ขุนแผน
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
พระยากาญจนบุรี หรือบรรดาศักดิ์เดิม ขุนแผนแสนสะท้าน คนทั่วไปมักรู้จักในนาม ขุนแผน เป็นตัวเอกของวรรณคดีไทยเรื่อง ขุนช้างขุนแผน
ขุนแผน | |
---|---|
ตัวละครใน ขุนช้างขุนแผน | |
![]() รูปปั้นขุนแผนที่วัดแค | |
ข้อมูลตัวละครในเรื่อง | |
ชื่อเต็ม | พลายแก้ว, ขุนแผนแสนสะท้าน พระสุรินทฦๅชัย (ปลัดเมืองกาญจนบุรี) พระยากาญจนบุรี |
เพศ | ชาย |
ตำแหน่ง | เจ้าเมืองกาญจนบุรี |
อาชีพ | ทหาร, ขุนนาง |
อาวุธ | ดาบฟ้าฟื้น |
คู่สมรส | วันทอง สายทอง ลาวทอง บัวคลี่ แก้วกิริยา |
บุตร | กุมารทอง จมื่นไวยวรนารถ (พลายงาม) พลายณรงค์ หลวงฤทธิ์นายเวร (พลายชุมพล) |
ญาติ | ขุนไกรพลพ่าย (พ่อ) ทองประศรี (แม่) พลายเพชร (หลานชาย) พลายบัว (หลานชาย) พลายยง (หลานชาย) |
ศาสนา | ศาสนาพุทธ ศาสนาผี |
บ้านเกิด | สุพรรณบุรี |
สัญชาติ | กรุงศรีอยุธยา |


ประวัติ
แก้ขุนแผนเป็นลูกของขุนไกรพลพ่ายและทองประศรี เกิดที่เมืองสุพรรณบุรี ขุนไกรพลพ่ายเป็นทหารในสมเด็จพระพันวษา พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา รับราชการอยู่ที่เมืองสุพรรณบุรี ขุนไกรพลพ่ายทำความผิดจึงถูกสมเด็จพระพันวษาสั่งประหารชีวิต ทองประศรีกลัวความผิดจึงพาขุนแผนหนีไปอยู่บ้านญาติฝ่ายขุนไกรพลพ่ายที่เมืองกาญจนบุรี
พลายแก้วบวชเป็นเณรที่วัดส้มใหญ่จนสำเร็จวิชาเมื่ออายุ 15 ปี จากนั้นย้ายกลับมายังวัดป่าเลไลยก์วรวิหารโดยเป็นศิษย์ของสมภารมี แล้วไปเรียนต่อที่วัดแคโดยเป็นศิษย์ของสมภารคง และได้พบกับขุนช้างและพิมพิลาไลยซึ่งเป็นเพื่อนบ้านกันมาในสมัยเด็กอีกครั้ง พลายแก้วชอบพอกับพิมพิลาไลย สุดท้ายได้สึกจากเณรและได้พิมพิลาไลยรวมถึงสายทอง (พี่เลี้ยงของพิมพิลาไลย) เป็นภรรยาในคืนเดียวกัน
พลายแก้วแต่งงานกับพิมพิลาไลยได้ไม่นานก็ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระพันวษาไปตีเมืองเชียงทองและเชียงอินทร์ พลายแก้วได้ลาวทอง ลูกสาวนายแคว้นบ้านจอมทองมาเป็นภรรยาคนที่สาม หลังจากรบชนะกลับมา สมเด็จพระพันวษาได้ปูนบำเหน็จให้เป็น ขุนแผนแสนสะท้าน ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระกาญจนบุรี และ พระยากาญจนบุรี เจ้าเมืองผู้ครองกาญจนบุรี
ภรรยาและบุตร
แก้ขุนแผนมีภรรยาทั้งหมด 5 คน เรียงตามลำดับดังนี้
- พิมพิลาไลยหรือวันทอง (ลูกสาวของศรีประจันกับพันศรโยธา) มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือพลายงาม
- สายทอง พี่เลี้ยงของพิมพิลาไลย
- ลาวทอง (ลูกสาวของศรีเงินยวงกับแสนคำแมนนายบ้านแห่งจอมทอง) มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือพลายณรงค์
- บัวคลี่ (ลูกสาวของหมื่นหาญกับสีจันทร์) มีลูกกับขุนแผนหนึ่งคน แต่ขุนแผนได้ผ่าท้องออกมาก่อนเกิด และปลุกเสกเป็นกุมารทอง
- แก้วกิริยา (ลูกสาวของพระยาสุโขทัยกับเพ็ญจันทร์) มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือพลายชุมพล
คาถาและของวิเศษ
แก้ขุนแผนได้เรียนรู้คาถาวิชาต่าง ๆ ในสมัยที่บวชเป็นเณร ตัวอย่างคาถาที่มีได้แก่คาถามหาละลวย วิชาคงกระพันชาตรี วิชามหาเสน่ห์ วิชาสะเดาะกลอน การเสกกุมารทอง การควบคุมผีพรายหรือโหงพราย
นอกจากนี้ขุนแผนยังมีของวิเศษ 3 อย่างสำคัญ ดังนี้
- ม้าสีหมอก
- เป็นม้าแสนรู้ พาหนะประจำตัวขุนแผน มีแม่เป็นม้าเทศ พ่อเป็นม้าน้ำ ตัวสีหมอก ตาสีดำ สีหมอกเป็นม้ารุ่นหนุ่มจึงซุกซน เที่ยวไล่กัดม้าตัวอื่น ๆ อยู่เสมอ ถูกคนดูแลม้าไล่ตี ขุนแผนไปพบม้าสีหมอกที่เพชรบุรี เห็นมีลักษณะดีต้องตามตำรา จึงขอซื้อแล้วเสกหญ้าให้สีหมอกกิน สีหมอกจึงเชื่องติดตามขุนแผนไปแต่โดยดี
- ดาบฟ้าฟื้น
ดาบที่สร้างจากเหล็กไหล 3 ชนิดในถ้ำวิเศษ สีเหล็กเป็นสีปีกแมลงทับ คมกริบ สามารถฟันศัตรูให้ขาดเป็นสองท่อนได้ในไม่กี่เพลงดาบ สามารถใช้พลังจากสายฟ้าได้ด้วยพลังของเหล็กไหล และมีพลังในการปัดเป่า ขจัดสิ่งอัปมงคล อาคมฝ่ายดำ ภูตผีสัมภเวสีฝ่ายชั่วร้าย
ลูกของพลายแก้วกับบัวคลี่ที่ตายตั้งแต่ตอนที่พลายแก้วผ่าศพออกมาทำพิธี เป็นผู้ช่วยคนสำคัญและลูกคนแรก จะปรากฎตัวเมื่อขุนแผนมอบภารกิจให้หรือในยามที่พลายงามตกอยู่ในเหตุคับขัน
วิญญาณทหารเก่าของขุนแผนที่ตายในสงคราม มีบทบาทเป็นผู้ช่วยเช่นเดียวกันกับกุมารทอง
ส่วนหนึ่งบทเสภาจากวรรณคดีขุนช้าง-ขุนแผนที่แต่งขึ้น ซึ่งกล่าวถึงการเรียนวิชาอาคมของขุนแผน เป็นบทเสภาที่ไพเราะแสดงถึงพรสวรรค์และความชำนาญในการใช้คาถาอาคมของขุนแผน
ด้านการเรียนวิชาอาคมนั้นก็ตกทอดมาถึงพลายงาม ลูกของของขุนแผนกับวันทองด้วย ครั้งเมื่อเดินทางหนีออกจากบ้านของขุนช้างจากสุพรรณบุรีเพื่อไปอยู่กับย่าคือทองประศรีที่กาญจนบุรี โดยเรียนผ่านตำราหนังสือต่าง ๆ ที่เป็นของขุนแผนที่เก็บไว้ในตู้ที่บ้านของทองประศรี ในการเรียนนั้นพลายงามมีทองประศรีคอยสอนให้ ดังปรากฏในกลอนบทที่ว่า
อันเรื่องราวกล่าวความพลายงามน้อย | อยเรียบร้อยเรียนรู้ครูทองประศรี | |
ทั้งขอมไทยได้สิ้นก็ยินดี | เรียนคัมภีร์พุทธเพทพระเวทมนตร์ | |
ปัถมังตั้งตัวนะปัดตลอด | แล้วถอนถอดถูกต้องเป็นล่องหน | |
หัวใจกริดอิทธิเจเสน่ห์กล | แล้วเล่ามนต์เสกขมิ้นกินน้ำมัน | |
เข้าในห้องลองวิชาประสาเด็ก | แทงจนเหล็กแหลมลู่ยู่ขยั้น | |
มหาทะมื่นยืนยงคงกระพัน | ทั้งเลขยันต์ลากเหมือนไม่เคลื่อนคลาย | |
แล้วทำตัวหัวใจอิติปิโส | สะเดาะโซ่ตรวนได้ดังใจหมาย | |
สะกดคนมนต์จังงังกำบังกาย | เมฆฉายสูรย์จันทร์ขยันดี | |
ทั้งเรียนธรรมกรรมฐานนิพพานสูตร | ร้องเรียกภูตพรายปราบกำราบผี | |
ผูกพยนต์หุ่นหญ้าเข้าราวี | ทองประศรีสอนหลานชำนาญมา |
อาจารย์
แก้- สมภารบุญ วัดส้มใหญ่ กาญจนบุรี
- สมภารมี วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี
- สมภารคง วัดแค ต.รั้วใหญ่ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี
ผู้รับบทเป็นขุนแผนในสื่ออื่น
แก้ผู้รับบทเป็นขุนแผน | เรื่อง | ปี | หมายเหตุ |
---|---|---|---|
ศิริ ผิวสังข์ | ภาพยนตร์ ขุนช้างขุนแผน | พ.ศ. 2477 | |
ภาพยนตร์ ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา | พ.ศ. 2478 | ||
ภาพยนตร์ ขุนช้างขุนแผน ภาค 4 ตอน ขุนช้างกินเลี้ยง-สร้อยฟ้าทำเสน่ห์ | พ.ศ. 2481 | ศิริ ผิวสังข์ รับบทเป็นขุนแผนและจมื่นไวยฯ [1][2] | |
ภาพยนตร์ ขุนช้างขุนแผน ตอน จับเสน่ห์เถรขวาด | พ.ศ. 2492 | ||
สมควร กระจ่างศาสตร์ | ภาพยนตร์ พิมพิลาไลย | พ.ศ. 2498 | |
ส. อาสนจินดา | ภาพยนตร์ สร้อยฟ้าศรีมาลาลุยไฟ | พ.ศ. 2499 | |
แมน ธีระพล [3] | ภาพยนตร์ ยอดชายชาตรี | พ.ศ. 2503 | |
ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา | ภาพยนตร์ ขุนช้างขุนแผน ตอน พิมพิลาไลเข้าหอ | พ.ศ. 2504 | |
มิตร ชัยบัญชา | ภาพยนตร์ พิมพิลาไล | พ.ศ. 2509 | |
สมชาย ศรีภูมิ | ละครโทรทัศน์ ขุนแผนผจญภัย | ประมาณปี พ.ศ. 2513-2514 | |
ไพโรจน์ ใจสิงห์ [4] | ละครโทรทัศน์ พิมพิลาไลย | พ.ศ. 2522-2523 | |
สมบัติ เมทะนี | ภาพยนตร์ ขุนช้างขุนแผน ตอน ปราบจระเข้เถนขวาด | พ.ศ. 2525 | |
นิรุตติ์ ศิริจรรยา [5] | ละครโทรทัศน์ พิมพิลาไลย | พ.ศ. 2528 | |
อติเทพ ชดช้อย | ละครโทรทัศน์ ขุนช้าง ขุนแผน | พ.ศ. 2542 | |
วัชระ ตังคะประเสริฐ [6] | ภาพยนตร์ ขุนแผน | พ.ศ. 2545 | |
วีรคณิศร์ กานต์วัฒนกุล | ละครเวที วันทอง เดอะมิวสิคัล | พ.ศ. 2558 | |
ณ ภพ ประสบลาภ | ละครโทรทัศน์ ขุนแผนแสนสะท้าน | พ.ศ. 2560 | เป็นละครที่ดำเนินเรื่องหลังจากที่ขุนแผนได้รับปูนบำเหน็จเป็นขุนแผนแสนสะท้านและได้เข้ามาเป็นเจ้าเมืองด่านกาญจนบุรี [7] |
มาริโอ้ เมาเร่อ | ภาพยนตร์ ขุนแผน ฟ้าฟื้น | พ.ศ. 2562 | |
ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ | ละครโทรทัศน์ วันทอง | พ.ศ. 2564 | |
ปริญ สุภารัตน์ | ภาพยนตร์ วันทอง | พ.ศ. 2569 |
อ้างอิง
แก้- ↑ ภาพยนตร์ ‘ขุนช้างขุนแผน’ ในอดีต กับตอนฆาตกรรมนางบัวคลี่ที่เสนอความรุนแรงในครอบครัว
- ↑ ประวัติ ผลงาน ศิริ ผิวสังข์ - THMDb
- ↑ (กระทู้บันทึกประวัติศาสตร์) สำรวจประวัติการสร้าง "ขุนช้างขุนแผน" สร้างมาแล้วกี่เวอร์ชั่น คุณชอบเวอร์ชั่นไหนบ้าง
- ↑ ละครโทรทัศน์ พิมพิลาไลย (2522-2523)
- ↑ ละครโทรทัศน์ พิมพิลาไลย (2528)
- ↑ ขุนแผน (2545)
- ↑ เปิดกรุส่องดารา : 14 นักรัก! "ขุนแผนแสนสะท้าน" (มีคลิป)