ชัยอนันต์ สมุทวณิช
ศาสตราจารย์ ชัยอนันต์ สมุทวณิช (23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487 – 15 กันยายน พ.ศ. 2561) เป็นนักวิชาการ นักกฎหมายและนักการเมืองชาวไทย สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและอดีตประธานกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ชัยอนันต์ สมุทวณิช | |
---|---|
เกิด | 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487 จังหวัดพระนคร ประเทศไทย |
เสียชีวิต | 15 กันยายน พ.ศ. 2561 (74 ปี) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
สัญชาติ | ไทย |
อาชีพ | อาจารย์ นักวิจัย นักประวัติศาสตร์ |
คู่สมรส | สุภาธร สมุทวณิช |
บุตร | 3 คน |
ประวัติ
แก้ศาสตราจารย์ ชัยอนันต์ สมุทวณิช หรือ ศ.ดร.ชัยอนันต์ เกิดวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487 ที่จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของ พล.ต.ต.ชนะ สมุทวณิช นามสกุล "สมุทวณิช" เป็นนามสกุลพระราชทาน ในสมัยรัชกาลที่ 6 [1] สมุทวณิช สมรสกับ นางสุภาธร สมุทวณิช (สกุลเดิม สาครบุตร) มีบุตร 3 คนคือ นายพชร สมุทวณิช ผู้บริหารหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ,พลอย จริยะเวช นักเขียน นักแปล (สมรสกับ พันโทธีระ จริยะเวช กรมยุทธบริการ กองบัญชาการทหารสูงสุด) และ นายพลาย สมุทวณิช
ศ.ดร.ชัยอนันต์ ไม่ใช่เด็กเรียนดีมาก่อน จบมัธยมศึกษาปีที่ 8 จากวชิราวุธวิทยาลัย ด้วยคะแนนเพียง 57.3% แต่พยายามจนสอบเข้า คณะรัฐศาสตร์ แผนกนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สำเร็จ เรียนอยู่ 1 ปีสามารถสอบชิง ทุนโคลัมโบ ไปเรียนปริญญาตรีที่ มหาวิทยาลัยวิกตอเรีย ประเทศนิวซีแลนด์ ต่อมาสำเร็จปริญญาโท และ ปริญญาเอกทางรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2511
กลับมาเมืองไทยเข้าทำงานครั้งแรกที่กรมวิเทศสหการ จากนั้นสมัครเข้าเป็นอาจารย์ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และต่อมาได้โอนย้ายมาสอนที่ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.ดร.ชัยอนันต์ มีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองมาโดยตลอด เป็นหนึ่งในผู้ลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 100 คนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และ ในปี พ.ศ. 2531 ได้ร่วมกับนักวิชาการคนอื่นๆ เช่น ศ.ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ และ รศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รวบรวมนักวิชาการ 99 คนลงชื่อเรียกร้องให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรณรงค์เรื่องนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง
ศ.ดร.ชัยอนันต์ เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทเคลื่อนไหวในการเรียกร้องให้ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549
ดร.ชัยอนันต์ เป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ที่มีบทความลงตีพิมพ์ และเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตอย่างสม่ำเสมอ นอกจากจะมีบุตรสาวคือ พลอย จริยะเวช ที่เป็นนักเขียน ดร.ชัยอนันต์ยังมีน้องชาย คือ ชัยศิริ สมุทวณิช บรรณาธิการอาวุโส หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน อดีตผู้บริหารบริษัทการบินไทย ที่มีงานเขียน เผยแพร่อย่างสม่ำเสมอเช่นเดียวกัน และ นายชัยศิริ ยังมีบุตรชายที่เป็นนักเขียนคือ กล้า สมุทวณิช เจ้าของนามปากกา "บุญชิต ฟักมี" อีกด้วย
การศึกษา
แก้- วชิราวุธวิทยาลัย
- แผนกนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปัจจุบัน)
- ปริญญาตรี Victoria University of Wellington นิวซีแลนด์
- ปริญญาโท-เอก มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา
- Certificate in Social Planning, United Nations Asian Institute
การทำงาน
แก้- พ.ศ. 2518 : อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตำแหน่งสุดท้ายคือ ศาสตราจารย์ระดับ 11 (พ.ศ. 2518-2538)
- พ.ศ. 2524 : ราชบัณฑิต สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง
- พ.ศ. 2531 : ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
- พ.ศ. 2535 : ได้รับแต่งตั้งเป็น วุฒิสมาชิก (พ.ศ. 2535-2539 และ 2539-2540[2])
- พ.ศ. 2539 : ผู้บังคับการ วชิราวุธวิทยาลัย (พ.ศ. 2539 - 2550)
- พ.ศ. 2541 : ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ (11 เมษายน พ.ศ. 2541 - 30 มิถุนายน พ.ศ. 2543)
- พ.ศ. 2544 : กรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (พ.ศ. 2544-2547)
- พ.ศ. 2545 : กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ พ.ศ. 2545-2554[3]
- พ.ศ. 2547 : ประธานกรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) (พ.ศ. 2547) (ลาออก 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549)
- ประธานคณะกรรมการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542
- พ.ศ. 2548 : นายกราชบัณฑิตยสถาน[4]
- พ.ศ. 2549 : สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
- พ.ศ. 2557 : สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
บทบาททางการเมือง
แก้ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ขณะนั้นเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เป็นผู้ที่เขียนฎีกาเพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการชุมนุมวันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 โดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล และได้ร่วมกันลงนามทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2549 โดยอ้างอิงความตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 อีกทั้งยังเป็นวิทยากรในการอภิปรายในเรื่องปฏิญญาฟินแลนด์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันพุธที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ด้วย โดยเป็นผู้ทำนายว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร น่าจะพ้นจากตำแหน่งไม่เกินเดือนกรกฎาคม หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
อีกทั้งยังทำนายก่อนการพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์และพรรคไทยรักไทยล่วงหน้าหนึ่งวันว่า พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ถูกยุบ แต่พรรคไทยรักไทยจะถูกยุบ ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น[5]
การทำงานในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ
แก้ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้เข้ามารับหน้าที่เป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ภายหลังการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง พ.ศ. 2553 ยุติลง ในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 โดยทำหน้าที่ยกร่างแผนปฏิบัติการที่สามารถนำไปปฏิบัติ และแก้ไขปัญหาความอยุติธรรม และความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยคณะกรรมการ จำนวน 19 คน ทำงานคู่ขนานไปกับคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ [6]
การดำรงตำแหน่งอื่น ๆ
แก้- ประธานมูลนิธิ ไชย้ง ลิ้มทองกุล
เกียรติคุณ
แก้- นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2529 สาขา รัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สภาวิจัยแห่งชาติ
การเสียชีวิต
แก้ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบ ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2561 สิริอายุ 74 ปี[7][8] สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2537 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[9]
- พ.ศ. 2533 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[10]
- พ.ศ. 2546 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 2 ทุติยดิเรกคุณาภรณ์ (ท.ภ.)[11]
- พ.ศ. 2540 – เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (ร.ด.ม.(ศ)) สาขาสังคมศาสตร์[12]
- พ.ศ. 2537 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[13]
- พ.ศ. 2546 – เหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1[14]
อ้างอิง
แก้- ↑ จากหนังสือ "ชีวิตที่เลือกได้" โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา
- ↑ "กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-03-08. สืบค้นเมื่อ 2018-12-24.
- ↑ "แต่งตั้ง นายกราชบัณฑิตยสถาน" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-07-09. สืบค้นเมื่อ 2018-07-09.
- ↑ หนังสือ ปรากฏการณ์สนธิ จากเสื้อสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีฟ้า โดย คำนูณ สิทธิสมาน พ.ศ. 2549. ISBN 9749460979
- ↑ "เปิดรายชื่อกรรมการ-สมัชชาปฏิรูปประเทศ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-27. สืบค้นเมื่อ 2010-07-09.
- ↑ ชัยอนันต์ สมุทวณิช ถึงแก่กรรมอย่างสงบแล้วในวัย 74 ปี ไทยรัฐออนไลน์ สืบค้นเมื่อ 15 กันยายน 2561
- ↑ ชัยอนันต์ สมุทวณิช เสียชีวิตในวัย 74 ปี ประชาไท สืบค้นเมื่อ 15-09-2018
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2007-01-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๓, ๓ ธันวาคม ๒๕๓๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๒๔๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ เก็บถาวร 2021-10-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๒๐ ข หน้า ๑๒๘, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๑๕ ข หน้า ๖, ๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๕ ข หน้า ๕๘๐, ๒๘ เมษายน ๒๕๓๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี, เล่ม ๑๒๓ ตอนที่ ๑ ข หน้า ๒๗, ๕ มกราคม ๒๕๔๙