คลองรังสิตประยูรศักดิ์[1] หรือมักเรียกสั้น ๆ ว่า คลองรังสิต เป็นคลองสายหลักในโครงการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งเริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นโครงการคลองชลประทานเพื่อการเกษตรแห่งแรกของไทยที่ริเริ่มขึ้นเพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณทุ่งรังสิตให้เป็นแหล่งเพาะปลูกข้าว รองรับการขยายตัวของการส่งออกข้าว ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทยในขณะนั้น

แผนที่แสดงคลองรังสิต ในเขตจังหวัดปทุมธานี
ภาพถ่ายทางอากาศของคลองรังสิต

โครงการรังสิตนับเป็นโครงการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 5 จังหวัด ตั้งแต่ จังหวัดปทุมธานี บริเวณอำเภอธัญบุรี อำเภอคลองหลวง อำเภอหนองเสือ และอำเภอลำลูกกา, จังหวัดนครนายก ในเขตอำเภอองครักษ์, กรุงเทพมหานคร บริเวณเขตหนองจอกและเขตบางเขน, จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่อำเภอวังน้อย และจังหวัดสระบุรี ที่อำเภอหนองแค

การขุดคลองตามโครงการรังสิตนับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนางานด้านชลประทานของประเทศไทย โดยเฉพาะการชลประทานเพื่อการเกษตรกรรม การขุดคลองรังสิตและคลองแยกต่าง ๆ ระหว่าง พ.ศ. 2433 - พ.ศ. 2448 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้พื้นที่รกร้างบริเวณทุ่งหลวงเปลี่ยนเป็นแหล่งเกษตรกรรมขนาดใหญ่ที่มีข้าวเป็นผลผลิตหลัก คลองรังสิตซึ่งเป็นคลองสายหลักจึงเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนรังสิต เป็นทั้งแหล่งน้ำสำหรับเพาะปลูก เส้นทางคมนาคม ตลอดจนใช้ในการอุปโภคและบริโภค แม้การพัฒนาอุตสาหกรรมได้ทำให้คลองรังสิตลดความสำคัญในฐานะคลองส่งน้ำเพื่อการเกษตรกรรมลง เป็นเพียงคลองชลประทานสำหรับระบายน้ำ

ประวัติ

แก้

การขุดคลองรังสิตเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2433 ดำเนินการโดย บริษัทขุดคลองแลคูนาสยามจำกัด บริษัทเอกชน มีเจ้านาย ขุนนาง และชาวตะวันตกเป็นผู้ถือหุ้น ในชั้นต้นประกอบด้วย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ พระนานาพิธภาษี (ชื่น บุนนาค) และนายโยอาคิม กรัสซี (Joachim Grassi) ต่อมาในปี พ.ศ. 2435 เปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นเป็น หม่อมราชวงศ์สุวพรรณ สนิทวงศ์ โอรสคนใหญ่ในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์, พระปฏิบัติราชประสงค์ (เออร์วิน มูลเลอร์ (Erwin Müller)) และ ฮันส์ เมทซเลอร์ (Hans Metzler)

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ทรงต้องการจะสนองพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการพัฒนาทรัพยากรของประเทศ และมิต้องการให้เสียพระราชทรัพย์ จึงได้สำรวจหาพื้นที่ขุดคลอง แล้วนำความกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตขุดคลองในนามบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม เมื่อ พ.ศ. 2431 โดยให้นายโยคิม แกรซี สถาปนิกชาวอิตาลี เป็นผู้วางแผนงาน นายแกรซีจึงได้เสนอโครงการ “Scheme of Irrigation in Siam” เพื่อพัฒนาระบบคลองชลประทานสำหรับปลูกข้าวบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง 4 สาย ได้แก่ แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำนครนายก (แม่น้ำบางปะกง)อันเป็นพื้นที่การเกษตรสำคัญ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ทำสัญญาพระราชทานพระบรมราชานุญาตขุดคลองเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2431 ให้บริษัทขุดคลองแลคูนาสยามดำเนินการขุดคลองได้มีระยะเวลาสัมปทาน 25 ปี โดยบริษัทได้วางแผนจะขุดคลองชลประทานแบบใหม่บริเวณ “ทุ่งหลวง” ซึ่งเป็นท้องทุ่งกว้างใหญ่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ตอนใต้ของมณฑลกรุงเก่า (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)จดมณฑลกรุงเทพฯ โครงการนี้ประกอบด้วย การขุดคลองขนาดใหญ่เพื่อรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำนครนายก และแม่น้ำป่าสัก กับขุดคลองซอยหรือคลองแยกสำหรับผันน้ำเข้าที่นา รวมทั้งสร้างประตูระบายน้ำเพื่อควบคุมระดับน้ำ

แม้ว่าจะได้รับสัมปทานขุดคลองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2431 แล้ว แต่ในสัญญาได้ระบุไว้ว่า บริษัทขุดคลองแลคูนาสยามต้องเสนอแผนการขุดหรือซ่อมคลอง ระบุแผนที่การขุด ขนาดคลอง และกำหนดระยะเวลาการทำงาน ให้เสนาบดีกรมเกษตราธิการ (เดิมคือ กรมนา ต่อมายกฐานะขึ้นเป็นกระทรวงเกษตราธิการใน พ.ศ. 2435) พิจารณาก่อนทุกครั้ง โดยใน พ.ศ. 2433 บริษัทได้ยื่นหนังสือขออนุญาตขุดคลองครั้งแรกรวม 8 สาย แต่พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกรมเกษตราธิการในขณะนั้น อนุญาตให้ขุดได้เพียงสายเดียว คือ คลองสายหลัก ซึ่งเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ส่วนปลายคลองเชื่อมกับแม่น้ำนครนายกในเขตอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก บริษัทได้เริ่มขุดคลองนี้เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2433[2] แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2440 รวมระยะเวลาขุดประมาณ 7 ปี คลองดังกล่าวกว้าง 8 วา (16 เมตร) ลึก 5 ศอก (3 เมตร) ยาวประมาณ 1,400 เส้น (56 กิโลเมตร) ในระยะแรกชาวบ้านเรียกคลองนี้ว่า “คลองเจ้าสาย” ตามพระนามพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ หรือเรียกกันว่า “คลองแปดวา” ตามความกว้างของคลอง แต่ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามคลองนี้ว่า “รังสิตประยูรศักดิ์” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร (ต้นราชสกุล รังสิต) พระราชโอรสที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง สนิทวงศ์ พระธิดาในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ด้วยเหตุนี้ในเวลาต่อมาจึงเรียกชื่อโครงการพัฒนาที่ดินบริเวณนี้ว่า โครงการรังสิต และเรียกบริเวณที่คลองนี้ไหลผ่านว่า ทุ่งรังสิต

ต่อมาใน พ.ศ. 2435 บริษัทขุดคลองแลคูนาสยามได้ยื่นหนังสือขออนุญาตขุดคลองอีกครั้ง แต่ยังไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากนายโยคิม แกรซี ผู้ถือหุ้นรายหนึ่งของบริษัท เป็นคนในบังคับฝรั่งเศส (ทำงานให้กับรัฐบาลฝรั่งเศส) จึงถือเป็นคนต่างด้าว ภายหลังจากที่นายแกรซีถอนหุ้นออกไปแล้ว ใน พ.ศ. 2436 บริษัทได้ปรับเปลี่ยนแผนการขุดคลองใหม่ เสนอเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการในขณะนั้น ซึ่งบริษัทได้รับอนุญาต ให้ขุดคลองแยกจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ฝั่งเหนือและฝั่งใต้ รวมทั้งคลองซอยต่าง ๆ ซึ่งเป็นคลองคูนา ดังนี้

คลองขนาดใหญ่ 2 สาย ขุดตั้งแต่ พ.ศ. 2436 - พ.ศ. 2440 คือ

  1. คลองหกวาสายล่าง ขนาดกว้าง 6 วา (12 เมตร) ลึก 5 ศอก (3 เมตร) ยาว 1,527 เส้น 2 วา 2 ศอก (ประมาณ 61 กิโลเมตร)
  2. คลองหกวาสายบน ขนาดกว้าง 6 วา (12 เมตร) ลึก 5 ศอก (3 เมตร) ยาว 977 เส้น (ประมาณ 39 กิโลเมตร)

คลองซอยที่แยกจากคลองสายใหญ่ เริ่มขุดตั้งแต่ พ.ศ. 2435 - พ.ศ. 2448 รวมทั้งสิ้น 59 สาย

นอกจากนั้นบริษัทยังได้สร้างประตูระบายน้ำอีก 2 แห่ง สำหรับควบคุมระดับน้ำในคลอง ได้แก่ ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ที่ต้นคลองรังสิตประยูรศักดิ์ทางทิศตะวันตก และ ประตูน้ำเสาวภา ที่ปลายคลองทางทิศตะวันออก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม กับได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปทรงเปิดประตูน้ำทั้ง 2 แห่ง เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2439 สำหรับประตูระบายน้ำอีกแห่ง สร้างในภายหลังที่ปลายคลองหกวาสายล่าง เรียกกันทั่วไปว่า ประตูน้ำบริษัทสมบูรณ์

ผลจากการขุดคลองตามโครงการรังสิต

แก้

การพัฒนาที่ดินตามโครงการรังสิต ทำให้มีคนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณทุ่งรังสิตมากขึ้น โดยเฉพาะทางตอนใต้ของโครงการ แล้วกระจายตัวขึ้นไปทางตอนเหนือตามคลองที่ขุดเพิ่มขึ้น สาเหตุที่มีคนอพยพเข้ามาในเขตรังสิตมากขึ้นเป็นผลมาจากการขยายตัวของการส่งออกข้าว ประกอบกับความเชื่อมั่นในระบบชลประทานแบบใหม่นี้ว่าจะสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตและแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้ ทำให้มีคนสนใจลงทุนทำนากันมากขึ้น ตลอดจนมีการผลักดันไพร่และทาสที่เป็นอิสระให้เข้าไปทำงานยังพื้นที่การเกษตรใหม่แห่งนี้อีกด้วย บริเวณทุ่งรังสิตจึงเปลี่ยนสภาพจากพื้นที่รกร้าง กลายเป็นบริเวณที่มีการอยู่อาศัยหนาแน่นมากขึ้น และมีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา ประกอบด้วยคนไทย จีน มอญ ลาว และแขกมลายูที่นับถือศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม ตั้งบ้านเรือนปะปนกันไป

นอกจากนั้นการขุดคลองตามโครงการรังสิตยังส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวบริเวณทุ่งรังสิตขยายตัวขึ้น จนเป็นแหล่งปลูกข้าวขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศ มีผลผลิตเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 100,000 เกวียน หรือประมาณร้อยละ 10 ของปริมาณผลผลิตข้าวทั้งหมดของภาคกลาง นอกจากนั้นยังมีการส่งเสริมการปลูกข้าวทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน เช่น ใน พ.ศ. 2449 ได้มีการนำเครื่องจักรไถนามาทดลองใช้เป็นครั้งแรกที่บริเวณคลองที่ 1 และจัดให้มีการประกวดพันธุ์ข้าวขึ้นเป็นครั้งแรกที่รังสิตเมื่อ พ.ศ. 2450 เพื่อกระตุ้นให้ชาวนาคัดเลือกพันธุ์ข้าว ซึ่งข้าวจากเขตรังสิต ได้รับยกย่องว่ามีคุณภาพดี ตลอดจนมีการตั้งสถานีทดลองพันธุ์ข้าวขึ้นที่รังสิต เพื่อค้นหาพันธุ์ข้าวที่ดีมาแนะนำเกษตรกร

โครงการต่อเนื่องจากโครงการรังสิต

แก้

ต่อมาเมื่อลำคลองได้เริ่มตื้นเขินขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากบริษัทขุดคลองแลคูนาสยามไม่ดูแลซ่อมแซมคลองซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ขุดคลองตามที่ระบุไว้ในสัญญา จนทำให้ราษฎรอพยพออกจากพื้นที่เป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่ พ.ศ. 2447 จึงเริ่มมีการเสนอให้โอนคลองรังสิตเป็นของราชการ เพื่อจะได้พัฒนาให้เป็นโครงการชลประทานที่สมบูรณ์ต่อไป แต่ทางราชการยังไม่สามารถดำเนินการได้ จนกระทั่งเมื่อสัมปทานขุดคลองของบริษัทขุดคลองแลคูนาสยามหมดอายุลงในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2457 แต่ยังมีการต่ออายุสัมปทานให้อีกหลายครั้ง จนถึงปี พ.ศ. 2460[ต้องการอ้างอิง] และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำโครงการป่าสักใต้ เพื่อผันน้ำจากแม่น้ำป่าสัก มาใช้ในการรักษาปริมาณผลผลิต บริเวณทุ่งรังสิต ตามข้อเสนอของเซอร์ โทมัส วอร์ด (Sir Thomas Ward) ผู้เชี่ยวชาญด้านชลประทานชาวอังกฤษ โดยเริ่มต้นโครงการเมื่อ พ.ศ. 2458 แต่ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ขึ้นเสียก่อน จึงต้องเลื่อนโครงการไปก่อสร้างใน พ.ศ. 2463 จนแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2465

กิจการเดินเรือ

แก้

มีการเปิดให้ทดลองเดินเรือในคลองรังสิตตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2557 โดยมีเส้นทางเดินเรือจำนวน 14 ท่า[3] ดังต่อไปนี้

  • โรงเรียนประชาธิปัตย์
  • ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต
  • ปั๊มบางจาก
  • โครงการธงชัยพาร์ควิลล์
  • ศูนย์รถยนต์มิตซูบิชิ
  • วัดเขียนเขต
  • ห้างสรรพสินค้าโลตัส (คลอง 4)
  • คลอง
  • วัดมูลจินดาราม
  • ม.อีสเทิร์นเอเชีย
  • ศาลเยาวชนและครอบครัวธัญบุรี
  • ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี
  • วัดนาบุญ
  • ห้างสรรพสินค้าโลตัส (คลอง7)

ในปัจจุบันยังไม่มีเรือให้บริการ

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "คลองขุดในประเทศไทย". ครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-22. สืบค้นเมื่อ 25 มีนาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. สมัน เก็บถาวร 2022-01-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เทศบาลรังสิต.
  3. เส้นทางเรือโดยสารคลองรังสิตประยูรศักดิ์[ลิงก์เสีย],ครอบครัวข่าว 3, 10 กันยายน 2556.
  • สิทธิพร ณ นครพนม. ชื่อ ธัญญบุรี เพราะมีข้าว. ศิลปวัฒนธรรม. กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544. หน้า 62 - 64.
  • เอนก นาวิกมูล. เมื่อ ร.5 ทรงเปิดประตูน้ำคลองรังสิต พ.ศ. 2439. ศิลปวัฒนธรรม. มิถุนายน พ.ศ. 2544. หน้า 82-85.

14°01′08.93″N 100°43′59.57″E / 14.0191472°N 100.7332139°E / 14.0191472; 100.7332139