พระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก

พระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก (เดนมาร์ก: Christoffer 2.; 29 กันยายน ค.ศ. 1276 – 2 สิงหาคม ค.ศ. 1332) พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก ระหว่างปีค.ศ. 1320 ถึงค.ศ. 1326 และทรงราชย์ครั้งที่สองตั้งแต่ปีค.ศ. 1329 จนกระทั่งสวรรคต พระองค์เป็นพระราชโอรสองค์รองในพระเจ้าอีริคที่ 5 แห่งเดนมาร์ก รัชสมัยของพระองค์ถือเป็นจุดตกต่ำของชาติ การปกครองของพระองค์แทบจะทำให้รัฐเดนมาร์กที่สถาปนามาต้องสลายตัวออกจากอาณาจักรเกือบทั้งหมด[2] [3]

พระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก
พระรูปแกะสลักบนหีบพระบรมศพที่โบสถ์ซอรือ
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์กและชาวเวนด์
ครองราชย์1320 – 1326
ราชาภิเษก15 สิงหาคม ค.ศ. 1324[1]
วอร์ดิงบอร์ก
ก่อนหน้าอีริคที่ 6
ถัดไปวัลเดมาร์ที่ 3
พระองค์รองอีริค คริสตอฟเฟอร์เซน
ครองราชย์1329 – 1332
ก่อนหน้าวัลเดมาร์ที่ 3
ถัดไปว่าง
วัลเดมาร์ที่ 4
พระองค์รองอีริค คริสตอฟเฟอร์เซน
พระราชสมภพ29 กันยายน ค.ศ. 1276
สวรรคต2 สิงหาคม ค.ศ. 1332(1332-08-02) (55 ปี)
ปราสาทนูเคอปิง, เดนมาร์ก
ฝังพระศพโบสถ์ซอรือ
คู่อภิเษกยูเฟเมียแห่งพอเมอเรเนีย
พระราชบุตร
พระนามเต็ม
คริสตอฟเฟอร์ อีริคเซน แอสตริดเซน
ราชวงศ์แอสตริดเซน
พระราชบิดาพระเจ้าอีริคที่ 5 แห่งเดนมาร์ก
พระราชมารดาอักเนสแห่งบรันเดินบวร์ค
ศาสนาโรมันคาทอลิก

พระราชประวัติ

แก้

พระองค์ทรงเป็นพระราชอนุชาในพระเจ้าอีริคที่ 6 แห่งเดนมาร์ก ซึ่งครองราชย์ระหว่างปีค.ศ. 1286 ถึงค.ศ. 1319 เจ้าชายคริสตอฟเฟอร์ขณะนั้นทรงเป็นเสมือนรัชทายาทในราชบัลลังก์ เมื่อครั้งทรงรับตำแหน่งดยุกแห่งเอสโตเนีย พระองค์เป็นผู้สนับสนุนพระเชษฐาในทางการเมือง เหนือสิ่งอื่นใดพระองค์ทรงสั่งจับกุมอาร์กบิชอปเจนส์ กรันด์ในปีค.ศ. 1294 แต่หลังจากนั้นพระองค์กลับไปต่อต้านพระเชษฐาและต้องเสด็จลี้ภัยไปจนกระทั่งพระเชษฐาสวรรคตในปีค.ศ. 1319[4] [5]

เหล่าขุนนางต้องการจำกัดอำนาจของราชวงศ์ และเจ้าชายคริสตอฟเฟอร์ได้รับการเลือกให้เป็นพระมหากษัตริย์ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1320[1] ในทางกลับกันพระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยในสนธิสัญญาฮานด์เฟรสเนง ซึ่งเป็นเอกสารแรกที่พระองค์ทรงใช้ในกฎบัตรราชาภิเษก พระองค์ตกอยู่ในภาวะ "ล้มละลาย" เนื่องจากทั้งภูมิภาคของอาณาจักรถูกจำนองกับขุนนางเยอรมันและเดนมาร์ก เงื่อนไขในกฎบัตรนั้นดำเนินการได้ยากมาก เพราะเหล่าขุนนางจำกัดความสามารถในการประเมินภาษีของพระมหากษัตริย์ และจำกัดการชำระหนี้ที่เกิดจากการจำนอง กษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ไม่สามารถตัดสินใจทางการเมืองในอาณาจักรได้โดยปราศจากความยินยอมของขุนนางและบาทหลวง สิทธิพิเศษของขุนนางและคริสตจักรรวมอยู่ในกฎบัตรด้วย รวมถึงมีข้อกฎหมายใหม่ๆ ด้วย ไม่มีบาทหลวงคนหนึ่งคนใดถูกจับขังคุก เนรเทศหรือถูกปรับ ไม่มีศาลฆราวาสใดๆ ที่ทำการเรียกเก็บภาษีที่ดินหรือทรัพย์สินของโบสถ์ ขุนนางสามารถขึ้นค่าธรรมเนียมหรือค่าเช่านาได้ ไม่มีขุนนางคนใดถูกบังคับให้สู้รบในต่างประเทศ กษัตริย์ต้องเรียกค่าไถ่ให้ปล่อยตัวของขุนนางที่ถูกจับขัง หรือทรงถูกบังคับให้จ่ายค่าเครื่องแบบบทหารแก่ทหารที่ไปสู้รบในต่างประเทศ การจัดเก็บภาษีมาตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์กที่มีการจัดเก็บรายได้จากโบสถ์และขุนนางต้องได้รับการยกเว้น แต่ราชอาณาจักรก็ยังมีหนี้ที่ต้องจ่าย การเปลี่ยนอำนาจนี้จะยังส่งผลถึงกษัตริย์จนกระทั่งค.ศ. 1660[6] [7] [8]

แม้จะทรงลงพระปรมาภิไธยลงในกฎบัตรนี้แต่กษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ที่ 2 ก็ทรงปกครองราวกับว่าไม่มีกฎบัตรนี้จริง เนื่องจากพระองค์ไม่สามารถจัดเก็บภาษีจากคริสตจักรหรือขุนนางเดนมาร์กได้ พระองค์จึงเรียกเก็บภาษีอย่างโหดร้ายจากดินแดนเยอรมันและจากชาวนา ในช่วงเวลาหลายปีต่อมา กษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ทรงพยายามให้สถานะของพระองค์มั่นคงขึ้นด้วยการรื้อฟื้นนโยบายของกษัตริย์อีริคที่ 6 ในการทำสงครามกับดัชชี แคว้นและเมืองทางแถบเยอรมนีตอนเหนือ การทำเช่นนี้ทำให้เกิดการจำนองและภาษีใหม่ และในไม่ช้าพระองค์ก็ทรงขัดแย้งกับศาสนจักรและขุนนาง

ในช่วงการลุกฮือปีค.ศ. 1326 พระองค์ทรงถูกโค่นจากราชบัลลังก์โดยพันธมิตรระหว่างขุนนางเดนมาร์กและเกอร์ฮาร์ดที่ 3 เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์-เรนส์บวร์คและโยฮันน์ที่ 3 เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์-ปลอน ซึ่งเป็นพระอนุชาต่างพระชนกของกษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ กษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ทรงถูกบังคับให้สละราชบัลลังก์และถูกเนรเทศ ดยุกวัลเดมาร์แห่งชเลสวิกจากจัตแลนด์ใต้ได้รับการเลือกให้เป็นพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก ด้วยพระชนมายุเพียง 11 พรรษา โดยมีเคานท์เกอร์ฮาร์ดเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เหล่าขุนนางบังคับให้กษัตริย์วัลเดมาร์ลงนามในกฎบัตรราชาภิเษกที่กำหนดให้แยกดินแดนจัตแลนด์ใต้ออกจากเดนมาร์ก เพื่อให้ให้พระมหากษัตริย์เดนมาร์กปกครองเหนือดินแดนนั้นต่อไป คนุต ปอร์เซ ขุนนางเดนมาร์กได้รับแคว้นฮัลลันด์ สำหรับการทำงานรับใช้เคานท์เกอร์ฮาร์ดและเคานท์โยฮันน์ แต่การทะเลาะกันเพื่อแย่งชิงชิ้นส่วนต่างๆ ของราชอาณาจักรเดนมาร์กได้ทำให้พันธมิตรที่ขับไล่กษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ออกจากประเทศต้องแตกแยกกัน[6] [9]

ในช่วงปีค.ศ. 1329 ซึ่งอดีตกษัตริย์คริสตอฟเฟอร์กำลังลี้ภัย แต่ความวุ่นวายในหมู่ "ขุนนาง" ของเดนมาร์ก ทำให้พระองค์มีโอกาสอีกครั้ง ความตึงเครียดเกิดขึ้นระหว่างเกอร์ฮาร์ดที่ 3 แห่งฮ็อลชไตน์-เรนส์บวร์คและโยฮันน์ที่ 3 แห่งฮ็อลชไตน์-ปลอนและฮ็อลชไตน์-คีล ซึ่งเป็นญาติ โยฮันน์ที่ 3 นั้นเป็นอนุชาต่างบิดากับอดีตกษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ที่ 2 เนื่องจากอักเนสแห่งบรันเดินบวร์ค สมเด็จพระพันปีหลวงแห่งเดนมาร์กและเป็นพระชนนีของอดีตกษัตริย์คริสตอฟเฟอร์นั้นทรงเสกสมรสใหม่กับเกอร์ฮาร์ดที่ 2 เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์-ปลอน และมีโอรสคือ โยฮันน์ที่ 3[10]

ทันใดนั้นอดีตกษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ทรงได้รับการช่วยเหลือจากไฮน์ริชที่ 1 แห่งเวร์เลอ พระองค์จึงเป็นผู้นำอัศวินเยอรมัน 2,000 นายที่วอร์ดิงบอร์ก แต่โชคร้ายที่อดีตกษัตริย์ทรงพ่ายแพ้และถูกปิดล้อม ทำให้พระองค์ถูกบีบบังคับให้ยอมจำนน แต่หลังจากเกิดการจลาจลของชาวนาในจัตแลนด์ ซึ่งชาวนาถูกปราบปรามอย่างโหดร้ายโดยกองทัพของเคานท์เกอร์ฮาร์ด ชาวนาในสคาเนียจึงถวายฎีกาไปยังพระเจ้ามักนุสที่ 4 แห่งสวีเดน ให้พระองค์ปกครองพวกเขาแทนพวกคณะขุนนางในเดนมาร์ก กษัตริย์มักนุสที่ 4 ทรงพร้อมรับในทันทีและเดนมาร์กก็ยอมยุติการเป็นนายเหนือหัวให้[11] [12]

อดีตกษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ทรงได้รับการฟื้นฟูราชบัลลังก์หลังจากเคานท์โยฮันน์ที่ 3 ได้เข้าช่วยเหลือ แต่ในคราวนี้พระองค์ทรงกลายเป็นกษัตริย์หุ่นเชิดให้อนุชาต่างบิดา แผ่นดินในประเทศของพระองค์ถูกจำนองไปส่วนใหญ่ และพระองค์ไม่มีโอกาสในการกุมพระราชอำนาจของราชวงศ์ที่แท้จริงได้ ยกตัวอย่างเช่นคาบสมุทรจัตแลนด์ถูกจำนองเป็นเหรียญเงิน 100,000 มาร์ก ซึ่งจะต้อง "เสนอแผ่นดินทั้งหมดในครั้งเดียว" หรือการจำนองไม่สามารถไถ่ถอนคืนได้ เนื่องจากเป็นการจำนองจำนวนเงินมหาศาล และแทบเป็นไปไม่ได้ที่สามารถหาเงินมาไถ่ถอนได้ เคานท์เกอร์ฮาร์ดยึดจัตแลนด์ทั้งหมดไว้เป็นสมบัติส่วนตัว เคานท์โยฮันน์ก็ทำตามเช่นกันโดยการยึดฟึนและเกาะเชลลันด์ ในปีค.ศ. 1331 กษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ที่ 2 ทรงพยายามอาศัยประโยชน์จากความขัดแย้งระหว่างเคานท์เกอร์ฮาร์ดกับเคานท์โยฮันน์ โดยพระองค์สนับสนุนเคานท์โยฮันน์ซึ่งเป็นอนุชา แต่สุดท้ายจบลงด้วยความพ่ายแพ้ในสงครามที่ดันเนอวีร์เกอ ภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงระหว่างเคานท์ กษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ได้เป็นพระมหากษัตริย์ต่อไปได้ แต่ในความเป็นจริงพระองค์ไม่มีพระราชอำนาจใดๆ เลย พระองค์ได้ประทับอยู่ที่บ้านธรรมดาในเมืองซัคสโคปิง เกาะลอลันด์ แต่สุดท้ายบ้านที่ประทับถูกเผาโดยทหารรับจ้างชาวเยอรมัน กษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ทรงถูกคุมขังที่ปราสาทอัลด์โฮล์มในลอลันด์ ก่อนจะย้ายไปปราสาทนูเคอปิง พระองค์สวรรคตดั่งชายที่ล้มเหลวและพระทัยสลายในปีถัดมา พระบรมศพถูกฝังที่โบสถ์ซอรือ[11]

หลังการสวรรคของพระองค์ เดนมาร์กถูกยกเลิกการเป็นราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ และตลอดเวลาแปดปีถัดมาประเทศถูกปกครองด้วยผู้รับจำนองที่ดินหลายรายซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของทหารชาวเยอรมัน

พระราชมรดก

แก้
ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 2
 
ตราประจำพระอิสริยยศ
การทูลHans Majestæt
(ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท)
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับDeres Majestæt
(พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ)

นักประวัติศาสตร์ตัดสินกษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ที่ 2 ในทางประวัติศาสตร์อย่างไม่ไว้หน้า พระองค์มักถูกมองว่าเป็นกษัตริย์ทรราชที่อ่อนแอ ไม่น่าเชื่อถือและไร้ความสามารถ ด้วยคำที่ว่า "กษัตริย์ผู้จำนองเดนมาร์กให้แก่ชาวเยอรมัน" ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงปฏิบัติตามนโยบายของกษัตริย์พระองค์ก่อนหน้าในหลายๆ ทาง นโยบายการจำนองแผ่นดินบางส่วนของเดนมาร์กเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับชนชั้นขุนนางและกษัตริย์ในการแสวงหาเงินและทรัพย์ มันเป็นการไม่ถูกต้องนัก ถ้าจะกล่าวหาว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ที่ไม่แยแสอะไร ทั้งๆ ที่ต้องทรงรับมือกับอำนาจของขุนนางเดนมาร์กและเยอรมันที่มีมาก ซึ่งพวกเขาร่วมมือกับศาสนจักรในการบ่อนทำลายเสรีภาพในการครองราชย์ของพระองค์[7]

พระโอรสธิดา

แก้

กษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ที่ 2 อภิเษกสมรสกับยูเฟเมียแห่งพอเมอเรเนีย ในปีค.ศ. 1300 ทั้งสองมีพระโอรสธิดา 6 พระองค์ ดังนี้

  พระนาม ประสูติ สิ้นพระชนม์ คู่สมรส และพระโอรส-ธิดา
- เจ้าหญิงมาร์เกรเธอ มาร์เกรฟวีนแห่งบรันเดินบวร์ค ค.ศ. 1305 ค.ศ. 1340 อภิเษกสมรสในปีค.ศ. 1324 กับ
ลุดวิกที่ 5 ดยุกแห่งบาวาเรีย
ไม่มีโอรส-ธิดา
- อีริค คริสตอฟเฟอร์เซน กษัตริย์พระองค์รองแห่งเดนมาร์ก ค.ศ. 1307 ค.ศ. 1331 อภิเษกสมรส ค.ศ. 1330 กับ
เอลิซาเบธแห่งฮ็อลชไตน์-เรนส์บวร์ค
ไม่มีพระโอรสธิดา
- เจ้าชายอ็อทโท ดยุกแห่งลอลันด์และเอสโตเนีย ค.ศ. 1310 หลัง ค.ศ. 1347 ไม่อภิเษกสมรส
- อักเนสแห่งเดนมาร์ก ไม่ปรากฏ ค.ศ. 1312 สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์
- เฮลวิกแห่งเดนมาร์ก ค.ศ. 1315 ไม่ปรากฏ สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์
  พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 4 แห่งเดนมาร์ก ค.ศ. 1320 24 ตุลาคม ค.ศ. 1375 อภิเษกสมรส ค.ศ. 1340 กับ
เฮลวิกแห่งชเลสวิช
มีพระโอรสธิดา 6 พระองค์ ได้แก่
เจ้าชายคริสตอฟเฟอร์ ดยุกแห่งลอลันด์
เจ้าหญิงมาร์เกรเธอแห่งเดนมาร์ก
เจ้าหญิงอิงเงอร์บอร์ก ดัชเชสแห่งเมคเลนบูร์ก
เจ้าหญิงคาทารีนาแห่งเดนมาร์ก
เจ้าชายวัลเดมาร์แห่งเดนมาร์ก
สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 1 แห่งเดนมาร์ก

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 http://runeberg.org/dbl/4/0556.html
  2. "Christoffer 2. 1276-1332". Danmarks Historien (Aarhus University). สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  3. Knut Are Tvedt. "Erik 5 Glipping". Store norske leksikon. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  4. Knut Are Tvedt. "Erik 6 Menved". Store norske leksikon. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  5. "Jens Grand". roskildehistorie.dk. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  6. 6.0 6.1 Danmarks Historie II www.perbenny.dk
  7. 7.0 7.1 Knut Are Tvedt. "Christoffer 2". Store norske leksikon. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  8. Erik Opsahl. "håndfestning". Store norske leksikon. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  9. "Valdemar 3. Eriksen, 1315-1364". Danmarks Historien (Aarhus University). สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  10. "Agnes, 1258-1304, Dronning". Dansk biografisk Lexikon. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  11. 11.0 11.1 Huitfeldt, Arild. Danmarks Riges Krønike
  12. "Johan den Milde". Den Store Danske, Gyldendal. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
ก่อนหน้า พระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ถัดไป
พระเจ้าอีริคที่ 6    
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
ดยุกแห่งเอสโตเนีย
ร่วมกับ
อีริค คริสตอฟเฟอร์เซน กษัตริย์พระองค์รอง
(1321-1326)

(ค.ศ. 1320 - ค.ศ. 1326)
  พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 3
พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 3    
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
ดยุกแห่งเอสโตเนีย
ร่วมกับ
อีริค คริสตอฟเฟอร์เซน กษัตริย์พระองค์รอง
(1329-1332)

(ค.ศ. 1329 - ค.ศ. 1332)
  ว่าง
ลำดับถัดไป
พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 4