ตะโดธรรมราชาที่ 1
พระเจ้าตะโดธรรมราชาที่ 1 (พม่า: သတိုးဓမ္မရာဇာ, ออกเสียง: [ðədó dəma̰ jàzà]; ประมาณคริสต์ทศวรรษ 1490–1551) มีพระนามเดิมว่า นิต่า ทรงเริ่มเข้ารับราชการในราชสำนักตองอูตั้งแต่ พ.ศ. 2059 แล้วได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าแปรในฐานะกษัตริย์เมืองออกของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ผู้เป็นพระชามาดา[1]ระหว่าง พ.ศ. 2085 ถึง 2093 แต่ภายหลังพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้สวรรคตใน พ.ศ. 2093 ก็ประกาศตนเป็นเอกราช[2]ระหว่าง พ.ศ. 2093 ถึง 2094 ทรงพระนามว่า ตะโดตู (သတိုးသူ, [ðədó θù]) และประกาศไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าบุเรงนองผู้ที่ขึ้นสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ทำให้เกิดการสู้รบกันขึ้น หลังการสู้รบยาวนาน 6 เดือนกองทัพของพระเจ้าบุเรงนองก็โจมตีเมืองแปรแตกใน พ.ศ. 2094 และพระเจ้าตะโดธรรมราชาที่ 1 ก็ถูกสำเร็จโทษตามพระราชโองการของพระเจ้าบุเรงนอง
พระเจ้าตะโดธรรมราชา သတိုးဓမ္မရာဇာ ตะโดตู | |
---|---|
พระเจ้าแปร | |
ครองราชย์ | 30 เมษายน พ.ศ. 2093 – 30 สิงหาคม พ.ศ. 2094 (กษัตริย์) 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2085 – 30 เมษายน พ.ศ. 2093 (อุปราช) |
ก่อนหน้า | มังฆ้อง |
ถัดไป | ตะโดธรรมราชาที่ 2 |
ประสูติ | ราว พ.ศ. 2033 ตองอู |
สวรรคต | 30 สิงหาคม พ.ศ. 2094 (61 พรรษา) วันอาทิตย์ แรม 1 ค่ำ เดือน Thadingyut 913 ME[note 1] แปร |
พระราชบุตร | พระนางขิ่นเมี๊ยะ |
พระราชบิดา | เจ้าเมืองเจ๊ตโยบิน |
ศาสนา | พุทธเถรวาท |
ในพระราชพงศาวดารของไทยพระเจ้าตะโดธรรมราชาที่ 1 หรือพระเจ้าแปรมีบทบาทสำคัญในฐานะแม่ทัพผู้ฟันพระสุริโยทัยสวรรคตระหว่างกระทำยุทธหัตถีในสงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้[3]
ต้นพระชนม์
แก้พระเจ้าตะโดธรรมราชาที่ 1 ในอดีตเป็นสามัญชนนามว่า ชินนิต่า ( ရှင်နီတာ ) พ่อของพระองค์ คือ เจ้าเมืองเจ๊ตโยบิน ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2059[4] เขาได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในเจ็ดอำมาตย์ ของเจ้าชายตะเบ็งชะเวตี้แห่งตองอู เขาและครอบครัวของเขาย้ายเข้ามาอยู่ในเขตพระราชวังตองอู พร้อมอำมาตย์คนอื่น ๆ เช่น เมงจีสเว เป็นต้น เจ้าชายตะเบ็งชะเวตี้ทรงมีความรักและซาบซึ้งต่ออำมาตย์ของพระองค์อย่างลึกซึ้ง เมื่อพระองค์ขึ้นเป็นเถลิงราชย์ขึ้นเป็นกษัตริย์ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2073 ยุวกษัตริย์อายุ 14 ปีได้มอบรางวัลและพระราชทานตำแหน่งอันทรงเกียรติให้แก่อำมาตย์ของพระองค์ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงรับพระสหายในวัยเด็กของพระองค์สองคน คือ ขิ่นโปนโซ (ลูกสาวของเมงจีสเว) และ ขิ่นเมี๊ยะ (ลูกสาวของนิต่า) ขึ้นเป็นพระมเหสีของพระองค์ และทำให้ทั้งสองได้ดำรงตำแหน่งในราชวงศ์ฐานะ พระสัสสุระของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เมงจีสเว ขึ้นดำรงตำแหน่งเมงเยสีหตู ปกครองเมืองตองอู ส่วนนิต่า ได้ดำรงตำแหน่ง ตะโดธรรมราชา ครองเมืองแปร[5][6]
พระเจ้าแปรในฐานะประเทศราช
แก้เส้นทางการขึ้นครองราชย์
แก้หลังการล่มสลายของอาณาจักรพุกาม พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงปรารถนาจะขยายพระราชอำนาจ แห่งอาณาจักรตองอูให้แผ่ไพศาล ทรงเริ่มประกาศสงครามเพื่อรวบรวมอาณาจักร โดยทรงมีเมงเยสีหตูและตะโดธรรมราชาเป็นที่ปรึกษาในราชการทั้งการปกครองและการศึกสงคราม แต่ทั้งสองนั้นก็มิได้เชี่ยวชาญยุทธวิธีนัก จึงมักได้รับโปรดเกล้าให้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อทรงกรีฑาทัพไปทำศึก พระองค์เคยสำเร็จราชการกรุงหงสาวดีแทนพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ 2 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ไปตีเมืองเมาะตะมะ รบกับสอพินยา ในปี พ.ศ. 2083 ครั้งที่ 2 เมื่อทรงยกทัพไปตีเมืองแปร รบกับกับพระเจ้ามังฆ้อง เมื่อสำเร็จโทษพระเจ้ามังฆ้องแล้ว ก็จึงตั้งตะโดธรรมราชาให้ครองเมืองแปร[7]
สงครามกับอาณาจักรสยาม
แก้ในปี พ.ศ. 2091 พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงกรีฑาทัพใหญ่ หมายจะพิชิตกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในทัพก็มีพระเจ้าแปรตะโดธรรมราชาและเมงเยสีหตูนำทัพมาร่วมด้วย[8] ในสงครามครั้งนั้น พระเจ้าแปรทรงเป็นทัพหน้า เข้าตีทัพของพระมหาธรรมราชา เจ้าเมืองพิษณุโลก แล้วล่าถอยมา ซึ่งมีทัพของพระยาพะสิม และพระอุปราชบุเรงนองซุ่มรออยู่ ทัพเมืองพิษณุโลกต้องกลศึกกระหนาบ ทัพหลวงของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้นำทัพเข้าสมทบตีทัพพระมหาธรรมราชา ขณะนั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดินำทัพหลวงมาสมทบตีโต้ และได้กระทำยุทธหัตถีกับพระเจ้าแปร พระองค์ทรงเสียทีพระเจ้าแปร เบี่ยงพระคชาธารหนี สมเด็จพระสุริโยทัย เบี่ยงพระคชาธารเข้ามารับแทน และถูกพระเจ้าแปรฟันด้วยพระแสงของ้าว สิ้นพระชนม์ขาดคอช้าง พระบรมดิลกเข้าสัประยุทธ์กับพระเจ้าแปร ก็ถูกฟันขาดคอช้างเช่นเดียวกัน อย่างไรเสียเหตุการณ์คราวเสียพระสุริโยทัยนี้ไม่ปรากฏพบในพงศาวดารพม่า
หลังจากที่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ถอยทัพออกจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว ทรงขึ้นไปตีหัวเมืองเหนือ พระเจ้าแปร เข้าตีเมืองกำแพงเพชร แต่มิสามารถหักเอาเมืองได้ ฝ่ายอยุธยา นำโดยพระมหาธรรมราชา พระราเมศวร พระมหินทร์ นำทัพไปตามตีทัพหงสาวดี แต่ถูกกลศึกพระอุปราชบุเรงนองปิดล้อม[3][9] โดยมีทัพพระเจ้าแปร ไพร่พล 1,500 นาย ช้าง 50 เชือก ม้า 300 ตัว เป็นปีกขวา และเมื่อจับกุมทั้งหมดเป็นเชลยศึกได้ ทำให้สถานการณ์ขณะนั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ต้องส่งช้างเผือกไปไถ่พระโอรสและพระชามาดาออกมา[10][11]
พระเจ้าแปรในฐานะเอกราช
แก้หลังจากสงครามกับสยามเพียงหนึ่งปี วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2093 พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ก็ถูกลอบปลงพระชนม์โดยสมิงสอตุด เมื่อพระเจ้าตะโดธรรมราชาทราบข่าว จึงชิงประกาศตัวขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งพุกามประเทศ แทนที่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้[12][13] เถลิงพระนามว่า พระเจ้าตะโดตู ประกาศเป็นกษัตริย์เอกราชไม่ขึ้นกับหงสาวดี[12]
เมื่อบุเรงนอง เสร็จศึกจากเมืองทะละ ก็กลับมาปราบกบฏ กู้ราชบัลลังก์ ขึ้นเถลิงราชย์เป็นกษัตริย์ หลังทรงเสด็จไปปราบพระเจ้ามังฆ้อง (สีหตู) ซึ่งเป็นพระอนุชาแล้ว ก็ทรงยกทัพไปปราบเมืองแปร ทัพของพระเจ้าบุเรงนอง ไพร่พล 9,000 นาย ม้า 300 ตัว ช้าง 25 เชือก เข้าปิดล้อมเมืองแปร แต่ทัพเมืองแปรนั้นมีปืนใหญ่และปืนคาบศิลาที่ทรงอานุภาพยากแก่การเข้าตี สุดท้ายในวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2094 ก็ทรงถอยทัพออกจากแปร[14][15] แต่ในไม่ช้า พระองค์ก็ทรงนำทัพใหญ่กว่าครั้งก่อน เข้าปิดล้อมเมืองแปรอีกครั้ง พระเจ้าบุเรงนองทรงระดมไพร่พลเข้าโจมตีเมืองทั้งกลางวันกลางคืนมิได้ขาด วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2094 เวลาเที่ยงคืน การป้องกันภายในเมืองแปรระส่ำระสาย พระเจ้าบุเรงนองทรงบัญชาให้ พระเจ้ามังฆ้อง ทรงพระคชาธารเข้าชนประตูเมืองแปรจนประตูเมืองแตก[16] ทัพหงสาวดีจึงเข้าเมืองแปรได้ พระเจ้าตะโดตู จะทรงเสด็จหนีไปยะไข่ แต่ก็ถูกกุมตัวไว้ได้ พระเจ้าบุเรงนอง จึงสั่งสำเร็จโทษพระเจ้าตะโดตู แม้จะทรงมีพระยศเสมือนพระปิตุลาก็ตามที สิริพระชนมายุ 61 พรรษา[17] แล้วทรงราชาภิเษก นันทยอทา พระอนุชาของพระองค์ เป็นพระเจ้าแปรองค์ใหม่ คือ ตะโดธรรมราชาที่ 2[16]
หมายเหตุ
แก้- ↑ พงศาวดาร (Hmannan Vol. 2 2003: 268) บันทึกว่า พระองค์ถูกสำเร็จโทษในแรม 15 ค่ำ เดือน Tawthalin 913 ME (29 สิงหาคม ค.ศ. 1551) เวลาตี 2 เนื่องจากว่าเวลา 2:00 น. ในปฏิทินพม่าหมายถึงเที่ยงคืน ทำให้บันทึกว่าพระองค์ถูกสำเร็จโทษในวันถัดมา
อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ พระราชพงศาวดารพม่า, หน้า 123
- ↑ พระราชพงศาวดารพม่า, หน้า 136
- ↑ 3.0 3.1 Harvey 1925: 159
- ↑ Sein Lwin Lay 2006: 100
- ↑ Hmannan Vol. 2 2003: 183
- ↑ Sein Lwin Lay 2006: 126–127
- ↑ Hmannan Vol. 2 2003: 197, 204
- ↑ Hmannan Vol. 2 2003: 240–241
- ↑ Phayre 1967: 101
- ↑ Hmannan Vol. 2 2003: 243–244
- ↑ Harvey 1925: 160
- ↑ 12.0 12.1 Hmannan Vol. 2 2003: 258
- ↑ Phayre 1967: 102–103
- ↑ Hmannan Vol. 2 2003: 265–266
- ↑ Kala Vol. 2 2006: 202
- ↑ 16.0 16.1 Hmannan Vol. 2 2003: 267–268
- ↑ Sein Lwin Lay 2006: 262–263
- บรรณานุกรม
- ประชุมพงศาวดารเล่ม 2 (ประชุมพงศาวดารภาค 1 ตอนปลาย และภาค 2). กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2506. 336 หน้า. หน้า 39-41.
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์. พระราชพงศาวดารพม่า. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2550. 1136 หน้า. หน้า 139-140. ISBN 978-974-7088-10-6
- Harvey, G. E. (1925). History of Burma: From the Earliest Times to 10 March 1824. London: Frank Cass & Co. Ltd.
- Kala, U (1724). Maha Yazawin (ภาษาพม่า). Vol. 1–3 (2006, 4th printing ed.). Yangon: Ya-Pyei Publishing.
- Phayre, Lt. Gen. Sir Arthur P. (1883). History of Burma (1967 ed.). London: Susil Gupta.
- Royal Historical Commission of Burma (1832). Hmannan Yazawin (ภาษาพม่า). Vol. 1–3 (2003 ed.). Yangon: Ministry of Information, Myanmar.
- Sein Lwin Lay, Kahtika U (1968). Min Taya Shwe Hti and Bayinnaung: Ketumadi Taungoo Yazawin (ภาษาพม่า) (2006, 2nd printing ed.). Yangon: Yan Aung Sarpay.
ก่อนหน้า | ตะโดธรรมราชาที่ 1 | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระเจ้ามังฆ้องแห่งแปร | พระเจ้าแปร (19 พฤษภาคม 2085 - 30 เมษายน พ.ศ. 2093 (ประเทศราช) 30 เมษายน พ.ศ. 2093 – 30 สิงหาคม พ.ศ. 2094 (เอกราช)) |
พระเจ้าตะโดธรรมราชาที่ 2 |