ปณิธาน วัฒนายากร

รองศาสตราจารย์ ปณิธาน วัฒนายากร เป็นอาจารย์ในภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นกรรมการ (ด้านการต่างประเทศ) ในคณะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้[2] ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาของสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ[3]ในอดีตเคยเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ)[4] เป็นที่ปรึกษาและกรรมการคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง และเป็นกรรมการในคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง[5]ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเคยดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง[6]และปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ควบคู่กันในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ปณิธาน วัฒนายากร
รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
30 ธันวาคม พ.ศ. 2551 – 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2554[1]
นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ก่อนหน้าณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
ถัดไปฐิติมา ฉายแสง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด16 ธันวาคม พ.ศ. 2503 (63 ปี)
จังหวัดยะลา
ศาสนาพุทธ
คู่สมรสพิมพ์กาญจน์ ชนะรัตน์

ปณิธาน เป็นนักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ ที่เชี่ยวชาญด้านการเมืองเปรียบเทียบ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความมั่นคงศึกษา และการป้องกันประเทศเปรียบเทียบ เป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแก่รัฐบาลหลายสมัย ตั้งแต่รัฐบาลนายชวน หลีกภัย นายทักษิณ ชินวัตร พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมในการร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 [7] และร่วมจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เก็บถาวร 2020-02-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนฉบับปัจจุบัน

ประวัติ แก้

ปณิธาน วัฒนายากร เกิดที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นบุตรของ นายมงคลและนางประณีต วัฒนายากร ในตระกูลใหญ่ของจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง เป็นหลานของ นายสวัสดิ์ วัฒนายากร องคมนตรีในรัชกาลที่ 9 เป็นหลานปู่ของ ขุนธำรงพันธุ์ภักดี (ธำรง วัฒนายากร) คหบดีของจังหวัดปัตตานี และหลานย่าสร้อยทอง คณานุรักษ์ ซึ่งเป็นบุตรีคนที่ 2 ของ ขุนพิทักษ์รายา มีบรรพบุรุษต้นตระกูลคือ ปุ่ย แซ่ตัน ชาวจีนจากฮกเกี้ยน[8] ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็น หลวงสำเร็จกิจกรจางวาง[9]เมืองปัตตานี มีทายาทคือ จูไล่ ตันธนาวัฒน์ ซึ่งต่อมาได้เป็น พระจีนคณานุรักษ์ นายอำเภอเมืองปัตตานี ต้นสกุลคณานุรักษ์[10]

ปณิธาน สูญเสียบิดาไปตั้งแต่เด็กจากเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ และต้องย้ายถิ่นฐานมาเติบโตที่กรุงเทพมหานคร โดยมีพี่สาวชื่อ เมธินี เทพมณี อดีตปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และอดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน มีน้องสาวชื่อ นางมนัญญา เบญจกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด และมีน้องชายเป็นนักธุรกิจชื่อ นายปิยวัชร วัฒนายากร ปัจจุบัน ปณิธาน แต่งงานแล้วกับนางสาวพิมพ์กาญจน์ ชนะรัตน์[11]มีบุตร 2 คน

การศึกษา แก้

ปณิธาน เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนถนอมศรีศึกษา เก็บถาวร 2020-02-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนอำเภอเบตง จังหวัดยะลา จบการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนแสงทองวิทยา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ระดับอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในสาขาศิลปศาสตร์บัณฑิต (รัฐศาสตร์) โดยใช้เวลาเรียนเพียง 3 ปี และได้ปริญญาโท ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต 2 ปริญญา ในด้านรัฐประศาสนศาสตร์ และด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยแอคครอน เมืองแอคครอน รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้ปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยนอร์ทเทิร์นอิลลินอยส์ รัฐอิลลินอย ประเทศสหรัฐอเมริกา วิชาเอก การเมืองเปรียบเทียบ วิชาโท รัฐประศาสนศาสตร์ และวิชาเฉพาะในด้าน นโยบายการป้องกันประเทศเปรียบเทียบ

ผลงานทางวิชาการ แก้

รองศาตราจารย์ ปณิธาน วัฒนายากร มีผลงานทางวิชาการ งานวิจัย งานแปล ในด้านการทหาร การเมือง การต่างประเทศ และอาเซียน ตีพิมพ์และเผยแพร่ทั้งในและต่างประเทศ ในวารสาร Pacific Review, Journal of Strategic Studies โดยมหาวิทยาลัย Stanford, East-West Center, Stockholm International Peace Research Institute, Institute of Southeast Asian Studies, ศูนย์ยุโรปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

ปณิธาน มีรายวิชาสอนที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนี้

  • การต่างประเทศของไทยในการโลกเมืองสมัยใหม่ (Thai Foreign Relations in Modern World Politics)
  • ประเด็นปัญหาความมั่นคงในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Security Issues in Developing Countries)
  • การเจรจาต่อรองระหว่างประเทศ (International Negotiation)
  • โลกาภิวัฒน์กับการเมืองโลก (Globalization and World Politics)
  • เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องอาวุธ (Political Economy of Weapons)
  • นโยบายป้องกันประเทศเปรียบเทียบ (Comparative Defense Policy)


ปณิธาน ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์พิเศษในตำแหน่ง ศาสตราจารย์อาคันตุกะ (C.V. Starr Distinguished Visiting Professor) ที่ The Paul H. Nitze School of Advanced International Studies (SAIS) แห่ง มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในปี พ.ศ. 2549

ในประเทศไทยปี พ.ศ. 2566 ได้รับตำแหน่ง หัวหน้าโครงการวิจัยของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ข้าราชการการเมืองลาออกจากตำแหน่ง (รองศาสตราจารย์ปณิธาน วัฒนายากร)
  2. เช็ก มติ ครม. แต่งตั้งครบทุกตำแหน่งที่นี่
  3. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ
  4. คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๑๐๕/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมือง
  5. ประกาศคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ
  6. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องข้าราชการการเมืองลาออกจากตำแหน่ง
  7. เว็บประชาไทยปณิธาน วัฒนายากร : ‘พ.ร.บ. ความมั่นคง’ ไม่ถูกใจ 100 % แต่เป็นบันไดยกระดับงานความมั่นคง
  8. สถาพร ศรีสัจจัง. 2563. เส้นแบ่งความคิด: คนแซ่ตัน (2) สยามรัฐ 28 พฤษภาคม 2563 จาก https://siamrath.co.th/n/158427 เก็บถาวร 2020-06-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  9. เว็บไซต์ตระกูลคณานุรักษ์
  10. ประพนธ์ เรืองณรงค์. "บทผนวกเกียรติยศ". ใน รัฐปัตตานีใน "ศรีวิชัย" เก่าแก่กว่ารัฐสุโขทัยในประวัติศาสตร์. สุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:มติชน. 2547, หน้า 346
  11. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-15. สืบค้นเมื่อ 2012-02-19.
  12. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๓ เก็บถาวร 2022-11-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๑๔ ข หน้า ๑๐, ๘ ธันวาคม ๒๕๕๓
  13. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๒ เก็บถาวร 2022-08-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๑๖ ข หน้า ๒๗, ๔ ธันวาคม ๒๕๕๒
  14. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา ประจำปี ๒๕๖๓ เก็บถาวร 2022-11-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๓ ข หน้า ๘๕, ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔

แหล่งข้อมูลอื่น แก้


ก่อนหน้า ปณิธาน วัฒนายากร ถัดไป
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ    
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
(30 ธันวาคม พ.ศ. 2551 - 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2554)
  ฐิติมา ฉายแสง