แอนดี มาร์รี

นักเทนนิสจากสหราชอาณาจักร
(เปลี่ยนทางจาก แอนดี เมอร์รี)

เซอร์ แอนดรูว์ บาร์รอน มาร์รี[a] OBE (อังกฤษ: Andrew Barron Murray;[5] เกิด: 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1987) เป็นนักเทนนิสอาชีพชายชาวสกอตแลนด์ มือวางอันดับ 51 ของโลกคนปัจจุบัน[6] และเป็นอดีตมือวางอันดับ 1 ของโลกจำนวน 41 สัปดาห์ เขาชนะเลิศรายการแกรนด์สแลมในประเภทชายเดี่ยว 3 รายการ (วิมเบิลดัน 2 สมัย ใน ค.ศ. 2013 และ 2016) และ ยูเอสโอเพน 1 สมัย (ค.ศ. 2012) และชนะเลิศการแข่งขันประเภทชายเดี่ยวรวม 46 รายการ รวมถึงแชมป์เอทีพี มาสเตอร์ 14 สมัย และเอทีพี ไฟนอล 1 สมัย มาร์รีได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักกีฬาจากสหราชอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล[7][8][9]

เซอร์
แอนดรูว์ มาร์รี
OBE
มาร์รีในปี 2016
ชื่อเต็มแอนดรูว์ บาร์รอน มาร์รี
ประเทศ (กีฬา)สหราชอาณาจักร บริเตนใหญ่
ถิ่นพำนักอ็อกซ์ชอตต์, เซอร์รีย์, อังกฤษ
วันเกิด (1987-05-15) 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1987 (36 ปี)[1]
กลาสโกว์, สกอตแลนด์
ส่วนสูง1.91 m (6 ft 3 in)
เทิร์นโปร2005[2]
การเล่นมือขวา (แบ็กแฮนด์สองมือ)
ผู้ฝึกสอนเจมี เดลกาโด (2016–2021), อิวาน เลนเดิล (2022–ปัจจุบัน)
เงินรางวัล63,195,934 ดอลลาร์สหรัฐ
เว็บไซต์ทางการandymurray.com
เดี่ยว
สถิติอาชีพ717–232 (75.6%)
รายการอาชีพที่ชนะ46 (อันดับที่ 14 ในยุคโอเพน)
อันดับสูงสุด1 (7 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016)
อันดับปัจจุบัน50 (14 พฤศจิกายน 2565)[3]
ผลแกรนด์สแลมเดี่ยว
ออสเตรเลียนโอเพนรองชนะเลิศ (2010, 2011, 2013, 2015, 2016)
เฟรนช์โอเพนรองชนะเลิศ (2016)
วิมเบิลดันชนะเลิศ (2013, 2016)
ยูเอสโอเพนชนะเลิศ (2012)
การแข่งขันอื่น ๆ
Tour Finalsชนะเลิศ (2016)
Olympic Gamesเหรียญทอง (2012, 2016)
คู่
สถิติอาชีพ79–78 (50.3%)
รายการอาชีพที่ชนะ3
อันดับสูงสุดอันดับ. 51 (17 ตุลาคม 2011)
อันดับปัจจุบัน139 (12 กรกฎาคม 2564)[4]
ผลแกรนด์สแลมคู่
ออสเตรเลียนโอเพน1R (2006)
เฟรนช์โอเพน2R (2006)
วิมเบิลดัน2R (2019)
ยูเอสโอเพน2R (2008)
การแข่งขันคู่อื่น ๆ
Olympic Games2R (2008)

มาร์รี และ นอวาก จอกอวิช ต่างก็โด่งดังขึ้นมาในยุคที่ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ และ ราฟาเอล นาดัล เป็นสองผู้เล่นที่ขับเคี่ยวกันเพื่อแย่งการเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยมาร์รีขึ้นสู่ 10 อันดับแรกของโลกได้ในปี 2007 ก่อนที่ทั้งมาร์รีและจอกอวิชจะก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในยอดผู้เล่นของวงการ และได้รับการยกย่องร่วมกับเฟเดอเรอร์และนาดัลให้อยู่ในกลุ่ม Big 4[10] หรือ 4 นักเทนนิสชายที่เก่งที่สุดในช่วงทศวรรษ 2010[b] โดยหากนับตั้งแต่ปี 2008–2017 มาร์รีสามารถรักษาอันดับติด 1 ใน 4 อันดับแรกของโลกได้ถึง 8 จาก 9 ปี มาร์รีเข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมได้ 11 รายการ โดยแพ้เฟเดอเรอร์และจอกอวิชในการชิงชนะเลิศ 4 ครั้งแรก ก่อนจะคว้าแชมป์ครั้งแรกในยูเอสโอเพนปี 2012 โดยเอาชนะจอกอวิช ส่งผลให้เขาเป็นนักเทนนิสจากสหราชอาณาจักรคนแรกในรอบ 35 ปีที่ได้แชมป์แกรนด์สแลม และในปีนั้นเขายังคว้าเหรียญทองประเภทชายเดี่ยวในโอลิมปิกฤดูร้อนได้ โดยชนะเฟเดอเรอร์ในรอบชิงชนะเลิศ[11]

มาร์รีคว้าแชมป์แกรนด์สแลมเพิ่มได้สองรายการในวิมเบิลดันปี 2013 และ 2016 โดยถือเป็นนักเทนนิสจากสหราชอาณาจักรคนแรกในรอบ 77 ปีที่ได้แชมป์รายการนี้[12] และในปี 2016 ถือเป็นฤดูกาลที่ดีที่สุดของมาร์รี[13] โดยเขาเข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมได้ 3 รายการ และยังคว้าเหรียญทองในโอลิมปิกฤดูร้อนได้อีกครั้ง ส่งผลให้เขาเป็นผู้เล่นคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกในประเภทชายเดี่ยว 2 สมัย[14] ก่อนจะปิดท้ายฤดูกาลด้วยการคว้าแชมป์เอทีพี ไฟนอล และขึ้นสู่ตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ของโลก[15] ถือเป็นผู้เล่นจากสหราชอาณาจักรคนแรกที่ครองตำแหน่งอันดับ 1 ได้ในยุคโอเพน[16][c] เขายังเป็นผู้เล่นคนเดียวที่เอาชนะจอกอวิชในรอบชิงชนะเลิศวิมเบิลดันได้

เขาได้รับเกียรติให้มีรูปอยู่ในแสตมป์ของรัฐบาลอังกฤษสองครั้ง ครั้งแรกในปี 2012 หลังจากคว้าเหรียญทองโอลิมปิค ณ กรุงลอนดอน และครั้งที่สองในปี 2013 หลังจากได้แชมป์วิมเบิลดันสมัยแรก[17] ซึ่งราชวงศ์อังกฤษยังได้มอบเครื่องอิสริยาภรณ์ของจักรวรรดิบริติชรวมทั้งพระราชทานยศอัศวินให้แก่เขาในปี 2017[18][19] โดยเขาถือเป็นนักเทนนิสคนที่สองที่ได้รับเกียรตินี้ต่อจาก เซอร์ นอร์แมน บรูค (ค.ศ. 1939)[20]

มาร์รีเป็นผู้เล่นที่เล่นได้ดีในทุกพื้นสนาม มีจุดเด่นในด้านการเล่นเกมป้องกันที่เหนียวแน่นและการรีเทิร์นลูกเสิร์ฟ และเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ตีลูกแบคแฮนด์สองมือได้ดีที่สุด[21] ปัจจุบันมาร์รีประสบปัญหาในการเรียกฟอร์มเก่งกลับคืนมาเนื่องจากปัญหาสภาพร่างกาย เขาบาดเจ็บสะโพกในปี 2017 และเข้ารับการผ่าตัดสองครั้งในปี 2018–2019[22] และยังไม่สามารถกลับมาคว้าแชมป์ได้อีกเลย เขาเคยประกาศเลิกเล่นในปี 2019 ก่อนจะตัดสินใจกลับมาแข่งขันต่อ ในการแข่งขันนานาชาติ มาร์รีและพี่ชายของเขาพาทีมสหราชอาณาจักร[d] คว้าแชมป์เดวิส คัพ[e] ได้ในปี 2015[23] มาร์รีมีอุดมการณ์ด้านคตินิยมสิทธิสตรี โดยเป็นหนึ่งในนักกีฬาที่ออกมาเรียกร้องด้านสิทธิสตรี[24][25]

ชีวิตส่วนตัว แก้

มาร์รีเกิดที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ เขาเริ่มเล่นเทนนิสเมื่ออายุได้สามปี โดยอยู่ในการดูแลของจูดี้ ผู้เป็นมารดา[26] ในวัยเด็กเขาได้รับการฝึกฝนการเล่นฟุตบอลที่โรงเรียนและเคยได้รับการเชิญชวนให้ไปทดสอบฝีเท้ากับสโมสร กลาสโกว์ เรนเจอร์ แต่เขาเลือกที่จะเป็นนักเทนนิสอาชีพแทน เขาเป็นแฟนฟุตบอลของสโมสรอาร์เซนอล[27] และฮิเบอร์เนียน เขามีพี่ชายหนึ่งคนคือ เจมี มาร์รี ซึ่งเป็นนักเทนนิสอาชีพเช่นเดียวกัน ไอดอลของเขาในกีฬาเทนนิสได้แก่ อานเดร แอกัสซี

มาร์รีเข้าเรียนที่โรงเรียนประถมดับเบลนและอยู่ในเหตุการณ์สังหารหมู่ "Dunblane Massacre" ในปี 1996 ซึ่งฆาตกรคือ โธมัส ฮามิลตัน ที่ฆ่าตัวตายหลังจากสังหารเหยื่อไป 17 ราย โดยวันนั้นมาร์รีซ่อนตัวอยู่ในห้องเรียนและเด็กเกินกว่าที่จะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นและกลายเป็นประเด็นที่เขาถูกถามบ่อยครั้งในการให้สัมภาษณ์ของเขาจนถึงปัจจุบัน

มาร์รีเข้าพิธีสมรสกับ คิม เซียร์ ภรรยาของเขาในปี 2015 โดยปัจจุบันทั้งคู่มีบุตร-ธิดารวม 4 คน เขาถือเป็นหนึ่งในนักกีฬาระดับโลกที่ออกมาเคลื่อนไหวและเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและสนับสนุนด้านสิทธิสตรีทั่วโลก มาร์รีชื่นชอบการรับประทานซูชิหรือข้าวปั้นญี่ปุ่นมากเนื่องจากรสชาติถูกปากและยังเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง โดยทีมงานของเขาจะต้องตระเวนหาซูชิในปริมาณมาก ๆ ให้เขาได้ทานก่อนการแข่งขันทุกครั้ง[28]

การเล่นอาชีพ แก้

ช่วงเริ่มต้น แก้

มาร์รีเริ่มเล่นเทนนิสเมื่ออายุ 5 ปี ก่อนเริ่มเล่นอาชีพอย่างเป็นทางการในปี 2005 ในระดับชาเลนเจอร์ และคว้าแชมป์เอทีพีทัวร์ รายการแรกได้สำเร็จ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2006 ที่ซาน โฮเซ่ ประเทศสหรัฐฯ จากนั้น เขาผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศแกรนด์​สแลมเป็นครั้งแรกในศึกยูเอสโอเพน ปี 2008 แต่พ่ายให้กับ โรเจอร์ เฟเดเรอร์ ยอดผู้เล่นสวิตเซอร์แลนด์

 
มาร์รีในการแข่งขันออสเตรเลียนโอเพนปี 2010

อย่างไรก็ตามเขาสามารถสร้างชื่อเสียงด้วยการคว้าแชมป์ระดับมาสเตอร์ได้อย่างต่อเนื่อง ก่อนจะเข้าชิงแกรนด์สแลมได้เป็นรายการที่สองในออสเตรเลียนโอเพนปี 2010 แต่แพ้เฟเดอเรอร์ไปอีกครั้ง ตามด้วยการแพ้ นอวาก จอกอวิช ในออสเตรเลียนโอเพน 2011 ซึ่งเป็นการเข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมรายการที่ 3 ตามด้วยการเข้าชิงแกรนด์สแลมครั้งที่ 4 ในวิมเบิลดันปี 2012 และแพ้เฟเดอเรอร์ไปอีกครั้ง

แชมป์แกรนด์สแลม, เหรียญทองโอลิมปิก และแชมป์เดวิส คัพ (2012–15) แก้

ในช่วงเวลาต่อมาเส้นทางอาชีพของเขาก็ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุด เมื่อเขาคว้าเหรียญทองโอลิมปิกให้แก่ทีมสหราชอาณาจักรได้ในโอลิมปิกฤดูร้อน 2012[29] ก่อนจะคว้าแชมป์แกรนด์สแลมสมัยแรก โดยชนะจอกอวิชในยูเอสโอเพน 2012 โดยมาร์รีเป็นนักเทนนิสจากสหราชอาณาจักรคนแรกในรอบกว่า 76 ปี ที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้[30]

ในปี 2013 มาร์รียังคงทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยการเข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมเป็นครั้งที่ 6 ก่อนจะแพ้จอกอวิชในออสเตรเลียนโอเพนไปอีกครั้ง[31] เขาถือเป็นผู้เล่นคนที่สองในยุคโอเพนต่อจาก สเตฟาน เอ็ดเบิร์ก ที่ได้รองแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนในประเภทชายเดี่ยว 3 สมัย เขาคว้าแชมป์รายการมาสเตอร์ 1000 ที่ไมแอมีได้เป็นสมัยที่สองหลังจากเอาชนะ ดาวิต เฟร์เรร์ และขึ้นสู่มือวางอันดับสองของโลก[32] เขาต้องถอนตัวจากการแข่งขันเฟรนช์โอเพนเนื่องจากบาดเจ็บ[33] ก่อนจะสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการคว้าแชมป์วิมเบิลดันโดยเอาชนะจอกอวิชสามเซตรวด[34] ถือเป็นนักเทนนิสจากสหราชอาณาจักรคนแรกในรอบ 77 ปีที่ชนะเลิศวิมเบิลดันนับตั้งแต่ เฟร็ด เพอร์รี่ ในปี 1936 แต่มาร์รีตกรอบ 8 คนสุดท้ายในยูเอสโอเพนโดยแพ้สตาน วาวรีงกา[35] ก่อนจะลงแข่งขัน เดวิส คัพ ให้กับสหราชอาณาจักร แต่หลังจากนั้นเขาได้ตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดบริเวณหลัง[36]

มาร์รีเริ่มต้นฤดูกาล 2014 ในรายการที่โดฮา ประเทศกาตาร์ แต่ตกรอบที่สองโดยแพ้ ฟลอเรียน ไมเออร์ 1–2 เซต[37] เขาผ่านเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพนก่อนจะแพ้เฟเดอเรอร์ 1–2 เซต[38] และเขาได้หลุดจาก 5 อันดับแรกของโลกเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2008 ต่อมา เขาช่วยทีม เดวิส คัพ ของสหราชอาณาจักรผ่านเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศได้ หลังจากลงแข่งขันในประเภทชายเดี่ยวและเอาชนะได้ทั้งสองนัด[39] แต่เขาตกรอบในรายการที่รอตเทอร์ดาม และเม็กซิกันโอเพน และในเดือนมีนาคม มาร์รีได้แยกทางกับ อิวาน เลนเดิล ผู้ฝึกสอนซึ่งได้รับการยกย่องว่ามีส่วนสำคัญในการพัฒนาฟอร์มการเล่นของเขาจนสามารถคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้[40] ตามด้วยการตกรอบก่อนรองชนะเลิศมาสเตอร์ 1000 ที่ไมแอมีโดยแพ้จอกอวิช[41] และสหราชอาณาจักรตกรอบ เดวิส คัพ โดยแพ้อิตาลี[42] และเขาไม่ประสบความสำเร็จในรายการมาสเตอร์ 1000 คอร์ตดินที่มาดริดและกรุงโรม[43]

เข้าสู่แกรนด์สแลมเฟรนช์โอเพน มาร์รีผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศ แต่แพ้ ราฟาเอล นาดัล แชมป์ในการแข่งขันครั้งนั้นอย่างขาดลอย 0–3 เซต[44] ภายหลังจบการแข่งขัน มาร์รีได้ว่าจ้างให้ เอมิลี โมเรสโม อดีตนักเทนนิสหญิงชื่อดังชาวฝรั่งเศสเข้ามาเป็นผู้ฝึกสอนคนใหม่ โดยโมเรสโมถือเป็นผู้ฝึกสอนหญิงคนแรกที่ได้เป็นผู้ฝึกสอนให้แก่นักเทนนิสชายมือวาง 10 อันดับแรกของโลก[45] เขาเริ่มต้นการป้องกันแชมป์วิมเบิลดันในฐานะมือวางอันดับสามของรายการ[46] เอาชนะ ดาวิด กอฟแฟง[47], บลาช โรลา[48], โรแบร์โต เบาติสตา อากุต และ เควิน แอนเดอร์สัน ก่อนจะตกรอบก่อนรองชนะเลิศ โดยแพ้ กริกอร์ ดีมีตรอฟ[49] ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2008 ที่เขาไม่สามารถผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศ และอันดับโลกของเขาตกไปอยู่อันดับ 10 ซึ่งเป็นอันดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี[50] ตามด้วยการตกรอบมาสเตอร์ 1000 แคนาดาและซินซินแนติ[51] และแพ้จอกอวิชในรอบก่อนรองชนะเลิศยูเอสโอเพน ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2009 ที่มาร์รีไม่สามารถเข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมได้เลยจากการลงเล่นทั้ง 4 รายการในหนึ่งฤดูกาล และอันดับโลกของเขาหลุดจาก 10 อันดับแรก[52] แต่เขาคว้าแชมป์รายการเอทีพี 250 ที่เชินเจิ้นได้ ก่อนจะแพ้จอกอวิชในการแข่งขันที่ปักกิ่ง[53] และตกรอบที่สามรายการมาสเตอร์ 1000 ที่เซี่ยงไฮ้ แพ้ ดาวิต เฟร์เรร์[54] เขาคว้าแชมป์ที่สองของปี 2014 และแชมป์รายการที่ 30 ในอาชีพได้จากการเอาชนะเฟร์เรร์ที่กรุงเวียนนา[55] ต่อมา เขาคว้าแชมป์ที่บาเลนเซีย โดยเอาชนะ ทอมมี โรเบรโด[56] ตามด้วยการตกรอบก่อนรองชนะเลิศมาสเตอร์ 1000 ที่ปารีส โดยแพ้จอกอวิช[57] เขาปิดท้ายฤดูกาลด้วยการตกรอบแบ่งกลุ่ม เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล[58]

 
มาร์รีคว้าแชมป์วิมเบิลดันปี 2013 ทำให้เขาเป็นนักเทนนิสจากสหราชอาณาจักรคนแรกในรอบ 77 ปีที่คว้าแชมป์วิมเบิลดัน

ในฤดูกาล 2015 มาร์รีเริ่มต้นด้วยการคว้าแชมป์รายการพิเศษที่อาบูดาบี[59] และพาทีมสหราชอาณาจักรลงแข่งขัน ฮอพแมน คัพ แต่ตกรอบแบ่งกลุ่ม[60] เขาเข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมออสเตรเลียนโอเพนเป็นครั้งที่ 4 และแพ้จอกอวิชไปอีกครั้ง 1–3 เซต[61] แต่เขากลับขึ้นสู่มือวาง 4 อันดับแรกของโลกเป็นครั้งแรกในรอบหนึ่งปี[62] ต่อมาเขาตกรอบในการแข่งขันที่ รอตเทอร์ดาม[63] และตกรอบที่ดูไบ โดยแพ้ดาวรุ่งอย่าง บอร์นา โชริช ทำให้เขาตกลงไปอยู่อันดับ 5 ของโลก[64] ตามด้วยการพาทีมสหราชอาณาจักรผ่านเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศ (8 ทีมสุดท้าย) สองสมัยติดต่อกัน หลังจากเอาชนะสหรัฐ 3–2 นัด[65]

 
มาร์รีในการแข่งขันออสเตรเลียนโอเพน ค.ศ. 2015

มาร์รีผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศมาสเตอร์ 1000 ที่อินเดียนเวลส์ สหรัฐ และเป็นการคว้าชัยชนะนัดที่ 496 ในประเภทชายเดี่ยว ทำสถิติเป็นผู้เล่นจากสหราชอาณาจักรที่ชนะในการแข่งขันประเภทเดี่ยวมากที่สุดในยุคโอเพน แซงหน้าสถิติเดิมของ ทิม เฮนแมน[66] แต่เขาแพ้จอกอวิชไปอีกครั้งสองเซตรวด[67] ต่อมา เขาเข้าชิงมาสเตอร์ที่ไมแอมี ซึ่งถือเป็นการชนะนัดที่ 500 ในอาชีพ ทำสถิติเป็นผู้เล่นสหราชอาณาจักรคนแรกในประวัติศาสตร์ยุคโอเพนที่ชนะครบ 500 นัด[68] แต่ก็แพ้จอกอวิช 1–2 เซต[69] เขาคว้าแชมป์ในรายการคอร์ตดินที่มิวนิค (บีเอ็มดับเบิลยู โอเพน) ซึ่งเป็นครั้งแรกในอาชีพที่คว้าแชมป์การแข่งขันคอร์ตดิน[70] และคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 คอร์ตดินที่มาดริดได้โดยเอาชนะผู้เล่นราชาคอร์ตดินอย่างนาดัล ถือเป็นแชมป์รายการมาสเตอร์ 1000 จากคอร์ตดินรายการแรกของเขา และเป็นการชนะนาดัลบนคอร์ตดินเป็นครั้งแรก[71] เขาชนะบนคอร์ตดินติดต่อกัน 15 นัดในทุกรายการ ก่อนที่สถิติจะหยุดลงเมื่อเขาแพ้จอกอวิชในรอบรองชนะเลิศเฟรนช์โอเพนในการแข่งขัน 5 เซต[72]

มาร์รีคว้าแชมป์การแข่งขันรายการ ควีนส์ ที่กรุงลอนดอนเป็นสมัยที่ 4 เอาชนะ เควิน แอนเดอร์สัน[73] และเข้ารอบรองชนะเลิศก่อนจะแพ้เฟเดอเรอร์สามเซตรวด[74] แต่เขาพาทีมสหราชอาณาจักรเข้าสู่รอบรองชนะเลิศ เดวิส คัพ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1981 หลังจากเอาชนะฝรั่งเศส 3–1[75] แต่เขาตกรอบแรกที่วอชิงตัน ดี.ซี. อย่างเหนือความคาดหมาย[76] แต่แก้ตัวได้ด้วยการคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 ที่แคนาดา เอาชนะจอกอวิช 2–1 เซต หยุดสถิติเลวร้ายในการแพ้จอกอวิช 8 นัดติดต่อกันทุกรายการ และเขาแซงเฟเดอเรอร์ขึ้นสู่มือวางอันดับสองของโลก แต่เขาก็แพ้เฟเดอเรอร์ในรอบรองชนะเลิศมาสเตอร์ที่ซินซินแนติ และทำได้เพียงเข้ารอบที่ 4 ในยูเอสโอเพน แพ้เควิน แอนเดอร์สัน 1–3 เซต[77] หยุดสถิติเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศ (8 คนสุดท้าย) ในการแข่งขันแกรนด์สแลมจำนวน 18 รายการติดต่อกัน แต่สหราชอาณาจักรผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ เดวิส คัพ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1978 หลังจากเอาชนะออสเตรเลีย 3–2 นัด[78]

มาร์รีตกรอบรองชนะเลิศมาสเตอร์ 1000 ที่เซี่ยงไฮ้โดยแพ้จอกอวิช และได้รองแชมป์มาสเตอร์ที่ปารีส โดยแพ้จอกอวิชในรอบชิงชนะเลิศอีกครั้ง เขาตกรอบแบ่งกลุ่มเอทีพี ไฟนอล ที่ลอนดอนอีกครั้ง แต่จากการที่เฟเดอเรอร์ไม่สามารถคว้าแชมป์ได้ ส่งผลให้มาร์รีจบฤดูกาลด้วยการเป็นมือวางอันดับสองเป็นครั้งแรก และยังพาทีมสหราชอาณาจักรคว้าแชมป์ เดวิส คัพ เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1936 และเป็นแชมป์สมัยที่ 10 หลังจากเอาชนะเบลเยียม 3–1 นัด[79]

สร้างประวัติศาสตร์ในโอลิมปิก และฤดูกาลที่ดีที่สุดในอาชีพ (2016) แก้

 
มาร์รีเป็นผู้ถือธงสหราชอาณาจักรในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2016กรุงรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล

ในปี 2016 ถือเป็นฤดูกาลที่ดีที่สุดของมาร์รี เขาเข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมได้ถึง 3 รายการ โดยแม้จะแพ้จอกอวิชในรอบชิงชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพนและเฟรนช์โอเพน[80] แต่มาร์รีชนะเลิศวิมเบิลดันได้เป็นสมัยที่ 2 และเป็นการชนะเลิศแกรนด์สแลมสมัยที่ 3 ในอาชีพ และในการแข่งขันโอลิมปิก 2016กรุงรีโอเดจาเนโร มาร์รีได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการคว้าเหรียญทองในประเภทชายเดี่ยวได้เป็นสมัยที่ 2 ซึ่งเขาถือเป็นผู้เล่นคนเดียวที่ทำสถิตินี้ได้ มาร์รียังได้รับเกียรติให้เป็นผู้ถือธงชาติสหราชอาณาจักรในพิธีเปิดการแข่งขันอีกด้วย[81][82] นอกจากนี้เขายังคว้าแชมป์รายการมาสเตอร์ 1000 ได้ถึงสามรายการ (กรุงโรม, เซี่ยงไฮ้ และปารีส)

เขาปิดท้ายฤดูกาลด้วยการคว้าแชมป์ เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล โดยเอาชนะจอกอวิช ก่อนจะขึ้นสู่ตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ของโลกเป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน และด้วยวัย 29 ปี ส่งผลให้เขาเป็นผู้เล่นที่ขึ้นสู่ตำแหน่งอันดับ 1 ครั้งแรกที่มีอายุมากที่สุดเป็นอันดับสองต่อจาก จอห์น นิวคอมบ์ ชาวออสเตรเลีย (30 ปี, ค.ศ. 1974) และยังสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นผู้เล่นคนเดียวที่ชนะเลิศรายการแกรนด์สแลม, รายการมาสเตอร์ 1000, คว้าเหรียญทองโอลิมปิก และจบฤดูกาลด้วยการเป็นมือวางอันดับ 1 ได้ภายในปีเดียวกัน

บาดเจ็บ และช่วงขาลงในอาชีพ (2017–ปัจจุบัน) แก้

นับตั้งแต่ฤดูกาล 2017 มาร์รีคว้าแชมป์แกรนด์สแลมเพิ่มไม่ได้เลย และเสียตำแหน่งอันดับ 1 ให้แก่นาดัลในช่วงกลางปี 2017 โดยเขาเริ่มมีอาการบาดเจ็บสะโพกซึ่งเรื้อรังมานาน และอาการกำเริบขึ้นจนส่งผลต่อการเล่นในวิมเบิลดัน โดยมาร์รีแพ้ให้กับ แซม แควร์รี่ย์ ในรอบ 8 คนสุดท้ายในการแข่งขัน 5 เซต โดยเขามีอาการบาดเจ็บตั้งแต่เซตที่ 3 เขาพลาดลงแข่งขันในรายการที่เหลือ ได้แก่ มาสเตอร์ 1000 สามรายการที่มอนทรีออล, ซินซินแนติ และปารีส รวมทั้งยูเอสโอเพน และเอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล

มาร์รีเข้ารับการผ่าตัดสะโพกสองครั้งในปี 2018[83] และ 2019[84] และยังไม่สามารถเรียกฟอร์มการเล่นที่ดีกลับมาได้อีกเลย[85] เขาเคยประกาศเลิกเล่นหลังจบรายการออสเตรเลียนโอเพนใน 2019 แต่ได้ตัดสินใจลงทำการแข่งขันต่อจนถึงปัจจุบัน แต่ก็ยังกลับมาคว้าแชมป์รายการใดเพิ่มไม่ได้

ในเดือนมกราคมปี 2021 เขาถูกตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา ทำให้พลาดลงแข่งขันออสเตรเลียนโอเพนและได้พักไปอีกหลายเดือนก่อนจะกลับมาอีกครั้งในรายการคอรต์หญ้า "ควีนส์" (Queen’s Club Championships) ณ กรุงลอนดอน[86] แต่ตกรอบที่ 2 โดยแพ้ มัตเตโอ แบร์เรตตีนี เขากลับมาลงแข่งขันแกรนด์สแลมในรอบหนึ่งปีที่วิมเบิลดันในฐานะผู้เล่นที่ได้รับสิทธิ Wild Card (ผู้เล่นที่ไม่ได้รับการจัดอันดับแต่ได้สิทธิลงแข่งขันเป็นกรณีพิเศษ) โดยผ่านเข้าถึงรอบที่สามและแพ้ เดนิส เชโปวาลอฟ[87]

มาร์รีลงแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ทั้งในประเภทชายเดี่ยวและชายคู่ ก่อนจะถอนตัวในประเภทชายเดี่ยวเนื่องจากอาการบาดเจ็บ แต่ยังคงเล่นในประเภทคู่โดยจับคู่กับ โจ ซาลิสบิวรี เข้าถึงรอบ 8 คู่สุดท้าย และแพ้ คู่มาริน ซิลิช และ อีวาน ดอดิก จากโครเอเชีย[88] ต่อมา มาร์รีลงแข่งขันยูเอสโอเพนแต่ตกรอบแรกโดยแพ้ สเตฟานอส ซิตซิปาส ในการแข่งขัน 5 เซต[89] ตามด้วยการตกรอบที่สามใน โอเพน เดอ แรนส์ ที่ฝรั่งเศส แพ้ โรมัน ซาฟิลิน[90] และเขายังคงลงแข่งที่ฝรั่งเศส รายการต่อมาคือ โมเซลล์ โอเพน แต่ก็แพ้ ฮูแบร์ต ฮูร์กัตช์[91] ต่อมา เขาลงแข่งขันที่แซนดีเอโกโอเพนที่สหรัฐ แต่ก็แพ้ คาสเปอร์ รุด ตามด้วยรายการมาสเตอร์ที่อินเดียนเวลส์ สหรัฐกลางเดือนตุลาคม แต่ไปแพ้ อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ ในรอบที่ 3 ก่อนจะตกรอบในอีกสี่รายการถัดมาในยูโรเปียนโอเพนที่เบลเยียม, เวียนนาโอเพนที่ออสเตรีย[92], รายการมาสเตอร์ที่ปารีส และสต็อกโฮล์มโอเพนที่สวีเดน[93] เขาปิดท้ายฤดูกาล 2021 ด้วยการคว้ารองแชมป์ที่อาบูดาบี แม้จะเอาชนะ ราฟาเอล นาดัล ได้ในรอบรองชนะเลิศ[94] ทว่าเขาแพ้ อันเดรย์ รูเบลฟ ในรอบชิงชนะเลิศ 2 เซตรวด[95]

เข้าสู่ฤดูกาล 2022 มาร์รีเริ่มต้นด้วยการลงแข่งขันระดับ เอทีพี 250 ที่เมลเบิร์น แต่ตกรอบแรกโดยแพ้ ฟาคันโด บักนิส[96] ตามด้วยการคว้ารองแชมป์รายการ เอทีพี 250 ที่ซิดนีย์ แพ้ อัสลัน คารัตเซฟ ในรอบชิงชนะเลิศ[97] ต่อมา เขาลงแข่งขันออสเตรเลียนโอเพนโดยได้สิทธิ์ Wild Card โดยผ่านเข้ารอบที่สองและแพ้ ทาโร แดเนียล สามเซตรวด[98] ต่อมา เขาตกรอบที่สองในรายการที่ รอตเทอร์ดาม โดยแพ้ เฟลิกซ์ โอเฌร์ อาลียาซีม[99] เขาตกรอบที่สองในการแข่งขันที่โดฮา โดยแพ้ โรแบร์โต เบาติสตา อากุต ขาดลอย 0–6, 1–6 โดยถือเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีที่เขาแพ้คู่แข่งด้วยคะแนนเกม 0 ในเซต นับตั้งแต่แพ้จอกอวิชในรอบชิงชนะเลิศรายการมาสเตอร์ 1000 ที่ไมแอมีในปี 2015[100] ตามด้วยการตกรอบอีกสองรายการในการแข่งขัน เอทีพี 500 ที่ดูไบ และรายการมาสเตอร์ 1000 ที่อินเดียนเวลส์[101][102]

มาร์รีลงแข่งขันคอร์ตดินในรายการมาสเตอร์ที่มาดริด โดยผ่านเข้าถึงรอบที่สามซึ่งเขามีกำหนดพบกับจอกอวิช แต่เขาถอนตัวเนื่องจากมีอาการบาดเจ็บ[103] และเขาถอนตัวจากมาสเตอร์ที่กรุงโรม และแกรนด์สแลมแฟรนช์โอเพน และกลับมาลงแข่งขันในฤดูกาลคอร์ตหญ้าที่ชตุทการ์ท โดยเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศก่อนจะแพ้ มัตเตโอ แบร์เรตตีนี 1–2 เซต แต่เขาได้่ขึ้นสู่อันดับ 47 ของโลกในวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 2022 ซึ่งเป็นการกลับสู่ 50 อันดับแรกของโลกเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2018 แต่อาการบาดเจ็บทำให้เขาต้องถอนตัวจากการแข่งขันที่ควีนส์ ณ กรุงลอนดอน ก่อนจะกลับมาลงแข่งวิมเบิลดันและแพ้มือวางอันดับ 20 อย่างจอห์น อิสเนอร์ ในรอบสอง ตามด้วยการตกรอบที่นิวพอร์ต (รัฐโรดไอแลนด์)[104] เขาลงแข่งขันช่วงสุดท้ายของฤดูกาลที่สหรัฐและแคนาดา เริ่มต้นจากการตกรอบแรก ซิตี โอเพน กรุงวอชิงตัน และแพ้เทย์เลอร์ ฟลิตซ์ในรอบแรกรายการมาสเตอร์ที่แคนาดา[105] และตกรอบที่สองในมาสเตอร์ที่ซินซินแนติ โดยแพ้ คาเมอรอน นอร์รี[106] ปิดท้ายฤดูกาลด้วยการเข้าถึงรอบสามในแกรนด์สแลมยูเอสโอเพนโดยแพ้แบร์เรตตีนี

รูปแบบการเล่น แก้

 
มาร์รีถือได้ว่าเป็นผู้เล่นที่ตีแบ็กแฮนด์สองมือได้ดีที่สุดคนหนึ่ง

มาร์รีเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่มีรูปแบบการเล่นที่เน้นตั้งรับได้ดีที่สุดคนหนึ่ง เขามักจะไม่ผลีผลามบุกแต่จะตั้งรับและเน้นการตีโต้อย่างอดทนบริเวณหลังเส้นเบสไลน์เพื่อกดดันให้คู่ต่อสู้ตีพลาดเอง ในขณะเดียวกันก็มักจะฉวยโอกาสขึ้นบุกทำคะแนน เขาเน้นการตีด้วยความแน่นอนและไม่ชอบเล่นลูกที่เสี่ยงต่อการเสียแต้ม[107] มาร์รีเป็นผู้เล่นที่เล่นได้ดีบนทุกพื้นคอร์ต เขามีลูกกราวน์สโตรกที่หนักหน่วงและแม่นยำ[108] มีจุดเด่นคือแบ็กแฮนด์วินเนอร์ที่เฉียบคม และมักจะใช้ลูกแบ็กแฮนด์สไลด์ตีลูกให้เรียบต่ำลึกถึงเส้นเบสไลน์ซึ่งบีบให้คู่แข่งจำเป็นต้องตีงัดกลับขึ้นมาและมักจะไม่พ้นเน็ท ซึ่งจากการที่เขามีสไตล์การเล่นที่เน้นรับและใช้พละกำลังมากจนเกินไปนี้เอง ทำให้ร่างกายช่วงล่างของเขาได้รับผลกระทบ และเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาบาดเจ็บและเข้ารับการผ่าตัดสะโพกสองครั้ง ลูกเสิร์ฟของเขาถือเป็นจุดอ่อนมาหลายปี โดยเฉพาะเมื่อเขาเสริ์ฟแรกไม่ได้แต้ม และจำเป็นต้องเสริ์ฟลูกที่สอง[109] โดยเปอร์เซนต์การได้แต้มจากเสริ์ฟสองค่อนข้างต่ำหากเทียบกับผู้เล่นระดับโลกคนอื่น ๆ[110]

สถิติโลก แก้

 
มาร์รีคว้าแชมป์แกรนด์สแลมวิมเบิลดันสมัยที่ 2 ได้ในปี 2016

"เซอร์ แอนดี มาร์รี" ครองสถิติโลกในวงการเทนนิส 10 รายการได้แก่:[111]

  • เป็นหนึ่งในสองผู้เล่นชายที่ชนะเลิศรายการแกรนด์สแลม, รายการมาสเตอร์, คว้าเหรียญทองโอลิมปิก และจบฤดูกาลด้วยการเป็นมือวางอันดับ 1 ของโลกได้ภายในปีเดียวกัน (2016) ร่วมกับ ราฟาเอล นาดัล (2008)
  • เป็นผู้เล่นชายคนเดียวที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกในการแข่งขันชายเดี่ยว 2 สมัย (2012 และ 2016)
  • เป็นผู้เล่นคนเดียวที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกในการแข่งขันชายเดี่ยว 2 สมัยติดต่อกัน (2012 และ 2016)
  • เป็นผู้เล่นชายคนเดียวที่ชนะเลิศแกรนด์สแลมยูเอสโอเพน และคว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้ในปีเดียวกัน (2012)
  • เป็นผู้เล่นชายคนเดียวที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้ 2 สมัย และชนะเลิศแกรนด์สแลมวิมเบิลดัน
  • เป็นผู้เล่นคนที่ 3 ต่อจาก อานเดร แอกัสซี และ ราฟาเอล นาดัล ที่สามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิกและชนะเลิศแกรนด์สแลมได้ในรายการพื้นคอร์ตสองประเภท (คอร์ตหญ้าในวิมเบิลดัน และฮาร์ดคอร์ตหรือพื้นคอนกรีตในยูเอสโอเพน)
  • เป็นผู้เล่นจากสหราชอาณาจักรคนแรกในรอบกว่า 77 ปีที่ชนะเลิศแกรนด์สแลมวิมเบิลดัน (2013)
  • เป็นผู้เล่นที่คว้าตำแหน่งรองชนะเลิศแกรนด์ออสเตรเลียนโอเพนมากที่สุดในยุคโอเพน (5 สมัย)
  • เป็นผู้เล่นจากสหราชอาณาจักรคนแรกที่ครองตำแหน่งอันดับ 1 ของโลกในยุคโอเพน
  • เป็นผู้เล่นที่ขึ้นสู่ตำแหน่งอันดับ 1 ของโลกครั้งแรกที่มีอายุมากที่สุดอันดับสอง ในประวัติศาสตร์ต่อจาก จอห์น นิวคอมบ์ ชาวออสเตรเลียในปี 1974

อุปกรณ์แข่งขัน แก้

ในปี 2009 มาร์รีได้เซ็นสัญญาร่วมกับอาดิดาสแบรนด์กีฬาระดับโลกเป็นระยะเวลา 5 ปี ด้วยสัญญามูลค่า 30 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงชุดแข่งขันและรองเท้าเทนนิส ต่อมาเขาได้เซ็นสัญญากับ อันเดอร์อาร์เมอร์[112] แบรนด์สัญชาติอเมริกันในเดือนธันวาคมปี 2014 ด้วยสัญญามูลค่า 25 ล้านดอลลาร์ ก่อนจะปิดท้ายด้วยการเซ็นสัญากับ Castore แบรนด์ดังจากสหราชอาณาจักรจนกระทั่งถึงช่วงที่เขาประกาศเลิกเล่น (ณ ขณะนั้น) ในรายการออสเตรเลียนโอเพนปี 2019[113] มาร์รีใช้ไม้เทนนิสของ "Head" แบรนด์ของประเทศออสเตรเลีย และมักปรากฏภาพเขาในโฆษณาของแบรนด์

 
มาร์รีในชุดแข่งขันของอาดิดาสในปี 2012

ทรัพย์สิน แก้

มาร์รีทำเงินรางวัลรวมจากการแข่งขันไปทั้งสิ้น 62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ในประเภทชายเดี่ยว โดยเป็นรองเพียงผู้เล่นในกลุ่ม Big 4 ด้วยกันเท่านั้น (นอวาก จอกอวิช, โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ และ ราฟาเอล นาดัล เป็นสามผู้เล่นที่ทำเงินรางวัลรวมสูงที่สุด) โดยหากนับรวมกับค่าตอบแทนจากสปอนเซอร์และการโฆษณาสินค้าต่างๆแล้ว มาร์รีมีทรัพย์สินรวม 100 ล้านดอลลาร์[114]

การกุศล แก้

ในการแข่งขันแกรนด์สแลมวิมเบิลดันปี 2016 มาร์รีนำชุดแข่งที่สวมใส่ในการแข่งขันเซ็นชื่อออกประมูลหารายได้ช่วยองค์กรการกุศล แชริตีสตาร์ส (CharityStars) โดยหน่วยงานดังกล่าวซึ่งมาร์รีสนับสนุนมาตั้งแต่ปี 2009 มุ่งเน้นขจัดและรักษาโรคร้ายซึ่งคร่าชีวิตผู้คน 43,800 รายต่อปี โดยผู้เคราะห์ร้ายมักเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และสตรีมีครรภ์ในทวีปแอฟริกา[115]

ต่อมาในปี 2020 มาร์รีได้ลงแข่งขันเทนนิสรายการ Schroders Battle of the Brits ที่จัดโดยเจมี่ มาร์รี พี่ชายของเขา เพื่อระดมทุนไปมอบให้กับหน่วยงานสาธารณสุขแห่งชาติของอังกฤษ (NHS) โดยการแข่งขันรายการนี้จัดขึ้นที่ศูนย์กีฬาเทนนิสแห่งชาติ ที่กรุงลอนดอน ระหว่างวันที่ 23–28 มิถุนายนและยังมีนักเทนนิสชาวอังกฤษอย่าง ไคล์ เอ็ดมุนด์ และแดน อีแวนส์ เข้าร่วมการแข่งขันและมีการตั้งเป้าว่าจะรวบรวมเงินบริจาคให้ได้ราว 100,000 ปอนด์ (ประมาณ 4 ล้านบาท) เพื่อสมทบทุนให้กับเอ็นเอชเอส

เกียรติประวัติ แก้

  • รางวัลบีบีซี สปอร์ตส์ เพอร์ซันนอลลิตี้ ออฟ เดอะ เยียร์ สาขานักกีฬาดาวรุ่งยอดเยี่ยมแห่งปี (BBC Young Sports Personality of the Year) ปี 2004
  • รางวัล BBC Sports Team of the Year Award ปี 2012 และ 2015
  • รางวัลผู้เล่นที่ชนะเลิศการแข่งขันของเอทีพี ทัวร์ มากที่สุดต่อหนึ่งฤดูกาลในปี 2009 (6 รายการ) และ 2016 (9 รายการ)
  • รางวัล Best ATP World Tour Match of the Year ปี 2010, 2011 และ 2012
  • รางวัล BBC Sports Personality of the Year ปี 2013, 2015 และ 2016
  • รางวัลบุคคลที่มีชื่อเสียง และมีผลงานอันโดดเด่นอย่างเป็นที่ประจักษ์ของประเทศสกอตแลนด์ (The Glenfiddich Spirit of Scotland Awards) ปี 2013
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์ของจักรวรรดิบริติชชั้นพลเรือนรวมทั้งได้รับพระราชทานยศ "Sir" หรือยศอัศวินในปี 2017

สถิติอาชีพ แก้

แกรนด์สแลม แก้

เข้าชิงชนะเลิศ 11 รายการ (ชนะเลิศ 3, รองชนะเลิศ 8)

ผลลัพธ์ ปี รายการ พื้นสนาม คู่แข่ง ผลการแข่งขัน
รองชนะเลิศ 2008 ยูเอสโอเพน คอนกรีต   โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ 2–6, 5–7, 2–6
รองชนะเลิศ 2010 ออสเตรเลียนโอเพน คอนกรีต   โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ 3–6, 4–6, 6–7(11–13)
รองชนะเลิศ 2011 ออสเตรเลียนโอเพน คอนกรีต   นอวาก จอกอวิช 4–6, 2–6, 3–6
รองชนะเลิศ 2012 วิมเบิลดัน หญ้า   โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ 6–4, 5–7, 3–6, 4–6
ชนะเลิศ 2012 ยูเอสโอเพน(1) คอนกรีต   นอวาก จอกอวิช 7–6(12–10), 7–5, 2–6, 3–6, 6–2
รองชนะเลิศ 2013 ออสเตรเลียนโอเพน คอนกรีต   นอวาก จอกอวิช 7–6(7–2), 6–7(3–7), 3–6, 2–6
ชนะเลิศ 2013 วิมเบิลดัน(1) หญ้า   นอวาก จอกอวิช 6–4, 7–5, 6–4
รองชนะเลิศ 2015 ออสเตรเลียนโอเพน คอนกรีต   นอวาก จอกอวิช 6–7(5–7), 7–6(7–4), 3–6, 0–6
รองชนะเลิศ 2016 ออสเตรเลียนโอเพน คอนกรีต   นอวาก จอกอวิช 1–6, 5–7, 6–7(3–7)
รองชนะเลิศ 2016 เฟรนช์โอเพน ดิน   นอวาก จอกอวิช 6–3, 1–6, 2–6, 4–6
ชนะเลิศ 2016 วิมเบิลดัน (2) หญ้า   มิรอส ราวนิค 6–4, 7–6(7–3), 7–6(7–2)

เอทีพี มาสเตอร์ 1000 แก้

รอบชิงชนะเลิศ 21 รายการ (ชนะเลิศ 14 , รองชนะเลิศ 7)

 
มาร์รีชนะเลิศรายการมาสเตอร์ครั้งแรก ในรายการซินซินนาติ สหรัฐอเมริกา ปี 2010
ผลลัพธ์ ปี รายการ พื้นสนาม คู่แข่ง ผลการแข่งขัน
ชนะเลิศ 2008 ซินซินแนติ คอนกรีต   นอวาก จอกอวิช 7–6(7–4), 7–6(7–5)
ชนะเลิศ 2008 มาดริด คอนกรีต (ในร่ม)   ฌีล ซีมง 6–4, 7–6(8–6)
รองชนะเลิศ 2009 อินเดียนเวลส์ คอนกรีต   ราฟาเอล นาดัล 1–6, 2–6
ชนะเลิศ 2009 ไมแอมี คอนกรีต   นอวาก จอกอวิช 6–2, 7–5
ชนะเลิศ 2009 มอนทรีออล คอนกรีต   ฆวน มาร์ติน เดล ปอร์โต 6–7(4–7), 7–6(7–3), 6–1
ชนะเลิศ 2010 มอนทรีออล (2) คอนกรีต   โรเจอร์ เฟเดอรเรอร์ 7–5, 7–5
ชนะเลิศ 2010 เซี่ยงไฮ้ คอนกรีต   โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ 6–3, 6–2
ชนะเลิศ 2011 ซินซินแนติ (2) คอนกรีต   นอวาก จอกอวิช 6–4, 3–0 Ret.
ชนะเลิศ 2011 เซี่ยงไฮ้ (2) คอนกรีต   ดาวิต เฟร์เรร์ 7–5, 6–4
รองชนะเลิศ 2012 ไมแอมี คอนกรีต   นอวาก จอกอวิช 1–6, 6–7(4–7)
รองชนะเลิศ 2012 เซี่ยงไฮ้ คอนกรีต   นอวาก จอกอวิช 7–5, 6–7(11–13), 3–6
ชนะเลิศ 2013 ไมแอมี (2) คอนกรีต   ดาวิต เฟร์เรร์ 2–6, 6–4, 7–6(7–1)
รองชนะเลิศ 2015 ไมแอมี คอนกรีต   นอวาก จอกอวิช 6–7(3–7), 6–4, 0–6
ชนะเลิศ 2015 มาดริด (2) ดิน   ราฟาเอล นาดัล 6–3, 6–2
ชนะเลิศ 2015 มอนทรีออล (3) คอนกรีต   นอวาก จอกอวิช 6–4, 4–6, 6–3
รองชนะเลิศ 2015 ปารีส คอนกรีต (ในร่ม)   นอวาก จอกอวิช 2–6, 4–6
รองชนะเลิศ 2016 มาดริด ดิน   นอวาก จอกอวิช 2–6, 6–3, 3–6
ชนะเลิศ 2016 โรม ดิน   นอวาก จอกอวิช 6–3, 6–3
รองชนะเลิศ 2016 ซินซินแนติ คอนกรีต   มาริน ซิลิช 4–6, 5–7
ชนะเลิศ 2016 เซี่ยงไฮ้ (3) คอนกรีต   โรแบร์โต เบาติสตา อากุต 7–6(7–1), 6–1
ชนะเลิศ 2016 ปารีส คอนกรีต (ในร่ม)   จอห์น อิสเนอร์ 6–3, 6–7(4–7), 6–4

เอทีพี ไฟนอล แก้

ประเภทชายเดี่ยว: ชิงชนะเลิศ 1 ครั้ง (แชมป์ 1 สมัย) แก้

ผลลัพธ์ ปี รายการ พื้นสนาม คู่แข่ง ผลการแข่งขัน
ชนะเลิศ 2016 เอทีพี ไฟนอล, ลอนดอน คอนกรีต (ในร่ม)   นอวาก จอกอวิช 6–3, 6–4

กีฬาโอลิมปิก แก้

ประเภทชายเดี่ยว: ชิงชนะเลิศ 2 ครั้ง (คว้าเหรียญทอง 2 สมัย)

ผลลัพธ์ ปี รายการ พื้นสนาม คู่แข่ง ผลการแข่งขัน
เหรียญทอง 2012 โอลิมปิกฤดูร้อน 2012 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร หญ้า   โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ชนะ 6–2, 6–1, 6–4
เหรียญทอง 2016 โอลิมปิกฤดูร้อน 2016 ณ กรุงรีโอเดจาเนโร บราซิล คอนกรีต   ฆวน มาร์ติน เดล ปอร์โต ชนะ 7–5, 4–6, 6–2, 7–5

ประเภทคู่ผสม: ชิงชนะเลิศ 1 ครั้ง (คว้าเหรียญเงิน 1 สมัย)

ผลลัพธ์ ปี รายการ พื้นสนาม ผู้เล่นที่จับคู่ด้วย คู่แข่งรอบชิงเหรียญ ผลการแข่งขัน
เหรียญเงิน 2012 โอลิมปิกฤดูร้อน ปี 2012 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร หญ้า   ลอร่า ร็อบสัน   วิคตอเรีย อซาเรนกา
  แม็กซ์ เมิร์นยี่
6–2, 3–6, [8–10]

การแข่งขันประเภททีม (ทีมสหราชอาณาจักร) แก้

เดวิส คัพ: เข้าชิงชนะเลิศ 1 สมัย (แชมป์ 1 สมัย)

ผลลัพธ์ ปี รายการ พื้นสนาม สมาชิกทีม คู่แข่งในรอบชิงชนะเลิศ ผลการแข่งขัน
ชนะเลิศ 2015 เดวิส คัพ, เบลเยียม ดิน (ในร่ม)   เจมี มาร์รี
  ไคล์ เอ็ดมันด์
  เจมส์ วอร์ด
  ดาวิด กอฟแฟง
  สตีฟ ดาร์ซิส
  รูเบน เบเมลม็องส์
  คิมเมอร์ ค็อปเปยันส์
3–1

ฮอพแมน คัพ: เข้าชิงชนะเลิศ 1 สมัย (รองชนะเลิศ 1 สมัย)

ผลลัพธ์ ปี รายการ พื้นสนาม สมาชิกทีม คู่แข่งในรอบชิงชนะเลิศ ผลการแข่งขัน
รองชนะเลิศ 2010 ฮอพแมน คัพ, ออสเตรเลีย คอนกรีต (ในร่ม)   ลอร่า ร็อบสัน   มาเรีย โฮเซ่ มาร์ติเนซ ซานเชซ
  ทอมมี โรเบรโด
1–2 [116]

เงินรางวัล แก้

ปี รายการ
แกรนด์สแลม
รายการ
ATP
รวม เงินรางวัล
($)
อันดับของ
เงินรางวัล
2003 0 0 0 $5,314 599
2004 0 0 0 $10,275 731
2005 0 0 0 $219,490 105
2006 0 1 1 $677,802 26
2007 0 2 2 $880,905 21
2008 0 5 5 $3,705,650 4
2009 0 6 6 $4,421,058 5
2010 0 2 2 $4,046,805 4
2011 0 5 5 $5,180,092 4
2012 1 2 3 $5,708,232 3
2013 1 3 4 $5,416,221 3
2014 0 3 3 $3,918,244 8
2015 0 4 4 $8,175,231 2
2016 1 8 9 $16,349,701 1
2017 0 1 1 $2,092,625 15
2018 0 0 0 $212,866 166
2019 0 1 1 $497,751 118
2020 0 0 0 $249,361 139
2021* 0 0 0 $520,937 97
2022 0 0 0 $5,200 n/a
Career* 3 43 46 $62,319,506 4
* ข้อมูลเมื่อ 17 มกราคม ค.ศ. 2022 (2022 -01-17).

เชิงอรรถ แก้

  1. ในสำเนียงบริติช หรือ แอนดี เมอร์รี ในสำเนียงอเมริกัน
  2. ทั้งสี่คนเป็นผู้เล่นชายที่ประสบความสำเร็จที่สุดในทศวรรษ 2010 โดยชนะเลิศการแข่งขันรายการสำคัญได้แก่ แกรนด์สแลมและรายการมาสเตอร์มากที่สุด รวมทั้งทำเงินรางวัลมากที่สุด และทำอันดับอยู่ในสี่อันดับแรกของโลกเป็นส่วนมากในช่วงเวลาดังกล่าว
  3. ยุคโอเพนในการแข่งขันเทนนิสทั่วโลกเริ่มต้นในปี 1968 แต่เริ่มมีการจัดอันดับมือวางผู้เล่นครั้งแรกในปี 1973
  4. ประเทศอังกฤษ, สกอตแลนด์, เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ร่วมแข่งขันเทนนิสรายการนานาชาติได้แก่ เดวิสคัพ และกีฬาโอลิมปิก ในนามทีมสหราชอาณาจักร โดยไม่มีการแบ่งแยกประเทศ
  5. การแข่งขันเริ่มขึ้นในปี 1900 เป็นการแข่งขันรายการนานาชาติของทีมชายที่ใหญ่ที่สุดของสหพันธ์เทนนิสนานาชาติ เปรียบเสมือนการแข่งขันชิงแชมป์โลก ผู้จัดงานได้อธิบายไว้ว่าเป็น "World Cup of Tennis" และผู้ชนะจะเรียกว่าทีมแชมป์โลก

อ้างอิง แก้

  1. MURRAY, Andrew. ukwhoswho.com. Who's Who. Vol. 2015 (online Oxford University Press ed.). A & C Black, an imprint of Bloomsbury Publishing plc.   (ต้องรับบริการ)
  2. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ atp_profile
  3. "Rankings Singles". ATP Tour.
  4. "Rankings Doubles". ATP Tour.
  5. "Andy murray Pronunciation". www.howtopronounce.com (ภาษาอังกฤษ).
  6. "Andy Murray | Overview | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  7. "Sir Andy Murray: Is he Britain's greatest sportsperson of all time?". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).
  8. "Most Successful British Tennis Players Of All-Time". Online Betting.
  9. "Murray's Olympic glory relived". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-07-31.
  10. Bullock, John. "The Different Eras of Tennis' Big Four". HowTheyPlay (ภาษาอังกฤษ).
  11. "Andy Murray beats Roger Federer to win Olympic gold for Great Britain". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2012-08-05.
  12. "Fred Perry: the icon and the outcast". HistoryExtra (ภาษาอังกฤษ).
  13. "The story of Andy Murray's 2016 season". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).
  14. "Tearful Murray wins second Olympic gold". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-11-28.
  15. "Andy Murray - Latest news, reaction, results, pictures, video - Daily Record". dailyrecord (ภาษาอังกฤษ).
  16. "Profile". Andy Murray Official Site (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  17. "Stamps mark Andy Murray's historic Wimbledon victory". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2013-07-18. สืบค้นเมื่อ 2021-11-28.
  18. https://www.atptour.com/en/news/andy-murray-knighted-2019
  19. "Sir Andy Murray collects his knighthood - CBBC Newsround" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-11-28.
  20. "THE NORMAN BROOKS TROPHY". Percy Marks (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2013-01-17.
  21. "Murray's tactics" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2008-06-09. สืบค้นเมื่อ 2021-11-28.
  22. "Bryan made it back - but can Murray?". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-11-28.
  23. "Murray wins Davis Cup for Britain". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-07-16.
  24. https://olympics.com/en/featured-news/andy-murray-the-voice-for-equality
  25. "Andy Murray: Women praise tennis star for role in fighting sexism". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2019-01-11. สืบค้นเมื่อ 2021-11-28.
  26. https://www.biography.com/athlete/andy-murray
  27. Tennis365 (2018-01-18). "Which teams do Nadal, Federer, Murray support?". Tennis365 (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  28. "Players' love of sushi means raw fish is raw power on tennis circuit". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2010-06-29.
  29. "Murray wins Olympic tennis gold". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-06-07.
  30. "Djokovic: Murray deserves 'big-four' tag". ESPN.co.uk.
  31. "BBC Sport - Andy Murray v Novak Djokovic as it happened". web.archive.org. 2013-02-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-10. สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  32. "Andy Murray up to No 2 in world after hard slog against David Ferrer". The Independent (ภาษาอังกฤษ). 2013-03-31.
  33. "Murray withdraws from French Open". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-06-07.
  34. Murrells, Katy (2013-07-07). "Andy Murray beats Novak Djokovic to win Wimbledon – as it happened | Katy Murrells". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
  35. "Wawrinka ends Murray US Open defence". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
  36. "Back surgery set to end Murray's season". ESPN.co.uk.
  37. "The Peninsula Qatar - Nadal, Murray start season at Qatar Open". archive.ph. 2013-12-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-13. สืบค้นเมื่อ 2022-04-08.
  38. "Australian Open 2014: Andy Murray unable to stop Roger Federer who". The Independent (ภาษาอังกฤษ). 2014-01-22.
  39. "Davis Cup - Tie details - 2014 - USA v Great Britain". web.archive.org. 2014-01-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-25. สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  40. "Murray splits with coach Lendl". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
  41. "Andy Murray let down by umpire error in defeat to Djokovic". The Independent (ภาษาอังกฤษ). 2014-03-27.
  42. "Italy bounce back to defeat Great Britain in Davis Cup quarter-final". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2014-04-06.
  43. "Nadal beats Murray in Rome thriller". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
  44. "Nadal hammers Murray in French semi". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
  45. "Andy Murray appoints Amélie Mauresmo as his new coach". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2014-06-08.
  46. "Murray seeded third for Wimbledon". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
  47. "Murray starts title defence in style". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
  48. "Murray makes quick work of Rola". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
  49. "Champion Murray beaten by Dimitrov". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
  50. "Murray at lowest ranking for six years". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
  51. "Murray loses to Tsonga in Toronto". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
  52. "Murray drops out of world's top 10". ESPN.co.uk.
  53. "Djokovic downs Murray in Beijing". sports.yahoo.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  54. "Murray beaten by Ferrer in Shanghai". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
  55. "Andy Murray's ATP Tour Finals hopes boosted by win over David Ferrer". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2014-10-19.
  56. "Murray outlasts Robredo to win Valencia title". news.yahoo.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  57. "Djokovic ends Murray's winning run". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
  58. "Federer knocks out Murray in London". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
  59. "Djokovic illness hands Murray title". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
  60. "Great Britain too good for Australia in Hopman Cup". ABC News (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย). 2015-01-09. สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
  61. "Djokovic beats Murray in Melbourne". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
  62. Jones, Gareth Iwan (2015-02-04). "Andy Murray returns to top four". Daily Record (ภาษาอังกฤษ).
  63. "Simon Snaps 12-Match Losing Streak vs. Murray in Rotterdam - Tennis Now". www.tennisnow.com.
  64. "Andy Murray slips behind Kei Nishikori in the latest world rankings". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).
  65. "Murray wraps up GB Davis Cup triumph". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
  66. "Tennis - Murray sets new milestone on way to Indian Wells semi-finals - Yahoo Eurosport UK". web.archive.org. 2015-04-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-02. สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  67. "Djokovic beats Murray in semi-final". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
  68. "Murray reaches 500 career wins". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
  69. "Andy Murray loses Miami Open final to Novak Djokovic". www.telegraph.co.uk.
  70. Tennis.com. "Murray wins BMW Open for first clay-court title". Tennis.com (ภาษาอังกฤษ).
  71. "Murray beats Nadal to Madrid title". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
  72. "Djokovic beats Murray in five sets". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
  73. "Murray wins fourth Queen's title". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
  74. "Andy Murray vs Roger Federer, Wimbledon 2015 - as it happened: Swiss wins in straight sets". www.telegraph.co.uk.
  75. "Murray win puts GB into semi-finals". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
  76. Reuters (2015-08-06). "Andy Murray stunned by Teymuraz Gabashvili at Citi Open in Washington". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
  77. "Anderson stuns Murray at US Open". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
  78. "Murray sends GB into Davis Cup final". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
  79. "Murray wins Davis Cup for Britain". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
  80. "Djokovic beats Murray to win title". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
  81. "Andy Murray says carrying flag at Rio Olympics is 'proudest moment of career'". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).
  82. "Murray picked as GB's Rio flag bearer". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-06-07.
  83. "Andy Murray has hip surgery and aims to return before Wimbledon". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2018-01-08.
  84. Tennis.com. "Andy Murray has surgery, gets metal implant with second hip operation". Tennis.com (ภาษาอังกฤษ).
  85. Rothenberg, Ben (2018-08-15). "After Hip Surgery, Andy Murray Struggles to Regain His Footing". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2021-06-08.
  86. "Murray makes winning return at Queen's". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-06-15.
  87. "Denis Shapovalov Shines To End Andy Murray's Wimbledon Campaign | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  88. "Murray & Salisbury out of men's doubles". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-07-31.
  89. Lutz, Tom (2021-08-30). "Stefanos Tsitsipas beats Andy Murray in five sets at US Open – as it happened". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2021-08-31.
  90. www.eurosport.com https://www.eurosport.com/geoblocking.shtml. {{cite web}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  91. "Tennis news - Andy Murray takes wildcard into Moselle Open in Metz, with Rennes and San Diego also this month". Eurosport UK (ภาษาอังกฤษ). 2021-09-14.
  92. "Carlos Alcaraz Earns Revenge Against Andy Murray In Vienna | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  93. https://www.bbc.com/sport/tennis/59242860
  94. VAVEL.com (2021-12-17). "Summary and highlights of Rafael Nadal 0-2 Andy Murray IN Abu Dhabi semifinals | 12/17/2021". VAVEL (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  95. "Murray loses to Rublev in Abu Dhabi final". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-04.
  96. "Melbourne Summer Set: Osaka makes winning return, Murray ousted". ausopen.com (ภาษาอังกฤษ).
  97. "Krejcikova, Karatsev soar as Sydney semis set". ausopen.com (ภาษาอังกฤษ).
  98. "Australian Open 2022 - Andy Murray knocked out as impressive Taro Daniel reaches third round for first time". Eurosport (ภาษาอังกฤษ). 2022-01-20.
  99. "Murray knocked out by Auger-Aliassime". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-03-21.
  100. "Murray wins only one game in defeat". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-03-21.
  101. "Murray goes out in Dubai second round". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-03-21.
  102. "Murray loses to Bublik in second round". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-03-21.
  103. News, A. B. C. "Andy Murray withdraws from Novak Djokovic clash at Madrid Open". ABC News (ภาษาอังกฤษ). {{cite web}}: |last= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  104. Tennis365 (2022-07-15). "Andy Murray goes down fighting in last eight loss at Hall of Fame Open". Tennis365 (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  105. Media, P. A. (2022-08-10). "Andy Murray out of Montreal Open but Cameron Norrie eases through". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
  106. "Cameron Norrie Defeats Andy Murray In Cincinnati | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  107. "The Changing Game of Andy Murray -". Essential Tennis (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2012-01-28.
  108. "Andy Murray Biography And Detailed Game Analysis". Online Tennis Instruction - Learn How To Play Your Best Tennis, Free Tennis Tips (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  109. "ATP: the biggest strength and weakness of every top 10 player". Tennismash (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย). 2018-01-09.
  110. Li, J. "Andy Murray's Strengths, Weaknesses and Keys To Success". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
  111. "Andy Murray | Bio | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  112. Tennis.com. "Tennis.com". Tennis.com (ภาษาอังกฤษ).
  113. "Andy Murray & Castore - Castore Sportswear". web.archive.org. 2019-07-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-02. สืบค้นเมื่อ 2021-06-07.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  114. "Andy Murray Net Worth". Celebrity Net Worth (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2010-02-23.
  115. ""เมอร์เรย์" ใจบุญ เปิดประมูลเสื้อแชมป์วิมฯ ต้านมาลาเรีย". mgronline.com (ภาษาอังกฤษ). 2016-07-24.
  116. "Andy Murray and Laura Robson beaten in Hopman Cup final". BBC Sport. 9 January 2010. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 January 2010. สืบค้นเมื่อ 9 January 2010.