นมเปรี้ยว
นมเปรี้ยว หรือ โยเกิร์ต (อังกฤษ: yoghurt, yogurt, yoghourt (ภาษาอังกฤษใช้คำนี้เรียกรวม ๆ ทั้งนมเปรี้ยวและโยเกิร์ต)) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนมสด นมพร่องมันเนย หรือ นมถั่วเหลือง โดยการใช้แบคทีเรีย แลคโตบาซิลัส เอซิโดซิส และสเตรปโตคอคคัส เทอร์โมฟิลลัส เป็นหลักใส่ลงไปหมักผลิตภัณฑ์นมต่าง ๆ แบคทีเรียเหล่านี้ช่วยย่อยน้ำตาลแล็กโทสในนมให้เป็นกรดแล็กติก ทำให้มีภาวะกรดและมีรสเปรี้ยวโดยมีความเป็นกรด-เบสอยู่ระหว่าง 3.8-4.6 นมเปรี้ยว มี 2 ชนิด คือ ชนิดแรกเป็นนมเปรี้ยวที่มีลักษณะเป็นน้ำคล้ายเครื่องดื่ม อีกชนิดหนึ่งเป็นนมเปรี้ยวที่มีลักษณะเหลวข้นที่เรียกว่า โยเกิร์ต
โยเกิร์ตที่ใส่ในชามตกแต่งด้วยผลไม้และใบสะระแหน่ | |
ประเภท | ผลิตภัณฑ์นม |
---|---|
อุณหภูมิเสิร์ฟ | แช่เย็น |
ส่วนผสมหลัก | นม, แบคทีเรีย |
ประวัติ
แก้นักประวัติศาสตร์มีความเห็นว่า โยเกิร์ตเป็นอาหารที่รวมอยู่ในโภชนาการของชนเผ่าทราเซียน อันเป็นบรรพบุรุษเก่าแก่ที่สุดของชาวบัลแกเรีย ชาวทราเซียนเก่งในการเลี้ยงแกะ คำว่า yog ในภาษาทราเซียน แปลว่า หนาหรือข้น ส่วน urt แปลว่า น้ำนม คำ yoghurt น่าจะได้มาจากการสมาสของคำทั้งสองข้างต้น ในยุคโบราณราวศตวรรษที่ 4 ถึง 6 ก่อนคริสตกาล ชาวทราเซียนมีวิธีการเก็บรักษาน้ำนมไว้ในถุงที่ทำจากหนังแกะ เวลาเดินทางก็เอาถุงนี้คาดเอวไว้ ความอบอุ่นจากร่างกายร่วมกับจุลชีพที่มีอยู่ในหนังแกะ ช่วยให้เกิดปฏิกิริยาการหมักขึ้น น้ำนมในถุงก็กลายสภาพเป็นโยเกิร์ตไป
นักวิทยาศาสตร์บางคนสันนิษฐานว่า สิ่งที่มีมาก่อนโยเกิร์ตน่าจะเป็นน้ำนมหมักที่ใช้ดื่ม เรียกว่า คูมิส (Kumis) น้ำนมชนิดนี้ทำมาจากน้ำนมม้า โดยชนเผ่าที่มาอยู่ก่อนหน้าชาวบัลแกเรีย เช่น ชนเผ่าที่เร่ร่อนที่อพยพย้ายถิ่นฐานจากทวีปเอเชียมายังคาบสมุทรบอลข่าน ในปี ค.ศ. 681
ในยุโรปตะวันตก โยเกิร์ตปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในศตวรรษที่ 16 ในราชสำนักของพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 แห่งฝรั่งเศส ครั้งนั้นกษัตริย์พระองค์นี้ประชวร มีพระอาการปั่นป่วนในท้อง แพทย์ชาวตุรกีผู้หนึ่งจึงทำการรักษาโดยให้เสวยโยเกิร์ตที่นำมาจากบัลแกเรีย เรื่องนี้ศาสตราจารย์คริสโต โชมาคอฟ รายงานไว้ในหนังสือ Bulgarian Yoghurt-Health and Longevity
ประโยชน์
แก้นมเปรี้ยวเป็นอาหารที่ให้คุณค่าทางโภชนาการดีกว่านมสด เช่น โปรตีนเคซีนในนมเปรี้ยวจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่อร่างกายได้ดีกว่า เพราะย่อยสลายได้ง่ายกว่า[1] ดร.โยชิโร ชิมาซากิ ศึกษาว่าการกินนมเปรี้ยวที่มีกรดน้ำนมจะช่วยรักษาอนามัยปาก ป้องกันไม่ให้เป็นรำมะนาด[2]
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-29. สืบค้นเมื่อ 2007-08-28.
- ↑ http://www.thairath.co.th/news.php?section=technology&content=81219