ปลาสวยงาม หรือ ปลาตู้ (อังกฤษ: ornamental fish) คือ ปลาที่มนุษย์เลี้ยงไว้เป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลินหรือเพื่อความสวยงาม ไม่ใช่เพื่อการบริโภค หรือสัตว์น้ำจำพวกอื่น ที่ไม่ใช่ปลาแต่มีการนำมาเลี้ยงเพื่อการเดียวกัน เช่น เครย์ฟิช นิยมเลี้ยงไว้ในสถานที่ต่าง ๆ ในบ้านพักอาศัย อาทิ ตู้ปลา, บ่อ หรือสระ ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการประมง ความเป็นอยู่ของปลามีความแตกต่างจากสัตว์บกหรือสัตว์เลือดอุ่นค่อนข้างมาก การเลี้ยงสัตว์บกสามารถปรับปรุงคอกเลี้ยง ทำให้สามารถทำความสะอาดกำจัดเศษอาหาร และมูลสัตว์ออกจากคอกได้อย่างง่ายดาย แต่ปลามีน้ำเป็นบ้านอย่างถาวรและจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ อีกหลายชนิด คุณภาพน้ำอาจเปลี่ยนแปลงได้ทั้งสาเหตุจากสภาพแวดล้อมและจากตัวปลาเอง เพราะปลาก็มีการขับถ่ายอยู่ตลอดเวลา แต่ในแหล่งน้ำธรรมชาติจะเกิดการปรับปรุงหรือปรับสภาพให้น้ำมีคุณสมบัติที่เหมาะสม โดยขบวนการต่าง ๆ จากสิ่งมีชีวิตหลายชนิด เพื่อให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายในน้ำอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล

ปลาเทวดาและไม้น้ำในตู้

ประวัติ

แก้

ไม่มีหลักฐานใดที่ยืนยันแน่ชัดว่า มนุษย์เริ่มรู้จักเลี้ยงปลามาตั้งแต่เมื่อใด โดยนักโบราณคดีได้ค้นพบบ่อปลาที่เก่าแก่ที่สุดในยุคสุเมเรียนซึ่งมีอายุกว่า 4,400 ปีมาแล้ว และปลาชนิดแรกที่เชื่อว่าเป็นปลาที่มนุษย์ได้เลี้ยงคือ ปลาคาร์ป ซึ่งทั้งหมดนี้มีไว้เพื่อการบริโภค[1]

สำหรับการเลี้ยงไว้เพื่อความสวยงาม ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มต้นขึ้นเมื่อใดอีกเช่นกัน ในประเทศจีนและญี่ปุ่นได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ปลาทอง รวมถึงปลาคาร์ป ให้มีรูปร่างและสีสันที่สวยงามแตกต่างไปสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีอยู่ในธรรมชาติ มาแล้วไม่ต่ำกว่า 300-400 ปี โดยมีการส่งออกไปทวีปยุโรปตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 และถูกส่งมาเป็นบรรณาการในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในศตวรรษที่ 19 ด้วย[2][3]

หลักการเลี้ยงปลา

แก้
 
วงจรระบบการกรองน้ำ

การเลี้ยงปลาไว้เพื่อความเพลิดเพลินนั้น มิได้ต่างไปจากหลักการเลี้ยงปลาเศรษฐกิจเพื่อการบริโภคเท่าใดนัก เพียงแต่มีอัตราส่วนที่ย่อขนาดลงมา โดยอุปกรณ์การเลี้ยงหลัก ๆ ได้แก่[4]

  • ตู้ปลา คือ กระจกหรือพลาสติกใสที่ต่อขึ้นมา เพื่อการเลี้ยงปลา โดยมากจะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ก็มีรูปทรงอื่นๆวางขายในท้องตลาดเช่นกัน เช่นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทรงกระบอก มีขนาดหลากหลาย ในตลาดปลาสวยงามของประเทศไทยมักจะวัดขนาดของตู้ปลาในหน่วยนิ้ว ซึ่งเป็นการเรียกตามหน่วยวัดของอุตสาหกรรมกระจกในสมัยก่อน โดยเรียกด้านหน้าตู้จากมุมมองของผู้เลี้ยงว่าด้านกว้าง ระยะจากด้านหน้าไปถึงด้านหลังตู้ว่าด้านลึก และระยะจากด้านล่างพื้นตู้ไปจนถึงขอบบนตู้จะเรียกว่าด้านสูง และมักจะเรียกขนาดของตู้ปลาอย่างย่อ ๆ ตามขนาดของด้านกว้างเท่านั้นเพื่อความสะดวก เช่น ตู้ปลาที่กว้าง 23 นิ้ว สูง 13 นิ้ว ลึก 12 นิ้ว ว่าตู้ 24 นิ้ว เป็นต้น และใช้หน่วยวัดความหนาของกระจกที่นำมาใช้ทำตู้ปลาเป็น หุน แต่ในปัจจุบันเริ่มที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้หน่วยวัดระบบเมตริกกันมากขึ้นเพราะเป็นหน่วยวัดที่คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกว่า เข้าใจได้ง่ายกว่า และตามสินค้าจากต่างประเทศเช่นประเทศญี่ปุ่นที่มักจะวัดขนาดของตู้ปลาเป็นเซนติเมตร
  • ระบบกรองน้ำ เป็นระบบบำบัดน้ำโดยการเพิ่มที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ย่อยสลายที่มีอยู่ในน้ำ ให้ปริมาณจุลินทรีย์นั้นมีมากพอที่จะบำบัดของเสียจากปลาได้เพียงพอ ทั้งนี้เพราะปลาขับถ่ายในน้ำซึ่งจะทำให้น้ำเน่าเสีย ระบบกรองน้ำมีทั้งระบบกรองใต้กรวดทรายในตู้ ระบบกรองในตู้ทั้งแบบติดกับตัวตู้และแขวนลอย และระบบกรองนอกตู้
  • ปั๊มลม หรือ แอร์ปั๊ม เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำ ทำงานโดยการปั๊มอากาศลงไปในน้ำผ่านหัวทราย หรือหัวปล่อยอากาศที่มีรูพรุน ให้ผุดขึ้นมาเป็นฟองเล็ก ๆ จำนวนมากเพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวน้ำให้สัมผัสกับอากาศและแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้มากขึ้น ทำให้สามารถเลี้ยงปลาจำนวนมากในตู้ที่มีพื้นที่จำกัดได้ ใช้ไฟฟ้าในการทำงาน มีทั้งแบบใช้ไฟฟ้ากระแสสลับและแบตเตอรี่
  • อาหาร แบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
อาหารสด ได้แก่ อาหารที่ไม่ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงใดๆหรืออาหารที่ยังมีชีวิต เช่น ไรแดง, ไรทะเล , ลูกน้ำ, กุ้งฝอย, ลูกปลาชนิดต่างๆ เช่น ปลานิล, ปลาสอด รวมถึงแมลงหลายประเภท เช่น จิ้งหรีด และตัวอ่อนแมลง เช่น หนอนนก, หนอนแดง รวมถึงเนื้อสัตว์และพืชประเภทต่าง ๆ เช่น เนื้อกุ้งสดแช่แข็ง, หัวใจวัว, หัวใจหมู, ไข่กุ้ง ซึ่งในปัจจุบันก็มีผู้ผลิตที่ผลิตอาหารสดเหล่านี้ในรูปแบบสำเร็จรูปแช่แข็งขายเพื่อความสะดวกในการใช้และยืดอายุการเก็บรักษาอาหารสดของผู้เลี้ยง
อาหารแห้ง เป็นอาหารสำเร็จรูปที่นำวัตถุดิบประเภทพืชและเนื้อสัตว์มาบดผสมกับวิตามินและสารปรุงแต่งต่าง ๆ จากนั้นจึงทำให้เป็นเม็ดหรือผงหยาบหรือแผ่นเกล็ดและอบแห้ง ซึ่งจะสามารถเก็บรักษาได้นานหลายเดือนหรือหลายปีโดยไม่ต้องแช่เย็น เพิ่มความสะดวกให้ผู้เลี้ยงกว่าอาหารสดมาก โดยมากจะผลิตเป็นเม็ดกลมขนาดต่างกัน เรียกว่า "อาหารเม็ด" หรือเป็นแผ่น เรียกว่า "อาหารแผ่น" ซึ่งทั้ง 2 ประเภทนี้มีทั้งแบบจมน้ำ กึ่งจมกึ่งลอย และลอยน้ำ
  • อุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิ ถือได้ว่าเป็นอุปกรณ์เสริม ใช้สำหรับควบคุมอุณหภูมิไม่ให้ต่ำหรือสูงเกินไป ทั้งนี้เนื่องจากปลาเป็นสัตว์เลือดเย็น หากอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันจะทำให้ปลาเจ็บป่วยได้ง่าย อุปกรณ์เพิ่มอุณหภูมิ เรียกว่า ฮีทเตอร์ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ขดลวดความร้อนบรรจุในหลอดแก้วหรือท่อโลหะจุ่มลงในน้ำเพื่อเพิ่มอุณหภูมิให้กับน้ำในตู้ สามารถตั้งค่าอุณหภูมิที่ต้องการได้ เมื่อฮีทเตอร์ทำงานจนถึงค่าที่ตั้งไว้ก็จะตัดการทำงาน และเมื่ออุณหภูมิลดลงมาก็จะทำงานอีกครั้ง อุปกรณ์ลดอุณหภูมิเรียกว่า ชิลเลอร์ ส่วนมากจะใช้คอมเพรสเซอร์เช่นเดียวกับตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศ แต่ใช้การนำน้ำในตู้ไหลผ่านส่วนทำความเย็นแทน แต่ก็มีชิลเลอร์จากผู้ผลิตหลายรายที่ใช้เพลเทียร์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้หลักเทอร์โมอิเล็กทริก ในการทำความเย็นแทนคอมเพรสเซอร์

ชนิดของปลา

แก้

ชนิดของปลาแบ่งออกได้ตามประเภทของปลาใหญ่ ๆ ได้ 3 ประเภท คือ ปลาน้ำจืด, ปลาน้ำกร่อย และปลาน้ำเค็ม

ปลาแปลก

แก้
 
ปลากะพงแดงหน้าตั้งสั้น
 
ปลากะพงขาวคาลิโกะ (สีหลากหลาย)
 
ปลาแรดสีทองที่มาเลเซีย
 
ปลาอะโรวาน่าเงินแพล็ตตินั่ม
 
ปลากระแหเผือก

ปลาแปลก คือ ปลาสวยงามจำพวกหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากปลาสวยงามปกติทั่วไป โดยมากเป็นปลาพิการ แต่มีลักษณะเด่นเฉพาะตัว จึงได้รับความนิยมจากผู้เลี้ยง ปลาแปลกจะมีราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าปลาปกติ ในบางประเภทจะแพงกว่าปลาปกติหลายเท่า เช่น ปลาแพล็ตตินั่ม เป็นต้น

ประเภทของปลาแปลก

  • ปลาชอร์ตบอดี้ หรือ ปลาสั้น (short Body) ปลาที่เป็นชอตบอดี้ ก็คือปลาพิการมาแต่กำเนิด มีความผิดปกติของกระดูกสันหลังที่คดงอหรือโค้งไปธรรมชาติ ทำให้ลำตัวของปลาแลดูสั้นกว่าปกติ ในทางวิชาการจัดว่า เป็นสัตว์แคระ แต่สำหรับในวงการปลาสวยงาม ปลาที่เป็นชอร์ตบอดี้ จะมีราคาขายสูงกว่าปลาปกติมาก เช่น ลูกปลาเทพาธรรมดาขนาดไม่เกิน 2 นิ้ว ราคาขายจะอยู่ที่ไม่เกิน 40 บาท แต่ถ้าเป็นปลาชอร์ตบอดี้ ราคาขายจะอยู่ที่ 600 บาท หรือหลายพันบาทในตัวที่สั้นมากและราคาจะแพงขึ้นไปตามขนาดของตัวปลา

ในธรรมชาติ ยากที่จะพบปลาที่มีลักษณะผิดปกติเช่นนี้ เท่าที่มีการสำรวจพบ ที่ น้ำตกคลองนารายณ์ จังหวัดจันทบุรี มีรายงานโดย ชัยวุฒิ กรุดพันธุ์ นักวิชาการประมง ในปี พ.ศ. 2545 ว่า ปลาพลวงจำนวนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในนั้นมีลักษณะกระดูกลำตัวคดงอ เชื่อว่าเกิดจากการที่ปลาผสมกันเองในสายเลือดชิด (inbreed) ทำให้ลูกปลาที่เกิดใหม่มีความผิดปกติเช่นนี้[5]

ปลาที่มีลักษณะชอร์ตบอดี้ สามารถเกิดขึ้นได้กับปลาทุกชนิด ซึ่งปลาแต่ละตัวก็จะมีลักษณะชอร์ต บอดี้แตกต่างออกไป ในวงการปลาสวยงาม ได้มีการจำแนกปลาชอร์ตบอดี้ ออกเป็นเกรด แต่ละเกรดแบ่งตามลักษณะความสั้น โดยปลาที่สั้นมากจนแทบไม่มีข้อหาง หรือบริเวณส่วนหัวหดสั้นกว่าปกติ และไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดคดงอหรือบุบ จะเรียกว่า เบอร์ 0 ซึ่งจะมีราคาขายแพงที่สุด ปลาที่มีข้อหางยาวออกมา จะเรียกว่า เบอร์ 1 ถ้าเลยจากนี้จะมีถือว่าไม่มีราคาแล้ว

ในปัจจุบัน ได้มีการเพาะปลาบางชนิดจนกลายเป็นปลาชอร์ตบอดี้ เป็นสายพันธุ์ที่ได้ผลผลิตแน่นอนไปแล้ว เช่น ปลาบอลลูน ซึ่งก็คือปลาสอดชอร์ต บอดี้, ปลากระดี่มุก, ปลาหมอสีประเภทครอสบรีด เป็นต้น

การเลี้ยงปลาชอร์ตบอดี้ให้สวยนั้น ผู้เลี้ยงจะนิยมเลี้ยงให้อ้วน ท้องป่องมากที่สุด โดยถือว่าเป็นลักษณะที่สวยที่สุด และมีความเชื่อกันว่าหากเลี้ยงปลาประเภทนี้แล้วจะนำมาซึ่งโชคลาภหรือเงินทองแก่ผู้เป็นเจ้าของ จนมีชื่อเรียกกันว่า "ปลาแบกเงิน แบกทอง"[6]

โดยปลาชอร์ตบอดี้ ที่รู้จักกันดีที่สุดและถือว่าเป็นปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน มีประวัตินับเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว ก็คือ ปลาทอง ซึ่งเป็นปลาที่มนุษย์เพาะขยายพันธุ์ขึ้นมาเองจนมีทั้งรูปร่างและสีสันผิดไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิมในธรรมชาติ[7]

  • ปลาหน้าเอ็ดดี้ หรือ ปลาหน้าผี เป็นปลาที่มีส่วนบริเวณหน้าผิดปกติไป เช่น ตาโปน ปากแหว่ง หรือหน้าบิดเบี้ยวไป โดยคำว่า "เอ็ดดี้" มาจากชื่อของดาราตลก เอ็ดดี้ ผีน่ารัก การเกิดหน้าเอ็ดดี้ก็คล้ายกับชอร์ตบอดี้ นั่นคือการผิดปกติจากการเกิด ซึ่งอาจจะมาจากการผสมสายเลือดชิดกัน
  • ปลาเผือก เป็นความผิดปกติของเม็ดสี ในปลาเผือก (Albino) สีจะขาวเผือกทั้งตัว ตาจะมีสีแดง ปลาบางชนิดสามารถเพาะพันธุ์จนเป็นเผือกหมดได้แล้ว เช่น ปลาดุก, ปลาชะโอน เป็นต้น ส่วน ปลาแพล็ตตินั่ม (Platinum) เป็นรูปแบบหนึ่งของสีที่ผิดปกติไป ซึ่งไม่ใช่ปลาเผือก ปลาแพล็ตตินั่มสีลำตัวจะออกขาวเนียน มีความเงาวาว ตาไม่แดง ขอบตาจะเป็นสีขาว แต่ลูกจะเป็นสีดำเหมือนปลาปกติทั่วไป ในปัจจุบันนี้ ปลาแพล็ตตินั่มกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากของนักเลี้ยงปลาสวยงาม เพราะความสวยและแปลกในสีสัน แต่ยังไม่อาจเพาะพันธุ์ได้เช่น ปลาเผือก จึงทำให้ปลาแพล็ตตินั่มมีสนนราคาที่สูงมาก นับเป็นปลาแปลกที่มีราคาขายกันตัวต่อตัวสูงที่สุด
  • ปลาแหว่ง หรือ ปลาเกิน เป็นปลาที่มีส่วนของร่างกายแหว่งเว้าหรือขาดเกินไปตั้งแต่กำเนิด ถือเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของปลาแปลก ในส่วนของปลาเกิน ก็คือ ปลาที่มีส่วนของร่างกายเกินมาจากปกติ เช่น มีข้อหางมากกว่า 1 ข้อ หรือ ครีบมากกว่าปกติ เป็นต้น ซึ่งลักษณะปลาแหว่งหรือปลาเกินนี้ ไม่สามารถเพาะพันธุ์ให้เป็นสายเลือดแท้เหมือนกับปลาแปลกอย่างอื่น ๆ อันเนื่องจากเป็นลักษณะปกติเฉพาะตัว แต่ในคอกที่พบปลาเกินหรือปลาแหว่ง อาจจะพบปลาที่มีลักษณะนี้มากกว่า 1 ตัว หรืออาจเป็นทั้งคอกเลยก็ได้ ซึ่งเป็นความผิดปกติทางการเกิด เช่นเดียวกับปลาแปลกชนิดอื่น ๆ

ในปลาแปลกนี้ บางตัวอาจพบลักษณะแปลกที่มากกว่าหนึ่งอย่าง ก็เป็นได้ [8]

ปลาสวยงามในประเทศไทย

แก้
 
ร้านค้าปลาสวยงามในตลาดนัดสวนจตุจักร

ในประเทศไทย การเลี้ยงปลาสวยงามนั้นมีมานานแล้วตั้งแต่ยุคโบราณ คนไทยนิยมเลี้ยงปลาที่เป็นปลาพื้นบ้าน อาทิ ปลากัดหรือปลาเข็มที่ได้พัฒนาสายพันธุ์ให้ใหญ่กว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีอยู่ในธรรมชาติ เพื่อการต่อสู้กันถือเป็นการละเล่นพื้นบ้านชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับการชนไก่ โดยมีการพนันผสมอยู่ด้วย[9]

สมัยรัชกาลที่ 5 ปลาหางนกยูงได้ถูกนำเข้ามาเลี้ยงในอ่างบัวเป็นครั้งแรก ตามบ้านของเศรษฐีและผู้มีฐานะในสังคม ดั่งปรากฏความอยู่ในนวนิยายเรื่อง "สี่แผ่นดิน" ของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ความตอนหนึ่งบรรยายถึง แม่พลอย ตัวละครเอกของเรื่อง นั่งดูปลาหางนกยูงในอ่างบัว[10]

ต่อมา ในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังสงครามยุติไม่นาน ได้มีผู้ประกอบการส่งออกปลาสวยงามไปสู่ต่างประเทศ โดยทำการรวบรวมพันธุ์ปลาพื้นบ้านจากแหล่งน้ำในธรรมชาติเป็นหลัก และจากการเพาะพันธุ์บางส่วน คือ นายสมพงษ์ เล็กอารีย์ และนายพิบูลย์ ประวิชัย[11] ซึ่งร่วมกันในนาม "สมพงษ์ อะควาเรี่ยม" จัดได้ว่าเป็นผู้ประกอบการค้าปลาสวยงามอย่างเป็นล่ำเป็นสันรายแรก ๆ โดยเฉพาะนายสมพงษ์นั้น เป็นผู้ค้นพบพันธุ์ปลาชนิดใหม่ของโลกด้วยอย่างน้อย 3 ชนิด ซึ่งสมพงษ์ อะควาเรี่ยม นั้นปัจจุบันได้ปิดกิจการลงไปแล้ว[12]

ขณะที่ปลาทอง ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จากเบื้องต้นเป็นชาวจีนหรือชาวไทยเชื้อสายจีนที่นิยมเลี้ยงไว้เพื่อความเชื่อว่านำพาความโชคดีหรือโชคลาภมาสู่ผู้เลี้ยง ในราวปี พ.ศ. 2500-2501 ยังเป็นการเลี้ยงกันในแวดวงแคบ ๆ ก่อนที่จะมีผู้พบว่า สามารถเพาะขยายพันธุ์เพื่อทำการค้าได้ จึงขยายความนิยมในการเลี้ยงตามมา ร้านค้าหรือแหล่งที่เป็นแหล่งซื้อขายปลาทองและปลาสวยงาม อยู่ที่ตลาดนัดสนามหลวง และเยาวราช รวมถึงย่านคลองถมหรือสะพานเหล็ก[13] ซึ่งในยุคนั้นซึ่งยังไม่มีตลาดนัดสวนจตุจักรหรือร้านขายปลาสวยงามมากมายอย่างในปัจจุบัน เมื่อมีการซื้อขายกันแล้ว ผู้ขายจะเทปลาลงในกระป๋องนมข้นหวานที่ทำจากดีบุก โดยไม่ได้ใส่ถุงพลาสติกอย่างในปัจจุบัน แม้แต่การบรรจุออกซิเจนก็ไม่มี ต่อมาเมื่อมีถุงพลาสติก ก็ใช้วิธีการมัดถุงแบบถุงกาแฟแล้วใช้เชือกกล้วยมัด[14]

ปัจจุบัน การเลี้ยงปลาสวยงามนั้นได้รับความนิยมอย่างมาก โดยถือเป็นสัตว์เลี้ยงที่นิยมเลี้ยงกันมากเช่นเดียวกับ สุนัขและแมว โดยมีหลักค้าขายใหญ่ที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ ตลาดซันเดย์ในบริเวณตลาดนัดสวนจตุจักร และอีกที่ คือ ตลาดธนบุรี หรือที่นิยมเรียกกันว่า สนามหลวง 2 ซึ่งเป็นสัดส่วนของตลาดนัดฝั่งธนบุรี จนเกิดเป็นอุตสาหกรรมการเพาะขยายพันธุ์และการค้าขายอีกประเภทหนึ่ง

โดยที่แหล่งเพาะพันธุ์ใหญ่ที่สุดของประเทศ อยู่ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีการจัดตั้งขึ้นเป็นสหกรณ์ โดยการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง [15]

สำหรับอุตสาหกรรมปลาสวยงามในประเทศไทยแล้ว ถือได้ว่าเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และส่งออกไปขายยังต่างประเทศมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง โดยมีมูลค่าการส่งออกปีหนึ่งประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่ปลาที่เพาะพันธุ์ได้และจับจากแหล่งธรรมชาติภายในประเทศมีสัดส่วนค้าขายภายในประเทศเพียงแค่ร้อยละ 1 เท่านั้น[16]

และยังมีการจัดงานนิทรรศการเกี่ยวกับปลาสวยงามขึ้นเป็นประจำ เช่น งานประมงน้อมเกล้าฯ ที่จัดโดย กรมประมง และ งานปลาสวยงามแห่งชาติ ที่จัดโดย บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป ร่วมกับ สมาคมปลาสวยงามแห่งประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งภายในงานจะมีทั้งการแสดงพันธุ์ปลาชนิดต่าง ๆ การประกวด การจัดตกแต่งตู้ปลา การขายปลาสวยงามและอุปกรณ์ รวมทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องปลาและสัตว์ประเภทต่าง ๆ อีกด้วย

ปลาสวยงามในต่างประเทศ

แก้
 
การค้าขายปลาสวยงามที่ Goldfish Market ฮ่องกง

สำหรับกิจการปลาสวยงามในต่างประเทศหรือระดับสากลนั้น จะมีศูนย์กลางอยู่ที่เอเชียอาคเนย์เป็นหลัก[17] เพราะมีภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงและเลี้ยงดู หลายประเทศในภูมิภาคแถบนี้จึงมีฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาสวยงามอยู่มากมาย ทั้ง ประเทศไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์

โดยเฉพาะที่สิงคโปร์มีฟาร์มเพาะพันธุ์ปลามังกรหรือปลาอะโรวาน่าในระดับชั้นนำอยู่มากมาย และจัดได้ว่าเป็นประเทศที่เป็นผู้ส่งออกปลาสวยงามสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก กินส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 20.71 ของโลก ในปี พ.ศ. 2550 มีมูลค่าการส่งออกมากถึง 319.093 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[17]

อีกทั้งเป็นประเทศที่ทุกปีจะมีงานนิทรรศการปลาสวยงามระดับโลก คือ Aquarama ซึ่งจะจัดเป็นประจำในปลายเดือนพฤษภาคมของทุกปี นับได้ว่าเป็นงานที่รวมของผู้ที่สนใจและนักธุรกิจในแวดวงปลาสวยงามทั่วโลกอย่างแท้จริง โดยเริ่มจัดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2532 จนถึงปัจจุบัน[17]

ที่ฮ่องกง มีตลาดค้าปลาสวยงามแห่งใหญ่ อยู่ย่านมงก๊ก ซึ่งเป็นแหล่งช้อปปิ้งที่ขึ้นชื่อ มีชื่อว่า Goldfish Market โดยเดินทางใช้รถไฟใต้ดิน ลงที่สถานีมงก๊ก ออกทางสถานี B3 ตลาดจะอยู่ห่างออกไปประมาณ 500 เมตร ของถนนถ่งไช่ ที่ตลาดแหล่งนี้จะเป็นอาคารพาณิชย์ขนานกันสองฝั่งยาวไปตามทางถนน ซึ่งการขายปลาสวยงามที่นี่ส่วนใหญ่ด้วยเหตุจำกัดเรื่องเนื้อที่ที่มีอยู่ไม่มาก ผู้ค้าจึงมักนำปลาบรรจุใส่ถุงแล้วแขวนไว้โชว์สำหรับลูกค้า ผิดไปจากการค้าขายปลาสวยงามในหลาย ๆ ประเทศ ไม่เว้นแม้กระทั่งปลามังกรที่มีราคาแพง ซึ่งธุรกิจปลาสวยงามของที่นี่จะมีผู้ค้าส่งนำปลาชนิดใหม่ ๆ เข้ามาทดลองตลาดก่อน ก่อนจะกระจายไปสู่ผู้ค้าปลีกรายอื่น ๆ รวมถึงในหลายประเทศด้วย ที่นี่จึงมักมีปลาชนิดใหม่เข้าสู่ตลาดก่อนที่อื่นเสมอ แต่ราคาของอาหารปลาแบบสดนั้น เช่น ไรทะเลมีราคาขายที่สูงมาก [18]

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. หนังสือปลาน้ำจืดไทย โดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์ (กรุงเทพ, พ.ศ. 2544) ISBN 974-475-655-5
  2. ประวัติปลาสวยงาม
  3. "ปลาทอง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-13. สืบค้นเมื่อ 2010-11-15. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  4. "หลักการเลี้ยงปลาสวยงาม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-04. สืบค้นเมื่อ 2010-11-15. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  5. วันเดียวเที่ยวจันทบุรี โดย วุทธิเดช/นณณ์ คอลัมน์ Scoop หน้า 37, นิตยสาร sm@rtpet: ปีที่ 1 ฉบับที่ 7 เดือนมิถุนายน 2545
  6. "เกษตรสเปเชียล : ปลาแบกเงินแบกทอง (ปลาสั้น)". ช่อง 7. 12 August 2014. สืบค้นเมื่อ 6 June 2015.[ลิงก์เสีย]
  7. ที่ปรึกษา ADVISOR'S, นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 4 ฉบับที่ 53: พฤศจิกายน 2014
  8. Albino (มัน เผือก มาก), โดย เวอร์ริเดียน, ชวิน ตันพิทยคุปต์ คอลัมน์ Aqua Knowledge หน้า 70-73. นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 2 ฉบับที่ 16: ตุลาคม 2011
  9. "พันธุ์ของปลากัด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-27. สืบค้นเมื่อ 2011-07-16. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  10. สี่แผ่นดิน โดย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ จำกัด ISBN 9789749906200
  11. [https://web.archive.org/web/20071218093507/http://www.matichonbook.com/mail.php?send=2&id=470426102451 เก็บถาวร 2007-12-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรื่อง : ครบเครื่องธุรกิจ ปลาสวยงาม จากมติชน]
  12. นิตยสาร fishzone vol. 3 no. 24 (พ.ศ. 2545) โดย กิตติพงษ์ จารุธาณินทร์
  13. สะพานเหล็ก STAGE สุดท้าย? จากกรุงเทพธุรกิจ
  14. คอลัมน์ Colorful Cyprinids โดย teenueng ตอน ปฐมบทปลาทอง เมืองสยาม หน้า 62-64 นิตยสาร Aquarium Biz ฉบับที่ 28 ปีที่ 2: ตุลาคม 2012
  15. ตลาดปลาสวยงามในประเทศไทย
  16. รายการกบนอกกะลา ตอน ปลางามตู้กระจก: 13 สิงหาคม พ.ศ. 2553
  17. 17.0 17.1 17.2 คอลัมน์ Aqua Contest โดย น.สพ.คมศิลป์ สหตระกูล ตอน ตะลุยงาน AQUARAMA 2011 ณ ประเทศสิงคโปร์ หน้า 78-81 นิตยสาร Aquarium Biz ฉบับที่ 13 ปีที่ 2: กรกฎาคม 2011
  18. คอลัมน์ Pro Talk โดย Pro Aqua Club ตอน Pro พาเที่ยว เที่ยวกับ Pro หน้า 24-29 นิตยสาร Aquarium Biz ฉบับที่ 4 ปีที่ 1: ตุลาคม 2010

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้