อาหารมาเลเซีย
อาหารมาเลเซีย เป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากหลายวัฒนธรรมทั่วโลก อิทธิพลหลักมาจากชาวมลายู ชาวจีน และชาวอินเดีย นอกจากนั้นยังได้รับอิทธิพลจากชาวเปอรานากันและยูเรเซีย ชาวโอรังอัซลี และชนเผ่าต่าง ๆ ในซาราวักและซาบะฮ์ อาหารมาเลเซียจึงมีความหลากหลายมากโดยรวมทั้งการปรุงอาหารของมลายู จีน อินเดีย อินโดนีเซียโดยเฉพาะในเกาะบอร์เนียว และได้รับอิทธิพลในส่วนน้อยมาจากไทย โปรตุเกส อังกฤษ อาหรับ ทำให้อาหารมาเลเซียมีความหลากหลายทั้งรสชาติ วิธีการ และมีความซับซ้อนมาก
อาหารหลัก
แก้ข้าว
แก้ข้าวเป็นอาหารหลักที่สำคัญในมาเลเซีย อาหารจากข้าวที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือ นาซิเลอมัก ซึ่งเป็นข้าวที่หุงด้วยกะทิ กินกับปลา ถั่วลิสง แตงกวาหั่น ไข่ต้มและซัมบัล นาซีเลอมะก์รับประทานกับอาหารได้หลายชนิดรวมทั้งเรินดัง นาซีเลอมะก์ถือเป็นอาหารประจำชาติของมาเลเซีย อาหารมาเลเซียที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารอินเดียจะใช้ซัมบัลที่มีรสค่อนข้างเผ็ด ส่วนซัมบัลที่ใส่ในนาซีเลอมะก์จะมีรสหวานเล็กน้อย นาซีเลอมะก์นั้นมักจะสับสนกับนาซีดากังที่เป็นที่นิยมทางชายฝั่งตะวันออกของมาเลเซียในบริเวณกลันตันและตรังกานู
ก๋วยเตี๋ยว
แก้ก๋วยเตี๋ยวพบมากในอาหารของชาวมลายูเชื้อสายจีน มีหลายประเภท เช่น บีหุน (米粉, ภาษาจีนฮกเกี้ยน: bí-hún, ภาษามลายู: bihun) โฮฟุน (河粉, ภาษาจีนกวางตุ้ง: ho4 fan2) หมี่ (麵 หรือ 面, ภาษาจีนฮกเกี้ยน: mī, ภาษามลายู: mi) มี่สั้ว (麵線 or 面线, ภาษาจีนฮกเกี้ยน: mī-sòaⁿ) ยีมีน (伊麵 หรือ 伊面, ภาษาจีนกวางตุ้ง: ji1 min6) ลังกาหรือวุ้นเส้น (冬粉, ภาษาจีนฮกเกี้ยน: tang-hún, ภาษาจีนกวางตุ้ง: dung1 fan2)
ขนมปัง
แก้ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากอาหารอินเดีย เช่น โรตีจาไน โดไซ (தோசை) อิดลี (இட்லி) ปูรี (பூரி) รวมทั้งขนมปังแบบตะวันตก
เนื้อสัตว์
แก้สัตว์ปีกดำเนินการด้วยมาตรฐานฮาลาล เนื้อวัวไม่พบในอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารอินเดีย เนื่องจากอิทธิพลของศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ แต่เป็นที่นิยมในอาหารมุสลิมใช้ทำต้ม แกง หรืออบ และเนื้อวัวนี้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานฮาลาล เนื้อหมูจะบริโภคในกลุ่มที่ไม่ใช่มุสลิม ได้แก่ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน และชนพื้นเมืองเช่น ชาวอีบัน ชาวกาดาซัน ชาวโอรังอัซลี เนื้อแพะมีความสำคัญในอาหารมลายูมากกว่าเนื้อแกะ เป็นที่นิยมในอาหารมลายูที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารอินเดีย
อาหารทะเล
แก้ในมาเลเซียรับประทานอาหารอินเดียหลายชนิด ทั้งกุ้ง ปู หมึก ปลาดุก หอย ปลิงทะเล ชนทุกเชื้อชาตินิยมรับประทานอาหารทะเล
ปลา
แก้ในมาเลเซียนิยมรับประทานปลาที่จับได้ในท้องถิ่น ส่วนปลานำเข้าเป็นปลาคอด ปลาแซลมอน ซึ่งจะอยู่ในรูปปลาแช่แข็ง
ผัก
แก้ผักสามารถปลูกในมาเลเซียได้ตลอดทั้งปี แต่ราคาอาจแปรผันไปตามปริมาณการผลิต
ผลไม้
แก้ในมาเลเซียมีผลไม้ตลอดทั้งปี ผลไม้เขตร้อนส่วนใหญ่ปลูกได้ในมาเลเซียหรือนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ผลไม้ที่มีชื่อเสียงได้แก่ เงาะ ทุเรียน มังคุด ลิ้นจี่ มะม่วง ลำไย ฝรั่ง ลิ้นจี่
ชนิดอาหาร
แก้อาหารมาเลเซียมีความคล้ายคลึงกับอาหารอินโดนีเซียโดยเฉพาะในบริเวณเกาะสุมาตรา อาหารมาเลเซียได้รับอิทธิพลจากอาหารจีน อาหารอินเดีย อาหารไทย และประเทศอื่นๆ อาหารมาเลเซียหลายชนิดใส่เริมปะห์ ที่เป็นส่วนผสมของเครื่องเทศคล้ายกับผงมะสะหล่าของอินเดีย
อาหารมลายู
แก้- กังกุง เบอลาจัน เป็นการนำผักบุ้งมาผัดกับซอสที่มีกะปิและพริก ใช้ผักอื่นได้เช่น สะตอ ถั่วฝักยาว
- ขนมหรือกุยห์ หรือก้วยในภาษาจีน เป็น เบเกอรีและขนมหวานที่กินเล่นในตอนเช้าหรือระหว่างวัน และเป็นส่วนสำคัญในงานฉลองต่างๆ พบในชุมชนของชาวมลายูและชาวเปอรานากัน ตัวอย่างขนมในกลุ่มนี้ได้แก่
- อนเด อนเด เป็นขนมก้อนกลมขนาดเล็ก ทำจากแป้งข้าวเหนียว ใส่ใบเตยน้ำตาลมะพร้าว คลุกกับมะพร้าวขูด
- กุยห์ ตาลัม คือพุดดิ้งมะพร้าวนึ่งเป็นชั้น ทำจากแป้งข้าวเจ้า สาคู และกะทิ นำไปนึ่งให้สุก ใส่ใบเตยและแต่งสีชั้นหนึ่ง ชั้นที่เป็นสีขาวของมะพร้าวอยู่ด้านบน ด้านล่างเป็นสีเขียว มีรสหวาน
- ปูลุต อินตี เป็นพุดดิ้งข้าวชนิดหนึ่ง ทำจากแป้งข้าวเหนียวและกะทิ ห่อด้วยใบตองเป็นทรงปิรามิด ด้านบนโรยมะพร้าวขูดและน้ำตาล
- ขนมชั้นหรือกุยห์ ลาปิส เป็นขนมนึ่งชนิดหวาน ทำจากแป้งข้าวเจ้า กะทิ น้ำตาลและใส่สีต่างๆในแต่ละชั้น
- เกอโรปก เลอกอร์ เป็นอาหารเฉพาะของรัฐตรังกานู และรัฐอื่นๆตามแนวชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรมลายู เป็นลูกชิ้นที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าและปลา นำไปหั่นแล้วทอด กินกับซอสรสเผ็ด
- ซัมบัล โซตง นำหมึกมาปรุงกับซอสที่ทำด้วยซัมบัล ปรุงด้วยพริก หัวหอม กระเทียม มะเขือเทศ มะขามเปียก และกะทิ
- ซายุร โลเดะห์ เป็นอาหารที่มาจากอินโดนีเซีย เป็นการนำผักไปต้มในน้ำกะทิมีรสเผ็ดอ่อนๆ
- นาซิ เกอราบู หรือข้าวยำ เป็นข้าวที่หุงด้วยอัญชันให้มีสีออกน้ำเงิน มีต้นกำเนิดในรัฐกลันตัน
- นาซิ โกเร็ง คือข้าวผัด ชนิดที่พบมากคือนาซิ โกเร็ง กัมปุง นิยมใส่ปลา
- นาซิดาฆัง คล้ายนาซีเลอมะก์ แต่เป็นรูปแบบเฉพาะของชายฝั่งตะวันออกของมาเลเซีย พบในรัฐกลันตันและตรังกานู
- นาซิ เบอลวก หรือนาซิ จัมปุร เป็นข้าวกินกับอาหารหลายอย่าง
- นาซิปาปริก เป็นอาหารที่มีต้นกำเนิดจากผัดพริกทางภาคใต้ของไทย กินกับไก่
- นาซิมีญัก เป็นข้าวที่มีหลายสี นิยมกินกับเรินดัง มีน้ำมันมาก
นาซิเลอมัก เป็นข้าวหุงกับกะทิ
- ปูลุต เป็นอาหารที่ทำจากข้าวเหนียวใช้ในงานเทศกาลต่างๆ
- เกอตูปัต มีต้นกำเนิดจากอินโดนีเซีย เป็นข้าวเหนียวห่อด้วยใบมะพร้าวแล้วนำไปต้ม นิยมรับประทานกับเรินดัง สะเต๊ะ หรือกาโดกาโด นิยมใช้เลี้ยงในเทศกาลฮารีรายอ
- เรินดัง เป็นแกงเนื้อรสเผ็ดมาจากมินังกาเบาในอินโดนีเซีย ชาวมลายูนิยมใช้ในงานเฉลิมฉลองต่างๆ
- โรตี ยาลา มาจากคำในภาษามลายู 2 คำคือโรตีหมายถึงขนมปังและยาลาหมายถึงตาข่าย ซึ่งเป็นการทำโรตีให้มีลักษณะคล้ายแหจับปลานิยมกินกับแกงหรือกินเป็นของหวานกับเซอราวาที่ทำจากกะทิ น้ำตาลและใบเตย
- อาปัม บาลิก เป็นขนมปังคล้ายพัพฟ์ ทำด้วยแป้ง ใส่ผงฟู โรยหน้าด้วยน้ำตาล ถั่วลิสงบด ครีมข้าวโพดและมะพร้าวขูด
- อายัม โกเร็ง กูญิต เป็นไก่ทอดปรุงรสด้วยมะขามและเครื่องปรุงอื่น
- อายัม เปิรจิก เป็นไก่ย่างแบบพื้นเมืองราดด้วยแกงใส่กะทิรสเผ็ด
- อีกัน บากัร ปลาย่างใส่มะขาม พริกและซอสรสเผ็ด
- อีกัน ปารี ปลากระเบนย่าง
- อีกัน อาซัม เปอดาส แกงปลารสเปรี้ยวนิยมใช้ปลาแมกเคอเรล ใส่มะขาม พริก มะเขือเทศ กระเจี๊ยบเขียว และผักแพว
- ซุบกัมบิง เป็นซุปเนื้อแพะ ใส่ผักและเครื่องเทศที่มีกลิ่นหอม ใส่หอมเจียว ผักชี
- เติมโปยก เป็นอาหารยอดนิยมของชาวมลายู ทำจากทุเรียน นำไปหมัก เก็บในหม้อ กินกับพริกและอาหารอื่นๆ
อาหารที่ได้รับอิทธิพลจากชวา
แก้มีอาหารในรัฐยะโฮร์หลายชนิดที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารชวาหรือเลียนแบบอาหารชวา รวมทั้งลนตง นาซิอัมเบิง และบนตรตหรือเบิรกัต ซึ่งนิยมเสิร์ฟในงานแต่งงาน ตัวอย่างอาหารในกลุ่มนี้
- โซโต ซุปกินกับเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ทำจากข้าวหรือเกอตูปัต
- หมี่โซโต เส้นหมีกินกับน้ำซุป
- หมี่เรอบุส เป็นอาหารยอดนิยม ทำจากหมี่ กินกับซอสรสเผ็ดและหวานที่ทำจากมันฝรั่ง บางครั้งเรียกหมี่ชวา คาดว่ามีต้นกำเนิดจากชวา
- หมี่บันดุงมัวร์ เป็นอาหารที่มีต้นกำเนิดในยะโฮร์ โดยเฉพาะชาวมัวร์ คำว่าบันดุงไม่ได้มาจากคำว่าบันดุงที่เป็นชื่อสถานที่ในอินโดนีเซียแต่หมายถึงการผสมส่วนผสมหลายส่วนเข้าด้วยกัน ส่วนผสมที่สำคัญคือกุ้งแห้ง
- เปอกานัน กาเจา เกอเลอเดก เป็นขนมหวานที่เป็นที่นิยมในราชสำนักยะโฮร์ ทำจากมันเทศ ไข่จำนวนมาก กะทิสด และน้ำตาลจำนวนมาก ผสมและคนให้เข้ากัน ให้ความร้อนอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
- อารีซา เป็นอาหารจานไก่ที่แปลกและหาได้ยากในปัจจุบัน นิยมในราชสำนักยะโฮร์ หรืองานเฉลิมฉลองต่างๆ
- สะเต๊ะ เป็นอาหารยอดนิยมในมาเลเซีย ทำจากเนื้อหมักและนำไปย่าง กินกับซอสจากถั่วลิสง
- เตอลุร ปินดัง ไข่ต้มกับสมุนไพรกลิ่นหอมและเครื่องเทศ นิยมใช้ในงานแต่งงานในยะโฮร์
- กาจัง ปล เป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารอาหรับเป็นขนมปังอบแบบพิเศษ กินกับซอสและไข่
- ปีซัง ซาไล คือกล้วยย่าง
- หมี่บักโซ เป็นอาหารที่คล้ายโซโตจนเกือบจะเป็นอย่างเดียวกัน แต่จะใช้ลูกชิ้นแทนเนื้อหั่นเป็นชิ้น
- ลนตง เป็นข้าวต้มมัด กินกับซุปมะพร้าว ผัก ไข่ต้มและพริก
- บูราซัก เป็นอาหารบูกิสชนิดหนึ่ง
- เกอรูตุบ อีกัน ปลานึ่ง ใส่ผักที่มีกลิ่นหอมหลายชนิด
- เปอจัลหรือเปอเจล เป็นอาหารชวาที่ใส่ถั่วฝักยาว แตงกวาหั่น ถั่วงอก เต้าหู้เทมเป และซอสถั่วลิสง
- เตาฮู บากัร เป็นอาหารทำจากถั่วเหลือง นำไปย่าง หั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม จุ่มลงในซอสชนิดพิเศษ
- หมี่ซีปุต เป็นส่วนผสมของแป้ง แผ่ในกระทะแล้วทอดให้สุก
- โรยัก เปอติส เป็นส่วนผสมของผักพื้นบ้าน ผสมกับซอสสีดำที่ทำจากกะปิ
- อาอีร์ บาตู กัมปูร์ หรือน้ำแข็งไสแบบยะโฮร์ เป็นของหวานที่ทำจากน้ำแข็งไส ใส่ข้าวโพด เยลลี่ นม ถั่วแดง ถั่วลิสง น้ำเชื่อม และช็อกโกแลตเหลว
อาหารของชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย
แก้ชาวอินเดียมุสลิมในมาเลเซียหรือมามัก มีวัฒนธรรมที่ต่างไปจากชาวมลายูมุสลิม อาหารของชาวมามักที่มีชื่อเสียงได้แก่ นาซิ กันดาร์ซึ่งคล้ายกับอาหารอินโดนีเซียที่เรียกนาซิปาดัง นอกจากนั้นมีบิรยานี ที่กินกับแกงกะหรี่ไก่ ปลา เนื้อวัวหรือเนื้อแพะ กินกับผักดองและปาปาดัม อาหารของชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดียมีลักษณะใกล้เคียงกับอาหารในอินเดีย โดยเฉพาะอินเดียใต้ แม้จะมีอาหารหลายอย่างแสดงให้เห็นว่าได้รับอิทธิพลจากอินเดียเหนือ อาหารในกลุ่มนี้มีแกงที่ใส่เครื่องเทศหลายชนิด กะทิ และใบสำมะหลุยหรือใบกะหรี่ แกงที่นิยมมีทั้งแกงไก่ แกงปลา แกงหมึก ตัวอย่างอาหารในกลุ่มนี้ได้แก่
- ข้าวใบตอง เป็นข้าวขาว ตักใส่ใบตองกินกับผัก แกงเนื้อหรือปลาและปาปาดัม
- จปาตี เป็นขนมปังที่มีจุดกำเนิดในปัญจาบ ทำจากแป้งอัตตาซึ่งเป็นแป้งสาลีไม่ขัดสี น้ำ และเกลือ แล้วทอดให้สุกในกระทะที่แบนและแห้ง กินกับแกงกะหรี่ผัก หรือนำแผ่นแป้งจปาตีมาห่ออาหารที่ปรุงสุกแล้ว
- แกงหัวปลา เป็นการนำหัวปลาไปแกง เป็นแกงน้ำข้น ใส่ผัก เช่น กระเจี๊ยบเขียว และมะเขือม่วง
- โด๊ไซ่หรือในยะโฮร์เรียกโดไซ หรือโดซาในอินเดีย เป็นอาหารที่ทำจากแป้งและถั่วเลนทิลบด ผสมน้ำและหมักไว้ข้ามคืน แผ่ให้แบน นำไปทอดกับน้ำมันหรือจี่จนเหลือง นิยมรับประทานกับแกงผักและชัตนีย์มะพร้าว
- อิดลี ทำจากถั่วเลนทิล โดยเฉพาะถั่วเลนทิลดำและข้าว ทำให้เป็นก้อน นำไปนึ่ง กินเป็นอาหารเช้าหรือเป็นอาหารว่าง กินกับชัทนีย์ แกงผักหรืออื่นๆ
- นาน เป็นขนมปังแบนที่นำไปอบจนสุก กินกับชัทนีย์หรือแกง เช่นแกงดาล มีทั้งนานรสกระเทียม นานรสเนย นานรสเนยแข็ง
- ปานีร์ เป็นเนยประเภทหนึ่ง แต่ไม่ได้ใช้เรนเนตช่วยในการจับตัว เป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้รับประทานมังสวิรัตน์ประเภทกินนมได้
- ปายาซัม เป็นของหวานที่เป็นที่นิยม ได้รับอิทธิพลจากอินเดียใต้
- โปงัล เป็นข้าวหุงกับนมและน้ำตาลมะพร้าว นิยมทำในเทศกาลฉลองการเก็บเกี่ยวในราวๆเดือนมกราคม
- ปูตูมายัม เป็นของหวาน ทำจากแป้งข้าวเจ้าที่ปั้นเป็นเส้น ใส่มะพร้าวและน้ำตาลมะพร้าวเป็นส่วนผสมหลัก กินกับมะพร้าวขูด
- ราซัม เป็นซุปถั่วเลนทิล ใส่พริก ผักชี และ ยี่หร่า
- ซัมบาร์ เป็นแกงถั่วเลนทิล น้ำข้น ใส่เครื่องเทศและผักตามฤดูกาล
- อุบมา/อุบปิตตู เป็นอาหารจานหลัก เตรียมจากแป้งเซโมลินาซึ่งเป็นแป้งสาลีแบบหยาบ หอมใหญ่ พริกและเครื่องเทศ
- โรตี จาไน เป็นขนมปังแบนที่นำไปทอด มีชนิดย่อยๆ เช่น โรตี เตอลูร์ หรือโรตีใส่ไข่ โรตี บาวัง หรือโรตีใส่หัวหอม
- โรยักแบบมามัก เป็นโรยักที่ส่วนผสมเป็นมันฝรั่งต้ม ไข่ต้มแข็ง บางครั้งเรียก ปาเซมบูร์
- มักฆี โกเร็ง เป็นเส้นหมีผัด ใส่รสแกง ถั่วงอก กะหล่ำปลี ไข่ เต้าหู้ ลูกชิ้นหรือไก่
- มูร์ตาบัก เป็นอาหารประเภทโรตี มีไส้หลายแบบเช่น กะหรี่ กระเทียม หัวหอม และ ออมเล็ต กินกับซอสแกงกะหรี่ เป็นอาหารที่นิยมในช่วงเดือนรอมฏอน
- นาซิ บิรยานี เป็นข้าวบาสมาติหุงกับส่วนผสมของเครื่องเทศ ผัก เนื้อ และโยเกิร์ต
- ชาชัก เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในมาเลเซีย ชามีรสหวาน ใส่นมระเหย ผสมกับชาร้อน และเทกลับไปกลับมาซึ่งทำให้ชาเย็นลง การชงชาชักนี้ถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง[1]
อาหารของชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน
แก้อาหารของชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากอาหารจีนตอนใต้ เช่น อาหารจีนฝูเจี้ยน อาหารจีนกวางตุ้ง อาหารจีนฮากกา แต่ก็ได้รับอิทธิพลจากส่วนผสมในท้องถิ่น และอาหารจากวัฒนธรรมอื่นๆ มีหมูเป็นส่วนผสมที่สำคัญ แต่ก็มีรูปแบบที่ทำจากไก่สำหรัยให้ชาวมลายูมุสลิมรับประทานได้ ตัวอย่างอาหารเหล่านี้ เช่น
- บักกุ๊ดเต๋ (ภาษาจีน : 肉骨茶) เป็นซุปที่ทำจากไส้หมู เนื้อหมู ซี่โครงหมู สมุนไพร กระเทียม และซีอิ๊วดำ และต้มเป็นเวลาหลายชั่วโมง ผู้รับประทานเป็นกุลีชาวจีน ที่ทำงานตามท่าเรือในเมืองกลัง จากนั้นได้แพร่หลายไปยังเมืองอื่นๆ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านได้แก่ ไทย สิงคโปร์ ในบางเมืองได้เพิ่มส่วนผสมอื่น เช่น ปลิงทะเล
- บักกวา (ภาษาจีน : 肉干) แปลตรงตัวว่าหมูแห้ง เป็นการแปรรูปเนื้อหมูให้เก็บไว้ได้นาน เป็นอาหารที่ขายทั่วไปในมาเลเซีย และเป็นที่นิยมในเทศกาลตรุษจีน ปัจจุบันเป็นของว่างที่สำคัญ
- ขนมปังแกงไก่ เป็นแกงไก่ปิดด้วยขนมปัง พบในเมืองกัมปาร์
- หมี่กวางตุ้ง (ภาษาจีน : 廣府炒, 河粉, 鴛鴦) เป็นเส้นหมี่ทำจากข้าวทอดกรอบ กินกับไข่และซอสใส่แป้งข้าวโพด ในซอสใส่หมูหั่นชิ้นบางๆ กุ้ง หมึก และผักสีเขียว เป็นอาหารจีนที่พบได้ทั่วไปในมาเลเซีย
- ขนมหัวผักกาดหรือไชเท้าก้วย (ภาษาจีน : 菜頭粿) เป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมกับหัวผักกาดขาวหรือหัวไชเท้า พบได้ทั่วไปในมาเลเซียและสิงคโปร์
- ก๋วยเตี๋ยวผัดหรือชาร์กวายเตียว (ภาษาจีน: 炒粿條,炒河粉) เป็นก๋วยเตี๋ยวทำจากข้าว นำมาผัดใส่ถั่วงอก กุ้ง ไข่ ห่าน และกุนเชียงหั่นบาง อาหารชนิดนี้มีรูปแบบที่หลากหลาย เช่นที่เกาะปีนังใส่ปูและแฮมด้วย
- ก๋วยเตี๋ยวหลอดหรือชีเชียงฟุน (ภาษาจีน: 豬腸粉) เป็นแผ่นข้าวสี่เหลี่ยมที่ทำมาจากส่วนผสมของแป้งข้าวเจ้าและน้ำ ผสมให้เหลว นำมาทาบนกระทะบางๆ นึ่งให้สุก นำไปม้วนหรือห่อไส้ ปกติกินกับเต้าหู้และปลา กินกับซอสถั่วเหลือง รสออกหวาน ซอสพริกหรือน้ำแกงแบบใส ทางเหนือของเมืองอีโปะฮ์จะกินกับซอสหวานสีแดง พริกดองหั่นและหอมเจียว
- หมี่แกง (ภาษาจีน: 咖喱面) เป็นอาหารที่ทำจากหมี่เหลืองผสมกับเส้นบีฮุนที่ทำจากข้าว ใส่ในน้ำแกงรสเผ็ดใส่กะทิ เต้าหู้แห้ง กุ้ง ปลาดุก ใส่สะระแหน่และซัมบัล
- ซุปหมี่เป็ด (ภาษาจีน: 鸭腿面线) เป็นอาหารปีนังที่มีชื่อเสียง เป็นเนื้อเป็ดใส่ในซุปร้อนๆ ที่มีสมุนไพรหลายอย่าง ใส่มี่สั้ว
- หมีเป็ดขิง (ภาษาจีน: 姜鸭面) เป็นหมี่ไข่ปรุงกับซุปเป็ด โดยต้มเป็ดในน้ำซุปสีดำ ใส่ขิง พบได้ในภัตตาคารในกังลาลัมเปอร์และเมืองกลัง
- ข้าวมันไก่ (ภาษาจีน: 海南雞飯) เป็นไก่นึ่ง กินกับข้าวหุงกับมาการีนหรือน้ำซุปไก่ ข้าวเสิร์ฟในชาม ยกเว้นในมะละกาจะปั้นข้าวเป็นก้อน
- เย็นตาโฟหรือย้งโต่วฟู่ (ภาษาจีน: 酿豆腐) เป็นเต้าหู้ยัดไส้ด้วยเนื้อสัตว์บดแบบของชาวฮากกา ที่เป็นที่นิยมของชาวมาเลเซียทุกเชื้อชาติ มีการยัดไส้มะเขือ กระเจี๊ยบเขียว เต้าหู้ทอด มะระ และพริกเพิ่มเติมด้วย
- ฮกเกี้ยนหมี่ (ภาษาจีน: 福建麵) เป็นอาหารที่ทำจากหมี่เหลืองเส้นหนา ทอด ใส่ซอสสีดำข้นและเนื้อหมู เป็นที่นิยมในปีนัง กัวลาลัมเปอร์ เซอเริมบัน กลัง และกลันตัน
- ฮกเกี้ยนหมีหรือแฮหมี่หรือหมี่กุ้ง เป็นอาหารที่ทำจากหมี่เหลืองหรือหมี่ฮุ้น ใส่ในซุปกุ้ง ใส่ไข่ต้ม ผักบุ้งและพริก
- กายาโทสต์หรือโรตี บาการ์ เป็นอาหารเช้าแบบพื้นบ้าน กายาเป็นส่วนผสมของมะพร้าวและไข่ รสหวาน ใช้ทาบนขนมปังขาว กินกับชาหรือกาแฟ และไข่ต้มโรยพริกไทยและซอสถั่วเหลือง
- ก๋วยจั๊บ (ภาษาจีน: 粿汁) เป็นอาหารจีนแต้จิ๋วทำจากแผ่นแป้ง ในซุปใส่ซอสถั่วเหลือง กินกับเนื้อหมู เต้าหู้ และไข่ต้ม
- หมี่โละห์ (ภาษาจีน: 滷麵) เป็นอาหารที่ทำจากหมี่เหลืองหนา กินกับน้ำซุปข้น ทำจากไข่ แป้ง กุ้ง หมูหั่นและผัก
- งะชอยไก (ภาษาจีน: 芽菜雞) เป็นอาหารในอีโปะฮ์ คล้ายกับข้าวมันไก่ของไหหลำ เป็นไก่ต้มกินกับซอสถั่วเหลือง ปรุงรสด้วยน้ำมัน กินกับถั่วงอก เป็นที่นิยมในมาเลเซีย
- งะห์โปฟัน (ภาษาจีน: 瓦煲雞飯 หรือ 沙煲饭) เป็นอาหารจานข้าวที่กินกับไก่ เป็นข้าวหุงใส่ซอสถั่วเหลืองและซอสหอยนางรม บางครั้งใส่ปลาเค็มแห้ง
- ปันหมี่หรือบันเมี่ยน (ภาษาจีน: 板面) เป็นซุปหมี่ไข่แบบฮกเกี้ยน แบบที่นิยมมากเรียกปันหมี่พริก ซึ่งเป็นหมี่ใส่หมูสับ ไข่ และปลาร้าทอด น้ำซุปใส่ผักกินใบ เติมพริกทอดตามความชอบของผู้รับประทาน
- เปาหรือซาลาเปา (ภาษาจีน: 包) เป็นขนมที่ทำจากแป้งสาลี ไส้ทำด้วยเนื้อสัตว์ จัดเป็นติ่มซำประเภทหนึ่ง
- เปาะเปี๊ยะ เป็นการนำแผ่นเปาะเปี๊ยะมาห่อไส้ที่เป็นผักและเต้าหู้ ไข่ กุนเชียง
- โรยัก เป็นสลัดผลไม้ที่ราดด้วยซอสเหนียวข้นใส่กะปิ ถั่วลิสง โรยักของปีนังมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมากที่สุด
- หมี่หุนผัดซินโจว (ภาษาจีน: 星洲米粉) เส้นหมี่ข้าวผัดกับส่วนผสมหลายอย่าง เช่นหมูย่าง ลูกชิ้นปลา แครอท ร้านอาหารบางแห่งใช้ส่วนผสมที่แปลกออกไป เป็นที่นิยมในกัวลาลัมเปอร์ ชาวจีนในสหรัฐจะใส่ผงกะหรี่ อาหารนี้ไม่ได้มีจุดกำเนิดมาจากสิงคโปร์
- ไก่ขมิ้น (黄姜鸡) เป็นสตูไก่ที่ใส่ขมิ้น ขิง และตะไคร้ลงไปในเครื่องปรุง
- เตาฟูฟะห์ หรือเต้าฮวย (ภาษาจีน: 豆腐花 หรือ 豆花) เป็นนมถั่วเหลืองแบบหนึ่งที่ปรุงรสด้วยน้ำเชื่อม มองคล้ายเต้าหู้แต่นิ่มกว่า เป็นที่นิยมในจีนและสิงคโปร์
- ตงซุย (ภาษาจีน: 糖水) เป็นขนมแบบจีนที่มีความหลากหลาย ลักษณะเป็นเครื่องดื่มรสหวาน มีส่วนผสมหลายอย่าง เช่นถั่วดำ มะพร้าว กลอย มันเทศ ลำไยและอื่นๆ
- อาหารมังสวิรัตน์ บางเมืองในมาเลเซียจะมีร้านขายอาหารมังสวิรัตน์ที่มำอาหารมังสวิรัตน์ในรูปแบบใกล้เคียงกับอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์
- หมี่เกี๊ยว (ภาษาจีน: 雲吞麵) เป็นเส้นหมี่แบบจีนกินกับเกี๊ยว และหมูย่าง เกี๊ยวทำจากกุ้งและหมู เส้นหมี่เสิร์ฟในน้ำน้ำซุปหรือใส่จานราดด้วยซอสถั่วเหลือง ปรุงรสด้วยน้ำมันหมูหั่นเป็นชิ้นและผัก
- วูเตากุง (ภาษาจีน: 芋頭糕) เป็นเค้กที่ทำจากกลอยและข้าว โรยหอมเจียวและกุ้งทอด กินกับน้ำพริก ใส่พริกแดง
- เยาซา ไกว (ภาษาจีน: 油炸鬼 หรือ 油条) ในไทยเรียกปาท่องโก๋ เป็นอาหารประเภททอดที่หลากหลายของจีน รูปร่างเป็นแท่งสองอันประกบกัน นิยมกินเป็นอาหารเช้ากับกาแฟดำ หรือใส่ในโจ๊ก
- ซุกหรือโจว (ภาษาจีน: 粥) เป็นโจ๊กแบบจีนใส่เนื้อปลาหั่น ไก่ ไข่เค็ม ไข่เยี่ยวม้า และหมูสับ
- เป็ดอบ (ภาษาจีน: 烧鸭) เป็นอาหารยอดนิยมในมาเลเซีย แม้ว่าหนังจะไม่กรอบแบบเดียวกับเป็ดปักกิ่ง
อาหารย่าหยา
แก้อาหารย่าหยาเป็นอาหารที่พัฒนาขึ้นในกลุ่มของชาวย่าหยาหรือชาวจีนช่องแคบและเปอรานากันหรือลูกผสมระหว่างชาวจีน-มลายูในมาเลเซียและสิงคโปร์ อาหารนี้ใช้ส่วนผสมแบบจีนแต่ใช้เครื่องปรุงแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นกะทิ ตะไคร้ ขมิ้น พริก และซัมบัล มีบางส่วนได้รับอิทธิพลจากอาหารไทย ตัวอย่างของอาหารย่าหยา ได้แก่
- อาจาด เป็นเนื้อสัตว์และผักดอง มีหลายชนิด เช่น อาจาดน้ำผึ้งมะนาว อาชาร์ฮูหรืออาจาดปลาทอด อาจาดปลาเค็ม อาจาดแตงกวา อาจาดผักรวม
- อายัม ละก์ซา (ภาษามลายู: 亞三叻沙) เป็นก๋วยเตี๋ยวใส่น้ำซุปปลา ใส่หัวหอม มะขาม โหระพา ขิง สับปะรดและแตงกวาหั่น
- อายัม ปงเตะห์ เป็นสตูว์ไก่ปรุงด้วยถั่วเหลืองหมัก และฆูลา เมอลากา ปกติมีรสเค็มหวาน
- อายัม บูวะห์ เกอลูวะก์ อาหารทำจากไก่ ใส่เมล็ด Pangium edule ซึ่งเป็นไม้ป่าชายเลนที่พบในมาเลเซียและอินโดนีเซีย
- บ๊ะจ่าง หรือบักชังทำจากข้าวเหนียว ห่อด้วยใบไม้ ใส่หมู เห็ด กุ้ง และไข่แดงของไข่เค็ม บ๊ะจ่างแบบเปอรานากัน (娘惹粽) นิยมห่อด้วยใบเตย
- จินจาลก เป็นอาหารเฉพาะของชาวย่าหยา ทำจากกุ้งหมักเกลือและข้าว
- อีติก์ติม เป็นซุปที่ส่วนผสมหลักเป็นเป็ด ใส่ใบมัสตาร์ดและกะหล่ำปลี ปรุงรสด้วยลูกจันทน์เทศ เห็ด มะเขือเทศและพริก
- จิวฮูชาร์ เป็นอาหารที่ทำจากผัก เช่นเทอร์นิบหรือยีจามา แครอท กะหล่ำปลี นำไปผัดกับปลาดุก
- เกอราบู บีฮุน เป็นอาหารประเภทสลัด ทำจากขนมจีนผสมกับซัมบัล เบอลาจัน น้ำผึ่งมะนาว น้ำผลไม้และผักหั่น และเครื่องเทศ อาหารประเภทนี้ที่มีชื่อเสียงได้แก่ เกอราบูไก่ เกอราบูขาไก่ เกอราบูแตงกวา เกอราบูกะหล่ำปลี เกอราบูถั่วพู และเกอราบูหนังหมู
- หลักซายะโฮร์ เป็นอาหารที่มาจากยะโฮร์ ต่างจากหลักซาปีนังที่เติมกะทิระหว่างการปรุง และต่างจากหลักซาชนิดอื่นๆที่ปรุงด้วยเส้นสปาเกตตี
- ลัมมี เป็นเส้นหมี่สีเหลืองขนาดยาว ปรุงด้วยเกรวี่ข้นที่ทำจากน้ำซุปของกุ้งและไก่ นิยมรับประทานในงานฉลองวันเกิด
- มาซะก์ เบอลันดา เป็นอาหารที่ทำจากหมูหั่นชิ้นและปลาเค็ม ปรุงรสด้วยมะขาม
- มาซะก์ เลอมะก์ เป็นสตูว์ผักแบบหนึ่ง ใส่กะทิ มีหลายแบบ เช่น แบบที่ใส่ผักโขมเป็นเครื่องปรุงหลักหรือแบบที่ใช้มันฝรั่งเป็นเครื่องปรุงหลัก
- มาซะก์ ติติก์ เป็นรูปแบบของซุปผักที่ใส่พริก บางชนิดใส่แตงโม หรือมะละกอ
- หมี่สยาม เป็นหมี่ผัดกับน้ำซอสรสหวาน เผ็ดและเปรี้ยว
- นาซี กูญิต เป็นข้าวเหนียวหุงกับขมิ้นและนิยมกินกับแกงไก่ใส่กะทิ ขนมอังกูและไข่ต้มสีชมพู ซึ่งจะเป็นของขวัญเนื่องในโอกาสที่ทารกอายุครบเดือนแรก
- นาซิอูลัม เป็นข้าวกับสมุนไพร ใส่กุ้งแห้งป่น ปลาเค็มและหัวหอมหั่น
- โงเฮียงเป็นอาหารประเภทไส้กรอกทอด ทำจากหมูบด ม้วนด้วยฟองเต้าหู้ แล้วทอดให้สุก
- โอตะก์-โอตะก์ เป็นห่อหมกทำจากปลา ห่อด้วยใบตองย่างให้สุก โดยถ้าเป็นโอตัก-โอตักแบบปีนังจะนำมานึ่งและมีรสชาติต่างออกไป
- เปอรุตอีกัน เป็นสตูว์รสเผ็ด ส่วนผสมหลักเป็นผักหรือสมุนไพร ใส่ปลา มีรสชาติของเครื่องปรุงเฉพาะ เช่น ใบพริก
- เซบัก เป็นเนื้อหมูปรุงกับเครื่องปรุงและสมุนไพร ปรุงด้วยไฟอ่อน
- เตอร์ทอร์ติง หรือซุปกระเพาะหมู เป็นอาหารที่ต้องใช้ทักษะในการปรุงมาก ใช้เกลือและพริกเป็นเครื่องปรุงหลักในการปรุง
อาหารพื้นเมืองรัฐซาราวัก
แก้ชาวซาราวักมีอาหารที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะซึ่งต่างจากพื้นที่บนคาบสมุทร มักเป็นอาหารของชาวพื้นเมือง บางส่วนได้รับอิทธิพลจากอาหารจีนและอาหารอินเดีย อาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของซาราวักได้แก่
- หลักซาซาราวัก เป็นเส้นหมี่หุน ราดด้วยน้ำซุปกุ้ง ใส่ไก่ ไข่ ถั่วงอก กุ้งและพริก
- หมี่โกโลซาราวัก เป็นเส้นหมี่ที่มีรสหวานที่มีรสหวานเล็กน้อย ปกติใช้น้ำซุปหมู ใส่เนื้อหมู ถ้าเป็นแบบฮาลาลใช้น้ำซุปวัวและเนื้อวัว
- มานก ปันโซะห์ เป็นอาหารพื้นเมืองของชาวอีบัน นำไก่ไปปรุงในกระบอกไม้ไผ่ ปรุงรสด้วยตะไคร้ ขิง ใบมันสำปะหลัง อาหารที่คล้ายกับมานก ปันโซะห์แต่เพิ่มข้าวเป็นอาหารพื้นเมืองของชาวบีดายุห์เรียกอัสซัม ซีโอก พบได้น้อยตามภัตตาคารแต่พบมากตามบ้าน
- อูไม เป็นอาหารพื้นบ้านแบบเมลาเนา เป็นอาหารทะเลดิบ ประกอบด้วยอาหารทะเลดิบหั่น เช่นปลา กุ้ง แมงกะพรุน หัวหอมหั่น กินกับซอสมะเขือเทศ หรือพริก อูไมเยิบ เป็นอูไมชนิดหนึ่งที่ประกอบด้วยอาหารทะเลเท่านั้น อาหารชนิดนี้คล้ายกับอาหารญี่ปุ่นที่เรียกซาชิมิ
- เก็ก ลาปิส ซาราวัก หรือเค้กชั้นแบบซาราวัก เป็นอาหารที่แพร่หลายไปทั่วมาเลเซีย โดยเฉพาะในเทศกาลเฉลิมฉลองเช่น ฮารีรายอ ตรุษจีน กาไว และคริสต์มาส
- ลีนุต เป็นแป้งสาคูต้มจนเหนียวกินกับซัมบัล เบลาจัน หรือน้ำแกง เป็นที่นิยมในหมู่ชาวเมลาเนาและเกอดายันในซาราวัก อาหารชนิดนี้พบในซาบะฮ์และบรูไนแต่เรียกในชื่อที่ต่างไปคืออัมบูยัต
- เตอเบสหรือตีอง เป็นอาหารท้องถิ่นของชาวเมลาเนา มีถิ่นกำเนิดที่บินตูลู ประกอบด้วยกุ้งสด ห่อด้วยขุยมะพร้าว ห่ออีกชั้นด้วยใบเตยและใบมะพร้าว แล้วอบ
- เซอโลรต เป็นอาหารของชาวมลายูในซาราวัก ทำจากน้ำตาลมะพร้าวและแป้งข้าวเจ้า ปรุงในใบมะพร้าว นิยมกินกับน้ำชา
- มีดิน เป็นเฟินชนิดหนึ่งนำมาทำอาหารโดยการผัดกับกระเทียม กะปิ กินกับข้าว
- นาซิ อารุก เป็นข้าวผัดแบบพื้นเมืองของชาวมลายูในซาราวัก แต่ต่างจากนาซิ โกเร็งเพราะไม่ใช่น้ำมันในการผัด ส่วนผสมประกอบด้วย กระเทียมหัวหอม และปลาหมัก ผัดให้เข้ากันโดยใช้น้ำมันน้อยมาก แล้วจึงใส่ข้าวลงไปผัด ใช้เวลาผัดนานเมื่อเทียบกับนาซิโกเร็งเพื่อให้ข้าวมีกลิ่นควัน
- หมี่มะเขือเทศ เป็นหมี่ผัดที่ได้รับความนิยม โดยนำเส้นก๋วยเตี๋ยวมาผัดกับซอสมะเขือเทศ เนื้อสัตว์ นิยมเป็นเนื้อไก่ ผักและอาหารทะเล นิยมใช้กุ้ง บางครั้งใช้หมี่กรอบ
- ฝูโจว บาเกิล เป็นอาหารจีนท้องถิ่นของฝูโจว บางครั้งเรียกกมเปีย
- บูบูร์เปอดัซ เป็นอาหารที่รสค่อนข้างเผ็ด ใส่เครื่องเทศ ขมิ้น ตะไคร้ ขิง พริก ข่า มะพร้าว และหอมแดง เป็นอาหารที่ทำในเดือนรอมฎอน
- ตูอักหรือตวก เป็นเครื่องดื่มเฉพาะของชาวอีบันและชาวบีดายุห์ในซาราวักทำจากข้าวหมักหรือหมักจากอ้อย ใช้เป็นเครื่องดื่มในการต้อนรับผู้มาเยือนหรือระหว่างเทศกาลเช่นกาไวหรือคริสต์มาส
- มานก กาจังมา เป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารจีน ทำจากไก่ ปรุงกับกระเทียมและต้นกาจังมา สำหรับผู้ไม่ใช่มุสลิมจะใส่ตูอักในการปรุงรสด้วย
- เกอลูปิส คล้ายกับเกอตูปัสแต่ห่อด้วยใบเตย ข้าวที่ใช้เป็นข้าวเหนียว
- ปูลุตปังกัง เป็นอาหารมลายูในซาราวักเป็นข้าวเหนียวห่อด้วยใบเตย ย่าง ไม่มีไส้
- เนื้อมุรตาบัก เป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย เป็นอาหารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะในซาราวักและบรูไน
- เชอโรเดท เป็นอาหารอินเดียที่นิยมในกูชิง
- เตอรูบก มาซิน เป็นการนำปลาเตอรูบกมาทำปลาเค็ม อาจใช้ปลาชนิดอื่นแทนได้
- กุยห์ ยาลา เป็นขนมพื้นบ้านของชาวอีบัน คล้ายกับการัสในเกอดะฮ์
- ซูมัน เป็นอาหารของชาวมลายูในปูซา เป็นอาหารทะเลปรุงในเปลือกกล้วย และห่อด้วยใบตอง
อิทธิพลจากวัฒนธรรมอื่น ๆ
แก้เนื่องจากสังคมมาเลเซียเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ทำให้แต่ละวัฒนธรรมมีการผสมผสานกันเอง เช่น ชาวมลายูเชื้อสายจีนนำแกงของชาวอินเดียไปปรับปรุงให้มีรสเผ็ดน้อยลง ชาวมลายูและชาวอินเดียนำเส้นก๋วยเตี๋ยวของชาวจีนไปปรับปรุงจนกลายเป็นก๋วยเตี๋ยวแบบใหม่
ขนม
แก้ขนมของมาเลเซียส่วนใหญ่ใช้กะทิ ตัวอย่างขนมที่ใช้ทั่วไป ได้แก่
- เซ็นดอล แป้งข้าวเจ้าปั้นเป็นก้อนเล็ก กินกับส่วนผสมของกะทิและน้ำตาลมะพร้าว
- ไอส์ กาจัง เป็นส่วนผสมของข้าวโพดหวาน ถั่วแดง และเฉาก๊วย กินกับน้ำแข็งไส น้ำหวานและนมระเหย
- ปูลุต อีตัม ข้าวเหนียวดำปรุงกับสาคูและกินกับกะทิ
- บูบุร ชา ชา กลอยและมันเทศกินกับกะทิและสาคู
- สาคูแตงไทย กินกับน้ำกะทิ
- เปองัต น้ำตาลผสมกับกะทิ ผลไม้ และนำไปต้ม
- ซาโก ฆูลา เมอลากา เป็นส่วนผสมของสาคู กะทิ และน้ำตาลมะพร้าว
- ทาร์ตสับปะรด
- ผลไม้หลายชนิดในมาเลเซียใช้รับประทานเป็นของหวาน ได้แก่ ทุเรียน มะม่วง สับปะรด แตงโม ขนุน มะละกอ ลางสาด เงาะ มะเฟือง กล้วยและมังคุด
อ้างอิง
แก้- ↑ xes (14 July 2008). "Teh Madras | w w w . x e s . c x". Xes.cx. สืบค้นเมื่อ 26 March 2014.