วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เป็นวัดของคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2538 ตั้งอยู่เลขที่ 999 พระราม 9 ซอย 19 ถนนพระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร เป็นวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา[2] และได้รับการยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีเป็นกรณีพิเศษในตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2542[3] ปัจจุบันมี พระพรหมวชิรสุธี (อภิพล อภิพโล) เป็นเจ้าอาวาส[4]

วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
พระอุโบสถ
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก[1]
ที่ตั้งเลขที่ 999 ซอยพระราม 9 ซอย 19 ถนนพระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310
ประเภทพระอารามหลวงกรณีพิเศษ
นิกายเถรวาท (ธรรมยุติกนิกาย)
พระประธานพระพุทธกาญจนธรรมสถิต
เจ้าอาวาสพระพรหมวชิรสุธี (อภิพล อภิพโล)
เว็บไซต์http://watphraram9.org/
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

ก่อนจะมาเป็นวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

แก้

เนื่องจากสภาพสังคมไทยในปัจจุบันมีปัญหาสภาพแวดล้อม ซึ่งจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จึงมีหลายชุมชนที่ช่วยกันแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม หนึ่งในนั้นคือชุมชนบริเวณบึงพระราม 9 เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น อันก่อให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย ส่งผลให้เกิดการทำลายสภาพแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ขณะเดียวกัน แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแหล่งปลายทางรับน้ำเสียจากทุกแหล่งในประเทศ ก็เริ่มเสื่อมโทรมลงทุกขณะ หากไม่เร่งแก้ไข ปัญหาต่างๆ ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงมีพระราชดำริให้ทดลองแก้ไขปัญหาน้ำเสียโดยเติมอากาศบริเวณบึงพระราม 9 เป็นระบบบำบัดน้ำเสียขนาดเล็ก และทดสอบการบำบัดน้ำเสียที่ไหลมาตามคลองลาดพร้าวบางส่วนให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นโดยเติมอากาศลงไปในน้ำ และปล่อยให้น้ำตกตะกอน แล้วปรับสภาพ ก่อนระบายออกสู่ลำคลองตามเดิม รวมทั้งนำน้ำสะอาดจากแม่น้ำเจ้าพระยามาชะล้างเพื่อทำความสะอาดคลอง และระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยอาศัยจังหวะน้ำขึ้นลงตามธรรมชาติ เป็นการลดปัญหาน้ำเสียได้ในระดับหนึ่ง

สวนสาธารณะ คือ ปอด และบึงพระราม ๙ คือไต ของกรุงเทพมหานคร

แก้
 
กังหันน้ำชัยพัฒนาภายในวัด

จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานไว้เกี่ยวกับการบำบัดน้ำเสียในกรุงเทพมหานคร โดยฟอกน้ำเสียให้เป็นน้ำดี หลังจากนั้นเป็นต้นมา พื้นที่บึงพระราม 9 ก็ได้รับการพัฒนาขึ้น เป็นตัวอย่างในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียให้แก่กรุงเทพมหานคร เป็นการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวให้ดีขึ้น

โครงการบึงพระราม 9 จึงได้กำเนิดขึ้น โดยมีการดำเนินงานบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ติดกับคลองลาดพร้าวฝั่งทิศตะวันตก และติดกับคลองแสนแสบฝั่งทิศใต้ มีพื้นที่ประมาณ 130 ไร่ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2531 มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมชลประทาน สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และกรุงเทพมหานคร ร่วมกันดำเนินงานในการเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสียที่บึงพระราม 9 ให้มีคุณภาพดีขึ้น เพื่อลดปัญหาน้ำเสียและเป็นการระบายน้ำอีกทางหนึ่ง ส่งผลให้สภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของชุมชนบึงพระราม 9 ดีขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน

 
พระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ขณะทรงผนวช

ศูนย์รวมแห่งจิตใจ กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม

แก้

เมื่อโครงการบึงพระราม 9 ดำเนินการไปได้ระดับหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงมีพระราชดำริเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ให้ปรับปรุงสภาพพื้นที่ และชุมชนใกล้กับโครงการบึงพระราม 9 พร้อมกันนั้นก็ให้จัดตั้งวัดขึ้นในที่ดินใกล้เคียง ซึ่งจวงจันทร์ สิงหเสนี ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินจำนวน 8-2-54 ไร่ และได้รับการอนุญาตให้สร้างวัดจากกรมการศาสนา เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2534 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่า "วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก" โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เป็นองค์อุปถัมภ์ฝ่ายสงฆ์ และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์อุปถัมภ์ฝ่ายฆราวาส ในการนี้ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินงานก่อสร้างวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษกขึ้น โดยมีจริย์ ตุลยานนท์ กรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการก่อสร้างวัด ทำหน้าที่ในรับผิดชอบในการดำเนินการก่อสร้างวัดให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ คือ เป็นวัดขนาดเล็ก มีลักษณะเรียบง่าย ประหยัด และทันสมัย เป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจ และศรัทธา เป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ ทั้งทางศาสนา สังคม และจริยธรรม แก่เยาวชน และประชาชนในชุมชน เพื่อขัดเกลาจิตใจของชุมชนให้มีจิตสำนึกต่อสังคมโดยส่วนรวมอันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการเปิดประชุมยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 ความตอนหนึ่งว่า

...จุดมุ่งหมายโดยตรงแท้ของศาสนาทั้งปวง และโดยเฉพาะของพระพุทธศาสนามุ่งจะให้บุคคลศึกษาพิจารณาหลักการ และแนวความคิดในศาสนธรรม และน้อมนำมาเป็นที่ยึดเหนี่ยวและปฏิบัติด้วยตนเองตามความสามารถ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการครองชีวิต คือให้เกิดความผาสุก ความร่มเย็น และความเจริญในแต่ละบุคคลในส่วนรวม และให้เกิดความบริสุทธิ์หลุดพ้นอันเป็นปรมัตถประโยชน์ ดังนั้นการบำรุงส่งเสริมพระศาสนาจึงควรจะได้กระทำให้ถูกเป้าหมาย...

— พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

โปรดให้สร้างด้วยความเรียบง่าย และประหยัด

แก้

เบื้องต้น คณะอนุกรรมการฝ่ายออกแบบ ได้ออกแบบอาคารศาสนสถานในวัดแห่งนี้ และประมาณราคาการก่อสร้างอยู่ในวงเงินประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อให้สมพระเกียรติ แต่เมื่อนำความกราบบังคมทูลแล้ว พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้ปรับแบบพระอุโบสถและอาคารอื่น ๆ ให้มีขนาดเล็กลง เพราะมีพระราชประสงค์ให้เป็นเพียงวัดเล็ก มีโบสถ์เล็ก มีกุฏิเล็ก ไม่โปรดให้สร้างวัดขนาดใหญ่ และให้ใช้งบประมาณไม่เกิน 10 ล้านบาท นอกจากนี้ สภาพพื้นที่ก็ไม่เหมาะที่จะสร้างเป็นวัดใหญ่ ทรงเน้นเพื่อให้มีพระไว้สั่งสอนชาวบ้านในบริเวณบึงพระราม 9 เน้นให้เอื้อประโยชน์ต่อชุมชนเป็นสำคัญ อีกทั้งให้ยึดหลักความประหยัด เรียบง่าย และเกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น คณะอนุกรรมการฯ จึงได้ออกแบบอย่างง่าย ไม่หรูหรา ประกอบด้วยพระอุโบสถ ศาลาอเนกประสงค์ กุฏิเจ้าอาวาส กุฏิพระ จำนวน 5 หลัง หอระฆัง โรงครัว มีอาคารสะอาด สวยงาม และบริเวณพื้นที่โดยรอบให้ปลูกพันธุ์ไม้นานาชนิดทั้งไม้ป่าและพันธุ์ไม้หายากในลักษณะป่าผสมผสาน เพื่อให้เกิดร่มเงาและความร่มเย็นแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไปที่เข้ามาประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา

ในส่วนของพระอุโบสถ จะเป็นลักษณะผสมผสานกลมกลืนระหว่างสถาปัตยกรรมสมัยโบราณผสมผสานกับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ก่อให้เกิดความเป็นเอกลักษณ์ โดยคำนึงถึงประโยชน์แห่งการใช้สอยเป็นสำคัญ และเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2540 กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ประกาศตั้งวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เป็นวัดในพระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ยกฐานะวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีเป็นกรณีพิเศษ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 และได้ผ่านความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2542

บันทึกการก่อสร้าง

แก้

การดำเนินการก่อสร้าง วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เริ่มดำเนินการโดยการถมดินปรับพื้นที่โครงการก่อสร้างที่บริเวณบึงพระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 และเริ่มงานก่อสร้างเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539

จากนั้น เมื่อวันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 เวลาประมาณ 6:00 น. พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ และทรงเปิดอาคารเรียน โรงเรียนพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

อาณาเขตที่ตั้งวัด

แก้

วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ตั้งอยู่ที่เลขที่ 999 ถนนพระราม 9 ซอย 19 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร เดิมเป็นที่ลุ่มว่างเปล่า ขอบเขตที่ดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เนื้อที่ทั้งหมด 8-2-54 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ดังต่อไปนี้

พระอุโบสถ : ปฐมเหตุแห่งความประหยัด

แก้
 
พระอุโบสถ
 
พระพุทธกาญจนธรรมสถิต พระประธานในพระอุโบสถ
 
อักษรอริยกะที่หน้าพระอุโบสถ

แรกเริ่ม การออกแบบพระอุโบสถ นาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสถาปัตยกรรม สถาปนิก 10 กรมศิลปากร (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร) ผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมในวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ได้นำแบบพระอุโบสถขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หลังจากทอดพระเนตรแล้ว มีพระราชกระแสรับสั่งให้ย่อลง ให้กะทัดรัด สอดคล้องกับลักษณะของชุมชน ด้วยไม่โปรดให้ใหญ่โตเกินความจำเป็น

มีพระราชประสงค์ให้วัดนี้เป็นวัดของชุมชนบึงพระราม 9 เพื่อประกอบศาสนกิจ จากเดิมที่ออกแบบให้ภายในพระอุโบสถจุคนได้ 100 คนเศษ ทรงให้ลดเหลือเพียง 30-40 คน ลดงบประมาณจากที่ตั้งไว้ เดิม 57 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 3 ล้านบาท ชี้ให้เห็นพระราชนิยมที่ประหยัด เรียบง่าย เน้นเพียงการใช้ประโยชน์สูงสุดที่สำคัญ และมีพระราชประสงค์ให้เป็นตัวอย่างของการสร้างวัดสำหรับชุมชนอีกด้วย

นาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น จึงน้อมรับพระราชกระแสรับสั่งดังกล่าว มาออกแบบเป็นพระอุโบสถใหม่ โดยเน้นประโยชน์ในอาคารอย่างคุ้มค่า วัสดุก่อสร้างทั้งหมดผลิตในประเทศ ส่วนรูปแบบทางศิลปกรรมเป็นการผสมผสานรูปแบบอย่างสถาปัตยกรรมปัจจุบัน โดยได้ต้นเค้าจากพระอุโบสถวัดต่างๆ ดังนี้

- พระอุโบสถ วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เช่น รูปทรงเสาอุโบสถ

- พระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม เช่น ความเรียบง่าย มุขประเจิด

- พระอุโบสถ วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นต้นแบบในการผูกลายปูนปั้นประดับหน้าบัน

โครงสร้างอุโบสถ เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงกระเบื้องทำด้วยแผ่นเหล็กสีขาว องค์ประกอบเครื่องบนหลังคาเป็นปูนปั้นลายดอกพุดตาน ประดับหน้าบันด้วยลายปูนปั้นปิดทองเฉพาะที่ตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 9 ช่อฟ้า ใบระกา เป็นลวดลายปูนปั้น ไม่ปิดทองประดับกระจก ผนังและเสาก่ออิฐฉาบปูนเรียบทาสีขาว บานประตูหน้าต่างใช้กรอบอะลูมิเนียม ลูกฟักเป็นกระจก เพดานพระอุโบสถเป็นเพดานไม้เรียบ แต่ได้มีผู้มีจิตศรัทธาถวายโคมระย้าเป็นพุทธบูชาประดับไว้แทนรวม 4 ช่อ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดให้จารึกคาถา เย ธมฺมาฯ ซึ่งในที่นี้ใช้อักษรอริยกะ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ขึ้น แบบเดียวกับที่พระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์

ข้อมูลจำเพาะ

แก้

อ้างอิง

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้