a "clipped penny") หรือเป็นการกล่าวถึงการลดค่าเงิน พระสมัญญานามนี้เป็นการบรรยายถึงการขาดความเชื่อถืออย่างไร้ปราณีของพระองค์ ด้วยพระองค์ทรง "โกงเงิน" ประชาชนและสถาบันกษัตริย์ของพระองค์เอง[2]
สมัยผู้สำเร็จราชการ
แก้เมื่อกษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ที่ 1 พระราชบิดาของพระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์ในปี 1259 เจ้าชายอีริคยังทรงพระเยาว์เกินกว่าที่จะทรงปกครองด้วยสิทธิ์ของพระองค์เอง ราชสำนักเดนมาร์กจึงแต่งตั้งสมเด็จพระราชินีมาร์เกเรเธ ซัมบีเรีย พระราชมารดาของพระองค์เป็นผูสำเร็จราชการแทนพระองค์ พระนางมาร์เกเรเธเป็นธิดาในซัมบอร์ที่ 2 ดยุกแห่งพอเมอเรเนียกับเม็ชทิลท์แห่งเมคเลินบวร์ค พระนางมาร์เกเรเธเป็นสตรีผู้ชาญฉลาดและทรงปัญญา พระนางทรงพยายามอย่างยิ่งในการต่อสู้เพื่อให้พระราชโอรสได้นั่งราชบัลลังก์จากการท้าทายของศัตรูผู้ทรงอำนาจอย่างอาร์กบิชอปแห่งลุนด์ คือ จาค็อบ เออลันด์เซน (ราวค.ศ. 1220-1274) และเจ้าชายอีริค พระโอรสในกษัตริย์อเบลซึ่งดำรงตำแหน่งดยุกแห่งชเลสวิกตั้งแต่ปี 1260 จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในปีค.ศ. 1272 อาร์กบิชอปเออลันด์เซนประกาศขับไล่บิชอปที่ประกอบศีลเจิมให้ยุวกษัตริย์ที่ 5 เป็นพระมหากษัตริย์เดนมาร์กออกจากศาสนา ส่วนดยุกอีริคก็เป็นพระนัดดาของกษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ที่ 1 เป็นพระโอรสในกษัตริย์รัชกาลก่อน พระองค์จึงเริ่มขัดแย้งต่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่[3] [4]
ยาโรมาร์ที่ 2 เจ้าชายแห่งรือเกิน (ราวค.ศ. 1218-1260) อาศัยโอกาสในช่วงวุ่นวายนี้ระดมพลชาวเวนด์บุกเกาะเชลลันด์ สมเด็จพระพันปีหลวงมาร์เกเรเธทรงระดมกองทัพต่อต้านแต่ก็พ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงในปีค.ศ. 1259 ใกล้ริงสเต็ด ยาโรมาร์เข้าโจมตีและปล้นสะดมโคเปนเฮเกนในปลายปีนั้น จากนั้นเขาวางแผนบุกสคาเนียเป็นลำดับต่อไป แต่โชคร้ายเขาต้องพบเจอกับความโกรธเกรี้ยวของภรรยาชาวนาที่เสียชีวิต นางชาวนาพุ่งเอามีดแทงยาโรมาร์สิ้นชีวิตทันที ชาวเวนด์เสียขวัญจึงหนีกลับไปยังรือเกิน[5]
ดยุกอีริคเห็นว่าสมเด็จพระพันปีหลวงผู้เป็นอาสะใภ้พ่ายแพ้ชาวเวนด์จึงคิดว่าพระนางอ่อนแอ ดยุคอีริคจึงทรงก่อกบฏ สมเด็จพระพันปีหลวงมาร์เกเรเธจึงระดมพลยกทัพบุกจัตแลนด์ก่อนที่ดยุกจะเคลื่อนพล พระนางทรงบดขยี้กองทัพของดยุก และดยุกจึงทรงพยายามเจรจาไกล่เกลี่ยกับพระนาง แต่พระองค์ก็ลอบติดต่อให้พันธมิตรทางเยอรมนีตอนเหนือเข้าช่วยกำจัดกองทัพหลวงเดนมาร์ก กองกำลังผสมสามารถกำจัดกองทัพของพระนางมาร์เกเรเธได้ในปีค.ศ. 1261 ณ สมรภูมิลอเฮเดอ ทางตอนใต้ของเดเนอไวค์ในชเลสวิก-ฮ็อลชไตน์ พระนางและกษัตริย์อีริค พระโอรสถูกจับคุมขังและทรงถูกบังคับให้มอบดินแดนของราชวงศ์ทางตอนใต้ของจัตแลนด์ให้ดยุกเพื่อแลกกับการปล่อยตัว[6]
ในปีค.ศ. 1260 สมเด็จพระพันปีหลวงทรงปล่อยตัวอาร์กบิชอปเออลันด์เซนออกจากคุก โดยทรงคาดว่าเขาจะซาบซึ้งในพระกรุณา แต่เขากลับไปออกประกาศโทษต้องห้ามไปทั่วเดนมาร์กบีบบังคับให้สมเด็จพระพันปีหลวงและกษัตริย์อีริค พระราชโอรสต้องสละราชบัลลังก์ ในปีค.ศ. 1263 สมเด็จพระพันปีหลวงมาร์เกเรเธทรงมีพระราชสาส์นถึงสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 4 เพื่อทูลขอให้พระองค์แทรกแซงการกระทำของอาร์กบิชอปเออลันด์เซน หลังจากที่สมเด็จพระสันตะปาปาทรงตอบเป็นนัยอย่างคลุมเครือ ในที่สุดพระองค์ก็ตกลงที่จะทำตามพระประสงค์ของสมเด็จพระพันปีหลวงหลายประการ พระองค์ทรงออกประกาศเปลี่ยนแปลงการสืบราชสันตติวงศ์ของเดนมาร์กซึ่งอนุญาตให้สตรีสามารถครองบัลลังก์ได้ เป็นความพยายามครั้งสุดท้ายของพระนางที่จะกีดกันพวกราชตระกูลอเบลและพวกของเม็ชทิลท์แห่งฮ็อลชไตน์ อดีตพระราชินีขึ้นสู่ราชบัลลังก์เดนมาร์ก และความพยายามครั้งนี้เปิดโอกาสให้พระขนิษฐาของกษัตริย์อีริคที่ 5 สามารถครองราชบัลลังก์เดนมาร์กได้หากกษัตริย์อีริคที่ 5 สวรรคตก่อนที่จะมีทายาท[7] แม้ว่าพระองค์ทรงมีพระราชสาสน์ตกลงตามพระพันปีหลวงนี้ แต่พระองค์ก็ไม่ได้ออกประกาศมาอย่างเป็นทางการ แต่สุดท้ายแล้วเจ้าชายอีริค พระราชโอรสในกษัตริย์อีริคที่ 5 ก็ได้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดาต่ออยู่ดี
รัชกาล
แก้ธรรมเนียมพระยศของ สมเด็จพระเจ้าอีริคที่ 5 | |
---|---|
ตราประจำพระอิสริยยศ | |
การทูล | Hans Majestæt (ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท) |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | Deres Majestæt (พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ) |
เมื่อทรงบรรลุนิติภาวะกษัตริย์อีริคที่ 5 ทรงพยายามใช้พระราชอำนาจเหนือคริสตจักรและขุนนาง ในทศวรรษที่ 1270 กษัตริย์อีริคทรงยกทัพโจมตีสมาลันด์ ความขัดแย้งของพระองค์กับศาสนจักรได้ทุเลาลงจากการช่วยเหลือของสมเด็จพระสันตะปาปา ในปีค.ศ. 1282 พระองค์ทำให้ขุนนางทั่วเดนมาร์กขุ่นเคืองจนต้องทรงถูกบังคับลงพระปรมาภิไธยในกฎบัตร "ฮานด์เฟสเนง" ถือเป็นมหากฎบัตรในแบบฉบับของเดนมาร์ก ซึ่งจำกัดพระราชอำนาจของพระองค์และรับรองสิทธิและประเพณีโบราณที่รักษาอำนาจไว้ในมือของขุนนาง พระมหากษัตริย์ทรงลงพระมรมาภิไธยในกฎบัตรที่ปราสาทนูบอร์ก และได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญแรกของเดนมาร์กเท่าที่มีการค้นพบ แต่เมื่อกษัตริย์อีริคที่ 5 เสด็จสวรรคต สิทธิ์และการรับรองในกฎบัตรปีค.ศ. 1282 ก็ไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากกษัตริย์พระองค์ต่อไปไม่ได้ทรงต้องผูกมัดด้วยข้อตกลงเดียวกันนี้[8] [9]
การเสด็จสวรรคตอย่างปริศนา
แก้ตามตำนานเล่าว่าขุนนางหลายคนให้สัตย์สาบานว่าจะลอบปลงพระชนม์กษัตริย์อีริคที่ 5 เพื่อแก้แค้นที่พระองค์ดูถูกดูแคลนและพระราโชบายของกษัตริย์ก็ไม่เป็นที่พอใจของพวกเขา บรรดาหัวหน้ากลุ่มก่อการมีทั้งแม่ทัพ สติก อันเดอร์เซน ไวด์และจาค็อบ นีลส์เซน เคานท์แห่งฮัลลันด์ พวกเขาจ่ายเงินให้แก่ราเนอ จอนเซน (1254-1294) หนึ่งในข้าราชบริพารของพระมหากษัตริย์ เพื่อให้รายงานกิจวัตรของพระมหากษัตริย์แก่พวกเขา เพื่อที่พวกเขาจะได้บรรลุความปรารถนาตามคำสัตย์สาบาน[10] [11] [12]
ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1286 กษัตริย์อีริคที่ 5 ทรงประทับอยู่ที่วีบอร์ก ทางตอนกลางของคาบสมุทรจัตแลนด์ พระองค์เสด็จไปล่าสัตว์ในพื้นที่ชนบทร่วมกับราเนอ จอนเซนและผู้ติดตามเพียงไม่กี่คนเป็นเวลาทั้งวัน แต่พระองค์และคณะหาเส้นทางกลับที่ประทับไม่เจอ ราเนอกราบทูลให้พระองค์พักค้างคืนในวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1286 ที่โรงนาของโบสถ์ในหมู่บ้านฟินเดอรัป เหล่ามือสังหารได้รับแจ้งข่าว พวกเขาสวมชุดนักบวชคณะฟรันซิสกันและรอคณะของกษัตริย์มาประทับที่โรงนาของโบสถ์ในตอนกลางคืน เมื่อกษัตริย์ทรงบรรทมหลับ พวกเขาก็รีบออกจากที่ซ่อนและรุมแทง รุมสับกษัตริย์จนสวรรคต[13]
ตามตำนานเล่าว่าพระองค์ถูกแทง 56 แผล ด้วยนิทานพื้นบ้านนี้ทำให้สติก อันเดอร์เซนได้รับความนิยมเพราะตามนิทานอ้างว่า เขาแก้แค้นเพราะกษัตริย์อีริคทรงโอ้โลมภรรยาของเขา ในช่วงที่เขาไปประจำการในกองทัพ พระวรกายโชคโลหิตของกษัตริย์อีริคที่ 5 ถูกพบในวันรุ่งขึ้น[14]
ราชสำนักกล่าวโทษสติก อันเดอร์เซนและเคานท์แห่งฮัลลันด์ ขุนนางผู้ทรงอิทธิพลในอาณาจักรแทบจะในทันที พวกเขาถูกประกาศเป็นอาชญากรพร้อมพวกอีกเจ็ดคน มีเพียงคนเดียวที่ถูกกล่าวหาว่าปลงพระชนม์กษัตริย์ ส่วนคนอื่นๆ ถูกกล่าวหาว่าให้ความร่วมมือ แต่ไม่ว่าพวกเขาจะเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมจริงหรือไม่แต่สุดท้ายก็ยังคงเป็นปริศนา สติก ไวด์หลบหนีออกจากประเทศไปเป็นโจรสลัด แน่นอนว่าสติก ไวด์ไม่ใช่บุคคลเพียงคนเดียวที่อยากสังหารกษัตริย์อีริค วัลเดมาร์ที่ 4 ดยุกแห่งชเลสวิก ผู้เป็นโอรสในอดีตดยุกอีริค ผู้ก่อกบฏ ซึ่งถูกบังคับให้รับตำแหน่งดยุกแห่งชเลสวิกในปีค.ศ. 1283 ก็อยากสังหารกษัตริย์ และแม้กระทั่งบาทหลวงหลายคนที่ได้รับการแต่งตั้งจากอาร์กบิชอปจาค็อบ เออลันด์เซนซึ่งยังคงเป็นศัตรูที่ขมขื่นกับราชบัลลังก์ ก็อยากที่จะสังหารกษัตริย์อีริคที่ 5 เช่นกัน[15]
พระโอรสธิดา
แก้กษัตริย์อีริคที่ 5 อภิเษกสมรสกับอักเนสแห่งบรันเดินบวร์ค (ราวค.ศ. 1257-1304) ในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1273 ณ ดัชชีชเลสวิช พระนางเป็นธิดาในโยฮันน์ที่ 1 มาร์เกรฟแห่งบรันเดินบวร์คกับบริจิตต์แห่งแซกโซนี การอภิเษกสมรสครั้งนี้เป็นข้อตกลงในช่วงที่กษัตริย์อีริคที่ 5 ทรงถูกคุมขังในบรันเดินบวร์คโดยบิดาของอักเนสในช่วงปีค.ศ. 1262 ถึง 1264 ตามพงศาวดารอ้างว่ากษัตริย์ได้รับการปล่อยตัวจากที่คุมขังเนื่องจากพระองค์สัญญาว่าจะอภิเษกสมรสกับอักเนสให้เป็นพระราชินีแห่นเดนมาร์ก โดยไม่มีสินสอดของทางฝ่ายเจ้าสาวให้แก่ฝ่ายเจ้าบ่าว[16] [17] ทั้งสองมีพระโอรสธิดา 7 พระองค์ ดังนี้
พระนาม | ประสูติ | สิ้นพระชนม์ | คู่สมรส และพระโอรส-ธิดา | |
- | เจ้าหญิงรีเชซาแห่งเดนมาร์ก | ราว ค.ศ. 1272 | 27 ตุลาคม ค.ศ. 1308 | อภิเษกสมรสในปีค.ศ. 1292 กับ ลอร์ดนิโคลัสที่ 2 แห่งแวร์เลอ มีพระโอรสธิดา 2 พระองค์ ได้แก่ โยฮันน์ที่ 3 แห่งแวร์เลอ โซเฟีย เคานท์เตสแห่งฮ็อลชไตน์-เรนส์บูร์ก |
พระเจ้าอีริคที่ 6 แห่งเดนมาร์ก | ค.ศ. 1274 | 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1319 | อภิเษกสมรสเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1296 กับ เจ้าหญิงอิงเงอร์บอร์ก มักนุสด็อทเทอร์แห่งสวีเดน มีพระโอรส 4 พระองค์ ทั้งหมดสิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์ ได้แก่ เจ้าชายวัลเดมาร์แห่งเดนมาร์ก เจ้าชายอีริคแห่งเดนมาร์ก เจ้าชายมักนุสแห่งเดนมาร์ก เจ้าชายไม่ปรากฏพระนาม พระราชินีทรงแท้งพระบุตรอีกถึง 8 - 14 ครั้ง | |
พระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก | 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1276 | 2 สิงหาคม ค.ศ. 1332 | อภิเษกสมรสในปี ค.ศ. 1300 กับ ยูเฟเมียแห่งพอเมอเรเนีย มีพระโอรสธิดา 6 พระองค์ ได้แก่ เจ้าหญิงมาร์เกรเธอ มาร์เกรฟวีนแห่งบรันเดินบวร์ค อีริค คริสตอฟเฟอร์เซนแห่งเดนมาร์ก เจ้าชายอ็อตโต ดยุกแห่งลอลันด์และเอสโตเนีย เจ้าหญิงอักเนสแห่งเดนมาร์ก เจ้าหญิงเฮลวิกแห่งเดนมาร์ก พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 4 แห่งเดนมาร์ก | |
- | เจ้าหญิงมาร์เกรเธอ สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน | ค.ศ. 1277 | 2 มีนาคม หรือ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1341 | อภิเษกสมรสในปี ค.ศ. 1298 กับ พระเจ้าบีร์เยอแห่งสวีเดน มีพระโอรสธิดา 4 พระองค์ ได้แก่ เจ้าชายมักนุสแห่งสวีเดน เจ้าชายอีริค อัครพันธบริกร ณ อุปซอลา เจ้าหญิงอักเนสแห่งสวีเดน เจ้าหญิงคาทารีนาแห่งสวีเดน |
- | เจ้าหญิงคาทารีนแห่งเดนมาร์ก | ราวค.ศ. 1281 | ค.ศ. 1283 | สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์ |
- | เจ้าชายวัลเดมาร์แห่งเดนมาร์ก | ไม่ปรากฏ | ไม่ปรากฏ | สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์ |
- | เจ้าหญิงเอลิซาเบธแห่งเดนมาร์ก | ไม่ปรากฏ | ไม่ปรากฏ | สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์ |
อ้างอิง
แก้- ↑ Artikel: Erik 5 Klipping 1249-1286 (Om danmarkshistorien.dk)
- ↑ "klipping". Danish-English Dictionary online. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Erlandsen, Jacob, –1274, Ærkebisp". Dansk biografisk Lexikon. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Erik (I), Hertug af Sønderjylland, –1272". Dansk biografisk Lexikon. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Jaromar II". Allgemeine Deutsche Biographie. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Lohede, Slaget ved". Historisk Samfund for Sønderjylland. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-08-26. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ Dansk Kvindebiografisk Leksikon
- ↑ Kilde: Mordet på Erik Klipping 22. november 1286 (Om danmarkshistorien.dk)
- ↑ Porter, Darwin; Prince, Danforth; Norum, Roger (15 June 2011). Frommer's Scandinavia. John Wiley & Sons. p. 137. ISBN 978-1-118-09023-7.
- ↑ "Stig Andersen Hvide". Dansk Biografisk Leksikon. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Grev Jakob af Hallands". Gyldendals og Politikens Danmarkshistorie. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Rane Jonsen". roskildehistorie. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Mordet i Finderup Lade - Erik Klipping". gedevasen. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-12. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ Huitfeldt, Arild. Danmarks Riges Krønike
- ↑ "Valdemar 4. Eriksen, d. 1312, hertug af Sønderjylland". Dansk Biografisk Leksikon. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ Alf Henrikson: Dansk historia (Danish history) (1989) (Swedish)
- ↑ "Agnes, 1258-1304, Dronning". Dansk biografisk Lexikon. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
ก่อนหน้า | พระเจ้าอีริคที่ 5 แห่งเดนมาร์ก | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 1 | พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก ดยุกแห่งเอสโตเนีย (ค.ศ. 1259 - ค.ศ. 1286) |
พระเจ้าอีริคที่ 6 |