ปลากะพงขาว
ปลากะพงขาว (ชื่อวิทยาศาสตร์: Lates calcarifer) เป็นปลาทะเลชนิดหนึ่งที่สามารถปรับตัวให้อยู่ในน้ำจืดหรือน้ำกร่อยได้ อยู่ในวงศ์ปลากะพงขาว (Latidae) มีรูปร่างลำตัวหนาและด้านข้างแบน หัวโต จะงอยปากค่อนข้างยาวและแหลม นัยน์ตาโต ปากกว้างยืดหดได้ มุมปากอยู่เลยไปทางหลังนัยน์ตา ฟันเป็นฟันเขี้ยวอยู่บนขากรรไกรบนและล่าง ขอบกระดูกแก้มเป็นหนามแหลม ขอบกระดูกกระพุ้งเหงือกแข็งและคม คอดหางมีขนาดใหญ่และแข็งแรง เกล็ดใหญ่มีขอบหยักเป็นหนามเมื่อลูบจะสากมือ ครีบหลังอันแรกมีก้านครีบเป็นหนามแข็ง ปลายแหลม อันที่สองเป็นครีบอ่อนมีขนาดใกล้เคียงกัน ครีบใหญ่ปลายกลมมน พื้นลำตัวสีขาวเงินปนน้ำตาล แนวสันท้องสีขาวเงิน มีขนาดความยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร พบใหญ่สุดถึง 2 เมตร หนักได้ถึง 60 กิโลกรัม โดยปลาที่พบในทะเลจะมีขนาดใหญ่กว่าปลาที่พบในน้ำจืด[3]
ปลากะพงขาว | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอต Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง Chordata |
ชั้น: | ปลาที่มีก้านครีบ Actinopterygii |
อันดับ: | อันดับปลากะพง Perciformes |
วงศ์: | วงศ์ปลากะพงขาว Latidae |
สกุล: | ปลากะพงขาว (สกุล) Lates (Bloch, 1790) |
สปีชีส์: | Lates calcarifer |
ชื่อทวินาม | |
Lates calcarifer (Bloch, 1790) | |
ชื่อพ้อง[2] | |
|
พบกระจายทั่วไปในชายฝั่งทะเลของทวีปเอเชียไปจนถึงตอนเหนือของออสเตรเลีย โดยเป็นปลาที่อพยพไปมาระหว่างทะเลกับน้ำจืด โดยพ่อแม่ปลาจะว่ายจากชายฝั่งเข้ามาวางไข่ในป่าชายเลนหรือปากแม่น้ำ จนกระทั่งลูกปลาฟักและเติบโตแข็งแรงดีแล้ว จึงจะว่ายกลับสู่ทะเล บางครั้งพบอยู่ไกลจากทะเลนับเป็นร้อย ๆ กิโลเมตร เช่นที่ แม่น้ำโขง ก็มี[4]เป็นปลากินเนื้อ อาหารได้แก่ สัตว์น้ำ, ปลา, กุ้ง ที่มีขนาดเล็กกว่า
เป็นปลาเศรษฐกิจที่กรมประมงส่งเสริมให้เลี้ยง เกษตรกรนิยมผลิตลูกปลาชนิดนี้ส่งไปจำหน่ายยังประเทศมาเลเซียและไต้หวัน เนื้อมีรสชาติดี นำมาประกอบอาหารได้หลายประเภท เช่น แปะซะ, นึ่งบ๊วย เป็นต้น และนิยมตกเป็นเกมกีฬา อีกทั้งยังเลี้ยงเป็นปลาสวยงามได้อีกด้วย
ปลากะพงขาวยังมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ปลากะพงน้ำจืด" ขณะที่ชื่อท้องถิ่นในลุ่มแม่น้ำบางปะกงเรียก "ปลาโจ้โล้"[5]
การดํารงชีพ และการสืบพันธุ์
แก้ปลากะพงขาวจัดเป็นปลากินเนื้อที่กินสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กกว่าทุกชนิดเป็นอาหาร เช่น ปลาขนาดเล็ก กุ้ง และปูและเป็นปลาที่กินพวกเดียวกันที่มีขนาดเล็กกว่าเป็นอาหารเช่นกัน แต่สามารถนํามาเลี้ยงให้กินอาหารที่ไม่มีชีวิตได้เช่น อาหารเม็ดสําเร็จรูป รวมถึงเศษปลา หรือซากสัตว์ ทั้งนี้ปลากะพงขาวในธรรมชาติมักอาศัยและหาอาหารเป็นฝูง ซึ่งปลาที่มีขนาดเล็กจะมีนิสัยดุกว่าปลาขนาดใหญ่แตจะหายไปเองเมื่อเติบโตขึ้น
ฤดูผสมพันธุ์ของปลากะพงขาวจะเริ่มในช่วงกลางฤดูร้อน โดยพ่อแม่ปลาที่มีไข่และน้ำเชื้อพร้อมผสมพันธุ์จะว่ายจากแหล่งน้ำจืดไปหาแหล่งน้ำกร่อยบริเวณปากแม่น้ำหรือเขตติดต่อกับทะเลที่มีความเค็มปานกลาง
ในภาคใต้ฝั่งตะวันตก ปลากะพงขาวจะวางไข่ก่อนฤดูฝนเล็กน้อย ในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน และในทางชายทะเลฝั่งอ่าวไทย ปลากะพงขาวจะวางไข่ในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม เพราะอิทธิพลของฤดูมรสุมที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
อ้างอิง
แก้- ↑ Pal, M.; Morgan, D.L. (2019). "Lates calcarifer". IUCN Red List of Threatened Species. 2019: e.T166627A1139469. doi:10.2305/IUCN.UK.2019-3.RLTS.T166627A1139469.en. สืบค้นเมื่อ 19 November 2021.
- ↑ Froese, Rainer and Pauly, Daniel, eds. (2019). "Lates calcarifer" in FishBase. December 2019 version.
- ↑ หนังสือสารานุกรมปลาไทย โดย สุรศักดิ์ วงศ์กิตติเวชสกุล. กรุงเทพ. (พ.ศ. 2540). ISBN 9789748990026.
- ↑ บทความเรื่อง พันธุ์ปลาหลังเปิดเขื่อนปากมูล งานวิจัยของคนหาปลา สารคดี, สิงหาคม พ.ศ. 2545 โดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์
- ↑ รายการกิน อยู่ คือ ทางทีวีไทย: พุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2554