พระพรหมมังคลาจารย์ (ปั่น ปทุมุตฺตโร)

(เปลี่ยนทางจาก หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ)

พระพรหมมังคลาจารย์ (ปั่น ปทุมุตฺตโร) (11 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 – 10 ตุลาคม พ.ศ. 2550) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ท่านเป็นที่รู้จักในฐานะพระสงฆ์ผู้ปฏิรูปแนวทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ไทย โดยเฉพาะเด่นด้านปาฐกถาธรรมเทศนาธรรม ผู้เป็นสหธรรมิกร่วมอุดมการณ์คนสำคัญของพระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญโญ)[1] และผู้อุทิศชีวิตให้กับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจนวาระสุดท้ายของชีวิต ผู้รวบรวมจากทานธนบดีชน ผู้บริจาคกัปปิยะภัณฑ์สร้างอาคารสิ่งปลูกสร้างในสถานศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พระพรหมมังคลาจารย์

(ปั่น ปทุมุตฺตโร)
ชื่ออื่นปัญญานันทภิกขุ
ส่วนบุคคล
เกิด11 พฤษภาคม พ.ศ. 2454
อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ประเทศสยาม (96 ปี)
มรณภาพ10 ตุลาคม พ.ศ. 2550
โรงพยาบาลศิริราช
เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
นิกายมหานิกาย
การศึกษานักธรรมชั้นเอก
เปรียญธรรม 4 ประโยค
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ นนทบุรี
อุปสมบทพ.ศ. 2474
พรรษา76
ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์
หัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ 9
รองเจ้าคณะภาค 18

ประวัติ

แก้

ชาติกำเนิด

แก้

พระพรหมมังคลาจารย์กำเนิดที่ ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 เป็นบุตรของนายวัน เสน่ห์เจริญ เดิมมีนามว่า ปั่น เสน่ห์เจริญ หลังใช้ชีวิตฆราวาสจนมีอายุได้ 18 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอุปนันทนาราม จังหวัดระนอง โดยมีพระรณังคมุนีเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์จึงได้อุปสมบทเป็นภิกษุที่วัดนางลาด อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง โดยมีพระจรูญกรณีย์เป็นอุปัชฌาย์เมื่อปี พ.ศ. 2474

ศึกษาหาหลักธรรม

แก้

หลังจากอุปสมบทได้ไม่นาน ได้เดินทางไปศึกษาหาหลักธรรมในบวรพุทธศาสนาหลายจังหวัดที่มีสำนักเรียนธรรมะ เช่น นครศรีธรรมราช สงขลา และกรุงเทพมหานคร จนหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรีเป็นที่ 1 ของสังฆมณฑลภูเก็ต และสามารถสอบได้นักธรรมชั้นโท และเอกในปีถัดมาที่ จ.นครศรีธรรมราช จากนั้นท่านได้เดินทางไปศึกษาต่อด้านภาษาบาลีจนสามารถสอบเปรียญธรรม 4 ประโยค ที่สำนักเรียนวัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร แต่เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้หลวงพ่อต้องหยุดการศึกษาไว้เพียงเท่านั้น แล้วเดินทางกลับพัทลุงภูมิลำเนาเดิมและได้เริ่มแสดงธรรมในพื้นที่ต่าง ๆ ของภาคใต้ รวมทั้งเดินทางไปจำพรรษาที่วัดสีตวนารามและวัดปิ่นบังอร รัฐปีนังประเทศมาเลเซีย ในระหว่างที่จำพรรษาอยู่นี้ก็ได้ศึกษาทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีน เพื่อเป็นพื้นฐานในการเผยแพร่ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไป

เผยแพร่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ

แก้
  • พ.ศ. 2475 หลวงพ่อมีโอกาสร่วมเดินทางไปประเทศพม่า กับพระโลกนาถชาวอิตาลีสหายธรรม ร่วมเดินทางแสวงบุญไปประเทศอินเดียและทั่วโลกโดยผ่านทางประเทศพม่าด้วยเท้าเปล่าเพื่อเป็นพุทธบูชา แต่เมื่อเดินทางถึงประเทศพม่าก็ต้องเดินทางกลับ
  • ระหว่างปี พ.ศ. 2475-2476 หลวงพ่อได้มีโอกาสเดินทางไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศหลายประเทศ จนหลวงพ่อได้ชื่อว่า เป็นพระสงฆ์รูปแรกของไทยที่ได้เดินทางไปประกาศธรรมในภาคพื้นยุโรป

สหายธรรมของท่านพุทธทาสภิกขุ

แก้

พ.ศ. 2477 หลวงพ่อได้เดินทางไปจำพรรษากับพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ที่สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และร่วมเป็นสหายธรรมดำเนินการเผยแพร่หลักธรรมที่แท้จริงตามหลักคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ประกาศธรรมแก่ชาวบ้านที่เชียงใหม่

แก้
  • ในปี พ.ศ. 2492 หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ได้รับอาราธนานิมนต์ให้ไปจำพรรษาที่วัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่ และได้เริ่มแสดงธรรมในทุกวันอาทิตย์และวันพระที่พุทธนิคม จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกันนี้หลวงพ่อได้เขียนบทความต่าง ๆ ลงในหนังสือพิมพ์และเขียนหนังสือธรรมะขึ้นจำนวนหลายเล่ม นอกจากนี้ หลวงพ่อได้เดินทางไปประกาศธรรมแก่ชาวบ้าน ชาวเขาโดยใช้รถติดเครื่องขยายเสียง จนชื่อเสียงของหลวงพ่อดังกระฉ่อนไปทั่ว จังหวัดเชียงใหม่ ในนาม "ภิกขุปัญญานันทะ"
  • ในยุคนี้เองที่หลวงพ่อได้ก่อตั้งมูลนิธิเมตตาศึกษา ที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จ.เชียงใหม่ และบำเพ็ญศีล กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอีกมากมาย

วัดชลประทานรังสฤษฎ์

แก้
  • ในปี พ.ศ. 2502 ม.ล.ชูชาติ กำภู อธิบดีกรมชลประทาน ในสมัยนั้น ระหว่างที่ไปเยือนเชียงใหม่มีความประทับใจ ในลีลาการสอนธรรมะแนวใหม่ของหลวงพ่อ จึงเกิดความศรัทธาปสาทะในหลวงพ่อ และในขณะนั้นกรมชลประทานได้สร้างวัดใหม่ขึ้น ชื่อ "วัดชลประทานรังสฤษฎ์" ที่ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี จึงได้อาราธนาหลวงพ่อไปเป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่ พ.ศ. 2503
  • พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) ได้ดำเนินการเผยแพร่พระพุทธศาสนา โดยวิธีที่ท่านได้เริ่มปฏิวัติรูปแบบการเทศนาแบบดั้งเดิมที่นั่งเทศนาบนธรรมาสน์ถือใบลาน มาเป็นการยืนพูดปาฐกถาธรรมแบบพูดปากเปล่าต่อสาธารณชน พร้อมทั้งยกตัวอย่างเหตุผลร่วมสมัย ทันต่อเหตุการณ์ เป็นการดึงดูดประชาชนให้หันเข้าหาธรรมะได้เป็นเป็นอย่างมาก ซึ่งในช่วงแรก ๆ ได้รับการต่อต้านอยู่บ้าง แต่ต่อมาภายหลังการปาฐกถาธรรมแบบนี้กลับเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปจนถึงบัดนี้ เมื่อพุทธศาสนิกชนทราบข่าวว่า หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุจะไปปาฐกถาธรรมที่ใดก็จะติดตามไปฟังกันเป็นจำนวนมาก จนในที่สุดหลวงพ่อได้รับอาราธนาให้เป็นองค์แสดงปาฐกถาธรรมในสถานที่ต่าง ๆ และเทศนาออกอากาศทั้งทางสถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีวิทยุโทรทัศน์ต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน
  • นอกจากนี้ หลวงพ่อยังได้รับอาราธนาไปแสดงธรรมในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น และยังได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมและกล่าวคำปราศรัยในการประชุมองค์กรศาสนาของโลกเป็นประจำอีกด้วย
  • โดยที่หลวงพ่อท่านเป็นพระมหาเถระผู้มีชื่อเสียงของประเทศไทย ได้สร้างงานไว้มากมายทั้งด้านศาสนาสังคมสงเคราะห์ ตลอดจนงานด้านวิชาการ ดังนั้นหลวงพ่อจึงได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ได้รับรางวัลเกียรติคุณมากมาย และเป็นประธานในการดำเนินกิจกรรมทั้งที่เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาและสังคม เช่น สนับสนุนโครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างแดน เป็นประธานจัดหาทุนสร้างตึกโรงพยาบาลกรมชลประทาน 80 ปี (ปัญญานันทะ) และเป็นประธานในการดำเนินการจัดหาทุนสร้างวัดปัญญานันทาราม แม้ว่าคำสอนของหลวงพ่อจะเป็นคำสอนที่ฟังง่ายต่อการเข้าใจ แต่ลึกซึ้งด้วยหลักธรรมและอุดมการณ์อันหนักแน่นในพระรัตนตรัย หลวงพ่อปัญญานันทภิภขุ เป็นหนึ่งในบรรดาภิกษุผู้มีชื่อเสียง และเปี่ยมด้วยคุณธรรมเมตตาธรรม ผู้นำคำสอนในพระพุทธศาสนา ซึ่งเหมาะสมสำหรับชนทุกชั้นที่จะเข้าถึง หลวงพ่อเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่กล้าในการปฏิรูปพิธีกรรมทางศาสนา ของชาวไทยที่ประกอบพิธีกรรมหรูหรา ฟุ่มเฟือย โดยเปลี่ยนเป็นประหยัด มีประโยชน์และเรียบง่าย ดังนั้น หลวงพ่อจึงได้รับการขนานนามว่า "ผู้ปฏิรูปพิธีกรรมของชาวพุทธไทย" ในปัจจุบัน

ผลงานและเกียรติคุณ

แก้

งานด้านการปกครอง

แก้

งานด้านการศึกษา

แก้

งานด้านการเผยแผ่

แก้
  • พ.ศ. 2492-2502 เป็นองค์แสดงปาฐกถาธรรมประจำวันพระและวันอาทิตย์ ณ พุทธนิคม สวนพุทธธรรม วัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่
  • พ.ศ. 2500 เป็นประธานมูลนิธิ "ชาวพุทธมูลนิธิต้านโกง" จังหวัดเชียงใหม่
    • เป็นประธานก่อตั้งพุทธนิคม จ.เชียงใหม่
  • พ.ศ. 2503 เป็นองค์แสดงธรรมทางสถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีวิทยุโทรทัศน์
    • เป็นผู้ริเริ่มการทำบุญ ฟังธรรมในวันอาทิตย์ ณ วัดชลประทานรังสฤษดิ์
    • เป็นผู้ก่อตั้งทุนพิมพ์หนังสือเพื่อเผยแผ่ธรรมะแก่ประชาชน พ.ศ. 2520
    • เป็นผู้อบรมผู้ช่วยผู้พิพากษา
  • พ.ศ. 2525 รับเป็นองค์แสดงธรรมแก่วุฒิสมาชิก และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
  • พ.ศ. 2534 เป็นผู้ริเริ่ม ค่ายคุณธรรมแก่เยาวชน เรียกว่า "ค่ายพุทธบุตร" ในโรงเรียนต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย ฯลฯ
  • พ.ศ. 2536 จำพรรษา ณ วัดพุทธธรรม ชิคาโก สหรัฐอเมริกา

การปฏิบัติศาสนากิจในต่างประเทศ

แก้
  • พ.ศ. 2497 เดินทางเผยแผ่ธรรมรอบโลก
  • ช่วยเหลือกิจการพุทธศาสนา เผยแผ่ธรรมะในต่างประเทศ คือ ประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เยอรมัน
  • เป็นเจ้าอาวาสววัดพุทธธรรม วัดไทยในชิกาโก สหรัฐอเมริกา

งานด้านสาธารณูปการ

แก้
  • พ.ศ. 2516 เป็นประธานในการก่อสร้างกุฏิสี่เหลี่ยม เพื่อเป็นที่อยู่แก่พระภิกษุผู้บวชใหม่
  • พ.ศ. 2518 เป็นประธานในการก่อสร้างโรงเรียนพุทธธรรม
  • เป็นประธานในการก่อสร้างโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์
  • พ.ศ. 2537 เป็นประธานก่อสร้างกุฏิสองหลังเป็นกุฏิทรงไทยประยุกต์

งานด้านสาธารณประโยชน์

แก้
 
อาคารเรียนและปฏิบัติการศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (โรงพยาบาลชลประทาน)
 
ประติมากรรมไฟเบอร์กลาสลอยตัว รูปพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) ภายในชั้น 1 อาคารเรียนและปฏิบัติการศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน
  • พ.ศ. 2533 เป็นประธานหาทุนสร้าง "ตึก 80 ปี ปัญญานันทะ" ให้โรงพยาบาลชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
  • สร้างศูนย์ฝึกและปฏิบัติงาน มูลนิธิแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ที่ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • พ.ศ. 2534 บริจาคเงินสร้างอุโบสถวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) จังหวัดเชียงใหม่
  • พ.ศ. 2537 บริจาคเงินสร้างโรงอาหารแก่โรงเรียนประภัสสรรังสิต อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง
  • บริจาคเงินซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลวชิระ จังหวัดภูเก็ต
  • รับมอบที่ดินและเป็นประธานหาทุนสร้างและอุปถัมภ์ วัดปัญญานันทาราม จังหวัดปทุมธานี
  • บริจาคเงินเป็นทุนอาหารกลางวันเด็กนักเรียนในโรงเรียนท้องถิ่นที่ขาดแคลนต่าง ๆ หลายจังหวัด
  • ได้แสดงธรรมเพื่อหาเงินสบทบทุนในจัดสร้างอาคารเรียน 100 ปี โรงเรียนพัทลุง จังหวัดพัทลุง
  • แสดงธรรมเพื่อหาเงินสมบทในจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลพัทลุง จังหวัดพัทลุง
  • เป็นประธานหาทุนปรับปรุงและยกฐานะโรงพยาบาลชลประทานเป็นศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

งานพิเศษ

แก้
  • พ.ศ. 2503 เป็นองค์แสดงธรรมถวายสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ณ ตำหนักจิตรลดารโหฐาน
  • พ.ศ. 2518 เป็นองค์แสดงธรรมถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ ณ ศาลาการเปรียญ วัดชลประทานรังสฤษดิ์
  • เป็นองค์แสดงธรรมถวาย พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และ พระบรมวงศานุวงศ์ เนื่องในพระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์รามาธิบดีอันมีศักดิ์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
  • เป็นพระอุปัชฌาย์อุปสมบทแก่ช่าวต่างประเทศ ที่อุปสมบทในประเทศไทย เช่น ชาวอเมริกัน อังกฤษ ออสเตรเลีย เยอรมัน ญี่ปุ่น และศรีลังกา เป็นต้น
  • พ.ศ. 2529 ได้รับนิมนต์เข้าร่วมประชุมพุทธศาสนิกสัมพันธ์อาเชี่ยนเพื่อสันติภาพ ครั้งที่ 7 ที่ประเทศประชาธิปไตยประชาชนลาว (12th Asain Buddist Conference for Peace)
  • พ.ศ. 2536 ได้รับนิมนต์ไปร่วมประชุมและบรรยาย ในการประชุมสภาศาสนาโลก 1993 ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา (The 1993 Parliament of the world's Religion)

งานด้านวิทยานิพนธ์

แก้

ได้เขียนหนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาไว้มากมาย เช่น

  1. ทางสายกลาง
  2. คำถามคำตอบพุทธศาสนา
  3. คำสอนในพุทธศาสนา
  4. หน้าที่ของคนฉบับสมบูรณ์
  5. รักลูกให้ถูกทาง
  6. ทางดับทุกข์
  7. อยู่กันด้วยความรัก
  8. อุดมการณ์ของท่านปัญญา
  9. ปัญญาสาส์น
  10. ชีวิตและผลงาน
  11. มรณานุสติ
  12. ทางธรรมสมบูรณ์แบบ
  13. 72 ปี ปัญญานันทะ
  14. กรรมสนองกรรม เป็นต้น

เกียรติคุณที่ได้รับ

แก้
  • พ.ศ. 2520 ได้รับรางวัล "สังข์เงิน" จากสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ในฐานะพระภิกษุผู้เผยแผ่ธรรมะและศีลธรรมยอดเยี่ยมของประเทศไทย
  • พ.ศ. 2521 ได้รับรางวัล "นักพูดดีเด่น" ประเภทเผยแผ่ธรรม จากสมาคมฝึกพูดแห่งประเทศไทย
  • พ.ศ. 2525 ได้รับการคัดเลือกให้เป็นบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระศาสนา เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จากกรมการศาสนา โดยได้รับรางวัลและประกาศเกียรติคุณ 2 รางวัล คือ ประเภท ก.บุคคล และประเภท ข.สื่อสารมวลชน (รายการส่งเสริมธรรมะทางสถานีวิทยุโทรทัศน์)
  • พ.ศ. 2524 ได้รับปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาครุศาสตร์ จาก มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2531 ได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • พ.ศ. 2534 ได้รับปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • พ.ศ. 2536 ได้รับปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2536 ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ปรัชญาและศาสนา) จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • พ.ศ. 2537 ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • พ.ศ. 2548 ได้รับการยกย่องเป็นศิษย์เก่าดีเด่น เนื่องในโอกาสงานครบรอบ 100 ปี โรงเรียนพัทลุง จากโรงเรียนพัทลุง
  • พ.ศ. 2550 ได้รับยกย่องเชิดชู ในฐานะ "ผู้สูงอายุแห่งชาติ" ประจำปี 2550 ผู้มีผลงานดีเด่นคนแรก (รูปแรก) ของประเทศ

สมณศักดิ์ที่ได้รับ

แก้

มรณภาพ

แก้

มรณภาพ

แก้

พระพรหมังคลาจารย์ถึงแก่มรณภาพเมื่อเวลา 9.09 น. ในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ณ โรงพยาบาลศิริราช แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ด้วยเหตุติดเชื้อในกระแสโลหิต สิริรวมอายุได้ 96 ปี 5 เดือน พรรษา 76 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้พระราชทานโกศแปดเหลี่ยมและรับศพไว้ในพระราชานุเคราะห์

พระราชทานเพลิงศพ

แก้

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2560 (หลังจากบรรจุสรีระ 10 ปี) ณ วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี สรีรธาตุของหลวงพ่อปัญญา บรรจุอยู่ในโลงสีทอง ด้านหน้าโลง มีข้อความ"ร่างกายตายได้ แต่..งานอย่าให้ตาย"สื่อความหมาย ถึง คติธรรม ให้ข้อคิดกับศิษยานุศิษย์ที่มาร่วมงาน

เวลา 17.30 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานพระราชทานเพลิงสลายสรีรธาตุพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทมหาเถระ) ณ เมรุชั่วคราว วัดชลประทานรังสฤษดิ์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จด้วย

ในวันที่ 6 พ.ย.เวลา 08.00 น. เชิญอัฐิธาตุหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ไปบรรจุไว้ใต้ฐานเจดีย์อาคารปัญญานันทานุสรณ์ ณ วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี [7]

อ้างอิง

แก้
  • หนังสือชีวประวัติปัญญานันทภิกขุ (สนพ.ธรรมสภา)
  1. โสมชยา ธนังกุล. มรดกธรรมจากท่านพุทธทาส. แสตมป์ & สิ่งสะสม. ปีที่ 1 (+42) ฉบับที่ 3. พฤษภาคม 2555. ISSN 2229-2780. หน้า 48
  2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระรราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์สมณศักดิ์, เล่ม 78, ตอนที่ 6 ฉบับพิเศษ, 12 มกราคม 2499, หน้า 11
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระรราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์สมณศักดิ์, เล่ม 88, ตอนที่ 151 ฉบับพิเศษ, 31 ธันวาคม 2514, หน้า 4-5
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระรราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์สมณศักดิ์, เล่ม 104, ตอนที่ 253 ฉบับพิเศษ, 5 ธันวาคม 2530, หน้า 3
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระรราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์สมณศักดิ์, เล่ม 111, ตอนพิเศษ 57 ง, 7 ธันวาคม 2537, หน้า 3
  6. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม 122, ตอนที่ 9 ข, 3 มิถุนายน 2548, หน้า 1-4
  7. 'พระเทพฯ' เสด็จเป็นองค์ประธานพระราชทานเพลิงสลายสรีรธาตุหลวงพ่อปัญญา

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
ก่อนหน้า พระพรหมมังคลาจารย์ (ปั่น ปทุมุตฺตโร) ถัดไป
พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ)   พระธรรมโกศาจารย์
(พ.ศ. 2537 – พ.ศ. 2547)
  พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)