มณฑลอยุธยา

(เปลี่ยนทางจาก มณฑลกรุงเก่า)

มณฑลอยุธยา หรือ มณฑลกรุงเก่า ประกอบด้วยอยุธยา สระบุรี ลพบุรี อ่างทอง และสิงห์บุรี โดยมีอยุธยาเป็นศูนย์กลาง[1] เริ่มตั้งเมื่อ พ.ศ. 2437 และถูกล้มเลิกไปในปี พ.ศ. 2476 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

มณฑลอยุธยา
มณฑลเทศาภิบาล
พ.ศ. 2438 – 2476
Flag of มณฑลอยุธยา
ธง

เมืองหลวงอยุธยา
การปกครอง
 • ประเภทสมุหเทศาภิบาลต่างพระเนตรพระกรรณ
สมุหเทศาภิบาล 
• พ.ศ. 2438–2446
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ (คนแรก)
• พ.ศ. 2446–2472
พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์)
• พ.ศ. 2472–2474
หม่อมเจ้าอุปพัทธพงศ์ ศรีธวัช
• พ.ศ. 2474–2476
พระยากัลยาณวัฒนวิศิษฐ์ (เชียร กัลยาณมิตร) (คนสุดท้าย)
ยุคทางประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์
• จัดตั้งมณฑลกรุงเก่า
พ.ศ. 2438
• เปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอยุธยา
7 มีนาคม พ.ศ. 2469
• รวมมณฑลนครสวรรค์ไว้ในการปกครอง
1 เมษายน พ.ศ. 2475
• ยกเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล
9 ธันวาคม พ.ศ. 2476
ก่อนหน้า
ถัดไป
เมืองกรุงเก่า
เมืองอ่างทอง
เมืองสิงห์บุรี
เมืองอินทร์บุรี
เมืองพรหมบุรี
เมืองลพบุรี
เมืองสระบุรี
มณฑลนครสวรรค์
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
จังหวัดอ่างทอง
จังหวัดสิงห์บุรี
จังหวัดลพบุรี
จังหวัดสระบุรี
จังหวัดนครสวรรค์
จังหวัดชัยนาท
จังหวัดอุทัยธานี
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ ไทย

ประวัติ

แก้

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เริ่มปฏิรูปการปกครอง จัดให้มีการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้น โดยใน พ.ศ. 2437 ได้ตั้งมณฑลขึ้นครั้งแรก 3 มณฑล คือ มณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีนบุรี และมณฑลราชบุรี สำหรับมณฑลกรุงเก่านั้นตั้งขึ้นเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2438 โดยรวมเอา 7 หัวเมืองคือ กรุงเก่า อ่างทอง สระบุรี ลพบุรี พรหมบุรี อินทร์บุรี และสิงห์บุรีเข้าเป็นมณฑล แล้วตั้งมณฑลมีที่ว่าการมณฑลที่พระนครศรีอยุธยา เรียกว่า มณฑลกรุงเก่า ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เปลี่ยนชื่อมาเป็น มณฑลอยุธยา เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2469[2]

เมื่อ พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า รวมเมืองอินทร์บุรีและพรหมบุรีเข้ากับเมืองสิงห์บุรี[3] ผู้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลในระยะแรกคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์

แม้มณฑลกรุงเก่าจะเป็นมณฑลภายในซึ่งปราศจากการคุกคามและรุกรานจากภายนอก แต่ก็ตั้งขึ้นเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยแล้วมีแบบแผนอย่างเดียวกัน นอกจากนี้มณฑลกรุงเก่ายังเป็นแหล่งผลิตกรมการอำเภอสำหรับป้อนไปยังมณฑลต่างๆ ซึ่งขาดแคลนทรัพยากรทางด้านนี้เป็นอย่างมาก มณฑลกรุงเก่ายังเป็นมณฑลแรกที่มีการจัดตั้งศาลมณฑลขึ้น[4] พ.ศ. 2440 มณฑลอยุธยาได้แบ่งเขตอำเภอใหม่ คือ เมืองอยุธยามี 11 อำเภอ เมืองลพบุรีมี 4 อําเภอ เมืองอ่างทองมี 4 อําเภอ เมืองสระบุรีมี 5 อำเภอ และเมืองสิงห์บุรีมี 4 อําเภอ

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการยุบมณฑลนครสวรรค์รวมกับมณฑลอยุธยา[5] เว้นแต่จังหวัดตาก และจังหวัดกำแพงเพชรให้ยกไปขึ้นอยู่ในปกครองของมณฑลพิษณุโลก ต่อมามณฑลอยุธยาถูกล้มเลิกไปในปี พ.ศ. 2476 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

การปฏิรูป

แก้

การปกครองตำบลมีตำแหน่งกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านเป็นหัวหน้าหน่วยการปกครอง โดยเมื่อ พ.ศ. 2440 มีการดำเนินการทดลองเลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านที่เกาะบางปะอิน

มณฑลอยุธยามีคดีความโจรผู้ร้ายมาก ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลอยุธยาได้ลงมือแก้ไขปัญหานี้ เช่น การยกเลิกโรงรับจำนำ การทำตั๋วรูปพรรณสัตว์พาหนะ การสำรวจบัญชีสํามะโนครัว เป็นต้น ส่วนการปรับปรุงการศาลในมณฑลอยุธยา ได้มีกองข้าหลวงพิเศษอันมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นประธานชำระคดีความต่าง ๆ ซึ่งมีความคั่งค้างอยู่มากมาย

มณฑลอยุธยาได้จัดตั้งกองข้าหลวงคลัง เมื่อ พ.ศ. 2438 ทำให้ระเบียบการคลังในมณฑลมีความเป็นระเบียบขึ้น การเก็บภาษีอากรมีระเบียบแบบแผนขึ้น มีหลักฐานแน่นอนคือใบเสร็จรับเงินที่ยากต่อการฉ้อโกง และแทนที่ราษฎรจะนำเงินมาชำระที่ศาลาว่าการเมืองก็ให้นายอำเภอกำนันและผู้ใหญ่บ้านออกไปเก็บภาษีอากรจากราษฎรในเขตของตน

ด้านการศึกษา มณฑลอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2442 ได้จัดตั้งโรงเรียนทั้งหมด 29 ตำบล มีนักเรียน 1,110 คน และมีพระสงฆ์เป็นผู้อำนวยการศึกษาประจำเมือง 4 รูป เมื่อ พ.ศ. 2448 ได้มีการสร้างโรงเรียนฝึกสอนครูประจำมณฑลขึ้น นอกจากนี้ยังมีการจัดให้มีโรงเรียนประจำอำเภอ รวมทั้งมีโรงเรียนประจำอำเภอ 21 อำเภอ ด้านการจัดการด้านอนามัย มณฑลอยุธยาในสมัยรัชกาลที่ 5 มีแพทย์ประจำเมือง ประจำตำบล และแพทย์ประจำมณฑลช่วยรักษาคนไข้และมียาโอสถศาลาจำหน่ายในราคาถูก มีการปลูกฝีให้แก่ราษฎร[2][6] และได้จัดตั้งโรงพยาบาลปัญจมาธิราชอุทิศ เมื่อ พ.ศ. 2455 นับเป็นโรงพยาบาลแผนปัจจุบันแห่งแรกในมณฑลกรุงเก่า[7]

อ้างอิง

แก้
  1. สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพและพญาราชสีห์นา. เทศาภิบาล. หน้า 84.
  2. 2.0 2.1 วุฒิชัย มูลศิลป์. "มณฑลเทศาภิบาล : วิเคราะห์เปรียบเทียบ" (PDF). สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-07-16. สืบค้นเมื่อ 2021-07-17.
  3. กจช. เอกสารรัชกาลที่ 5 ม.40/2 มณฑลกรุงเก่า 5 มกราคม ร.ศ 114 - 7 เมษายน ร.ศ. 142
  4. กจช. เอกสารรัชกาลที่ 5 ย.8/1 (เล่ม 1). รายงานข้าหลวงพิเศษชำระความหัวเมือง 19 มกราคม ร.ศ. 114 - 17 มกราคม ร.ศ. 117.
  5. เปรมศักดิ์ เพียยุระ. ในหลวง ร.7 กับ ปรีดี พนมยงค์. บางกอกบุ๊ค. ISBN 6167431957.
  6. นวลเพ็ญ ภาณุรัตน์. การจัดการปกครองมณฑลกรุงเก่าในรัชสมยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2438 – 2453),187
  7. "ร.พ พระนครศรีอยุธยาทำบุญวันคล้ายวันสถาปนา ครบรอบ 80 ปี". พิมพ์ไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-16. สืบค้นเมื่อ 2021-08-16.