วิทยาลัยระหว่างประเทศศึกษาชั้นสูงพอล เอช. นิทซ์
บทความนี้อาจต้องการตรวจสอบต้นฉบับ ในด้านไวยากรณ์ รูปแบบการเขียน การเรียบเรียง คุณภาพ หรือการสะกด คุณสามารถช่วยพัฒนาบทความได้ |
วิทยาลัยระหว่างประเทศศึกษาชั้นสูงพอล เอช. นิทซ์ (อังกฤษ: The Paul H. Nitze School of Advanced International Studies ตัวย่อ SAIS (อ่านว่า ไซส์)) เป็นบัณฑิตวิทยาลัยในสังกัดมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ ตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นหนึ่งในสถาบันชั้นนำของโลกที่จัดการเรียนการสอนและการวิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐศาสตร์ การทูต และนโยบายระหว่างประเทศ[1]
ประวัติ
แก้SAIS สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2486 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกลุ่มผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐอเมริกาที่ต้องการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรสำหรับสหรัฐอเมริกาซึ่งได้กลายเป็นมหาอำนาจของโลกภายหลังสงคราม โดย พอล เอ็ช. นิทซ์ (Paul H. Nitze) ซึ่งมีบทบาทในการจัดทำเอกสาร NSC-68 เพื่อกำหนดนโยบายของสหรัฐอเมริกาต่อโซเวียตในยุคสงครามเย็น[2] และ คริสเตียน เฮอร์เทอร์ (Christian Herter) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา และเข้าสังกัดกับมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ เมื่อ พ.ศ. 2493
SAIS เป็นศูนย์กลางของการอภิปรายประเด็นสำคัญในการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยมีคณาจารย์ที่ได้รับการยอมรับทั้งในวงวิชาการและวงการของผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐอเมริกา
ที่ตั้ง
แก้ที่ตั้งหลักของ SAIS อยู่บนถนนแมสซาชูเซตส์ใกล้กับวงเวียนดูปองต์ ซึ่งเป็นถนนที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศในกรุงวอชิงตัน โดยที่ตั้งของ SAIS อยู่บริเวณเดียวกับสถาบันวิจัยทางนโยบายชั้นนำ อาทิ สถาบันบรูกกิงส์ (Brookings Institution) กองทุนคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ (Carnegie Endowment for International Peace) และสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สัน (Peterson Institute) รวมทั้งสถานเอกอัครราชทูตอุซเบกิสถาน ชิลี เปรู ตรินิแดดและโตเบโก ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย
เมื่อ พ.ศ. 2498 SAIS ได้จัดตั้งศูนย์ SAIS Bologna Center ในอิตาลี ซึ่งเป็นสถาบันระดับบัณฑิตศึกษาแบบเต็มเวลาสถาบันแรกในยุโรปที่ตั้งขึ้นภายใต้ระบบการศึกษาแบบอเมริกัน และเมื่อ พ.ศ. 2529 ได้มีการจัดตั้ง Hopkins-Ninjing Center ขึ้นที่เมืองหนานจิง ประเทศจีน ซึ่งทำให้ SAIS มีที่ตั้งอยู่ใน 3 ทวีปของโลก
คณาจารย์
แก้คณาจารย์ของ SAIS ประกอบด้วยอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละสาขาวิชาทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศและรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งอาจารย์พิเศษ ซึ่งล้วนมีประสบการณ์การสอนและการทำงานในด้านการต่างประเทศทั้งในรัฐบาลสหรัฐอเมริกา องค์การระหว่างประเทศ ภาคเอกชน และหน่วยงานอิสระ อาทิ
- เจสสิกา ไอน์ฮอร์น (Jessica Einhorn) คณบดี อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารโลก
- ซบิกนีเยฟ เบรอซินสกี (Zbigniew Brzezinski) นักวิชาการอาวุโสสาขานโยบายต่างประเทศสหรัฐอเมริกา อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์
- เอเลียต โคเฮน (Eliot Cohen) อาจารย์และผู้อำนวยการสาขายุทธศาสตร์ศึกษา อดีตที่ปรึกษาอาวุโสของ คอนโดลีซซา ไรซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช
- แอน ครูเกอร์ (Anne Krueger) อาจารย์สาขาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ อดีตรองกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
- จอห์น แมคลอฟิน (John McLaughlin) อาจารย์พิเศษสาขายุทธศาสตร์ศึกษา อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐอเมริกา
- คาร์ล แจ็กสัน (Karl Jackson) อาจารย์และผู้อำนวยการสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมกิจการเอเชียตะวันออกสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน
- เดวิด แลมป์ตัน (David Lampton) อาจารย์และผู้อำนวยการสาขาจีนศึกษา อดีตประธานคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อความสัมพันธ์สหรัฐอเมริกา-จีน
การเรียนการสอน
แก้SAIS เปิดสอนเฉพาะระดับบัณฑิตศึกษาในระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต ได้แก่ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประะเทศ (Master's of Arts: MA in International Relations) (หลักสูตร 2 ปี) และ นโยบายสาธารณะระหว่างประเทศมหาบัณฑิต (Master's of International Public Policy: MIPP) (หลักสูตร 1 ปี สำหรับผู้มีประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 9 ปี) และระดับปริญญาเอก ได้แก่ ดุษฎีบัณฑิต สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Ph.D. in International Relations) [3]
สำหรับหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (2 ปี) นักศึกษาเลือกเรียน อย่างน้อย 2 สาขา ได้แก่ สาขาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสาขาบังคับ และอีกหนึ่งสาขาวิชาจากสาขาวิชา ดังนี้
- การพัฒนาระหว่างประเทศ
- ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แบ่งเป็น การจัดการความขัดแย้ง พลังงาน ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ทฤษฎีและประวัติศาสตร์โลก กฎหมายระหว่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ และยุทธศาสตร์ศึกษา
- ภูมิภาคศึกษา แบ่งเป็น แอฟริกาศึกษา นโยบายต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เอเชียศึกษา (แบ่งเป็น จีนศึกษา ญี่ปุ่นศึกษา เกาหลีศึกษา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา เอเชียใต้ศึกษา ยุโรปศึกษา ตะวันออกกลางศึกษา รัสเซียและยูเรเซียศึกษา และซีกโลกตะวันตกศึกษา (Western Hemisphere Studies) (แบ่งเป็น แคนาดาศึกษา และลาตินอเมริกาศึกษา)
นอกจากนั้นนักศึกษาต้องเลือกเรียนภาษาต่างประเทศหนึ่งภาษาจากทั้งหมด 15 ภาษา สำหรับนักศึกษาจากประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักและไม่ได้ศึกษาในสาขาภูมิภาคศึกษาต้องเลือกเรียนภาษาอังกฤษ นักศึกษาทุกคนต้องผ่านการสอบความถนัดทางภาษาของภาษาที่เลือกก่อนจบการศึกษา
ปริญญาร่วมกับสถาบันอื่น
แก้นักศึกษาสามารถเลือกเรียนแบบปริญญาร่วมกับสถาบันอื่นโดยใช้เวลาศึกษารวมกันน้อยลง โดย SAIS มีความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับหลักสูตรต่างๆ ดังนี้
- บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA) วิทยาลัยวาร์ตัน มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และวิทยาลัยบริหารธุรกิจทัก วิทยาลัยดาร์ทมัธ
- วิทยาศาสตร์สุขภาพมหาบัณฑิต (MHS) วิทยาลัยสาธารณสุขศาสตร์บลูมเบิร์ก มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์
- ปริญญาทางกฎหมาย (JD) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย
- รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต (MPA) วิทยาลัยรัฐประศาสนศาสตร์แม็กซ์เวลล์ มหาวิทยาลัยซีราคิวส์
การจัดอันดับ
แก้จากการสำรวจความเห็นของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยวิทยาลัยวิลเลียมแอนด์แมรี SAIS ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับ 1 (2548), 2 (2550) และ 2 (2552) ของสถาบันที่ดีที่สุดในโลกในการจัดหลักสูตรระดับปริญญาโทสำหรับผู้ต้องการประกอบอาชีพด้านการระหว่างประเทศ[4][5]
ความเกี่ยวข้องกับประเทศไทย
แก้โดยที่ SAIS จัดการเรียนการสอนและการวิจัยด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และจัดการสอนภาษาไทยเป็นหนึ่งในภาษาต่างประเทศ จึงทำให้มีผู้สนใจเกี่ยวกับประเทศไทยเข้าศึกษาที่ SAIS และสำเร็จการศึกษาแล้วเข้าทำงานในภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในรัฐบาลสหรัฐอเมริกา รัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยด้านนโยบาย องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อสารมวลชน และภาคเอกชน
สำหรับในประเทศไทยศิษย์เก่าจาก SAIS ได้เข้าทำงานในวงการต่างๆ โดยเฉพาะการเมือง ราชการ และสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศในกรุงเทพมหานคร รวมทั้ง สถาบันการศึกษา องค์การระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน และเอกชนในประเทศไทย
ทุนการศึกษา
แก้เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2545 SAIS ได้จัดการเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปีของสาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาที่กรุงเทพมหานคร โดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ให้เกียรติเข้าร่วมงานดังกล่าว และได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนนักศึกษาไทยที่เข้าศึกษาที่ SAIS ในชื่อ "ทุนการศึกษาพลเอกเปรม ติณสูลานนท์"[6] (Prem Tinsulanonda Fellowship Program) จากนั้นเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 พลเอกเปรมได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีประกาศและประชาสัมพันธ์ทุนการศึกษาดังกล่าว ซึ่งภาคเอกชนไทยได้แก่ธนาคารกรุงเทพ กลุ่มบริษัทซีพี สยามซีเมนต์ และกลุ่มบริษัททีซีซี ร่วมกับ SAIS จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการศึกษาของนักศึกษาและนักวิชาการไทยที่ต้องการศึกษาที่ SAIS รวมทั้งสนับสนุนการเรียนการสอนภาษาไทยและการสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับประเทศไทยที่ SAIS
ชมรม
แก้SAIS Thai Club ได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตันให้จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมกิจกรรมเกี่ยวกับประเทศไทยที่ SAIS โดยได้มีการจัดกิจกรรมทางวิชาการ อาทิ การบรรยายพิเศษเกี่ยวกับการเมืองไทยและความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งกิจกรรมวัฒนธรรม อาทิ การนวดแผนไทย การทำอาหารไทย และการแสดงอาหารไทยในกิจกรรมของ SAIS นอกจากนั้น SAIS Thai Club ยังได้ต้อนรับนักศึกษาจากไทยที่เดินทางไปทัศนศึกษาที่กรุงวอชิงตัน ดี. ซี. และเยี่ยมชม SAIS ด้วยการสนับสนุนของกระทรวงการต่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมของนักศึกษารวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา
การเยือน SAIS ของพระราชวงศ์และบุคคลสำคัญของไทย
แก้เมื่อวันที่ 5-9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เยือนมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ที่เมืองบัลติมอร์ และ SAIS ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อทรงเข้าร่วมการอภิปรายเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศสหรัฐอเมริกาต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับคณาจารย์ของ SAIS และพระราชทานพระราชวโรกาสให้นักศึกษาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ SAIS เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. นอกจากนั้นยังได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ดร. ซบิกนีเยฟ เบรอซินสกี อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาและนักวิชาการอาวุโสของ SAIS และ ดร. วิลเลียม บรอดี อธิการบดีมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์เป็นเจ้าภาพถวายพระกระยาหารค่ำในสองโอกาสด้วย
นอกจากนั้น ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2542 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ ไปทรงบรรยายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-จีนที่ Hopkins-Nanjing Center เมืองหนานจิง สาธารณรัฐประชาชนจีน
เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2553 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวปาฐกถาที่ SAIS เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศสหรัฐอเมริกาต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตอบคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งต่อมานายเฉลิม อยู่บำรุง จากพรรคเพื่อไทย ได้นำข้อมูลในการบรรยายดังกล่าวไปประกอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกษิต ภิรมย์เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553
บุคคลที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย
แก้บุคคลยน พ.ศ. ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ SAIS และประเทศไทยประกอบด้วยนักวิชาการและศิษย์เก่าที่มีบทบาทในหลายภาคส่วนของไทย อาทิ
- รศ.ดร. ปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตอาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- รศ.ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเมธีวิจัยอาวุโส สกว.
- รศ.ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตหัวหน้าพรรคมหาชน
ศิษย์เก่า
แก้- รองศาสตราจารย์ ดร. ฐิตินันท์ พงศ์สุทธิรักษ์ (SAIS '92) อาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น (SAIS '94) อาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- นายจักรภพ เพ็ญแข (SAIS '94) อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตโฆษกรัฐบาล
- หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล (SAIS '03) นักสื่อสารมวลชน และอดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
- นายวิบูลย์ คูสกุล เอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง อดีตผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ไทเป (ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ตำแหน่งเทียบเท่าเอกอัครราชทูต), อดีตเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์
- นายสงคราม กระจ่างเนตร์ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
- นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว, อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
- นาย ภวิศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา (SAIS '09) เจ้าหน้าที่ประจำ ธนาคารโลก
- นายกิตติเทพ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขานุการเอก คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก นักการทูตชำนาญการ กระทรวงการต่างประเทศ
ศิษย์เก่าชาวต่างประเทศ
แก้- นายทิโมธี ไกธ์เนอร์ (SAIS '85) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา ในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา (เคยศึกษาระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย)
- นายเจฟฟรี ลองเฟลโลว์ นักวิชาการและที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ[8]
- นายฟิลิป โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอชท์
- นายชอว์น คริสพิน บรรณาธิการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียไทม์ออนไลน์
อ้างอิง
แก้- ↑ http://irtheoryandpractice.wm.edu/
- ↑ บทที่ 1 เป้าหมายหลักในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เก็บถาวร 2009-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, What Uncle Sam Really Wants: อเมริกาอเมริกาอเมริกา วิพากษ์นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เก็บถาวร 2010-10-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, โดย Noam Chomsky, แปลโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-23. สืบค้นเมื่อ 2010-05-22.
- ↑ http://www.labmundo.org/Disciplinas/admb90/surveyreport06-07.pdf[ลิงก์เสีย]
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-07-11. สืบค้นเมื่อ 2010-05-22.
- ↑ http://www.mfa.go.th/web/200.php?id=18080[ลิงก์เสีย]
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-27. สืบค้นเมื่อ 2010-05-22.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-05-14. สืบค้นเมื่อ 2010-05-22.