พระเจ้าอีริคที่ 6 แห่งเดนมาร์ก
พระเจ้าอีริคที่ 6 แห่งเดนมาร์ก หรือ อีริคที่ 6 เม็นเว็ด (Eric VI Menved; ค.ศ. 1274 - 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1319) พระราชโอรสในพระเจ้าอีริคที่ 5 แห่งเดนมาร์กกับอักเนสแห่งบรันเดินบวร์ค พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก ตั้งแต่ค.ศ. 1286 ขณะมีพระชนมายุ 12 พรรษา หลังจากพระราชบิดาถูกลอบปลงพระชนม์ในวันที่ 22 พฤศจิกายน โดนมือสังหารที่ตามจับไม่ได้ ดังนั้นในช่วงทรงพระเยาว์ พระราชมารดาจึงขึ้นสำเร็จราชการแผ่นดินเดนมาร์กแทนพระองค์ขนถึงปีค.ศ. 1294[1]
พระเจ้าอีริคที่ 6 แห่งเดนมาร์ก | |||||
---|---|---|---|---|---|
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก | |||||
พระบรมสาทิสลักษณ์พระเจ้าอีริคที่ 6 แห่งเดนมาร์ก บนโลงพระศพ | |||||
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก | |||||
ครองราชย์ | 1286 – 13 พฤศจิกายน 1319 | ||||
ราชาภิเษก | 25 ธันวาคม ค.ศ. 1287 | ||||
ก่อนหน้า | อีริคที่ 5 | ||||
ถัดไป | คริสตอฟเฟอร์ที่ 2 | ||||
ผู้สำเร็จราชการ สมเด็จพระพันปีหลวงอักเนส (1286-1293) | |||||
ประสูติ | ราว ค.ศ. 1274 | ||||
สวรรคต | 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1319 รอสกิลด์, เดนมาร์ก | (45 ปี)||||
ฝังพระศพ | โบสถ์นักบุญเบ็นท์, ริงสเต็ด, เดนมาร์ก | ||||
คู่อภิเษก | เจ้าหญิงอิงเงอร์บอร์ก มักนุสด็อทเทอร์แห่งสวีเดน | ||||
พระราชบุตร |
| ||||
| |||||
ราชวงศ์ | แอสตริดเซน | ||||
พระราชบิดา | พระเจ้าอีริคที่ 5 แห่งเดนมาร์ก | ||||
พระราชมารดา | อักเนสแห่งบรันเดินบวร์ค | ||||
ศาสนา | โรมันคาทอลิก |
สมัยผู้สำเร็จราชการ
แก้รัชกาลของพระเจ้าอีริค เม็นเว็ดอยู่ในช่วงกลางสมัยตกต่ำของเดนมาร์กในปีค.ศ. 1241 - 1340 ช่วงต้นรัชกาลของพระองค์ปกครองโดยพระราชมารดาและพระญาติวงศ์ฝ่ายเยอรมันของพระนาง นำมาซึ่งเหตุการณ์ความไม่สงบและสงครามที่เป็นผลมาจากการลองปลงพระชนม์พระราชบิดาของพระองค์[2]
การดำเนินการครั้งแรกของรัชสมัยนี้คือ การดำเนินการยุติคดีการปลงพระชนม์อดีตกษัตริย์โดยศาลที่นีบอร์กในวันวิทซันของปีค.ศ. 1287 มีการแต่งตั้งบุรุษผู้ทรงเกียรติ 27 คนเพื่อพิจารณาคดีนี้ และมีการกล่าวหาแม่ทัพ สติก อันเดอร์เซน ไวด์ หรือมาร์ค สติกและจาค็อบ นีลส์เซน เคานท์แห่งฮัลลันด์ รวมถึงคนอีกเจ็ดคนในข้อหานี้ หลังจากพิจารณาคดีทั้งวัน คณะลูกขุนตัดสินว่าผู้ต้องหาทั้งหมดมีความผิด ทรัพย์สินของนักโทษทั้งหมดถูกริบและพวกเขาถูกเนรเทศออกจากเดนมาร์กด้วยความกลัวตาย แม้แต่สมเด็จพระสันตะปาปายังประกาศขับผู้ถูกกล่าวหาเหล่านี้ออกจากศาสนา[3] [4]
คำตัดสินนั้นเป็นที่น่าสงสัยหลายจุด ไม่มีการพิสูจน์ว่าผู้ถูกกล่าวหาคนหนึ่งคนใดอยู่บริเวณใกล้กับที่กษัตริย์สวรรคต ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับอนุญาตให้กล่าวคำสาบานความบริสุทธิ์ต่อหน้าศาลหรือบุรุษผู้ทรงเกียรติ ซึ่งเป็นสิทธิที่พวกเขาควรได้รับตามกฎหมาย แม้ว่าจะมีความไม่ชัดเจนในการสวรรคตของกษัตริย์อีริคที่ 5 แต่คณะลูกขุนใช้เวลาวันเดียวตัดสินว่ามีความผิด ผู้ต้องหาทั้งหมดล้วนเป็นข้าราชบริพารวงในของกษัตริย์อีริคที่ 5 ซึ่งพวกเขาไม่ได้อะไรจากการสวรรคตของกษัตริย์
นักประวัติศาสตร์อย่างอีริค อารัป (ค.ศ. 1876-1951) และฮูโก เยอร์วิง (ค.ศ. 1908 - 2002) ได้ระบุว่าการตัดสินครั้งนี้เป็นความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรม และได้มองว่าการปลงพระชนม์กษัตริย์เกิดจากความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจระหว่างขุนนางสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งนำโดยมาร์ค สติก กับอีกกลุ่มหนึ่งนำโดย วัลเดมาร์ที่ 4 ดยุกแห่งชเลสวิก กลุ่มตระกูลอเบล ดยุกวัลเดมาร์หมดอิทธิพลในปีค.ศ. 1283 แต่ก็ก้าวขึ้นมามีอิทธิพลอย่างรวดเร็วในปีค.ศ. 1288 เหล่านักประวัติศาสตร์มองว่า วัลเดมาร์กับพันธมิตรของเขาอาจวางแผนลอบปลงพระชนม์กษัตริย์และใส่ความแก่ศัตรูในศาล นักประวัติศาสตร์อีกคนหนึ่งคือ คาอี ออร์บี (ค.ศ. 1935-1993) ชี้ให้เห็นว่าการปลงพระชนม์เป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งในราชวงศ์ที่ต้องการครองราชบัลลังก์เดนมาร์ก มีผู้อ้างสิทธิคนอื่นๆ ที่อ้างว่ามีสิทธิในบัลลังก์เดนมาร์กมากกว่าหรือทัดเทียมกษัตริย์อีริคที่ 5 ได้แก่ กษัตริย์นอร์เวย์ พระเจ้าอีริคที่ 2 แห่งนอร์เวย์และ พระเจ้าโฮกุนที่ 5 แห่งนอร์เวย์ พระอนุชา ซึ่งเป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าอีริคที่ 4 แห่งเดนมาร์ก[5] [6]
อันเดอร์เซนและพรรคพวกหลบหนีไปยังนอร์เวย์และได้รับการต้อนรับจากกษัตริย์อีริคแห่งนอร์เวย์ ผู้ทรงยินดีต้อนรับศัตรูของกษัตริย์เดนมาร์ก พระองค์ได้พระราชทานป้อมคองเชลเลอใกล้ชายแดนเดนมาร์กให้แก่อันเดอร์เซน อันเดอร์เซนกลายเป็นโจรสลัดและยึดครองพื้นที่บริเวณชายฝั่งเดนมาร์กเป็นเวลาหลายปี กลุ่มผู้ถูกเนรเทศได้สร้างท่าเรือที่แซมเซอ เฮล์ม สโปรเกอและเฮลเกอเนส ไม่มีเรือใดๆ ปลอดภัย ไม่มีเมืองริมชายฝั่งใดๆ ปลอดภัยจากสติก อันเดอร์เซน ไวด์ การปล้นสะดมครั้งร้ายแรงที่สุดของเขาเกิดขึ้นในปีค.ศ. 1289 เมื่อเขาขึ้นฝั่งพร้อมกับกองทัพนอร์เวย์ขนาดเล็กที่เมืองสตับเบอเคอบิง เกาะฟาลสเตอร์ วิสเลาที่ 2 แห่งรือเงิน ผู้สำเร็จราชการเดนมาร์กได้ใช้กองเรือชาวเวนด์ขับไล่อันเดอร์เซนกลับไปยังนอร์เวย์ การกระทำของอันเดอร์เซนได้จุดประกายสงครามและความขัดแย้งระหว่างอาณาจักรนอร์ดิกที่ยืดเยื้อกว่าสี่ทศวรรษ
รัชกาล
แก้ธรรมเนียมพระยศของ สมเด็จพระเจ้าอีริคที่ 6 | |
---|---|
ตราประจำพระอิสริยยศ | |
การทูล | Hans Majestæt (ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท) |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | Deres Majestæt (พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ) |
ในเวลาเดียวกันความขัดแย้งทางศาสนาได้เกิดขึ้นเนื่องจากเจนส์ กรันด์ อาร์กบิชอปแห่งลุนด์คนใหม่ผู้ทะเยอทะยาน ได้สนับสนุนพวกนอกกฎหมาย รวมถึงญาติพี่น้องของเขาแทนที่จะแสดงความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ เมื่อเขาได้รับเลือกสู่ตำแหน่งโดยสมเด็จพระสันตะปาปา เขาก็รับปากต่อพระองค์ว่าจะสาบานตนจงรักภักดีต่อกษัตริย์ เขากล่าวว่า "มันไม่สำคัญหรอกว่ากษัตริย์เดนมาร์กจะเป็นดยุกวัลเดมาร์ ชาวยิว ชาวเติร์ก พวกนอกศาสนาหรือเป็นปีศาจ แต่ต้องไม่ใช่อีริคหรือคริสตอฟเฟอร์"[7] บิชอปเจนส์ดำเนินแผนการไปไกลกว่านั้น เขามอบที่ดินของคริสตจักรที่ฮุนเดอฮัลด์แก่พวกกบฏที่ถูกเนรเทศเพื่อสร้างป้อมปราการและยังให้ความบันเทิงแก่พวกเขาด้วย กษัตริย์ทรงทนไม่ไหวทรงมีพระราชโองการให้จับกุมบิชอปเจนส์ในปีค.ศ. 1294 อาร์กบิชอปถูกส่งไปคุมขังล่ามโซ่โดยดยุกคริสตอฟเฟอร์ที่ "หอคอยมืด" ในซอบอร์ก หลังจากต้องทนกับสภาพเลวร้ายหลายเดือน กษัตริย์ทรงส่งคนไปตรวจสอบบิชอปเจนส์เพื่อดูว่าเขาจะสาบานจงรักภักดีอีกครั้งหรือไม่และต้องสัญญาว่าจะไม่แก้แค้นจากการถูกจองจำครั้งนี้ บิชอปตอบว่า "แทนที่ข้าจะยอมก้มหัวตามพระราชประสงค์ ข้ายอมให้กษัตริย์สับร่างข้าเป็นชิ้นๆ เสียยังดีกว่าที่จะยอมทำตามคำสั่งของพระองค์" หลังจากเขาถูกกักขังด้วยสภาพที่เลวร้ายเป็นเวลาสองปี บิชอปเจนส์สามารถหลบหนีได้ด้วยความช่วยเหลือของคนรับใช้ในครัว บิชอปเจนส์หลบหนีไปยังกรุงโรมเพื่อให้สันตะสำนักพิจารณาคดีของเขา สมเด็จพระสันตะปาปาทรงประกาศขับไล่กษัตริย์อีริคออกจากศาสนา ชาวเดนมาร์กทั้งหมดถูกคว่ำบาตรจนกว่าอาณาจักรจะจ่ายเงินชดเชยให้บิชอปเจนส์ กรันด์ 49,000 เหรียญ เดนมาร์กไม่สามารถหาเงินจำนวนดังกล่าวได้จึงต้องอยู่ภายใต้การคว่ำบาตรเป็นเวลาสี่ปี ในปีค.ศ. 1302 กษัตริย์อีริคทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระสันตะปาปาเพื่อขอความเมตตาแก่พระองค์เองและราชอาณาจักรที่ปราศจากการรับศีลศักดิ์สิทธิ์เป็นเวลาหลายปี พระองค์สัญญาว่าจะทำทุกสิ่งที่สมเด็จพระสันตะปาปาดำรัสสั่ง กษัตริย์อีริคทรงถ่อมตนต่อหน้าสาธารณชน สมเด็จพระสันตะปาปาโบนิฟาซที่ 8 ทรงได้รับการเจรจาจากตัวแทนเดนมาร์กอย่างมาร์ตินแห่งดาเซีย พระองค์ยินดีที่จะลดค่าปรับลงถึง 80% จะมีการยกเลิกการคว่ำบาตรและการขับออกจากศาสนา และอาร์กบิชอปเจนส์ได้รับตำแหน่งจากสมเด็จพระสันตะปาปาอีกครั้ง โดยเขาไม่ต้องขึ้นตรงต่อกษัตริย์อีริค[8]
กษัตริย์อีริคทรงรักในการประลองอย่างมาก และพระราชทรัพย์ก็หลั่งไหลออกจากท้องพระคลังเพราะการจัดงานบันเทิงของพระองค์ การประลองอัศวินครั้งหนึ่งที่ร็อสท็อค ไวน์ เหล้าน้ำผึ้งและเบียร์ มีให้เติมตลอดทั้งเดือนสำหรับทุกคนที่ต้องการดื่ม กษัตริย์ทรงจ่ายค่าบำรุงม้าและปศุสัตว์ทั้งหมดตลอดทั้งงานประลอง รวมถึงข้าวโอ๊ตกองเท่าภูเขาสำหรับแขกในงานทุกคน พระองค์ทรงสร้างระบบภาษีแบบใหม่และไม่ธรรมดาที่ขูดรีดทั้งชาวนาและขุนนางไปพร้อมๆ กัน เมื่อภาษีไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายของกษัตริย์ พระองค์ได้ยืมเงินจำนวนมากจากเหล่าขุนนางเยอรมัน รวมถึงการจำนองที่ดินของเดนมาร์กให้แก่พวกเขา กษัตริย์อีริคทรงยกทัพไปแสวงหาที่ดินใหม่ๆ ในเยอรมนีเพื่อจะกู้คืนความเป็นมหาอำนาจแห่งสแกนดิเนเวียของเดนมาร์กโดยผ่านการเป็นพันธมิตรกับเจ้านครเยอรมัน ได้แก่ ดยุกแห่งเมคเลนบูร์ก พระองค์พยายามเป็นเจ้าเหนือหัวของเมืองสันนิบาตฮันเซอหลายเมืองเพื่อต่อสู้กับบรันเดินบวร์คและรัฐอื่นๆ พระองค์ยังทรงแทรกแซงสวีเดนเพื่อสนับสนุนพระอนุชาของพระมเหสีในการสู้รบกับฝ่ายต่อต้านในปีค.ศ. 1305 และอีกครั้งในปีค.ศ. 1307 - 1309 ในขณะเดียวกันทรงสู้รบอยู่ในเยอรมนี พระองค์ทรงว่าจ้างทหารเยอรมันเพื่อพลิกสถานการณ์ด้วยเงิน
ในปีค.ศ. 1312 เกิดทุพภิกขภัยในเดนมาร์ก เมื่อกษัตริย์ทรงเรียกเก็บภาษีเช่นเดิม ชาวนาในเชลลันด์จึงก่อกบฏ กษัตริย์อีริคทรงปราบปรามกบฏอย่างโหดร้าย มีการแขวนคอชาวนาหลายร้อยคนรอบกรุงโคเปนเฮเกน ปีถัดมามีการประชุมสภาที่วีบอร์ก ชาวนาและขุนนางประกาศก่อบกบฏต่อกษัตริย์อย่างเปิดเผย ใครที่ไม่ยอมช่วยเหลือกบฏและยังสนับสนุนกษัตริย์ จะถูกจับแขวนคอที่คานบ้านของคนนั้นเอง กษัตริย์อีริคทรงปราบปรามกบฏด้วยกองกำลังทหารรับจ้างเยอรมัน ซึ่งกวาดล้างพวกกบฏไปไกลถึงราเนอส์ กษัตริย์ทรงสร้างป้อมปราการด้วยการใช้แรงงานทาสชาวนา ซึ่งเป็นบทลงโทษสำหรับพวกกบฏ ขุนนางที่เกี่ยวข้องต่างถูกเนรเทศหรือประหารชีวิต ทรัพย์สินถูกริบเข้าท้องพระคลัง มีการก่อสร้างฐานที่มั่นทั้งสี่ ได้แก่ ปราสาทบิกโฮล์มในฮอร์เซนส์ ปราสาทคาเลอในทางตอนเหนือของออร์ฮูส ปราสาทบอร์กโวลด์ในวีบอร์ก และปราสาทอูลสตรัปทางตะวันออกของสเตอร์ นีลส์ บร็อคถูกประหารด้วยโทษฐานที่ให้ที่ซ่อนแก่ราเนอ จ็อนเซน (ค.ศ. 1254-1294) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สมคบคิดลอบปลงพระชนม์พระราชบิดาของกษัตริย์อีริคที่ 6 ที่ฟินเดอรัป[9]
ในปีค.ศ. 1313 กษัตริย์อีริคทรงยอมมอบทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ทั้งหมดในจัตแลนด์ตอนใต้แก่ดยุกเพื่อแลกกับเงินสด ในช่วงปีค.ศ. 1315 ถึง 1317 พืชผลไม่เจริญเติบโตอีกครั้ง ทำให้ไม่มีอะไรเหลือในการเก็บภาษี ท้องพระคลังว่างเปล่า ในปีค.ศ. 1317 กษัตริย์อีริคทรงจำนองเกาะฟึนทั้งหมดแก่เกอร์ฮาร์ดที่ 3 เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์-เรนส์บูร์กและโยฮันน์ที่ 2 เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์-คีล เพื่อแลกกับอัศวิน 200 นาย ก่อนพระองค์จะสวรรคตพระองค์ยังจำนองสคาเนียแก่ขุนนางเยอรมันเพื่อหาเงินมาใช้จ่ายฟุ่มเฟือยต่อไป ความยิ่งใหญ่ของเดนมาร์กถูกทำลายลงครั้งสุดท้ายด้วยไฮน์ริชที่ 2 ลอร์ดแห่งเมคเลนบูร์กทำการยึดป้อมปราการเดนมาร์กที่ร็อสท็อค[10] [11]
เมื่อกษัตริย์อีริคสวรรคตในปีค.ศ. 1319 พระองค์ทรงสวรรคตหลังพระราชบุตร 14 พระองค์ เดนมาร์กกำลังล้มละลาย ผู้สืบบัลลังก์ต่อคือ พระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 2 พระอนุชา ซึ่งปกครองเดนมาร์กในช่วงปีค.ศ. 1320 - 1326[12]
การตัดสินกษัตริย์อีริคที่ 6
แก้ตามลักษณะแล้วกษัตริย์อีริคที่ 6 ทรงถือว่าเป็นหนึ่งในบุคคลเพียงไม่กี่คนที่โดดเด่นในยุคนั้น เนื่องจากทรงพยายามกอบกู้ดินแดนที่ห่างไกลของอาณาจักรเดนมาร์ก พระองค์ได้รับการยกย่องในวรรณกรรมสมัยโรแมนติกของเดนมาร์ก อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีการมองว่านโยบายของพระองค์เป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของจักรวรรดิเดนมาร์กในบอลติกและยุโรปเหนือที่จะเกิดขึ้นในยุคต่อไป
พระสมัญญาของกษัตริย์อีริคที่ 6 ได้รับการกล่าวถึงอย่างมาก คำอธิบายที่เป็นที่นิยมคือเป็นคำย่อของคติพจน์ของรัชกาลของพระองค์ (“ved alle hellige mænd” แปลว่า all holy men หรือ เหล่าบุรุษผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งมวล) และมีการอธิบายสมัญญาภาษาเดนมาร์กโบราณว่า "เม็นเว็ด" (“menvett” แปลว่า bird of ill omen หรือ นกแห่งลางร้าย)
พระโอรสธิดา
แก้พระองค์อภิเษกสมรสในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1296 กับเจ้าหญิงอิงเงอร์บอร์ก มักนุสด็อทเทอร์แห่งสวีเดน พระราชธิดาในพระเจ้ามักนุสที่ 3 แห่งสวีเดน และเป็นพระเชษฐภคินีในพระเจ้าบีร์เยอแห่งสวีเดน ทั้งสองพระองค์มีพระราชโอรส 8 พระองค์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระราชินีทรงแท้งพระบุตร 6 ครั้ง แม้ว่าบางแหล่งข้อมูลกล่าวว่าทรงแท้งพระบุตรในช่วงระหว่าง 8 - 14 ครั้ง การทรงพระครรภ์หลายครั้งนำมาซึ่งการแท้ง หรือมีพระประสูติกาลแต่พระบุตรสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์[13] พระโอรสที่มีบันทึกไว้ได้แก่
- เจ้าชายวัลเดมาร์แห่งเดนมาร์ก (สิ้นพระชนม์ ค.ศ. 1302)
- เจ้าชายอีริคแห่งเดนมาร์ก
- เจ้าชายมักนุสแห่งเดนมาร์ก
- เจ้าชายไม่ปรากฏพระนาม (ประสูติและสิ้นพระชนม์ ค.ศ. 1318) ตามพงศาวดารระบุว่า สมเด็จพระราชินีอิงเงอร์บอร์กทรงยินดียิ่งนักที่พระโอรสประสูติมาแล้วมีพระชนม์ชีพ พระนางทรงนำพระโอรสออกนั่งรถเกวียนม้าเพื่อแสดงต่อหน้าสาธารณชน แต่พระนางทรงทำพระโอรสลื่นหลุดพระหัตถ์ พระโอรสจึงตกกระแทกพื้น พระศอหักสิ้นพระชนม์ ต่อมาสมเด็จพระราชินีอิงเงอร์บอร์กเสด็จเข้าไปประทับอยู่ในคอนแวนต์นักบุญแคลร์ในรอสคิลด์ พระนางสิ้นพระชนม์ในปีต่อมา
มีบางหลักฐานระบุว่ากษัตริย์อีริคที่ 6 ทรงมีพระโอรสนอกสมรส คือ อีริค สจาลันด์สฟาร์ (ราวค.ศ. 1300 - 1364) ที่โอเรบีการ์ดในเกาะเชลลันด์ ซึ่งศพของเขาถูกฝังที่มหาวิหารรอสคิลด์พร้อมมงกุฎ แต่บางหลักฐานอ้างว่านั้นเป็นพระโอรสของพระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 4 แห่งเดนมาร์ก[14]
อ้างอิง
แก้- ↑ "Kong Erik VI Menved". Danmarks Konger. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-06. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Erik Menved, 1274-1319". Danmarks Historien. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Stig Andersen Hvide d.æ". Den Store Danske, Gyldendal. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Grev Jakob af Hallands arv". Den Store Danske, Gyldendal. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Erik Arup". Den Store Danske, Gyldendal. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Kai Hørby". Den Store Danske, Gyldendal. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ Huitfeldt, Arild. Danmarks Riges Krønike
- ↑ "Jens Grand". roskildehistorie.dk. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Rane Jonsen". Dansk Biografisk Leksikon. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Gerhard III. (Graf von Holstein)". Allgemeine Deutsche Biographie. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Heinrich II. (Fürst von Mecklenburg)". Allgemeine Deutsche Biographie. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Christoffer 2. 1276-1332". Danmarks Historien (Aarhus University). สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Ingeborg, –1319, Dronning". Dansk biografisk Lexikon. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ http://www.roskildehistorie.dk/stamtavler/konger/4_Middelalder/Klipping.htm
- Arup, Erik (1951) Danmarks historie (Copenhagen: Hagerup)
- Fagerland, Tor Einar (2006) Krigføring og politisk kultur i nordisk middelalder, (NTNU)
- Hørby, Kai (1989) Gyldendals og Politikens -danmarkshistorie. 1250-1400 (Copenhagen: Gyldendal)
วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Eric VI of Denmark
ก่อนหน้า | พระเจ้าอีริคที่ 6 แห่งเดนมาร์ก | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระเจ้าอีริคที่ 5 | พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก ดยุกแห่งเอสโตเนีย (ค.ศ. 1286 - ค.ศ. 1319) |
พระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 2 |