ส้วมในประเทศไทย

สถานที่สาธารณะสำหรับขับถ่าย

ส้วมในประเทศไทย มีมาแต่โบราณ โดยในสมัยก่อน ผู้ที่ใช้ส้วมแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มของกษัตริย์ เจ้านาย ขุนนางและผู้มีฐานะดี กลุ่มของพระที่อยู่ภายใต้พระธรรมวินัย กลุ่มของชาวบ้านที่เป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม โดยกลุ่มชาวบ้านมักจะไปถ่ายทุกข์ตามที่เหมาะ ๆ เนื่องจากยังไม่มีส้วมใช้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2440 รัฐได้ออกพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) มีผลบังคับให้คนไทยต้องขับถ่ายในส้วม

ส้วมชักโครกของส้วมสาธารณะ ในประเทศไทย

กระทั่งช่วงปี พ.ศ. 2460–2471 ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์และสาธารณสุขจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลเอกชนของสหรัฐอเมริกา โดยส่งเสริมให้มีการสร้างส้วมในจังหวัดต่าง ๆ และยังเกิดการประดิษฐ์คิดค้นส้วมรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับท้องถิ่นของไทย เช่น "ส้วมหลุมบุญสะอาด" ที่มีกลไกป้องกันปัญหาการลืมปิดฝาหลุมถ่ายและส้วมคอห่านที่ใช้ร่วมกับระบบบ่อเกรอะบ่อซึม ต่อมาเริ่มมีผู้ใช้ส้วมชักโครกมากขึ้นในช่วงที่มีการก่อสร้างบ้านแบบสมัยใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กระทั่งต้นพุทธทศวรรษ 2500 โถส้วมชนิดนี้ก็ได้รับความนิยม มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนในปัจจุบัน

จากอดีตที่ผ่านมาส้วมสาธารณะในประเทศไทยเป็นปัญหาพื้นฐานที่สำคัญทางด้านสุขาภิบาล สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และทางกรมอนามัยเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินการในเรื่องนี้ มีการสำรวจและประเมินผลมาตรฐานส้วมสาธารณะ พบว่าส้วมสาธารณะในประเทศไทยผ่านเกณฑ์มาตรฐานไม่มาก ในปี พ.ศ. 2549 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ งานประชุมส้วมโลก ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญในการพัฒนาส้วมสาธารณะ และมีโครงการหลายโครงการเกี่ยวกับส้วมสาธารณะอีกหลายโครงการ

ประเทศไทยได้ใช้มาตรการหลายอย่าง รวมทั้งมาตรการทางกฎหมายซึ่งมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับส้วม ปรากฏอยู่ในกฎหมายหลายฉบับที่เริ่มมีการออกพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 ซึ่งถือเป็นกฎหมายฉบับแรกเกี่ยวกับการสุขาภิบาลของคนกรุงเทพฯ และต่อมาได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537) ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รวมถึงกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชรา พ.ศ. 2548

ความหมายของคำว่าส้วม แก้

ความหมายของ "ส้วม" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต มีความหมายถึง ที่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ (ภาษาชาวบ้านเรียกว่า "ที่อึและที่ฉี่") ซึ่งคำว่า "ส้วม" เป็นคำเก่าแก่ที่ใช้กันมาตั้งแต่ก่อนสมัยรัตนโกสินทร์

จากหนังสือ "ส้วมและเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย" ของมนฤทัย ไชยวิเศษ ได้แจกแจงความหมายของคำว่า "ส้วม" ไว้ดังนี้

คำว่าส้วมในภาษาล้านนามีความหมายว่า "หิ้งบูชา หรือที่นอนของพระ" โดยเฉพาะของเจ้าอาวาส ส่วนทางอีสานหรือลาว คำว่า "ส้วม" จะหมายถึง ห้องนอนของลูกสาวหรือเจ้าบ่าว-เจ้าสาวด้วย ส่วนคำอื่นที่มีความหมายว่าส้วม เช่น ห้องสุขา เวจ (เว็จ) ถาน (ส้วมของพระ) สีสำราญ และอุโมงค์ (สองคำหลังเป็นคำเรียกสถานที่ขับถ่ายของผู้หญิงที่อยู่ในวังหรือผู้หญิงชาววังที่มิใช่เจ้านาย) แต่สำหรับเจ้านายชั้นสูงหรือกษัตริย์จะใช้คำว่า "ห้องบังคน" เป็นคำที่มาจากภาษาเขมร ส่วนในปัจจุบัน คำว่า "ห้องส้วม" หรือ "ห้องสุขา" มักจะหมายถึง ห้องหับเล็ก ๆ ที่มิดชิด มีส่วนประกอบคือโถนั่งแบบชักโครก หรือส้วมที่ต้องนั่งยอง ๆ

— มนฤทัย ไชยวิเศษ[1]

คำว่า "สุขา" น่าจะมาจากชื่อของ "กรมศุขาภิบาล" ที่ก่อตั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 เรียกสั้น ๆ ว่า "กรมศุขา" (มีความหมายถึง การบำรุงรักษาความสุข) และมีการเปลี่ยนคำเขียนเป็น สุขาภิบาล ดังนั้นห้องสุขาภิบาลหรือที่เรียกอย่างย่อว่า ห้องสุขา มีความหมายว่า "ห้องที่สร้างโดยสุขาภิบาลสำหรับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ" โดยมีหน่วยงานกรมศุขาภิบาลทำหน้าที่ในการรักษาความสะอาดของพระนครและป้องกันโรคระบาดในสมัยนั้น[2]

ประวัติ แก้

หลักฐานในสมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา แก้

หลักฐานเกี่ยวกับส้วม ระบุว่าในสมัยสุโขทัยก็เริ่มมีส้วมเป็นกิจจะลักษณะแล้ว พบว่ามีโถส้วมเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ว่าคนสมัยนั้นมีวิธีกำจัดสิ่งปฏิกูลแล้ว เรียกว่าโถส้วมสุโขทัย[3] มีลักษณะเป็นหิน มีร่องรับการถ่ายเบา และช่องรับการถ่ายหนักอยู่ตรงกลาง เบา-หนักจะแยกไปคนละทางไม่ให้ปนกัน เป็นวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดกลิ่นเหม็นรุนแรง[4]

วิวัฒนาการของส้วมในไทยมาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกับบุคคลชั้นสูง โดยเฉพาะกษัตริย์หรือเจ้านายที่มีอภิสิทธิ์ในการสร้างที่ขับถ่ายในที่พักอาศัย ราษฎรทั่วไปไม่อาจทำได้ โดยอาจกั้นห้องเป็นสัดส่วน มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า ที่ลงบังคน หรือ ห้องบังคน เพราะเรียกอุจจาระของเจ้านายว่า บังคน เช่นกัน เจ้านายจะขับถ่ายลงในภาชนะรองรับ จะมีคนคอยปรนนิบัติรับใช้นำไปทิ้ง ส่วนสถานที่ของส้วมหรือสถานที่ลงพระบังคน น่าที่จะอยู่ห่างจากพระราชมนเทียรพอสมควร เพื่อป้องกันกลิ่นรบกวน[5]

ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เขียนเล่าไว้เมื่อปี พ.ศ. 2231 ว่า

"ในประเทศสยามถือกันว่าเป็นหน้าที่ที่มีเกียรติมาก ถ้าบุคคลใดได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เทโถพระบังคล ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะต้องนำไปเทลง ณ สถานที่อันกำหนดไว้เพื่อการนี้ และมียามเฝ้าระวังรักษาอย่างกวดขัน มิให้ผู้ใดอื่นกล้ำกรายเข้าไปได้ อาจเป็นเพราะความเชื่อถือโชคลางทางไสยศาสตร์ ซึ่งชาวสยามเชื่อว่าอาจมีผู้ทำกฤตยาคุณได้จากสิ่งปฏิกูลที่ถ่ายออกมาจากร่างกายนั้น"[6]

 
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง แสดงการ "ไปทุ่ง" หรือ "ไปป่า" ของชาวบ้าน

สำหรับพระสงฆ์แล้วในพระธรรมวินัยกำหนดไว้ว่าจะต้องมีสถานที่ขับถ่ายโดยเฉพาะเช่นกัน เรียกว่า เวจ, เวจกุฎี (อ่านว่า เว็ดจะกุดี) หรือ วัจกุฎี (อ่านว่า วัดจะกุดี) โดยมีลักษณะเป็นหลุมถ่ายก่ออิฐหรือหินหรือไม้กรุเพื่อไม่ให้ขอบหลุมพัง มีเขียงแผ่นหินหรือแผ่นไม้รอง ปิดทับหลุม เจาะรูตรงกลางสำหรับถ่ายอุจจาระ หรืออาจมีฝาทำจากไม้ อิฐ หรือหิน ในบางแห่งมีล้อมเป็นผนังให้มิดชิด[7] นอกจากนี้ยังมีคำว่าถาน ใช้เรียกส้วมของภิกษุสามเณร โดยถานสมัยโบราณเป็นโรงเรือนแยกออกไปต่างหาก ส่วนใหญ่จะอยู่ท้ายวัดจะได้ไม่ส่งกลิ่นเหม็นมารบกวน ลักษณะโรงเรือนจะมีใต้ถุนสูงโปร่ง ถ่ายเทอากาศได้สะดวก ด้านบนมีฝามิดชิด ข้างบนฝามีช่องระบายอากาศและช่องแสง มีประตูปิด-เปิด พื้นปูด้วยไม้หรือเทปูน มีร่องสำหรับถ่ายอุจจาระ มีเขียงรองเท้าสองข้าง มีรางน้ำปัสสาวะยื่นออกไปนอกฝา มีไม้ซีกเล็ก ๆ มัดรวมกันวางไว้ข้าง ๆ สำหรับเช็ดเมื่อเสร็จกิจ ในถิ่นที่หาน้ำได้ง่ายก็ชำระด้วยน้ำที่ใส่ภาชนะเช่นตุ่มเล็ก ๆ เตรียมไว้แล้ว[8]

และสำหรับชาวบ้านทั่วไป จะเรียกว่าการไปขับถ่ายว่า "ไปทุ่ง" "ไปท่า" และ "ไปป่า" ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านไม่มีสถานที่เฉพาะสำหรับการขับถ่ายภายในบ้านของตน จะถ่ายตามทุ่งหรือป่าหรือใกล้แหล่งน้ำ ชุมชนบ้านป่าเมื่อปวดท้องถ่าย จะเดินไปหาที่เหมาะ ๆ ในป่าเพื่อปลดทุกข์ ขณะชาวบ้านทุ่งก็ต้องเลือกป่าละเมาะหรือพุ่มไม้ในหรือสวนไร่นาของหมู่บ้าน อาจจะถือไม้ไปคอยไล่หมูไม่ให้เข้ามากวน ส่วนชาวชุมชนที่อยู่ใกล้น้ำก็อาศัยขับถ่ายบริเวณท่าน้ำหรือริมน้ำและสามารถใช้น้ำชำระล้างได้เลย[7]

ยุครัตนโกสินทร์ ในเขตพระมหามณเฑียร แก้

ในพระราชพงศาวดาร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้กล่าวถึงที่ลงพระบังคนว่า "ด้วยแต่เดิมหาได้ลงพระบังคน บนพระมหามณเฑียรเหมือนทุกวันนี้ไม่ ต่อเวลาค่อนย่ำรุ่ง ยังไม่สว่าง เสด็จไปที่ห้องพระบังคนหลังพระมหามณเฑียร" ทั้งนี้เป็นการค่อนข้างอันตรายหากจะเสด็จออกนอกพระมหามณเฑียรเพื่อลงพระบังคน ด้วยมีเหตุที่เคยมีคนร้ายจะลอบปลงพระชนม์ นับแต่นั้นมาจึงโปรดให้ทำที่ลงพระบังคนให้ปลอดภัยกว่าเดิมซึ่งก็น่าจะอยู่ภายในพระราชมณเฑียร[5]

ในสมัยรัชกาลที่ 2 ที่ลงพระบังคนที่พระตำหนักเดิมที่อัมพวา มีลักษณะเป็นหีบสี่เหลี่ยมหรือเก้าอี้ทรงสี่เหลี่ยมทึบ ทำด้วยไม้ ด้านบนเจาะเป็นช่องให้นั่งถ่าย ข้างในเป็นที่ว่างและสามารถเปิดด้านข้างได้ เพื่อเอากระโถนหรือกระทงใหญ่ ๆ ที่วางไว้ข้างใน ออกมานำไปเททิ้ง ที่ลงพระบังคนชนิดนี้สามารถทำความสะอาดได้ง่ายและจะมีพนักงานเชิญลงไปทิ้งในน้ำ[9]

สำหรับพระบรมมหาราชวังนั้นมีการสันนิษฐานตำแหน่งของที่ลงพระบังคน จากบทความ "ที่ลงพระบังคน" เขียนโดยจุลลดา ภักดีภูมินทร์ ในนิตยสารสกุลไทย กล่าวว่า "ไม่เคยพบว่ามีหนังสือเล่มใดเขียนถึงที่ลงพระบังคน เป็นเพียงการเล่ากันต่อ ๆ มาว่า มีห้องเล็ก ๆ ข้างหลังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานมีไว้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินเสด็จทรงลงพระบังคนซึ่งห้องสรงก็คงจะอยู่ใกล้ ๆ กันนั้น"[10] เมื่อทรงลงพระบังคนแล้ว ก็จะมีพนักงานนำไปจำเริญ ซึ่งต่อมา โถลงพระบังคนของพระเจ้าแผ่นดินมักทำจากของมีค่า จะนำออกไปน่าจะมีปัญหา ภายหลังจึงโปรดให้พนักงานเตรียมทำกระทงไว้วันละ 3 ใบ เมื่อเสร็จพระราชกิจแล้ว เจ้าพนักงานเพียงเชิญกระทงไปจำเริญโดยวิธีลอยน้ำ

ต่อมาลักษณะและวัสดุของโถลงพระบังคนที่เปลี่ยนแปลงไป จากการเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตก ลักษณะและวัสดุของโถลงพระบังคนที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยทำด้วยทอง กะไหล่ทอง ทองคำลงยา ก็เปลี่ยนเป็นทำด้วยโถกระเบื้องเคลือบชนิดหนา ลักษณะเป็นโถปากกว้างมีหูจับ มีทั้งชนิดเคลือบสีธรรมดาและอาจมีลวดลายสวยงามต่าง ๆ เช่น ลายดอกไม้เล็ก ๆ เจ้านายบางพระองค์จะสั่งภาชนะ ที่เกี่ยวกับการสรงพระพักตร์ ล้างพระหัตถ์และถ่ายพระบังคน มาเป็นชุดเดียวกันและต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างพระราชวังดุสิตขึ้นนั้น ก็ทรงใช้วัฒนธรรมการขับถ่ายตามแบบยุโรป คือ ใช้ส้วมชักโครก[5]

การจัดสร้างส้วมสาธารณะ แก้

ในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 สยามเริ่มมีพลเมืองมากขึ้น การค้าเศรษฐกิจเจริญเติบโตตามจำนวนประชากร อีกทั้งยังเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกที่เข้ามา ในยุคนั้นประชาชนทั่วไปก็ยังไม่นิยมสร้างส้วมในที่อาศัยของตนเอง แต่จะขับถ่ายนอกสถานที่ตามตรอกซอกซอย ถนนหนทาง ริมกำแพงวัด หรือริมน้ำคูคลองต่าง ๆ เกลื่อนกลาดไปด้วยกองอุจจาระ เป็นสิ่งไม่น่าดู ทั้งยังส่งกลิ่นเหม็นรุนแรง และเป็นสาเหตุของโรคระบาดตามมา อีกทั้งเวจหรือถานพระที่มีอยู่ตามวัด ก็ปลูกสร้างแบบปล่อยอุจจาระทิ้งลงน้ำบ้างหรือปล่อยทิ้งลงพื้นเรี่ยราด เป็นเหตุให้มีทั้งสัตว์มาคุ้ยเขี่ยและแมลงวันไต่ตอม จนในปี พ.ศ. 2440 หรือปลายสมัยรัชกาลที่ 5 รัฐโดยกรมสุขาภิบาลซึ่งก่อตั้งในปีเดียวกันนั้น[11] ได้ดำเนินการจัดสร้างส้วมสาธารณะขึ้นครั้งแรกหรือสมัยนั้นเรียกว่า "เวจสาธารณะ" ขึ้นตามตำบลต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ พร้อมกันนั้นรัฐได้ออกพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ พ.ศ. 2440 มีผลบังคับให้คนต้องขับถ่ายในส้วม และรัฐได้จัดสร้างส้วมสาธารณะขึ้นตามตำบลต่าง ๆ ตามข้อกำหนดในหมวดที่ 2 มาตรา 8 ที่ให้กรมศุขาภิบาล "จัดเว็จที่ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะของมหาชนทั่วไป"[4]

กรมสุขาภิบาลจัดสร้างส้วมสาธารณะที่กั้นแบ่งเป็นห้อง ๆ มีห้องประมาณ 5-6 ห้อง เป็นห้องแถวไม้ยาว มักตั้งอยู่บนถนนสายสำคัญซึ่งเป็นย่านการค้าที่มีผู้คนอยู่คับคั่ง เช่น ถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร และตามชุมชนวัด ทั้งบริเวณรอบวัด เช่น บริเวณหน้าวัดบรมธาตุ ข้างวัดกำโลยี่ ตรอกข้างวัดมหรรณ์ หรืออยู่ในวัด เช่น วัดบวรนิเวศ วัดราชบูรณะ นอกจากนี้ยังมีการจัดส้วมสาธารณะจำนวนมากใกล้กับบริเวณวังของเจ้านายและตามสถานที่ราชการ อย่างเช่น โรงพัก โรงพยาบาล เป็นต้น[7]

 
รูปตัดของส้วมถังเท

ลักษณะส้วมสาธารณะในยุคแรกเป็นส้วมถังเท มีอาคารปลูกสร้างครอบไว้ ภายในมีฐานส้วมทำจากไม้ เจาะรูสำหรับนั่งขับถ่าย ข้างใต้มีถังสำหรับรองรับอุจจาระ ซึ่งจะมีบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐอย่าง "บริษัทสอาด" หรือ "บริษัทออนเหวง" เป็นผู้ทำหน้าที่จัดการเก็บและบรรทุกถังบรรจุอุจจาระและเปลี่ยนถ่ายถังใหม่ทุกวัน[7] รัฐมีนโยบายจะเปลี่ยนพฤติกรรมการขับถ่ายของประชาชนโดยการสร้างเวจหรือส้วมสาธารณะในรูปแบบของส้วมแบบถังเทในเขตเมืองและในรูปแบบของส้วมหลุมในเขตท้องถิ่น และออกกฎหมายบังคับและมีบทบัญญัติลงโทษผู้ฝ่าฝืน ทำให้คนเมืองหลวงรู้วิธีการใช้ส้วมและเห็นความสำคัญ จนเริ่มมีผู้สร้างส้วมไว้ในบ้านตนเองภายในช่วงระยะประมาณ 10 ปี หลังการออกกฎหมาย

ในช่วงปี พ.ศ. 2460-2471 มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์จากสหรัฐอเมริกา เข้ามาช่วยเหลือทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยส่งเสริมการจัดสร้างส้วมในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อป้องกันโรคพยาธิปากขอ ซึ่งต่อมาคนไทยก็ได้มีการประดิษฐ์คิดค้นส้วมรูปแบบต่าง ๆ ขึ้นเองที่เหมาะสมกับท้องถิ่นของไทย เช่น "ส้วมหลุมบุญสะอาด" ที่มีกลไกป้องกันปัญหาการลืมปิดฝาหลุมถ่าย และส้วมคอห่านทำงานร่วมกับระบบบ่อเกรอะบ่อซึม แก้ปัญหาเรื่องแมลงวันและกลิ่นเหม็นย้อนกลับมาของส้วมหลุมแบบเก่า ส้วมประเภทนี้ยังประหยัดน้ำ ราคาถูก และสามารถสร้างได้สะดวก ต่อมาส้วมคอห่านก็แพร่หลายแทนที่ส้วมหลุมในที่สุด และยังคงได้รับความนิยมจนปัจจุบันนี้[7]

สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมนโยบายด้านสุขอนามัย ในด้านการขับถ่ายและชำระร่างกายของประชาชนในส่วนภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น ได้จัดทำหนังสือแบบเรียนของเด็ก เพื่อปลูกฝังด้านสุขอนามัย และทำให้ประชาชนเห็นความสำคัญและมีทัศนคติที่ดีต่อส้วม[7]

ส้วมในบ้าน แก้

ในระยะแรกที่ส้วมชักโครกเข้ามาในประเทศไทย คือช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2460-2490 ส้วมชักโครกคงมีเฉพาะตามวังและบ้านเรือนของผู้มีฐานะดีที่จบการศึกษาหรือเคยใช้ชีวิตในต่างประเทศ ไม่ค่อยแพร่หลายสู่คนทั่วไป ต่อมาเริ่มมีผู้ใช้ส้วมชักโครกมากขึ้นในช่วงที่มีการก่อสร้างบ้านแบบสมัยใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทั่งต้นทศวรรษ 2500 โถส้วมชนิดนี้ก็ได้รับความนิยมและมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ [7]

ประเทศไทยก็มีการส่งเสริมให้ประชาชนสร้างส้วมราดน้ำหรือส้วมคอห่านใช้ในบ้านอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2485 เป็นต้นมา และรัฐบาลโดยความร่วมมือจากองค์การยูซ่อมของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในปี 2503[12] โดยเริ่มโครงการพัฒนาการอนามัยท้องถิ่น มีกิจกรรมสำคัญคือการสร้างส้วมและรณรงค์ให้ประชาชนถ่ายอุจจาระในส้วม[4] จนถึงแผนพัฒนาสาธารณสุขฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530-2534) ในปี 2532 กระทรวงสาธารณสุขดำเนินงานให้ปประชาชนในประเทศไทยมีส้วมถูกหลักสุขาภิบาลในทุกครัวเรือน ในปีนี้ครอบคลุมจาก ร้อยละ 75 เป็นร้อยละ 90 และจากผลสำรวจในปี พ.ศ. 2542 มีส้วมถูกหลักสุขาภิบาลครอบคลุมครัวเรือนร้อยละ 98.1[13]

ในแผนพัฒนาสาธารณสุขฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2534-2539) กรมอนามัยได้ส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนรูปแบบจากส้วมซึมมาใช้เป็นระบบส้วมถังเกรอะ เหตุเพราะทางด้านมาตรฐานและสุขอนามัย กล่าวคือระบบส้วมซึม ถังส้วมสร้างด้วยอิฐ หรือวงของซีเมนต์ (วงของส้วม) เป็นถังส้วมที่น้ำ สามารถซึม เข้า-ออกได้ ถังจะเก็บกักสิ่งปฏิกูลและฝังลงในดิน โดยดินรอบ ๆ ถัง ทำหน้าที่กรองน้ำไหลออกจากหลุมส้วม และสารอินทรีย์ที่ไหลออกมากับของเหลวนี้จะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในดินไปตามธรรมชาติ การไหลซึมออกได้ของน้ำนี้ จึงเรียกส้วมชนิดนี้ว่า "ส้วมซึม" ส่วนระบบส้วมถังเกรอะ ประกอบด้วย ถังเก็บกักของเสีย ฝังอยู่ในดิน ทำหน้าที่แยกของแข็งจากของเหลว เกิดการย่อยสลายอินทรีย์สาร วัสดุของถังเกรอะจะทำจากวัสดุที่ป้องกันน้ำซึมเข้าหรือออกจากถังได้ เพื่อเก็บกักน้ำเสียไว้ในถัง และจะเกิดการตกตะกอน รวมทั้งขบวนการย่อยสลายต่าง ๆ ในถัง และปล่อยของเหลวส่วนที่เป็นน้ำใสไปตามท่อสำหรับระบายออกจากถังเกรอะโดยเฉพาะ[14]

การสำรวจการใช้ส้วมในครัวเรือนในปี พ.ศ. 2553 พบว่าส้วมนั่งยองร้อยละ 86.0 มีการใช้ส้วมนั่งราบหรือส้วมห้อยขาร้อยละ 10.1 และมีบ้านที่ใช้ทั้งส้วมนั่งยองและส้วมห้อยขาร้อยละ 3.1 ของครัวเรือนทั้งหมด ประชากรไทยส่วนใหญ่นิยมใช้ส้วมนั่งยอง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุสำคัญอาจก่อให้เกิดอาการข้อเข่าเสื่อมอายุสูงขึ้นได้[15] กระทรวงสาธารณสุขได้มีการเสนอแผนแม่บทการพัฒนาส้วมไทย ระยะที่ 3 ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบในหลักการให้ทุกหน่วยงานเปลี่ยนส้วมนั่งยองเป็นส้วมโถชักโครกแทน ต่อมาในปี 2556 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่เสนอขอความเห็นชอบแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทยระยะที่ 3 (พ.ศ. 2556 – 2559) โดยตั้งเป้าทุกครัวเรือนหรือประมาณร้อยละ 90 ต้องเปลี่ยนจาก "ส้วมนั่งยอง" มาเป็น "ส้วมนั่งราบ" หรือส้วมชักโครก ภายในปี 2559[16]

ประเภทของส้วมในประเทศไทย แก้

ส้วมหลุม แก้

ส้วมหลุม ถือเป็นส้วมแบบแรกที่คนไทยใช้ เป็นหลุมดินมีทั้งที่ใช้เป็นแบบหลุมแห้งหรือหลุมเปียกที่ขุดเป็นหลุมกลมหรือหลุมสี่เหลี่ยม แล้วปลูกตัวเรือนครอบหลุมไว้ อาจมีไม้กระดาน 2 แผ่นพาดปากหลุมสำหรับนั่งเหยียบและเว้นช่องตรงกลางไว้สำหรับถ่ายทุกข์หรือทำฐานโดยใช้แผ่นไม้กระดานมาปิดปากหลุมแล้วเจาะช่องสำหรับถ่าย ตำแหน่งของส้วมหลุมมักจะสร้างไว้ไกลจากบ้านพอสมควรเพื่อแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็น เมื่อหลุมเต็มก็กลบหลุม ย้ายไปขุดที่ใหม่ ส้วมหลุมที่มีลักษณะถูกต้องตามแบบของกรมสุขาภิบาลต้องมีฝาปิดและมีท่อระบายอากาศ อาจทำจากไม้ไผ่ทะลุปล้องให้เป็นท่อกลวง เจาะทะลุพื้นส้วมเป็นการลดกลิ่นเหม็นจากภายในหลุมส้วม

คนไทยสร้างส้วมหลุมลักษณะดังกล่าวใช้กันมาแต่โบราณ ส้วมหลุมมีปรากฏชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 6 ในยุคที่รัฐเข้ามาจัดการเรื่องส้วมของประชาชนนับตั้งแต่ทศวรรษ 2440 ส้วมที่กรมสุขาภิบาลแนะนำในสมัยนั้นคือส้วมหลุมและส้วมถังเท[17]

ส้วมถังเท แก้

ส้วมถังเทมีลักษณะคล้ายส้วมหลุมแต่ใช้ถังวางไว้ในหลุมใต้ฐานไม้สำหรับรองรับอุจจาระของผู้ขับถ่าย เป็นการกำจัดอุจจาระที่ยึดหลักการถ่ายอุจจาระลงถังที่เตรียมไว้แล้วจึงนำไปทิ้ง การเก็บและบรรทุกถังไปชำระตามปกติ[17] โดยมากจะทำการเก็บและบรรทุกถังอุจจาระไปเททิ้งทำกันวันละครั้ง

"บริษัทสอาด" ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2440 ถือเป็นบริษัทแห่งแรกในจังหวัดพระนครที่ดำเนินการรับจ้างขนเทอุจจาระ ในช่วงแรกของการดำเนินกิจการตั้งอยู่ที่บางขุนพรหม กิจการของบริษัทสอาดดำเนินการมาประมาณ 20 ปี ก็ได้ขายกิจการต่อให้กับบริษัทออนเหวง ถือเป็นบริษัทรับขนเทอุจจาระรายใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ รับเหมาสัมปทานเวจสาธารณะของกรมสุขาภิบาลและของประชาชนทั่วไปในกรุงเทพ

อัตราค่าถังเท ถังละประมาณหนึ่งบาทหรือหกสลึงต่อเดือน ไม่บังคับใช้หากใครไม่อยากจะใช้ระบบถังเทก็ไปใช้บริการสาธารณะได้เช่นกัน เมื่อซื้อถังไปแล้ว ลูกค้าก็จะนำไปใช้แล้ว ทุกคืนราวเที่ยงคืน บริษัทก็จะออกเก็บโดยใช้วัวสองตัวลากรถบรรทุกที่ปิดกั้นด้วยแผ่นสังกะสีทั้งสี่ด้าน แต่ด้านหลังเป็นบานประตูเปิดปิดได้ คันหนึ่งก็รับถังได้ประมาณ 30-40 ถัง จะมีพนักงานเอาถังใหม่มาเปลี่ยนกับถังเก่า[18] แต่เนื่องจากส้วมถังเทเป็นส้วมที่ยากต่อการดูแลรักษา และการควบคุมให้ปลอดภัยต่อการแพร่ของเชื้อโรค ทางการจึงไม่ส่งเสริมให้ประชาชนใช้[17]

ส้วมบุญสะอาด แก้

ส้วมบุญสะอาดประดิษฐ์โดยนายอินทร์ บุญสะอาด ผู้ตรวจการสุขาภิบาลประจำอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2474 คือส้วมหลุมที่มีลักษณะพิเศษ กล่าวคือฝาปิดหลุมส้วมมีลักษณะเป็นลิ้นและลิ้นนี้จะเข้าไปขัดกับประตูส้วม คนที่เข้าส้วมต้องใช้เท้าถีบให้ลิ้นที่เป็นฝาปิดนี้ไปขัดกับประตูและจะมีส่วนยื่นออกมานอกประตู จะทำให้คนข้างนอกรู้ว่ามีคนใช้งานอยู่ เมื่อถ่ายเสร็จแล้วผู้ใช้จะต้องปิดฝาส้วมไว้ตามเดิม มิฉะนั้นจะไม่สามารถเปิดประตูส้วมออกมาข้างนอกได้ เป็นกลไกเพื่อป้องกันการลืมปิดฝาหลุม[19]

ส้วมคอห่าน แก้

ผู้ประดิษฐ์ "ส้วมคอห่าน" คือพระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี) อดีตสมุหเทศาภิบาล ผู้สำเร็จราชการมณฑลพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ. 2467 ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสวรรคโลกและจังหวัดอุตรดิตถ์ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลร่วมมือกับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ทำโครงการปราบโรคพยาธิปากขอ และรณรงค์ให้ราษฎรให้ใช้ส้วม

ส้วมหลุมและส้วมถังเทจะมีกลิ่นเหม็นและป้องกันแมลงวันได้ไม่ดี พระยานครพระรามได้คิดค้นลองทำส้วมชนิดใหม่ไว้หลายแบบ ในที่สุดได้ทดลองทำหัวส้วมที่ช่องปล่อยทิ้งของเสียด้านใต้โถมีลักษณะเป็นท่อกลมที่โค้งกลับขึ้นด้านบนจึงสามารถขังน้ำไว้ในคอท่อนั้นได้ ส้วมชนิดนี้ใช้น้ำราดให้อุจจาระตกลงไปในบ่อฝังอยู่ใต้ดิน แมลงวันจะไม่สามารถตามลงไปได้เพราะติดน้ำกั้นไม่ให้ลงไปอยู่ อุจจาระและน้ำในบ่อจะไหลซึมลงไปในดินจึงเรียกวิธีการนี้ว่า "ส้วมซึม"[18]ระบบส้วมซึมในระยะแรกมีข้อเสียตรงน้ำอุจจาระที่ซึมสู่พื้นดินเป็นตัวการแพร่เชื้อโรคได้ ต่อมามีการปรับปรุงเป็นระบบบ่อเกรอะบ่อซึมโดยบ่อที่ฝังใต้ดินมักทำจากคอนกรีต แบ่งออกเป็น 2 ห้องหรือมากกว่า ใช้สำหรับรับอุจจาระจากโถส้วม มีน้ำและแบคทีเรียเป็นตัวย่อยสลาย มีบ่อกรองที่เรียกว่า บ่อเกรอะ แล้วระบายน้ำสู่บ่อซึม ระบบนี้ดีกว่าบ่อซึมแต่ก็ยังไม่ปลอดภัยเต็มที่ หัวส้วมแบบคอห่านและระบบบ่อเกรอะบ่อซึมซึ่งคนทั่วไปเรียกกันว่า "ส้วมซึม" ได้เข้ามาแทนที่การใช้ส้วมหลุม ส้วมถังเท ช่วยให้การขับถ่ายในส้วมมีความสะดวกสบายมากขึ้นด้วยราคาค่าก่อสร้างที่ไม่แพงนักและยังมีใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

ส้วมชักโครก แก้

 
ส้วมชักโครก ในปัจจุบัน

ส้วมแบบนี้มีส่วนประกอบที่ค่อนข้างสลับซับซ้อนที่เรียกว่า ชักโครก เพราะเมื่อก่อนตัวถังที่กักน้ำ อยู่เหนือที่นั่งถ่ายสูงขึ้นไป เวลาเสร็จกิจต้องชักคันโยกให้ปล่อยน้ำลงมา มีเสียงน้ำดัง จึงเรียกว่า ชักโครก[17]

ขุนนางชาวอังกฤษชื่อ เซอร์จอห์น แฮริงตัน ได้ประดิษฐ์ส้วมชักโครกรุ่นแรกขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1596 (พ.ศ. 2139) มีถังพักน้ำติดตั้งสูงเหนือโถส้วม เมื่อกดชักโครกแล้ว น้ำจะดันของเสียผ่านท่อไปยังถังเก็บ ต่อมาในปี ค.ศ. 1775 (พ.ศ. 2318) อเล็กซานเดอร์ คัมมิงส์ ได้พัฒนาส้วมชักโครก โดยการดัดท่อระบายของเสียข้างใต้ที่ลงบ่อเกรอะให้เป็นรูปตัวยู สามารถกักน้ำไว้ในท่อ และยังกันกลิ่นของเสียไม่ให้ย้อนกลับขึ้นมาได้ นับเป็นต้นแบบของชักโครกที่ใช้งานในปัจจุบัน[18]

ในประเทศไทยส้วมชักโครกแบบนั่งราบเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชักโครกในสมัยนั้นจะมีถังพักน้ำติดตั้งสูงเหนือโถ เมื่อชักโครกน้ำจะไหลลงมาชำระให้อุจจาระลงไปสู่ถังเซ็ปติกแทงก์ (Septic Tank) ที่ไว้เก็บกักอุจจาระ[18] ส้วมชักโครกยุคปัจจุบันได้รับการพัฒนาทั้งด้านการออกแบบให้มีรูปทรงสวยงาม ทันสมัยและเทคโนโลยีการใช้งานเช่นเรื่องการประหยัดน้ำ ระบบชำระล้างที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เสียงเบาลงหรือมีระบบอัตโนมัติต่าง ๆ มากมาย

ส้วมสาธารณะ แก้

ส้วมสาธารณะ คือ ห้องส้วมในที่สาธารณะหรือสถานประกอบการที่จัดเตรียมไว้ให้ประชาชนทั่วไปใช้บริการ ซึ่งจากอดีตที่ผ่านมาส้วมเป็นปัญหาพื้นฐานที่สำคัญทางด้านสุขาภิบาล สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และทางกรมอนามัยเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินการในเรื่องนี้[20]

มาตรฐานส้วมไทย แก้

ในปี พ.ศ. 2547 กรมอนามัยได้สำรวจส้วมสาธารณะในประเทศไทย 1,100 แห่ง ผู้ใช้บริการ 5,786 คน ใน 20 จังหวัด พบปัญหาทั้งความไม่สะอาดและผู้ใช้ยังใช้ไม่เป็น ส้วมสาธารณะส่วนใหญ่แยกชาย/หญิงร้อยละ 76 ในจำนวนนี้จัดให้คนพิการ 10% มีส้วมสะอาดระดับปานกลาง 58.9% มีส้วมสกปรก 19.5% มีกลิ่นเหม็น 34% ส่วนประเด็นการใช้ส้วมของคนไทยพบว่า 83.6% เคยชินกับการใช้ส้วมแบบนั่งยอง ๆ ราดน้ำ ส่วนชักโครก พบว่า 22.1% จะใช้เท้าเหยียบลงบนที่นั่งหรือยกที่นั่งขึ้นแล้วขึ้นไปเหยียบบนโถส้วม ที่สำคัญคือยังมีคนถึง 6.5% หลังใช้ส้วมแล้วไม่ล้างมือ[21]

จากการสุ่มสำรวจส้วมสาธารณะในประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคม 2549สุ่มสำรวจส้วมจำนวนกว่า 6,149 แห่ง ในพื้นที่ 12 จังหวัด อาทิ นนทบุรี ลพบุรี ชลบุรี ราชบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น กำแพงเพชร ฯลฯ ปรากฏว่ามีส้วมที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสูงถึง 5,993 แห่ง มีปัญหาเรื่องความสะอาด 90% ที่พบมากคือ ถังขยะไม่มีฝาปิด ไม่มีกระดาษชำระหรือสายฉีดน้ำ และไม่มีสบู่ล้างมือ ปัญหาเรื่องความพอเพียงพบ 76% ส่วนใหญ่ไม่มีส้วมสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุและสตรีมีครรภ์ ส่วนเรื่องความปลอดภัยพบปัญหา 69% ไม่มีการแยกส้วมชาย-หญิง พื้นไม่แห้ง และส้วมตั้งอยู่ในที่เปลี่ยว[22][23]

ในปี พ.ศ. 2552 กระทรวงสาธารณสุขประเมินส้วมสาธารณะในประเทศไทย มีส้วมผ่านเกณฑ์เพียง 40.37% จากมาตรฐานประเมินเรื่อง ความสะอาด (Heathy) เพียงพอ (Accessibility) และปลอดภัย (Safety) โดยส้วมที่ผ่านมาตรฐาน แบ่งเป็น ห้างสรรพสินค้า 88.52% โรงพยาบาล 83.11% ส้วมริมทาง 67.02% แหล่งท่องเที่ยว 62.91% สวนสาธารณะ 60.06% ตลาดสด 48.6% สถานที่ราชการ 47.28% โรงเรียน 44.45% ปั๊มน้ำมัน 44.07% สถานีขนส่ง 41.4% ร้านอาหาร 36.15% และวัด 11.75%[24] ในปี พ.ศ. 2554 มีรายงานผลดำเนินงานพัฒนาส้วมสาธารณะไทย มีส้วมสาธารณะสะอาด พอเพียง ปลอดภัย เพียงร้อยละ 55.47 ไม่บรรลุตามเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้คือร้อยละ 60[25]

ส้วมสาธารณะในประเทศไทยยังไม่เอื้ออำนวยต่อคนพิการ กรมอนามัยเปิดเผยว่า จากการสำรวจส้วมสาธารณะใน 20 จังหวัด จำนวน 1,100 แห่ง เมื่อปี 2547 พบว่ามีส้วมคนพิการเพียง 10% คือสถานที่สาธารณะต่าง ๆ เช่น สถานที่ราชการ สถานีขนส่งทุกประเภท โรงแรม สวนสาธารณะ ร้านอาหาร สนามกีฬา สถานบันเทิง และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เป็นต้น ไม่มีส้วมสำหรับคนพิการ[26] และส่วนใหญ่ถ้ามีก็ไม่สามารถใช้งานได้ มักใส่กุญแจไว้ หรือใช้เป็นห้องเก็บอุปกรณ์ทำความสะอาดแทน จึงเป็นความยากสำหรับคนพิการในการเดินทางไปไหนมาไหน ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้รณรงค์ขอให้ทุกสถานที่จะต้องมีส้วมสำหรับคนพิการอย่างน้อย 1 ห้อง[27]

การส่งเสริมและรณรงค์ แก้

ในปี พ.ศ. 2548 ทางกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาส้วมสาธารณะไทย โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายหลัก 11 ประเภท อาทิ สถานที่ราชการ โรงเรียน โรงพยาบาล ศาสนสถาน สวนสาธารณะ สถานีบริการน้ำมัน ตลาดสด ฯลฯ ด้วยการวางกรอบการพัฒนาไว้ 3 ประเด็น คือ สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย และได้มาตรฐาน หรือมีคำย่อว่า "HAS" ซึ่งมาจากคำว่า Healty Accessibility และ Safety[28]

ในปี พ.ศ. 2549 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ งานประชุมส้วมโลก 2006 หรือ World Toilet Expo & Forum 2006 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี โดยจะมีผู้แทนจาก 19 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย อินเดีย สิงคโปร์ เวียดนาม เข้าร่วม ซึ่งเป็นงานที่มีการอภิปรายหาแนวทางการแก้ปัญหาเรื่อง "การพัฒนาส้วมสาธารณะ" รวมถึงมีการจัดนิทรรศการแสดงส้วมไทย และส้วมแปลก ๆ ที่มีความสร้างสรรค์ใหม่ ๆ งานครั้งนั้นยังเป็นการสร้างความตระหนักให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง หันมาดูแลส้วมสาธารณะให้ดีขึ้นอีกด้วย[29][30]

นอกจากนั้นกรมอนามัยได้มีโครงการต่าง ๆ เกี่ยวกับส้วมสาธารณะ เช่นโครงการสายสืบส้วม (Toilet Spy) เป็นโครงการที่มีอาสาสมัคร ตัวแทนประชาชนในการเฝ้าระวัง ดูแล ตรวจตราและแจ้งเบาะแสส้วมทั้งที่ได้มาตรฐานให้กรมอนามัยทราบและดำเนินการ[31] และอีกโครงการของกรมอนามัย คือโครงการพัฒนาส้วมสาธารณะไทย พ.ศ. 2549-2551 โดยตั้งหลักชัยอยู่ที่ 3 คำสำคัญคือ สะอาด เพียงพอ และปลอดภัย มีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กรมการปกครอง กรมอุทยานแห่งชาติ และกลุ่มธุรกิจผู้ค้าน้ำมัน[32]

ส้วมกับกฎหมายไทย แก้

ประเทศไทยได้ใช้มาตรการหลายอย่าง รวมทั้งมีมาตรการทางกฎหมายซึ่งมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับส้วม ปรากฏอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ

เริ่มจาก บทบัญญัติในการจัดการเรื่องส้วมและสิ่งปฏิกูลตามกฎหมายไทย ซึ่งเกิดขึ้นมาจากสภาวการณ์ที่มีโรคระบาดเกิดขึ้น จนเริ่มมีการออกพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 ซึ่งถือเป็นกฎหมายฉบับแรกเกี่ยวกับการสุขาภิบาลของคนกรุงเทพฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันโรคติดต่อมิให้แพร่หลาย การจัดการเวจ ที่ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะของมหาชน และในปี พ.ศ. 2469 มีการตราพระราชสีห์น้อยถึงสมุหเทศบาลทุกมณฑลให้ควบคุมการสุขาภิบาลเกี่ยวกับการถ่ายอุจจาระและการทำลายส้วมตามริมแม่น้ำ ลำคลองทั่วไป จนกระทั่งมีการตราพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2477 และในปี พ.ศ. 2480 ได้เกิดพระราชบัญญัติควบคุมการใช้อุจจาระเป็นปุ๋ย ซึ่งกฎหมายสาธารณสุขก็ได้มีการตราขึ้นใหม่เป็นพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2484 โดยมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดให้มีส้วม การกำหนดเขตห้ามสร้างส้วม และการจัดการความสะอาดของส้วม ซึ่งต่อมาได้มีการแก้ไขปรับปรุงหลายครั้ง จนกระทั่งมีการยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมการใช้อุจจาระเป็นปุ๋ย พ.ศ. 2480 และพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2484 แล้วประกาศใช้พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 จนถึงปัจจุบัน[33][ลิงก์เสีย]

นอกจากนั้นใน กฎกระทรวง ฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537) ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ได้กำหนดจำนวนของห้องน้ำและห้องส้วม ของอาคารประเภทต่าง ๆ ไว้ด้วย เพื่อควบคุม คุณภาพและมาตรฐานของอาคาร[34]

ทางด้านกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชรา พ.ศ. 2548 กำหนดไว้ว่า

"อาคารประเภท โรงพยาบาล สถานพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข สถานีอนามัย อาคารที่ทำการของราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย สถานศึกษา หอสมุดและพิพิธภัณฑสถานของรัฐ สถานีขนส่งมวลชน ที่มีพื้นที่ส่วนใดของอาคารที่เปิดให้บริการแก่บุคคลทั่วไปเกิน 300 ตารางเมตร และ สำนักงาน โรงมหรสพ โรงแรม หอประชุม สนามกีฬา ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าประเภทต่าง ๆ ที่มีพื้นที่ส่วนใดของอาคารที่เปิดให้บริการแก่บุคคลทั่วไปเกิน 2,000 ตารางเมตร ได้ระบุว่านอกจากห้องส้วมสำหรับบุคคลทั่วไปแล้ว ต้องจัดให้มีห้องส้วมสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชราเข้าใช้ได้อย่างน้อย 1 ห้อง รวมถึงสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง"[35][ลิงก์เสีย]

ในปี พ.ศ. 2556 มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2556 มีสาระสำคัญเรื่อง ยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์วิเทรียสไชนา : โถส้วมนั่งราบ และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบ[36]

วัฒนธรรมเกี่ยวกับส้วม แก้

การใช้ส้วมของคนไทย แก้

วัฒนธรรมการใช้ส้วมของคนไทยนั้นแต่เดิมคนไทยจะใช้ท่านั่งยอง ๆ ในสมัยก่อนก็เหมาะกับลักษณะการบริโภคอาหารของคนไทยที่มักกินอาหารประเภทที่ย่อยง่าย กากใยสูง ใช้เวลาไม่นานก็ยังไม่ทันเป็นตะคริว ก็ปฏิบัติภารกิจส่วนตัวเรียบร้อย ส่วนฝรั่งการนั่งยอง ๆ เป็นการไม่สะดวกเพราะอาหารส่วนใหญ่ เป็นเนื้อทำให้ต้องใช้เวลานาน ในระบบขับถ่ายจึงต้องนั่งแบบโถนั่งเหมือนเก้าอี้ ซึ่งพฤติกรรมในปัจจุบันได้เปลี่ยนไป เป็นแบบตะวันตกมากขึ้น เราจึงเห็นส้วมนั่งยอง ๆ มีน้อยลง ในขณะที่ส้วมแบบโถนั่งชักโครก มีจำนวนเพิ่มขึ้นทั้งในเมืองและในส่วนภูมิภาค[37] ซึ่งก็มีคนไทยบางส่วนมีความเคยชินกับการใช้ส้วมแบบนั่งยอง ๆ และพบว่า 22% จะใช้เท้าเหยียบลงบนที่นั่งบนส้วมแบบชักโครก[38][ลิงก์เสีย]

ส่วนเรื่องการต่อคิวส้วมสาธารณะ ในบ้านเรามักจะต่อคิวเข้าแถวเป็นห้อง ๆ แต่ในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศ เขาจะเข้าคิวเดียวตรงทางเข้าเลย พอห้องไหนว่าง คนแรกในแถวก็เข้าไป การเข้าแบบนี้มีข้อดีหลายอย่างคือ ไม่ต้องรอนานและเป็นไปตามสิทธิ คือ มาก่อน เข้าก่อน[2]

สำนวนไทย แก้

มีสำนวนภาษาไทยที่ใช้ส้วมในคำเปรียบเปรย ซึ่งมีความหมายในแง่ลบ ในสำนวนโบราณ "เป็นขี้เจ็ดเว็จ" มีความหมายว่า "เกลียดที่สุด" เปรียบกับขี้ซึ่งเป็นของน่าเกลียด "เว็จ" หมายถึงส้วม ลำพังขี้เพียงนิดเดียวคนก็เกลียดแล้ว ถ้ามีจำนวนมากถึง "เจ็ดเว็จ" ก็มีความหมายว่า ยิ่งเกลียดมากขึ้น[39]

และยังมีการนำห้องส้วม ในการเปรียบเปรยสิ่งที่น่ารังเกียจ คนโบราณนำไปเปรียบเปรยกับลูกผู้หญิงว่า "มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน" กล่าวคือห้องส้วมนั้นส่งกลิ่นเน่าเหม็นอยู่แล้วหากอยู่หน้าบ้านก็จะส่งกลิ่นเหม็นประจานเจ้าของได้ตลอดเวลา เปรียบกับลูกสาวบ้านไหนหากเผลอไม่ดูแลให้ดีก็อาจจะสร้างความอับอายขายหน้าให้แก่พ่อแม่ เช่นการท้องไม่มีพ่อหรือท้องก่อนแต่งซึ่งคนสมัยก่อนถือว่าเป็นเรื่องเสื่อมเสีย[40]

ส้วมในงานประพันธ์ แก้

ในส่วนการประพันธ์ มีการเอ่ยถึงส้วมอยู่บ้าง ทั้งในวรรณคดีและบทเพลง จากวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน มีกล่าวถึงส้วมอยู่ 2 ตอน คือ ขุนช้างใส่ความขุนแผนว่า เป็นกบฏต่อพระพันวษา ข้อหาหนึ่งในจำนวนนั้นคือ ซ่องสุมผู้คนและบังอาจทำส้วมไว้ในที่อยู่ คือ การมีส้วมอยู่บนบ้านซึ่งสมัยก่อน ไม่นิยมเอาส้วม หรือ "เว็จ" มาไว้ในตัวบ้าน ดังที่ว่า

มันปลูกตำหนักป่าพลับพลาแรม      ค่ายป้อมล้อมแหลมเป็นหน้าฉาน
ตั้งที่ลงบังคนชอบกลการ      นานไปก็จะเกิดกลีเมือง[41]

อีกตอนหนึ่งนางวันทองตัดเป็นตัดตายขุนแผน ตอนหึงนางลาวทอง นางเอกที่หัวใจสลายเพราะผัวรักอย่างวันทอง ยังระบายออกมาด้วยความคั่งแค้นว่า

ทั้งน้ำมันกระจกกระแจะแป้ง      จะทิ้งไว้ให้แห้งเป็นสะเก็ด
ให้สิ้นวายหายชาติของคนเท็จ      จะขุดเว็จฟื้นดินให้สิ้นรอย

จากบทความ "ศรีสำราญ" ในนิตยสารสกุลไทย เขียนโดย จุลลดา ภักดีภูมินทร์ ขยายความไว้ว่า

"ส้วมที่เป็นส้วมหลุม จะอยู่นอกบ้าน พอเต็มก็เอาดินกลบจึงย้ายแล้วปลูกเว็จใหม่ ส้วมที่ขุนแผนถ่ายทุกข์เอาไว้ ตั้งแต่ตอนแต่งงานอยู่กินเป็นผัวเมีย กระทั่งขุนแผนไปราชการงานศึกเป็นแรมปี จนของเสียที่ขุนแผนที่นอกใจถ่ายทิ้งเอาไว้เนิ่นนาน กลมกลืนกลายเป็นเนื้อเดียวกับดินใต้เว็จไปเรียบร้อยแล้ว นางวันทองก็ไม่ละ บอกว่าจะยอมลงทุนลงแรง ขุดดินแล้วพรวนเสียใหม่ กลบร่องกลิ่นรอยเก่าเสียให้สิ้น ไม่ให้มีแม้แต่กลิ่นปฏิกูลของผัวตัวดี ลอยละล่องฟ่องฟุ้งเป็นเสนียดกับบ้านและจมูกของตัวนางวันทองอีกต่อไป"[42]

ส่วนในวัฒนธรรมสมัยนิยม มีผู้ประพันธ์เพลงเกี่ยวกับส้วมอยู่บ้าง เน้นความตลกขบขัน อย่างเพลง "สุขาอยู่หนใด" ขับร้องโดยชัยรัตน์ เทียบเทียม เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง วัยอลวน ภาพยนตร์ไทยในปี 2519 นำแสดงโดย ไพโรจน์ สังวริบุตรและลลนา สุลาวัลย์ เพลง "สุขาอยู่หนใด" ประพันธ์โดย ปิยพล เอนกกุล เป็นเพลงที่ร้องกันเล่น ๆ ในหมู่เพื่อนฝูง เอ๋ ไพโรจน์ได้เอาเพลงนี้มาให้ชัยรัตน์เรียบเรียงใหม่ เล่นกับกีตาร์โปร่งตัวเดียว จากนั้นคุณเปี๊ยก โปสเตอร์ ผู้กำกับ ก็เอาเพลงนี้มาใส่ในภาพยนตร์ด้วย ทำให้เป็นที่นิยมในที่สุด[43]

อีกเพลงหนึ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับส้วมคือเพลง "กู้ส้วม" เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง โกยเถอะเกย์ ของผู้กำกับยุทธเลิศ สิปปภาค นำแสดงโดย เสนาหอย เกียรติศักดิ์ อุดมนาค และ เปิ้ล นาคร เพลงนี้ร้องโดยเสนาหอย และท่อนแร็ปโดยดาจิม และมีเปิ้ล นาคร ที่ช่วยร้อง 2 ประโยค เพลงมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิของเพศ และปัญหาการเข้าห้องส้วมสาธารณะของชาวเกย์ เป็นเพลงที่เน้นความตลกขบขันเป็นหลัก[44]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. มนฤทัย ไชยวิเศษ. ส้วมและเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย. สำนักพิมพ์มติชน ISBN : 974-322-627-3
  2. 2.0 2.1 "ส้วม" นั้น สำคัญไฉน เก็บถาวร 2008-02-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
  3. บุญต่วน แก้วปินตา. ส้วม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมในศตวรรษที่ 21. วารสารอนามัยสิ่งแวดล้อม 2545; 7 (1) :44-59.
  4. 4.0 4.1 4.2 วิวัฒนาการของระบบเทคโนโลยี ว่าด้วยเรื่อง ส้วม เดลินิวส์
  5. 5.0 5.1 5.2 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. การขับถ่ายของชาววัง. ศิลปวัฒนธรรม 2548; 26 (9) :32-40.
  6. จดหมายเหตุลาลูแบร์ ฉบับสมบูรณ์, แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร, 2510
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 จักรพันธุ์ กังวาฬ , ส้วม (ร่วมสมัย)...ใครคิดว่าไม่สำคัญ (1) เก็บถาวร 2009-05-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  8. พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548
  9. คึกฤทธิ์ ปราโมช. สี่แผ่นดิน เล่มหนึ่ง. สำนักพิมพ์ดอกหญ้า 2000 พิมพ์ครั้งที่ 12 กรุงเทพฯ โอ เอ็น จี การพิมพ์ 2544 หน้า 39.
  10. จุลลดา ภักดีภูมินทร์. ที่ลงพระบังคน. สกุลไทย ฉบับที่ 2478 ปีที่ 48 วันอังคารที่ 16 เมษายน 2545.
  11. ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมอันเนื่องมาจากการเสด็จประพาสยุโรป[ลิงก์เสีย]
  12. "ฮิวเมอริสต์" ฮิวเมอริสต์ยั่วยิ้ม กรุงเทพฯ; ดอกหญ้า 2543 พิมพ์ครั้งที่ 1 ธรรมสาร จำกัด 2544 หน้า 7-16.
  13. วิชัย เทียนถาวร, "ส้วม"นั้น สำคัญไฉน? matichon.co.th
  14. ชัยโรจน์ ขุมมงคล ,เล่าเรื่องส้วมไทย เก็บถาวร 2012-07-13 ที่ archive.today
  15. วาระส้วมแห่งชาติ! สธ.เล็งชง ครม.เปลี่ยนส้วมซึมเป็นชักโครกทั่วประเทศ เก็บถาวร 2013-02-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ASTVผู้จัดการออนไลน์
  16. อวสาน ส้วมนั่งยอง!!! ครม.ประกาศ ปี′59 ทุกครัวเรือนต้องใช้ส้วมชักโครก 90% รับสังคมผู้สูงวัย matichon.co.th
  17. 17.0 17.1 17.2 17.3 "วิวัฒนาการส้วมไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-21. สืบค้นเมื่อ 2007-10-10.
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 จักรพันธุ์ กังวาฬ , ส้วม (ร่วมสมัย)...ใครคิดว่าไม่สำคัญ (2) เก็บถาวร 2009-05-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  19. "GM Vol.21 No.335 June 2006". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-28. สืบค้นเมื่อ 2007-09-20.
  20. "สถานการณ์ส้วมสาธารณะไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-28. สืบค้นเมื่อ 2007-10-31.
  21. สั่งล้างใหญ่ "ส้วมไทย" - รับถก "ส้วมโลก" เก็บถาวร 2016-03-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน หนังสือพิมพ์ข่าวสด
  22. ส้วมโลก 2006 โหมโรงข้ามปีแต่ยังขาดสีสัน
  23. โชว์สารพัดส้วมในงานส้วมโลก เผยส้วมสาธารณะไทยผ่านมาตรฐานร้อยละ 20[ลิงก์เสีย]
  24. ส้วมสาธารณะตกมาตรฐานเกินครึ่ง[ลิงก์เสีย] posttoday.com
  25. อวสาน ส้วมนั่งยอง!!! ครม.ประกาศ ปี′59 ทุกครัวเรือนต้องใช้ส้วมชักโครก 90% รับสังคมผู้สูงวัย matichon.co.th
  26. แนวทางส่งเสริมการสร้างส้วมสาธารณะเพื่อคนทุกกลุ่ม[ลิงก์เสีย]
  27. "สธ.สำรวจมีส้วมสำหรับผู้พิการเพียงร้อยละ 11 ส่วนใหญ่ใช้งานไม่ได้ พร้อมเน้นใช้ "ส้วมเสมอภาค"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2007-10-31.
  28. ไทยโหมโรง"ส้วมโลก"ข้ามปี ดึงกลุ่มสุขภัณฑ์แจมออกบูท[ลิงก์เสีย] : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2548
  29. การประชุมส้วมโลก (World Toilet Expo and Forum 2006 เก็บถาวร 2007-05-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
  30. การประชุมส้วมโลก ชื่อแปลก แต่แบกความหวังของคนไทย เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ThaisNews.com
  31. "สายสืบส้วม (Toilet Spy)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-25. สืบค้นเมื่อ 2007-09-22.
  32. เรื่องเหม็น ๆ และไม่ขำ เก็บถาวร 2016-03-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน bangkokbiznews.com
  33. การจัดการเรื่องส้วมและสิ่งปฏิกูลตามกฎหมายไทย
  34. "กฎกระทรวง ฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-31. สืบค้นเมื่อ 2007-09-20.
  35. กฎกระทรวง กำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ. 2548
  36. ส้วมยิ่งลักษณ์ต้อง “ชักโครก” ออก พ.ร.ฎ.กำหนดมาตรฐาน อีก 120 วันยกเลิกส้วมซึม เก็บถาวร 2013-04-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ASTVผู้จัดการออนไลน์ 24 เมษายน 2556
  37. เข้ากันบ่อย..เจอกันทุกวัน ใครจะรู้ว่า ส้วม..มีที่มาอย่างไร[ลิงก์เสีย] Modernine TV
  38. สอนเด็กนั่งถ่าย รับถกส้วมโลก ชี้คนไทยใช้ไม่เป็น อันตราย-สกปรก
  39. "สำนวนเก่าที่เลิกใช้แล้ว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-25. สืบค้นเมื่อ 2008-07-25.
  40. เธอไม่ใช่สิ่งเหม็นคาว แต่คือลูกสาวที่พ่อแม่รัก
  41. คึกฤทธิ์ ปราโมช. ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่. สำนักพิมพ์ดอกหญ้า 2000 พิมพ์ครั้งที่ 4 กรุงเทพฯ นวสาส์นการพิมพ์ 2547 หน้า 202.
  42. จุลลดา ภักดีภูมินทร์. ถนนสิบสามห้าง "ศรีสำราญ" สกุลไทย ฉบับที่ 2477 ปีที่ 48 วันอังคารที่ 9 เมษายน 2545.
  43. "โอ ชัยรัตน์ เทียบเทียม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-21. สืบค้นเมื่อ 2007-11-01.
  44. หอยส่งกู้ส้วมลงโกยเถอะเกย์ โดย ข่าวสด วันอังคาร ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2550 02:01 น.