วงศ์ปลาแป้นแก้ว

(เปลี่ยนทางจาก Ambassidae)
วงศ์ปลาแป้นแก้ว
ปลาแป้นรังกา (Parambassis ranga) พบในอินเดีย, ปากีสถาน, พม่า, ไทย, กัมพูชา, มาเลเซียจนถึงญี่ปุ่น
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
อันดับย่อย: Percoidei
วงศ์ใหญ่: Percoidea
วงศ์: Ambassidae
สกุล
ชื่อพ้อง
  • Chandidae

ระวังสับสนกับปลาวงศ์อื่น ดูที่: วงศ์ปลาแป้น

วงศ์ปลาแป้นแก้ว (วงศ์: Ambassidae อดีตเคยใช้ Chandidae; อังกฤษ: Asiatic glassfish) วงศ์ปลากระดูกแข็งวงศ์หนึ่ง ในอันดับปลากะพง พบทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และทะเล

มีลักษณะโดยรวมมีรูปร่างเป็นรูปไข่ ส่วนหัวและท้องกว้าง ลำตัวแบนข้าง หัวโต ตาโต ปากกว้าง ครีบหลังแบ่งออกได้เป็น 2 ตอน ตอนแรกเป็นก้ามแข็งแรงและแหลมคม ตอนหลังเป็นครีบอ่อน ครีบหางเว้าลึก ครีบก้นมีก้านแข็ง 3 ชิ้น ครีบท้องมีก้านแข็ง 1 ชิ้น ครีบอกเล็ก ลำตัวโดยมากเป็นสีใสหรือขุ่นจนสามารถมองเห็นกระดูกภายในลำตัวได้ ด้านท้องมีสีเงิน

เป็นปลากินเนื้อ มักอยู่รวมกันเป็นฝูงขนาดใหญ่ เป็นปลาขนาดเล็กมีขนาดโดยเฉลี่ยประมาณ 10 เซนติเมตร อาศัยอยู่ในเขตอบอุ่นของชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียจนถึงฟิลิปปินส์และออสเตรเลีย มีทั้งหมด 8 สกุล 49 ชนิด สำหรับในประเทศไทยพบในน้ำจืด 5 ชนิด โดยชนิดที่พบมากที่สุดคือ ปลาแป้นแก้ว (Parambassis siamensis) และชนิดที่ใหญ่ที่สุดคือ ปลาแป้นแก้วยักษ์ (P. wolffii)

มีชื่อสามัญเรียกโดยรวมว่า "แป้นแก้ว" หรือ "แป้นกระจก" หรือ "กระจก" หรือ "ข้าวเม่า" ในภาษาถิ่นเหนือเรียกว่า "แว่น" ในภาษาอีสานเรียกว่า "คับของ" หรือ "ปลาขี้ร่วง"

มีความสำคัญคือเป็นปลาเศรษฐกิจใช้บริโภคในพื้นถิ่น เช่น บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง โดยทำปลาแห้งและบริโภคสด อีกทั้งยังนิยมเลี้ยงกันเป็นปลาสวยงามด้วย โดยมักฉีดสีเข้าในลำตัวปลา เป็นสีสันต่าง ๆ เช่น สีเหลือง, สีส้ม, สีน้ำเงิน และเรียกกันในแวดวงปลาสวยงามว่า "ปลาเรนโบว์" หรือ "ปลาสายรุ้ง" ซึ่งเมื่อเลี้ยงนานเข้า สีเหล่านี้จะหลุดหายไปเอง โดยที่ปลาไม่ได้รับอันตราย[1]

อ้างอิง แก้

  1. หนังสือปลาน้ำจืดไทย โดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์ (กรุงเทพ, พ.ศ. 2544) ISBN 974-475-655-5

แหล่งข้อมูลอื่น แก้