พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ (อังกฤษ: Tabinshwehti, พม่า: တပင်ရွှေထီး, [dəbɪ̀ɴ ʃwè tʰí]; สำเนียงพม่าออกว่า "ดะบิ่งเฉฺว่ที่") เป็นพระมหากษัตริย์พม่ารัชกาลที่ 2 ในราชวงศ์ตองอู เป็นพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวในพระเจ้าเมงจีโย ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ตองอู
พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ | |
---|---|
นัตพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ | |
พระเจ้าหงสาวดี | |
ครองราชย์ | 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2073 – 30 เมษายน พ.ศ. 2093 |
ก่อนหน้า | พระเจ้าเมงจีโย |
ถัดไป | พระเจ้าบุเรงนอง |
พระราชสมภพ | 16 เมษายน ค.ศ. 1516 วันพุธ ตองอู |
สวรรคต | 30 เมษายน ค.ศ. 1550 วันพุธ ใกล้ Pantanaw | (34 ปี)
ฝังพระศพ | ใกล้ Pantanaw |
มเหสี | พระนางธัมมเทวี พระนางขิ่นเมียะ พระนางเขมโน |
พระราชบุตร | พระเจ้ามินเลยา พระนางหงสาวดีมิพยา |
ราชวงศ์ | ราชวงศ์ตองอู |
พระราชบิดา | พระเจ้าเมงจีโย |
พระราชมารดา | พระนางราชเทวี |
ศาสนา | พุทธเถรวาท |
พระนาม
แก้เอกสารทางประวัติศาสตร์ภาษาไทย ออกพระนามพระองค์ต่างกันดังนี้[1]
- พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ออกพระนามว่า พญาหงษาปังเสวกี[2]
- พระราชพงศาวดารพม่า ออกพระนามว่า พระเจ้าตะเบงชเวตี้[3]
- พงศาวดารมอญพม่า ออกพระนามว่าพระเจ้าฝรั่งมังโสตถิ์ หรือ พระเจ้าฝรั่งมังส่วย[4]
นอกจากนี้ยังมีพระสมัญญาอื่น ๆ อีก เช่น พระเจ้าหงสาวดีลิ้นดำ[1]
พระราชประวัติ
แก้ทรงพระเยาว์
แก้ตามมหาราชวงศ์พงศาวดารพม่า ระบุว่า พระราชสมภพเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2059 ที่เมืองตองอู ก่อนพระราชสมภพมีลางบอกเหตุ ปรากฏฝนตกลงมาที่ใดก็เกิดลุกเป็นไฟ โหรหลวงทำนายว่าเป็นลางมงคล พระโอรสที่จะประสูติเป็นผู้มีบุญญาธิการ ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระราชบิดาทั้งที่มีพระชนมายุไม่ถึง 20 พรรษา มีพระนามว่า "ตะเบ็งเฉวฺ่ที" (ไทยเรียกเพี้ยนเป็น "ตะเบ็งชะเวตี้" พระนามมีความหมายแปลได้ว่า สุวรรณเอกฉัตร - ร่มทอง) และภายหลังขึ้นครองราชย์ พระนามได้เปลี่ยนเป็น "เมงตะยาเฉวฺ่ที" มีความหมายว่า "พระมหาธรรมราชาฉัตรทอง" (คำว่าเมงตะยานี้เป็นที่มาของชื่อมังตราในนิยายผู้ชนะสิบทิศ) มีมเหสี 2 พระองค์ นามว่า ขิ่นเมียะ และขิ่นโพงเซวฺ ทรงครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2079-2093
การสงคราม
แก้ทรงได้รับการกล่าวขานว่าเป็นกษัตริย์นักรบที่เก่งกาจ เพราะตลอดรัชกาลพระองค์ทำสงครามเป็นส่วนใหญ่ ก่อนขึ้นครองราชย์ เมื่อเจริญพระชนมพรรษาขึ้นได้ทรงกระทำพิธีเจาะพระกรรณ (เจาะหู) อันเป็นราชประเพณีของพม่าเช่นเดียวกับพระราชพิธีโสกันต์ของไทย โดยเลือกที่จะทำพิธีที่เจดีย์ชเวมอดอ (พระธาตุมุเตา) กลางเมืองหงสาวดีของมอญ โดยมีทหารคุ้มกันแค่ 500 นาย โดยไม่ทรงหวาดหวั่นทหารมอญนับหมื่นที่ล้อมอยู่ จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว และเมื่อทรงครองราชย์ พระองค์ได้ทำการสงครามแผ่ขยายอาณาจักรตองอูไปตามหัวเมืองต่าง ๆ เช่น หงสาวดี เมาะตะมะ แล้วเสด็จกลับมากรุงหงสาวดี ราชาภิเษกเป็นพระเจ้าหงสาวดีในปี พ.ศ. 2088[5] และสถาปนามินจีเสว่เป็นพระเจ้าเมงเยสีหตูครองเมืองตองอูแทนในฐานะเจ้าเมืองออก[6] ต่อมาทรงพิชิตเมืองแปรได้ก็สำเร็จโทษพระเจ้ามังฆ้องและพระมเหสีรวมทั้งขุนนางผู้ใหญ่ทั้งหมด แล้วสถาปนานิต่าเป็นพระเจ้าตะโดธรรมราชาที่ 1 ครองเมืองแปรแทน แม้หลังจากนั้นจะทรงตีกรุงอังวะและกรุงศรีอยุธยาไม่สำเร็จ แต่ยังทรงได้เมืองยะไข่[7] พะสิม เป็นต้น ทำให้สามารถขยายอาณาจักรครอบคุลมปากแม่น้ำอิรวดีและแม่น้ำสาละวินได้ นับเป็นกษัตริย์พม่าพระองค์แรกที่เอาชนะหงสาวดี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของชาวมอญคู่ปรับสำคัญของชาวพม่าในอดีตได้
การสวรรคต
แก้หลังจากสิ้นสงครามคราวเสียสมเด็จพระสุริโยทัยได้เพียง 3 เดือน ตามพงศาวดารเล่าว่า พระองค์เสวยแต่น้ำจัณฑ์จนเสียสติ และสวรรคตในวันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2093 ขณะพระชนมายุ 34 พรรษา เพราะถูกทหารรับใช้คนสนิทชาวมอญชื่อสมิงสอตุตลอบปลงพระชนม์ด้วยการตัดพระศอระหว่างเสด็จไปคล้องช้าง ทำให้ปลอดทหารผู้ภักดีคอยถวายอารักขา
ด้วยชีวประวัติอันพิสดารและน่าสนใจ เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์พม่าช่วงนี้เป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนชาวไทยชื่อยาขอบ ได้หยิบยกขึ้นมาแต่งเป็นนิยายพงศาวดารชื่อดัง คือ ผู้ชนะสิบทิศ[8]
ปัจจุบัน พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ได้รับการนับถือเป็นนัตหลวง ลำดับที่ 17 ในบรรดานัตหลวง 37 องค์ ตามความเชื่อเรื่องผีนัตของพม่าอีกด้วย[9]
ในวัฒนธรรมร่วมสมัย
แก้ในภาพยนตร์ไทยเรื่อง สุริโยไท ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2544 ที่ว่าด้วยเรื่องการทำสงครามระหว่างกรุงหงสาวดีกับกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เป็นตัวละครสำคัญของฝ่ายตองอู โดยเป็นผู้นำทัพ ซึ่งบุคลิกของพระองค์ในภาพยนตร์เรื่องนี้จะแต่งหน้าจนขาววอก สวมเสื้อผ้าอาภรณ์ที่มีสีสันสวยงาม บาดตา และไว้ผมทรงมอญ (ทรงกะลาครอบ) ทั้งนี้เพราะผู้สร้าง คือ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ตีความเองตามลัทธิราชานิยมของตนเอง ที่มักมองกษัตริย์ฝ่ายตรงข้ามว่าพระองค์เป็นผู้มีจิตใจวิปริต หรือเป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ เพราะอ้างอิงมาจากบันทึกของนักเดินทางและนักเขียนชาวโปรตุเกสที่ชื่อ เฟอร์เนา เมนเดซ ปินโต ที่หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ใช้เป็นข้อมูลหลักในการเขียนบทภาพยนตร์ที่ระบุถึง ความโหดร้ายของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ในการจัดการกับเชลยเมืองแปรด้วยความรุนแรงและวิปริตขณะที่ตีเมืองแปรได้ และการที่แต่งหน้าขาวก็นำมาจากบุคลิกของนักเขียนแนวชาตินิยมชาวญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่ชื่อ มิชิมะ ยุกิโอะ นอกจากข้อมูลที่หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ให้ไว้ ณ ที่นี้ ไม่เคยพบหลักฐานอื่นว่าพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เป็นบุคคลวิปริตอีกเลย[1] [8] โดยในภาพยนตร์เรื่องสุริโยไท พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ รับบทโดย ศุภกิจ ตังทัตสวัสดิ์
นอกจากนี้ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ เป็นที่รู้จักในประเทศไทยจากนวนิยายเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ แต่งโดย โชติ แพร่พันธุ์ หรือ ยาขอบ ต่อมาได้มีการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครมากมาย โดยมีนักแสดงผู้รับบท พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ มังตรา ได้แก่
- ประจวบ ฤกษ์ยามดี จากภาพยนตร์เรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ ตอน ยอดขุนพล (2509), ผู้ชนะสิบทิศ ตอน บุเรงนองลั่นกลองรบ และ ผู้ชนะสิบทิศ ตอน บุเรงนองถล่มหงสาวดี (2510)
- พิศาล อัครเศรณี จากละครเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ (2523) ทางช่อง 9
- อัศวิน รัตนประชา จากละครเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ (2526) ทางช่อง 5
- ไตรภพ ลิมปพัทธ์ จากละครเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ (2532-33) ทางช่อง 3
- จิระ ด่านบวรเกียรติ จากละครเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ (2556) ทางช่อง 8
พงศาวลี
แก้พงศาวลีของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 1.2 "เทปสนทนาเรื่อง กำเนิดอยุธยาและวาระสุดท้ายสุริโยทัย, "คุยกันจันทร์ถึงศุกร์ กับ วีระ ธีรภัทร" โดย วีระ ธีรภัทร และ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ทางตรินิตี้เรดิโอ F.M. 97.00 Mhz". ชมรมพุทธคุณ.
- ↑ ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 407
- ↑ พระราชพงศาวดารพม่า, หน้า 118
- ↑ ประชุมพงศาวดารเล่ม 2, หน้า 38
- ↑ Htin Aung 1967: 111
- ↑ พระราชพงศาวดารพม่า, หน้า 120
- ↑ พระราชพงศาวดารพม่า, หน้า 122-134
- ↑ 8.0 8.1 บุเรงนอง (กะยอดินนรธา) กษัตริย์พม่าในโลกทัศน์ไทย โดย ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ (สำนักพิมพ์มติชน, มกราคม พ.ศ. 2550) ISBN 974-323-512-4
- ↑ DeCaroli, Robert (2004). M1 Haunting the Buddha: Indian Popular Religions and the Formation of Buddhism. Oxford University Press, US. ISBN 978-0-19-516838-9. สืบค้นเมื่อ 2008-09-13.
{{cite book}}
: ตรวจสอบค่า|url=
(help)
- บรรณานุกรม
- ประชุมพงศาวดารเล่ม 2 (ประชุมพงศาวดารภาค 1 ตอนปลาย และภาค 2). กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2506. 336 หน้า. หน้า 38-39.
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์. พระราชพงศาวดารพม่า. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2550. 1136 หน้า. หน้า 117-134. ISBN 978-974-7088-10-6
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
ก่อนหน้า | พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระเจ้าเมงจีโย | พระมหากษัตริย์ราชวงศ์ตองอู (อาณาจักรพม่ายุคที่ 2) (พ.ศ. 2073 - 2093) |
พระเจ้าบุเรงนอง | ||
พระเจ้าเมงจีโย | พระเจ้าตองอู (พ.ศ. 2073 - 2088) |
พระเจ้าเมงเยสีหตู | ||
พระเจ้าพะธิโรราชา | พระเจ้าหงสาวดี (พ.ศ. 2088 - 2093) |
สมิงสอตุต |