โหระพา (ชื่อวิทยาศาสตร์: Ocimum basilicum Linn.; วงศ์: LABIATAE; ชื่ออื่น: อิ่มคิมขาว, ฉาน - แม่ฮ่องสอน) เป็นไม้ล้มลุก สูง 0.5–1 เมตร ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยมมีกิ่งสีอ่อนม่วงแดง ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้าม รูปไข่หรือรูปรีกว้าง 3–4 เซนติเมตร ยาว 4–6 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนมน ขอบจะเป็นฟันเลื่อยห่าง ๆ ดอกสีขาวหรือชมพูอ่อน ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งยาว 7–12 เซนติเมตร ใบประดับสีเขียวอมม่วงจะคงอยู่เมื่อเป็นผล กลีบดอกโคนเชื่อมกัน ปลายแยกเป็น 2 ส่วน มีเกสรตัวผู้ 4 อัน.

โหระพา
ชนิดOcimum basilicum
พันธุ์Ocimum basilicum var. thyrsiflora[1]

ข้อมูลทั่วไป แก้

  • ชื่อวิทยาศาสตร์: Ocimum basilicum Linn.
  • ชื่อภาษาอังกฤษ: Sweet Basil, Thai Basil
  • ชื่ออื่น: ก้อมก้อ (ภาคเหนือและอีสาน), นางพญาร้อยชู้, โหระพาไทย, โหระพาเทศ, ห่อกวยซวย
  • วงศ์ : LABIATAEหรือ LAMIACEAE
  • แหล่งที่พบ: นิเวศวิทยาของโหระพามีถิ่นกำเนิดในเอเชียและแอฟริกา

ประโยชน์ แก้

ใบสด มีน้ำมันหอมระเหย เช่น methyl chavicol และ linalool ฯลฯ ขับลมแก้ท้องอืดเฟ้อ ใช้เป็นอาหาร แต่งกลิ่นอาหาร แต่งกลิ่นสำอางบางชนิด เมล็ดเมื่อแช่น้ำจะพองเป็นเมือก เป็นยาระบาย เนื่องจากไปเพิ่มจำนวนกากอาหาร (bulk laxative)

ใช้เป็นยาได้หลายชนิด เช่น ปรุงร่วมกับน้ำนมราชสีห์เพื่อกินเพิ่มน้ำนม ตำรวมกับแมงดาตัวผู้ใช้แก้พิษแมลงกัดต่อย นิยมรับประทานร่วมกับอาหารประเภท หลน ลาบ ยำ ส้มตำ ใส่ในแกงเขียวหวาน แกงเผ็ด[2] ก๋วยเตี๋ยวเรือ

ลักษณะพืช แก้

พืชล้มลุก อายุหลายปี สูง 0.3–0.9 เมตร ลำต้นกิ่งก้านเป็นเหลี่ยม สีม่วงหรือแดงเข้ม ใบคู่ เรียงตรงข้าม รูปไข่หรือวงรี ขอบใบหยักฟันเลื่อย ดอกสีขาว ออกที่ปลายยอดลำต้น ผลแห้ง มี 4 ผลย่อย เมล็ดเล็กเท่าเมล็ดงา สีน้ำตาลเข้ม โหระพาเป็นพืชพื้นเมืองของอินเดีย แต่แพร่หลายทั้งในเอเชียและตะวันตก ทางตะวันตกนิยมบริโภคใบแห้ง น้ำสลัดใช้โหระพาเป็นส่วนผสมเป็นน้ำสลัดที่คู่กับอาหารอิตาเลียน ในอเมริกาก็นิยมบริโภค โดยโหระพามาจากอียิปต์ ฝรั่งเศส และแคลิฟอเนีย มีกลิ่นแตกต่างกันกับของไทย สำหรับคุณสมบัติทางยาของโหระพาที่สุดยอดมาก ๆ ก็คือ ช่วยในการย่อยอาหาร แก้อาการจุกเสียด แน่นท้อง เพราะในโหระพาสามารถช่วยขับลมในลำไส้ได้เป็นอย่างดี แต่สำหรับบางคนที่เกลียดโหระพาละก็ คุณอาจจะแอบชอบผักชนิดนี้ขึ้นมาก็ได้ที่ได้รู้ว่าผักสวนครัวอย่างโหระพาไม่ได้มีดีแค่ใบ แต่เมล็ดยังสามารถนำมาแช่น้ำให้พองรับประทานเป็นยาแก้บิดได้อีกด้วย

การปลูกและขยายพันธุ์ แก้

  • พันธุ์การค้า-จัมโบ้ เป็นพันธุ์ที่มีใบใหญ่ นิยมทั่วไป พันธุ์พื้นเมืองมักมีกลิ่นหอมแรง
  • การเตรียมดิน ไถดินให้ลึก 30-40 ซม. ตากดิน 2 อาทิตย์ ย่อยดินให้ละเอียดใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ให้มีอินทรียวัตถุสูง ดินร่วน มีความชื้นในดินสูง และแสงแดดปานกลาง การปลูกใช้ระยะปลูก ระยะระหว่างต้น 25 ซม. ระหว่างแถว 50 ซม. ให้น้ำสม่ำเสมอ
  • ใช้กิ่งปักชำในกระบะทราย หรือแกลบดำชื้นในที่ ประมาณ 1 สัปดาห์ ก็ย้ายปลูกได้ หรือเพาะด้วยเมล็ด อาจใช้วิธีหว่านเมล็ดให้ทั่วแปลง ใช้ฟางกลบ หรือปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายดีแล้วโรยทับบาง ๆ รดน้ำตามทันทีด้วยบัวรดน้ำตาถี่ในกระบะเพาะชำ กล้าเจริญเติบโดสูงประมาณ 10-15 ซม. จึงย้ายปลูก
  • การเก็บเกี่ยว ใช้มีดคม ๆ ตัดกิ่งที่เจริญเติบโตเต็มที่ อายุเก็บเกี่ยว 50 วัน หลังหยอดเมล็ดสามารถเก็บเกี่ยวได้หลายครั้ง ผลผลิต 4-6 ตัน

การใช้ประโยชน์ แก้

ใบโหระพาเป็นแหล่งบีตา-แคโรทีน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการป้องกันโรค เช่น มะเร็ง ใบโหระพามีกลิ่นเฉพาะใช้เป็นผักสด ใช้ปรุงแต่งกลิ่นอาหารและมีธาตุแคลเซียมสูงด้วย

น้ำมันโหระพา แก้

น้ำมันโหระพา เป็นน้ำมันหอมระเหยที่พบในใบโหระพามีร้อยละ 1.5 องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญ คือ Methyl Chavicol และสกัดได้จากใบโหระพาพันธุ์ไทย โดยการกลั่นด้วยไอน้ำ เป็นของเหลวใสสีเหลืองอ่อน หรือเหลืองอมน้ำตาลปราศจากตะกอนและสารแขวนลอย ไม่มีการแยกชั้นของน้ำ มีกลิ่นเฉพาะตัว มีคุณสมบัติแก้จุกเสียดแน่นท้อง น้ำมันหอมระเหยช่วยการย่อยอาหารเนื้อสัตว์ ช่วยคลายการหดเกร็งของกล้ามเนื้อและช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย จึงช่วยให้สบายท้องขึ้น มีกลิ่นหอมหวาน มีคุณสมบัติช่วยให้สงบ มีสมาธิ ลดอาการซึมเศร้า ข้อควรระวังในการใช้คือ ทำให้เกิดอาการแพ้ง่าย สตรีมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยง

การใช้เป็นยาสมุนไพร แก้

โหระพามีสรรพคุณทางยาสมุนไพรที่หลากหลาย ใบสดของโหระพามีสรรพคุณแก้ท้องอืด เฟ้อ ขับลมจากลำไส้ ต้มดื่มแก้ลมวิงเวียน ช่วยย่อยอาหาร ใช้ตำพอกหรือประคบแก้ไขข้ออักเสบ แผลอักเสบ ต้มใบและต้นสดเข้าด้วยกัน ต้มเอาน้ำดื่ม แก้หวัด ขับเหงื่อ ถ้าเด็กปวดท้อง ใช้ใบโหระพา 20 ใบ ชงน้ำร้อนและนำมาชงนมให้เด็กดื่มแทนยาขับลมได้ ใบโหระพาแห้งต้มกับน้ำ มีสรรพคุณต้านเชื้อก่อโรค

โหระพาช้าง แก้

โหระพาช้าง กะเพราควาย กะเพราญวน จันทร์หอม เนียมตัน หรือเนียมยี่หร่า (ชื่อวิทยาศาสตร์: Ocimum gratissimum Linn.) เป็นไม้พุ่มสูงคล้ายโหระพาแต่มีขนาดใหญ่กว่า ใบโหระพาช้างมีข้อแตกต่างจากโหระพาเนื่องจากมีสารสำคัญในน้ำมันหอมระเหยต่างกัน ใบโหระพาช้างมียูจีนอลเป็นสารหลัก ทำให้ไม่นิยมใช้ประกอบอาหารเท่าโหระพา

อ้างอิง แก้

  1. Simon, James E.; Morales, Mario R.; Phippen, Winthrop B.; Vieira, Roberto Fontes; Hao, Zhigang (1999). Janick, Jules (บ.ก.). "Basil: A Source of Aroma Compounds and a Popular Culinary and Ornamental Herb". Perspectives on New Crops and New Uses. Alexandria, VA: ASHS Press: 499–505.
  2. อาหารจากสมุนไพร อร่อย สุขภาพดี. กทม. แม่บ้าน. มปป.หน้า 120

ดูเพิ่ม แก้