พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี
พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี[1][2] หรือ หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองอุตรดิตถ์[1] มีพุทธลักษณะปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์บริสุทธิ์ หน้าตักกว้างศอกเศษ มีพุทธลักษณะงดงามตามแบบอย่างสกุลช่างสุโขทัย-เชียงแสน ซึ่งเป็นแบบที่พบได้น้อยมากและหายากที่สุด[6]
พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี | |
---|---|
ชื่อเต็ม | พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี[1][2] |
ชื่อสามัญ | หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์, หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์, หลวงพ่อสุโขทัย, หลวงพ่อสัมฤทธิ์ |
ประเภท | พระพุทธรูปโบราณศักดิ์สิทธิ์ |
ศิลปะ | ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย[3] -เชียงแสนชั้นครู (เชียงแสนแปลง หรือแบบท่านมหาสวน) [4] |
ความกว้าง | 1 ศอก 13 นิ้ว |
ความสูง | 2 ศอก 8 นิ้ว (ตลอดถึงพระรัศมี)[5] |
วัสดุ | สำริดโบราณ |
สถานที่ประดิษฐาน | วัดคุ้งตะเภา |
ความสำคัญ | พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดอุตรดิตถ์[1] |
หมายเหตุ | เปิดให้ประชาชนเข้าสักการะได้ทุกวัน |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี เดิมองค์พระถูกพอกปูนลงรักปิดทองอารักขาภัยไว้ ตัวองค์พระสำริดดังปรากฏในปัจจุบันนั้นสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยแรกก่อตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 181 สกุลช่างเชียงแสนยุคปลายผสมสกุลช่างสุโขทัยยุคต้น หรือในช่วงยุครอยต่อการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย เป็นรัชสมัยระหว่างพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กับพญาลิไท มีอายุประมาณ 7-800 ปี[4] มีประวัติความเป็นมาและอภินิหารที่น่าสนใจยิ่ง[7]
หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี ประดิษฐานอยู่ที่ วัดคุ้งตะเภา หมู่บ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เดิมนั้นทางวัดไม่เปิดเผยสถานที่ประดิษฐาน และไม่ให้บุคคลทั่วไปเข้าสักการะได้ถึงองค์พระ เนื่องด้วยปัญหาด้านการรักษาความปลอดภัย โดยจะอัญเชิญหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีออกให้ประชาชนทั่วไปนมัสการได้ถึงตัวองค์พระเพียงในช่วงเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น
ปัจจุบัน วัดคุ้งตะเภา ได้สร้างห้องตู้กระจกนิรภัย พร้อมทั้งติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยอิเล็กทรอนิกส์แล้ว จึงทำให้สามารถเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าสักการะได้ทุกวัน โดยปัจจุบันหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีประดิษฐานอยู่ที่หอพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี บนอาคารศาลาการเปรียญเฉลิมพระเกียรติฯ วัดคุ้งตะเภา
ความสำคัญ
แก้หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี เป็นพระพุทธรูปโบราณศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่เป็นที่เคารพนับถือ 1 ใน 2 องค์ ของตำบลคุ้งตะเภา และเป็นพระพุทธรูปโบราณสำคัญคู่บ้านคู่เมือง 1 ใน 9 องค์ ของจังหวัดอุตรดิตถ์[8] เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดอุตรดิตถ์"[1] ที่อัญเชิญมาจากวัดราชบูรณะราชวรวิหารในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
พระพุทธรูปองค์นี้มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวข้องกับช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์สำคัญ ๆ ของประเทศไทยหลายครั้ง และมีความเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ เนื่องจากหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีเป็นพระพุทธรูปโบราณที่มีประวัติความเป็นมาผ่านช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ชาติไทยกว่า 800 ปี ล่วงเลยแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีจนถึงปัจจุบัน
ศิลปะ
แก้หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี จัดเป็นพระพุทธรูปเนื้อโลหะสัมฤทธิ์ปางมารวิชัยศิลปะสกุลสุโขทัย-เชียงแสนแปลง แบบท่านมหาสวน ปัจจุบันปรากฏเพียง 4 องค์ในประเทศไทย [4]โดยแบ่งเป็นปางขัดสมาธิราบ 2 องค์ (ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร) และปางมารวิชัยอีก 2 องค์ คือองค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี (วัดคุ้งตะเภา) และองค์หลวงพ่อเชียงแสน (วัดธรรมาธิปไตย) แต่องค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยแบบท่านมหาสวนเพียงองค์เดียว ที่มีพุทธลักษณะตามขนบอินเดียโบราณคือ พระหัตถ์ไม่ได้วางบนพระหนุ (เข่า) แต่วางบนพระชงค์ และนิ้วพระหัตถ์แตะพื้นดิน (ฐาน) บอกแม่พระธรณี อันเป็นพุทธลักษณะสำคัญที่เนื่องด้วยปางมารวิชัยตามความในพระไตรปิฎกตอนพระพุทธองค์ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ผศ.เขียน ยิ้มศิริ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร ศิลปินชั้นเยี่ยมสาขาจิตรกรรม กล่าวยกย่องคุณค่าทางศิลปะของพระพุทธรูปแบบหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีไว้ในหนังสือของท่านว่า พระพุทธรูปแบบท่านมหาสวนเช่นนี้ "เป็นศิลปะชั้นครู (Masterpiece)" ซึ่งนับว่าหายากมาก ทั้งหมดมีขนาดเท่ากันคือขนาดเท่าคน มีจุดเด่นที่พระพักตร์อันสงบงามยิ่ง โดย ผศ.เขียน ยิ้มศิริ ยกย่องพระพุทธรูปแบบหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีไว้ในหนังสือพุทธานุสรณ์ว่า
...อารมณ์การแสดงออกของท่านมีความสงบเป็นสำคัญ ยิ่งดูท่านนานเพียงไร ก็ยิ่งจับใจในความสง่างามของท่านยิ่งขึ้นเพียงนั้น...
— ผศ.เขียน ยิ้มศิริ
ผศ.เขียน ยิ้มศิริ กล่าวอีกว่าพระพุทธสิหิงค์ (องค์ที่ประดิษฐานในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร) ไม่สามารถอัญเชิญมาเปรียบเทียบความงดงามสู้กับพระพุทธรูปแบบหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีได้เลย เพราะพระพุทธรูปแบบหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีนับว่ามีจิตวิญญาณภายในมากกว่า ดังนั้นจึงนับได้ว่าในด้านความมีวิญญาณผุดผ่องภายในเชิงศิลปะของหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีนั้นนับได้ว่าเป็นเลิศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผศ.เขียน ยิ้มศิริ ได้สรุปสันนิษฐานไว้เป็นแนวคิดของท่านว่า พระพุทธรูปแบบหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีนั้น สร้างขึ้นโดย "ผู้มีภูมิสง่าราวกับกษัตริย์"[4][10] หรือสร้างขึ้นโดยผู้มีบุญบารมีหรือโดยพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์เพื่อประดิษฐานเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองนั่นเอง
ประวัติ
แก้แรกสร้างในสมัยเชียงแสน-สุโขทัย
แก้หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี เป็นพระพุทธรูปโบราณศักดิ์สิทธิ์ สร้างในสมัยก่อนตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เมื่อกว่า 800 ปีก่อน สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสำคัญของพระวิหารในวัดโบราณแห่งใดแห่งหนึ่งยุคนั้น
เมื่อมีข้าศึกประชิดเมือง ชาวบ้านเกรงว่าหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีจะได้รับอันตราย จึงได้พอกปูนองค์หลวงพ่อไว้เพื่อกันภัยจากข้าศึก ต่อมาเมื่อเมืองพ่ายแก่ข้าศึก และเสื่อมความสำคัญในฐานะเมืองหลวงแห่งอาณาจักรลง ทำให้วัดที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อต้องมีอันร้างพระสงฆ์และผู้คน พร้อม ๆ กับ หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ที่ข้าศึกไม่สนใจ เพราะเป็นพระพุทธรูปปูน (ที่ถูกหุ้มไว้) ไม่ใช่พระเนื้อโลหะอย่างที่ข้าศึกต้องการ องค์หลวงพ่อจึงถูกทิ้งร้างอย่างปลอดภัยอยู่กลางป่ามาตลอดช่วงสมัยอยุธยา
สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
แก้จวบจนยุคสมัยก้าวล่วงเข้าสู่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้เสด็จไปการพระราชสงครามยังหัวเมืองเหนือ ได้ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรูปซึ่งอยู่ ณ เมืองเก่าสุโขทัย ทั้งที่เป็นพระปูน พระโลหะ ซึ่งถูกทอดทิ้งไว้ ได้ทรงมีพระราชศรัทธาที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จึงได้ทรงออกกระแสพระบรมราชโองการให้อัญเชิญพระพุทธรูปจากสุโขทัย รวมทั้งองค์หลวงพ่อ พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี ให้มาประดิษฐานไว้ ณ กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2337 ความว่า
“ | ...ศุภมัสดุ พระพุทธศักราชล่วงแล้ว ๒๓๒๗ พระวะษา ตยุลศักราช ๑๑๕๖ ปีขาล ฉ้อศก ณ วัน ๕ฯ๙ ค่ำ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมธรรมิกะมหาราชาธิราชเจ้า พระองค์ปรารถนาพระบรมโพธิญาณ ทรงพระราชศรัทธาธิคุณเปนอัคะสาสะนูปะถำ พกพระพุทธสาศนา ทรงพระราชกุศลจินดาไมยญาณไปว่า พระพุทธรูปพระนครใดที่ท่านผู้ทานาธิบดีศรัทธาสร้างไว้แต่ก่อน บัดนี้หามีผู้ทำนุกบำรุงปติสังขรณะไม่ ประหลักหักพังยับเยือนเปนอันมาก เปนที่หมิ่นปรมาทแห่งบุทคลอันทพาลแลมฤทาทิฐิ ทรงพระราชดำริไปก็บังเกิดสังเวดในพระบรมพุทธาวิฐารคณเปนอันมาก จึ่งมี พระราชบริหารดำหรัส สั่งให้ พญารักษมณเทียรกรมวังหลวง สมเด็จพระขรรคกรมพระแสงใน ขึ้นไปเชิญเสด็จพระพุทธรูปณะเมืองศุกโขไทย ผู้รั้งกรมการกับข้าหลวงจัดเรือขนาบมีร่มตลอดหัวท้าย มีฉัตรธงปักรายแคมแล้วเชิญเสด็จพระพุทธรูปเจ้าลงเรือล่องมายังกรุงเทพมหานคร ศรีอยุธยา จึ่งเชิญขึ้นประดิษถานไว้ ณะพระอารามพระเชตุพน มาถึง ณ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีขาล ฉ้อศก”..."[11]” | ” |
การอัญเชิญมารวบรวมไว้ในพระนคร ครั้งนี้ ก็เพื่อรออัญเชิญประดิษฐานไว้ในที่อันสมควรแก่การสักการบูชา โดยการอัญเชิญพระพุทธรูปจากหัวเมืองเหนือมายังกรุงเทพมหานครในครั้งนี้ มีจำนวนกว่า 1,248 องค์ ซึ่งพระพุทธรูปปูนปั้นหุ้มหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ก็ได้ถูกอัญเชิญลงมาในคราวเดียวกันนี้ ในการนั้น ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระพุทธรูปจากเมืองสุโขทัยและหัวเมืองเหนือที่ได้รวบรวมมา ประดิษฐานไว้ ณ พระวิหารคตวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ที่ทรงบูรณปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2344
ลุจุลศักราช 1855 เอกศก (พ.ศ. 2336) สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตัน กรมหลวงเทพหริรักษ์ พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางเธอในรัชกาลที่ 1 ทรงทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเลียบเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระราชทานนามวัดว่า "วัดราชบุรณราชวรวิหาร" ตามนามวัดราชบุรณะซึ่งเป็นวัดคู่เมืองราชธานีตลอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และได้มีพระบรมราชูปถัมภ์ในการบูรณปฏิสังขรณ์ด้วย
ต่อมา ในรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ถอนสีมาวัดเลียบเก่า แล้วสร้างพระอุโบสถและพระวิหารใหม่ พร้อมกับทำการสร้างพระระเบียงล้อมรอบพระอุโบสถ ภายในอัญเชิญพระพุทธรูปปูนเก่า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาจากหัวเมืองเหนือรวม 162 องค์ มาประดิษฐานไว้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือองค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ด้วย[12]
รอดจากระเบิดสัมพันธมิตร (สงครามโลกครั้งที่ 2)
แก้เวลาล่วงเลยมากว่า 7 รัชสมัย จนถึงช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดราชบุรณะได้ถูกระเบิดจากเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรทำลาย เนื่องจากใกล้กับวัดเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าวัดเลียบที่สร้างมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2440 ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นจุดสำคัญที่หมายสำหรับการทำลายของเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร เพราะเป็นที่ตั้งของแหล่งสาธารณูปโภคสำคัญของพระนคร
โดยวัดราชบุรณะถูกระเบิดทำลายลงในเวลาประมาณ 13.15 น. ของวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2488[12] ทำให้พระอุโบสถ สังฆาราม พระวิหาร และ กุฏิเสนาสนะ เสียหายมาก คงเหลือแต่พระะปรางค์และพระระเบียงคตที่ประดิษฐานหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีเท่านั้นที่ไม่ถูกทำลาย แต่ด้วยความเสียหายอย่างหนักของวัดยากแก่การบูรณะให้มีสภาพดังเดิม คณะสังฆมนตรีและคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นมีมติว่าสมควรยุบเลิกวัดเสีย จึงนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และได้รับพระบรมราชานุญาตให้ทำการยุบเลิกวัดได้ ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2488[13]
เมื่อวัดราชบูรณะถูกยุบเลิก สังฆมนตรีได้ประกาศยุบวัดราชบุรณราชวรวิหารรวมไปเข้ากับวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร และบรรดาทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ของวัดราชบุรณะที่เหลือรอดจากการถูกทำลายให้โอนไปเป็นสมบัติของวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร พระสงฆ์และสามเณรวัดราชบุรณราชวรมหาวิหารเดิมให้เข้าถือสังกัดอยู่ในวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
เมื่อวัดราชบุรณราชวรมหาวิหารถูกยุบเลิกดังกล่าว กรมการศาสนาจึงได้อนุญาตให้วัดต่าง ๆ ในหัวเมือง อัญเชิญพระพุทธรูปปูนปั้นโบราณที่พระระเบียงที่รอดจากการถูกทำลาย ไปประดิษฐานยังวัดของตนได้ตามแต่ประสงค์ ทำให้หลังจากสงครามสงบลงในปีเดียวกัน พระพุทธรูปเหล่านั้นจึงกระจายไปอยู่ตามวัดต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคของประเทศ[12]
อัญเชิญขึ้นมายังอุตรดิตถ์
แก้- อัญเชิญจากกรุงเทพมหานคร
วัดคุ้งตะเภา ซึ่งในสมัยนั้นกำลังทำการก่อสร้างอุโบสถ และยังไม่มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่สำหรับเป็นพระประธานเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงได้แจ้งความจำนงขอรับพระพุทธรูปเก่าจากวัดราชบุรณราชวรวิหารมาองค์หนึ่ง กรมการศาสนาจึงได้ส่งพระพุทธรูปโบราณทั้งที่เป็นพระปูนพระสัมฤทธิ์ รวมทั้งองค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีที่เคยประดิษฐานที่พระระเบียงคต รวมจำนวน 8 องค์ คู่กับรูปหล่อสัมฤทธิ์พระอัครสาวกที่เคยประดิษฐานเป็นพระอสีติมหาสาวก 80 องค์ ภายในวิหารซึ่งเป็นพระที่รอดจากการทำลายจากระเบิดสัมพันธมิตรในครั้งนั้นมาด้วย
- พระพุทธรูปองค์อื่นที่อัญเชิญมาจากวัดราชบุรณะในคราวเดียวกัน
การอัญเชิญพระจากวัดราชบุรณราชวรวิหารในครั้งนั้น วัดในจังหวัดอุตรดิตถ์ที่ลงไปขอพระพุทธรูปจากวัดราชบุรณราชวรวิหาร เท่าที่ทราบนามในปัจจุบันมีด้วยกันห้าวัดคือ วัดคุ้งตะเภา (อัญเชิญ หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี กลับมา) , วัดธรรมาธิปไตย (อัญเชิญ หลวงพ่อเชียงแสน กลับมา), วัดยางโทน (อัญเชิญหลวงพ่อพระพุทธโคดมศรีศากยมุนีกลับมา), วัดดอนไชย อำเภอลับแล (อัญเชิญพระพุทธรูปศิลปสุโขทัยกลับมา) [14] และวัดดงสระแก้ว (อัญเชิญ หลวงพ่ออู่ทอง (ทองคำ) กลับมา2) โดยตอนอัญเชิญพระพุทธรูปกลับมานั้น ได้มาเพียงพระปูนปั้นธรรมดา (วัดคุ้งตะเภาได้พระปูนลงรักดำสนิทมา) แต่ต่อมาพระปูนทั้งหมดก็ได้กะเทาะแตกออกเป็นพระโลหะสำริดและทองคำดังในปัจจุบัน
- ประดิษฐาน ณ วัดธรรมาธิปไตย
สำหรับการเคลื่อนย้ายนั้น กรมการศาสนาได้ชะลอหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีและพระพุทธรูปอื่น ๆ ขึ้นมายังจังหวัดอุตรดิตถ์โดยทางรถไฟมาลงที่สถานีรถไฟศิลาอาสน์ และอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นการชั่วคราวที่วัดธรรมาธิปไตย ซึ่งเป็นวัดของพระเดชพระคุณพระสุธรรมเมธี (บันลือ ธมฺมธโช ป.ธ.๘) เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ในขณะนั้น โดยท่านได้ทำการจัดแบ่งถวายยังวัดต่าง ๆ ที่แจ้งความประสงค์มาโดยการเลือกบ้างจับสลากบ้าง พระปลัดป่วน ซึ่งยังเป็นเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภาในครั้งนั้นจึงได้ส่งมัคนายกวัดคุ้งตะเภา 2 ท่าน คือทายกบุตร ดีจันทร์ และทายกอินทร์ รัตนมาโต มาที่วัดธรรมาธิปไตยเพื่อคัดเลือกและรับอัญเชิญพระพุทธรูปหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีมายังวัดคุ้งตะเภา โดยได้รับถวายรูปหล่อพระอัครสาวกมาจำนวน 2 องค์เพื่อประดิษฐานคู่กับหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีด้วย (ปัจจุบันรูปพระอัครสาวกทั้งสองได้สูญหายไปนานแล้ว)
- อัญเชิญสู่วัดคุ้งตะเภา-สำแดงปาฏิหาริย์
การเคลื่อนย้ายหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีมายังวัดคุ้งตะเภาในครั้งนั้น ทายกทั้งสองได้ชวนคนวัดและชาวบ้านร่วมกันอัญเชิญมาลงที่ท่าอิฐไม่ไกลจากวัดธรรมาธิปไตย และทวนแพมาขึ้นฝั่งหน้าวัดคุ้งตะเภาโดยทางแม่น้ำน่านในช่วงสงกรานต์ปี พ.ศ. 2489 ในครั้งนั้นเล่ากันมาว่ามีน้ำหลากสูงเต็มตลิ่งผิดปกติ ทำให้ชาวบ้านสามารถอัญเชิญหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีขึ้นฝั่งตรงหน้าวัดบริเวณต้นโพธิ์หน้าศาลาการเปรียญได้เป็นอัศจรรย์
ในช่วงแรก ชาวบ้านคุ้งตะเภาได้ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ไว้เป็นพระประธานบนบนศาลาการเปรียญเปิดโล่งสี่ทิศ หรืออาคารศาลาการเปรียญหลังเก่าที่สร้างมาแต่ พ.ศ. 2472 ซึ่งเป็นศาสนสถานหลักของวัดในสมัยนั้นก่อนจะมีการสร้างอุโบสถเพื่อประดิษฐานในช่วงหลัง โดยผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบมาว่าหลังอัญเชิญหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีมาประดิษฐานเป็นหลักชัยของวัดในปี พ.ศ. 2489 ได้มีฝนตกต้องตามฤดูกาลเสมอมา ชาวบ้านคุ้งตะเภาในช่วงนั้นหากินได้อุดมสมบูรณ์มากกว่าปกติ และต่างเชื่อกันว่าเป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากวัดราชบุรณะ ในภายหลังจึงได้การขนานพระนามถวายองค์พระว่า "หลวงพ่อสัมฤทธิ์" ที่แปลว่า พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่บันดาลความสุขอุดมสมบูรณ์และความสำเร็จดังปรารถนามาให้ และด้วยพระพุทธลักษณะแบบเชียงแสน-สุโขทัย ทำให้ในช่วงหลังพระสงฆ์ในวัดเรียกกันคุ้นปากว่า "หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์" ที่มีความหมายถึงความสุขเช่นเดียวกัน
- การอารักขาภัย
ต่อมาในช่วงหน้าพรรษาปี พ.ศ. 2500 ได้มีลมพายุพัดรุนแรงมากจนทำให้กิ่งไม้หักถูกศาลาการเปรียญต้ององค์พระปูนปั้นหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ชำรุดจนเห็นเนื้อภายใน ทำให้พระสงฆ์วัดคุ้งตะเภาได้ทราบว่าพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาแต่วัดราชบุรณะนั้นเป็นพระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์โบราณ จึงได้อัญเชิญไปประดิษฐานในอุโบสถของวัดคู่กับหลวงพ่อสุวรรณเภตรา พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญประจำวัดคุ้งตะเภา ปะปนกับพระพุทธรูปองค์อื่น ๆ โดยไม่ได้เปิดเผยว่าเป็นพระเนื้อสัมฤทธิ์โบราณ และมีพระสงฆ์วัดคุ้งตะเภาเข้าจำพรรษาเฝ้าระวังหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ทุกพรรษาในอุโบสถ ทำให้ในช่วงหลังนามหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ได้ลืมเลือนไปจากชาวบ้านรุ่นที่ทันเห็นในคราวที่ยังเป็นพระพุทธรูปปูน จนถึงกลางปี พ.ศ. 2537 มีการบูรณะอุโบสถวัดคุ้งตะเภา พระสงฆ์จึงได้อัญเชิญองค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์เข้าประดิษฐานยังห้องลับของวัดจนถึงปี พ.ศ. 2552 จึงได้อัญเชิญองค์หลวงพ่อออกประดิษฐานให้ประชาชนสักการะเป็นการชั่วคราวในเทศกาลสงกรานต์ และในปี พ.ศ. 2553 วัดคุ้งตะเภาได้สร้างตู้กระจกนิรภัยพร้อมกับติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยอิเล็กทรอนิกส์บนอาคารศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภา และได้อัญเชิญองค์หลวงพ่อขึ้นประดิษฐานในหอพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีประสิทธิมงคล เปิดโอกาสให้ประชาชนสักการะเป็นการถาวรจนถึงปัจจุบัน
- งานนมัสการหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี
หลังจากที่วัดคุ้งตะเภาได้อัญเชิญหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี กลับมาสู่แดนมาตุภูมิ (แถบนี้เคยเป็นหัวเมืองของกรุงสุโขทัยในอดีต) ก็มิได้มีการเปิดให้สักการบูชาและเปิดเผยองค์หลวงพ่ออย่างเป็นทางการเช่นในอดีต เนื่องจากปัญหาด้านการรักษาความปลอดภัย เพราะองค์หลวงพ่อเป็นโบราณวัตถุที่ประเมินค่ามิได้ และเป็นที่ปรารถนาสำหรับพ่อค้าวัตถุโบราณ ทำให้ทางวัดจำเป็นต้องเก็บงำปูชนียวัตถุโบราณสำคัญยิ่งของชาติชิ้นนี้ไว้ในสถานที่ต่าง ๆ ภายในวัดโดยไม่ได้เปิดเผยให้ประชาชนทั่วไปทราบมานานกว่า 60 ปี
ในปี พ.ศ. 2552 วัดคุ้งตะเภาจึงได้ทำการเปิดเผยองค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้สักการะปิดทองสรงน้ำได้ถึงองค์พระ โดยจะอัญเชิญหลวงพ่อมาประดิษฐานให้ประชาชนทำการสักการบูชาได้เฉพาะในช่วง เทศกาลสงกรานต์เท่านั้น
จนในปี พ.ศ. 2553 วัดคุ้งตะเภาได้ทำการอัญเชิญองค์หลวงพ่อขึ้นประดิษฐานเป็นการถาวรบนอาคารศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภา และเปิดโอกาสให้ประชาชนสักการะได้ทุกวัน
- ได้รับถวายพระนามและยกย่องเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองอุตรดิตถ์
ด้วยฤทธานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ขององค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี และพระพุทธศิลปะแบบสุโขทัย-เชียงแสน ที่หาชมได้ยากยิ่ง ทำให้ในปี พ.ศ. 2552 สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์ จึงได้ยกย่ององค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีเป็นพระพุทธรูปโบราณศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมือง 1 ใน 9 องค์ ของจังหวัดอุตรดิตถ์ และวัดคุ้งตะเภาถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในเส้นทางทำบุญไหว้พระ 9 วัด ของจังหวัดอุตรดิตถ์อีกด้วย[8]
และเนื่องในมหาศุภวาระมงคลดิถีสัมพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี (การฉลอง 26 พุทธศตวรรษ แห่งการตรัสรู้) ในปี พ.ศ. 2555 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร องค์พระสังฆบิดรแห่งคณะสงฆ์ไทย จึงได้มีพระเมตตาธิคุณเปลี่ยนถวายพระนามองค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีใหม่ให้สอดคล้องกับชื่อจังหวัดอุตรดิตถ์ จากพระนามเดิม หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์ เป็น พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี[2]
โดยปรากฏข้อความทรงยกย่องในหนังสือตอบการประทานพระนามจากสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช[1] ว่า
...เนื่องด้วย... เป็นพระพุทธรูปโบราณสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ ปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน-สุโขทัย เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดอุตรดิตถ์...
และการที่มีพระเมตตาธิคุณประทานเปลี่ยนพระนามใหม่ให้เป็น พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี นั้น เพื่อให้คล้องกับพระนามเดิมที่รู้จักกันทั่วไป และต่อสร้อยให้คล้องกับนามจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[2] องค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีจึงมีพระนามใหม่ตั้งแต่นั้นมา
สำหรับประวัติโดยละเอียดของหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ วิกิซอร์ซ เก็บถาวร 2008-06-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
สถานที่ประดิษฐาน
แก้ปัจจุบันหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีประดิษฐานอยู่ที่ วัดคุ้งตะเภา หมู่บ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เดิมนั้น ทางวัดเก็บรักษาไว้ที่ห้องลับของทางวัด ทำให้ปกติมิได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้านมัสการได้ถึงตัวองค์พระ เนื่องจากปัญหาด้านความปลอดภัย วัดคุ้งตะเภาจะอัญเชิญหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีออกให้ประชาชนทั่วไปนมัสการได้ถึงตัวองค์พระเพียงวันเดียวในช่วงเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น โดยหากเป็นนอกช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผู้ประสงค์สักการะถึงองค์พระต้องทำหนังสือขออนุญาตถึงเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภาอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากการพิจารณาของที่ประชุมพระสังฆาธิการและคณะกรรมการวัดคุ้งตะเภา ซึ่งจะได้รับอนุญาตให้เข้าชมสักการะได้เฉพาะราย และจัดชุดเข้าสักการะได้เป็นคราว ๆ ไปเท่านั้น
แต่ในปัจจุบัน วัดคุ้งตะเภาได้สร้างห้องตู้กระจกนิรภัย พร้อมทั้งติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยอิเล็กทรอนิกส์แล้ว จึงทำให้สามารถเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าสักการะได้ทุกวัน โดยปัจจุบันหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีประดิษฐานอยู่ที่หอพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีประสิทธิมงคล (อาคารทิศตะวันตก) บนอาคารศาลาการเปรียญเฉลิมพระเกียรติฯ วัดคุ้งตะเภา
คำกล่าวสักการบูชาหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี
แก้คาถาบูชาหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี
แก้- นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
- นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
- นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
- “อิมัสสะมิง เภตะระนะทีตีระอาราเม
- อัคคะสิทธัตถะโลหะมะยัง สุโขทัยยัง นาม พุทธะปะฏิมัง
- สิระสา นะมามิหัง
- อิมิสสานุภาเวนะ สัพพะโสตถี ภะวันตุ เมฯ”
คำแปลคาถาบูชาหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี
แก้- “ข้าพเจ้า ขอบูชาองค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี
- ด้วยบุญญานุภาพ แห่งองค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี
- ขอความร่มเย็นเป็นสุข และความสำเร็จสัมฤทธิ์ดังปรารถนาทั้งมวล
- จงบังเกิดมีแก่ข้าพเจ้าด้วยเทอญฯ”
-
หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี เมื่อคราวอัญเชิญออกประดิษฐานให้ประชาชนสักการะในงานเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2552
-
ศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภาหลังเก่า สถานที่แรกประดิษฐานหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีในวัดคุ้งตะเภาในช่วงก่อน พ.ศ. 2500
-
สถานที่แม่น้ำน่านเต็มตลิ่งเป็นอัศจรรย์ เป็นเหตุให้สามารถอัญเชิญหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีลงแพเพื่อขึ้นฝั่งแม่น้ำหน้าวัดคุ้งตะเภาได้
เชิงอรรถ
แก้หมายเหตุ 1: อีกนัยหนึ่ง พระพุทธรูปนี้จัดเข้าในลักษณะพระพุทธรูปสำริด ศิลปะล้านนา ระยะที่ ๒ หมวด ๒ ราวครึ่งแรกพุทธศตวรรรษที่ ๑๘ สันนิษฐานว่าอาจได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย ระหว่างรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระญาลิไท) ราว พ.ศ. ๑๘๙๐ - ๑๙๑๑[15] หรือได้รับอิทธิพลโดยตรงจากศิลปะลังกา สมัยโปโลนนารุวะ (พ.ศ. ๑๕๓๖ - ๑๗๗๙) และสมัยแยกอาณาจักรในช่วงระยะเวลาเดียวกับศิลปะสุโขทัย ซึ่งพระพุทธรูปในหมวดนี้ล้วนสร้างขึ้นอย่างปราณีตด้วยศิลปะชั้นสูง ผลงานประติมากรรมชิ้นเยี่ยมที่สะท้อนถึงลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน และสุนทรียภาพอันงดงาม [16]
หมายเหตุ 2: หลวงพ่ออู่ทอง ถูกโจรกรรมจากวัดดงสระแก้วไปในปี พ.ศ. 2522 ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้คืน
ดูเพิ่ม
แก้- พระพุทธสุวรรณเภตรา พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญ 1 ใน 2 องค์ของวัดคุ้งตะเภา
- วัดคุ้งตะเภา จังหวัดอุตรดิตถ์ สถานที่ประดิษฐานในปัจจุบัน
- วัดราชบุรณราชวรวิหาร (วัดเลียบ) กรุงเทพมหานคร
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 หนังสือสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ที่ พ ๐๔๓๗/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เรื่อง ประทานนามพระพุทธรูป
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช. (๒๕๕๕). ประทานบัตรพระนามพระพุทธรูป พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี. ลงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ, เล่ม 104, ตอน 235, 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530, หน้า 10-11.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 เขียน ยิ้มศิริ และมานิต วัลลิโภดม. (2500). พุทธานุสรณ์. กรุงเทพฯ : (ม.ป.ท.).
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ, เล่ม 104, ตอน 235, 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530, หน้า 10-11.
- ↑ ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ กรมการพลังงานทหาร. (2553). พระพุทธรูปคู่บ่อน้ำมันฝาง. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.npdc.mi.th/Npdc/buddha.htm เก็บถาวร 2010-06-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ เทวประภาส มากคล้าย. (2552). สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น : ประเพณีวัฒนธรรมและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของวัดและหมู่บ้านคุ้งตะเภา. อุตรดิตถ์ : พงษ์วิทยาการพิมพ์.
- ↑ 8.0 8.1 สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (2552). ข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์-พระพุทธรูปสำคัญในจังหวัดอุตรดิตถ์. [ออนไลน์]. แหล่งข้อมูล : http://utt.onab.go.th/download/serviceutt/128.doc เก็บถาวร 2011-05-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกข้อมูลเมื่อ 13-6-52
- ↑ สุพจน์ สิงห์สาย. (2542). 19 ศิลปินชั้นเยี่ยม (Artists of Distinction) . [ออน-ไลน์]. แหล่งข้อมูล : http://www.khonnaruk.com/html/19artist/19artist_02.html เก็บถาวร 2006-03-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ _______. (ม.ป.ป.). ประวัติพระพุทธรูปบูชาฉบับพิสดาร. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ลูก ส.ธรรมภักดี. หน้า 463, 549-551.
- ↑ “เรื่องกระแสพระบรมราชโองการ ให้อัญเชิญพระพทุธรูปจากสุโขทัยมาประดิษฐานไว้ ณ กรงุเทพฯ จ.ศ. 1156 (พ.ศ. 2337),” 2337. เอกสารต้นฉบับ: สมุดไทยดา อักษรไทย ภาษาไทย เส้นรงค์สีเหลือง. เลขทะเบียน: เลขที่ 9/ก. สถานที่เก็บ: ห้องเอกสารโบราณ หอสมุดแห่งชาติ.
- ↑ 12.0 12.1 12.2 วัดราชบุรณราชวรวิหาร. (2538). ประวัติวัดราชบูรณราชวรวิหาร และผลงานของพระเดชพระคุณพระราชพฤฒาจารย์ (เชียง อินฺทโชโต)[ลิงก์เสีย]. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สหธรรมิก. หน้า (12) - (14), 13, 21, 23-24, 81
- ↑ กระทรวงศึกษาธิการ. (2488, 30 กรกฎาคม). ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ยุบเลิกพระอารามหลวง.
- ↑ หวน พินธุพันธ์. (2521). อุตรดิตถ์ของเรา. กรุงเทพฯ: กรุงสยามการพิมพ์. หน้า 90
- ↑ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล. (๒๕๔๖). ศิลปะในประเทศไทย. กรุงเทพ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลยัยธรรมศาตร์. หน้า ๒๒
- ↑ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร. (๒๕๕๑). วัดเบญจมบพิตรและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วัดเบญจมบพิตร พระพุทธรุปสำคัญ ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์. หน้า ๑๕
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี พระพุทธรูปโบราณศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอุตรดิตถ์ อายุ ๘๐๐ ปี[ลิงก์เสีย]. เว็บไซต์สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์.
- วีดิทัศน์ ประวัติหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี (The History of Phra Buddha Sukothai Samrit). เว็บไซต์ยูทูบ (YouTube).