พระพรหมวชิรสุธี (อภิพล อภิพโล)

พระพรหมวชิรสุธี ฉายา อภิพโล นามเดิมอภิพล บุญส่ง วิทยฐานะ ป.ธ.5, น.ธ.เอก เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต) และเจ้าอาวาสวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

พระพรหมวชิรสุธี

(อภิพล อภิพโล)
ส่วนบุคคล
เกิด13 มีนาคม พ.ศ. 2480 (87 ปี)
นิกายธรรมยุติกนิกาย
การศึกษาเปรียญธรรม 5 ประโยค
นักธรรมชั้นเอก
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
อุปสมบท28 กรกฎาคม พ.ศ. 2500
พรรษา66
ตำแหน่งที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต)
เจ้าอาวาสวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

ประวัติ แก้

พระพรหมวชิรสุธี มีนามเดิมว่า อภิพล บุญส่ง เกิดเมื่อวันเสาร์ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2480 ที่ ตำบลทุ่งขวาง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โยมบิดาชื่อนายธูป บุญส่ง โยมมารดาชื่อนางมูล บุญส่ง เมื่อครั้งวัยเยาว์ สำเร็จการศึกษาสายสามัญชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนในหมู่บ้าน จากนั้นเด็กชายอภิพลได้เดินทางเข้ามากรุงเทพมหานคร เพื่อบวชเรียน โดยเข้าพิธีบรรพชาเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2497 ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร มีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ กระทั่งอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงเข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 ณ พัทธสีมาวัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีพระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมงคลรัตนมุนี (แก้ว อตฺตคุตฺโต) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระราชกวี (สนธิ์ กิจฺจกาโร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลังอุปสมบท ได้มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรม สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก และสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค อีกทั้งสนองงานแบ่งเบาภาระของเจ้าประคุณพระพรหมมุนีอย่างมิรู้เหน็ดเหนื่อย จนกระทั่งพระพรหมมุนีได้มรณภาพลง พระธรรมวราภรณ์ (เจริญ สุวฑฺฒโน) ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารสืบแทน ท่านก็ยังคงรับสนองงานเจ้าอาวาสรูปใหม่อยู่มิได้ขาด ต่อมาจึงได้เลื่อนเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร และได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และเลขานุการเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร-สมุทรปราการ ฝ่ายธรรมยุตด้วย

สมณศักดิ์ แก้

  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2513 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูปริยัติสารโสภณ[1]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2525 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระอรรถกิจโกศล[2]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2532 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะปลัดขวา ฐานานุกรมในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่ พระมหานายก พุทธปาพจนดิลกโลกปสาทาภิบาล สกลสังฆประธานมหาเถรกิจการี คณาธิบดี ศรีรัตนคมกาจารย์ [3]
  • 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสุมนต์มุนี ศรีมหาสังฆราชกิจจาทร ธรรมิกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[4]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2543 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพญาณวิศิษฏ์ สาธุกิจวิริยาลงกรณ์ บวรกาญจนาภิเษกโสภิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[5]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมบัณฑิต สิทธิธรรมโกศล วิมลศีลาจาร ศาสนภารธุราทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[6]
  • 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ได้รับสถาปนาสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระพรหมวชิรสุธี สีลาจารวิมล โกศลวรกิจจานุกิจ พิพิธคุณาลังการ ธรรมทานธุราทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[7]

เจ้าอาวาสวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก รูปแรก แก้

เมื่อปี พ.ศ. 2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้แก้ปัญหาน้ำเน่าเสียด้วยวิธีการเติมอากาศที่บึงพระราม 9 ซึ่งเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ต่อมา ได้มีพระราชดำริให้ปรับปรุงพื้นที่และพัฒนาชุมชนบริเวณบึงพระราม 9 และมีพระราชประสงค์ให้ดำเนินการจัดตั้งวัดขึ้นในบริเวณชุมชนบึงพระราม 9 เพื่อเป็นทั้งพุทธสถานในการประกอบกิจของพระสงฆ์ในการสืบทอดและเผยแผ่พระพุทธศาสนา

วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เป็นวัดตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตั้งอยู่เลขที่ 999 ซอยพระราม 9 กาญจนาภิเษก 19 ถนนพระราม 9 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2538 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

ในการนี้ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงมีพระบัญชาให้พระราชสุมนต์มุนี (สมณศักดิ์ท่านในขณะนั้น) ไปดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

พระพรหมวชิรสุธีได้ปฏิบัติพุทธภารกิจตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสมอมา เป็นผู้ทำนุบำรุงและเผยแผ่ศาสนาทั้งในและต่างประเทศ เป็นผู้เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในการบริหารทางศาสนกิจหลายตำแหน่ง เป็นพระนักปกครองที่ได้ใช้ความรู้ความสามารถในการดำเนินกิจกรรมทางศาสนา

การเสริมสร้างและเผยแผ่พระพุทธศาสนา แก้

ด้านพัฒนาการศึกษาและเยาวชน แก้

เป็นประธานโครงการปลูกรากแก้วแห่งศาสนทายาท อุปถัมภ์การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรทั้งในและต่างประเทศหลายหลักสูตร ดำเนินรายการโทรทัศน์เพื่อพระพุทธศาสนาผ่านดาวเทียมสำหรับเยาวชนและประชาชน บวชสามเณรภาคฤดูร้อน ให้ทุนการศึกษา จัดกิจกรรมสนองพระราชดำริโดยยึดหลัก 3 ประสาน (บ้าน-วัด-โรงเรียน) และจัดกิจกรรมร่วมมือกับโรงเรียนและชุมชนอีกมากมาย

ด้านการอบรมเผยแผ่ธรรมและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา แก้

เปิดดำเนินโครงการสร้างสถานปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 (พ.ศ. 2549 - ปัจจุบัน) เพื่ออบรมเผยแผ่ธรรม และเนื่องในมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 60 ปี และทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ท่านยังได้สนับสนุนโครงการพระสงฆ์นำชัยคุ้มภัยใต้ตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สนองงานในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ในการดำเนินการก่อสร้างวัดในพระอุปถัมภ์สำหรับในด้านสงเคราะห์ชุมชนและสังคม

พระพรหมวชิรสุธีได้สนองงานในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ในการดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาล อาคารผู้ป่วย สถานีอนามัย โรงเรียน ห้องสมุดในหลายจังหวัด ร่วมกับชุมชนจัดกิจกรรมด้านการศึกษาพุทธศาสนา สุขภาพอนามัย ตลอดจนอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีไทย นับได้ว่าเป็นการเสริมทุนแก่ประชาชนในการพัฒนาการศึกษาของตนได้ตลอดชีวิต

โดยเหตุที่พระพรหมวชิรสุธีเป็นนักพัฒนาตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เปี่ยมด้วยภูมิรู้ ภูมิธรรม ส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาแก่พระสงฆ์และสามเณร ได้ใช้ความรู้ความสามารถ ในการบริหารจัดการที่เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและพระพุทธศาสนาอย่างมหาศาล "ทำดีแล้วไม่ต้องกลัว เพราะดีคือดี" เป็นธรรมโอวาทสั้น ๆ แต่ให้แง่คิดหลักธรรมอย่างลึกซึ้ง แม้ท่านจะมีฐานะเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายปกครองที่คอยดูแลเอาใจใส่ความเป็นไปของวัด แต่ชีวิตส่วนตัวของท่านก็ดำเนินไปอย่างเรียบง่ายและสันโดษดุจเดิม

อ้างอิง แก้

  • สนติ์ แสวงบุญ และ สมบูรณ์ บุญครอบ. ทำเนียบสมณศักดิ์. นครปฐม : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2556. หน้า 122.
  • พระธรรมคุณาภรณ์ (พิมพ์ ญาณวีโร)ทำเนียบพระราชาคณะ ฉบับสมบูรณ์ พุทธศักราช 2556. กาญจนบุรี : ธรรมเมธี - สหายพัฒนาการพิมพ์, 2556. หน้า 340. ISBN 978-616-348-356-0
  1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๘๗, ตอนที่ ๑๒๒ ง ฉบับพิเศษ, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๓, หน้า ๕
  2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๙๙, ตอนที่ ๑๘๔ ง ฉบับพิเศษ, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๕, หน้า ๔
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๐๖, ตอนที่ ๒๑๗ ง ฉบับพิเศษ, หน้า ๔
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๐๙, ตอนที่ ๑๐๑ ง ฉบับพิเศษ, หน้า ๘
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๑๗, ตอนที่ ๒๘ ข, ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๓, หน้า ๒๓
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๒๗, ตอนที่ ๓ ข, ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓, หน้า ๑
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม ๑๓๙, ตอน ๑๙ ข, ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ หน้า ๑

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

ก่อนหน้า พระพรหมวชิรสุธี (อภิพล อภิพโล) ถัดไป
ไม่มี   เจ้าอาวาสวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
(1 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 - ปัจจุบัน)
  ดำรงตำแหน่งอยู่
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก    
ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร
(10 มีนาคม พ.ศ. 2557 - ปัจจุบัน)
  ดำรงตำแหน่งอยู่