อาหารไทยประเภทแกง เป็นอาหารที่มีความหลากหลาย และมีความแตกต่างไปในแต่ละภาค โดยเอกลักษณ์ร่วมกันของอาหารประเภทนี้คือใส่น้ำพริกแกงที่ประกอบด้วยพริก กะปิ และเครื่องแกงอื่น ๆ

ประวัติ แก้

ปรากฏคำว่า "แกง" ในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย เช่น จารึกอุทิศสิ่งของถวายแด่พระภิกษุ ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ปรากฏคำว่า "หม๋เขาหม๋แก." หรือ "หม้อข้าวหม้อแก(ง)" และใน จารึกเจดีย์พิหาร ด้านที่ 2 พ.ศ. 1850 กล่าวถึงการถวาย "หม๋เฃาหม๋แกง" อุทิศแด่พระวิหาร เป็นต้น จะเห็นได้ว่าคนในสมัยสุโขทัยมีอาหารประเภทแกงเป็นกับข้าวด้วย แต่ไม่ระบุรายละเอียดว่าเป็นแกงชนิดใด[1] อย่างไรก็ดีมีการสันนิษฐานว่าน่าจะมีการรับประทาน "แกงป่าปลาช่อน" เนื่องจากเป็นการปรุงอาหารให้สุกโดยการต้มและการใช้สมุนไพรนั้นมีมานานมากแล้ว เป็นสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นหาได้ง่าย[2]

ในโคลงทวาทศมาส วรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้น ปรากฏหลักฐานว่าสมัยนั้นมีการปรุงปลาดุกด้วยการนำมาแกงแล้ว ดังความบางตอนว่า[3]

๏ แขยงพิษครั้นต้องไม่ คือดุก รฤๅ
ครั้นเมื่อกลืนกลแกง เกี่ยงก้าง

ในหลักฐานสมัยสมเด็จพระนารายณ์ กล่าวถึงการปรุงแกงโดยพ่อครัวไทย มีการใช้เครื่องเทศหลายชนิดเป็นส่วนผสมในการปรุง สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของวัฒนธรรมแขก ในการใช้เครื่องเทศปรุงอาหารในแกงของชนชั้นสูงได้เด่นชัด ดังที่นีกอลา แฌร์แวซ กล่าวว่า

"... แต่ถึงเนื้อจะดีอย่างไร พ่อครัวคนสยามก็มักจะท้าให้เสียรสไปด้วย เครื่องแกงที่เขาปรุงขึ้น แกงทุกชนิดเขาจะใส่บอระมานกุ้งเน่า คนสยามเรียกว่ากะปิ (Capy) เรียกกันพื้น ๆ ว่า Balachan (เป็นภาษามลายู บาลาจัน แปลว่า กะปิ) มีกลิ่นเหม็นเน่า น่าคลื่นไส้ส้าหรับผู้ที่ไม่เคยได้กลิ่นเช่นนั้น พวกพ่อครัวอ้างว่ามันท้าให้มี รสชาติน่ากินขึ้น น้ำแกงทุกชนิดที่ว่าดี ๆ นั้นประกอบด้วยเกลือ, พริกไทย, ขิง, อบเชย, กานพลู, กระเทียม, หอมขาว, จันทน์เทศกับผักกลิ่นฉุนๆ อีกหลายชนิด พร้อมกับกุ้งป่นเปียกอย่างที่ว่านั้น"[4]

แกงภาคเหนือ แก้

  • แกงกระด้าง – เป็นแกงทางภาคเหนือ ใส่ขาหมู เมื่อแกงเย็นจะแข็งตัวด้วยไขมันจากขาหมู
  • แกงแค – เป็นแกงผักแบบหนึ่งของภาคเหนือ ใส่ผักหลายชนิดรวมกัน นิยมใช้ผักพื้นบ้านตามฤดูกาลแต่ไม่ใส่ผักที่มีกลิ่นหรือเปื่อยง่าย มีกลิ่นจักค่านและมะแขว่นเป็นเอกลักษณ์[5] ใช้เนื้อสัตว์ในการแกงได้หลายชนิด เช่น หมู ไก่ วัว หอยขมและกบ
  • แกงฮังเล – เป็นแกงเนื้อชนิดหนึ่งของภาคเหนือ รสชาติออก เปรี้ยว เค็ม หวาน น้ำขลุกขลิก ใส่ขิง น้ำมะขามเปียก กระเทียมดอง ถั่วลิสง น้ำตาลอ้อย[6]
  • แกงโฮะ – เป็นแกงทางภาคเหนือ คำว่า โฮะ แปลว่า รวม คือการนำเอาอาหารหลายๆ อย่างมารวมกัน เช่น แกงฮังเล ห่อนึ่งไก่ แกงจืด แต่งกลิ่นด้วยผงฮังเลหรือมาซาลา
  • แกงส้ม แบบภาคเหนือ นิยมใช้เนื้อปลา แกงกับผักต่างๆ เช่น ก้านคูน ใบมันเทศ มะรุม หน่อไม้ดอง ยอดมะพร้าวอ่อน ได้รสเปรี้ยวจาก ส้มป่อย มะเขือเทศ มะนาวหรือมะกรูด[7]
  • แกงอ่อม แบบภาคเหนือ นิยมใช้เนื้อวัวและเครื่องในวัว เป็นส่วนผสมหลัก บ้างใช้แต่เครื่องใน แต่งกลิ่นด้วยเครื่องเทศหลากชนิด นิยมใช้เลี้ยงแขกตามเทศกาลต่างๆ
  • อุ๊กไก่หรืออุ๊บไก่ เป็นแกงไก่แบบภาคเหนือชนิดหนึ่ง รสชาติจัดจ้าน หอมสมุนไพรและเครื่องเทศ บางสูตรนิยมใส่ผงฮังเลหรือผงมาซาลา
  • จอผักกาด เป็นแกงผักแบบหนึ่งของภาคเหนือ ใช้ผักกวางตุ้งที่กำลังออกดอก หรือเรียกว่า ผักกาดจ้อน หรือผักกาดดอก ปรุงรสด้วยถั่วเน่าแข๊บย่างไฟ

แกงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แก้

  • แกงลาว – เป็นอาหารพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใส่น้ำคั้นจากใบย่านาง
  • แกงอ่อม เป็นแกงแบบอีสาน มีกลิ่นสมุนไพรหลัก 3 ชนิด คือ ต้นหอม ผักชีลาว และใบแมงลัก มีน้ำแกงขลุกขลิก[8]
  • แกงเปรอะ

แกงภาคกลาง แก้

 
แกงเขียวหวาน
 
แกงเผ็ดเป็ดย่าง
  • แกงจืด – เป็นแกงที่ไม่ใส่น้ำพริกแกง ใส่เครื่องแต่เพียงรากผักชี กระเทียม พริกไทยเป็นหลัก
  • แกงเลียง - เป็นแกงที่ใส่น้ำพริกที่เผ็ดด้วยพริกไทย
  • แกงคั่ว - เป็นชื่อของแกงแบบภาคกลางที่ใส่กะทิอย่างหนึ่ง เครื่องปรุงหลักเป็นผัก อาจใส่ปลาย่างผสมลงในน้ำพริกแกงเพื่อให้ข้นขึ้น มีสองแบบคือแกงคั่วแดง น้ำพริกใส่พริกแห้ง แกงคั่วขาว น้ำพริกใส่พริกสด แกงที่คั่วที่เน้นเนื้อสัตว์มักแกงกับหอย เช่น แกงคั่วหอยขม แกงคั่วหอยแครง[9]
  • แกงเผ็ด เป็นแกงใส่กะทิอีกแบบของภาคกลาง เครื่องปรุงหลักเป็นเนื้อสัตว์ น้ำพริกแกงมักผสมเครื่องเทศเช่น ผักชี ยี่หร่าเพื่อดับคาว มักเป็นแกงที่ได้รับอิทธิพลจากแกงแบบตะวันออกกลางหรืออินเดีย[10]
  • แกงเทโพ - เป็นแกงเผ็ดชนิดหนึ่ง ใส่กะทิ ผักบุ้งและหมูสามชั้นเป็นส่วนประกอบที่สำคัญแต่แกงเทโพดั้งเดิมนั้นใส่ปลาเทโพเท่านั้น
  • แกงเขียวหวาน - เป็นแกงใส่กะทิ น้ำแกงเป็นสีเขียวเพราะใช้พริกสีเขียวทำน้ำพริกแกง บางครั้งใส่ใบพริกในน้ำพริกแกงด้วย ใส่ใบมะกรูด และใบโหระพาลงในน้ำแกงเพื่อแต่งกลิ่น
  • แกงส้ม เป็นแกงที่ไม่ใส่กะทิ มีรสเปรี้ยว
  • แกงชักส้ม – เป็นแกงโบราณ ลักษณะคล้ายแกงส้ม แต่จะปรุงรสด้วยน้ำมะกรูดและใส่ใบมะกรูด [11]น้ำพริกแกงประกอบด้วย พริกแห้ง หอม กระเทียม กะปิ
  • แกงคั่วส้ม - เป็นแกงส้มที่ใส่กะทิ
  • แกงบวน – เป็นแกงพื้นบ้านของภาคกลาง มีเครื่องในเป็นเครื่องปรุงหลัก น้ำแกงออกสีเขียวด้วยใบตะไคร้หรือใบมะตูม น้ำพริกแกงประกอบด้วย พริกไทย หอม กระเทียม ปลาเค็ม ปลาฉลาดย่าง กะปิ
  • แกงนพเก้า - เป็นแกงโบราณของไทย ใส่ผัก 9 ชนิด ผักที่นิยมใช้โดยทั่วไปคือข้าวโพดอ่อน ชะอม มะเขือยาว หน่อไม้รวก ยอดฟักทองสะตอ หรือผักอื่น ๆ ตามชอบ ลักษณะคล้ายแกงเผ็ด น้ำพริกแกงประกอบด้วย พริกแห้ง เกลือ ข่า ตะไคร้ ผิวมะกรูด พริกไทยดำและกะปิ [12]
  • แกงป่า - เป็นแกงเผ็ดที่ไม่ใส่กะทิ
  • แกงละเวง – เป็นแกงโบราณ ใส่กะทิและมันกุ้ง น้ำพริกแกงประกอบด้วย พริกแห้ง หอม กระเทียม กะปิ
  • แกงร้อน – เป็นแกงโบราณที่ดัดแปลงมาจากสุกี้ของจีน ใส่วุ้นเส้น น้ำพริกแกงประกอบด้วย กุ้งแห้ง หอมแดง พริกไทย กะปิ
  • แกงหอง – แกงพื้นบ้านทางภาคตะวันออก ใส่หน่อไม้ ดอกไม้จีนและเครื่องพะโล้ มักแกงกับหมู
  • หมูชะมวง – แกงพื้นบ้านของภาคตะวันออก ไม่ใส่กะทิ ปรุงรสเปรี้ยวด้วยใบชะมวง น้ำพริกแกงประกอบด้วยพริกแห้ง พริกไทย กะปิ ข่า กระเทียม ตะไคร้
  • ต้มโคล้ง - เป็นต้มที่ปรุงรสเปรี้ยวด้วยน้ำมะขามเปียก[13]
  • แกงบอน - เป็นแกงที่ส่วนผสมหลักคือต้นบอน
  • ต้มส้ม - เป็นต้มที่มีรสเปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ดพริกไทย มีรสของกะปิ นิยมต้มกับปลา ใส่ขิงซอยและต้นหอม[14]
  • แกงอ่อม แบบภาคกลาง เป็นแกงใส่กะทิ นิยมแกงกับของขม เช่นใบยอ มะระ

แกงภาคใต้ แก้

  • แกงสมรมเป็นแกงใส่กะทิ น้ำขลุกขลิก ใช้ผักและส่วนผสมนานาชนิดมาผสมกัน
  • แกงไตปลา – เป็นแกงทางภาคใต้ มีไตปลาเป็นเครื่องปรุงสำคัญ มีทั้งแบบที่ใส่และไม่ใส่กะทิ น้ำพริกแกงประกอบด้วย พริกขี้หนูแห้ง กระเทียมพริกไทยเม็ด หอมแดง ข่าตะไคร้ ขมิ้น ผิวมะกรูด
  • แกงเหลือง - เป็นแกงส้มแบบภาคใต้ น้ำพริกแกงประกอบด้วย พริกแห้ง เกลือ ตะไคร้ กระเทียม ขมิ้น กะปิ ปรุงรสเปรี้ยวด้วยส้มแขก น้ำแกงมีสีเหลือง[15]
  • แกงตอแมะ – เป็นแกงพื้นบ้านของชาวไทยเชื้อสายมลายูทางภาคใต้ น้ำพริกแกงประกอบด้วย ขมิ้น พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง เม็ดบาลาบา เม็ดซาหวี เม็ดผักชี แต่งกลิ่นด้วยใบสมุยเทศ
  • แกงซาหยอก – เป็นแกงพื้นบ้านทางภาคใต้ โดยต้มกะทิใส่ ตะไคร้ พริก หอมแดง เกลือ เนื้อสัตว์ที่ใช้เป็นกุ้งแห้ง
  • แกงขี้ดี เป็นแกงไตปลาแบบหนึ่งทางภาคใต้ ลักษณะเหมือนแกงไตปลาโดยทั่วไปแต่จะใช้ไตปลาที่ทำจากปลากระดี่ หมักจนมีรสเปรี้ยว รสออกขมมากกว่าแกงไตปลา[16]
  • แกงเคยปลา เป็นแกงทางภาคใต้ ใส่เคยปลาหรือกะปิที่ทำจากปลา กลิ่นคาวน้อยกว่าแกงไตปลา[17]
  • แกงตูมี้ เป็นแกงที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมมุสลิมทำให้แกงนี้มีส่วนผสมเครื่องเทศหลากหลายชนิด
  • จอแหร้ง เป็นแกงกะทิชนิดหนึ่ง รสชาติไม่จัดจ้านมาก

แกงที่ได้รับอิทธิพลจากชาติอื่น แก้

 
พะแนงเนื้อ
 
แกงมัสมั่น
  • แกงกะหรี่ ได้รับอิทธิพลจากอาหารอินเดีย ใส่ผงกะหรี่
  • แกงกุรุหม่าได้รับอิทธิพลจากอาหารอินเดีย คล้ายแกงกะหรี่ แต่น้ำน้อยกว่า ค่อนข้างแห้ง มักปรุงเป็นข้าวหมกไก่
  • พะแนง ได้รับอิทธิพลจากอาหารอินเดีย เป็นแกงน้ำแห้ง ไม่ใส่ผงกะหรี่
  • แกงมัสมั่น ได้รับอิทธิพลจากอาหารอินเดียผ่านทางมลายู ไม่ใส่ผงกะหรี่ รสชาติแกงมัสมั่นทางภาคกลางและภาคใต้จะต่างกัน
  • แกงบุ่มไบ่- เป็นแกงโบราณชนิดหนึ่ง ได้รับอิทธิพลจากชวา ลักษณะคล้ายแกงมัสมั่นแต่ใส่เครื่องเทศน้อยกว่า ผักที่นิยมใส่ได้แก่ หอมหัวใหญ่ พริกหยวก มะเขือเทศสีดา แตงร้าน แตงกวา มะเขือยาว มันฝรั่ง แต่จะใส่เพียงสองอย่างเท่านั้น[18] น้ำพริกแกงประกอบด้วย หอม กระเทียม ข่า ตะไคร้ พริกแห้ง ขมิ้นสด กะปิ เกลือ ลูกผักชีคั่ว ยี่หร่า ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ เม็ดในลูกกระวาน พริกไทย
  • แกงปัจยรี – เป็นแกงที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารอินเดีย ใส่กะทิและมะเขือยาว น้ำพริกแกงประกอบด้วย พริก หอมแดง กระเทียม ขิงแก่ ลูกผักชี ยี่หร่า ขมิ้นขาว พริกไทยป่น เกลือป่น
  • แกงกะหรี่แบบจีน ได้รับอิทธิพลจากอาหารจีน มีขายในเยาวราชเป็นแกงกะทิที่ไม่ใส่เครื่องเทศ แต่ใส่ผงกะหรี่แบบจีน น้ำพริกแกงประกอบด้วยพริกแห้ง เกลือ ข่า ตะไคร้ซอย ผิวมะกรูดหั่น รากผักชี พริกไทย กระเทียม หอมแดง ลูกผักชี ยี่หร่า เต้าเจี้ยวดำ
  • แกงจีนจ๊วน – ซัมเซียมอี่ เป็นแกงโบราณชนิดหนึ่ง ใส่กะทิ น้ำส้มซ่าและพริกหยวก น้ำพริกแกงประกอบด้วย พริกไทย ดอกจันทน์ ลูกจันทน์ เม็ดผักชี ยี่หร่า ลูกกระวาน กานพลู อบเชย พริกแห้ง หอมแดง กระเทียม ตะไคร้ รากผักชี ข่า กะปิ เกลือป่น
  • แกงระแวง เป็นแกงโบราณชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายพะแนง แต่ใช้น้ำพริกแกงเขียวหวานที่เติมขมิ้น ใส่ตะไคร้แต่ไม่ใส่ใบมะกรูด เนื้อวัวที่ใส่จะหั่นชิ้นใหญ่ เคี่ยวให้น้ำขลุกขลิก คาดว่าได้รับอิทธิพลมาจากมาเลเซียหรือชวา[19]

อ้างอิง แก้

  1. ธนภัทร พิริย์โยธินกุล. "วัฒนธรรมอาหารในวรรณคดีไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะอักษรศาสตร์. p. 39.
  2. ปิ่นอนงค์ ปานชื่น. "อาหารโบราณ 4 แผ่นดิน". กรุงเทพธุรกิจ.
  3. "โคลงทวาทศมาส". วัชรญาณ.
  4. นิโกลาส์ แชร์แวส. ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม : ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช. สันต์ ท. โกมลบุตร แปล. กรุงเทพฯ : สำนักศรีปัญญา, 2550. หน้า 100.
  5. ญดา ศรีเงินยวงและชนิรัตน์ สำเร็จ. แกงไทย. กทม. แสงแดด. 2556
  6. หนังสือโอชะแห่งล้านนา หน้า 192
  7. หนังสือโอชะแห่งล้านนา หน้า 129
  8. ญดา ศรีเงินยวงและชนิรัตน์ สำเร็จ. แกงไทย. กทม. แสงแดด. 2556
  9. ญดา ศรีเงินยวงและชนิรัตน์ สำเร็จ. แกงไทย. กทม. แสงแดด. 2556 หน้า 73
  10. ญดา ศรีเงินยวงและชนิรัตน์ สำเร็จ. แกงไทย. กทม. แสงแดด. 2556 หน้า 73
  11. อมินตรา ทินกร ณ อยุธยา. สำรับกับข้าวชาววังตำรับ ม.ล.พวง. กทม. อมรินทร์. 2553
  12. อาหารไทยตำรับเชฟ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กทม. แสงแดด. 2552. หน้า 34
  13. อาหารไทยริมทะเล. พิมพ์ครั้งที่ 2 .กทม. 2552. หน้า 56
  14. อาหารตมสั่ง จานเด็ดจากร้านอร่อยทั่วไทย. กทม. แสงแดด. 2552. หน้า 132
  15. อาหารไทยรสเผ็ด. พิมพ์ครั้งที่ 2. กทม. แสงแดด. 2550. หน้า 136
  16. ญดา ศรีเงินยวงและชนิรัตน์ สำเร็จ. แกงไทย. กทม. แสงแดด. 2556 หน้า 174
  17. ญดา ศรีเงินยวงและชนิรัตน์ สำเร็จ. แกงไทย. กทม. แสงแดด. 2556 หน้า 177
  18. รวมแกงอร่อยสุขภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กทม. อมรินทร์. 2551. หน้า 52
  19. สุมล ว่องวงศ์ศรี. จานอร่อยจากปู่ย่า สูตรโบราณ ๑๐๐ ปี. กทม. สารคดี. 2557.หน้า 159

แหล่งข้อมูลอื่น แก้