เขตคันนายาว
คันนายาว เป็นหนึ่งในห้าสิบเขตของกรุงเทพมหานคร สภาพโดยทั่วไปเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางและหนาแน่นน้อย โดยมีย่านการค้าหนาแน่นทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของพื้นที่
เขตคันนายาว | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Khet Khan Na Yao |
บรรยากาศภายในสยามอะเมซิ่งพาร์ค | |
คำขวัญ: การเกษตรมากมี ของดีชุมชน เที่ยวยลสวนสยาม สนามกอล์ฟเล่นกีฬา ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ขับสบายใจถนนวงแหวน | |
แผนที่กรุงเทพมหานคร เน้นเขตคันนายาว | |
ประเทศ | ไทย |
เขตปกครองพิเศษ | กรุงเทพมหานคร |
พื้นที่[1] | |
• ทั้งหมด | 25.980 ตร.กม. (10.031 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2566) | |
• ทั้งหมด | 95,201[2] คน |
• ความหนาแน่น | 3,664.40 คน/ตร.กม. (9,490.8 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 10230 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 1043 |
ที่อยู่ สำนักงาน | เลขที่ 9 ซอย 01 กาญจนาภิเษก 11/5 ถนนกาญจนาภิเษก แขวงคันนายาว เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร 10230 |
เว็บไซต์ | www |
ที่ตั้งและอาณาเขต
แก้เขตคันนายาวตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งพระนคร) มีอาณาเขตติดต่อกับเขตต่าง ๆ เรียงตามเข็มนาฬิกา ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับเขตบางเขนและเขตคลองสามวา มีคลองตาเร่ง คลองลำชะล่า คลองจรเข้บัว (หกขุด) คลองคู้ชุมเห็ด และคลองคู้บอนเป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับเขตคลองสามวาและเขตมีนบุรี มีคลองคู้บอนและคลองบางชันเป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศใต้ ติดต่อกับเขตสะพานสูง มีคลองแสนแสบเป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตบึงกุ่ม มีคลองกุ่ม ถนนเสรีไทยฟากใต้ คลองระหัส คลองลำปลาดุก คลองหนองแขม คลองหลวงวิจิตร คลองบางชวดด้วน และถนนรามอินทราฟากใต้เป็นเส้นแบ่งเขต
ที่มาของชื่อเขต
แก้ประมาณ พ.ศ. 2386 (รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้ยกทัพไปปราบกบฏที่เมืองนครจำปาศักดิ์และเมืองหลวงพระบางจนได้รับชัยชนะ และได้กวาดต้อนครอบครัวจากหัวเมืองรายทางเข้ามายังกรุงเทพมหานคร โดยให้ตั้งถิ่นฐานอยู่แถบคลองกุ่ม ต่อมามีผู้คนอพยพเข้าไปอยู่อาศัยในย่านนี้และย่านใกล้เคียงมากขึ้น พื้นที่บางส่วนกลายเป็นที่ทำนาผืนใหญ่[3] ในการทำนาก็จะมีการสร้างแนวดินให้พูนสูงขึ้นจากท้องนาเพื่อกั้นที่นาเป็นส่วน ๆ หรือเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับปลูกข้าว ซึ่งก็คือ "คันนา" มีที่นาอยู่ผืนหนึ่งใกล้กับคลองแสนแสบ กินอาณาเขตตั้งแต่ท้ายหมู่บ้านสุเหร่าแดง (ปัจจุบันคือบริเวณถนนเสรีไทย)[4] ไปสิ้นสุดตรงบริเวณที่เรียกว่า "โรงแดง" เพราะเป็นที่ตั้งของบ้านหลังหนึ่งที่มุงหลังคาสังกะสีเป็นสนิม มองเห็นเป็นสีแดงแต่ไกล (ปัจจุบันคือบริเวณถนนรามอินทรา) เรียกได้ว่าเป็นนาที่มีคันยาวมากที่สุด จึงสันนิษฐานว่าเป็นที่มาของชื่อ "คันนายาว"[5][6]
ประวัติ
แก้ตำบลคันนายาว ได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นท้องที่การปกครองท้องที่หนึ่งของอำเภอบางกะปิ จังหวัดพระนคร โดยใน พ.ศ. 2506 กระทรวงมหาดไทยได้ขยายเขตสุขาภิบาลบางกะปิให้ครอบคลุมถึงตำบลคันนายาวด้วย[7] จนกระทั่งใน พ.ศ. 2514 จังหวัดพระนครถูกรวมเข้ากับจังหวัดธนบุรี เปลี่ยนฐานะเป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี[8] และในปีถัดมา (พ.ศ. 2515) จึงเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นกรุงเทพมหานคร[9] ซึ่งได้เปลี่ยนคำเรียกเขตการปกครองใหม่จากอำเภอและตำบลเป็นเขตและแขวงตามลำดับ ตำบลคันนายาวจึงได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็น แขวงคันนายาว อยู่ในการปกครองของเขตบางกะปิ
ด้วยเหตุที่เขตบางกะปิมีเนื้อที่กว้างขวางมากและมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ขณะที่ท้องที่บางแห่งอยู่ไกลจากสำนักงานเขต ใน พ.ศ. 2532 กระทรวงมหาดไทยจึงประกาศเปลี่ยนแปลงพื้นที่การปกครองใหม่เพื่อความสะดวกในการบริหารราชการ โดยจัดตั้งเขตบึงกุ่ม ประกอบด้วยแขวงคลองกุ่ม แขวงคันนายาว และแขวงสะพานสูงแยกจากเขตบางกะปิ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน เป็นต้นไป[10]
อย่างไรก็ตาม หลังจากแบ่งเขตใหม่แล้ว เขตบึงกุ่มยังคงมีท้องที่กว้างขวางและมีประชากรหนาแน่น ประกอบกับความเจริญทางด้านสาธารณูปโภคได้หลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2540 กระทรวงมหาดไทยจึงมีประกาศเปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตการปกครองใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยแยกแขวงคันนายาว รวมกับหมู่ที่ 3, 11 (บางส่วน) ของแขวงคลองกุ่ม และหมู่ที่ 1, 2, 9, 10 (บางส่วน) ของแขวงจรเข้บัว เขตลาดพร้าว จัดตั้งเป็น เขตคันนายาว[11] และในวันที่ 7 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน กรุงเทพมหานครได้ประกาศตั้งแขวงคันนายาวเต็มพื้นที่เขตคันนายาวอย่างเป็นทางการ เพื่อความชัดเจนและประโยชน์ในด้านการปกครอง การบริหาร และการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ประกาศทั้ง 2 ฉบับเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันเดียวกันคือวันที่ 21 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน[12][13] ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่สำนักงานเขตคันนายาวได้เปิดให้บริการเป็นครั้งแรกพร้อมกับสำนักงานเขตแยกใหม่ทางฝั่งพระนครอีก 5 แห่ง ได้แก่ เขตสายไหม[12] เขตสะพานสูง[12] เขตหลักสี่[14] เขตวังทองหลาง[15] และเขตคลองสามวา[16] โดยใช้พื้นที่ชั้นล่างของศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 7 แขวงคันนายาวเป็นที่ทำการ ต่อมาได้ย้ายมาตั้งสำนักงานเขตถาวรริมคลองครุ ในซอย 01 กาญจนาภิเษก 11/5 เมื่อช่วงสิ้นปี พ.ศ. 2552[3]
การแบ่งเขตการปกครอง
แก้ในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ลงนามในประกาศเปลี่ยนแปลงพื้นที่แขวงคันนายาว และตั้งแขวงรามอินทรา เขตคันนายาว[17] โดยมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 21 กันยายน ปีเดียวกัน ส่งผลให้ปัจจุบัน เขตคันนายาวแบ่งหน่วยการปกครองย่อยออกเป็น 2 แขวง โดยใช้ถนนกาญจนาภิเษกเป็นเส้นแบ่งเขต ได้แก่
หมาย เลข |
อักษรไทย | อักษรโรมัน | พื้นที่ (ตร.กม.) |
จำนวนประชากร (ธันวาคม 2566) |
ความหนาแน่นประชากร (ธันวาคม 2566) |
แผนที่ |
---|---|---|---|---|---|---|
1. |
คันนายาว | Khan Na Yao | 12.917 |
47,151 |
3,650.31 |
|
2. |
รามอินทรา | Ram Inthra | 13.063 |
48,050 |
3,678.33
| |
ทั้งหมด | 25.980 |
95,201 |
3,664.40
|
ประชากร
แก้สถิติประชากรตามทะเบียนราษฎร เขตคันนายาว[18] | ||
---|---|---|
ปี (พ.ศ.) | ประชากร | การเพิ่มและการลด |
2540 | 71,377 | แบ่งเขต |
2541 | 74,979 | +3,602 |
2542 | 76,535 | +1,556 |
2543 | 77,610 | +1,075 |
2544 | 79,570 | +1,960 |
2545 | 81,048 | +1,478 |
2546 | 82,573 | +1,525 |
2547 | 83,480 | +907 |
2548 | 84,080 | +600 |
2549 | 84,562 | +482 |
2550 | 85,027 | +465 |
2551 | 85,586 | +559 |
2552 | 85,912 | +326 |
2553 | 86,340 | +428 |
2554 | 87,169 | +829 |
2555 | 88,471 | +1,302 |
2556 | 90,437 | +1,966 |
2557 | 92,094 | +1,657 |
2558 | 94,242 | +2,148 |
2559 | 95,369 | +1,127 |
2560 | 96,751 | +1,382 |
2561 | 97,187 | +436 |
2562 | 97,095 | -92 |
2563 | 96,330 | -765 |
2564 | 95,636 | -694 |
2565 | 95,523 | -113 |
2566 | 95,201 | -322 |
การคมนาคม
แก้ในพื้นที่เขตคันนายาวมีทางสายหลัก ได้แก่
- ถนนกาญจนาภิเษก
- ถนนรามอินทรา
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 350 (รัชดาภิเษก–รามอินทรา)
- ถนนประเสริฐมนูกิจ (เกษตร–นวมินทร์–กาญจนาภิเษก)
- ถนนนวมินทร์
- ถนนเสรีไทย
- ถนนสวนสยาม
- รถไฟฟ้าสายสีชมพู (สถานีรามอินทรา กม. 6, สถานีคู้บอน, สถานีรามอินทรา กม. 9, สถานีวงแหวนรามอินทรา, สถานีนพรัตน์)
ส่วนทางสายรองและทางลัด ได้แก่
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3901 (คู่ขนานกาญจนาภิเษกด้านนอก)
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3902 (คู่ขนานกาญจนาภิเษกด้านใน)
- ถนนคู้บอน
- ถนนปัญญาอินทรา
- ซอยรามอินทรา 44 (หมู่บ้านปัฐวิกรณ์ 2)
- ซอยรามอินทรา 62 (ยังสว่าง)
- ซอยรามอินทรา 77 (มิตรทหาร)
- ซอยคู้บอน 6 (คู้บอน 3)
- ซอยคู้บอน 27 (สยามธรณี)
- ซอยนวมินทร์ 163 (อมรวิวัฒน์)
ทางน้ำมีคลองแสนแสบและคลองบางชัน ใช้สัญจร
สถานที่สำคัญ
แก้- สวนสยาม
- นิคมอุตสาหกรรมบางชัน (ส่วนเขตคันนายาว)
- โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี
- วัดราษฎร์ศรัทธาธรรม (วัดบางชัน)
- วัดคลองครุ
- เทคโนโลยีดุสิต รามอินทรา
- โรงเรียนคันนายาว (ธารินเจริญสงเคราะห์)
- โรงเรียนจินดาบำรุง
- วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นพรัตน์วชิระ
- แฟชั่นไอส์แลนด์
- สนามกอล์ฟนวธานี
- สนามกอล์ฟ ปัญญาอินทรากอล์ฟคลับ
อ้างอิงและเชิงอรรถ
แก้- ↑ ศูนย์ข้อมูลกรุงเทพมหานคร. สถิติจำนวนประชากรและบ้านในกรุงเทพมหานคร จำแนกตามรายแขวงและเขต ณ เดือน ธันวาคม 2550. เก็บถาวร 2009-02-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้น 24 ตุลาคม 2551.
- ↑ สำนักบริหารการทะเบียน. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "สถิติประชากรและบ้าน - จำนวนประชากรแยกรายอายุ." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://stat.dopa.go.th/stat/statnew/upstat_age.php เก็บถาวร 2020-06-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้น 14 กุมภาพันธ์ 2567.
- ↑ 3.0 3.1 สำนักงานเขตคันนายาว. "ประวัติความเป็นมาของเขตคันนายาว." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://203.155.220.239/subsite/index.php?strOrgID=001004&strSection=aboutus&intContentID=48 เก็บถาวร 2011-05-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [ม.ป.ป.]. สืบค้น 7 มีนาคม 2555.
- ↑ สุเหร่าแดงมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "มัสยิดยัมอียะตุ้นมุสลีมีน" ตั้งอยู่ในซอยเสรีไทย 46 แขวงคันนายาว
- ↑ ฝ่ายปกครอง. สำนักงานเขตคันนายาว. "สถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://office.bangkok.go.th/khannayao/attraction.html เก็บถาวร 2012-10-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 2554. สืบค้น 18 เมษายน 2555.
- ↑ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร. "พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตคันนายาว." พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://203.155.220.217/localmuseum/kannayao.htm เก็บถาวร 2014-01-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [ม.ป.ป.]. สืบค้น 30 มีนาคม 2555.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลบางกะปิ อำเภอบางกะปิ จังหวัดพระนคร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 80 (114 ง): 2628–2629. 26 พฤศจิกายน 2506.
- ↑ "ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๔" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 88 (พิเศษ 144 ก): 816–824. 21 ธันวาคม 2514. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-04-25. สืบค้นเมื่อ 2008-11-21.
- ↑ "ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๕" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 89 (พิเศษ 190 ก): 187–201. 13 ธันวาคม 2515.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตบางกะปิ และตั้งเขตลาดพร้าวและเขตบึงกุ่ม" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 106 (พิเศษ 155 ง): 18. 16 กันยายน 2532.
- ↑ ผู้อำนวยการเขตบึงกุ่มชี้แจงการตั้งเขตใหม่. สืบค้น 25 ตุลาคม 2551.
- ↑ 12.0 12.1 12.2 "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตบางเขน เขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่ม เขตประเวศ และตั้งเขตสายไหม เขตคันนายาว เขตสะพานสูง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 114 (พิเศษ 108 ง): 6–19. 18 พฤศจิกายน 2540. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-07. สืบค้นเมื่อ 2008-11-21.
- ↑ "ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง เปลี่ยนแปลงพื้นที่แขวงคันนายาว เขตคันนายาว" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 114 (พิเศษ 121 ง): 17–19. 24 ธันวาคม 2540.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตดอนเมืองและตั้งเขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 114 (พิเศษ 108 ง): 2–5. 18 พฤศจิกายน 2540.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตบางกะปิ และตั้งเขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 114 (พิเศษ 108 ง): 20–24. 18 พฤศจิกายน 2540.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตมีนบุรี และตั้งเขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 114 (พิเศษ 108 ง): 25–30. 18 พฤศจิกายน 2540.
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2552/E/137/71.PDF
- ↑ สำนักบริหารการทะเบียน. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "จำนวนประชากรและบ้าน." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://stat.dopa.go.th/xstat/popyear.html 2556. สืบค้น 3 เมษายน 2556.