ความหมายอื่น ดูที่ อำเภอมะขาม

มะขาม
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
Eukaryota
อาณาจักร: พืช
Plantae
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
Tracheophytes
เคลด: พืชดอก
Angiosperms
เคลด: พืชใบเลี้ยงคู่แท้
Eudicots
เคลด: โรสิด
Rosids
อันดับ: ถั่ว
Fabales
วงศ์: ถั่ว
Fabaceae
วงศ์ย่อย: Detarioideae
Detarioideae
เผ่า: Amherstieae
Amherstieae
L.
สกุล: Tamarindus
Tamarindus
L. 1753
สปีชีส์: Tamarindus indica
ชื่อทวินาม
Tamarindus indica
L. 1753
ชื่อพ้อง[3][4][5]
  • Cavaraea Speg. 1916
  • Cavaraea elegans Speg. 1916[2]
  • Tamarindus erythraeus Mattei 1908
  • Tamarindus occidentalis Gaertn. 1791
  • Tamarindus officinalis Hook. 1851
  • Tamarindus somalensis Matteqi 1908
  • Tamarindus umbrosa Salisb. 1796

มะขาม เป็นไม้เขตร้อนวงศ์ Fabaceae มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแฟริกาแถบประเทศซูดาน, ประเทศแคเมอรูน, ประเทศไนจีเรีย, ประเทศเคนยา, ประเทศแซมเบีย, และประเทศแทนซาเนีย ต่อมามีการนำเข้ามาในแถบประเทศเขตร้อนของเอเชียและประเทศแถบลาตินอเมริกา และในปัจจุบันมีมากในประเทศเม็กซิโก

ชื่อมะขามในภาคต่าง ๆ เรียก มะขามไทย ภาคกลาง ขาม ภาคใต้ ตะลูบ โคราช ม่วงโคล้ง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) อำเปียล เขมร จังหวัดสุรินทร์ ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า tamarind ซึ่งมาจากภาษาอาหรับ:تمر هندي (tamr hindī) แปลว่า Indian date

มะขามเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานและต้นไม้ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ มะขามในไทยมีสองชนิดคือมะขามเปรี้ยวและมะขามหวาน โดยมะขามหวานมีหลายพันธุ์เช่น พันธุ์น้ำผึ้ง อินทผลัม หมื่นจง สีทอง ในบางครั้งจะเรียกมะขามตามลักษณะของฝัก เช่น มะขามขี้แมว คือมะขามฝักกลม มะขามกระดาน คือมะขามฝักแบน มะขามข้อเดียวคือมะขามที่ฝักมีข้อเดียวออกกลมป้อม

ลักษณะเฉพาะ

แก้

มะขามเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่แตกกิ่งก้านสาขามากไม่มีหนาม เปลือกต้นขรุขระและหนา สีน้ำตาลอ่อน ใบ เป็นใบประกอบ ใบเล็กออกตามกิ่งก้านใบเป็นคู่ ใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบและโคนใบมน ประกอบ ด้วยใบย่อย 10–15 คู่ แต่ละใบย่อยมีขนาดเล็ก กว้าง 2–5 มม. ยาว 1–2 ซม. ออกรวมกันเป็นช่อยาว 2–16 ซม. ดอก ออกตามปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็ก กลีบดอกสีเหลืองและมีจุดประสีแดง/ม่วงแดงอยู่กลางดอก ผลเป็นฝักยาว รูปร่างยาวหรือโค้ง ยาว 3-20 ซม. ฝักอ่อนมีเปลือกสีเขียวอมเทา สีน้ำตาลเกรียม เนื้อในติดกับเปลือก เมื่อแก่ฝักเปลี่ยนเป็นเปลือกแข็งกรอบหักง่าย สีน้ำตาล เนื้อในกลายเป็นสีน้ำตาลหุ้มเมล็ด เนื้อมีรสเปรี้ยว และ/หรือหวาน ซึ่งฝักหนึ่ง ๆ จะมี/หุ้มเมล็ด 3–12 เมล็ด เมล็ดแก่จะแบนเป็นมัน และมีสีน้ำตาล

ใบของมะขามเป็นใบประกอบแบบขนนก (pinnately compound leaves) ใบย่อยแต่ละใบแยกออกจากก้าน 2 ข้างของแกนกลาง คล้ายขนนก ถ้าปลายสุดของใบจะเป็นใบย่อยเพียงใบเดียวเรียก แบบขนนกคี่ (odd pinnate) เช่น กุหลาบ อัญชัน ก้ามปู ถ้าสุดปลายใบมี 2 ใบ เรียกแบบขนนกคู่ (even pinnate) เช่น มะขาม

การปลูกมะขาม นิยมขยายพันธุ์โดยการทาบกิ่ง ติดตาหรือต่อกิ่ง เพราะได้ผลเร็วและลดการกลายพันธุ์ ทำได้โดยเตรียมดินโดยขุดหลุมกว้าง ยาวและลึกด้านละ 60 ซม.ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักคลุกเคล้าดินรองก้นหลุมเอากิ่งพันธุ์ลงปลูก รดน้ำให้ชุ่ม มะขามเมื่อลงดินแล้วจะโตเร็ว ควรใช้ไม้หลักพยุงไว้ให้แน่น และการบำรุงรักษาหลังเริ่มปลูก ควรเอาใจใส่ดายหญ้ารอบต้น และรดน้ำทุกวัน ขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิดแม้แต่ดินเลว เช่นดินลูกรัง เจริญได้ดีในดินร่วนปนดินเหนียว ทนแล้งได้ดี ฤดูปลูกที่เหมาะสม คือต้นฤดูฝน ควรหาเศษหญ้าฟางคลุมโคนจนกว่าต้นจะแข็งแรง ควรฉีดยาป้องกันโรคราแป้งและแมลงพวกหนอนเจาะฝัก ด้วงเจาะเมล็ด ในระยะที่เป็นดอกอยู่

ประโยชน์

แก้

อาหาร

แก้
 
มะขามเปียก

มะขามใช้ทำอาหารได้หลายส่วน ทั้งใบอ่อน ฝักอ่อน ฝักแก่ และเมล็ดก็นำมาคั่วรับประทานได้ มะขามเปียกที่ทำจากมะขามฝักแก่เป็นเครื่องปรุงรสเปรี้ยวที่สำคัญในอาหารไทย ทั้งแกงส้ม ต้มส้ม ไข่ลูกเขย น้ำปลาหวาน ยอดและใบมะขามอ่อนนำไปยำหรือใส่ในต้มเพื่อเพิ่มรสเปรี้ยว และยังใช้ทำขนมได้อีกหลายชนิด เช่น มะขามแช่อิ่ม มะขามแก้ว มะขามคลุก มะขามกวน เป็นต้น

ยอดอ่อนและฝักอ่อนมีวิตามิน เอ มาก มะขามเปียกรสเปรี้ยว ทำให้ชุ่มคอ ลดความร้อนของร่างกายได้ดี เนื้อในฝักมะขามที่แก่จัด เรียกว่า "มะขามเปียก" มะขามเปียกอุดมด้วยกรดอินทรีย์ อาทิ กรดซิตริก (Citric Acid) กรดทาร์ทาริก (Tartaric Acid) หรือกรดมาลิก(Malic Acid) เป็นต้น มีคุณสมบัติชำระล้างความสกปรกรูขุมขน คราบไขมันบนผิวหนังได้ดี

สมุนไพร

แก้
  • แก้อาการท้องผูกถ่ายไม่ออก ใช้เนื้อฝักแก่หรือมะขามเปียก 10–30
  • ฝัก (หนักประมาณ 70–150 กรัม) จิ้มกับเกลือรับประทาน หรือใส่เกลือเติมน้ำคั้นดื่ม
  • แก้อาการท้องเดินกองทัพ ใช้เปลือกต้น ทั้งสดหรือแห้งประมาณ 1–2 กำมือ (15–30 กรัม) ต้มกับน้ำปูนใสหรือน้ำรับประทาน
  • ถ่ายพยาธิลำไส้หมา ใช้เมล็ดคั่วกะเทาะเปลือกเอาออกเนื้อในเมล็ดแช่น้ำเกลือจนนุ่ม รับประทานครั้งละ 20–30 เมล็ด เหมาะสำหรับถ่ายพยาธิไส้เดือน
  • แก้ไอขับเสมหะเสลดติดคอ ใช้เนื้อในฝักแก่หรือมะขามเปียกจิ้มเกลือรับประทาน

อื่น ๆ

แก้

เนื้อไม้มะขามใช้ทำเขียง ครก สาก กระดุมเกวียน หรือเผาถ่าน

คติความเชื่อ

แก้

ตามตำราพรหมชาติฉบับหลวง ถือว่ามะขามเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งที่ควรปลูกไว้ทางทิศตะวันตก (ประจิม) ของบ้าน เพื่อป้องกันสิ่งไม่ดี ผีร้ายมิให้มากล้ำกลาย อีกทั้งต้นมะขามยังเป็นต้นไม้ที่มีชื่อเป็นมงคลนาม ถือกันเป็นเคล็ดว่าจะทำให้มีแต่คนเกรงขาม

ชื่อเรียกในภาษาอื่น ๆ

แก้
ภาษา ชื่อเรียก
ทมิฬ ปูลี, ปูลิ
มลายู อาซัม
ลาว หมากขาม
สิงหล สยามบาลา
อินเดีย อะมะลา, อะมะลิกา
อินโดนีเซีย อาซัม
จีน ซวนโต้ว
มอญ แม่งโกล่น

อ้างอิง

แก้
  1. Rivers, M.C.; Mark, J. (2017). "Tamarindus indica". IUCN Red List of Threatened Species. 2017: e.T62020997A62020999. doi:10.2305/IUCN.UK.2017-3.RLTS.T62020997A62020999.en. สืบค้นเมื่อ 19 November 2021.
  2. Speg. Anales Soc. Ci. Argent. 82: 223 1916
  3. "Tamarindus indica L." The Plant List. Royal Botanic Gardens, Kew and the Missouri Botanical Garden. 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-19. สืบค้นเมื่อ 28 February 2017.
  4. Quattrocchi U. (2012). CRC World Dictionary of Medicinal and Poisonous Plants: Common Names, Scientific Names, Eponyms, Synonyms, and Etymology. Boca Raton, Louisiana: CRC Press, Taylor & Francis Group. pp. 3667–3668. ISBN 9781420080445. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-01. สืบค้นเมื่อ 2023-05-13.
  5. USDA; ARS; National Genetic Resources Program (10 February 2005). "Cavaraea Speg". Germplasm Resources Information Network—(GRIN) [Online Database]. National Germplasm Resources Laboratory, Beltsville, Maryland. สืบค้นเมื่อ 28 February 2017.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้