โรเจอร์ เฟเดอเรอร์
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ (เยอรมัน: Roger Federer, ออกเสียง: [ˈrɔdʒər ˈfeːdərər];[2] เกิด: 8 สิงหาคม ค.ศ. 1981) เป็นอดีตนักเทนนิสอาชีพชายชาวสวิส เขาคว้าแชมป์แกรนด์สแลมในประเภทชายเดี่ยว 20 สมัย รวมถึงสถิติแชมป์วิมเบิลดัน 8 สมัย เฟเดอเรอร์ยังครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ของโลกติดต่อกันยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ 237 สัปดาห์ตั้งแต่ ค.ศ. 2004–2008[3] และเป็นผู้เล่นชายที่ครองตำแหน่งอันดับ 1 ด้วยจำนวนสัปดาห์รวมสูงที่สุดเป็นอันดับสองจำนวน 310 สัปดาห์[4] และครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 เมื่อจบฤดูกาล 5 ครั้ง[5] เขาคว้าแชมป์การแข่งขันในประเภทชายเดี่ยว 103 รายการ[6] ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจาก จิมมี คอนเนอส์ (109) เขายังเป็นหนึ่งในสองผู้เล่นชาย (ร่วมกับคอนเนอส์) ที่ลงแข่งขันประเภทชายเดี่ยวมากกว่า 1,500 นัด[7] เฟเดอเรอร์ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักเทนนิสที่ยิ่งใหญ่ที่สุด รวมทั้งเป็นนักกีฬาชาวสวิสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล[8][9][10]
เฟเดอเรอร์ในปี 2015 | |
ประเทศ (กีฬา) | สวิตเซอร์แลนด์ |
---|---|
ถิ่นพำนัก | รัฐบาเซิล-ลันท์ชัฟท์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ |
วันเกิด | บาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ | 8 สิงหาคม ค.ศ. 1981
ส่วนสูง | 1.85 m (6 ft 1 in)[1] |
เทิร์นโปร | 1998 |
ถอนตัว | 2022 |
การเล่น | มือขวา (แบ็กแฮนด์มือเดียว) |
ผู้ฝึกสอน | เซเฟอริน ลูธี (2007–2022)
อิวาน ลูบิซิช (2016–2022) สเตฟาน เอ็ดเบิร์ก (2014–2015) |
เงินรางวัล | 130,594,339 ดอลลาร์สหรัฐ |
เว็บไซต์ทางการ | rogerfederer |
เดี่ยว | |
สถิติอาชีพ | 1251–275 (82.0%) |
รายการอาชีพที่ชนะ | 103 (สูงที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในประเภทชายเดี่ยว) |
อันดับสูงสุด | No. 1 (2 กุมภาพันธ์ 2004) |
ผลแกรนด์สแลมเดี่ยว | |
ออสเตรเลียนโอเพน | ชนะเลิศ (2004, 2006, 2007, 2010, 2017, 2018) |
เฟรนช์โอเพน | ชนะเลิศ (2009) |
วิมเบิลดัน | ชนะเลิศ (2003, 2004, 2005, 2006, 2007, 2009, 2012, 2017) |
ยูเอสโอเพน | ชนะเลิศ (2004, 2005, 2006, 2007, 2008) |
การแข่งขันอื่น ๆ | |
Tour Finals | ชนะเลิศ (2003, 2004, 2006, 2007, 2010, 2011) |
Olympic Games | เหรียญเงิน (2012) |
คู่ | |
สถิติอาชีพ | 131–92 (58.7%) |
รายการอาชีพที่ชนะ | 8 |
อันดับสูงสุด | No. 24 (9 มิถุนายน ค.ศ.2003) |
ผลแกรนด์สแลมคู่ | |
ออสเตรเลียนโอเพน | 3R (2003) |
เฟรนช์โอเพน | 1R (2000) |
วิมเบิลดัน | QF (2000) |
ยูเอสโอเพน | 3R (2002) |
การแข่งขันคู่อื่น ๆ | |
Olympic Games | เหรียญทอง (2008) |
การแข่งขันแบบทีม | |
Davis Cup | ชนะเลิศ (2014) |
Hopman Cup | ชนะเลิศ (2001, 2018, 2019) |
ลายมือชื่อ | |
Olympic medal record | |
อัปเดตล่าสุดเมื่อ: 15 กันยายน 2022 |
เฟเดอเรอร์เริ่มเล่นอาชีพในปี 1998 และก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในช่วงทศวรรษ 2000 เขาคว้าแชมป์แกรนด์สแลมครั้งแรกในวิมเบิลดันปี 2003 ก่อนจะขึ้นสู่ตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ครั้งแรกในปี 2004[11] ซึ่งเป็นปีที่เขาคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ถึงสามรายการ รวมทั้งแชมป์เอทีพี ไฟนอล และทำสถิตินี้ได้อีกสองครั้งในปี 2006 และ 2007[a] ในช่วงเวลานั้น เขายังทำสถิติคว้าแชมป์วิมเบิลดันและยูเอสโอเพนติดต่อกัน 5 สมัย และนับตั้งแต่ปี 2003–2009 เขาเข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมได้มากถึง 21 จาก 28 รายการ ก่อนจะคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ครบทุกรายการในอาชีพภายหลังได้แชมป์เฟรนช์โอเพนปี 2009[12] หลังจากแพ้ ราฟาเอล นาดัล คู่แข่งคนสำคัญในรอบชิงชนะเลิศมา 3 ครั้งก่อนหน้านั้น ในปีนั้นเขายังคว้าแชมป์แกรนด์สแลมรายการที่ 15 ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในขณะนั้นแซงพีต แซมพราส หลังจากคว้าแชมป์วิมเบิลดัน
อย่างไรก็ตาม การก้าวขึ้นมาของนาดัลและนอวาก จอกอวิช ทำให้ความสำเร็จของเฟเดอเรอร์ลดลงไปในทศวรรษต่อมา ตั้งแต่ปี 2011–2016 เขาคว้าแชมป์แกรนด์สแลมเพิ่มได้เพียงรายการเดียว แต่ยังคว้าเหรียญเงินประเภทชายเดี่ยวในโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 ซึ่งเป็นเหรียญที่สองของเขาหลังจากได้เหรียญทองประเภทคู่ในปี 2008 และพาทีมสวิตเซอร์แลนด์คว้าแชมป์เดวิส คัพ[b] สมัยแรกในปี 2014 ก่อนจะเข้ารับการผ่าตัดหัวเข่าในปี 2016 และกลับมาประสบความสำเร็จในปี 2017–18 โดยคว้าแชมป์แกรนด์สแลมเพิ่ม 3 รายการ รวมถึงเอาชนะนาดัลในรอบชิงชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพน 2017[13] ตามด้วยการแชมป์วิมเบิลดันสมัยที่ 8 มากที่สุดในบรรดาผู้เล่นชาย[14] ต่อมาในปี 2018 เขาคว้าแชมป์ออสเตรเลียนสมัยที่ 6 ทำสถิติเป็นนักเทนนิสชายคนแรกที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลม 20 รายการ และทำสถิติเป็นผู้เล่นมือวางอันดับ 1 ที่มีอายุมากที่สุดในวัย 36 ปี[15]
เฟเดอเรอร์ได้รับรางวัลนักกีฬาชายยอดเยี่ยมแห่งปีของลอริอุส 5 สมัย (สถิติสูงสุด),[16] รางวัลนักเทนนิสยอดเยี่ยมของเอทีพี 5 สมัย[17] และรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมจากการโหวตของเพื่อนนักเทนนิส 13 สมัย (สถิติสูงสุด) เขาถือเป็นผู้เล่นขวัญใจแฟนเทนนิสทั่วโลก[18] โดยได้รับรางวัลขวัญใจอันดับหนึ่งจากการโหวตผ่านเว็บไซต์ของเอทีพีทุกปีตั้งแต่ปี 2003–2022[19] เฟเดอเรอร์ได้รับการจัดอันดับโดยไทม์ 100 ให้เป็นหนึ่งในบุคคลผู้ทรงอิทธิพลของโลกในปี 2018[20] เขาเป็นชาวสวิสคนแรกที่ยังมีชีวิตอยู่ และมีรูปอยู่ในแสตมป์และเหรียญที่ระลึกของสวิตเซอร์แลนด์[21][22] และยังติดอันดับ 1 ใน 10 นักกีฬาที่ร่ำรวยที่สุดของโลกทุกปี[23] และเป็นนักกีฬาที่ทำเงินรางวัลมากที่สุดในโลกในปี 2020 ด้วยรายได้ 100 ล้านดอลลาร์[24] โดยถือเป็นนักเทนนิสคนแรกที่ทำได้ เขาก่อตั้งมูลนิธิ Roger Federer Foundation ในปี 2003 เพื่อช่วยเหลือเด็กในทวีปแอฟริกา และเป็นผู้ริเริ่มการแข่งขัน เลเวอร์ คัพ[c] ในปี 2017 และยังเคยดำรงตำแหน่งประธานสภานักเทนนิสของเอทีพีตั้งแต่ ค.ศ. 2008–2014[25] จากปัญหาการบาดเจ็บและสภาพร่างกายที่ถดถอยลง ส่งผลให้เฟเดอเรอร์ประกาศเลิกเล่นอาชีพในเดือนกันยายน ค.ศ. 2022
ชีวิตส่วนตัว
แก้เฟเดอเรอร์เกิดที่เมืองบาเซิลในประเทศสวิตเซอร์แลนด์[26] เป็นบุตรของ โรเบิร์ต เฟเดอเรอร์ บิดาซึ่งเป็นคนเชื้อสายสวิส-เยอรมัน และ ลินเนตต์ เฟเดอเรอร์ มารดาซึ่งมีเชื้อสายแอฟริกาใต้ซึ่งทั้งคู่ต่างก็ทำงานบริษัทเภสัชกรรม โดยมารดาของเขาเคยเป็นนักกีฬาฮอกกี้ เขายังมีพี่สาวหนึ่งคนคือ "ไดอาน่า" เฟเดอเรอร์ถือสองสัญชาติได้แก่ สวิส และแอฟริกาใต้ เขาเติบโตในแถบชานเมือง Münchenstein ซึ่งห่างจากชายแดนฝรั่งเศสและเยอรมนีไป 10 นาที ในวัยเด็กเขาเป็นคนที่อารมณ์ร้อนจนถูกไล่ออกจากสนามซ้อมและเคยทะเลาะวิวาทที่โรงเรียนบ่อยครั้ง เขาเคยอยากเป็นนักฟุตบอลแต่ได้ตัดสินใจเป็นนักเทนนิสแทน[27] โดยยังคงเป็นแฟนฟุตบอลมาจนถึงปัจจุบันและชื่นชอบ เอฟซีบาเซิล ทีมในสวิสซูเปอร์ลีก[28] รวมทั้งสนับสนุนทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์[29][30] ไอดอลในกีฬาเทนนิสของเขาได้แก่ สเตฟาน เอดเบิร์ก, บอริส เบคเกอร์ และ พีต แซมพราสและมีนักเทนนิสหญิงที่ชื่นชอบคือ เซเรนา วิลเลียมส์
ปัจจุบันเฟเดอเรอร์อาศัยอยู่ที่ Bottmingen ในสวิตเซอร์แลนด์และสมรสกับอดีตนักเทนนิสหญิง "มิโรสลาวา วาฟริเนค" โดยทั้งคู่พบกันที่การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ที่ซิดนีย์ ปี 2000 ทั้งคู่มีลูกแฝดสองคู่โดยเป็นแฝดหญิงในปี 2010 และแฝดชายในปี 2014 เฟเดอเรอร์มีธุรกิจเป็นของตนเองโดยได้เปิดตัวน้ำหอม ยี่ห้อ "อาร์เอฟ คอสเมติคส์ " (RF Cosmetics) ในเดือนตุลาคมปี 2003[29] ในเวลาว่างครอบครัวของเขาชอบไปพักผ่อนที่ มัลดีฟส์, ดูไบ และเทือกเขาแอลป์[29][31]
เฟเดอเรอร์ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่น, อาหารอิตาเลียน และ อาหารอินเดีย และยังชื่นชอบของหวานโดยเฉพาะช็อคโกแลตและไอศกรีมรสสตรอว์เบอร์รี[32] โดยเขาเรียกตัวเองว่าเป็น "Chocoholic" (ผู้ที่ติดการทานช็อคโกแลต) และยังกล่าวว่าชาวสวิสทุกคนต้องรักการทานช็อคโกแลตจึงจะถือว่าเป็นชาวสวิสที่แท้จริง[33] เขามีเครื่องรางประจำตัวซึ่งจะพกติดตัวไปด้วยในการแข่งขันทุกรายการคือตุ๊กตาเต่าสีทอง และมีงานอดิเรกคือการเล่นเปียโน[34] เขาสามารถสื่อสารได้ 4 ภาษา[35] ได้แก่ ภาษาอังกฤษ, ภาษาฝรั่งเศส, ภาษาเยอรมัน และ ภาษาสวิส-เยอรมัน
ประวัติการเล่นอาชีพ
แก้ระดับเยาวชน
แก้เฟเดอเรอร์เริ่มเล่นเทนนิสเมื่ออายุ 6 ปี[36] กระทั่งเมื่ออายุ 14 ปี เฟเดอเรอร์ถูกเลือกให้เข้ารับการฝึกฝนในสถาบันชื่อดัง “Swiss National Tennis Center“ และในที่สุด ก็ได้เข้าร่วมการแข่งขันรายการไอทีเอฟระดับจูเนียร์ ปี 1996[37] และเขาก็สร้างชื่อให้กับตัวเองได้อย่างยอดเยี่ยมด้วยการคว้าแชมป์วิมเบิลดันจูเนียร์ ปี 1998 ก่อนที่จะเริ่มเล่นอาชีพอย่างเป็นทางการ[36]
1998–2000: เริ่มต้นอาชีพ
แก้เฟเดอเรอร์เริ่มเส้นทางอาชีพในเดือนกรกฎาคม 1998 และเป็นนักเทนนิสที่อายุน้อยที่สุดที่มีอันดับติดท็อป 100 ในปีนั้น ต่อมาในปี 2000 เฟเดอเรอร์ผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนได้สำเร็จ แต่ก็พลาดการคว้าเหรียญทองแดงหลังจากพ่าย อาร์โนลด์ ดิ ปาสกาล จากฝรั่งเศส ในขณะที่ในรายการใหญ่อย่างแกรนด์สแลม และมาสเตอร์ซีรีส์ (เอทีพี มาสเตอร์ 1000 ในปัจจุบัน) เฟเดอเรอร์ยังคงทำผลงานไม่น่าประทับใจ และจบฤดูกาลด้วยการเป็นอันดับ 29 ของโลก[38]
2001–03: แจ้งเกิดในวงการ
แก้เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์แรกได้ที่มิลาน ในปี 2001 ตามด้วยการผ่านเข้าสู่รอบ 8 คนสุดท้ายแกรนด์สแลมวิมเบิลดัน หลังจากพลิกล็อกเอาชนะพีต แซมพราส ตำนานชาวอเมริกัน ส่งผลให้อันดับของเฟเดอเรอร์ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 13[39]
ในปี 2002 เฟเดอเรอร์เข้าชิงชนะเลิศรายการมาสเตอร์ได้เป็นครั้งแรก แต่ก็ต้องพ่าย อานเดร แอกัสซี ไปตามคาด แต่เขาก็กลับมาคว้าแชมป์ที่ฮัมบวร์คได้รวมถึงชนะในรายการเดวิส คัพ ทั้งสองนัดในการพบกับ มารัต ซาฟิน และ เยฟกินี คาเฟนิคอฟ สองนักเทนนิสชาวรัสเซีย อย่างไรก็ตาม เขาต้องตกรอบในแกรนด์สแลมเฟรนช์โอเพน, วิมเบิลดัน และยูเอสโอเพน แต่ในช่วงปลายปีอันดับของเฟเดอเรอร์ได้ขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 6 ของโลก ส่งผลให้เขาได้เข้าร่วมรายการ มาสเตอร์ คัพ (เอทีพี ไฟนอล ในปัจจุบัน) ได้เป็นปีแรก และผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศแต่แพ้ เลย์ตัน ฮิววิตต์
ในปี 2003 เฟเดอเรอร์ทำผลงานได้ดีขึ้นตามลำดับ เขาปิดฤดูกาลด้วยการขึ้นถึงอันดับ 2 ของโลก ด้วยผลงานคว้าแชมป์ได้ถึง 8 รายการ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการคว้าแชมป์แกรนด์สแลมครั้งแรกในรายการวิมเบิลดันโดยชนะ มาร์ก ฟิลิปัสซิส นอกจากนี้ ในช่วงปลายปีเฟเดอเรอร์ก็ยังคว้าแชมป์มาสเตอร์ คัพ ได้ เอาชนะอานเดร แอกัสซีในรอบชิงชนะเลิศ[40]
2004–09: ขึ้นสู่มือวางอันดับ 1 และยุคแห่งความรุ่งเรือง
แก้ในปี 2004 เฟเดอเรอร์ขึ้นมาเป็นผู้เล่นอันดับ 1 ของโลกได้สำเร็จ และได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นหนึ่งในนักเทนนิสที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์[41] เขาคว้าแชมป์แกรนดสแลมได้ถึง 3 รายการ (ออสเตรเลียนโอเพน, วิมเบิลดัน และ ยูเอสโอเพน) และทำสถิติไม่แพ้ให้กับนักเทนนิสในบรรดาอันดับท็อป 10 ตลอดทั้งปี แต่ก็ต้องผิดหวังในแกรนด์สแลมเฟรนช์โอเพน รวมถึงรายการโอลิมปิก[42] อย่างไรก็ตาม เฟเดอเรอร์ป้องกันแชมป์ มาสเตอร์ คัพ ได้หลังจากเอาชนะเลย์ตัน ฮิววิตต์ ในปีนี้ เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์ได้ถึง 11 ราย และมีสถิติชนะถึง 74 นัด แม้ว่าตลอดทั้งปีเขาจะลงเล่นโดยที่ไม่มีโค้ชประจำตัวเลยก็ตาม ส่งผลให้เขาได้รับรางวัลนักเทนนิสยอดเยี่ยมไปครอง
ในปี 2005 แม้ว่าเขาจะตกรอบรองชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพน แต่เขาคว้าแชมป์หลังจากนั้นได้ 3 รายการ ก่อนที่จะมาตกรอบรองชนะเลิศเฟรนช์โอเพนโดยแพ้ ราฟาเอล นาดัลจากสเปน ซึ่งถือเป็นคู่แข่งคนสำคัญของเขามาจนถึงปัจจุบัน เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์วิมเบิลดันได้เป็นสมัยที่ 2 โดยเอาชนะ แอนดี ร็อดดิก ก่อนจะปิดท้ายด้วยการคว้าแชมป์ยูเอสโอเพน แม้ว่าในรายการ มาสเตอร์ คัพ เฟเดอเรอร์จะไม่สามารถป้องกันแชมป์ได้ แต่เขาก็มีสถิติชนะถึง 83 นัดและแพ้เพียง 3 นัด ในปีนี้ พร้อมกับจบฤดูกาลด้วยตำแหน่งอันดับ 1 อีกครั้ง[43]
ในปี 2006 เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์แกรนดสแลมได้ 3 รายการอีกครั้ง (ออสเตรเลียนโอเพน, วิมเบิลดัน และ ยูเอสโอเพน) และจบฤดูกาลด้วยการครองตำแหน่งอันดับ 1 ต่อไปอย่างเหนียวแน่น รวมทั้งยังคว้าแชมป์ในรายการอื่น ๆ ได้อีก 9 รายการ เขาคว้าแชมป์วิมเบิลดันได้เป็นสมัยที่ 4 ติดต่อกันโดยเอาชนะนาดัลในรอบชิงชนะเลิศ 3–1 เซต รวมถึงกลับมาคว้าแชมป์ มาสเตอร์ คัพ สมัยที่ 3 เอาชนะ เจมส์ เบลค ในปีนี้เฟเดอเรอร์แพ้ให้กับนักเทนนิสเพียง 2 รายได้แก่ นาดัล และ แอนดี มาร์รี[44]
ในปี 2007 เขาป้องกันแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนได้ ส่งผลให้เขาคว้าแชมป์แกรนด์สแลมรายการที่ 10 พร้อมทำสถิติเป็นนักเทนนิสชายคนที่สองในยุคโอเพนที่คว้าแชมป์แกรนด์แสลมได้แบบไม่เสียเซตเลยนับจาก บิยอร์น บอร์ก ในปี 1980 หลังจากนั้น เฟเดอเรอร์ก็ทำสถิติชนะติดต่อกันทุกรายการได้ถึง 41 นัด ก่อนจะแพ้ กิลแยร์โม การ์นาส สองรายการติดในรายการมาสเตอร์ที่อินเดียน เวลล์ และ ไมแอมี เข้าสู่การแข่งขันคอร์ตดิน เฟเดอร์เรอร์เข้าชิงชนะเลิศมาสเตอร์ที่ มงเต-การ์โล อีกครั้ง แต่แพ้นาดัลไปอีกเช่นเคย หลังจากนั้น เขาคว้าแชมป์บนคอร์ตดินได้เป็นครั้งแรกในรายการ ฮัมบวร์ค โดยเอาชนะนาดัล ซึ่งถือเป็นชัยชนะครั้งแรกในการพบกับนาดัลบนคอร์ตดิน ทั้งเป็นการหยุดสถิติชนะรวด 81 นัดบนคอร์ตดินของนาดัล[45] แต่ในเฟรนช์โอเพน เฟเดอเรอร์ก็ต้องพ่ายนาดัลอีกครั้งในรอบชิงชนะเลิศ 1–3 เซต[46]
เฟเดอเรอร์ถอนตัวจากรายการคอร์ตหญ้าที่ฮัลเลอจากอาการบาดเจ็บ ก่อนที่จะหายทันลงเล่นวิมเบิลดัน และนี่ถือเป็นปีแรกที่เขาเข้าร่วมการแข่งขันโดยไม่ได้เตรียมตัวเลย แต่เขาก็คว้าแชมป์ได้เป็นสมัยที่ 5 ติดต่อกัน[47] เอาชนะนาดัลได้ในรอบชิงชนะเลิศอีกครั้ง 3–2 เซต ซึ่งทำให้เขาคว้าแชมป์รายการนี้เท่ากับ บียอร์น บอร์ก (5 สมัย) และยังคว้าแชมป์ยูเอสโอเพนได้ โดยเอาชนะ นอวาก จอกอวิช สามเซตรวด[48] และปิดท้ายด้วยแชมป์มาสเตอร์ คัพ อีกหนึ่งสมัย[49]
ในปี 2008 เฟเดอเรอร์ไม่สามารถป้องกันแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนได้โดยแพ้จอกอวิชในรอบรองชนะเลิศ[50] ตามด้วยการแพ้ แอนดี มาร์รี ในรายการเอทีพี เวิลด์ ทัวร์ 500 ที่ ดูไบ ต่อมา เขาแพ้ มาร์ดี ฟิช ในรอบรองชนะเลิศมาสเตอร์อินเดียน เวลส์ ตามด้วยการแพ้ แอนดี ร็อดดิก ในมาสเตอร์ที่ไมแอมี แต่เขาคว้าแชมป์แรกได้ที่โปรตุเกส ตามด้วยการตกรอบรายการมาสเตอร์สามรายการที่ มงเต-การ์โล, โรม และฮัมบวร์ค
เข้าสู่การแข่งขันเฟรนช์โอเพน เฟเดอเรอร์ก็ยังไม่สมหวังโดยแพ้นาดัลเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน และถือเป็นปีที่ 3 ที่แพ้นาดัลในรอบชิงชนะเลิศ โดยแพ้ไปอย่างขาดลอย 0–3 เซต ก่อนที่จะกลับมาคว้าแชมป์ได้อีกครั้งที่ฮัลเลอ แต่ในวิมเบิลดันเขาแพ้นาดัลในรอบชิงชนะเลิศ 2–3 เซต[51] ซึ่งต้องเล่นกันถึง 4 ชั่วโมง 48 นาทีและได้รับการโหวตจากแฟน ๆ ให้เป็นหนึ่งในนัดการแข่งขันเทนนิสที่ดีที่สุดตลอดกาล[52] ทำให้เขาหยุดสถิติชนะติดต่อกันบนคอร์ตหญ้า 65 นัดลง และหยุดสถิติการครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ติดต่อกัน 237 สัปดาห์ ในเดือนสิงหาคม[53] และยังตกรอบรายการมาสเตอร์ที่แคนาดา และซินซินแนติ แต่เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้หนึ่งรายการในปีนี้ในยูเอสโอเพน เอาชนะแอนดี มาร์รี 3 เซตรวด และคว้าเหรียญทองประเภทคู่ในโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 ร่วมกับสตาน วาวรีงกา เฟเดอเรอร์ปิดท้ายฤดูกาลด้วยการเสียตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ให้แก่นาดัลเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี และตกรอบแรกมาสเตอร์ คัพ
ในปี 2009 เฟเดอเรอร์เริ่มต้นด้วยการแพ้มาร์รีในรอบรองชนะเลิศที่โดฮา และแพ้นาดัลในรอบชิงชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพน 2–3 เซต ตามด้วยการตกรอบรายการมาสเตอร์ 1000 4 รายการรวดที่อินเดียน เวลส์, ไมแอมี, มงเต-การ์โล และโรม แต่มาได้แชมป์ที่มาดริด โดยชนะนาดัลในรอบชิงชนะเลิศ และเขาคว้าแชมป์เฟรนช์โอเพนได้เป็นสมัยแรกโดยชนะโรบิน เซอเดอร์ลิง 3 เซตรวด ทำสถิติคว้าแชมป์แกรนด์สแลมสมัยที่ 14 เท่ากับ พีต แซมพราส และถือเป็นผู้เล่นชายคนที่ 6 ที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ครบทุกรายการ[54] ต่อมา เขาทำลายสถิติของแซมพราสได้สำเร็จ โดยได้แชมป์วิมเบิลดันสมัยที่ 6 เอาชนะ แอนดี ร็อดดิก 3–2 เซต ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศที่ดีที่สุด[55] ส่งผลให้เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์แกรนด์สแลม 15 รายการ มากที่สุดในประเภทชายเดี่ยวในขณะนั้น[56] ต่อมา เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 ที่ซินซินแนติได้ เอาชนะจอกอวิชในรอบชิงชนะเลิศ 2–0 เซต
เขาผ่านเข้าชิงชนะเลิศยูเอสโอเพนได้อีกครั้ง แต่แพ้ ฆวน มาร์ติน เดล โปโตร 2–3 เซต[57] ซึ่ง เดล โปโตร ถือเป็นผู้เล่นคนเดียวจนถึงปัจจุบันนอกจากนาดัลและจอกอวิชที่ชนะเฟเดอเรอร์ได้ในรอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลม[58] เฟเดอเรอร์ตกรอบรองชนะเลิศ เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล ที่กรุงลอนดอน (เปลี่ยนชื่อมาจากมาสเตอร์ คัพ) แพ้ นิโคไล ดาวีเดนโก 1–2 เซต แต่ยังจบฤดูกาลด้วยการเป็นมือวางอันดับ 1 เป็นครั้งที่ 5
2010: แชมป์ออสเตรเลียนโอเพนสมัยที่ 4
แก้เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนได้ โดยเอาชนะมาร์รีในรอบชิงชนะเลิศสามเซตรวด และเป็นแชมป์แกรนด์สแลมรายการที่ 16 แต่เขาตกรอบรายการมาสเตอร์ 1000 สามรายการที่อินเดียน เวลส์, ไมแอมี และโรม ก่อนจะเข้าชิงชนะเลิศที่มาดริดแต่แพ้นาดัล และเขาไม่ประสบความสำเร็จในแกรนด์สแลมอีก 3 รายการที่เหลือ และอันดับโลกของเขาได้ตกไปอยู่อันดับที่ 3 เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี 8 เดือน ในปีนี้ เฟเดอเรอร์ได้แต่งตั้งให้ พอล แอนนาโคน อดีตผู้เล่นชื่อดังชาวอเมริกันเป็นผู้ฝึกสอน[59] เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 เพิ่มที่ซินซินแนติได้ และจบฤดูกาลด้วยการคว้าแชมป์ที่สวีเดนและสวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้งคว้าแชมป์ เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล สมัยที่ 5[60] โดยชนะนาดัลในรอบชิงชนะเลิศ 2–1 เซต
2011: ล้มเหลวในแกรนด์สแลม
แก้เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์แรกของปีที่โดฮา ก่อนจะผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพนแต่แพ้จอกอวิช[61] และแพ้จอกอวิชอีกครั้งในรอบชิงชนะเลิศที่ดูไบ และตกรอบรายการมาสเตอร์ 1000 อีกสี่รายการถัดมา และในการแข่งขันเฟรนช์โอเพน เฟเดอเรอร์เอาชนะจอกอวิชคืนได้ในรอบรองชนะเลิศ และเป็นการหยุดสถิติชนะติดต่อกัน 43 นัดของจอกอวิช ก่อนจะแพ้นาดัลในรอบชิงชนะเลิศอีกครั้ง 1–3 เซต และไม่สามารถคว้าแชมป์ได้ในอีกในสองรายการใหญ่ ทั้งในวิมเบิลดันและยูเอสโอเพน[62] โดยเฉพาะในรอบรองชนะเลิศยูเอสโอเพน เฟเดอเรอร์แพ้จอกอวิช 2–3 เซต ทั้งที่ได้เปรียบถึง 2 Match Points ส่งผลให้นี่เป็นฤดูกาลแรกในรอบ 9 ปีที่เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์แกรนด์สแลมไม่ได้เลย แต่เขายังจบฤดูกาลด้วยแชมป์ 3 รายการสุดท้ายในการแข่งขันในร่ม (Indoor Hard Court) ที่สวิตเซอร์แลนด์, ฝรั่งเศส และยังทำสถิติคว้าแชมป์ เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล 6 สมัย[63] และจบฤดูกาลด้วยการเป็นมือวางอันดับ 3
2012: ครองตำแหน่งอันดับ 1 ครบ 300 สัปดาห์ และเหรียญเงินโอลิมปิก
แก้เฟเดอเรอร์แพ้นาดัลในรอบรองชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพน แต่ไปได้แชมป์ที่ร็อตเตอร์ดัม โดยเอาชนะ ฆวน มาร์ติน เดล โปโตร ก่อนจะลงแข่งขันที่ดูไบ และเอาชนะมาร์รี คว้าแชมป์สมัยที่ 5 ต่อมา เขาทำสถิติได้แชมป์มาสเตอร์ 1000 จำนวน 19 รายการเท่ากับนาดัลในขณะนั้นโดยการคว้าแชมป์ที่อินเดียนเวลส์ ตามด้วยแชมป์มาสเตอร์ที่มาดริด ก่อนจะไปตกรอบที่โรม
เฟเดอเรอร์ทำอันดับแซงนาดัลขึ้นสู่อันดับ 2 ของโลกได้ในเดือนพฤษภาคม แต่เขาแพ้จอกอวิชในรอบรองชนะเลิศเฟรนช์โอเพน 0–3 เซต แต่กลับมาคว้าแชมป์วิมเบิลดันได้อีกครั้งโดยชนะมาร์รี 3–1 เซต ซึ่งเป็นแชมป์สมัยที่ 7[64] เป็นสถิติที่มากที่สุดเท่ากับ พีต แซมพราส เฟเดอเรอร์กลับขึ้นสู่ตำแหน่งมือวางอันดับ 1 อีกครั้ง และทำลายสถิติการครองตำแหน่งอันดับ 1 ตลอดกาลของแซมพราสจำนวน 286 สัปดาห์ได้สำเร็จในวันที่ 16 กรกฎาคม[65]
เขาเข้าชิงชนะเลิศโอลิมปิกประเภทชายเดี่ยวที่กรุงลอนดอน ก่อนจะแพ้มาร์รีสามเซตรวดทำได้เพียงเหรียญเงิน[66] ก่อนจะมาได้แชมป์มาสเตอร์ 1000 ที่ซินซินแนติ ชนะจอกอวิช 2–0 เซต และตกรอบ 8 คนสุดท้ายยูเอสโอเพน แต่ในช่วงปลายปีเฟเดอเรอร์ทำสถิติเป็นผู้เล่นชายคนแรกที่ครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ครบ 300 สัปดาห์[67] และเข้าชิงชนะเลิศ เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล แต่ก็แพ้จอกอวิช 0–2 เซต
2013: ปีแห่งการบาดเจ็บ
แก้ตลอดทั้งปี เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์ได้เพียงรายการเดียวที่ฮัลเลอ เยอรมนี โดยเขามีอาการบาดเจ็บบริเวณหลังรบกวนหลายเดือน[68] และอันดับโลกของเขาได้หลุดจาก 4 อันดับแรกเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2003 และในเดือนธันวาคม สเตฟาน เอ็ดเบิร์กอดีตตำนานผู้เล่นชาวสวีเดนได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนให้แก่เฟเดอเรอร์[69]
2014: แชมป์เดวิสคัพ
แก้เฟเดอเรอร์แพ้นาดัลในรอบรองชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพนสามเซตรวด[70] ก่อนจะคว้าแชมป์ที่ดูไบได้เป็นสมัยที่ 6 โดยเอาชนะโทมัส เบอร์ดิช ก่อนจะแพ้จอกอวิชในรอบชิงชนะเลิศมาสเตอร์ 1000 ที่อินเดียน เวลส์ ต่อมา เขาพาสวิตเซอร์แลนด์เอาชนะคาซัคสถานได้ในรอบ 8 ทีมสุดท้ายเดวิส คัพ และเข้าชิงมาสเตอร์ 1000 ที่ มงเต-การ์โล แต่แพ้สตาน วาวรีงกา และในเฟรนช์โอเพน เฟเดอเรอร์แพ้ เออร์เนสต์ กูลบิส ในรอบที่ 4 ก่อนจะผ่านเข้าไปชิงชนะเลิศวิมเบิลดัน และแพ้จอกอวิชในการแข่งขัน 5 เซต[71]
เฟเดอเรอร์เอาชนะ ดาวิต เฟร์เรร์ ในรายการมาสเตอร์ 1000 ที่ซินซินแนติ ก่อนจะแพ้มาริน ซิลิช ในรอบรองชนะเลิศยูเอสโอเพน ต่อมาในรอบรองชนะเลิศ เดวิส คัพ สวิตเซอร์แลนด์เอาชนะอิตาลีผ่านเข้าชิงชนะเลิศได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1992 ก่อนที่เฟเดอเรอร์จะคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 ที่เซี่ยงไฮ้และกลับขึ้นสู่ตำแหน่งมือวางอันดับ 2 เป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี และพาสวิตเซอร์แลนด์คว้าแชมป์ เดวิส คัพ ได้เป็นสมัยแรก เอาชนะฝรั่งเศสในรอบชิงชนะเลิศ[72] เฟเดอเรอร์ลงแข่งขันรายการสุดท้ายโดยเข้าชิงชนะเลิศ เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล พบกับจอกอวิช แต่ต้องถอนตัวจากอาการบาดเจ็บ
2015: ชัยชนะนัดที่ 1,000
แก้ในปีนี้เฟเดอเรอร์ทำสถิติเป็นผู้เล่นชายคนที่ 3 ที่คว้าชัยชนะได้ครบ 1,000 นัดในการแข่งขันประเภทชายเดี่ยว[73] ต่อจาก จิมมี คอนเนอร์ และ อิวาน เลนเดิล ภายหลังจากได้แชมป์ที่บริสเบน[74] ก่อนจะคว้าแชมป์ที่ดูไบเป็นสมัยที่ 7 และทำสถิติเป็นผู้เล่นคนที่ 4 นับตั้งแต่ปี 1991 ที่เสิร์ฟเอชครบ 9,000 ครั้งในอาชีพ[75] แต่เฟเดอเรอร์ไม่สามารถคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ในปีนี้ โดยตกรอบ 3 ในออสเตรเลียนโอเพน และตกรอบ 8 คนสุดท้ายเฟรนช์โอเพน ก่อนจะผ่านเข้าชิงชนะเลิศวิมเบิลดันและยูเอสโอเพน และแพ้จอกอวิชทั้ง 1–3 เซตทั้งสองรายการ แต่เขาเอาชนะจอกอวิชได้ในรอบชิงชนะเลิศรายการมาสเตอร์ 1000 ที่ซินซินแนติ คว้าแชมป์สมัยที่ 7 ตามด้วยแชมป์เอทีพี ทัวร์ 500 ที่บาเซิลสมัยที่ 7 โดยชนะนาดัล ก่อนจะปิดท้ายฤดูกาลด้วยรองแชมป์ เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล โดยแพ้จอกอวิชไปอีกครั้ง สเตฟาน เอ็ดเบิร์ก ได้ยุติบทบาทการทำหน้าที่ผู้ฝึกสอนให้กับเขา และอิวาน ลูบิซิช อดีตผู้เล่นโครเอเชียเข้ามาทำหน้าที่ต่อ[76]
2016: ปีแห่งการบาดเจ็บอีกครั้ง
แก้เฟเดอเรอร์ยังไม่สามารถคว้าแชมป์แกรนด์สแลมเพิ่มได้ และมีอาการบาดเจ็บรบกวนตลอดปีเริ่มตั้งแต่การบาดเจ็บเข่าตั้งแต่ช่วงต้นปี และเขาต้องเข้ารับการผ่าตัดและพักรักษาตัวจนถึงเดือนพฤษภาคม[77] รวมทั้งถอนตัวจากเฟรนช์โอเพน เขาเข้าถึงรอบรองชนะเลิศวิมเบิลดันได้ก่อนจะแพ้ มิลอช ราวนิช โดยที่มีอาการบาดเจ็บเข่ากำเริบอีกครั้ง[78] หลังจบการแข่งขันเฟเดอเรอร์ประกาศยุติการแข่งขันในทุกรายการที่เหลือ
2017: ทวงความยิ่งใหญ่
แก้เฟเดอเรอร์กลับมาทวงความยิ่งใหญ่ได้โดยคว้าแชมป์แกรนด์สแลมสองรายการ ได้แก่ออสเตรเลียนโอเพนและวิมเบิลดัน และเป็นการกลับมาคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ในรอบ 5 ปี โดยเอาชนะนาดัลในออสเตรเลียนโอเพน 3–2 เซต และเอาชนะ มาริน ซิลิช ในวิมเบิลดันสามเซตรวด เฟเดอเรอร์เริ่มต้นฤดูกาลในออสเตรเลียนโอเพนด้วยการเป็นมือวางอันดับ 17 ซึ่งเป็นอันดับที่ต่ำที่สุดของเขาในรอบ 15 ปี และในรอบรองชนะเลิศ เขาทำสถิติเป็นผู้เล่นที่อายุมากที่สุดในรอบ 26 ปีที่ผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศแกรนด์สแลมได้ในวัย 35 ปี นับตั้งแต่ จิมมี คอนเนอร์ ทำได้ในปี 1991[79] และเป็นผู้เล่นที่อายุมากที่สุดในรอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมนับตั้งแต่ เคน โรเซวอลล์ ในปี 1974 และการเอาชนะนาดัลในรอบชิงชนะเลิศถือเป็นการชนะนาดัลในแกรนด์สแลมได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่รอบชิงวิมเบิลดัน 2007
หลังจากคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 ได้ทั้งสองรายการที่อินเดียนเวลส์ และ ไมแอมี เฟเดอเรอร์ไม่ลงแข่งขันในรายการคอร์ตดินเพื่อรักษาสภาพร่างกาย และเขาไม่ประสบความสำเร็จในยูเอสโอเพนโดยแพ้ ฆวน มาร์ติน เดล โปโตร ในรอบ 8 คนสุดท้าย 1–3 เซต และในเดือนกันยายน เขาได้ลงแข่งขันในรายการ เลเวอร์ คัพ (Laver Cup)[80] ซึ่งจัดการแข่งขันขึ้นเป็นครั้งแรกโดยเป็นรายการที่นำนักเทนนิสชื่อดังจากทีมรวมดารายุโรปมาแข่งขันกับทีมรวมดาราโลกเป็นเวลาสามวัน และเฟเดอเรอร์พาทีมคว้าแชมป์ได้เป็นสมัยแรก เอาชนะทีมดาราโลกไป 15–9 คะแนน[81]
เฟเดอเรอร์ปิดฤดูกาลด้วยการคว้าแชมป์ชายเดี่ยวรายการที่ 95 ซึ่งเป็นสถิติที่มากที่สุดอันดับสองรองจากจิมมี คอนเนอร์ ด้วยแชมป์มาสเตอร์ 1000 ที่เซี่ยงไฮ้ ชนะนาดัลในรอบชิงชนะเลิศ 2–0 เซต ตามด้วยแชมป์เอทีพี 500 ที่สวิตเซอร์แลนด์ ก่อนจะตกรอบรองชนะเลิศ เอทีพี ไฟนอล (เปลี่ยนชื่อมาจากเอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล) โดยแพ้ ดาวิด กอฟแฟง[82] 1–2 เซต
2018: แชมป์แกรนด์สแลมรายการที่ 20
แก้เฟเดอเรอร์เริ่มต้นด้วยการชนะเลิศรายการ ฮอพแมน คัพ ร่วมกับทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนจะป้องกันแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนได้โดยเอาชนะ มาริน ซิลิช 3–2 เซต และเป็นผู้เล่นคนแรกที่ชนะเลิศสแลมในประเภทชายเดี่ยว 20 สมัย ต่อมา เฟเดอเรอร์ชนะเลิศรายการร็อตเตอร์ดัมสมัยที่ 3 และกลับคืนสู่ตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ได้อีกครั้ง พร้อมทำสถิติเป็นผู้เล่นที่ครองตำแหน่งอันดับ 1 ที่มีอายุมากที่สุด (36 ปี 195 วัน) ก่อนจะแพ้เดล โปโตร ในรอบชิงมาสเตอร์อินเดียน เวลส์ และตกรอบสองที่ไมแอมี
เฟเดอเรอร์ไม่ลงแข่งขันในรายการคอร์ตดิน ต่อมา เขาเสียตำแหน่งอันดับ 1 ในเดือนมิถุนายนหลังจากที่ไม่สามารถป้องกันแชมป์ที่ ฮัลเลอ ได้ โดยแพ้ บอร์นา โชริช[83] ก่อนจะตกรอบ 8 คนสุดท้ายที่วิมเบิลดัน และตกรอบ 4 ในยูเอสโอเพน โดยแพ้ เควิน แอนเดอร์สัน และ จอห์น มิลแมน ตามลำดับ เฟเดอเรอร์พาทีมยุโรปป้องกันแชมป์ เลเวอร์ คัพ ได้เป็นสมัยที่ 2 เอาชนะทีมรวมดาราโลก 13–8 คะแนน[84] ต่อมา เขาคว้าแชมป์รายการที่ 99 ในอาชีพได้ โดยการป้องกันแชมป์ที่สวิตเซอร์แลนด์ ก่อนจะตกรอบรองชนะเลิศ เอทีพี ไฟนอล แพ้ อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ[85] เขาจบฤดูกาลด้วยตำแหน่งมือวางอันดับ 3
2019: แชมป์รายการที่ 100 และชัยชนะนัดที่ 1,200
แก้ในปีนี้ แม้ว่าเฟเดอเรอร์จะไม่ประสบความสำเร็จในการคว้าแชมป์แกรนด์สแลม แต่เขาได้สร้างสถิติใหม่ด้วยการคว้าแชมป์รายการที่ 100 ในอาชีพได้ที่ดูไบ[86] และคว้าชัยชนะนัดที่ 1,200 ในอาชีพได้[87] โดยเอาชนะ กาแอล มงฟิล์ส ในการแข่งขันมาสเตอร์ 1000 ที่กรุงมาดริด ซึ่งทั้งสองสถิติถือเป็นสถิติที่มากที่สุดเป็นอันดับสองรองจาก จิมมี คอนเนอร์ เฟเดอเรอร์เข้าชิงชนะเลิศวิมเบิลดันได้เป็นครั้งที่ 12 ก่อนจะแพ้จอกอวิช 2–3 เซต ซึ่งถือเป็นการแข่งขันครั้งประวัติศาสตร์เนื่องจากใช้เวลาแข่งขันกันถึง 5 ชั่วโมง นานที่สุดในประวัติศาสตร์รอบชิงชนะเลิศของรายการ
เขาพาทีมยุโรปป้องกันแชมป์ เลเวอร์ คัพ สมัยที่ 3 ได้สำเร็จ เอาชนะทีมรวมดาราโลก 13–11 คะแนน[88] ก่อนจะปิดท้ายฤดูกาลด้วยการเป็นมือวางอันดับ 3 และคว้าแชมป์ที่สวิตเซอร์แลนด์เป็นสมัยที่ 6 และตกรอบรองชนะเลิศ เอทีพี ไฟนอล แพ้ สเตฟาโนส ซิตซีปัส[89]
2020: ผ่าตัดหัวเข่า
แก้เฟเดอเรอร์ลงแข่งขันออสเตรเลียนโอเพนโดยมีอาการเจ็บเข่ารบกวน แต่ผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศได้ ก่อนจะแพ้จอกอวิช ภายหลังจบรายการ เฟเดอเรอร์ได้เข้ารับการผ่าตัดหัวเข่า[90][91] เขาคาดว่าจะกลับมาลงแข่งขันได้อีกครั้งในเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 10 มิถุนายน เฟเดอเรอร์ได้ประกาศว่าอาการบาดเจ็บของเขายังไม่หายขาด และจำเป็นต้องยกเลิกการแข่งขันในรายการที่เหลือ[92]
2021: สร้างสถิติใหม่ในวิมเบิลดัน, ผ่าตัดอีกครั้ง และช่วงท้ายของอาชีพ
แก้เฟเดอเรอร์ไม่ได้ลงแข่งขันออสเตรเลียนโอเพนเนื่องจากต้องการพักฟื้นจากอาการบาดเจ็บ ก่อนจะกลับมาลงแข่งขันเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือนที่โดฮา และตกรอบ 8 คนสุดท้าย[93] และกลับมาลงแข่งขันเฟรนช์โอเพนก่อนจะประกาศถอนตัวในรอบที่ 4[94] โดยให้เหตุผลว่าเขาต้องการเตรียมร่างกายให้พร้อมเพื่อลงแข่งขันในรายการคอร์ตหญ้า เฟเดอเรอร์ลงแข่งขันรายการฮัลเลอซึ่งเขาเป็นแชมป์มา 10 สมัยก่อนหน้านี้ ก่อนจะตกรอบที่ 2 แพ้ เฟลิกซ์ โอเฌร์ อาลียาซีม ดาวรุ่งแคนาดา[95]
ต่อมา เฟเดอเรอร์ลงแข่งขันวิมเบิลดัน และในวันที่ 5 กรกฎาคม ภายหลังเอาชนะ โลเรนโซ โซเนโก ในรอบที่ 4 เขาทำสถิติเป็นผู้เล่นชายที่เข้าถึงรอบ 8 คนสุดท้ายวิมเบิลดันได้มากที่สุด (18 ครั้ง)[96] รวมทั้งเป็นผู้เล่นที่อายุมากที่สุดในยุคโอเพนที่ผ่านเข้าถึงรอบ 8 คนสุดท้ายวิมเบิลดัน (39 ปี 11 เดือน)[97] และยังเป็นผู้เล่นที่เข้าถึงรอบ 8 คนสุดท้ายในแกรนด์สแลมมากที่สุด 58 ครั้ง ก่อนจะตกรอบ 8 คนสุดท้ายโดยแพ้ ฮูแบร์ต ฮูร์กัตช์ สามเซตรวด[98] โดยถือเป็นครั้งแรกในรอบ 19 ปีที่เขาแพ้คู่แข่งสามเซตรวดในวิมเบิลดัน[99] และภายหลังจบการแข่งขันเขาให้สัมภาษณ์ถึงความเป็นไปได้ที่จะเลิกเล่นอาชีพ[100]
เขาไม่ได้ลงแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 เนื่องจากอาการเจ็บเข่ากำเริบ[101] ตามด้วยการถอนตัวในมาสเตอร์ 1000 ที่โทรอนโต และซินซินแนติ ในเดือนสิงหาคม ต่อมาในวันที่ 15 สิงหาคม เฟเดอเรอร์ประกาศว่าเขาต้องเข้ารับการผ่าตัดหัวเข่าอีกครั้ง และจะไม่ได้กลับมาลงเล่นอีกในปีนี้[102] และในวันที่ 17 พฤศจิกายน เขาประกาศว่าจะพลาดการแข่งขันหลายรายการในปี 2022 และยังไม่แน่ว่าจะกลับมาเล่นเทนนิสได้อีกเมื่อใด[103]
2022: ปิดตำนานความยิ่งใหญ่
แก้เฟเดอเรอร์กลับมาซ้อมในเดือนมีนาคม โดยอันดับโลกของเขาตกไปอยู่อันดับที่ 68 ในเดือนมิถุนายน เป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2000 ที่อันดับโลกของหลุดจาก 50 อันดับแรก และเขาหายไม่ทันร่วมแข่งขันแกรนด์สแลมเฟรนช์โอเพนและวิมเบิลดัน[104] เฟเดอเรอร์ประกาศว่าจะกลับมาลงแข่งขัน เลเวอร์ คัพ ในเดือนกันยายน และด้วยรายการเอทีพี 500 ที่บาเซิล[105] ต่อมาในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 2022 อันดับโลกของเขาตกไปถึงอันดับที่ 96 และในวันที่ 11 กรกฎาคม เฟเดอเรอร์ได้กลายเป็นมือวางไร้อันดับอย่างเป็นทางการจากการโดนตัดคะแนน 600 คะแนนในวิมเบิลดัน ทำให้เขาไม่มีคะแนนสะสมเหลือในปัจจุบัน
จากการประสบปัญหาอาการบาดเจ็บอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เฟเดอเรอร์ประกาศวางมือในเดือนกันยายน โดยเขาลงแข่งขันเลเวอร์คัพเป็นรายการสุดท้าย[106] เขาลงแข่งขันนัดสุดท้ายโดยจับคู่กับนาดัล แพ้คู่ของ แจ็ค ซอค และ ฟรานเซส ติอาโฟ 1–2 เซต[107] เขากล่าวว่าจะยังคงเล่นเทนนิสต่อในอนาคตแต่มิใช่การแข่งขันอาชีพ โดยจะปรากฏตัวในรายการการกุศลหรือลงแข่งเพื่อความบันเทิงเท่านั้น[108]
ทีมชาติ
แก้กีฬาโอลิมปิก
แก้เฟเดอเรอร์ลงแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนในนามทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ครั้งแรกในปี 2000 ที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยก่อนเริ่มการแข่งขันความคาดหวังไม่สูงนัก เนื่องจากเขายังเป็นผู้เล่นดาวรุ่งที่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการแข่งขันระดับสูง แต่เฟเดอเรอร์ก็สร้างความประหลาดใจด้วยผลงานอันยอดเยี่ยมโดยผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ ก่อนจะแพ้ ทอมมี แฮส นักเทนนิสชาวเยอรมัน ตามด้วยการแพ้ อาร์นอด์ ดิ ปาสเควล ชาวฝรั่งเศสในรอบชิงเหรียญทองแดง คว้าอันดับ 4 ไปครอง[109] ต่อมาในโอลิมปิกปี 2004 ที่กรุงเอเธนส์ เฟเดอเรอร์ซึ่งในขณะนั้นครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 และถูกมองว่าเป็นผู้เล่นที่เก่งที่สุดในโลก ได้ลงแข่งขันในฐานะมือวางอันดับ 1 แต่เขาตกรอบที่สองในการแข่งขันอย่างเหนือความคาดหมาย แพ้ให้กับ โทมาช แบร์ดิค ผู้เล่นเช็กเกียซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง 18 ปี และเฟเดอเรอร์ยังได้ลงแข่งขันในประเภทคู่ โดยจับคู่กับ อีฟส์ อัลโกร แต่ก็ตกรอบที่สองเช่นกัน[110]
ถัดมาในการแข่งขันปี 2008 ที่ปักกิ่ง เฟเดอรเรอร์ได้รับการจัดอันดับเป็นมือวางอันดับ 1 เช่นเคย แต่เขาแพ้ เจมส์ เบลก จากสหรัฐในรอบ 8 คนสุดท้าย[111] แต่ครั้งนี้เขาประสบความสำเร็จในประเภทชายคู่ โดยคว้าเหรียญทองร่วมกับสตาน วางรีงกา เอาชนะคู่ ไซมอน แอสเพลลิน และ โทมัส โจฮานส์สันจากสวีเดน เฟเดอเรอร์ยังได้รับเกียรติให้เป็นผู้ถือธงชาติสวิตเซอร์แลนด์ในพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกทั้งในปี 2004 และ 2008[112] ต่อมาในปี 2012 เฟเดอเรอร์ผ่านเข้าชิงชนะเลิศในประเภทชายเดี่ยวได้เป็นครั้งแรก ก่อนจะแพ้ แอนดี มาร์รี นักเทนนิสชื่อดังชาวสกอตซึ่งลงเล่นในนามทีมสหราชอาณาจักรสามเซตรวดทำได้เพียงคว้าเหรียญเงินไปครอง และไม่ประสบความสำเร็จในการป้องกันแชมป์ประเภทคู่ โดยเฟเดอเรอร์และวางรีงกาแพ้คู่ของโจนาธาน เอร์ลิช และ แอนดี แรม จากอิสราเอล[113] เฟเดอเรอร์ไม่ได้ลงแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2016[114] และ 2020[115] เนื่องจากอาการบาดเจ็บทั้งสองครั้ง
เดวิส คัพ
แก้เฟเดอเรอร์ในวัย 17 ปีลงแข่งขันรายการ เดวิส คัพ (Davis Cup) ซึ่งเปรียบเสมือนการแข่งชิงแชมป์โลกในวงการเทนนิสเป็นครั้งแรกในปี 1997 ในรอบแบ่งกลุ่มพบกับทีมชาติอิตาลี โดยเขาสร้างชื่อได้ในนัดแรกโดยทันทีจากการชนะ เดวิด ซันกิเนตตี 3–1 เซต ช่วยให้สวิตเซอร์แลนด์ผ่านเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้าย[117] ไปพบกับเบลเยียม ก่อนที่เฟเดอเรอร์จะแพ้ในเดวิส คัพ เป็นครั้งแรกจากการแพ้ คริสตอฟ ฟาน การ์สเส 2–3 เซต ต่อมาในปี 2000 สวิตเซอร์แลนด์ตกรอบจากการแพ้ออสเตรเลีย 2–3 คู่ แม้เฟเดอเรอร์จะจับคู่กับลอเรสโซ มานทาร์ ชนะในการแข่งขันวันแรกแต่เขาแพ้ในการแข่งขันประเภทชายเดี่ยวสองนัดถัดมาต่อ มาร์ก ฟิลิปัสซิส และ เลย์ตัน ฮิววิตต์ ก่อนจะแก้ตัวได้ในการแข่งขันรอบคัดเลือกปี 2001 เอาชนะเบลารุสขาดลอย 5–0 คู่[118]
ในปี 2003 ทีมเดวิส คัพ ของสวิตเซอร์แลนด์ทำผลงานยอดเยี่ยมโดยผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่แพ้ออสเตรเลียไปอีกครั้ง โดยเฟเดอเรอร์ชนะ มาร์ก ฟิลิปัสซิส แต่ไปแพ้ในการแข่งขันประเภทคู่ ส่งผลให้ต้องตัดสินผู้เข้ารอบในนัดสุดท้ายในประเภทเดี่ยวพบกับ เลย์ตัน ฮิววิตต์ คู่แข่งคนสำคัญอีกครั้งก่อนที่เฟเดอเรอร์จะแพ้ไป 2–3 เซตแม้จะนำไปก่อนถึง 2–0 เซต[119] ในช่วงหลายปีต่อมา เฟเดอเรอร์ไม่ค่อยให้ความสนใจกับรายการเดวิส คัพ มากนัก เนื่องด้วยเขาต้องเน้นการแข่งขันส่วนตัวในรายการสำคัญในอาชีพทั้งแกรนด์สแลมและรายการมาสเตอร์ 1000 แต่ยังลงแข่งขันเดวิส คัพ บ้างเล็กน้อยในรอบคัดเลือกเพื่อช่วยให้สวิตเซอร์แลนด์รักษาอันดับโลกในอันดับต้น ๆ อย่างต่อเนื่อง[120][121][122]
เฟเดอเรอร์พาทีมเดวิส คัพ ของสวิตเซอร์แลนด์สร้างประวัติศาสตร์ได้ในปี 2014 โดยเฟเดอเรอร์ซึ่งเพิ่งหายจากการบาดเจ็บริเวณหลังได้รับบทบาทเป็นผู้เล่นคนสำคัญของทีมร่วมกับสตาน วาวรีงกา เอาชนะฝรั่งเศสในรอบชิงชนะเลิศ 3–1 คู่[123] แม้เฟเดอเรอร์จะแพ้ในการแข่งขันประเภทเดี่ยวต่อกาแอล มงฟิล์ส แต่เขาแก้ตัวได้ในการแข่งขันสองนัดถัดมา โดยจับคู่กับวางรีงกาเอาชนะคู่ของ จูเลียง เบนน์โต และ รีชาร์ กัสกุแอ ตามด้วยการชนะกัสกุแอในประเภทชายเดี่ยวสามเซตรวดพาสวิตเซอร์แลนด์คว้าแชมป์สมัยแรก (และเป็นแชมป์สมัยเดียวมาถึงปัจจุบัน)[124][125]
เฟเดอเรอร์เป็นเจ้าของสถิติสูงสุดในการเล่นเดวิส คัพของทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์หลายอย่าง ได้แก่ เป็นผู้เล่นชาวสวิสที่ชนะการแข่งขันทุกประเภทมากที่สุด (52 นัด), ชนะการแข่งขันประเภทชายเดี่ยวมากที่สุด (40 นัด), ลงแข่งขันด้วยจำนวนนัดที่มากที่สุด และลงแข่งขันด้วยจำนวนปีที่มากที่สุด (15 ปี)[126]
ฮอพแมน คัพ
แก้เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์รายการฮอพแมน คัพ สมัยแรกในปี 2001 จับคู่กับ มาร์ตินา ฮินกิส นักเทนนิสหญิงชื่อดัง เอาชนะคู่ของ โมนิกา เซเลส และ ยัน-ไมเคิล แกมบิลล์จากสหรัฐในรอบชิงชนะเลิศ[127] ในปีต่อมา เฟเดอเรอร์จับคู่กับ มิโรสลาวา วาฟริเนค ผู้ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นภรรยาของเขาจนถึงปัจจุบัน แต่ทั้งคู่ตกรอบแรก[128] เฟเดอเรอร์ห่างหายจากการลงเล่นฮอพแมน คัพ ไปอีกหลายปีก่อนจะกลับมาช่วยทีมในปี 2017 ซึ่งเขาทำผลงานได้ดีทั้งในประเภทชายเดี่ยว และประเภทคู่ผสม โดยจับคู่กับเบลินดา เบนซิช แต่ไม่เพียงพอต่อการเข้าชิงชนะเลิศ[129]
เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์รายการนี้ได้เป็นสมัยที่สอง (และเป็นสมัยที่สามของสวิตเซอร์แลนด์) ในปี 2018 เอาชนะเยอรมนีในรอบชิงชนะเลิศ 2–1 คู่ โดยเฟเดอเรอร์เอาชนะ อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ ดาวรุ่งชื่อดังในการแข่งขันประเภทเดี่ยว และจับคู่กับเบลินดา เบนซิชอีกครั้ง เอาชนะคู่ของซเฟเร็ฟและอันเจลีค แคร์เบอร์สองเซตรวด[130] ตามด้วยการคว้าแชมป์สมัยที่สามในปี 2019 เอาชนะเยอรมนีในรอบชิงชนะเลิศอีกครั้ง และเป็นการจับคู่กับเบลินดา เบนซิช เอาชนะคู่ของซเฟเร็ฟและแคร์เบอร์ไปได้อีกครั้ง[131]
เฟเดอเรอร์เป็นเจ้าของสถิติผู้เล่นที่คว้าแชมป์ฮอพแมน คัพ มากที่สุดในโลก (3 สมัย)
รูปแบบการเล่น
แก้เฟเดอเรอร์สามารถเล่นได้ดีในทุกพื้นคอร์ต (A versatile all-court player) และสามารถตีลูกทุกชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ[132] เขาเป็นผู้เล่นที่เล่นลูกวอลเลย์หน้าเน็ตได้ดีที่สุดคนหนึ่ง และยังเล่นที่เส้นท้ายคอร์ตหลังเบสไลน์ได้ดีและมีกราวน์สโตรกที่ดีจากทั้งสองฝั่งของสนาม การตีลูกโฟร์แฮนด์ของเขาจะก้ำกึ่งระหว่างแบบตะวันออกและตะวันตก โดยมือของเขาจะอยู่ที่ส่วนกลางค่อนไปทางด้านล่างของไม้ ทำให้สามารถตีได้ทั้งแบบตบและแบบท็อปสปิน เฟเดอเรอร์มักตีลูกโฟร์แฮนด์ในแนวราบและจบการตีลูกโดยที่แขนจะรวบอยู่กับตัวและไม้จะไปอยู่ด้านหลังซึ่งไม่ใช่การตีของนักเทนนิสทั่วไป ซึ่งหลังจากตีลูกแล้วไม้เทนนิสจะข้ามไหล่ไปด้านหลังและข้อศอกของมือข้างที่ตีจะชี้ขึ้นฟ้า[133] และยังสามารถตีลูกท็อปสปินได้รุนแรงทำให้เขาสามารถตีลูกครอสคอร์ตฉีกมุมได้อย่างแม่นยำ
นักวิเคราะห์และแฟนเทนนิสโดยทั่วไปยกย่องว่าเขาเป็นผู้เล่นที่ตีแบ็กแฮนด์มือเดียวได้ดีที่สุดในโลก[134][135][136] และเขายังตีลูกตัด (Slice) ได้อย่างยอดเยี่ยมและสามารถตีลูกสปินได้ดีในทุกพื้นคอร์ต เขามักจะตีลูกกราวน์สโตรกได้รวดเร็วเช่นเดียวกับที่อานเดร แอกัสซี ตีเป็นประจำซึ่งต้องอาศัยฟุตเวิร์กและปฏิกิริยาที่ยอดเยี่ยม และเฟเดอเรอร์ยังตีกราวน์สโตรกได้ใกล้เน็ตทำให้คู่แข่งถูกลดเวลาในการตีโต้ลง กราวน์สโตรกของเขาอาจไม่หนักหน่วงรุนแรงเท่า ราฟาเอล นาดัล, ด็อมมินิค ทีม หรือ ดานีอิล เมดเวเดฟ แต่ถือเป็นการตีด้วยน้ำหนักและทิศทางที่พอดีและเขายังสามารถตีลูกฉีกมุมซึ่งเป็นลูกทีเด็ดของเขาในแต้มสำคัญ
เฟเดอเรอร์ยังเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่มีลูกเสริ์ฟที่ดีที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่เสริ์ฟเอชได้มากที่สุด[137] ลูกเสิร์ฟของเขาเป็นลูกที่อ่านได้ยากเนื่องจากเขามีจังหวะการโยนลูกและการย่อตัวตีที่แม่นยำ[138] โดยเสิร์ฟแรกของเขาจะมีความเร็วประมาณ 190 กม./ชม. (118 ไมล์/ชม.)[139] ส่วนลูกเสิร์ฟที่สองมักจะเป็นลูกปั่นเด้งสูงเน้นทิศทาง บ่อยครั้งที่เราเห็นเขาสามารถเสริ์ฟได้ลงตรงเส้นกึ่งกลางคอร์ตพอดีโดยที่คู่ต่อสู้ไม่มีโอกาสได้โต้กลับมา เฟเดอเรอร์ยังชื่นชอบการขึ้นไปเล่นลูกวอลเลย์หน้าเน็ต โดยเขาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เล่นที่เล่นหน้าเน็ตได้ดีที่สุดคนหนึ่ง
เฟเดอเรอร์มีการเคลื่อนที่ การทรงตัว และการควบคุมพื้นที่ที่ยอดเยี่ยม เขาถูกจัดเป็นผู้เล่นที่เคลื่อนไหวได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ผู้เล่นส่วนมากจะก้าวเท้าสั้น ๆหลาย ๆ ก้าวเพื่อจะเข้าถึงบอล แต่เฟเดอเรอร์สามารถก้าวเท้ายาว ๆ ได้อย่างลื่นไหล เขาสามารถตีลูกแรง ๆ ในขณะที่ยังวิ่งอยู่หรือแม้แต่ในขณะที่ก้าวถอยหลังทำให้เขาสามารถเปลี่ยนเกมจากการตั้งรับเป็นเกมบุกได้อย่างรวดเร็ว รูปแบบการเล่นของเฟเดอเรอร์เป็นแบบผ่อนคลายและไหลลื่นแต่ซ่อนแทคติกที่เน้นการบุกอย่างชาญฉลาดและฉาบฉวย
อุปกรณ์และชุดแข่ง
แก้เฟเดอเรอร์ใช้ไม้เทนนิสยี่ห้อวิลสัน บี แอล เอกซ์ ซิก วัน ทัวร์ 90[140] ซึ่งเป็นไม้ที่มีหน้าแร็กเก็ตที่เล็กกว่าปกติ มีน้ำหนักมากแต่บาง บางคนคาดเดาว่าเป็นไม้ที่ดัดแปลงมาจากไม้วิลสัน โปรสต๊าฟ ออริจินอล 6.0 85 ที่ พีต แซมพราส ใช้ เฟเดอเรอร์ขึงตาข่ายไว้ค่อนข้างหลวม (53-60 ปอนด์ โดยขึ้นอยู่กับคู่แข่ง และพื้นสนาม) การแข่งขันวิมเบิลดัน 2008 เขาขึงไว้เพียง 47/48 ปอนด์เท่านั้น[141] การขึงตาข่ายเช่นนี้ทำให้เขาตีลูกด้วยความเร็วสูงได้โดยใช้แรงน้อยลง เฟเดอเรอร์เคยใช้ไม้วิลสัน เอ็นโค้ด เอ็นซิก-วัน ทัวร์ 90, ไม้วิลสัน โปรสต๊าฟ ทัวร์ 90 และไม้วิลสัน โปรสต๊าฟ ออริจินอล 6.0 85 เฟเดอเรอร์สนับสนุนไม้เทนนิสและอุปกรณ์ของวิลสันและสนับสนุนชุดกีฬาและรองเท้าของไนกี้ ในการแข่งขันวิมเบิลดัน ปี 2006 ไนกี้ทำเสื้อแจ๊กเก็ตโดยมีตราไม้เทนนิสสามอันเป็นเครื่องหมายว่า "เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์วิมเบิลดันมาแล้วสามสมัย"[142]
เฟเดอเรอร์ยังสนับสนุนอุปกรณ์อีกหลาย ๆ บริษัทโดยเฉพาะบริษัทของสวิตเซอร์แลนด์[143] และยังสนับสนุนผลิตภัณฑ์ยิลเลตต์ ร่วมกับยอดนักฟุตบอลชาวฝรั่งเศส ตีแยรี อ็องรี รวมถึงนักกอล์ฟชาวอเมริกัน ไทเกอร์ วูดส์ และนักคริกเกตชาวอินเดีย ราฮูล ดราวิด[144]
ในปี 2018 เฟเดอเรอร์ได้ยุติสัญญากับทางไนกี้ผู้สนับสนุนหลักที่ร่วมงานกันมากว่า 20 ปีและตัดสินใจเซ็นสัญญากับยูนิโคล่ (Uniqlo) แบรนด์ชื่อดังของประเทศญี่ปุ่น[145][146] โดยสัญญาดังกล่าวส่งผลให้เฟเดอเรอร์จะมีรายได้จากยูนิโคล่กว่า 30 ล้านดอลลาร์ต่อปี[147] สัญญามีระยะเวลา 10 ปี มูลค่ารวม 300 ล้านดอลลาร์ โดยเฟเดอเรอร์ได้ประเดิมสวมชุดแข่งขันของยูนิโคล่ในแกรนด์สแลมวิมเบิลดันปี 2018 แต่ยังคงสวมรองเท้าของไนกี้มาจนถึงปัจจุบัน
สถิติโลก
แก้โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ครองสถิติโลกมากมายโดยมีสถิติที่สำคัญได้แก่:[148]
- คว้าแชมป์แกรนด์สแลมออสเตรเลียนโอเพน, วิมเบิลดัน และ ยูเอสโอเพน ในปีเดียวกันได้ 3 ครั้ง (ปี 2004, 2006 และ 2007)
- คว้าชัยชนะติดต่อกันได้มากที่สุดบนพื้นคอร์ต 2 ประเภท (คอร์ตหญ้า[149] และ ฮาร์ดคอร์ต)
- เข้าชิงชนะเลิศการแข่งขันชายเดี่ยว 17 รายการติดต่อกัน (ปี 2005–06)[150]
- ครองตำแหน่งอันดับ 1 ของโลก 237 สัปดาห์ติดต่อกัน (ปี 2004–08)[151]
- เป็นผู้เล่นที่ครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ที่มีอายุมากที่สุด (36 ปี 195 วัน: ปี 2018)[152]
- เป็นผู้เล่นคนเดียวในยุคโอเพนที่ได้แชมป์ยูเอสโอเพนติดต่อกัน 5 สมัย (ปี 2004–08)
- เป็นหนึ่งในสามผู้เล่นชายในยุคโอเพนที่ได้แชมป์ยูเอสโอเพน 5 สมัย (ร่วมกับ จิมมี คอนเนอร์ และ พีต แซมพราส)
- เป็นหนึ่งในสองผู้เล่นชายที่ได้แชมป์ออสเตรเลียนโอเพน และวิมเบิลดันอย่างน้อย 6 สมัยในทั้งสองรายการ (ร่วมกับ นอวาก จอกอวิช)
- เป็นหนึ่งในสองผู้เล่นชายที่คว้าแชมป์วิมเบิลดันติดต่อกัน 5 สมัย (ปี 2003–07, ร่วมกับ บียอร์น บอร์ก)[153]
- ทำสถิติเข้าชิงชนะเลิศวิมเบิลดัน 12 สมัย[154] และสถิติชนะเลิศ 8 สมัย
- เป็นผู้เล่นคนเดียวที่ชนะในแกรนด์สแลมวิมเบิลดันเกิน 100 นัด (105)[155]
- เป็นผู้เล่นชายที่เข้าถึงรอบ 8 คนสุดท้ายวิมเบิลดันได้มากที่สุด (18 ครั้ง)
- เป็นผู้เล่นที่อายุมากที่สุดในยุคโอเพนที่เข้าถึงรอบ 8 คนสุดท้ายวิมเบิลดัน (39 ปี 11 เดือน: ปี 2021)[156]
- เป็นผู้เล่นที่ลงแข่งขันแกรนด์สแลมมากที่สุดในประเภทชายเดี่ยว (429 นัด)[157]
- เป็นนักเทนนิสชายคนเดียวที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลม 3 รายการ (ออสเตรเลียนโอเพน, วิมเบิลดัน และ ยูเอสโอเพน) ได้อย่างน้อย 5 สมัยในทุกรายการ
- เป็นหนึ่งในสองผู้เล่นที่เข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมในประเภทชายเดี่ยวมากที่สุด 31 รายการ[158] (เป็นผู้เล่นคนเดียวเข้าชิงชนะเลิศติดต่อกัน 10 รายการ)
- เข้ารอบรองชนะเลิศแกรนด์สแลมในประเภทชายเดี่ยวมากที่สุด 46 รายการ[159] (รวมทั้งเข้ารอบรองชนะเลิศติดต่อกัน 23 รายการ)
- เข้าถึงรอบ 8 คนสุดท้ายแกรนด์สแลมมากที่สุด 58 ครั้ง (รวมทั้งเข้าถึงรอบ 8 คนสุดท้ายติดต่อกัน 36 รายการ)
- เป็นผู้เล่นที่คว้าแชมป์เอทีพี ไฟนอล มากที่สุด (6 สมัย),[160] เข้าชิงชนะเลิศมากที่สุด (10 ครั้ง), เข้ารอบรองชนะเลิศมากที่สุด (16 ครั้ง) และชนะมากที่สุด (59 นัด)
- เป็นผู้เล่นที่ไม่เคยขอยอมแพ้เนื่องจากอาการบาดเจ็บในระหว่างการแข่งขันแม้แต่นัดเดียวนับตั้งแต่เริ่มเล่นอาชีพในปี 1998[161]
- เป็นหนึ่งในห้าผู้เล่นที่ชนะได้มากกว่า 1,000 นัดในการแข่งขันประเภทชายเดี่ยว
คู่แข่งคนสำคัญ
แก้ราฟาเอล นาดัล
แก้เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ และ ราฟาเอล นาดัล เป็นคู่แข่งขันที่แย่งความสำเร็จและสร้างประวัติศาสตรในวงการเทนนิสมาอย่างยาวนานร่วม 20 ปี[162][163] ทั้งสองฝ่ายพบกันรวม 40 ครั้ง โดยเฟเดอเรอร์ชนะ 16 ครั้ง แพ้ 24 ครั้ง เฟเดอเรอร์มีสถิติที่เหนือกว่าในการพบกันบนฮาร์ดคอร์ต (พื้นคอนกรีต) โดยชนะ 11 แพ้ 9 และเหนือกว่าบนคอร์ตหญ้า โดยชนะ 3 แพ้ 1 แต่เฟเดอเรอร์ก็มีสถิติที่ย่ำแย่มากในการพบกับนาดัลบนคอร์ตดิน โดยชนะได้เพียง 2 ครั้ง และแพ้ไปถึง 14 ครั้ง[164]
ทั้งคู่พบกันในรอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลม 9 ครั้ง เฟเดอเรอร์ชนะ 3 ครั้ง ในวิมเบิลดัน 2 ครั้ง (2006 และ 2007), ออสเตรเลียนโอเพน 1 ครั้ง (2017) และนาดัลชนะได้ 6 ครั้ง ในเฟรนช์โอเพน 4 ครั้ง (2006–08 และ 2011), ออสเตรเลียนโอเพน 1 ครั้ง (2009) และ วิมเบิลดัน 1 ครั้ง (2008) ทั้งคู่พบกันในรายการแกรนด์สแลมรวม 14 ครั้ง ซึ่งเฟเดอเรอร์เอาชนะได้เพียง 4 ครั้ง และแพ้ 10 ครั้ง โดยเฟเดอรเรอร์มีสถิติที่ดีกว่าที่วิมเบิลดัน (3–1) ในขณะที่นาดัลมีสถิติที่เหนือกว่าในออสเตรเลียนโอเพน (3–1) และเฟรนช์โอเพน (6–0) และยังไม่เคยพบกันในยูเอสโอเพน
ในส่วนของรายการมาสเตอร์ 1000 ทั้งคู่เคยพบกัน 20 ครั้ง เฟเดอเรอร์ชนะ 8 ครั้ง แพ้ 12 ครั้ง โดยเป็นการพบกันในรอบชิงชนะเลิศ 12 ครั้งซึ่งเฟเดอเรอร์ชนะได้ 5 ครั้ง แพ้ 7 ครั้ง และเฟเดอเรอร์เอาชนะนาดัลในรายการมาสเตอร์คอร์ตดินได้เพียง 2 ครั้งจากการพบกัน 10 ครั้ง
นอวาก จอกอวิช
แก้คู่แข่งคนสำคัญของเฟเดอเรอร์อีกคนได้แก่ นอวาก จอกอวิช โดยพบกัน 50 ครั้ง โดยเฟเดอเรอร์ชนะ 23 ครั้ง แพ้ 27 ครั้ง ซึ่งจอกอวิชถือเป็นผู้เล่นที่มีสถิติชนะเฟเดอรเรอร์ได้มากที่สุด และยังเป็นผู้เล่นคนเดียวที่ชนะเฟเดอเรอร์ในการแข่งขันแกรนด์สแลมได้ครบทุกรายการ ในทำนองเดียวกัน เฟเดอเรอร์ก็เป็นผู้เล่นคนเดียวที่ชนะจอกอวิชได้ในแกรนด์สแลมทุกรายการ ทั้งคู่พบกันในรอบชิงชนะเลิศทุกรายการ 19 ครั้ง เฟเดอเรอร์ชนะ 6 แพ้ 13 และพบกันในรอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลม 5 ครั้ง เฟเดอเรอร์ชนะ 1 ครั้ง (ยูเอสโอเพน 2007) แพ้ 4 ครั้ง (วิมเบิลดัน 2014, 2015, 2019 และ ยูเอสโอเพน 2015)
การแข่งขันครั้งประวัติศาสตร์ของทั้งคู่ได้แก่ รอบชิงชนะเลิศวิมเบิลดัน 2019 ใช้เวลาแข่งขันกว่า 5 ชั่วโมง ยาวนานที่สุดในประวัติของรายการซึ่งเฟเดอเรอร์แพ้ไปในการแข่งขัน 5 เซต ทั้งที่เขามีโอกาสได้เปรียบถึง 2 Championship points[165] และนับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา เฟเดอเรอร์ยังไม่สามารถเอาชนะจอกอวิชในรายการแกรนด์สแลมได้เลย[166]
ทั้งคู่พบกันบนฮาร์ดคอร์ค (พื้นคอนกรีต) 38 ครั้ง เฟเดอเรอร์ชนะ 18 แพ้ 20, พบกันบนคอร์ตหญ้า 4 ครั้ง เฟเดอเรอร์ชนะ 1 แพ้ 3 และทั้งคู่มีสถิติการพบกันบนคอร์ตดินที่เท่ากันโดยผลัดกันแพ้ชนะคนละ 4 ครั้ง
แอนดี มาร์รี
แก้เฟเดอเรอร์มีสถิติการพบกับ แอนดี มาร์รี ยอดนักเทนนิสสกอตแลนด์ 25 ครั้ง[167] เฟเดอรเรอร์ชนะ 14 ครั้ง และแพ้ 11 ครั้ง โดยเฟเดอรเรอร์มีสถิติที่เหนือกว่าทั้งในการพบกันในฮาร์ดคอร์ต (12–10) และ คอร์ตหญ้า (2–1) และยังไม่เคยพบกันบนคอร์ตดิน และนับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา เฟเดอเรอร์เอาชนะมาร์รีได้ถึง 9 ครั้งจากการพบกัน 12 ครั้ง ทั้งคู่พบกันในรายการแกรนด์สแลม 6 ครั้ง เฟเดอเรอร์ชนะ 5 ครั้ง รวมถึงรอบชิงชนะเลิศยูเอสโอเพน (2008), ออสเตรเลียนโอเพน (2010) และวิมเบิลดัน (2012) แต่มาร์รีก็เอาชนะเฟเดอเรอร์ได้ในการแข่งขันรายการสำคัญ เช่น ชนะในรอบชิงชนะเลิศโอลิมปิกฤดูร้อน 2012[168] สามเซตรวดคว้าเหรียญทองไปครอง มาร์รียังถือเป็นหนึ่งในสามผู้เล่น (ร่วมกับ จอกอวิช และ นาดัล) ที่เอาชนะเฟเดอเรอร์ได้มากกว่า 10 ครั้ง
แอนดี ร็อดดิก
แก้เฟเดอเรอร์ถือเป็นคู่แข่งที่สำคัญที่สุดในอาชีพของ แอนดี ร็อดดิก อดีตมือวางดับ 1 ของโลกชาวอเมริกัน โดยทั้งคู่พบกัน 24 ครั้ง และเฟเดอเรอร์เอาชนะไปได้ถึง 21 ครั้ง แพ้เพียง 3 ครั้ง[169] ร็อดดิกเคยครองตำแหน่งอันดับ 1 ของโลกจำนวน 13 สัปดาห์ ภายหลังจากชนะเลิศยูเอสโอเพน 2003 ต่อมา เฟเดอเรอร์ได้ทำคะแนนแซงร็อดดิกขึ้นสู่ตำแหน่งอันดับ 1 ได้หลังจากชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพน 2004 และนั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่ในอาชีพของเฟเดอเรอร์ในการครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ยาวนานหลายปี
ทั้งคู่พบกันในรอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลม 4 ครั้ง และเฟเดอเรอร์เอาชนะไปได้ทั้ง 4 ครั้ง ในวิมเบิลดัน 3 ครั้ง (2004, 2005 และ 2009) และยูเอสโอเพน 1 ครั้ง (2006) โดยร็อดดิกใกล้เคียงกับชัยชนะในรอบชิงชนะเลิศมากที่สุดในวิมเบิลดันปี 2009 ซึ่งเขาแพ้ไปในการแข่งขัน 5 เซต และต้องแข่งขันกันมากถึง 30 เกมในเซตสุดท้ายก่อนที่เฟเดอเรอร์จะชนะไปได้ 16–14 เกม ซึ่งในวันนั้นถือเป็นหนึ่งในนัดที่ร็อดดิกเล่นได้ดีที่สุดครั้งหนึ่งในอาชีพ แต่ก็ต้องแพ้ไปอย่างน่าเสียดาย[170][171]
เลย์ตัน ฮิววิตต์
แก้เลย์ตัน ฮิววิตต์ อดีตมือวางอันดับ 1 ชาวออสเตรเลีย เป็นอีกคนที่เคยพบกับเฟเดอเรอร์ในการแข่งขันสำคัญหลายรายการ โดยพบกัน 27 ครั้ง[172] เฟเดอเรอร์ชนะ 18 แพ้ 9 โดยฮิววิตต์เอาชนะเฟเดอเรอร์ได้ 7 ครั้งจากการพบกันใน 9 ครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าวยังเป็นช่วงที่เฟเดอเรอร์เพิ่งขึ้นมาแจ้งเกิดในวงการ และยังไม่พัฒนาขึ้นมาเป็นผู้เล่นระดับโลก ทั้งคู่เคยพบกันในรอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลม 1 ครั้ง ในยูเอสโอเพน 2004 ซึ่งเฟเดอเรอร์ชนะไป 3 เซตรวดคว้าแชมป์ยูเอสโอเพนครั้งแรก[173]
การช่วยเหลือสังคม
แก้เฟเดอเรอร์ก่อตั้ง มูลนิธิโรเจอร์ เฟเดอเรอร์ (Roger Federer Foundation) ในเดือนธันวาคม 2003[174] เพื่อรวบรวมทุนช่วยเหลือเด็กพิการโดยเน้นที่ประเทศแอฟริกาใต้ ตัวอย่างเช่น ทุน IMBEWU[175] ในปี 2017 เขาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยบาเซิลบ้านเกิดของเขา[176] ในฐานะที่สร้างชื่อเสียงให้กับเมืองบาเซิลและประเทศสวิตเซอร์แลนด์อย่างยิ่งใหญ่ทั้งจากความสำเร็จในการเล่นเทนนิสอาชีพและจากการอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ ในทวีปแอฟริกาผ่านมูลนิธิของเขา[177] และในเดือนมกราคม 2005 เฟเดอเรอร์ได้สนับสนุนให้นักเทนนิสช่วยกันระดมทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ และเขาได้ประมูลไม้เทนนิสที่มีลายเซ็นของตนเพื่อนำเงินไปสมทบทุนองค์การยูนิเซฟ[178] เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2006 เฟเดอเรอร์ได้รับแต่งตั้งเป็น "ทูตระหว่างชาติ" โดยองค์การยูนิเซฟ[179] เพื่อช่วยเหลือเด็กยากจนทั่วโลก และวันที่ 23 ธันวาคม 2006 เขาได้ไปเยี่ยมเด็ก ๆ ที่รัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย ซึ่งประสบภัยสึนามิ
เฟเดอเรอร์ยังมีโครงการร่วมกับ บิล เกตต์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกันในการระดมทุนช่วยเหลือเด็กในทวีปแอฟริกา โดยลงแข่งขันเทนนิสในนัดการกุศลที่เรียกว่า “The Match for Africa” ในเดือนมีนาคม 2018 โดยเขาจับคู่กับบิล เกตต์ พบกับคู่ของนักเทนนิสอเมริกัน แจ็ค ซ็อค และผู้ประกาศของสถานีข่าวเอ็นบีซีนามว่า ซาวันนาห์ กูธรี ที่เมืองซานโฮเซ่ รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยสามารถขายตั๋วได้มากถึง 15,000 ใบ และระดมเงินได้ราว 2 ล้าน 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ[180]
ทรัพย์สินและสปอนเซอร์
แก้ในเดือนพฤษภาคม 2020 เฟเดอเรอร์ได้รับการจัดอันดับโดยฟอบส์ให้เป็นนักกีฬาที่ทำเงินรางวัลได้มากที่สุด ซึ่งถือเป็นนักเทนนิสคนแรกที่ทำได้[181] เขาทำรายได้ในปี 2020 รวม 106.3 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเฟเดอเรอร์มีชื่อติดใน 10 อันดับแรกของนักกีฬาที่ทำเงินรางวัลมากที่สุดทุกปีแต่ยังไม่เคยขึ้นถึงอันดับหนึ่ง โดยในปีนี้[182] เฟเดอเรอร์ทำสถิติแซงหน้านักกีฬาชื่อดังหลายราย เช่น คริสเตียโน โรนัลโด, ลิโอเนล เมสซิ และ เนย์มาร์ นักฟุตบอลชื่อดัง รวมทั้งเลอบรอน เจมส์, สตีเฟน เคอร์รี่ และ เควิน ดูแรนท์ในวงการบาสเกตบอล เฟเดอเรอร์ยังถือเป็นนักเทนนิสที่ร่ำรวยที่สุดในโลก[183] ด้วยทรัพย์สินรวม 450 ล้านดอลลาร์[184]
ในฐานะที่เฟเดอเรอร์เป็นหนึ่งในนักกีฬาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดทำให้เขาดึงดูดผู้สนับสนุนมากมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นแบรนด์ระดับโลก เช่น "โรเล็กซ์" แบรนด์นาฬิกาชื่อดังของสวิตเซอร์แลนด์บ้านเกิด โดยผู้บริหารของโรเล็กซ์ได้เล็งเห็นถึงภาพลักษณ์ที่สุขุม และความเป็นสุภาพบุรุษนักกีฬาของเฟเดอเรอร์ โดยเขาได้เซ็นสัญญาในฐานะแบรนด์แอมบาสเดอร์ด้วยมูลค่า 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (200 ล้านบาท) ต่อปี และมักปรากฏภาพเจ้าตัวออกสื่อโฆษณาของบริษัท และทุกครั้งที่เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์ในแต่ละรายการได้นาฬิกาโรเล็กซ์บนข้อมือซ้ายของเขาก็จะได้รับการโปรโมตออกสื่อไปทั่วโลกเมื่อเขาชูถ้วยรางวัล
สปอนเซอร์รายถัดมาได้แก่ "เมอร์เซเดส-เบนซ์" แบรนด์รถยนต์ชื่อดังจากเยอรมนี ซึ่งได้ดึงเฟเดอเรอร์เข้ามาร่วมงานตั้งแต่ปี 2008 โดยสัญญาดังกล่าวมีมูลค่าปีละ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (160 ล้านบาท) ต่อปี โดยบริษัทได้ส่งรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์มาให้ถึงบ้านของเฟเดอเรอร์ทุกครั้งที่มีการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ออกจำหน่าย นอกจากนี้เขายังมีสปอนเซอร์แบรนด์ดังอีกมากมาย เช่น "เครดิต ซุส" ธนาคารชื่อดังของสวิตเซอร์แลนด์ที่มอบสัญญามูลค่า 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (59 ล้านบาท) ต่อปีและยังให้การสนับสนุนมูลนิธิการกุศลของเฟเดอเรอร์ตลอดมา รวมทั้ง "ยิลเลตต์" แบรนด์ผลิตภัณฑ์โกนหนวดชื่อดังที่มอบสัญญามูลค่า 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (59 ล้านบาท) ต่อปีเช่นกัน และยังมีบริษัทอาหารอย่าง "บาริลลา" ผู้ผลิตเส้นพาสตาชื่อดัง และ "ลินด์" แบรนด์ช็อคโกแลตจากสวิตเซอร์แลนด์ด้วยสัญญามูลค่ากว่า 18 ล้านดอลลาร์ (600 ล้านบาท) ต่อปี[185]
สถิติอาชีพ
แก้แกรนด์สแลม
แก้เข้าชิงชนะเลิศ 31 รายการ (ชนะเลิศ 20, รองชนะเลิศ 11)
สถิติการแข่งขันอาชีพ | |||||
---|---|---|---|---|---|
ประเภท | รายการระดับ | ชนะ | แพ้ | รวม | (%) |
เดี่ยว | แกรนด์สแลม | 20 | 11 | 31 | 0.65 |
กีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน | – | – | – | – | |
เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล | 6 | 4 | 10 | 0.67 | |
เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ มาสเตอร์ 1000* | 28 | 22 | 50 | 0.56 | |
เอทีพี ทัวร์ 500 | 24 | 7 | 31 | 0.77 | |
เอทีพี ทัวร์ 250 | 25 | 9 | 34 | 0.74 | |
รวม | 103 | 54 | 157 | 0.66 | |
คู่ | แกรนด์สแลม | – | – | – | – |
กีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน | 1 | – | 1 | 1.00 | |
เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล | – | – | – | – | |
เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ มาสเตอร์ 1000* | 1 | 2 | 3 | 0.33 | |
เอทีพี ทัวร์ 500 | 3 | 1 | 4 | 0.75 | |
เอทีพี ทัวร์ 250 | 3 | 3 | 6 | 0.50 | |
รวม | 8 | 6 | 14 | 0.57 | |
รวม | 111 | 60 | 171 | 0.65 | |
1) (%) = อัตราส่วนการชนะ 2) *ในอดีตรู้จักกันในชื่อของ "ซุปเปอร์ 9" (ค.ศ. 1996–1999), "เทนนิส มาสเตอร์ซีรีส์" (ค.ศ. 2000–2003) และ "เอทีพี มาสเตอร์ซีรีส์" (ค.ศ. 2004–2008) |
ชนะเลิศ
ปี | รายการ | คู่แข่งในรอบชิงชนะเลิศ | ผลการแข่งขัน |
2003 | วิมเบิลดัน (1) | มาร์ค ฟิลิปปูซิส | 7–6(7–5), 6–2, 7–6(7–3) |
2004 | ออสเตรเลียนโอเพน (1) | มารัต ซาฟิน | 7–6(7–3), 6–4, 6–2 |
2004 | วิมเบิลดัน (2) | แอนดี ร็อดดิก | 4–6, 7–5, 7–6(7–3), 6–4 |
2004 | ยูเอสโอเพน (1) | เลย์ตัน ฮิววิตต์ | 6–0, 7–6(7–3), 6–0 |
2005 | วิมเบิลดัน (3) | แอนดี ร็อดดิก | 6–2, 7–6(7–2), 6–4 |
2005 | ยูเอสโอเพน (2) | อานเดร แอกัสซี | 6–3, 2–6, 7–6(7–1), 6–1 |
2006 | ออสเตรเลียนโอเพน (2) | มาร์กอส แบกห์ดาติส | 5–7, 7–5, 6–0, 6–2 |
2006 | วิมเบิลดัน (4) | ราฟาเอล นาดัล | 6–0, 7–6(7–5), 6–7(2–7), 6–3 |
2006 | ยูเอสโอเพน (3) | แอนดี ร็อดดิก | 6–2, 4–6, 7–5, 6–1 |
2007 | ออสเตรเลียนโอเพน (3) | เฟอร์นานโด กอนซาเลซ | 7–6(7–2), 6–4, 6–4 |
2007 | วิมเบิลดัน (5) | ราฟาเอล นาดัล | 7–6(9–7), 4–6, 7–6(7–3), 2–6, 6–2 |
2007 | ยูเอสโอเพน (4) | นอวาก จอกอวิช | 7–6(7–4), 7–6(7–2), 6–4 |
2008 | ยูเอสโอเพน (5) | แอนดี มาร์รี | 6–2, 7–5, 6–2 |
2009 | เฟรนช์โอเพน | โรบิน โซเดอร์ลิง | 6–1, 7–6(7–1), 6–4 |
2009 | วิมเบิลดัน (6) | แอนดี ร็อดดิก | 5–7, 7–6(8–6), 7–6(7–5), 3–6, 16–14 |
2010 | ออสเตรเลียนโอเพน (4) | แอนดี มาร์รี | 6–3, 6–4, 7–6(13–11) |
2012 | วิมเบิลดัน (7) | แอนดี มาร์รี | 4–6, 7–5, 6–3, 6–4 |
2017 | ออสเตรเลียนโอเพน (5) | ราฟาเอล นาดัล | 6–4, 3–6, 6–1, 3–6, 6–3 |
2017 | วิมเบิลดัน (8) | มาริน ซิลิช | 6–3, 6–1, 6–4 |
2018 | ออสเตรเลียนโอเพน (6) | มาริน ซิลิช | 6–2, 6–7(5–7), 6–3, 3–6, 6–1 |
รองชนะเลิศ
ปี | รายการ | คู่แข่งในรอบชิงชนะเลิศ | ผลการแข่งขัน |
2006 | เฟรนช์โอเพน | ราฟาเอล นาดัล | 6–1, 1–6, 4–6, 6–7(4–7) |
2007 | เฟรนช์โอเพน | ราฟาเอล นาดัล | 3–6, 6–4, 3–6, 4–6 |
2008 | เฟรนช์โอเพน | ราฟาเอล นาดัล | 1–6, 3–6, 0–6 |
2008 | วิมเบิลดัน | ราฟาเอล นาดัล | 4–6, 4–6, 7–6(7–5),7-6(10–8),7–9 |
2009 | ออสเตรเลียนโอเพน | ราฟาเอล นาดัล | 5–7, 6–3, 6–7(3–7), 6–3, 2–6 |
2009 | ยูเอสโอเพน | ฮวน มาร์ติน เดล โปโตร | 6–3, 6–7(5–7), 6–4, 6–7(4–7), 2–6 |
2011 | เฟรนช์โอเพน | ราฟาเอล นาดัล | 5–7, 6–7(3–7), 7–5, 1–6 |
2014 | วิมเบิลดัน | นอวาก จอกอวิช | 7–6(9–7), 4–6, 6–7(4–7), 7–5, 4–6 |
2015 | วิมเบิลดัน | นอวาก จอกอวิช | 6–7(1–7), 7–6(12–10), 4–6, 3–6 |
2015 | ยูเอสโอเพน | นอวาก จอกอวิช | 4–6, 7–5, 4–6, 4–6 |
2019 | วิมเบิลดัน | นอวาก จอกอวิช | 6–7(5–7), 6–1, 6–7(5–7), 6–4, 12–13(3–7) |
เอทีพี ไฟนอล
แก้เข้าชิงชนะเลิศ 10 ครั้ง (ชนะเลิศ 6, รองชนะเลิศ 4)
ชนะเลิศ
ปี | รายการ | คู่แข่งในรอบชิงชนะเลิศ | ผลการแข่งขัน |
2003 | ฮูสตัน | อานเดร แอกัสซี | 6–3, 6–0, 6–4 |
2004 | ฮูสตัน | เลย์ตัน ฮิววิตต์ | 6–3, 6–2 |
2006 | เซี่ยงไฮ้ | เจมส์ เบลค | 6–0, 6–3, 6–4 |
2007 | เซี่ยงไฮ้ | ดาวิด เฟร์เรร์ | 6–2, 6–3, 6–2 |
2010 | ลอนดอน | ราฟาเอล นาดัล | 6–3, 3–6, 6–1 |
2011 | ลอนดอน | โจ วิลเฟร็ด ซองก้า | 6–3, 6–7(6–8), 6–3 |
รองชนะเลิศ
ปี | รายการ | คู่แข่งในรอบชิงชนะเลิศ | ผลการแข่งขัน |
2005 | เซี่ยงไฮ้ | ดาวิด นาบัลเดียน | 6–7(4–7), 6–7(11–13), 6–2, 6–1, 7–6(7–3) |
2012 | ลอนดอน | นอวาก จอกอวิช | 6–7(6–8), 5–7 |
2014 | ลอนดอน | นอวาก จอกอวิช | ขอถอนตัว |
2015 | ลอนดอน | นอวาก จอกอวิช | 3–6, 4–6 |
เอทีพี ทัวร์ มาสเตอร์ 1000
แก้เข้าชิงชนะเลิศ 50 รายการ (ชนะเลิศ 28, รองชนะเลิศ 22 )
ผลลัพธ์ | ปี | รายการ | พื้นสนาม | คู่แข่งในรอบชิงชนะเลิศ | ผลการแข่งขัน |
---|---|---|---|---|---|
รองชนะเลิศ | 2002 | ไมแอมี | คอนกรีต | มารัต ซาฟิน | 3–6, 3–6, 6–3, 4–6 |
ชนะเลิศ | 2002 | ฮัมบวร์ค | ดิน | มารัต ซาฟิน | 6–1, 6–3, 6–4 |
รองชนะเลิศ | 2003 | โรม | ดิน | เฟลิกซ์ มันติลล่า | 5–7, 2–6, 6–7(8–10) |
ชนะเลิศ | 2004 | อินเดียนเวลส์ | คอนกรีต | ทิม เฮนแมน | 6–3, 6–3 |
ชนะเลิศ | 2004 | ฮัมบวร์ค (2) | ดิน | กิลเยร์โม กอเรีย | 4–6, 6–4, 6–2, 6–3 |
ชนะเลิศ | 2004 | มอนทรีออล | คอนกรีต | แอนดี ร็อดดิก | 7–5, 6–3 |
ชนะเลิศ | 2005 | อินเดียนเวลส์ (2) | คอนกรีต | เลย์ตัน ฮิวอิต | 6–2, 6–4, 6–4 |
ชนะเลิส | 2005 | ไมแอมี | คอนกรีต | ราฟาเอล นาดัล | 2–6, 6–7(4–7), 7–6(7–5), 6–3, 6–1 |
ชนะเลิศ | 2005 | ฮัมบวร์ค (3) | ดิน | ริชาร์ด กาสเกต์ | 6–3, 7–5, 7–6(7–4) |
ชนะเลิศ | 2005 | ซินซินแนติ | คอนกรีต | แอนดี ร็อดดิก | 6–3, 7–5 |
ชนะเลิศ | 2006 | อินเดียนเวลส์ (3) | คอนกรีต | เจมส์ เบลค | 7–5, 6–3, 6–0 |
ชนะเลิศ | 2006 | ไมแอมี (2) | คอนกรีต | อิวาน ลูบิซิช | 7–6(7–5), 7–6(7–4), 7–6(8–6) |
รองชนะเลิศ | 2006 | มงเต-การ์โล | ดิน | ราฟาเอล นาดัล | 2–6, 7–6(7–2), 3–6, 6–7(5–7) |
รองชนะเลิศ | 2006 | โรม | ดิน | ราฟาเอล นาดัล | 7–6(7–0), 6–7(5–7), 4–6, 6–2, 6–7(5–7) |
ชนะเลิศ | 2006 | มอนทรีออล (2) | คอนกรีต | ริชาร์ด กาสเกต์ | 2–6, 6–3, 6–2 |
ชนะเลิศ | 2006 | มาดริด | คอนกรีต (ในร่ม) | เฟอร์นานโด กอนซาเลส | 7–5, 6–1, 6–0 |
รองชนะเลิศ | 2007 | มงเต-การ์โล | ดิน | ราฟาเอล นาดัล | 4–6, 4–6 |
ชนะเลิศ | 2007 | ฮัมบวร์ค (4) | ดิน | ราฟาเอล นาดัล | 2–6, 6–2, 6–0 |
รองชนะเลิศ | 2007 | มอนทรีออล | คอนกรีต | นอวาก จอกอวิช | 6–7(2–7), 6–2, 6–7(2–7) |
ชนะเลิศ | 2007 | ซินซินแนติ (2) | คอนกรีต | เจมส์ เบลค | 6–1, 6–4 |
รองชนะเลิศ | 2007 | มาดริด | คอนกรีต (ในร่ม) | ดาบิด นัลบาเดียน | 6–1, 3–6, 3–6 |
รองชนะเลิศ | 2008 | มงเต-การ์โล | ดิน | ราฟาเอล นาดัล | 5–7, 5–7 |
รองชนะเลิศ | 2008 | ฮัมบวร์ค | ดิน | ราฟาเอล นาดัล | 5–7, 7–6(7–3), 3–6 |
ชนะเลิศ | 2009 | มาดริด (2) | ดิน | ราฟาเอล นาดัล | 6–4, 6–4 |
ชนะเลิศ | 2009 | ซินซินแนติ (3) | คอนกรีต | นอวาก จอกอวิช | 6–1, 7–5 |
รองชนะเลิศ | 2010 | มาดริด | ดิน | ราฟาเอล นาดัล | 4–6, 6–7(5–7) |
รองชนะเลิศ | 2010 | มอนทรีออล | คอนกรีต | แอนดี มาร์รี | 5–7, 5–7 |
ชนะเลิศ | 2010 | ซินซินแนติ (4) | คอนกรีต | มาร์ดี ฟิช | 6–7(5–7), 7–6(7–1), 6–4 |
รองชนะเลิศ | 2010 | เซี่ยงไฮ่ | คอนกรีต | แอนดี มาร์รี | 3–6, 2–6 |
ชนะเลิศ | 2011 | ปารีส | คอนกรีต (ในร่ม) | โจ-วิลฟรีด ซองกา | 6–1, 7–6(7–3) |
ชนะเลิศ | 2012 | อินเดียนเวลส์ (4) | คอนกรีต | จอห์น อิสเนอร์ | 7–6(9–7), 6–3 |
ชนะเลิศ | 2012 | มาดริด (3) | ดิน | โทมัส เบอร์ดิช | 3–6, 7–5, 7–5 |
ชนะเลิศ | 2012 | ซินซินแนติ (5) | คอนกรีต | นอวาก จอกอวิช | 6–0, 7–6(9–7) |
รองชนะเลิศ | 2013 | โรม | ดิน | ราฟาเอล นาดัล | 1–6, 3–6 |
รองชนะเลิศ | 2014 | อินเดียนเวลส์ | คอนกรีต | นอวาก จอกอวิช | 6–3, 3–6, 6–7(3–7) |
รองชนะเลิศ | 2014 | มงเต-การ์โล | ดิน | สตาน วาวรีงกา | 6–4, 6–7(5–7), 2–6 |
รองชนะเลิศ | 2014 | มอนทรีออล | คอนกรีต | โจ-วิลฟรีด ซองกา | 5–7, 6–7(3–7) |
ชนะเลิศ | 2014 | ซินซินแนติ (6) | คอนกรีต | ดาวิต เฟร์เรร์ | 6–3, 1–6, 6–2 |
ชนะเลิศ | 2014 | เซี่ยงไฮ้ | คอนกรีต | จิล ซิมง | 7–6(8–6), 7–6(7–2) |
รองชนะเลิศ | 2015 | อินเดียนเวลส์ | คอนกรีต | นอวาก จอกอวิช | 3–6, 7–6(7–5), 2–6 |
รองชนะเลิศ | 2015 | โรม | ดิน | นอกวาก จอกอวิช | 4–6, 3–6 |
ชนะเลิศ | 2015 | ซินซินแนติ (7) | คอนกรีต | นอวาก จอกอวิช | 7–6(7–1), 6–3 |
ชนะเลิศ | 2017 | อินเดียนเวลส์ (5) | คอนกรีต | สตาน วาวรีงกา | 6–4, 7–5 |
ชนะเลิศ | 2017 | ไมแอมี (3) | คอนกรีต | ราฟาเอล นาดัล | 6–3, 6–4 |
รองชนะเลิศ | 2017 | มอนทรีออล | คอนกรีต | อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ | 3–6, 4–6 |
ชนะเลิศ | 2017 | เซี่ยงไฮ้(2) | คอนกรีต | ราฟาเอล นาดัล | 6–4, 6–3 |
รองชนะเลิศ | 2018 | อินเดียนเวลส์ | คอนกรีต | ฆวน มาร์ติน เดล ปอร์โต | 4–6, 7–6(10–8), 6–7(2–7) |
รองชนะเลิศ | 2018 | ซินซินแนติ | คอนกรีต | นอวาก จอกอวิช | 4–6, 4–6 |
รองชนะเลิศ | 2019 | อินเดียนเวลส์ | คอนกรีต | ด็อมมินิค ทีม | 6–3, 3–6, 5–7 |
ชนะเลิศ | 2019 | ไมแอมี (4) | คอนกรีต | จอห์น อิสเนอร์ | 6–1, 6–4 |
- ตัวเลขในวงเล็บคือจำนวนครั้งที่ชนะเลิศในแต่ละรายการ
กีฬาโอลิมปิกประเภทเดี่ยว
แก้ลงแข่งขัน 2 ครั้ง (คว้า 1 เหรียญเงิน)
ผลลัพธ์ | ปี | รายการ | พื้นสนาม | คู่แข่ง | ผลการแข่งขัน |
---|---|---|---|---|---|
อันดับ 4 | 2000 | การแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ปี 2000 รอบชิงเหรียญทองแดง | คอนกรีต | อาร์นอด์ ดิ ปาสเควล | 6–7(5–7), 7–6(9–7), 3–6 |
เหรียญเงิน | 2012 | การแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ปี 2000 รอบชิงชนะเลิศ | หญ้า | แอนดี มาร์รี | 2–6, 1–6, 4–6 |
กีฬาโอลิมปิกประเภทคู่
แก้รอบชิงชนะเลิศ (คว้า 1 เหรียญทอง)
ปี | รายการ | พื้นสนาม | เล่นคู่กับ | คู่แข่งในรอบชิงชนะเลิศ | ผลการแข่งขัน |
2008 | กีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 ณ กรุงปักกิ่ง รอบชิงชนะเลิศ | คอนกรีต | สตานิสลาส วาวรีงกา | ไซมอน แอสพีลิน โทมัส โยฮันส์สัน |
6–3, 6–4, 6–7(4–7), 6–3 |
ประเภททีม (ทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์)
แก้ชนะเลิศเดวิสคัพ 1 สมัย และฮอพแมน คัพ 3 สมัย
ผลลัพธ์ | วันที่ | รายการ | พื้นสนาม | ทีม | สมาชิกทีม | คู่แข่ง | สมาชิกทีมคู่แข่ง | ผลการแข่งขัน |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ชนะเลิศ | มกราคม 2001 | ฮอพแมน คัพ, เพิร์ท , ออสเตรเลีย | คอนกรีต (ในร่ม) | สวิตเซอร์แลนด์ | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์, มาร์ติน่า ฮินกิส |
สหรัฐอเมริกา | โมนิก้า เซเลส, ยัน-ไมเคิล แกมบิลล์ |
ชนะ 2–1 |
ชนะเลิศ | พฤศจิกายน 2014 | เดวิส คัพ, เลียล , ฝรั่งเศส | ดิน (ในร่ม) | สวิตเซอร์แลนด์ | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์, สตาน วาวรีงกา, มาร์โค คิวดิเนลลี, ไมเคิล ลัมเมอร์ |
ฝรั่งเศส | โจ-วิลฟรีด ซองกา, กาแอล มงฟิล์ส, จูเลียง เบนน์โต, รีชาร์ กัสกุแอ |
ชนะ 3–1 |
ชนะเลิศ | มกราคม 2018 | ฮอพแมน คัพ, เพิร์ท , ออสเตรเลีย (2) | คอนกรีต (ในร่ม) | สวิตเซอร์แลนด์ | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์, เบลินดา เบนซิช |
เยอรมนี | อันเจลีค แคร์เบอร์, อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ |
ชนะ 2–1 |
ชนะเลิศ | มกราคม 2019 | ฮอพแมน คัพ, เพิร์ท , ออสเตรเลีย (3) | คอนกรีต (ในร่ม) | สวิตเซอร์แลนด์ | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์, เบลินดา เบนซิช |
เยอรมนี | อันเจลีค แคร์เบอร์, อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ |
ชนะ 2–1 |
เงินรางวัล
แก้ปี | รายการ แกรนด์สแลม |
รายการ ATP |
รวม | เงินรางวัล ($) |
อันดับของ เงินรางวัล |
---|---|---|---|---|---|
1998 | 0 | 0 | 0 | $27,305 | – |
1999 | 0 | 0 | 0 | $225,139 | 97 |
2000 | 0 | 0 | 0 | $623,782 | 27 |
2001 | 0 | 1 | 1 | $865,425 | 14 |
2002 | 0 | 3 | 3 | $1,995,027 | 4 |
2003 | 1 | 6 | 7 | $4,000,680 | 1 |
2004 | 3 | 8 | 11 | $6,357,547 | 1 |
2005 | 2 | 9 | 11 | $6,137,018 | 1 |
2006 | 3 | 9 | 12 | $8,343,885 | 1 |
2007 | 3 | 5 | 8 | $10,130,620 | 1 |
2008 | 1 | 3 | 4 | $5,886,879 | 2 |
2009 | 2 | 2 | 4 | $8,768,110 | 1 |
2010 | 1 | 4 | 5 | $7,698,289 | 2 |
2011 | 0 | 4 | 4 | $6,369,576 | 3 |
2012 | 1 | 5 | 6 | $8,584,842 | 2 |
2013 | 0 | 1 | 1 | $3,203,637 | 6 |
2014 | 0 | 5 | 5 | $9,343,988 | 2 |
2015 | 0 | 6 | 6 | $8,682,892 | 2 |
2016 | 0 | 0 | 0 | $1,527,269 | 22 |
2017 | 2 | 5 | 7 | $13,054,856 | 2 |
2018 | 1 | 3 | 4 | $8,629,233 | 4 |
2019 | 0 | 4 | 4 | $8,716,975 | 3 |
2020 | 0 | 0 | 0 | $714,792 | 36 |
2021 | 0 | 0 | 0 | $647,655 | 34[186] |
ตลอดอาชีพ* | 20 | 83 | 103 | $130,594,339 | 2 [187] |
- * Statistics correct ข้อมูลเมื่อ 16 กันยายน ค.ศ. 2021[update].
เชิงอรรถ
แก้- ↑ ในปี 2004, 2006 และ 2007 ถือเป็นฤดูกาลที่เฟเดอเรอร์ประสบความสำเร็จมากที่สุดในอาชีพ เขาคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้สามรายการได้แก่ ออสเตรเลียนโอเพน, วิมเบิลดัน และ ยูเอสโอเพน รวมทั้งแชมป์ เอทีพี ไฟนอล
- ↑ การแข่งขันเริ่มขึ้นในปี 1900 เป็นการแข่งขันรายการนานาชาติของทีมชายที่ใหญ่ที่สุดของสหพันธ์เทนนิสนานาชาติ เปรียบเสมือนการแข่งขันชิงแชมป์โลก ผู้จัดงานได้อธิบายไว้ว่าเป็น "World Cup of Tennis" และผู้ชนะจะเรียกว่าทีมแชมป์โลก
- ↑ เป็นรายการที่นำนักเทนนิสชื่อดังจากทีมรวมดารายุโรป มาแข่งกับทีมรวมดาราโลกจำนวน 3 วัน ทีมที่ได้คะแนนรวมมากกว่าจะเป็นฝ่ายชนะ
อ้างอิง
แก้- ↑ "Player profile – Roger Federer". ATP World Tour.
- ↑ Comesipronuncia.it, Patrizia Serra-. "How to pronounce Roger Federer - PronounceItRight". www.pronounceitright.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Roger Federer loses his crown". SWI swissinfo.ch (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Thompson, Jackson. "Novak Djokovic breaks Roger Federer's all-time record for most weeks ranked No. 1 by The ATP". Insider (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Roger Federer | Overview | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Roger Federer | Titles and Finals | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Roger Federer is 'certainly the greatest player of all time', says tennis federation chief after retirement announcement". Sky News (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "The Greatest Swiss Sportspersons Every Geek Will Recognize". www.thefamouspeople.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ Keystone-SDA/ts (2020-12-14). "Federer and Schneider named Switzerland's greatest athletes". SWI swissinfo.ch (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Is 20-time major champion Roger Federer the greatest athlete of all time?". Fox Sports (ภาษาอังกฤษ). 2018-01-29.
- ↑ "February 2, 2004: Roger Federer becomes world number 1 for the first time". Tennis World USA (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Roger Federer beats Robin Soderling to win French Open tennis". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2009-06-07.
- ↑ Steinberg, Jacob (2017-01-29). "Roger Federer beats Rafael Nadal to win Australian Open men's final – as it happened". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2021-11-27.
- ↑ "A look back at Roger Federer's record 8 Wimbledon titles". FOX Sports (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Roger Federer becomes oldest world No1 after beating Robin Haase". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2018-02-16.
- ↑ "Winners Archive Roger Federer". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-07-13. สืบค้นเมื่อ 2008-07-10.
- ↑ "ATP Awards Honour Roll | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ CNN, Aimee Lewis. "How Roger Federer inspires global devotion". CNN.
- ↑ "Roger Federer wins 18th consecutive Fans' Favourite Singles Player award". Tennis World USA (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Roger Federer: The World's 100 Most Influential People". Time (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Swiss stamp honours Federer" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2007-04-11. สืบค้นเมื่อ 2021-11-27.
- ↑ CNN, Ravi Ubha. "Roger Federer gets own Swiss coin...and you can buy it". CNN.
- ↑ Badenhausen, Kurt. "How Roger Federer Makes $71 Million A Year". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Badenhausen, Kurt. "Roger Federer Tops World's Highest-Paid Athletes: Tennis Ace Scores First No. 1 Payday With $106 Million". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Reporter, Staff (2014-06-22). "Roger Federer steps down as ATP Player Council's President". www.sportskeeda.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Profile". rogerfederer.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-11. สืบค้นเมื่อ 2007-07-19.
- ↑ "Roger Federer - Ask Roger". web.archive.org. 2007-02-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-25. สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ ""FC Basel Was My Club as a Kid, And It is Still Today" - Roger Federer". EssentiallySports. 2020-02-14.
- ↑ 29.0 29.1 29.2 "Ask Roger - Official Website". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-25. สืบค้นเมื่อ 2007-03-02.
- ↑ "Favorite Football Team". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-03-02.
- ↑ "Favorite Vacation Spot". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-03-02.
- ↑ Dawson, Alan. "Everything tennis icon Roger Federer eats and drinks for breakfast, lunch, and dinner". Business Insider (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Roger Federer: 'You have to love chocolate if you're...'". Tennis World USA (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "That time when Roger Federer played the piano". Tennis World USA (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Stauffer, René; ebrary, Inc (2007). The Roger Federer story [electronic resource] : quest for perfection. Internet Archive. [Washington, D.C.] : New Chapter Press. ISBN 978-0-942257-39-7.
- ↑ 36.0 36.1 "ประวัติRoger Federer ( โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ )". oknation.nationtv.tv.
- ↑ Staff, Tcrn (2019-11-27). "Roger Federer Reminisced about His Time in Costa Rica in 1996 ⋆ The Costa Rica News". The Costa Rica News (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Home". www.rogerfederer.com.
- ↑ "Home". www.rogerfederer.com.
- ↑ "History". www.rogerfederer.com.
- ↑ "Roger Federer | Biography, Championships, & Facts". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Roger Federer lost two Olympic Games matches (August 17, 2004)". Tennis Majors (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2020-08-17.
- ↑ "Roger Federer | Biography, Championships, & Facts". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Roger Federer | Biography, Championships, & Facts". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Tennis365 (2018-04-09). "T365 Recall: Rafael Nadal's brilliant 81-match winning streak on clay". Tennis365 (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ Macur, Juliet (2007-06-11). "Nadal Defeats Federer for French Open Title". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2021-05-22.
- ↑ Branch, John (2007-07-09). "Federer Wins His Fifth Wimbledon Title in a Row". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2021-05-22.
- ↑ "Federer battles to win fourth straight U.S. Open". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2007-09-09.
- ↑ "Roger Federer | Titles and Finals | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Australian Open: Djokovic crushes Federer to seal final spot". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2008-01-25.
- ↑ "Why was 'the greatest match' so great?". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-05-22.
- ↑ "Why was 'the greatest match' so great?". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-05-22.
- ↑ "Remembering Rafael Nadal's Iconic Rise to World No.1 Ranking For the First Time". EssentiallySports. 2020-08-18.
- ↑ "Roger Federer | Titles and Finals | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Roger Federer On Epic Wimbledon Final vs. Andy Roddick: 'I Couldn't Control The Match At All' | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ Clarey, Christopher (2009-07-05). "Federer Outlasts Roddick to Win Record 15th Major Title". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2021-05-23.
- ↑ "The US Open 2008 - Grand Slam Tennis - Official Site by IBM". web.archive.org. 2009-02-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-22. สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Roger Federer VS Juan Martin del Potro | Head 2 Head | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ Press, Associated (2010-07-26). "Roger Federer hires Paul Annacone as coach to help revive career". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Roger Federer surges to victory over Rafa Nadal at World Tour Finals". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2010-11-28.
- ↑ "Australian Open 2011: Novak Djokovic beats Roger Federer to reach final". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2011-01-27.
- ↑ Faulconer, Matt. "Djokovic vs. Federer: Score and Recap of 2011 US Open Tennis Semifinal". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "2011 Flashback: Roger Federer's Historic Sixth Nitto ATP Finals Crown | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Federer reclaims number one spot". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-05-23.
- ↑ Block, Benjamin J. "Roger Federer Passes Sampras for the All-Time Record of Weeks Spent at No. 1". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Murray wins gold, breaks through vs. Federer". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2012-08-05.
- ↑ McCarry, Patrick. "9 pictures celebrating Roger Federer's 300 weeks as World Number 1". The42 (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Back injury sparks latest Federer slump". www.abc.net.au (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย). 2013-07-25.
- ↑ "Edberg joins Federer coaching team". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-05-23.
- ↑ Steinberg, Jacob (2014-01-24). "Rafael Nadal beats Roger Federer to reach Australian Open final – as it happened | Jacob Steinberg". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.
- ↑ "2014 Wimbledon F: Novak Djokovic vs Roger Federer Detailed Stats | Tennis Abstract". www.tennisabstract.com.
- ↑ "Coupe Davis : Roger Federer explique avoir pensé à l'abandon contre Richard Gasquet". Eurosport (ภาษาฝรั่งเศส). 2015-01-19.
- ↑ "Federer's Desire Propes Him To 1000 Match Wins | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Federer wins 1000th match to win Brisbane crown". Tennishead (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2018-10-24.
- ↑ "Roger Federer Joins The 9000 Aces Club | Video Search Results | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Federer To Begin 2016 With New-Look Team | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ Reuters (2016-02-03). "Roger Federer faces a month on sidelines after knee surgery". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Raonic beats Federer in Wimbledon semis". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.
- ↑ "Federer outlasts Wawrinka to make Australian Open final". www.abc.net.au (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย). 2017-01-26.
- ↑ "The official website of the Laver Cup". Laver Cup (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "2017 Results & Leaderboard | Scores & Results". Laver Cup (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-26. สืบค้นเมื่อ 2021-08-05.
- ↑ "Goffin Shocks Federer In London | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Borna Coric defeats Roger Federer in absorbing Gerry Weber Open final in Halle". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Simpson, Christopher. "Laver Cup 2018: Roger Federer, Team Europe Beat Team World to Win Title". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Zverev Beats Federer To Reach Final In London | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Federer wins landmark 100th ATP title". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-05-25.
- ↑ "Tribute: Federer Records 1200th Match Win In Madrid | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Alexander Zverev Defeats Milos Raonic To Clinch Laver Cup For Team Europe | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Tsitsipas to face Thiem for title". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-05-25.
- ↑ "What does Roger Federer's knee surgery mean for his 2020 Slam chances?". Tennis.com.
- ↑ Clarey, Christopher (2020-06-10). "Roger Federer Won't Play in 2020 After Knee Surgery". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2021-05-25.
- ↑ ""A Long Process" - Roger Federer Gives an Update on Knee Surgery". EssentiallySports. 2020-10-31.
- ↑ "After 405 Days, Roger Federer Makes Winning Return In Doha | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Federer withdraws from French Open after gruelling third-round match". France 24 (ภาษาอังกฤษ). 2021-06-06.
- ↑ "Felix Auger-Aliassime Stuns 'Idol' Roger Federer To Reach Halle QF | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Roger Federer Soars Past Lorenzo Sonego Into 18th Wimbledon Quarter-final | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Djokovic, Federer into Wimbledon quarter-finals as first-timers shine". Deccan Herald (ภาษาอังกฤษ). 2021-07-06.
- ↑ Amako, Uche (2021-07-07). "Roger Federer crashes out of Wimbledon to impressive Hubert Hurkacz in straight sets". The Telegraph (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0307-1235. สืบค้นเมื่อ 2021-07-07.
- ↑ Clarey, Christopher (2021-07-07). "Roger Federer Loses at Wimbledon, Maybe for the Last Time". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2021-07-08.
- ↑ Ballard, Stuart (2021-07-08). "Roger Federer confirms retirement talks after Wimbledon defeat to Hubert Hurkacz". Express.co.uk (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ CNN, Kevin Dotson. "Tennis great Roger Federer pulls out of Olympics, citing knee injury". CNN.
- ↑ Pantorno, Joe. "Roger Federer withdraws from 2021 US Open | amNewYork". www.amny.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Federer set to miss Australian Open". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-11-28.
- ↑ Press, Associated. "Roger Federer Shares Latest on Timeline for His Return to Tennis". Sports Illustrated (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Roger Federer set to to play Laver Cup followed by Basel with Rafael Nadal ready for his return in Madrid". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ News, A. B. C. "Tennis legend Roger Federer announces retirement". ABC News (ภาษาอังกฤษ).
{{cite web}}
:|last=
มีชื่อเรียกทั่วไป (help) - ↑ Press, The Associated (2022-09-23). "Roger Federer loses his final match in doubles alongside Rafael Nadal". NPR (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-09-24.
- ↑ "Roger Federer Announces End Of Historic Career | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "BBC World Service - Sportshour - Federer on his fading hopes of Olympic singles gold". BBC (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
- ↑ "Federer crashes out" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2004-08-17. สืบค้นเมื่อ 2021-12-04.
- ↑ agencies, Staff and (2008-08-14). "Olympics: Roger Federer beaten by James Blake in men's tennis singles". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "London Olympics: Roger Federer on why he won't be Swiss flag bearer". Los Angeles Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2012-07-26.
- ↑ "Federer & Wawrinka out of doubles". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-12-04.
- ↑ "Injured Federer out for rest of season". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-12-04.
- ↑ Robinson, Joshua (2021-07-14). "Why Tennis Stars Are Saying No to the Tokyo Olympics". Wall Street Journal (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0099-9660. สืบค้นเมื่อ 2021-12-04.
- ↑ "Davis Cup - Federer hands Switzerland first Davis Cup title". www.daviscup.com.
- ↑ "Roger Federer makes victorius Davis Cup debut at 17". Tennis World USA (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Davis Cup - Draws & Results". www.daviscup.com.
- ↑ "Davis Cup - Tie - Details". web.archive.org. 2016-03-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-22. สืบค้นเมื่อ 2021-12-04.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Davis Cup - Teams". www.daviscup.com.
- ↑ "Davis Cup - Wawrinka to lead Swiss charge". www.daviscup.com.
- ↑ "Federer to play Davis Cup tie against US | Tennis News". NDTVSports.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Roger Federer's back problem leaves Davis Cup final on knife edge | Kevin Mitchell". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2014-11-20.
- ↑ "Federer finishes the job to clinch Swiss Davis Cup triumph". The Independent (ภาษาอังกฤษ). 2014-11-24.
- ↑ "Davis Cup - Federer hands Switzerland first Davis Cup title". www.daviscup.com.
- ↑ "Davis Cup - Teams". www.daviscup.com.
- ↑ "Hopman Cup: Hingis ends jinx". www.telegraph.co.uk.
- ↑ "Why Perth's in Roger's heart". PerthNow (ภาษาอังกฤษ). 2017-12-30.
- ↑ Sunderland, Tom. "Hopman Cup 2017: Friday Tennis Scores, Results and Final Schedule". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Reuters (2018-01-06). "Roger Federer in fine form as Switzerland seal third Hopman Cup victory". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Federer wins record third Hopman Cup crown". ABC News (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย). 2019-01-05. สืบค้นเมื่อ 2021-12-04.
- ↑ "Roger Federer Biography And Detailed Game Analysis". Online Tennis Instruction - Learn How To Play Your Best Tennis, Free Tennis Tips (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ Clarey, Christopher (2006-06-25). "Coming to grips with today's forehand". International Herald Tribune. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-04-27. สืบค้นเมื่อ 2007-03-02.
- ↑ Bhargav (2020-05-29). "Roger Federer has one of the best single-handed backhands, says Dirk Nowitzki". www.sportskeeda.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Roger Federer Leads The Way, But Dominic Thiem, Stefanos Tsitsipas Will Carry On The One-Handed Backhand | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ Jonathan. "Roger Federer Backhand Analysis - peRFect Tennis". perfect-tennis.com/ (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
- ↑ Biswas, Rudra (2021-03-14). ""Reading Roger Federer's serve is almost impossible" - Richard Krajicek on why the Swiss' serve is one of the best in the world". www.sportskeeda.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ Posnanski, Joe (2015-09-11). "Outstanding service". NBC SportsWorld (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Service Speed Comparison:Federer, Roddick, Sampras". สืบค้นเมื่อ 2007-05-31.
- ↑ "Roger Federer Equipment". สืบค้นเมื่อ 2007-03-07.
- ↑ "Ask Roger; Official Website". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-03-02.
- ↑ Hodgkinson, Mark (2006-06-27). "More jacket than racket for Federer". Telegraph.co.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-02. สืบค้นเมื่อ 2007-09-05.
- ↑ "Roger Federer-Sponsors". rogerfederer.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-17. สืบค้นเมื่อ 2007-06-20.
- ↑ "Gillette Winners". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-11. สืบค้นเมื่อ 2007-09-28.
- ↑ "Roger Federer: 'Uniqlo offered better post-career benefits than Nike' - SportsPro Media". www.sportspromedia.com.
- ↑ "เลือก Uniqlo : Deal ใหม่ปลายอาชีพที่พา Federer ยังมั่งคั่งหลังเลิกเล่น". Marketeer Online (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2018-07-18.
- ↑ www.mainstand.co.th. "ข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ : ทำไม เฟเดอเรอร์ ถึงทิ้ง Nike ที่อยู่ด้วยกันกว่า 20 ปี หันมาซบ UNIQLO?". www.mainstand.co.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-03. สืบค้นเมื่อ 2021-06-03.
- ↑ "Roger Federer | Bio | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Roger Federer And His Incredible Records On Grass Courts". EssentiallySports. 2020-02-28.
- ↑ Boyden, Alex. "Medvedev about beating Federer and Djokovic's record of 17 finals in a row | Tennis Tonic - News, Predictions, H2H, Live Scores, stats". tennistonic.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Ultimate Tennis Statistics - Most Consecutive Weeks at ATP No. 1". www.ultimatetennisstatistics.com.
- ↑ Rossingh, Danielle. "At 36, Roger Federer Becomes Oldest No. 1 In Tennis". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Jack Kramer: Federer is the best I have ever seen". The Observer. 2007-06-24. สืบค้นเมื่อ 2007-07-15.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ "Roger Federer defeats Rafael Nadal to reach 12th Wimbledon final". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Roger Federer's 100: 10 Memorable Match Wins At Wimbledon | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Wimbledon: Roger Federer Becomes Oldest Quarter-Finalist In Modern Era | Tennis News". NDTVSports.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Federer wins 400th career Grand Slam match". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2019-05-31.
- ↑ "Roger Federer's Grand Slam Finals History". Love Tennis Blog (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2020-06-19.
- ↑ "Roger Federer | Bio | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Champions & Cities". Nitto ATP Finals.
- ↑ "Roger Federer has never retired from a professional match - he's played 1,511 times". GiveMeSport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2020-01-28.
- ↑ Flanagan, Martin (2008-07-12). "Federer v Nadal as good as sport gets". The Age (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Federer-Nadal rivalry as good as it gets". ESPN.com.
- ↑ "Roger Federer VS Rafael Nadal | Head 2 Head | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Djokovic Beats Federer: How The Wimbledon 2019 Final Was Won | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Roger Federer VS Novak Djokovic | Head 2 Head | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Roger Federer VS Andy Murray | Head 2 Head | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Andy Murray beats Roger Federer to win Olympic gold for Great Britain". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2012-08-05.
- ↑ "Roger Federer VS Andy Roddick | Head 2 Head | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ Staff, Guardian (2009-07-05). "Roger Federer wins Wimbledon after epic Andy Roddick battle". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Amako, Uche (2019-06-28). "Andy Roddick reveals classy Roger Federer story after Wimbledon 2009 final 'devastation'". Express.co.uk (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Roger Federer VS Lleyton Hewitt | Head 2 Head | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ York, Stephen Bierley in New (2004-09-13). "Tennis: Federer wins US Open". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-25. สืบค้นเมื่อ 2021-05-18.
- ↑ "Roger Federer Foundation". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-11. สืบค้นเมื่อ 2007-03-02.
- ↑ IANS (2017-11-25). "Tennis star Roger Federer gets new title: Dr Federer". Business Standard India. สืบค้นเมื่อ 2021-06-12.
- ↑ "Roger Federer Foundation | Educate a Child". educateachild.org.
- ↑ "Tennis stars rally for UNICEF's tsunami relief". UNICEF.com. 2005-01-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-14. สืบค้นเมื่อ 2007-03-02.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ Dolan, Sabine (2006-04-03). "UNICEF's newest Goodwill Ambassador, tennis star Roger Federer, hits an ace for children". UNICEF.com. สืบค้นเมื่อ 2007-03-02.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ Africa, Match for. "Roger Federer welcomes Bill Gates, Savannah Guthrie, and Jack Sock in San Jose for the Match for Africa 5 to benefit children's education in Africa". www.prnewswire.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Roger Federer". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Federer new world's highest paid athlete". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.
- ↑ https://sportskhabri.com/top-10-richest-tennis-players-2020/
- ↑ "Roger Federer Net Worth". Celebrity Net Worth (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2020-03-27.
- ↑ Online, Manager. "ชำแหละมูลค่านอกสนาม ลุคแพงของ "โรเจอร์ เฟเดอเรอร์" นักกีฬาเป๋าตุงที่สุด พ.ศ. นี้ | Manager Online". LINE TODAY.
- ↑ "Federer 2021 current prize money ranking" (PDF). สืบค้นเมื่อ 3 May 2021.
- ↑ "Federer career prize money ranking" (PDF). สืบค้นเมื่อ 31 May 2021.
แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม
แก้หนังสือ
แก้- Bowers, Chris (2007). Fantastic Federer: The Biography of the World's Greatest Tennis Player. John Blake. ISBN 978-1-84454-407-3.
- Stauffer, René (2007). The Roger Federer Story: Quest for Perfection. New York: New Chapter Press. ISBN 978-0-942257-39-7.
วีดิทัศน์
แก้- Wimbledon Classic Match: Federer vs Sampras. Standing Room Only, DVD release date: 31 October 2006, run time: 233 minutes, ASIN B000ICLR98.
- Wimbledon 2007 Final: Federer vs. Nadal (2007). Kultur White Star, DVD release date: 30 October 2007, run time: 180 minutes, ASIN B000V02CU0.
- Wimbledon–The 2008 Finals: Nadal vs. Federer. Standing Room Only, DVD release date: 19 August 2008, run time: 300 minutes, ASIN B001CWYUBU.