พระเมกุฏิสุทธิวงศ์

พระเป็นเจ้าแม่กุ[1] (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่) พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ (พงศาวดารโยนก) พญาเมกุ หรือเจ้าขนานแม่กุ[4] ส่วนพม่าเรียกว่า ยูนบะหยิ่น (พม่า: ယွန်းဘုရင်, Yun Bayin "กษัตริย์ของชาวยวน"), พระสัง[5], พระสังข์[6] หรือ พระสาร[7] (ဗြသံ) เป็นอดีตเจ้านายเมืองนาย และเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ผู้สืบเชื้อสายมาจากพญามังราย ภายหลังอาณาจักรล้านนาได้พ่ายแพ้แก่พม่าในรัชสมัยพระเจ้าบุเรงนอง พระเมกุฏิสุทธิวงศ์จึงถูกนำไปเป็นองค์ประกันในพม่าก่อนพิราลัยที่นั่นด้วยโรคบิด[5]

พระเมกุฏิสุทธิวงศ์
พระเจ้าเชียงใหม่
ครองราชย์พ.ศ. 2094–2101 (เอกราช)
พ.ศ. 2101–2107 (ประเทศราชของหงสาวดี)
ราชาภิเษกแรม 10 ค่ำ เดือน 4[1] (เหนือ)
โรงหลวง
ก่อนหน้าสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช
ถัดไปพระนางวิสุทธิเทวี
มเหสีพระอัครราชมเหสีเจ้า[2]
ราชวงศ์มังราย
พระราชมารดาพระอัครราชมาดา พระมหาเทวีเจ้า[3]

การพิราลัยด้วยพระโรคบิดของพระองค์นั้น ทางคติพม่าถือว่าเป็นการตายร้าย น่าสังเวชเวทนา จึงกลายเป็นนัตตระกูลสูงหนึ่งจากทั้งหมดสามสิบเจ็ดตน[5] พระสาทิสลักษณ์ของพระองค์ในรูปลักษณ์ของนัตมีลักษณะคือ ประทับนั่งชันพระชานุขวา พระหัตถ์ขวาถือพระแสงดาบพาดพระอังสาเบื้องขวา และพระหัตถ์ซ้ายวางบนพระชานุซ้าย[8][9][10]

พระราชประวัติ

แก้

พระชนม์ชีพตอนต้น

แก้

พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ มีพระนามเดิมว่าท้าวแม่กุ[1] พระราชประวัติในช่วงต้นแทบไม่ปรากฏเลย ทราบแต่เพียงว่าแต่เดิมเป็นเจ้านายจากเมืองนาย[11]ในหัวเมืองเงี้ยวซึ่งมีเชื้อสายราชวงศ์มังราย ไม่ปรากฏพระนามพระราชชนก ทราบแต่เพียงว่าพระราชชนกนั้นสืบเชื้อสายมาจากขุนเครือ ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพญามังรายที่ไปครองเมืองนาย อันเป็นดินแดนที่มีชาวไทใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ภายหลังขุนเครือทรงพยายามที่จะชิงราชบัลลังก์ของพญาไชยสงครามพระเชษฐาแต่ไม่สำเร็จ และถูกเจ้าน้ำท่วมสังหารในเวลาต่อมา[12][13] บางแห่งก็ว่ายึดสำเร็จ แต่ภายหลังถูกจับได้ จึงถูกขังไว้จนถึงแก่กรรม[14] อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเมืองนายจะมีเจ้านายเป็นเครือญาติกับกษัตริย์ล้านนา[15] ทว่าเมืองนายคุกคามเมืองเชียงใหม่ในบางโอกาส บางครั้งก็ตกเป็นประเทศราชของล้านนาในช่วงเวลาที่ล้านนารุ่งเรือง[14]

ส่วนพระราชชนนีของพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ก็ไม่ปรากฏพระนามเช่นกัน แต่พระราชชนนีนี้ยังมีพระชนม์ชีพอยู่จนกระทั่งพระเมกุฏิสุทธิวงศ์เสวยราชย์ครองล้านนา ปรากฏพระนามในจารึกวัดพระธาตุศรีจอมทองว่า "พระอัครราชมาดา พระมหาเทวีเจ้า"[3] ซึ่ง รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ได้สันนิษฐานว่าพระราชชนนีของพระองค์คือพระนางวิสุทธิเทวี ที่ครองเมืองเชียงใหม่ต่อจากพระเมกุฏิสุทธิวงศ์หลังถูกพระเจ้าบุเรงนองยึดครอง โดยให้เหตุผลว่าเป็นหลักประกันเพื่อมิให้เจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่คิดแข็งเมืองต่อพม่า[16]

ใน พระราชพงศาวดารพม่า ระบุว่า พระเมกุฏิสุทธิวงศ์หรือพระสารเป็นพระราชโอรสของพญาขยัน และเป็นพระราชนัดดาสอนะยัต (พญายอดเชียงราย) ซึ่งพญาขยันเสวยราชย์ก่อนพระอนุชาเมืองอี (พระเมืองแก้ว)[7] ส่วนเพ็ญสุภา สุขคตะ ว่าพระเมกุฏิสุทธิวงศ์เป็นพระราชโอรสของพระเมืองแก้วกับพระนางวิสุทธิเทวี และกล่าวว่าพระนางวิสุทธิเทวีเป็นเจ้าหญิงไทใหญ่จากเมืองนาย[17]

เสวยราชย์

แก้

ก่อนหน้านี้อาณาจักรล้านนามีความสัมพันธ์อันดีกับอาณาจักรล้านช้างและกลายเป็นรัฐเครือญาติกันผ่านการอภิเษกสมรสระหว่างนางยอดคำพระราชธิดาในพระเมืองเกษเกล้า กับพระยาโพธิสาลราชพระเจ้าล้านช้าง มีพระราชโอรสด้วยกันพระองค์หนึ่งคือเจ้าเชษฐวงษ์ ซึ่งต่อมาได้เป็นพระอุปโยวราช[18] เมื่อพระเมืองเกษเกล้าเสด็จสวรรคต ล้านนาเกิดกลียุคมีสงครามยาวนาน พระนางจิรประภาเทวีจึงเสวยราชย์ ช่วงนั้นได้เกิดกบฏชาวไทใหญ่และการรุกรานของอาณาจักรอยุธยา ทั้งขุนนางแห่งล้านนาเองก็มีอำนาจเหนือกษัตริย์เสียด้วย[4] ล้านช้างที่ขณะนั้นกำลังเจริญรุ่งเรืองสูงสุดจึงเข้าแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือล้านนาจนฝ่ายอยุธยาพ่ายแพ้ไป พระยาโพธิสาลราชในฐานะผู้ปกป้องล้านนาจึงมีความชอบยิ่งนัก ได้นำพระราชโอรสคือเจ้าเชษฐวงษ์ผู้เป็นหน่อเนื้อเชื้อไขของพญามังรายทางฝ่ายมารดาขึ้นครองล้านนา มหาเทวีจิรประภาสละราชสมบัติให้พระอุปโยวราชครองราชย์ในปี พ.ศ. 2089[4] ทรงพระนาม พระเป็นเจ้าอุปปโยวราชะ

ครั้นในปี พ.ศ. 2090 พระยาโพธิสาลราชสวรรคตกะทันหัน พระเป็นเจ้าอุปปโยวราชะเสด็จกลับไปครองราชย์ล้านช้างในปีนั้น ทรงพระนามว่าสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช และได้นำมหาเทวีจิรประภาและพระแก้วมรกตไปล้านช้างด้วย อาณาจักรล้านนาว่างกษัตริย์และเกิดการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างขุนนางกลุ่มต่าง ๆ ช่วงปี พ.ศ. 2091-2094 ล้านนาได้เข้าสู่กลียุคอีกครั้ง[4] สุดท้ายขุนนางล้านนามีมติว่าพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชคงไม่เสด็จกลับมาแล้ว จึงเห็นควรให้อัญเชิญพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ เจ้านายเมืองนายผู้มีเชื้อสายแห่งราชวงศ์มังรายมาเสวยราชย์แทน[4] ซึ่งจากจารึกวัดเชียงสา จะพบว่าเนื้อหาเขียนว่าพระองค์อ้างสิทธิ์เหนือดินแดนล้านช้างเสียด้วย[2]

หลังพระเมกุฏิสุทธิวงศ์เสวยราชย์ได้ไม่ช้านานนัก พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ขณะนั้นได้เสวยราชย์ครองล้านช้างแล้วไม่พอพระราชหฤทัย ที่ขุนนางล้านนาอัญเชิญพระเมกุฏิสุทธิวงศ์มาเสวยราชย์โดยที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชมิทรงเห็นชอบ จึงนำไปสู่การยกทัพไปตีเมืองเชียงแสนในปี พ.ศ. 2098[4]

พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ทรงพยายามแก้ไขปัญหาการขาดฐานอำนาจในเชียงใหม่ด้วยการนำขุนนางจากเมืองนายติดตามเข้ามา ขุนนางท้องถิ่นล้านนาจึงไม่พอใจนักที่ถูกลดทอนบทบาทลง ซึ่งใน ตำนานเมืองเชียงใหม่ ระบุว่า การกระทำของพระองค์ผิดจารีตล้านนาเพราะใช้จารีตเงี้ยว ส่งผลให้บ้านเมืองเสื่อม[4] ทั้งทรงรักษาสัมพันธภาพอันดีกับเมืองนายอย่างใกล้ชิด หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสงคราม อีกฝ่ายหนึ่งก็จะช่วยร่วมรบด้วย การกระทำของพระเมกุฏิสุทธิวงศ์เสมือนการชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้าน เพราะทรงช่วยเหลือเมืองนายที่ถูกพระเจ้าบุเรงนองทรงล้อมไว้[19] ด้วยเหตุนี้พระเจ้าบุเรงนองจึงดำเนินการปราบปรามล้านนาในเวลาต่อมา[4]

ใต้การปกครองของพม่า

แก้

ในช่วงเวลาที่ล้านนาอ่อนแอที่สุด การเมืองภายในของล้านนาเกิดความแตกแยก หัวเมืองล้านนาพยายามปลีกตัวเป็นอิสระ และโดดเดี่ยวเมืองเชียงใหม่ ไม่มีหัวเมืองใดส่งกำลังพลมาช่วยรบกับพม่า[20] พระเจ้าบุเรงนองทรงใช้ระยะเวลาเพียง 3 วันในการยึดเมืองเชียงใหม่ และเสียเมืองเชียงใหม่แก่พม่าในปี พ.ศ. 2101[21] พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ทรงยอมศิโรราบ แต่พระเจ้าบุเรงนองก็ทรงให้เกียรติแก่พระเมกุฏิให้ครองเชียงใหม่ตามเดิม ดังปรากฏใน มหาราชวงศ์ ความว่า[22]

"ครั้นจุลศักราช ๙๒๐ [พ.ศ. 2101] พระองค์ [พระเจ้าบุเรงนอง] ก็มีไชยชนะประเทศน้อยใหญ่ทั้งสิ้น คือ ประเทศเงี้ยว [รัฐชาน] ประเทศลาวญวน [ยวนหรือโยนกคือล้านนา] เชียงใหม่แต่เมืองเชียงใหม่นั้นมิได้รบพุ่ง เจ้าเมืองเชียงใหม่ [พระเมกุฏิสุทธิวงศ์] เข้ายอมสวามิภักดิ์ เมื่อพระองค์สมพระราชประสงค์แล้ว ให้เจ้าเชียงใหม่ครองเชียงใหม่ตามเดิม..."

ส่วนใน พงศาวดารโยนก ก็ได้บันทึกไว้ว่าพระเจ้าบุเรงนองทรงตั้งพิธีราชาภิเษกแก่พระเมกุฏิเช่นเดียวกัน หากแต่ยังคงกองกำลังไว้รั้งเมืองเชียงใหม่ ความว่า[23]

"...สมเด็จพระเจ้ากรุงหงสาวดี ให้ตั้งพิธีราชาภิเษกสรงพระเมกุฏิให้เป็นพระเจ้านครพิงค์เชียงใหม่ตามเดิม ให้พระยาสุรโยธานายทัพ ๑ พระยาจักรวุฒิ ขุนเมืองซังเหยียบเป็นปลัดทัพ ๑ ขุนเมืองมรวดีเป็นยกกระบัตรทัพ ๑ ถือพลหมื่นอยู่รั้งเมืองเชียงใหม่กับพระเมกุฏิเจ้านครพิงค์เชียงใหม่..."

ด้านการบริหารบ้านเมืองของเชียงใหม่ พระเจ้าบุเรงนองยังทรงให้พระเมกุฏิมีส่วนร่วมในการปกครองภายใต้การพระราชบัญชาของพระองค์[24] และมีพระราชบัญชาให้ขุนนางพม่าที่อยู่รั้งเมืองเชียงใหม่เคารพและน้อมรับพระราชบัญชาของกษัตริย์เชียงใหม่เสียด้วย[25][26] ดังจะเห็นได้ว่าแม้ล้านนาจะตกเป็นประเทศราชของพม่าแล้ว แต่พระมหากษัตริย์พม่ายังทรงยกย่องให้เกียรติและยอมรับสถานะของพระเมกุฏิในฐานะเจ้าผู้ครองเชียงใหม่อย่างสมบูรณ์[27]

ในช่วงที่พระองค์ปกครองเชียงใหม่ภายใต้การปกครองของพม่า กองทัพพันธมิตรล้านนาที่นำโดยเจ้าเมืองแพร่ เจ้าเมืองน่าน เจ้าเมืองลำปาง เจ้าเมืองเชียงราย และเจ้าเมืองเชียงของซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้างเข้าโจมตีกองทัพพม่าในเชียงใหม่หลังพระเจ้าบุเรงนองเสด็จกลับหงสาวดีราว 2-3 เดือน ด้วยเหตุนี้พระเจ้าบุเรงนองจึงส่งทัพใหญ่มาช่วยเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2101 ประกอบไปด้วยทัพม้า 6,000 ตัว ช้าง 500 เชือก และทหาร 150,000 นาย[28] สามารถป้องกันเชียงใหม่ได้ และสามารถรุกขึ้นไปตีเมืองเชียงรายแตก พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชและบรรดาเจ้าเมืองต่าง ๆ ที่กำลังล้อมเมืองเชียงแสนอยู่จึงหนีออกไป[29]

ต่อมาพระเมกุฏิสุทธิวงศ์และพระยากระมลเจ้าผู้ครองเมืองเชียงแสนร่วมกันคิดกบฏต่อกรุงหงสาวดี เพราะไม่ยอมส่งทัพช่วยพม่ารบกับอาณาจักรอยุธยาเมื่อคราวสงครามช้างเผือกในปี พ.ศ. 2106 โดยมีเจ้าเมืองเชียงราย เจ้าเมืองน่าน และเจ้าเมืองลำปางร่วมก่อกบฏด้วยโดยมีพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชสนับสนุน แต่คราวนี้หลังพม่าเสร็จศึกที่อยุธยา ก็ยกทัพขึ้นมาปราบล้านนาอีกครั้ง บรรดาเจ้าเมืองต่าง ๆ ที่เคยลุกขึ้นมาต่อต้านกลับพากันหลบลี้ไปล้านช้างเสียหมดยกเว้นพระเมกุฏิที่ยอมสวามิภักดิ์แต่โดยดีและจัดบรรณาการมาถวาย[29] โดยทรงอ้างว่าพระยาแสนหลวง เสนาบดีผู้รั้งเมืองเชียงแสน กับพระยาสามล้าน เจ้าเมืองลำปาง เจ้าเมืองน่าน และเจ้าเมืองเชียงรายสมคบกันก่อกบฏ[30] ทว่าความผิดที่พระเมกุฏิฝ่าฝืนการปฏิบัติคำสั่งถือเป็นโทษร้ายแรง[29] เป็นเหตุให้พระเจ้าบุเรงนองถอดพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ออกจากพระราชบัลลังก์ล้านนาและพาตัวไปหงสาวดีเป็นการลงทัณฑ์ ดังปรากฏใน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ความว่า[30]

"...สกได้ ๙๒๖ ตัว เจ้าท้าวแม่กุฟื้น [กบฏ] เจ้าเปิงภวะมังทราฟ้าหงสา [พระเจ้าบุเรงนอง] ฟ้ามังทรายกริพลมาคุมเอาเชียงใหม่ได้ ลวดเอาเจ้าท้าวแม่กุเมือไว้เสียเมืองหงสา ไว้นางวิสุทธเทวีกินเมืองแทนหั้นแล..."

หลังจากนั้นพระเมกุฏิสุทธิวงศ์จึงได้รับพระราชทานตำหนักขาวให้ประทับอยู่ภายในราชธานีหงสาวดี ดังปรากฏใน มหาราชวงศ์ฉบับหอแก้ว ที่กล่าวถึงปี พ.ศ. 2110 ความว่า (คำอธิบายในวงเล็บเป็นของ รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์)[31]

"...ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานตำหนักให้กับนะระปะติเจ้าเมืองแพร่ ๑ อะวะนะระปะติจีสู ๑ [นะระปะติสีตู] พระสังข์เจ้าเมืองเชียงใหม่ ๑ [ที่ถูกต้องคือพระตาน มาจากคำว่าเจ้าขนานแม่กุ] พระสาธิราชพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา [พระเธียรราชา] แล้วพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นอันมาก..."

หลังจากนั้นพระเจ้าบุเรงนองจึงตั้งพระนางวิสุทธิเทวี ขัตติยนารีผู้มีเชื้อสายราชวงศ์มังรายครองล้านนาสืบต่อไป ซึ่ง รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ สันนิษฐานว่าพระนางวิสุทธิเทวีนี้คือพระราชชนนีของพระเมกุฏิ โดยให้เหตุผลว่าเป็นหลักประกันเพื่อมิให้เจ้าแผ่นดินล้านนาพระองค์ใหม่คิดแข็งเมืองต่อพม่า[16] เพราะฝ่ายพม่าได้ยกไพร่พลและขุนนางรามัญไปอยู่ในเมืองเชียงใหม่เสียด้วย ปรากฏใน พงศาวดารโยนก ความว่า[32]

"...แล้วตั้งราชเทวีอันเป็นเชื้อสายเจ้าเชียงใหม่แต่ก่อน ทรงนามพระวิสุทธิเทวี ขึ้นเป็นราชินีครองเมืองนครเชียงใหม่สืบไป ให้ขุนนางรามัญอยู่เป็นข้าหลวงกำกับเมือง..."

พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ประทับอยู่ในพระตำหนักขาวในหงสาวดี จนกระทั่งพิราลัยด้วยพระโรคบิด[5]

พระราชกรณียกิจ

แก้

เศรษฐกิจ

แก้

อาณาจักรล้านนามีเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มานานเพราะปัญหาการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างกษัตริย์กับขุนนางอันยาวนาน ทั้งมีปัจจัยภายนอกที่มาจากการรุนรานของรัฐที่เข้มแข็งกว่า สภาพเศรษฐกิจในรัชกาลพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ปรากฏในพับสาเรื่องประวัติศาสตร์ กฎหมายโบราณ ต้นฉบับของวัดป่าลาน อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหลักฐานชิ้นเดียวที่กล่าวถึงเศรษฐกิจในยุคนั้น โดยอธิบายไว้ว่า (คำอธิบายในวงเล็บเป็นของศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล)[21]

...ท้าวพระญาเสนาอามาตย์บ่ควรดีลิดม้างสีมาบ้านเมืองอันใหญ่หนักแท้มี ๓ ประการ

คือม้างหลักพัน ๑ ม้างไสเมือง ๒ ทีอันหนึ่ง ลัดเบี้ยลง หื้อย้อนเสียร้อยนับว่าหื้อพอร้อย

เหตุ ๓ ประการนี้ ขึดแพ้ตัวแพ้บ้านแพ้เมืองแล [ทำร้ายตัวเองและบ้านเมือง] เปนดั่ง

พระเมืองแก้ว แต่งเบี้ย ๙๘ หื้อเปน ๑๐๐ ท้าวอ้ายเกล้า [พระเมืองเกษเกล้า] แต่งเบี้ย ๘๐ เปน ๑๐๐

ท้าวชาย แต่งเบี้ย ๗๐ เปน ๑๐๐ ท้าวอุปโย [พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช] แต่งเบี้ย ๖๐ เปน ๑๐๐

พระแม่กุ แต่งเบี้ย ๕๘ เปน ๑๐๐ เหตุ ๓ ประการนี้ แพ้เจ้าเมืองแพ้บ้านเมืองแล อันใดก็ดี บ่พอหมื่นว่าหมื่น

บ่พอ ๑๐๐๐ ว่า ๑๐๐๐ บ่พอ ๑๐๐ ว่า ๑๐๐ ย่อมหื้อวินาสฉิบหายแล...

จากหลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจของล้านนาค่อย ๆ เสื่อมทรามและทรุดลงตามลำดับ เนื่องจากปัญหาค่าเงินตกต่ำหรือที่เรียกว่าการ "ลัดเบี้ยลง" คือการลดค่าเงิน เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งย่ำแย่มาตั้งแต่รัชกาลพระเมืองแก้ว เรื่อยมาจนถึงรัชกาลพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ถือว่าเศรษฐกิจล้านนาอยู่ในระดับหายนะขั้นสุด[21]

และหลังพระเมกุฏิถูกถอดจากราชบัลลังก์ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่ต้องถูกส่งไปเป็นบรรณาการแก่ราชสำนักหงสาวดี บรรดาเจ้าเมืองในล้านนาที่เคยครอบครองไพร่และส่วยอากรจึงถูกดึงรายได้ และแรงงานท้องถิ่นก็ถูกใช้ในกิจการของพม่า[29]

การศาสนา

แก้

พระเมกุฏิสุทธิวงศ์เป็นหนึ่งในพระมหากษัตริย์ล้านนาที่ทรงออกผนวชเป็นพระภิกษุ[33] และในจารึกจุลคิรีระบุว่าพระองค์เป็น "ธรรมิกราชาธิราช"[34]

ใน ตำนานพระธาตุจอมทอง ได้กล่าวถึงปี พ.ศ. 2099 ว่าพระองค์และพระราชชนนีได้อัญเชิญพระบรมธาตุจอมทองเข้าไปพระราชวังที่เชียงใหม่ด้วยความเลื่อมใสจึงถวายข้าวของเงินทอง และกัลปนาคนเป็นข้าวัดพระธาตุจอมทอง ดังปรากฏความว่า[35]

...เมื่อนั้น พระราชบุตต์เจ้าอยู่เกล้าอยู่หัวตนเปนพระองค์ราชมาดามหาเทวี เจ้าทัง 2 พระองค์แม่ลูกทรงราชสัทธาจิ่งนิมนต์พระมหาธาตุเจ้าจอมทองเมือยังหดสรงในราชวัง ยินดีด้วยพระมหาธาตุเจ้าทัง 2 แม่ลูกก็หื้อยังมหาทานอันใหย่ คือว่า ข้าวของ เงินฅำ ข้าฅน ไร่นาที่ดิน ย่านน้ำ เครื่องทาน ขันสรง โกฎแก้วใส่ฅำประดับด้วยแก้วคอวชิระเพก [เพชร] และธารารับน้ำสรงแลสัพพเครื่องแหทังมวลอันพระรัตนราชเจ้าหื้อทานแล้วแต่ก่อน พระเป็นเจ้าทังสองแม่ลูกก็ซ้ำหื้อทานแถมเปนถ้วน 2 จิ่งพระราชอาชญาแก่มหาเสนาผู้ใหย่ทัง 4 คือว่า แสนหลวง สามล้าน จ่าบ้าน เด็กชาย ว่า ตั้งแต่นี้ไปพายหน้า ข้าพระเจ้าจอมทองนี้อย่าได้ใช้สอย...

จากตำนานดังกล่าวก็สอดรับกับจารึกวัดพระธาตุศรีจอมทองที่บันทึกว่าในปี พ.ศ. 2099 พระเมกุฏิสุทธิวงศ์และพระราชชนนีอัญเชิญพระมหาธาตุเจ้าจอมทองไปประดิษฐาน ณ หอบาตรในพระราชวัง และมีพระราชบัญชาให้รวบรวมข้าพระจากครัวเรือนต่าง ๆ ไปดูแลพระมหาธาตุจอมทอง[3]

นอกจากนี้ยังทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอื่น ๆ ได้แก่ ถวายที่ดินและข้าพระแก่วัดเชียงสา[2] ทำนุบำรุงพระธาตุบนดอยน้อยที่พระนางจามเทวีทรงสร้างไว้[34] และอุทิศข้าพระแก่อารามป่าญางเถียงแซง[36] เป็นต้น

การต่างประเทศ

แก้

พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ทรงแต่งตั้งพระยากัมพล (พระยารัตนกัมพล) ผู้มีเชื้อราชวงศ์มังรายเป็นเจ้าเมืองเชียงแสนแทนพระยาคำหมู่ ขุนนางล้านช้างที่สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชทรงแต่งตั้งไว้ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2097 ทำให้สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชไม่พอพระทัยและยกทัพไปตีเมืองเชียงแสน[37]

นอกจากนี้ทรงมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับเมืองนายอย่างใกล้ชิด เนื่องจากทรงสืบเชื้อสายจากเมืองนาย หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสงคราม อีกฝ่ายหนึ่งก็จะช่วยร่วมรบด้วย ดังในปี พ.ศ. 2098 ที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้างทรงยกทัพมาตีเมืองเชียงแสนของล้านนา เจ้าฟ้าเมืองนายก็ทรงช่วยรบที่เมืองเชียงแสน และในปี พ.ศ. 2100 เจ้าฟ้าเมืองนายถูกทัพของพระเจ้าบุเรงนองเข้าล้อม พระเมกุฏิก็ทรงช่วยด้วยการส่งอาวุธและกองกำลังไปช่วย[19]

คติชน

แก้

พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ถึงแก่พิราลัยด้วยพระโรคบิดขณะถูกจองจำในกรุงหงสาวดีในพม่า ซึ่งการพิราลัยด้วยพระโรคบิดของพระองค์นั้น ทางคติพม่าถือว่าเป็นการตายร้าย ตายอย่างน่าสังเวชเวทนา พระองค์จึงกลายเป็นนัตตามความเชื่อของชาวพม่า และจัดว่าเป็นนัตตระกูลสูงหนึ่งจากทั้งหมดสามสิบเจ็ดตน[5] พระสาทิสลักษณ์ของพระองค์ในรูปลักษณ์ของนัตมีลักษณะคือ ประทับนั่งชันพระชานุขวา พระหัตถ์ขวาถือพระแสงดาบพาดพระอังสาเบื้องขวา และพระหัตถ์ซ้ายวางบนพระชานุซ้าย[8][9][10]

อ้างอิง

แก้
เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี, หน้า 91
  2. 2.0 2.1 2.2 "จารึกวัดเชียงสา". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์มหาชน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-09-17. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 "จารึกวัดพระธาตุศรีจอมทอง ๑". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์มหาชน). สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 4.7 ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 178-179
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 พม่าอ่านไทย, หน้า 162-163
  6. มหาราชวงษ์ พงศาวดารพม่า, หน้า 178
  7. 7.0 7.1 พระราชพงศาวดารพม่า, หน้า 1129
  8. 8.0 8.1 Hla Thamein. "Thirty-Seven Nats". Yangonow. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-06-24. สืบค้นเมื่อ 2006-07-03.
  9. 9.0 9.1 Forbes, Andrew (2005). "King Mae Ku: From Lan Na Monarch to Burmese Nat". CPAmedia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-16. สืบค้นเมื่อ 2008-09-12.
  10. 10.0 10.1 Barlow, Joel John. "History of Lanna - Burmese Rule and Other Foreign Influence". Chiang Rai Province.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-20. สืบค้นเมื่อ 2008-09-14.
  11. พม่ารบไทย, หน้า 289
  12. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, หน้า 45
  13. ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 148
  14. 14.0 14.1 ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 237-238
  15. รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย, หน้า 18
  16. 16.0 16.1 พม่ารบไทย, หน้า 294
  17. เพ็ญสุภา สุขคตะ (7 ธันวาคม 2560). ""ล้านนาศึกษา" ใน "ไทยศึกษาครั้งที่ 13" (9) เมืองน้อย เมืองเนรเทศกษัตริย์ล้านนา The Romance of Three Kingdoms (จบ)". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 11 ธันวาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  18. พงศาวดารโยนก, หน้า 377
  19. 19.0 19.1 ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, หน้า 92
  20. รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย, หน้า 79
  21. 21.0 21.1 21.2 ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 180-181
  22. มหาราชวงษ์ พงศาวดารพม่า, หน้า 67
  23. พงศาวดารโยนก, หน้า 386
  24. ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 266
  25. พงศาวดารโยนก, หน้า 387
  26. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, หน้า 78
  27. ย้อนอดีตล้านนา ตอน รวมเรื่องน่ารู้จากแผนที่เมืองนครเชียงใหม่, หน้า 29
  28. มหาราชวงษ์ พงศาวดารพม่า, หน้า 68
  29. 29.0 29.1 29.2 29.3 ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 270-271
  30. 30.0 30.1 ลำดับกษัตริย์ลาว, หน้า 100
  31. พม่ารบไทย, หน้า 299-300
  32. พงศาวดารโยนก, หน้า 388-389
  33. ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 187
  34. 34.0 34.1 "จารึกจุลคิรี". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์มหาชน). สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  35. ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 272-273
  36. "จารึกพญาแสนหลวงพิงไชย". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์มหาชน). สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  37. ลำดับกษัตริย์ลาว, หน้า 104
บรรณานุกรม
  • ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538. 320 หน้า. ISBN 974-8150-62-3
  • ประชากิจกรจักร, พระยาพงศาวดารโยนก. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2557. 496 หน้า. ISBN 978-616-7146-62-1
  • นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพระราชพงศาวดารพม่า. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2550. 1136 หน้า. ISBN 978-974-7088-10-6
  • มหาราชวงษ์ พงศาวดารพม่า. นายต่อ (แปล). กรุงเทพฯ : มติชน, 2545. 467 หน้า. ISBN 974-322-595-1
  • รุ่งพงษ์ ชัยนาม. ประวัติศาสตร์ล้านนา : ประวัติศาสตร์ไทยที่คนไทยไม่ค่อยมีโกาสได้ศึกษา. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  • วรชาติ มีชูบท. ย้อนอดีตล้านนา ตอน รวมเรื่องน่ารู้จากแผนที่เมืองนครเชียงใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2560. 236 หน้า. ISBN 9789740335696
  • สรัสวดี อ๋องสกุลกษัตริย์ล้านนาเชียงใหม่. เชียงใหม่ : ศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2557. 166 หน้า. หน้า 88-90. ISBN 978-974-672-853-9
  • สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 7, กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2553. 660 หน้า. ISBN 978-974-8132-15-0
  • สุเนตร ชุตินธรานนท์พม่ารบไทย : ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับพม่า. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554. 309 หน้า. ISBN 9789740206156
  • สุรศักดิ์ ศรีสำอาง. ลำดับกษัตริย์ลาว. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2545. 368 หน้า. ISBN 974-418-118-4
  • เสมอชัย พูลสุวรรณ. รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552. 222 หน้า. ISBN 9789746605694
  • อรนุช-วิรัช นิยมธรรม. "นัต : ผีอารักษ์ในสังคมพม่า". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555. 187 หน้า. ISBN 9789743223525
  • อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และเดวิด เค วัยอาจ (ปริวรรต). ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : ตรัสวิน, 2543. 220 หน้า. ISBN 9747047683


ก่อนหน้า พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ ถัดไป
สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช    
พระเจ้าเชียงใหม่
(พ.ศ. 2094–2101 (เอกราช)
พ.ศ. 2101–2107 (ประเทศราชของหงสาวดี))
  พระนางวิสุทธิเทวี