สุกียากี้

(เปลี่ยนทางจาก สุกี้)

สุกียากี้ หรือมักจะเรียกโดยย่อว่า สุกี้ เป็นอาหารที่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ เต้าหู้ ผัก วุ้นเส้น ไข่ กินกับน้ำจิ้ม เป็นอาหารยอดนิยมในเอเชียมีหลายแบบ ที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในเมืองไทยเป็นสุกี้แบบจีนและแบบญี่ปุ่น

สุกียากี้
ประเภทซุป
แหล่งกำเนิดประเทศญี่ปุ่น
ภูมิภาคเอเชียตะวันออก
ส่วนผสมหลักเนื้อ (มักจะใช้เนื้อวัวที่หั่นจนบาง), ผัก, ซอสถั่วเหลือง, น้ำตาล และ มิริง

สุกี้แบบจีน แก้

ในประเทศจีนเรียก หั่วกัว หรือแปลตามตัวอักษรคือ หม้อไฟ (จีนตัวย่อ: 火锅; จีนตัวเต็ม: 火鍋; พินอิน: huǒguō; แปลตรงตัว: "หม้อไฟ") ซึ่งมีหลากหลายตามภูมิภาค เช่น

  • สุกี้ไหหลำ ส่วนใหญ่ปรุงด้วยเนื้อวัว น้ำจิ้มใช้เต้าหู้ยี้ผสมน้ำมันงา เนื้อที่ใช้เป็นเนื้อหมักกับเต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้และผงพะโล้ เครื่องปรุงมีไม่มากแต่ที่ขาดไม่ได้คือหมึกแช่ ผักส่วนใหญ่เป็นผักกาดขาวและผักบุ้ง
  • สุกี้กวางตุ้ง นิยมรับประทานแบบหม้อไฟ มีเครื่องปรุงหลายแบบน้ำจิ้มใช้ซอสพริกเป็นเครื่องปรุงหลัก ไม่เน้นเนื้อหมัก แต่เน้นเนื้อสัตว์หลากหลายรูปแบบ สุกี้ในภัตตาคารในเมืองไทยเป็นแบบนี้
  • สุกี้เสฉวน เป็นสุกี้ที่มีชื่อเสียงของประเทศจีน เผ็ดด้วยหมาล่า (麻辣,หมาแปลว่าอาการชา ล่าแปลว่าเผ็ด) ที่เป็นเครื่องเทศเฉพาะของเสฉวน ซึ่งนอกจากรสเผ็ดแล้วยังทำให้เกิดอาการชา ๆ ด้วย
  • สุกี้กุ้ยหลิน เป็นสุกี้ที่มีชื่อเสียงของประเทศจีน ปรุงด้วยเห็ดและเครื่องยาจีน
  • สุกี้แต้จิ๋ว น้ำจิ้มจะใช้เต้าหู้ยี้ เน้นเนื้อไก่และหมู ลูกชิ้นปลาต่าง ๆ ผัก วุ้นเส้น ซึ่งคล้ายกับสุกี้กวางตุ้ง

สุกี้แบบญี่ปุ่น แก้

 
สุกี้ทำกินที่บ้าน
 

สุกียากี้ (ญี่ปุ่น: 鋤焼, すき焼き, スキヤキ) หรือเรียกโดยย่อว่า สุกี้ เป็นอาหารญี่ปุ่นชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายซุป โดยมีส่วนประกอบได้แก่ ผัก เห็ด ไข่ เต้าหู้ น้ำซุป และเนื้อสัตว์ซึ่งอาจจะเป็นเนื้อวัว เนื้อหมู หรืออาหารทะเล ใส่วัตถุดิบลงในหม้อเหล็กแบบแบนต้มรวมกันแล้วปิดฝาแล้วรอให้สุก จิ้มเนื้อกับไข่ดิบ สุกียากี้เป็นอาหารที่รับประทานพร้อมกันได้หลายคน สุกียากี้ต้มกับเหล้าหวานกับซอส ไม่ใช่น้ำ และไม่มีน้ำจิ้ม

สุกี้แบบอื่น แก้

  • แจ่วฮ้อนหรือจิ้มจุ่ม
  • สุกี้ไทพวน เป็นอาหารของชาวไทพวนในอำเภอปากพลีและอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก มีทั้งสุกี้น้ำ นิยมปรุงด้วยเนื้อวัว และสุกี้แห้ง น้ำจิ้มมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือใช้ถั่วทองและกะทิมาบดให้เข้ากัน ผัดกับเต้าหู้ยี้

อ้างอิง แก้

  • สุกี้. กทม. แสงแดด. 2553. หน้า 10-12, 47.