ปลาหางนกยูง
ปลาหางนกยูง | |
---|---|
ปลาหางนกยูงตัวเมีย (ล่าง) และตัวผู้ (บน) ในแบบสายพันธุ์ดั้งเดิมในธรรมชาติ ที่แหล่งน้ำในตรินิแดดและโตเบโก | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Cyprinodontiformes |
วงศ์: | Poeciliidae |
สกุล: | Poecilia |
สปีชีส์: | P. reticulata |
ชื่อทวินาม | |
Poecilia reticulata Peters, 1859 | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ | |
ชื่อพ้อง | |
|
ปลาหางนกยูง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Poecilia reticulata) เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาสอด (Poeciliidae)
ลักษณะและความเป็นมา
แก้ปลาหางนกยูงเป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดเล็กมาก มีความยาวไม่เกิน 5 เซนติเมตร มีจุดเด่นคือครีบหางที่มีขนาดใหญ่ ตัวผู้และตัวเมียมีความแตกต่างกันจนเห็นได้ชัด กล่าวคือ ตัวผู้มีขนาดลำตัวที่เล็กกว่ามาก แต่มีสีสันและครีบที่สวยงามกว่า ขณะที่ตัวเมียตัวใหญ่กว่า ท้องอูม สีสันและครีบเครื่องเล็กกว่า และยังมีปลาหางนกยูงที่มี 2 เพศในตัวเดียวกัน ทำให้สามารถสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศได้
มีการกระจายพันธุ์บริเวณทวีปอเมริกากลางจนถึงอเมริกาใต้ อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดจนถึงน้ำกร่อยที่มีกระแสน้ำไหลเอื่อย ๆ เป็นปลาอาศัยอยู่รวมเป็นฝูง หากินบริเวณผิวน้ำ โดยกินทั้งพืชและสัตว์น้ำรวมถึงแมลงหรือตัวอ่อนแมลงขนาดเล็กด้วย
ปลาหางนกยูงเป็นปลาที่เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะที่เป็นปลาสวยงาม ในประเทศไทยได้มีการนำเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยนิยมเลี้ยงกันในอ่างบัว เพราะเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายมาก มีสีสันสวยงาม สามารถเลี้ยงรวมกันเป็นฝูงได้โดยเริ่มต้นจากตัวเดียว แต่อาจมีปัญหาในการมองเห็นและเลี้ยงดู ทำให้ผู้คนไม่นิยมซื้อมาตัวเดียว จากการเป็นปลาผิวน้ำและเป็นปลาขนาดเล็ก ทำให้การเลี้ยงปลาหางนกยูงในอ่างบัว ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องให้ออกซิเจนเหมือนปลาชนิดอื่น ๆ อีกทั้งการแพร่ขยายพันธุ์ก็กระทำได้ง่ายมาก เนื่องจากเป็นปลาที่ปฏิสนธิภายในตัว และออกลูกเป็นตัว โดยปลาตัวเมียเมื่อได้รับการผสมแล้วจะสามารถให้ลูกไปได้ราว 2-3 ครอก ซึ่งการขยายพันธุ์ก็เพียงแค่จับปลาตัวผู้และตัวเมียมาเลี้ยงไว้รวมกันก็สามารถให้ลูกได้แล้ว โดยปลาที่มีความพร้อมที่จะขยายพันธุ์จะมีอายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป
ปัจจุบัน ปลาหางนกยูงได้ถูกพัฒนาสายพันธุ์ให้มีสีสันและลวดลายรวมทั้งขนาดลำตัวให้แตกต่าง สวยงามไปจากพันธุ์ดั้งเดิมในธรรมชาติเยอะมาก มีหลายสายพันธุ์ เช่น "ทักซิโด้", "กร๊าซ", "คอบร้า", "โมเสก" , "หางดาบ", "นีออน,"หูช้าง"เป็นต้น
จากความเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายขยายพันธุ์ง่าย ทำให้กระทรวงสาธารณสุขได้รณรงค์ให้คนไทยเลี้ยงปลาหางนกยูงไว้ในภาชนะที่ใส่น้ำในบ้านเพื่อกินลูกน้ำและยุงเพื่อเป็นการป้องกันโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากยุง และในปัจจุบัน ปลาหางนกยูงได้กลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นชนิดหนึ่งในประเทศไทยไปแล้ว มีการพบในแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไปปะปนกับปลาขนาดเล็กพื้นเมืองทั้งหลาย ซึ่งปลาหางนกยูงส่วนใหญ่ในธรรมชาติที่พบนั้น จะมีลำตัวใส ไม่มีลวดลายทั้งนี้เนื่องจากเป็นผลจากการผสมภายในสายเลือดเดียวกัน
นอกจากนี้แล้ว ในทางวิชาการ จากการทดลองของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ ประเทศอังกฤษ ที่ได้ออกแบบสถานการณ์กระตุ้นระดับความเครียดของปลาหางนกยูงจากธรรมชาติในตรินิแดดและโตเบโก เพื่อสังเกตพฤติกรรมของปลาแต่ละตัว พบว่า ปลาหางนกยูงมีพฤติกรรมที่หลากหลายในการรับมือกับความเครียด เช่น บางตัวพยายามจะที่จะหลบหนีออกมา, บางตัวก็สังเกตอย่างระมัดระวัง สรุปได้ว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของปลาหางนกยูงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เช่น ทุกตัวจะเคร่งเครียดขึ้นในสถานการณ์ที่เครียดมากขึ้น
รูปภาพ
แก้-
คู่ปลาหางนกยูงตัวผู้และตัวเมียสายพันธุ์คอบร้า
-
สายพันธุ์หางดาบตัวผู้
-
สายพันธุ์โมเสกตัวผู้
-
สายพันธุ์หนังงูตัวเมีย
-
สายพันธ์ฟูลเรด ผู้ (ขวา) เมีย(ซ้าย)
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- การเพาะเลี้ยงปลาหางนกยูง เก็บถาวร 2009-02-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- กรมประมงยื่นมือ สกัดไข้เลือดออกแจกพันธุ์ปลากินยุง ป้องกันเชื้อระบาด เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- หน้า 7 วิทยาการ-เกษตร, ลักษณะเฉพาะตัวที่ซ่อนลึกของปลาหางนกยูง. "โลกโศภิณ". ไทยรัฐปีที่ 68 ฉบับที่ 21807: วันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 11 ปีระกา
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Poecilia reticulata ที่วิกิสปีชีส์