ผัดไทย

อาหารไทยชนิดหนึ่ง ทำโดยใช้เส้นจันท์ผัด
(เปลี่ยนทางจาก ก๋วยเตี๋ยวผัด)

ผัดไทย (มักสะกดผิดเป็น ผัดไท)[2] เป็นอาหารไทยที่หารับประทานได้ทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคกลาง และอาจพบได้ในร้านอาหารไทยในต่างประเทศบางแห่ง[3]

ผัดไทย
มื้ออาหารจานหลัก
แหล่งกำเนิด ไทย (ภาคกลาง)
ผู้สร้างสรรค์แปลก พิบูลสงคราม
อุณหภูมิเสิร์ฟร้อน
ส่วนผสมหลักเต้าหู้, ไข่, น้ำปลา, มะขามเปียก, น้ำตาลปี๊บหรือน้ำตาลโตนด, ใบกุยช่าย, ถั่วงอก, กุ้งแห้ง, มะนาว, หอมแดง, เส้นผัดไทย[1]

ประวัติ

แก้

ผัดไทยเป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารจีน[4] เดิมเรียกอาหารชนิดนี้ว่า "ก๋วยเตี๋ยวผัด" และได้รับการเปลี่ยนแปลงด้านรสชาติใหม่ตามอย่างอาหารไทยมากขึ้นในเวลาต่อมา

ผัดไทยได้กลายเป็นที่รู้จักของคนต่างชาติในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นซึ่งเป็นช่วงเดียวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านได้รณรงค์ให้ประชาชนหันมานิยมรับประทานก๋วยเตี๋ยว เพื่อลดการบริโภคข้าวภายในประเทศ[5] เนื่องจากในช่วงนั้นสภาวะเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ ข้าวแพง[6] โดยท่านได้กล่าวเอาไว้ว่า

"อยากให้พี่น้องกินก๋วยเตี๋ยวให้ทั่วกัน เพราะก๋วยเตี๋ยวมีประโยชน์ต่อร่างกาย มีรสเปรี้ยว เค็ม หวานพร้อม ทำเองได้ในประเทศไทย หาได้สะดวกและอร่อยด้วย หากพี่น้องชาวไทยกินก๋วยเตี๋ยวคนละหนึ่งชามทุกวัน วันหนึ่งจะมีคนกินก๋วยเตี๋ยวสิบแปดล้านชาม ตกลงวันหนึ่งค่าก๋วยเตี๋ยวของชาติไทยหนึ่งวันเท่ากับเก้าสิบล้านสตางค์เท่ากับเก้าแสนบาท เป็นจำนวนเงินหมุนเวียนมากพอใช้ เงินเก้าแสนบาทนั้นก็จะไหลไปสู่ชาวไร่ ชาวนา ชาวทะเลทั่วกันไม่ตกไปอยู่ในมือใครคนหนึ่งคนใดเพียงคนเดียว และเงินหนึ่งบาทก็มีราคาหนึ่งบาท ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้เสมอ ไม่ใช่ซื้ออะไรก็ไม่ได้เหมือนอย่างทุกวันนี้ซึ่งเท่ากับไม่มีประโยชน์เต็มที่ในค่าของเงิน"

แต่เพราะกระแสชาตินิยมที่มองว่าก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารจีนจึงได้ดัดแปลงให้ผัดไทยเป็นอาหารไทย[7] ผัดไทยในยุคแรกใช้เส้นจันทบูรเป็นเส้นในการผัด ส่วนหมูนั้นก็จะไม่ใส่เพราะมองว่าเป็นผัดซีอิ๊วมากกว่า ซึ่งจะทำให้เหมือนกับอาหารจีนมากเกินไป โดยจะใส่กุ้งแห้งแทน นอกจากนี้ยังใส่ เต้าหู้เหลือง มะนาว ใบกระเทียม หัวปลีและถั่วงอก ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในประเทศไทย[7] และเรียกเปลี่ยนชื่อ "ก๋วยเตี๋ยวผัด" เป็น "ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย" ตามชื่อใหม่ของประเทศ[8] ปัจจุบันเรียกกันโดยย่อเหลือเพียงแค่ "ผัดไทย"

ปัจจุบันผัดไทยได้กลายเป็นหนึ่งในอาหารประจำชาติไทย[9] ผัดไทยเริ่มได้รับความนิยมไปทั่วโลก จากข้อมูลปี พ.ศ. 2546 มีร้านอาหารไทยกว่า 6,800 ร้านกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก และทุกร้านจะมีผัดไทย อีกเมนูหนึ่งคือ ต้มยำกุ้ง ผัดไทยในต่างแดนจะเน้นการเสิร์ฟบนภาชนะที่มีลวดลายวิจิตรสวยงาม ให้ภาพว่าเป็นอาหารของชนชั้นสูง อาหารชาววัง[10]

ในเวียดนามมีอาหารที่ใกล้เคียงกันเรียกว่า เฝอส่าว (เวียดนาม: phở xào) หรือ บั๊ญเฝอส่าว (bánh phở xào) แปลว่า "เฝอผัด" ส่วนประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และบรูไน มีอาหารคล้ายผัดไทยเรียกว่า ชาร์ก๋วยเตี๋ยว (炒粿条) ประกอบด้วยเส้นก๋วยเตี๋ยวเส้นแบน ใส่กุ้ง หอย ไข่ ปลา ถั่วงอก กุนเชียง ใช้น้ำมันหมูในการผัด และรองด้วยใบตองในการเสริฟ พบได้ทั่วไปในปีนัง

ลักษณะ

แก้

ผัดไทยโดยทั่วไปจะนำเส้นเล็กมาผัดด้วยไฟแรงกับไข่ ใบกุยช่ายสับ ถั่วงอก หัวไชโป๊สับ เต้าหู้เหลือง ถั่วลิสงคั่ว และกุ้งแห้ง ปรุงรสด้วยพริก น้ำปลา และน้ำตาล เสิร์ฟพร้อมกับมะนาว ใบกุยช่าย ถั่วงอกสด และหัวปลีเป็นเครื่องเคียง ร้านผัดไทยบางแห่งจะใส่เนื้อหมูลงไปด้วย บางที่อาจจะใช้เส้นจันท์ซึ่งเหนียวกว่าเส้นเล็ก เรียกว่า "ผัดไทยเส้นจันท์" หรือใช้วุ้นเส้น เรียกว่า "วุ้นเส้นผัดไทย" รวมทั้งผัดหมี่โคราชที่มีลักษณะคล้ายผัดไทย กินกับส้มตำ

นอกจากนี้ยังมีผัดไทยประยุกต์ โดยนำส่วนผสมทุกอย่างผัดให้เข้ากัน แล้วนำไข่เจียวมาห่อผัดไทยทีหลัง เรียกว่า "ผัดไทยห่อไข่" หรือบางที่อาจจะใส่กุ้งสดแทนกุ้งแห้ง เรียกว่า "ผัดไทยกุ้งสด" ร้านขายผัดไทยมักจะขายหอยทอดหรือขนมผักกาดควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากเครื่องปรุงที่ใช้มีหลายอย่างใช้ร่วมกัน

ความหลากหลาย

แก้

ผัดไทยในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันบ้าง เช่น[11]

  • ผัดโคราช เช่น นครราชสีมา ชัยภูมิ ใส่ซอสแซ่บซึ่งเป็นน้ำพริกที่ปรุงจากพริกแห้ง หอมแดง กระเทียม และต้นหอม

วัฒนธรรมสมัยนิยม

แก้
  • ภาพยนตร์ไทยเรื่อง เจ้าสาวผัดไทย (ออกฉายในปี พ.ศ. 2547) ใช้ผัดไทยเป็นตัวชูโรงของเรื่อง โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับนางเอกจะแต่งงานกับชายใดก็ตามที่กินผัดไทยของเธอภายใน 100 วัน[13][14]
  • ตอนหนึ่งของรายการ โทรว์ดาวน์! วิทบอบบี เฟลย์ ในการแข่งขันทำผัดไทย บอบบี เฟลย์ พิธีกรรายการได้แข่งขันกับนงคราญ ดากส์ในร้านไทยเบซิลในเมืองแชนทิลี รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเฟลย์ได้พ่ายแพ้ในการแข่งขันดังกล่าว[15]

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
  • ชาติชาย มุกสง. (2565, เมษายน). ก๋วยเตี๋ยวผัดไทยไม่ใช่นวัตกรรมอาหารสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม: แต่ทั้ง “ผัด” ทั้ง “ไทย” ที่ถูกสร้างใส่ไว้ในสำรับอาหารชาติ(ไทย)นิยม. ศิลปวัฒนธรรม. 43(6): 128-145.

อ้างอิง

แก้
  1. Kotylo, Jennifer M. The Everything Thai Cookbook: From Pad Thai to Lemongrass Chicken Skewers, 300 Tasty, Tempting Thai Dishes You Can Make at Home. Avon, MA: Adams Media, 2002.
  2. http://www.royin.go.th/TH/webboardnew/answer.php?GroupID=11&searchKey=&searchFrom=&searchTo=&PageShow=11&TopView=&QID=7486[ลิงก์เสีย]
  3. Pad Thai Restaurant. Pad Thai เก็บถาวร 2013-02-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกดูเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2556
  4. Ferdman, Roberto A. "The strange and potentially stolen origins of pad Thai". Quartz (publication). Atlantic Media Company. สืบค้นเมื่อ 15 April 2014.
  5. คนไทย USA. ที่มา "ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย" เก็บถาวร 2013-04-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกดูเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2556
  6. "ผัดไทย โดย สุวพงศ์ สุขวิบูลย์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-31. สืบค้นเมื่อ 2009-05-07.
  7. 7.0 7.1 สำนักประชาสัมพันธ์เขต 7. ความเป็นมาของผัดไทย เก็บถาวร 2015-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกดูเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2556
  8. ตำนานก๋วยเตี๋ยว จาก วิชาการ.คอม
  9. "Thai National Foods". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-05. สืบค้นเมื่อ 2013-02-02.
  10. พูนผล โควิบูลย์ชัย. "การต่อรองเชิงอำนาจและการเปลี่ยนแปลงความหมายของผัดไทย: จากเมนูชาตินิยมสู่อาหารไทยยอดนิยม" (PDF). p. 90. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-11-28. สืบค้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  11. ผัดไทย-หอยทอด. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : แสงแดด. 2551
  12. ผัดไทยประตูผี(ทิพย์สมัย) ชื่อนี้แน่นอนจริง จากไทยรัฐ
  13. Jao saao Pad Thai ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส  
  14. พันทิป. เจ้าสาวผัดไทย. เรียกดูเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2556
  15. Foodnetwort. Pad Thai:Throwdown! with Bobby Flay เก็บถาวร 2013-01-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกดูเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2556