วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร (ไทยถิ่นเหนือ: )เป็นพระอารามหลวงในจังหวัดเชียงใหม่ มีชื่อเรียกหลายชื่อ ได้แก่ ราชกุฏาคาร วัดโชติการาม สร้างขึ้นในรัชสมัยพญาแสนเมืองมา พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย ไม่ปรากฏปีที่สร้างแน่ชัด สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้น่าจะสร้างในปี พ.ศ. 1928 - 1945 และมีการบูรณะมาหลายสมัย สำหรับพระธาตุเจดีย์มีขนาดความกว้างด้านละ 60 เมตร เป็นองค์พระเจดีย์ที่มีความสำคัญอีกองค์หนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ในปัจจุบันคงเหลือสภาพเพียงครึ่งองค์ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ในสมัยมหาเทวีจิรประภา รัชกาลที่ 15 แห่งราชวงศ์มังราย[1] มีการสันนิษฐานว่าเจดีย์อาจมีความสูงถึง 80 เมตร ซึ่งทำให้เป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในภาคเหนือในช่วงเวลาดังกล่าว
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร | |
---|---|
พระธาตุเจดีย์หลวงมุมมองจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ ในปี พ.ศ. 2565 | |
ที่ตั้ง | ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50200 |
ประเภท | พระอารามหลวง |
เจ้าอาวาส | พระราชวชิรสิทธิ (อัมพร กตปุญฺโญ ป.ธ.๓) |
ความพิเศษ | มีพระธาตุเจดีย์หลวงที่มีความสูงที่สุดในภาคเหนือ มีความสูงประมาณ 80 เมตร |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดเจดีย์หลวงสร้างอยู่กลางใจเมืองเชียงใหม่ ซึ่งแต่เดิมถือว่าเป็นศูนย์กลางทางการปกครองของอาณาจักรล้านนา ตั้งอยู่เลขที่ 103 ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ภายในวัดประมาณ 32 ไร่ 1 งาน 27 ตารางวา
ประวัติ
แก้จุลศักราช 289 (พ.ศ. 1874) พญาแสนภูโปรดให้สร้างเมืองเชียงแสน และต่อมาอีก 4 ปีทรงสร้างมหาวิหารขึ้นในกลางเมืองเชียงแสน[2] คือวัดเจดีย์หลวงองค์ที่ 1 ซึ่งอยู่ในวัดพระเจ้าตนหลวง เมืองเชียงแสน สมัยพระเจ้าแสนเมืองมาซึ่งเป็นโอรสของพญากือนา ขณะที่มีพระชนมมายุ 39 ปี พระองค์โปรดให้สร้างพระเจดีย์หลวงกลางเมืองเชียงใหม่ แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จดีก็สวรรคต พระราชินีผู้เป็นอัครมเหสีของพระองค์ ได้โปรดให้ทำยอดพระธาตุเจดีย์หลวงจนแล้วเสร็จ
ปี พ.ศ. 2055 พระเมืองแก้ว พร้อมด้วยชาวเมืองทั้งหลาย เอาเงินมาทำกำแพงล้อมพระธาตุเจดีย์หลวง 3 ชั้นได้เงิน 254 กิโลกรัม จากนั้นจึงได้เอาเงินมาแลกเป็นทองคำจำนวน 30 กิโลกรัม แล้วแผ่เป็นแผ่นทึบหุ้มองค์พระธาตุเจดีย์หลวง เมื่อรวมกับทองคำที่หุ้มองค์พระเจดีย์หลวงอยู่เดิม ได้น้ำหนักทองคำถึง 2,382.517 กิโลกรัม
ประมาณ พ.ศ. 2088 สมัยพระนางจิรประภามหาเทวี ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเชียงใหม่ จึงทำให้ยอดพระเจดีย์หลวงหักพังทลายลงมา หลังจากนั้นพระเจดีย์หลวงจึงถูกทิ้งให้ร้างมานานกว่า 400 ปี กระทั่งปี พ.ศ. 2423 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ได้รื้อพระวิหารหลังเก่าและสร้างวิหารหลวงขึ้นใหม่ด้วยไม้ทั้งหลัง
แต่เดิมวัดเจดีย์หลวง ชื่อ “โชติการามวิหาร” แปลว่า พระอารามที่มีแต่ความรุ่งเรืองสว่างไสว เนื่องจากเป็นสถานที่บรรจุพระเกศาธาตุ และพระธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่าในกาลครั้งหนึ่งเมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชส่งสมณะทูต 8 รูป ภายใต้การนำพระโสณะ และ พระอุตตะระ เข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในเขตสุวรรณภูมิ รวมทั้งภูมิภาคนี้ด้วย ได้นำเอาพระบรมธาตุมาบรรจุไว้ในองค์เจดีย์องค์เล็กสูง 3 ศอก ที่สร้างขึ้น ณ บริเวณอันเป็นที่ตั้งของพระธาตุเจดีย์หลวงในปัจจุบัน ในเวลานั้นมีชายผู้หนึ่งอายุ 120 ปี มีใจเลื่อมใส ได้แก้เอาผ้าห่มชุบน้ำมันจุดบูชา และได้ทำนายว่า ต่อไปในภายภาคหน้าตรงนี้จะเป็นอารามใหญ่ชื่อโชติการาม พวกลัวะทั้งหลายเอาข้าวของบูชาพระธาตุพระพุทธเจ้า จึงก่อเจดีย์หลังหนึ่งสูง 3 ศอกไว้เป็นที่สักการบูชา
นอกจากนี้ยังมีความหมายอีกนัยหนึ่งของคำว่า “โชติการาม” คือ เวลาที่มีการจุดประทีปโคมไฟไปประดับบูชาองค์พระธาตุเจดีย์หลวง จะปรากฏแสงสีสว่างไสว มองเห็นองค์พระเจดีย์คล้ายเชิงเทียนที่มีเปลวไฟลุกโชติช่วงสว่างไสว ดูแล้วมีความงดงามยิ่งนัก สามารถมองเห็นได้แต่ไกล
ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดเจดีย์หลวง” เนื่องจากในภาษาเหนือหรือคำเมือง หลวงแปลว่า “ใหญ่” หมายถึง พระธาตุเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่
พระธาตุเจดีย์หลวง
แก้พระธาตุเจดีย์หลวงนั้นถือว่าเป็นพระธาตุที่มีความสูงที่สุดในภาคเหนือ หรือล้านนา คือ สูงประมาณ 80 เมตร เมตร ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างประมาณด้านละ 60 เมตร ถูกสร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ถือว่าเป็นเจดีย์ที่มีความสำคัญที่สุดของเมืองเชียงใหม่
พระธาตุเจดีย์หลวงนั้นถูกสร้างขึ้นในในรัชสมัยพญาแสนเมืองมา (พ.ศ. 1928 - 1945) กษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่ปกครองเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้น สร้างขึ้นเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้พญากือนา พระราชบิดา ซึ่งมีตำนานเล่ามาว่า พญากือนาซึ่งได้สวรรคตไปแล้ว ได้ปรากฏตัวแก่พ่อค้าชาวเชียงใหม่ที่เดินทางไปค้าขายที่พม่า ให้มาบอกว่าแก่พญาแสนเมืองมาผู้เป็นโอรสว่า ให้สร้างเจดีย์ไว้ท่ามกลางเวียง ให้สูงใหญ่พอให้คนที่อยู่ไกล 2,000 วา สามารถมองเห็นได้ แล้วอุทิศบุญกุศลเหล่านี้ให้แก่พญากือนา เพื่อให้พญากือนานั้นสามารถไปเกิดในเทวโลกได้ แต่พญาแสนเมืองมาเสด็จสวรรคตเสียก่อน พระนางติโลกจุฑาเทวีผู้เป็นมเหสีได้สืบทอด เจตนารมณ์สร้างต่อ จนเสร็จในรัชสมัยพญาสามฝั่งแกน ใช้เวลาสร้าง 5 ปี
ต่อมาได้มีการปฏิสังขรณ์ในสมัยพญาติโลกราช (พ.ศ. 1984 - 2030) พระองค์โปรดให้หมื่นด้ามพร้าคต นายช่างใหญ่ทำการปฏิสังขรณ์ โดยมีพระมหาสวามีสัทธัมกิติ เจ้าอาวาสองค์ที่ 7 ของวัดโชติการาม (วัดเจย์หลวง) เป็นกำลังสำคัญในการควบคุมดูแล และประสานงาน การปฏิรูปและก่อสร้างครั้งนี้ได้สร้างขยายเจดีย์ให้ใหญ่กว่าเดิม ใช้เวลาในการก่อสร้าง 3 ปี จึงแล้วเสร็จ
ในสมัยมหาเทวีจิรประภา รัชกาลที่ 15 แห่งราชวงศ์มังราย เกิดพายุฝนตกหนัก แผ่นดินไหว พระมหาเจดีย์หลวงได้พังทลายลงมาเหลือเพียงครึ่งองค์ จากนั้นก็ถูกปล่อยทิ้งร้างไปนานกว่า 4 ศตวรรษ พระมหาเจดีย์หลวงที่เห็นปัจจุบันกรมศิลปกรเพิ่งจะบูรณปฏิสังขรณ์เสร็จไปเมื่อ พ.ศ. 2535
เจดีย์หลวงตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาลวิทยาของชาวลัวะ คติความเชื่อเรื่องจักรวาลวิทยา ในยุคแรกใช้อินทขีลเป็นสัญลักษณ์สะท้อนความเชื่อดั้งเดิมของชาวลัวะซึ่งได้ผสมผสานกับความเชื่อของพราหมณ์ ในระยะต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาก ได้ใช้พระธาตุเจดีย์หลวงเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาล คตินี้เห็นได้ชัดจากการสร้างเจดีย์หลวงให้สูงใหญ่ ตั้งอยู่กลางใจกลางเมือง เช่นเดียวกับเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางจักรวาล
ปัจจุบันบริเวณวัดเจดีย์หลวงกลางเมืองเชียงใหม่ มีสิ่งสักการะหลากหลายได้แก่ เจดีย์หลวง อินทขีล ต้นยาง กุมภัณฑ์ พระฤๅษี ซึ่งสะท้อนพัฒนาการคติจักรวาลได้ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่แวดล้อมของเมือง
คติเจดีย์หลวงในฐานะศูนย์กลางจักรวาล ปรากฏในคัมภีร์มหาทักษาเมือง กล่าวถึง การสร้างวัดสำคัญในเมืองเชียงใหม่ 9 แห่ง โดยกำหนดให้สอดคล้องกับชัยภูมิ และความเชื่อเรื่องทิศทั้ง 4 และทิศเฉียงอีก 4 เป็น 8 เมื่อทิศทั้ง 8 มาบรรจบกัน เกิดจุดศูนย์กลางรวมกันเป็น 9 ถือเป็นเลขมงคล ตำแหน่งจุดศูนย์กลางเมือง เป็นสะดือเมือง กำหนดให้เป็นเกตุเมืองตรงกับวัดเจดีย์หลวง วัดทั้ง 8 แห่งที่สร้างตามทักษาเมือง คือ[3]
บริวารเมือง | ทิศตะวันตก (ทิศปัจฉิม) | วัดสวนดอก |
อายุเมือง | ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (ทิศพายัพ) | วัดเจ็ดยอด |
เดชเมือง | ทิศเหนือ (ทิศอุดร) | วัดเชียงยืน |
ศรีเมือง | ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (ทิศอีสาน) | วัดชัยศรีภูมิ |
มูลเมือง | ทิศวะวันออก (ทิศบูรพา) | วัดบุพพาราม |
อุตสาหเมือง | ทิศตะวันออกเฉียงใต้ (ทิศอาคเนย์) | วัดชัยมงคล |
มนตรีเมือง | ทิศใต้ (ทิศทักษิณ) | วัดนันทาราม |
กาลกิณีเมือง | ทิศตะวันตกเฉียงใต้ (ทิศหรดี) | วัดตโปทาราม |
ช้างรอบพระธาตุเจดีย์หลวง
แก้มหาเจดีย์หลวงที่พระนางเจ้าติโลกจุฑาราชเทวีทรงก่อสร้างนั้น พระนางทรงให้ยกฉัตรยอดมหาเจดีย์ แล้วปิดด้วยทองคำ พร้อมทั้งเอาแก้ว 3 ลูก ใส่ยอดมหาเจดีย์นั้นไว้ ประดับด้วยโขงประตูทั้ง 4 ด้าน มี พระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่งในโขงทั้ง 4 ด้าน มีรูป พญานาคปั้นเต็มตัว 8 ตัว ตัวละ 5 หัว อยู่ใน 2 ข้างบันได รูปปั้นราชสีห์ 4 ตัว ตั้งอยู่ตรงสี่มุมของมหาเจดีย์ มีรูปปั้นช้างค้ำรายล้อมรอบองค์เจดีย์หลวงนั้นมี 28 เชือก แต่ในประวัติศาสตร์มีเพียง 8 เชือกเท่านั้น ที่มีการตั้งชื่อให้เฉพาะ ซึ่งชื่อช้าง 8 เชือกที่ล้อมเจดีย์หลวง นับจากนับตามลำดับตั้งแต่ตัวที่อยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (ทิศอีสาน) เวียนมาตามทิศตะวันออก มีดังนี้ [4]
ตัวที่ | 1 | เมฆบังวัน | ตัวที่ | 2 | ข่มพลแสน |
ตัวที่ | 3 | ดาบแสนด้าม | ตัวที่ | 4 | หอกแสนลำ |
ตัวที่ | 5 | ก๋องแสนแหล้ง | ตัวที่ | 6 | หน้าไม้แสนเปียง |
ตัวที่ | 7 | แสนเขื่อนก๊าน | ตัวที่ | 8 | ไฟแสนเต๋า |
การสร้างรูปปั้นช้างนั้น เป็นการส่งเสริมกำลังเมืองในทางด้านไสยศาสตร์เพื่อให้เมืองมีความแข็งแรงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีพิธีการสักการบูชาพญาช้างทั้ง 8 เชือก เพราะเชื่อว่า จะทำให้เกิดสวัสดิมงคล นำความสงบสุขมาสู่บ้านเมือง ศัตรูไม่กล้ามารุกรานย่ำยีเมืองได้ เพราะชื่อพญาช้างที่ตั้งขึ้นนั้น เป็นพลังอำนาจก่อเกิดเดชานุภาพ อิทธิฤทธิ์ ข่มขู่บดบัง ขวางกั้น กำจัด ปราบปรามอริราชศัตรูที่จะมารุกราน ให้แพ้ภัยแตกพ่ายหนีไปเอง ซึ่งแต่ละชื่อมีความหมายดังนี้ [5]
- เมื่อศัตรูยกพลเสนามารุกราน ล่วงล้ำเข้ามาในเขตพระราชอาณาจักร จะเกิดอาเพศ ท้องฟ้ามืดมิดด้วยเมฆหมอกปกคลุม ธรรมชาติวิปริตแปรปรวน น่ากลัวยิ่งนัก ทำให้ผู้รุกรานหวาดผวาภัยพิบัติ ตกใจกลัวแตกพ่ายหนีไป จึงได้ชื่อว่า “เมฆบังวัน”
- เมื่อผู้รุกรานยกทัพเข้ามาใกล้ แม้จะมีพลโยธาทหารกล้าเรือนแสน ก็จะเกิดอาการมึนเมาลืมหลง ไม่อาจครองสติยับยั้งอยู่ได้ ต้องระส่ำระส่าย แตกพ่ายหนีไป จึงได้ชื่อว่า “ข่มพลแสน”
- เมื่อข้าศึกศัตรูผู้รุกรานเข้ามา แม้จะมีกำลังพลมากมาย มีศาตรา มีด พร้า ด้ามคมเป็นแสน ๆ เล่ม ก็ไม่อาจเข้าใกล้ทำร้ายได้ มีแต่จะเกิดหวาดหวั่นขาดกลัวแตกหนีไป จึงได้ชื่อว่า “ดาบแสนด้าม”
- เมื่อข้าศึกศัตรูผู้รุกรานเข้ามารานรบ แม้จะมีกำลังพลกล้าหาญมากมาย มีศาสตราอันคมยาว หอกแหลนหลาวเป็นแสน ก็ไม่อาจเข้ามาราวีได้ จึงต้องแตกพ่ายหนีไป จึงได้ชื่อว่า “หอกแสนลำ”
- เมื่อข้าศึกศัตรูผู้รุกรานเข้ามา แม้จะมีกำลังพลจำนวนมาก มีอาวุธปืนเป็นแสนกระบอก ก็ไม่สามารถทำอันตรายได้ ต้องแตกพ่ายหนีไป จึงได้ชื่อว่า “ปืนแสนแหล้ง”
- เมื่อผู้รุกรานบุกรุกเข้ามา แม้จะมีกำลังพลมากมาย มีหน้าไม้คันธนูเป็นแสน ๆ ไม่สามารถทำอันตรายได้ ต้องแตกพ่ายหนีไป จึงได้ชื่อว่า “หน้าไม้แสนเกี๋ยง”
- เมื่อข้าศึกอาจหาญล้ำแดนเข้ามา แม้ด้วยกำลังพลหัตถีนึก กองทัพช้างมีเป็นแสนเชือก ก็ไม่อาจหักหาญเข้ามาได้ มีแต่จะอลม่านแตกตื่นแกหนีไปสิ้น จึงได้ชื่อว่า “แสนเขื่อนกั้น” (บางแห่งเป็น แสนเขื่อนก๊าน)
- เมื่อข้าศึกเข้ามาหมายย่ำยี ก็จะเกิดอาการร้อนเร่าเหมือนเพลิงเผาผลาญรอบด้าน เลยแตกพ่ายหนีไปด้วยความทุกข์ทรมาน จึงได้ชื่อว่า “ไฟแสนเต๋า”
สรุปประวัติพระเจดีย์หลวง
แก้พระเจดีย์หลวงสร้างขึ้นในรัชสมัยของพญาแสนเมืองมา เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้พญากือนา พระราชบิดา แต่สร้างไม่เสร็จ ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาพระนางเจ้าติโลกจุฑาราชเทวี พระมเหสีของพญาเมืองมา ก่อสร้างต่อจนแล้วเสร็จในรัชสมัยพญาสามฝั่งแกน เรียกกันว่า “กู่หลวง” พญาติโลกราช โปรดให้หมื่นด้ามพร้าคตเป็นนายช่างใหญ่ดำเนินการปฏิสังขรณ์รพระเจดีย์หลวง ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2021 ในรัชสมัยพระเจ้ายอดเชียงรายได้ปิดทองภายในซุ้มจรนัมของพระเจดีย์ หลวงทั้ง 4 ด้าน
ในรัชสมัยพระเจ้าเมืองแก้ว เมื่อ พ.ศ. 2046 ได้โปรดให้สร้างหอพระแก้ว และอัญเชิญพระแก้วมรกตลงมาประดิษฐาน สร้างมหาวิหาร ส่วนการบูรณะพระเจดีย์หลวงได้ดำเนินการเพียงเล็กน้อย
ในที่สุดเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ในปีพ.ศ. 2088 ในรัชสมัยพระนางเจ้ามหาเทวีจิรประภา ยอดพระเจดีย์หลวงก็พังทลายลงมา เหลือให้เห็นดังสภาพปัจจุบัน (ก่อนการบูรณะของกรมศิลปกร)
การประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
แก้วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 0ง วันที่ 8 มีนาคม 2478 พร้อมกับวัดอีกหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่[6]
ลำดับเจ้าอาวาส
แก้นับตั้งแต่วัดเจดีย์หลวงได้รับการฟื้นฟูในสมัยเจ้าแก้วนวรัฐ วัดเจดีย์หลวงมีเจ้าอาวาสปกครองมาแล้ว 8 รูป[7][8]ดังนี้
ลำดับที่ | รายนาม | เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ |
1 | พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) | พ.ศ. 2471 | พ.ศ. 2474 |
2 | พระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต | พ.ศ. 2475 | พ.ศ. 2475 |
3 | พระครูนพีสีพิศาลคุณ (ทอง โฆษิโต) | พ.ศ. 2476 | พ.ศ. 2476 |
4 | พระพุทธิโศภน (แหวว ธมฺมทินฺโน) | พ.ศ. 2477 | พ.ศ. 2502 |
5* | พระญาณดิลก (พิมพ์ ธมฺมธโร) | พ.ศ. 2480 | พ.ศ. 2483 |
6 | พระธรรมดิลก (ขันธ์ ขันติโก) | พ.ศ. 2503 | พ.ศ. 2534 |
7 | พระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล) | พ.ศ. 2534 | พ.ศ. 2551 |
8 | พระเทพวุฒาจารย์ (ชูเกียรติ อภโย) | พ.ศ. 2553 | พ.ศ. 2563 |
9 | พระราชวชิรสิทธิ (อัมพร กตปุญฺโญ) | 2564 | ปัจจุบัน |
- พระญาณดิลก (พิมพ์ ธมฺมธโร) มาดำรงตำแหน่งพิเศษในฐานะผู้กำกับการคณะสงฆ์ มิใช่เจ้าอาวาส
อ้างอิง
แก้- ↑ ""คืนชีพ เจดีย์หลวง " จัดแสดงฉายแสง พระธาตุเจดีย์หลวง". คมชัดลึก ออนไลน์. 31 July 2022. สืบค้นเมื่อ 7 August 2022.
- ↑ หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ แปลโดย ศาสตราจารย์แสง มนวิฑูร พิมพ์เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2501
- ↑ จิตร ภูมิศักดิ์, เชียงใหม่, หอศิลป์วัฒนธรรม เมืองเชียงใหม่, 2550
- ↑ สงวน โชติสุขรัตน์, ประชุมตำนานล้านนาไทย, กรุงเทพฯ, โอเดียนสโตร์, 2515
- ↑ ธนจรรย์, พระครู, เกร็ดประวัติวัดเจดีย์หลวง ฉบับสมโภช 700 ปี นครเชียงใหม่, เชียงใหม่, วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร, 2539, หน้า 82-83
- ↑ ประกาศกรมศิลปากร กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ
- ↑ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2547, หน้า 39
- ↑ เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหารรูปที่ ๘ พระราชเจติยาจารย์ (ชูเกียรติ อภโย)[ลิงก์เสีย], เชียงใหม่นิวส์
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- สงวน โชติสุขรัตน์. ตำนานเมืองเหนือ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2508.
- ผจงวาด กมลเสรีรัตน์. นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ. กรุงเทพฯ: สุวีริยาสาส์น, 2545.
- สุรพล ดำริห์กุล. แผ่นดินล้านนา. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2539.
- อัจฉรา วรรณเอก. นิทานพื้นบ้านล้านนา. กรุงเทพฯ : โอ เอส พริ้นติ้ง เฮ้าส์, 2539.
- กระทรวงศึกษาธิการ. เล่าเรื่องเมืองเหนือว่าด้วยสถานที่สำคัญต่าง ๆ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2522.
- ณัฐกานต์ ลิ่มสถาพร. เชียงใหม่หัวใจล้านนา. กรุงเทพฯ : ภัคธรรศ, 2544.
- อนุรัตน์ วัฒนาวงศ์สว่าง. เชียงใหม่. กรุงเทพฯ : สารคดี, [2547].
- สุดารา สุจฉายา. เชียงใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2543.
- ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล. ล้านนาอันอุดม. เชียงใหม่ : คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2549
- ตำนานพระธาตุวัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์ศรีหงส์, 2473.
- เสนอ นิลเดช. ศิลปะสถาปัตยกรรมล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพนฯ : เมืองโบราณ, 2539.
- วิทยาลัยครูเชียงใหม่ ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่. วัดสำคัญของนครเชียงใหม่. เชียงใหม่ : วิทยาลัย, 2541.