พระเจ้าคนุตมหาราช

พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก นอร์เวย์ และอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 11

พระเจ้าคนุต (อังกฤษ: Cnut ออกเสียง: /kəˈnjt/[3] นอร์สเก่า: Knútr inn ríki ออกเสียง: ˈknuːtr ˈinː ˈriːke;[ข] ราว ค.ศ. 990 – 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1035) บ้างออกพระนามว่า คานูท (อังกฤษ: Canute) มีพระราชสมัญญาว่า มหาราช[4][5][6][7] ทรงเป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษ ตั้งแต่ ค.ศ. 1016 เดนมาร์ก ตั้งแต่ ค.ศ. 1018 และนอร์เวย์ ตั้งแต่ ค.ศ. 1028 ตามลำดับ จวบจนเสด็จสวรรคตใน ค.ศ. 1035[1] ราชอาณาจักรทั้งสามที่ถูกรวมเป็นหนึ่งภายใต้การปกครองของพระองค์นี้ถูกเรียกว่าจักรวรรดิทะเลเหนือ

พระเจ้าคนุตมหาราช
พระสาทิสลักษณ์ของพระเจ้าคนุตในกรอบอักษรต้นของเอกสารสมัยกลาง สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14 (ราว ค.ศ. 1320)
พระมหากษัตริย์อังกฤษ
ครองราชย์ค.ศ. 1016–1035
ราชาภิเษกค.ศ. 1017 ในนครลอนดอน
ก่อนหน้าพระเจ้าเอ็ดมันด์ที่ 2[1]
ถัดไปพระเจ้าฮาโรลด์ที่ 1[1]
พระมหากษัตริย์เดนมาร์ก
ครองราชย์ค.ศ. 1018–1035
ก่อนหน้าพระเจ้าแฮรัลด์ที่ 2
ถัดไปพระเจ้าฮาร์ธาคนุต[1]
พระมหากษัตริย์นอร์เวย์
ครองราชย์ค.ศ. 1028–1035
ก่อนหน้าพระเจ้าโอลาฟที่ 2
ถัดไปพระเจ้ามักนุสที่ 1
กษัตริย์ร่วมพระเจ้าสเวน คนุตสัน
พระราชสมภพประมาณ ค.ศ. 990[1][2]
ราชอาณาจักรเดนมาร์ก
สวรรคต12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1035 (พระชนมายุประมาณ 45 พรรษา)[1]
ชาฟท์สบรี ดอร์เซต ราชอาณาจักรอังกฤษ
ฝังพระศพโอลด์มีนสเตอร์ วินเชสเตอร์ ปัจจุบันพระอัฐิอยู่ที่อาสนวิหารวินเชสเตอร์ วินเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ
คู่อภิเษก
พระราชบุตร
ราชวงศ์คนุตลิงกา
พระราชบิดาพระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ด
พระราชมารดาไม่ทราบ อาจจะเป็น สเวโตสลาวาแห่งโปแลนด์ ซิกริด หรือ กันฮิลด์[ก]

พระเจ้าคนุตทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษใน ค.ศ. 1016 โดยที่ยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นเจ้าชายแห่งเดนมาร์กควบคู่ไปด้วย ท่ามกลางกระแสการรุกรานของชาวไวกิงทั่วยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือ การขึ้นครองราชบัลลังก์เดนมาร์กของพระองค์ในอีกสองปีต่อมาทำให้อังกฤษและเดนมารก์กลายเป็นรัฐที่มีพระประมุขร่วมกัน พระเจ้าคนุตทรงมุ่งที่จะรักษาฐานพระราชอำนาจนี้ไว้ ด้วยการหลอมรวมชาวเดนส์และอังกฤษเข้าด้วยกันผ่านทางพัทธะทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ พระเจ้าคนุตทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์นอร์เวย์ที่นครทร็อนไฮม์ ใน ค.ศ. 1028 หลังจากทรงแย่งชิงราชบัลลังก์กับเจ้านายอื่น ๆ ในภูมิภาคสแกนดิเนเวียมาเป็นเวลากว่าหนึ่งทศวรรษ พระองค์ยังทรงสามารถยึดครองเมืองซิกทือนาของสวีเดนได้อีกด้วย (ทรงออกเหรียญกษาปณ์ในเมืองนั้น ซึ่งมีการจารึกว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ แต่ไม่มีบันทึกเกี่ยวกับการยึดครองเมืองของพระองค์เหลือรอดมาเลย)[8] นอกจากนี้พระองค์ยังทรงแผ่พระราชอำนาจเหนือสกอตแลนด์ด้วยเมื่อพระเจ้ามัลคอล์มที่ 2 ยอมสวามิภักดิ์ต่อพระองค์ใน ค.ศ. 1031 กระนั้นอิทธิพลของชาวแองโกล-นอร์สในสกอตแลนด์ก็มีเพียงเล็กน้อย และท้ายที่สุดก็จางหายไปหมดสิ้นหลังจากพระองค์เสด็จสวรรคต[9][10]

การยึดครองอังกฤษส่งผลให้ชนเดนส์สามารถเชื่อมอาณาเขตทางทะเลของเกาะบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นบริเวณที่พระเจ้าคนุตและพระราชบิดาของพระองค์ให้ความสนพระทัยมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีอิทธิพลเหนือดินแดนที่ชาวนอร์ส–เกลล์ปกครองเป็นอันมาก[11] การที่พระองค์ได้ครอบครองเขตมุขมณฑลของอังกฤษและเดนมาร์ก (ซึ่งพื้นที่หลังนี้ถูกอ้างสิทธิ์โดยราชรัฐอัครมุขนายกฮัมบวร์ค–เบรเมินของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์) เป็นสิ่งที่ส่งเสริมพระเกียรติภูมิของพระองค์ท่ามกลางบรรดาผู้ยิ่งใหญ่ (Magnate) ในโลกคริสเตียน และยังสามารถใช้เป็นข้อต่อรองกับคริสตจักรโรมันคาทอลิกได้อีกด้วย (ยกตัวอย่างเช่น การต่อรองให้ลดราคาแพลเลียม [Pallium; ผ้าคลุมไหล่สำหรับนักบวช] โดยที่มีข้อแม้ว่าบรรดานักบวชยังคงต้องเดินทางมารับผ้าดังกล่าวด้วยตนเองเช่นเดิม หรือการต่อรองอัตราราคาค่าผ่านด่านที่ราษฎรของพระองค์ต้องจ่ายระหว่างทางไปกรุงโรม) หลังจากทรงเอาชนะนอร์เวย์และสวีเดนได้ใน ค.ศ. 1026 และเสร็จสิ้นพระราชกรณียกิจจากการไปร่วมพระราชพิธีราชาภิเษกของจักรพรรดิค็อนราทที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์แล้ว พระเจ้าคนุตก็ทรงประกาศพระองค์เอง (ผ่านทางพระราชหัตถเลขาที่ทรงพระอักษรขึ้นเพื่อพระราชทานแก่เหล่าข้าแผ่นดินทั้งหลาย) เป็น "พระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษทั้งปวง เดนมาร์ก ชาวนอร์เวย์ แลบางพื้นที่ของชาวสวีด"[12] พระองค์ทรงใช้พระราชอิสริยยศในอังกฤษว่า "พระมหากษัตริย์แห่งแดนอังกฤษ" (ealles Engla landes cyning) ซึ่งต่างจากบรรดากษัตริย์ของชาวแองโกล–แซกซันเดิมที่ปกครองอังกฤษก่อนการเข้ามาของไวกิง ซึ่งใช้พระราชอิสริยยศว่า "พระมหากษัตริย์แห่งชนอังกฤษ" นอร์แมน แคนทอร์ นักสมัยกลางศึกษา (Medievalist) กล่าวว่าพระเจ้าคนุตทรงเป็น "พระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาที่สุด" ในประวัติศาสตร์อังกฤษสมัยแองโกล–แซกซัน[13]

นอกจากนี้ พระองค์ยังถูกนำมาอ้างถึงในตำนานสอนใจเรื่องพระเจ้าคนุตกับกระแสน้ำด้วย

การพระราชสมภพและสิทธิในราชบัลลังก์

แก้

พระเจ้าคนุตเป็นพระราชโอรสในเจ้าชายสเวน ฟอร์กเบียร์ด[1] และเป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าแฮรัลด์ บลูทูท ราชวงศ์ของพระองค์เป็นผู้รวมแผ่นดินเดนมาร์กให้เป็นปึกแผ่น[14] ไม่มีข้อมูลใดบ่งบอกสถานที่หรือวันที่พระองค์เสด็จพระราชสมภพ พระเจ้าฮาร์ธาคนุตที่ 1 เทียดของพระองค์ทรงเป็นต้นราชวงศ์ คาดกันว่าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่ในช่วงต้นคริสตศวรรษที่ 10 ส่วนพระเจ้ากอร์มผู้อาวุโส พระปัยกา (ปู่ทวด) ของพระองค์เป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่มีหลักฐานยืนยันทางประวัติศาสตร์ (สาเหตุที่ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า 'ผู้อาวุโส' ก็เพราะรายพระนามพระมหากษัตริย์เดนมาร์กเริ่มนับจากรัชกาลของพระองค์) พระเจ้าแฮรัลด์ บลูทูท พระราชอัยกาของพระเจ้าคนุตทรงปกครองเดนมาร์กในช่วงที่เริ่มมีการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ และตัวพระองค์เองก็ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกในภูมิภาคสแกนดิเวียที่เข้ารีตเป็นคริสตชนด้วย

บันทึกเหตุการณ์ ของเทตมาร์แห่งเมอร์ซบวร์ค และ บทสรรเสริญราชินีเอ็มมา ระบุว่าพระราชมารดาของพระเจ้าคนุตมีพระนามว่าสเวโตสลาวา (Świętosława) เจ้าหญิงชาวโปแลนด์ผู้เป็นพระธิดาในดยุกมิเอสโกที่ 1 แหล่งข้อมูลภาษานอร์สจากสมัยกลางตอนกลาง โดยเฉพาะ เฮล์มสกริงยา ของสนอร์ริ สตูลูซัน ก็บันทึกไว้ว่าพระราชมารดาของพระองค์เป็นเจ้าหญิงโปแลนด์เช่นกัน โดยออกพระนามว่ากันฮิลด์ เป็นพระราชธิดาในบูริสลาฟ กษัตริย์แห่งวินแลนด์[15] เนื่องจากในบรรดาซากาของชาวนอร์สล้วนบันทึกตรงกันว่า กษัตริย์แห่งวินแลนด์ มีพระนามว่า บูริสลาฟ จึงสันนิฐานได้ว่าผู้บันทึกอาจจะสับสนระหว่างพระนามของดยุกมิเอสโก กับพระเจ้าบอแลสวัฟที่ 1 แห่งโปแลนด์ ผู้เป็นพระเชษฐาในเจ้าหญิงชาวโปแลนด์พระองค์นี้ อาดัมแห่งเบรเมินเขียนไว้ในชิ้นงานศาสตรนิพนธ์ของเขาเรื่อง เกสตา ฮัมมาบูรเกนซิส เอ็กเคลีเอ พอนติฟิคุม ว่าพระราชมารดาของพระเจ้าคนุต (ซึ่งตัวอาดัมเองก็มิได้ระบุพระนามของพระนางเอาไว้) คืออดีตราชินีแห่งสวีเดน ผู้เป็นพระมเหสีในพระเจ้าอีริค ผู้ชนะ และพระราชมารดาของพระเจ้าโอลอฟ สก็อทโคนุง[16] ทำให้ปัญหาเรื่องตัวตนของพระราชมารดาของพระเจ้าคนุตยิ่งทวีซับซ้อนขึ้นอีก เพราะ เฮล์มสกริงยา และซากาเรื่องอื่น ๆ ก็ระบุว่าว่าพระเจ้าสเวนได้อภิเษกกับราชินีม่ายแห่งสวีเดนจริง แต่พระนางมิใช่สตรีพระองค์เดียวกันกับพระราชธิดาของกษัตริย์แห่งวินแลนด์ โดยนางผู้นี้มีนามว่าซิกริดผู้ทรนง ซึ่งพระเจ้าสเวนทรงอภิเษกสมรสด้วยหลังจาก กันฮิลด์ เจ้าหญิงชาวสลาฟผู้มีพระประสูติกาลพระเจ้าคนุตสิ้นพระชนม์ลง[17] ทฤษฎีมากมายเกี่ยวกับชาติกำเนิดและจำนวนพระมเหสีของพระเจ้าสเวนได้รับการเสนอขึ้น (ดูเพิ่มได้ที่บทความของซิกริดผู้ทรนงและกันฮิลด์) แต่เนื่องจากงานเขียนของอาดัมเป็นแหล่งข้อมูลเดียวที่มีการระบุว่าพระเจ้าคนุตและพระเจ้าโอลอฟ สก็อทโคนุงมีพระราชมารดาพระองค์เดียวกัน นักประวัติศาสตร์จึงมักเห็นตรงกันว่าอาดัมบันทึกส่วนนี้ผิดพลาดไป พระเจ้าสเวนจึงมีพระมเหสีสองพระองค์ คือเจ้าหญิงชาวสลาฟ เป็นพระมเหสีพระองค์แรก และราชินีม่ายแห่งสวีเดนเป็นพระมเหสีพระองค์ที่สอง พระเจ้าคนุตทรงมีพี่น้องร่วมพระราชมารดาอย่างน้อยหนึ่งพระองค์ คือ พระเจ้าแฮรัลด์ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ซึ่ง บทสรรเสริญราชินีเอ็มมา ระบุว่าทรงมีศักดิ์เป็นพระราชอนุชา

หลักฐานเล็กน้อยเกี่ยวกับพระเจ้าคนุตขณะทรงพระเยาว์สามารถพบได้ใน แฟลร์ทิยาร์ลบก แหล่งข้อมูลภาษาไอซ์แลนด์จากคริสต์ศตวรรษที่ 13 ซึ่งกล่าวถึงช่วงเวลาที่พระองค์ได้รับการอบรมวิชาการทหารจากธอร์เคล[18] น้องชายของซิเกิร์ด ยาร์ลแห่งดินแดนปรัมปราจอมสบอร์ก และผู้นำของคณะทหารรับจ้างจอมสไวกิง ที่ฐานที่มั่นของพวกเขาบนเกาะวอลลิน นอกชายฝั่งพอเมอเรเนีย วันพระราชสมภพของพระองค์นั้นไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แม้แต่งานเขียนร่วมสมัยอย่าง บันทึกเหตุการณ์เทตมาร์ และ บทสรรเสริญราชินีเอ็มมา ก็มิได้ระบุถึงวันที่เสด็จพระราชสมภพ กระนั้นในบทกวี คนุตดราพา ที่ประพันธ์โดยสเคล อกตตรา สวาติ ก็มีบาทหนึ่งระบุไว้ว่าพระเจ้าคนุต "มีพรรษาไม่มาก" เมื่อพระองค์ทรงออกศึกเป็นครั้งแรก[19] บทกวีนี้ยังกล่าวถึงการศึกที่อาจจะเป็นการเปรียบเปรยถึงการรุกรานอังกฤษของพระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ดและการจู่โจมเมืองนอริชใน ค.ศ. 1003–04 ที่เกิดขึ้นหลังจากการสังหารหมู่ชาวเดนส์ในวันเซนต์ไบรซ์โดยชาวอังกฤษ เมื่อ ค.ศ. 1002 หากพระเจ้าคนุตได้ทรงติดตามพระราชบิดาไปในศึกครั้งนี้ด้วย พระองค์อาจจะเสด็จพระราชสมภพใน ค.ศ. 990 หรืออย่างเร็วที่สุดคือ ค.ศ. 980 หากไม่ได้ทรงติดตามพระราชบิดาไปด้วย และบาทของกลอนดังกล่าวหมายถึงการศึกครั้งอื่น เช่น การพิชิตอังกฤษของพระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ดใน ค.ศ. 1013–14 พระองค์อาจจะเสด็จพระราชสมภพราว ค.ศ. 1000[20] มีประโยคหนึ่งจากผู้สรรเสริญ (เป็นคำใช้ที่เรียกผู้ประพันธ์ บทสรรเสริญราชินีเอ็มมา) ที่อ้างถึงกองทัพที่พระเจ้าคนุตทรงเป็นผู้นำในการพิชิตอังกฤษของพระองค์เมื่อ ค.ศ. 1015–16 ซึ่งระบุว่ากองกำลังประกอบไปด้วยชาวไวกิง "วัยฉกรรจ์" ทั้งหมด โดยมี "กษัตริย์" คนุตเป็นแม่ทัพ (ดูด้านล่าง)

คำบรรยายพระลักษณ์ของพระเจ้าคนุตตามที่ปรากฏใน คนุตลินกาซากา งานเขียนภาษาไอซ์แลนด์สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 13 มีความว่า

พระเจ้าคนุตมีพระวรกายที่สูงและกำยำ มีพระลักษณ์ที่หล่อเหลา ยกเว้นเสียแต่ตรงพระนาสิก (จมูก) ซึ่งมีลักษณะแคบ อยู่สูง (จากพระพักตร์) และค่อนข้างงุ้ม มีพระฉวี (ผิว) งาม และมีพระเกศา (ผม) หนา พระเนตรของพระองค์ดีกว่าคนทั่วไป สายพระเนตรของพระองค์นั้นทั้งหล่อเหลาและเฉียบคม

— คนุตลินกาซากา[21][22][23]

ข้อมูลเกี่ยวกับพระชนม์ชีพของพระเจ้าคนุตมีอยู่น้อยและไม่เป็นที่แน่ชัด จนกระทั่งจนกระทั่งทรงได้เป็นส่วนหนึ่งในกองทัพของพระราชบิดาในการพิชิตอังกฤษในช่วงฤดูร้อนของปี 1013 มีความเป็นไปได้ว่าพระองค์อาจจะได้เข้าร่วมการทัพโจมตีอังกฤษของพระราชบิดาเมื่อปี 1003 และ 1004 ด้วย แต่ก็ไม่มีหลักฐานมากพอที่จะสนับสนุนทฤษฎีดังกล่าว[24] การรุกรานอังกฤษใน ค.ศ. 1013 ถือเป็นหนึ่งในเหตุการ์ณสำคัญที่สุดในบรรดาการออกปลันของชาวไวกิงที่ดำเนินมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ หลังจากขึ้นฝั่งที่ฮัมเบอร์แล้ว[25] อังกฤษก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาวไวกิงอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงปลายปีนั้นพระเจ้าแอเธลเรดผู้ไม่พร้อมก็เสด็จหนีไปยังนอร์ม็องดี พระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ดได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองอังกฤษ และในช่วงฤดูหนาวนั้นก็ทรงริเริ่มการสร้างฐานพระราชอำนาจ ส่วนพระเจ้าคนุตทรงได้รับหน้าที่ดูแลกองเรือและฐานทัพที่เกนส์เบอโรในลิงคอล์นเชอร์

เมื่อพระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ดเสด็จสวรรคตในวันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1014 ตรงกับวันระลึกพระแม่มารีและพระเยซู[26] หลังจากขึ้นครองราชบัลลังก์อังกฤษได้ไม่นาน เจ้าชายแฮรัลด์ พระราชโอรสองค์เล็กจึงขึ้นครองราชบัลลังก์เดนมาร์กต่อจากพระองค์ ในขณะที่ชาวไวกิงและราษฏรในบริเวณเดนลอว์ลงมติเลือกพระเจ้าคนุตเป็นกษัตริย์อังกฤษทันที[27] แต่ขุนนางชาวอังกฤษไม่เห็นด้วย สภาวิททันจึงได้ทูลเชิญพระเจ้าแอเธลเรดกลับมาจากนอร์ม็องดี ไม่นานนักพระเจ้าแอเธลเรดก็ทรงนำทัพขับไล่พระเจ้าคนุต ซึ่งทรงหลบหนีกลับเดนมาร์กไปพร้อมกับกองทัพของพระองค์ โดยก่อนที่จะเสด็จกลับก็ทรงจับตัวประกันมาจำนวนหนึ่ง ทรงมีรับสั่งให้ทรมาณตัวประกันด้วยการตัดอวัยวะ ท้ายที่สุดแล้วตัวประกันเหล่านั้นถูกทิ้งไว้ที่ชายฝั่งของเมืองแซนด์วิชในเทศมณฑลเคนต์[28] หลังจากเสด็จกลับถึงเดนมาร์กแล้วพระเจ้าคนุตจึงเสด็จไปเข้าพบกับพระเจ้าแฮรัลด์ที่ 2 พระราชอนุชา สันนิฐานว่าพระเจ้าคนุตทรงยื่นข้อเสนอให้ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ร่วมกัน แต่พระเจ้าแฮรัลด์ไม่ทรงเห็นชอบด้วย[27] มีการคาดคะเนว่าพระเจ้าแฮรัลด์ทรงยื่นข้อเสนอใหม่ให้พระเจ้าคนุตเป็นแม่ทัพในกองกำลังรุกรานอังกฤษระลอกใหม่ โดยมีข้อแม้ว่าพระองค์จะต้องไม่อ้างสิทธิในราชบัลลังก์เดนมาร์ก[27] จะอย่างไรก็ดี พระเจ้าคนุตก็สามารถรวบรวมกองเรือเพื่อใช้ในการรุกรานได้สำเร็จ[28]

การพิชิตอังกฤษ

แก้
 
หินรูนหมายเลขยู 194 พบในประเทศสวีเดน เป็นจารึกเกี่ยวกับไวกิงนามว่าเอลลี ซึ่งบันทึกไว้ว่าเขา "ได้รับพระราชทานบำเหน็ดจากพระเจ้าคนุตในอังกฤษ"

บอแลสวัฟที่ 1 ผู้กล้าหาญ ดยุกแห่งโปแลนด์ (ภายหลังทรงได้รับการราชาภิเษกเป็นกษัตริย์) พระราชมาตุลา (ลุงฝ่ายแม่) ของพระเจ้าคนุตได้ให้พระองค์ยืมทหารชาวโปลจำนวนหนึ่ง[29] ซึ่งอาจจะเป็นข้อตกลงที่ทรงให้ไว้กับพระเจ้าคนุตและพระราชอนุชาเมื่อคราวที่ทั้งสองพระองค์เสด็จไปรับพระราชมารดากลับเดนมาร์กในฤดูหนาว พระนางทรงถูกขับไล่จากราชสำนักภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าอีริค ผู้ชนะแห่งสวีเดนใน ค.ศ. 995 ซึ่งเปิดโอกาสให้พระเจ้าสเวนอภิเษกสมรสกับซิกริดผู้ทรนง พระมเหสีม่ายของพระเจ้าอีริค การอภิเษกสมรสดังกล่าวได้สร้างพันธมิตรระหว่างพระเจ้าโอลอฟ สก็อทโคนุง พระมหากษัตริย์สวีเดนพระองค์ใหม่กับราชวงศ์เดนมาร์กในขณะนั้น[29] เดนมาร์กจึงได้สวีเดนมาเป็นพันธมิตรในการรุกรานอังกฤษ อีกหนึ่งพันธมิตรของพระเจ้าคนุตคือ อีริค โฮกุนนาร์สัน เอิร์ลแห่งเลด ผู้ปกครองร่วมแห่งนอร์เวย์กับพี่หรือน้องชายต่างมารดา สเวน โฮกุนสัน และมีความเกี่ยวดองกับราชวงศ์เดนมาร์กด้วย นอร์เวย์ตกอยู่ภายใต้การปกครองของเดนมาร์กมาตั้งแต่หลังยุทธการที่โซลเวเดอร์ เมื่อ ค.ศ. 999 ในระหว่างที่อีริคไปร่วมทัพของพระเจ้าคนุต โฮกุน บุตรชายของเขาเป็นผู้แทนในการปกครองนอร์เวย์ร่วมกับสเวน

ในหน้าร้อนของปี 1015 กองเรือของพระเจ้าคนุตก็เริ่มออกเดินทางไปยังอังกฤษพร้อมกับไพร่พลประมาณ 10,000 นาย ซึ่งส่วนมากเป็นทหารรับจ้าง[30] ด้วยกองเรือจำนวน 200 ลำ[31] กองทัพของพระองค์ถือเป็นการรวมตัวของชาวไวกิงจากทั่วสแกนดิเนเวีย กองกำลังของชาวไวกิงนี้จะเผชิญหน้ากับฝ่ายอังกฤษภายใต้การนำของเจ้าชายเอ็ดมันด์ผู้ทนทาน พระราชโอรสพระองค์โตของพระเจ้าแอเธลเรดในสมรภูมิรบอันดุเดือดไปอีกกว่าสิบสี่เดือน

การขึ้นฝั่งในเวสเซกซ์

แก้

ตามที่มีการบันทึกใน บันทึกเหตุการณ์ปีเตอร์บะระ หนึ่งในเอกสารสำคัญจากเอกสารชุด บันทึกเหตุการณ์ของชาวแองโกล-แซกซัน ระบุไว้ว่าในต้นเดือนกันยายน ค.ศ. 1015 "[พระเจ้าคนุต] ทรงมาถึงแซนด์วิช และทรงแล่นเรืออ้อมเคนต์เพื่อมุ่งตรงไปเวสเซกซ์ จนกระทั่งทรงมาถึงปากแม่นํ้าฟรูม กองทัพของพระองค์ขึ้นฝั่งที่ซัมเมอร์เซต ดอร์เซต และวิลต์เชอร์ "[32] นับเป็นจุดเริ่มต้นของการทัพขนาดมหึมาที่สุดนับตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าอัลเฟรดมหาราช[28] ข้อเขียนในบทสรรเสริญราชินีเอ็มมาบรรยายภาพกองเรือของพระเจ้าคนุตไว้ ดังนี้

ณ ที่นั้นมีโล่หลากชนิด ซึ่งทำให้ท่านเชื่อได้ว่าไพร่พลจากนานาชนชาติได้มาถึงยัง ณ สถานนี้...หัวเรือเป็นประกายด้วยทองคำ แร่เงินสะท้อนแสงไปตามเรือหลายรูปทรง....ใครเล่าจะกล้าเชิดหน้าขึ้นมามองเหล่าราชสีห์ของศัตรู ต่างสั่นกระทาด้วยกลัวความระยับของทองคำและเหล่านักรบผู้น่าครันครามด้วยใบหน้าอันเรียบนิ่ง....เรือของพวกเขานำพามาซึ่งความตาย แลแตรของพวกเขาระยิบไปด้วยทอง ใครเล่าจะไม่รู้สึกหวั่นเกรงกษัตริย์ผู้มีกองทัพเช่นนี้? มิหนำซ้ำ กองกำลังนี้มิมีไพร่พลใดที่เป็นทาสหรือผู้ที่เคยเป็นทาส ไม่มีคนชาติกำเนิดตํ่าต้อย ไม่มีไพร่พลที่อ่อนแอด้วความชราของอายุ ด้วยพวกเขาทั้งหมดต่างเป็นผู้มีชาติตระกูล แลแข็งแรงด้วยกำลังวังชาของคนวัยหนุ่ม ชำนาญการต่อสู้ทุกแขนงแลการเรือ พวกเขาเคลื่อนที่ด้วยความเร็วยิ่งกว่าพลทหารม้า

— บทสรรเสริญราชินีเอ็มมา[33]

เวสเซกซ์ซึ่งอยู่ภายใต้ปกครองโดยราชวงศ์ของพระเจ้าแอเธลเรดมาเป็นเวลานานยอมจำนนกับกองกำลังของพระเจ้าคนุตในปลายปี 1015 ดังเช่นที่ยอมจำนนกับกองกำลังของพระราชบิดาของพระองค์เมื่อสองปีก่อนหน้า[28] ณ จุดนี้ เอ็ดริก สโตรนา เอลโดแมนแห่งเมอร์เซีย หนีออกจากทัพของพระเจ้าแอเธลเรดไปพร้อมกับเรือ 40 ลำ รวมถึงลูกเรือจำนวนหนึ่ง และเข้าไปสวามิภักดิ์กับพระเจ้าคนุต[34] ผู้แปรพักตร์อีกคนได้แก่ธอร์เคล ผู้นำของคณะทหารจอมสไวกิง ซึ่งได้เข้าสวามิภักดิ์กับฝ่ายอังกฤษเมื่อปี 1012[28] และทำการรบกับชาวไวกิงกลุ่มอื่น ๆ เมื่อคราวการรุกรานของพระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ด สาเหตุของการแปรพักตร์อาจจะสามารถอธิบายได้โดยเรื่องที่มีการบันทึกไว้ใน จอมสไวกิงซากา ซึ่งได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่คณะทหารรับจ้างชาวจอมสไวกิงถูกโจมตีถึงสองครั้งขณะทำงานในอังกฤษ โดยหนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุโจมตีสองครั้งนั้นมีชายชื่อเฮนนิงค (Henninge) พี่น้องของธอร์เคลรวมอยู่ด้วย[35] หากธอร์เคลเคยเป็นผู้อบรมวิชาการทหารถวายพระเจ้าคนุตเมื่อครั้งทรงพระเยาว์จริงอย่างที่มีบันทึกไว้ใน แฟลร์ทิยาร์ลบก ข้อเท็จจริงนี้ก็จะสามารถช่วยอธิบายได้ทำไมพระองค์จึงยอมรับการเข้าสวามิภักดิ์ของเขา แม้จะทรงทราบดีว่าคณะจอมสไวกิงมีชื่อเสียในด้านมีความภักดีต่อผู้ว่าจ้างน้อยกว่าถิ่นภูมิลำเนาของตนก็ตาม กองเรือจำนวน 40 ลำที่เอ็ดริกนำมาด้วย ซึ่งโดยมากเชื่อกันว่าเป็นกองเรือของเขตเดนลอว์[35]แท้จริงแล้วอาจจะเป็นของธอร์เคล[36]

การรุกขึ้นเหนือ

แก้

เมื่อถึงต้นปี 1016 กองกำลังไวกิงได้ข้ามแม่น้ำเทมส์และเร่งรุดหน้าไปยังวาร์วิคเชอร์ ในขณะที่ความพยายามต้านทานการรุกรานของเจ้าชายเอ็ดมันด์ไม่สัมฤทธิ์ผล นักบันทึกเหตุการณ์ (Chronicler) ระบุว่ากองทัพอังกฤษพากันแยกย้ายเพราะไม่ได้พบกษัตริย์หรือประชาชนชาวลอนดอน[28] การโจมตีในช่วงกลางฤดูหนาวโดยพระเจ้าคนุตสร้างความเสียหายไปทั่วเมอร์เซียตะวันออก การระดมพลอีกครั้งหนึ่งทำให้ชาวอังกฤษรวมตัวกันได้ และคราวนี้พระเจ้าแอเธลเรดก็เสด็จมาตรวจกองทัพด้วยตัวพระองค์เอง กระนั้น "มันก็ไม่ได้ส่งผลอะไรมากนัก" พระเจ้าแอเธลเรดเสด็จกลับลอนดอนด้วยความกลัวว่าพระองค์กำลังจะถูกทรยศ[28]ในขณะที่เจ้าชายเอ็ดมันด์เสด็จไปทางเหนือเพื่อไปร่วมทัพกับอูห์เรด เอิร์ลแห่งนอร์ทธัมเบรีย แล้วจึงมุ่งหน้าไปยังสแตฟฟอร์ดเชอร์ ชาร์ปเชอร์และเชชเชอร์ ในเมอร์เซียตะวันตก[37] ทั้งสองอาจจะต้องการเข้ายึดพื้นที่ปกครองของเอ็ดริก สโตรนา การที่พระเจ้าคนุตทรงเข้ายึดครองนอร์ทัมเบรีย บีบให้อูห์เรดต้องกลับไปยอมแพ้ต่อพระเจ้าคนุต[38] พระองค์อาจจะเป็นผู้ส่งเธอร์บรันชาวโฮล อริชาวนอร์ทัมเบรียของอูห์เรดไปสังหารเขากับผู้ติดตาม เป็นไปได้ว่าเมื่อถึงจุดนี้ อีริค โฮกุนนาร์สัน พร้อมกับกองกำลังชาวสแกนดิเวียจึงเริ่มเข้ามาสบทบกับกับพระเจ้าคนุต[39] และบรรดายาร์ล (เอิร์ล) ผู้กรำศึกชาวนอร์เวย์ได้ถูกส่งไปปกครองนอร์ทัมเบรีย

เจ้าชายเอ็ดมันด์ยังคงประทับอยู่ในลอนดอน โดยทรงตั้งทัพอยู่ที่หลังกำแพงเมือง และทรงได้รับการเลือกเป็นกษัตริย์หลังจากพระเจ้าแอเธลเรดสวรรคตในวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1016

การล้อมกรุงลอนดอน

แก้
 
ภาพเขียนสีวิจิตร แสดงการปะทะระหว่างพระเจ้าเอ็ดมันด์ที่ 2 (ซ้าย) และพระเจ้าคนุต (ขวา) จาก โครนิคา มาจอร์รา ประพันธ์และวาดภาพประกอบโดยแม็ทธิว แพริส

พระเจ้าคนุตเสด็จกลับไปทางทิศใต้ และกองทัพเดนมาร์กก็เริ่มทำการแบ่งออกเป็นสองส่วน โดยกองแรกทำหน้าที่ไล่ตามพระเจ้าเอ็ดมันด์ ซึ่งสามารถตีฝ่าไพร่พลออกไปได้ก่อนที่พระเจ้าคนุตจะเข้าปิดล้อมกรุงลอนดอน พระเจ้าเอ็ดมันด์ทรงหลบหนีไปยังเทศมณฑลเวสเซกซ์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางพระราชอำนาจของราชสำนักอังกฤษมาแต่ครั้งโบราณ ในขณะที่อีกกองหนึ่งทำหน้าที่ล้อมรอบกรุงลอนดอนไว้ พร้อมกันนั้นก็มีการสร้างกำแพงกั้นนํ้า ขึ้นที่ทางเหนือและทางใต้ของตัวเมือง อีกทั้งยังมีการขุดคูนํ้าเลาะผ่านทางชายฝั่งแม่นํ้าเทมส์ไปจนจรดทิศใต้ เพื่อสะดวกต่อการล่องเรือลองชิป ขึ้นไปขัดขวางการสื่อสารของฝ่ายอังกฤษ

มีการปะทะเกิดขึ้นที่เพนเซลวูดในเทศมณฑลซัมเมอร์เซต โดยสันนิษฐานว่าเนินในป่าเซลวูด เป็นสมรภูมิของทั้งสองฝ่าย[37] การรบพุ่งเกิดตามมาที่เชอร์สตัน ในเทศมณฑลวิลต์เชอร์ การต่อสู้กินเวลาสองวันแต่ไม่มีฝ่ายใดได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด[40]

พระเจ้าเอ็ดมันด์สามารถกู้กรุงลอนดอนกลับมาได้อยู่ระยะหนึ่ง ทรงผลักดันและตีกองทัพเดนมาร์กจนแตกพ่ายไปหลังทรงข้ามแม่นํ้าเทมส์ที่เบรนท์ฟอร์ด [37] แต่ก็ทรงเสียไพร่พลเป็นจำนวนมากเช่นกัน พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยล่าถอยไปยังเวสเซกซ์เพื่อเกณฑ์ไพร่พลใหม่ ชาวเดนส์เข้าปิดล้อมกรุงลอนดอนอีกครั้ง แต่หลังจากที่ไม่ประสบความสำเร็จในการรุกคืบ พวกเขาจึงล่าถอยไปยังเคนต์ โดยมีการต่อสู้เกิดขึ้นบ้างประปราย ซึ่งลงเอยด้วยการรบที่ออตฟอร์ด ต่อมา เอ็ดริก สโตรนาแปรพักตร์กลับไปเข้ากับพระเจ้าเอ็ดมันด์อีกครั้ง[41] พระเจ้าคนุตจึงตัดสินพระทัยล่องเรือไปทางเหนือของแม่นํ้าเทมส์ เสด็จขึ้นฝั่งที่เอสเซกซ์ และทรงเดินทางไปจนถึงแม่นํ้าออร์เวลล์ เพื่อเข้าปลันเทศมณฑลเมอร์เซีย[37]

การยึดกรุงลอนดอนด้วยสนธิสัญญา

แก้

ในวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1016 กองกำลังของชาวเดนส์ถูกโจมตีโดยกองทัพของพระเจ้าเอ็ดมันด์ ระหว่างที่ฝ่ายเดนส์กำลังล่าถอยไปที่เรือ อันนำไปสู่ยุทธการแอชชิงดัน ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นที่แอชชิงดอน ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่แอชดอน ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเอสเซกซ์ ระหว่างการชุลมุนนั้นเอง เอ็ดริก สโตรนา ซึ่งอาจจะแกล้งทำอุบายแปรพักตร์เพื่อลวงฝ่ายอังกฤษ ได้ทำการถอยทัพออกจากสนามรบ ทำให้ฝ่ายอังกฤษพ่ายแพ้อย่างราบคาบ[42] พระเจ้าเอ็ดมันด์เสด็จหนีไปทางตะวันตก พระเจ้าคนุตทรงไล่ตามพระองค์ไปจนถึงกลอสเตอร์เชอร์ ซึ่งอาจจะมีการสู้รบเกิดขึ้นอีกที่บริเวณป่าดีน เนื่องจากพระเจ้าเอ็ดมันด์ได้ทำการผูกมิตรกับผู้นำบางส่วนของชาวเวลส์[37]

บนเกาะใกล้หมู่บ้านเดียร์เฮสต์ พระเจ้าคนุตและพระเจ้าเอ็ดมันด์ผู้บาดเจ็บ เสด็จมาพบกันเพื่อเจรจาเงื่อนไขสงบศึก ในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็ตกลงกันว่าจะใช้แม่น้ำเทมส์เป็นตัวแบ่งเขตแดน โดยฟากเหนือแม่นํ้าขึ้นไปจะตกเป็นของชาวเดนส์ ในขณะที่ฟากทางใต้ รวมไปถึงกรุงลอนดอน จะยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของฝ่ายอังกฤษ ดินแดนทั้งสองจะถูกรวมกันเป็นหนึ่งเดียวภายใต้พระเจ้าคนุตเมื่อพระเจ้าเอ็ดมันด์เสด็จสวรรคต ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน ไม่กี่สัปดาห์หลังจากสนธิสัญญาได้รับการลงนาม แหล่งข้อมูลบางชิ้นกล่าวว่าพระเจ้าเอ็ดมันด์ถูกลอบปลงพระชนม์ กระนั้นสาเหตุการสวรรคตของพระองค์ก็ไม่เป็นที่แน่ชัด[43] ชาวเวสเซกซ์ยอมรับพระเจ้าคนุตเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่โดยดี[44] พระองค์ได้รับการราชาภิเษกโดยไลฟิง อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ณ กรุงลอนดอน ใน ค.ศ. 1017[45]

ขึ้นครองราชบัลลังก์อังกฤษ

แก้
 
พระสาทิสลักษณ์ของพระเจ้าคนุตในบันทึกเอกสารลำดับพระราชพงศาวลีของพระมหากษัตริย์อังกฤษ สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 13

พระเจ้าคนุตทรงปกครองอังกฤษเป็นเวลากว่าเกือบสองทศวรรษ พระองค์ทรงช่วยคุ้มครองอังกฤษให้ปลอดภัยจากการปลันสะดมของชาวไวกิง ซึ่งบางกลุ่มก็อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของพระองค์ ทำให้อังกฤษกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง หลังจากที่อยู่ในภาวะชะงักงันมาตั้งแต่การโจมตีระลอกใหม่ของชาวไวกิงตลอดช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 980 ในทางกลับกัน ชาวอังกฤษก็ได้มีส่วนช่วยพระองค์ในการยึดครองดินแดนโดยส่วนมากในภูมิภาคสแกนดิเนเวียเช่นกัน[46] ภายใต้การปกครองของพระองค์ อังกฤษไม่ได้เผชิญภัยโจมตีจากภายนอกที่หนักหนานัก[47]

การเสริมสร้างความมั่นคงและเดนเกล

แก้

ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นต้นราชวงศ์ใหม่ พระเจ้าคนุตจึงทรงเร่งหาทางกำจัดเชื้อพระวงศ์ที่เหลือรอดของราชวงศ์เวสเซกซ์เดิมโดยเร็วเพื่อมิให้ราชบัลลังก์ของพระองค์สั่นคลอน ปีแรกในรัชสมัยของพระองค์ป็นที่จดจำจากการที่มีรับสั่งให้ประหารเหล่าขุนนางอังกฤษที่พระองค์มองว่าไม่น่าวางพระราชหฤทัย เอ็ดวิก เอเธลลิง พระราชโอรสในพระเจ้าแอเธลเรดผู้ไม่พร้อมเสด็จหนีออกจากอังกฤษ แต่ก็ถูกปลงพระชนม์ในภายหลังโดยพระราชกระแสรับสั่งของพระเจ้าคนุต[48] เช่นเดียวกับเหล่าพระราขโอรสของพระเจ้าเอ็ดมันด์ผู้ทนทานที่เสด็จลี้ภัยออกนอกราชอาณาจักรเช่นกัน ส่วนพระราชโอรสของพระเจ้าแอเธลเรดที่ประสูติแต่พระนางเอ็มมาได้หนีไปอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของพระญาติในดัชชีนอร์ม็องดี

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1017 พระเจ้าคนุตทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีเอ็มมา พระมเหสีม่ายของพระเจ้าแอเธลเรด และพระธิดาในรีชาร์ที่ 1 ดยุกแห่งนอร์ม็องดี เมื่อถึง ค.ศ. 1018 พระเจ้าคนุตก็สามารถรวบรวมเดนเกล ได้เป็นจำนวนมากถึง 72,000 ปอนด์จากการจัดเก็บภาษีทั่วประเทศ บวกกับเงินอีกจำนวน 10,500 ปอนด์ที่ทรงเรียกเก็บจากนครลอนดอน พระองค์ใช้เงินส่วนนี้ในการจ่ายค่าจ้างทหารแล้วจึงส่งไพร่พลส่วนมากกลับบ้าน เหลือเพียงกองเรือ 40 ลำ และลูกเรือซึ่งทำหน้าที่เป็นกองทัพประจำการในอังกฤษ โดยพวกเขาจะได้รับการจ่ายค่าจ้างจากภาษีรายปีที่เรียกว่าแฮร์เกล (heregeld) ซึ่งมีระบบการจัดเก็บเหมือนกับภาษีที่พระเจ้าแอเธลเรดเป็นผู้ริเริ่มใน ค.ศ. 1012 เพื่อจ่ายค่าจ้างให้กับชาวสแกนดิเนเวียที่ต่อสู้เพื่อพระองค์[49]

พระเจ้าคนุตทรงแบ่งเขตการปกครองของอังกฤษตามวิธีที่นิยมในเวลานั้น กล่าวคือไชร์หลายไซร์จะอยู่ภายใต้การปกครองของขุนนางบรรดาศักดิ์เอลโดแมนหนึ่งคน อาณาจักรของพระองค์จึงถูกแบ่งออกเป็นหน่วยปกครองสี่หน่วยใหญ่ โดยอิงเขตแดนทางภูมิศาสตร์มาจากราชอาณาจักรโบราณต่าง ๆ อันมีเขตแดนที่แพ่ไพศาลและดำรงอยู่นานที่สุดการที่จะมีการรวมแผ่นดินอังกฤษ ตำแหน่งที่ทำหน้าที่ดูแลอาณาเขตเหล่านั้นคือตำแหน่งเอิร์ล เป็นบรรดาศักดิ์ที่มีต้นกำเนิดในสแกนดิเนเวีย และพบการใช้งานแล้วในอังกฤษ โดยในปัจจุบันบรรดาศักดิ์นี้ได้เข้ามาแทนที่ตำแหน่งเอลโดแมนแล้ว ในช่วงแรกดินแดนเวสเซกซ์อยู่ภายใต้การปกครองโดยตรงจากพระเจ้าคนุต ขณะที่นอร์ทัมเบรียตกเป็นของอีริค โฮกุนนาร์สัน ธอร์เคลได้ครองอีสต์แองเกลีย ส่วนเมอร์เซียยังคงอยู่ในความปกครองของเอ็ดริก สโตรนา[50]

กระนั้น การแบ่งสรรอำนาจนี้ก็ดำรงอยู่เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เอ็ดริก สโตรนา ผู้แปรพักตร์ถูกประหารไม่นานหลังจากที่พระเจ้าคนุตขึ้นครองราชย์[48] เมอร์เซียจึงตกไปอยู่ในการปกครองของตระกูลผู้นำท้องถิ่น บุคคลนั้นอาจจะเป็นเลโอไฟน์ ผู้ดำรงตำแหน่งเอลโดแมนแห่งฮวิกก์ในรัชสมัยของพระเจ้าแอเธลเรด แต่สิ่งที่แน่ชัดก็คือเลโอฟริก บุตรชายของเขาได้ปกครองพื้นที่นั้นต่อจากผู้ปกครองคนก่อน[51] ต่อมาใน ค.ศ. 1021 ธอร์เคลก็หลุดจากความเป็นคนโปรด และได้รับการประกาศว่าเป็นคนนอกกฎหมาย

หลังจากการเสียชีวิตของอีริคในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1020 ตำแหน่งเอิร์ลแห่งนอร์ทัมเบรียจึงตกไปเป็นของซิวาร์ด พระราชนัดดา (หลานย่า)[ต้องการอ้างอิง] ในเจ้าหญิงแอสทริด สเวนด็อทเทียร์ พระขนิษฐาของพระเจ้าคนุต ผู้อภิเสกสมรสกับอุลฟ์ ทอร์กิลสัน ยาร์ลแห่งสกอเนอ ดินแดนเบอร์นิเซียซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของนอร์ทธัมเบรียนั้นโดยนิตินัยแล้วอยู่ภายใต้การปกครองอีริคและซิวาร์ด ทว่าในความเป็นจริงแล้วตลอดการครองราชย์ของพระเจ้าคนุต ดินแดนดังกล่าวยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของตระกูลขุนนางท้องถิ่นในบริเวณแบมเบิร์ก ตระกูลขุนนางดังกล่าวมีอิทธิพลในพื้นที่นั้นมาตั้งแต่ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 10 เป็นอย่างน้อย โดยดำรงตำแหน่งเป็นเอิร์ลแห่งเบอร์นิเซียภายใต้การปกครองของเอิร์ลแห่งนอร์ทัมเบรีย ครั้นถึงช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1030 การปกครองเวสเซกซ์โดยตรงของพระเจ้าคนุตก็สิ้นสุดลง โดยทรงตั้งอาณาเขตเอิร์ลขึ้นมาแทน และพระราชทานให้ กอดวิน ขุนนางชาวอังกฤษจากตระกูลผู้ทรงอำนาจแถบซัสเซกซ์เป็นผู้ปกครอง กล่าวโดยสรุปได้ว่า ในช่วงแรกของการครองราชย์ พระเจ้าคนุตทรงพึ่งพาเหล่าผู้ติดตามชาวสแกนดิเนเวียในการปกครองอังกฤษ และเมื่อเวลาผ่านไป พระองค์จึงพระราชทานเขตปกครองต่าง ๆ ให้แก่เหล่าขุนนางอังกฤษที่ไว้วางพระราชหฤทัยไปปกครอง

พระราชกรณียกิจทางตะวันออก

แก้
 
เหรียญเพนนีเงินของพระเจ้าคนุต ซึ่งมีลวดลายดอกจิกสี่แฉกอยู่ที่ด้านหน้า ผลิตราว ค.ศ. 1017–23

หลังจากยุทธการที่เนสจาเมื่อ ค.ศ. 1016 นอร์เวย์ได้ตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของโอลาฟ ฮารัลด์สัน และกลายเป็นราชอาณาจักรอิสระไม่ขึ้นกับเดนมาร์กอีกต่อไป เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากอีริคเดินทางไปอังกฤษได้แล้วสักพักหนึ่ง และสเวน ซึ่งเป็นพี่น้องต่างมารดาของเขาได้เสียชีวิตลงขณะล่าถอยไปยังสวีเดน อาจจะเพื่อรวบรวมกำลังเสริมในการชิงนอร์เวย์กลับคืนมา โฮกุน บุตรชายของอีริค จึงตัดสินใจเดินทางไปหาบิดาและเข้ารับราชการในราชสำนักของพระเจ้าคนุตที่อังกฤษเช่นกัน

พระเจ้าแฮรัลด์ พระราชอนุชาของพระเจ้าคนุต อาจจะเคยเสด็จมาร่วมพระราชพิธีราชาภิเษกของพระองค์ใน ค.ศ. 1016 ก่อนที่จะเสด็จกลับเดนมาร์กไปพร้อมกองเรือส่วนหนึ่ง โดยอาจจะเสด็จกลับทันทีหรือหลังเสร็จพระราชพิธีราชาภิเษกแล้วสักพักหนึ่ง แต่สิ่งที่เป็นที่ทราบแน่นอนก็คือ มีการบันทึกพระนามของพระเจ้าแฮรัลด์กับพระเจ้าคนุตในรายชื่อของสหสมาคมภราดา (Confraternity) ณ อารามไครสต์เชิร์ช แคนเทอร์เบอรี ใน ค.ศ. 1018[52] กระนั้น บันทึกนี้ก็ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานว่าพระเจ้าแฮรัลด์เคยเสด็จมาอังกฤษจริง เนื่องจากบันทึกดังกล่าวอาจจะถูกทำขึ้นโดยพระราชกระแสของพระเจ้าคนุตเอง โดยที่พระเจ้าแฮรัลด์ไม่ทรงทราบ นี้หมายความว่า แม้โดยทัวไปแล้วจะเข้าใจกันว่าพระเจ้าแฮรัลด์เสด็จสวรรคตใน ค.ศ. 1018 ทว่าบันทึกดังกล่าวก็ทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่าพระองค์ยังคงมีพระชนม์อยู่หรือไม่ในเวลานั้น[52]การบันทึกพระนามของพระราชอนุชาในหนังสือโคเด็กซ์ที่แคนเทอร์เบอรี อาจจะเป็นความพยายามของพระเจ้าคนุตในโน้มน้าวศาสนจักรว่าการล้างแค้นผู้ปลงพระชนม์พระเจ้าแฮรัลด์ของพระองค์เป็นการกระทำที่ชอบธรรม หรือนี้อาจจะเป็นเพียงการกระทำเพื่อขอให้ดวงพระวิญญาณของผู้ล่วงลับได้อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของพระผู้เป็นเจ้าก็ได้ มีหลักฐานบ่งชี้ว่าในปีเดียวกันนั้นพระเจ้าคนุตก็กำลังทรงปราบปราม "โจรสลัด" โดยทรงทำลายเรือของพวกโจรไปกว่าสามสิบลำ[53]แต่ก็ไม่เป็นที่ทราบกันว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่นอกชายฝั่งของอังกฤษหรือเดนมาร์ก พระเจ้าคนุตเองก็มีพระราชดำรัสถึงปัญหาความวุ่นวายในพระราชหัตถเลขาของพระองค์เมื่อปี 1019 (เป็นพระราชหัตถเลขาซึ่งส่งจากเดนมาร์กไปยังอังกฤษ) ซึ่งพระองค์ทรงพระอักษร (เขียน) ขึ้นในฐานะพระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษและเดนมาร์ก เหตุการณ์เหล่านี้สามารถมองได้ว่าอาจจะมีส่วนข้องเกี่ยวกับการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าแฮรัลด์ ทั้งนี้ พระเจ้าคนุตทรงระบุไว้ในพระราชหัตถเลขาว่าพระองค์ทรงพยายามสะสางความวุ่นวายต่าง ๆ เพื่อที่เดนมาร์กจะสามารถช่วยเหลืออังกฤษได้[54]

พระเจ้าคนุตขอส่งพระราชปฏิสันถารฉันท์มิตรมายังเหล่าอาร์ชบิชอป บิชอปประจำสังฆมณฑล เอิร์ลธอร์เคลและบรรดาเอิร์ลของพระองค์ทั้งปวง...ทั้งฝ่ายศาสนจักรและฆราวาสในอังกฤษ...ข้าพเจ้าขอเรียนให้ท่านทั้งหลายทราบว่า ข้าพเจ้าจักธำรงค์ตนเป็นเจ้าเหนือหัวผู้กรุณา และจักเป็นผู้ทำนุบำรุงรักษากฎหมายและ (พระองค์ทรงชี้แนะให้เหล่าเอลโดแมนของพระองค์ช่วยเหลือเหล่าบิชอปในการรักษา) ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า...และผลประโยชน์ของอาณาราษฎร

หากผู้ใดก็ตาม จะเป็นสมณเพศหรือฆราวาสก็ดี ชาวเดนส์หรือชาวอังกฤษก็ดี จักกล้าผยองตัวถึงขั้นละเมิดซึ่งกฎแห่งพระเป็นเจ้าและราชสิทธิ์ของข้าพเจ้า รวมถึงกฎหมายที่ตราขึ้นแล้วไซร้ และหากผู้นั้นมิยอมปรับความประพฤติและเลิกการกระทำดั่งกล่าวของตนตามคำแนะนำของเหล่าบิชอปของข้าพเจ้า เช่นนั้น ข้าพเจ้าจักขอภาวนา แลบัญชาให้เอิร์ลธอร์เคล หากเป็นไปได้ ให้โน้มน้าวผู้กระทำผิดกลับมาในหนทางที่ชอบธรรม หากผู้นั้นมิยินยอมกลับตัว เช่นนั้นแล้วด้วยเจตจำนงของข้าพเจ้า และอำนาจของเราทั้งสอง จักทำลายหรือขับไล่ผู้นั้นให้สิ้นไป ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้กำเนิดในชาติตระกูลสูงหรือต่ำต้อยก็ดี และข้าพเจ้าหวังว่า ท่านทั้งหลาย ทั้งฝ่ายสงฆ์แลฆราวาส จักปฏิบัติตามกฎหมายของพระเจ้าเอ็ดการ์ ซึ่งหมู่ชนทั้งหลายได้เลือกสรรและให้สัตยาบันไว้ ณ นครออกซฟอร์ด

อันว่าข้าพเจ้ามิได้สำรองเงินเอาไว้ ตราบใดที่ภัยอันตรายทั้งหลายยังคุกคามพวกท่านอยู่ ข้าพเจ้า ด้วยความเกื้อหนุนจากพระเป็นเจ้า ได้ขจัดภัยนั้นให้สิ้นไป มาบัดนี้ ข้าพเจ้าได้ทราบมาว่ากำลังมีภยันตรายอันใหญ่หลวงยิ่งกำลังคืบคลานมาหาเราทั้งปวง และด้วยเหตุดังนั้น ข้าพเจ้าและผู้ติดตามจำนวนหนึ่งจึงได้ออกเดินทางไปยังเดนมาร์ก อันเป็นสถานที่ที่ความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงเกิดขึ้นแก่เรา และด้วยความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าได้กระทำให้แน่ใจว่าจักไม่มีเภทภัยใดจาก ณ สถานนั้น มาคุกคามท่านได้อีก ตราบใด้ที่ท่านทั้งหลายยังคงภักดีต่อข้าพเจ้า และอายุขัยของข้าพเจ้ายังคงยั่งยืนอยู่ บัดนี้ ข้าพเจ้าขอขอบพระคุณพระเจ้าผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ สำหรับความช่วยเหลือ และพระเมตตาของพระองค์ ซึ่งช่วยให้ข้าสามารถกำราบภัยอันตรายใหญ่หลวงนั้นที่กำลังคืบคลานมาหาเราลงได้ ทำให้เรามิต้องกลัวการคุกคามจากที่นั้นอีกต่อไป แต่ข้าพเจ้าคาดหวังว่าฝ่ายนั้นจักยอมเกื้อหนุนและช่วยเหลือเราในยามยาก หากจำเป็น

— พระราชหัตถเลขาของพระเจ้าคนุต ฉบับ ค.ศ. 1019, Trow 2005, pp. 168–169

การบริหารราชการแผ่นดิน

แก้
 
เหรียญเพนนีเงินของพระเจ้าคนุต แบบที่ผลิตในราว ค.ศ. 1024–30 ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์บริติช[55]

พระเจ้าคนุตทรงเป็นที่จดจำในฐานะพระมหากษัตริย์ผู้ทรงปัญญาและประสบความสำเร็จที่สุดพระองค์หนึ่งของอังกฤษ แม้ว่าภาพลักษณ์ดังกล่าวอาจจะเป็นผลมาจากความสัมพันธ์อันดีระหว่างพระองค์และศาสนจักรบ้างก็ตาม ซึ่งเป็นผู้จัดทำบันทึกประวัติศาสตร์ในสมัยนั้น ในขณะเดียวกันพระองค์ก็ถูกมองว่าเป็นบรุษผู้เคร่งศาสนามาจนถึงปัจจุบันนี้ แม้พระองค์อาจจะมีความสัมพันธ์ที่อาจจะมองได้ว่าเป็นการผิดหลักศาสนา กล่าวคือมีพระมเหสีพร้อมกันถึงสองพระองค์ และทรงกระทำการอันโหดร้ายทารุณต่ออริทางการเมืองซึ่งนับถือศาสนาคริสต์เช่นเดียวกับตัวพระองค์เอง

ภายใต้การปกครองของพระองค์ พระเจ้าคนุตได้นำราชอาณาจักรอังกฤษและเดนมาร์กรวมกันเป็นหนึ่ง และถือเป็นการเปิดฉากการแผ่อิทธิพลของชาวสแกนดิเนเวียและชาวแซกซันไปทั่วภูมิภาคสแกนดิเนเวียและโดยรอบบริติชไอลส์[46] การทัพของพระองค์มีผลทำให้ดุลอำนาจภายในราชอาณาจักรเปลี่ยนไปจากที่ชาวไวกิงมีภาวะครอบงำ สู่การเรืองอำนาจของชาวอังกฤษ ทำให้คู่ศึกเปลี่ยนจากอาณาจักรต่างชาติเป็นอาณาจักรเพื่อนบ้านในแถบสแกนดิเนเวียด้วยกันเอง พระเจ้าคนุตยังทรงเป็นผู้นำข้อกฎหมายของพระเจ้าเอ็ดการ์กลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้มีกฎหมายรองรับสถานะของเขตเดนลอว์[56] และการดำเนินชีวิตของชาวสแกนดิเนเวียส่วนใหญ่ภายในราชอาณาจักร

พระเจ้าคนุตทรงนำข้อกฎหมายที่มีอยู่เดิมมาบังคับใช้ใหม่ ด้วยการออกชุดคำประกาศพระราชโองการเพื่อบรรเทาความคับข้องใจของอาณาราษฎรที่พระองค์ทรงทราบ รวมถึง: กฎหมายว่าด้วยมรดกในกรณีที่ไม่มีพินัยกรรม และ กฎหมายว่าด้วยกรณีแฮร์ริโอต์และการจ่ายค่าชดเชย[57] (แฮร์ริโอต์ [Heriot] –การมอบของกำนัลหลังมรณกรรม) พระองค์ยังมีพระราโชบายปรับค่าเงินของอังกฤษให้แข็งขึ้น ด้วยการผลิตเหรียญกษาปณ์ที่มีนํ้าหนักเท่ากันกับเหรียญที่ใช้กันในเดนมาร์กและพื้นที่อื่น ๆ ของสแกนดิเนเวีย[ต้องการอ้างอิง] นอกจากนี้ยังทรงเป็นผู้ออกประมวลกฎหมายพระเจ้าคนุต ซึ่งในปัจจุบันรู้จักกันในนามกฎหมายพระเจ้าคนุตบรรพที่ 1 และบรรพที่ 2 ตามลำดับ แม้ดูเหมือนว่าข้อกฎหมายส่วนใหญ่จะเป็นผลงานของอาร์ชบิชอปวูลฟ์สตานแห่งยอร์กก็ตามที[58]

ในราชสำนักของพระองค์มีทั้งข้าราชบริพารที่เป็นชาวสแกนดิเนเวียและชาวอังกฤษ[59]

สืบราชสันตติวงศ์เดนมาร์ก

แก้

เมื่อพระเจ้าแฮรัลด์ที่ 2 เสด็จสวรรคตใน ค.ศ. 1018 พระเจ้าคนุตจึงเสด็จไปยังเดนมาร์กเพื่อรับสืบราชสันตติวงศ์ในราชบัลลังก์เดนมาร์ก พระองค์ทรงระบุในพระราชหัตถเลขาของพระองค์เองใน ค.ศ. 1019 ว่าการที่ทรงกระทำเช่นนี้เพื่อป้องกันอังกฤษจากการรุกราน (ดูเนื้อหาของพระราชหัตถเลขาที่ด้านบน) มีความเป็นไปได้ว่าชาวเดนส์บางส่วนไม่ยอมรับการครองราชย์ของพระองค์ การที่พระองค์จู่โจมชนเวนส์ในพอเมอเรเนียอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย โดยในการทัพครั้งนี้ กอดวิน หนึ่งในข้าราชบริพารชาวอังกฤษของพระเจ้าคนุตได้กระทำความชอบจนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย หลังจากที่เขาเป็นผู้นำกองทหารเข้าตีโฉบฉวยค่ายของพวกเวนส์ในเวลากลางคืน[ต้องการอ้างอิง]

ครั้นทรงเห็นว่าการปกครองในเดนมาร์กมีความมั่นคงแล้ว พระเจ้าคนุตก็เสด็จกลับอังกฤษใน ค.ศ. 1020 โดยทรงตั้งอุลฟ์ ทอร์กิลสัน ยาร์ลแห่งสกอเนอ พระสวามีในเจ้าหญิงแอสทริด สเวนด็อทเทียร์ พระขนิษฐาของพระองค์ เป็นข้าหลวงในเดนมาร์ก พร้อมกันนั้นก็ได้ฝากเจ้าชายฮาร์ธาคนุตพระราชโอรสของพระองค์ที่พระสูติแด่พระนางเอ็มมา ซึ่งพระองค์ทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระรัชทายาทไว้ในความอภิบาลของอุลฟ์ด้วย การขับไล่ธอร์เคลใน ค.ศ. 1021 อาจจะมองได้ว่ามีความข้องเกี่ยวกับการโจมตีชนเวนส์ หลังจากการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าโอลอฟ สก็อทโคนุง ใน ค.ศ. 1022 และการขึ้นครองราชบัลลังก์สวีเดนของพระเจ้าอนุนด์ จาค็อบ ผู้เป็นพระราชโอรส ทำให้สวีเดนเข้าเป็นพันธมิตรกับนอร์เวย์ และเปิดช่องให้เดนมาร์กมีข้ออ้างเพื่อแสดงแสนยานุภาพของตนในแถบบอลติก จอมสบอร์ก ฐานที่มั่นตามตำนานของคณะจอมสไวกิง (เชื่อกันว่าเป็นเกาะนอกชายฝั่งพอเมอเรเนีย) อาจจะเป็นเป้าหมายของพระเจ้าคนุตในการทัพครั้งนี้[60] เมื่อเสร็จจากศึกนี้ และได้ทรงแสดงเจตนารมณ์ที่จะเข้าครอบงำกิจการภายในสแกนดิเนเวียเรียบร้อยแล้ว ก็ดูเหมือนว่าธอร์เคลได้หันมาคืนดีกับพระเจ้าคนุตใน ค.ศ. 1023

พระเจ้าโอลาฟที่ 2 แห่งนอร์เวย์ทรงร่วมมือกับพระเจ้าอนุนด์ จาค็อบในการโจมตีเดนมาร์ก โดยอาศัยช่วงที่พระเจ้าคนุตทรงยุ่งอยู่กับพระราชกรณียกิจในอังกฤษ ขณะเดียวกันอุลฟ์ได้โน้มนาวให้เสรีชนเดนมาร์กสถาปนาเจ้าชายฮาร์ธาคนุต ผู้ยังทรงพระเยาว์ขึ้นเป็นกษัตริย์ อุบายนี้ทำให้อุลฟ์ได้ปกครองเดนมาร์กในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อพระเจ้าคนุตทรงทราบ พระองค์จึงรีบเสด็จไปเดนมาร์กเพื่อทวงราชบัลลังก์คืนและเพื่อจัดการกับอุลฟ์ ซึ่งต่อมาได้เข้าสวามิภักดิ์กับพระองค์ตามเดิม ในศึกที่ต่อมาเรียกกันว่ายุทธการที่เฮลกา พระเจ้าคนุตและไพร่พลของพระองค์ได้เข้ารบพุ่งกับฝ่ายนอร์เวย์และสวีเดนที่ปากแม่น้ำเฮลกา เหตุการณ์นี้อาจจะเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1026 ชัยชนะอย่างเด็ดขาดนี้ทำให้พระเจ้าคนุตกลายผู้นำที่ทรงอิทธิพลที่สุดในสแกนดิเนเวีย กระนั้น การที่ยาร์ลอุลฟ์ พระเทวันผู้เคยก้าวล่วงพระราชอำนาจของพระองค์ได้กลับใจมาสวามิภักดิ์ และยังร่วมสู้ในศึกที่เฮลกาด้วย ก็มิได้ทำให้พระองค์วางพระราชหฤทัยในตัวเขาดังเดิม[ต้องการอ้างอิง] แหล่งข้อมูลบางชิ้นกล่าวว่าทั้งสองกำลังเล่นหมากรุกด้วยกันในงานเลี้ยงที่รอสกิลด์ก่อนจะมีปากเสียงกันอย่างรุนแรง และในวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันคริสต์มาส ทหารราชองค์รักษ์ฮัสคาร์ลนายหนึ่งได้ลงมือสังหารอุลฟ์ในโบสถ์พระตรีเอกานุภาพ (ตั้งอยู่ตำแหน่งเดียวกันกับอาสนวิหารรอสกิลด์ในปัจจุบัน) ตามที่พระเจ้าคนุตมีพระราชดำรัสสั่ง[61]

การเสด็จสู่กรุงโรม

แก้
 
เหรียญกษาปณ์ของพระเจ้าคนุตมหาราช จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เทศมณฑลบักกิงแฮมเชอร์ในเอลส์บรี

หลังทรงกำราบอริราชศัตรูในสแกนดิเนเวียและว่างเว้นจากพระราชกรณียกิจทั้งหลายแล้ว พระเจ้าคนุตจึงทรงตอบรับคำเชิญเข้าร่วมพระราชพิธีราชาภิเษกของจักรพรรดิค็อนราทที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะจัดขึ้นในโรม ทรงละจากราชกิจในแดนเหนือ และเสด็จออกจากเดนมาร์กในวันอีสเตอร์ของปี 1027 เพื่อร่วมพระราชพิธีราชาภิเษกขององค์จักรพรรดิ ซึ่งนับเป็นเกียรติมากสำหรับเจ้านายยุโรปในสมัยกลาง ระหว่างเสด็จกลับพระองค์ก็ทรงพระอักษรพระราชหัตถเลขาฉบับ ค.ศ. 1027 ซึ่งมีจุดประสงค์เดียวกันกับฉบับ ค.ศ. 1019 คือการแจ้งเหล่าข้าแผ่นดินในอังกฤษถึงเป้าหมายของพระองค์จากต่างแดน[62] และทรงลงท้ายพระราชหัตถเลขาว่า "คนุต กษัตริย์แห่งอังกฤษ เดนมาร์ก ชาวนอร์เวย์ทั้งปวง แลบางพื้นที่ของชาวสวีด"[12]

กอปรกับบทบาทของพระองค์ในฐานะกษัตริย์คริสตชน พระเจ้าคนุตทรงระบุสาเหตุที่ตัดสินพระทัยเสด็จสู่กรุงโรมว่าเป็นไปเพื่อใคร่ครวญถึงบาปที่ทรงก่อ เพื่อภาวนาวอนขอการอภัยบาปและความปลอดภัยแก่ข้าแผ่นดินของพระองค์ รวมไปถึงการเจรจากับพระสันตะปาปาให้ลดราคาผ้าคลุมไหล่แพลเลียมให้กับเหล่าอาร์ชบิชอปอังกฤษ[63] การหารือเพื่อยุติความบาดหมางระหว่างมุขมณฑลแคนเทอร์เบอรีและฮัมบวร์ค-เบรเมินในเรื่องอำนาจเหนือเขตมุขมณฑลเดนมาร์ก การคุ้มกันผู้แสวงบุญและเหล่าขบวนสินค้าบนเส้นทางสู่กรุงโรม ตามที่ทรงพระอักษรไว้ในพระราชหัตถเลขา ดังนี้

...ข้าพเจ้าได้ปราศัยกับพระจักรพรรดิ องค์สันตะปาปา และบรรดาเจ้านายทั้งหลาย เกี่ยวกับความต้องการของราษฎร์ทั้งมวลทั่วทั้งอาณาจักรของข้าพเจ้า ทั้งชาวอังกฤษแลชาวเดนส์ ถึงกฎหมายและการรักษาความปลอดที่ดีกว่าเดิมตามท้องถนนสู่กรุงโรม พวกเขาทั้งหลายมิสมควรที่จะถูกทำให้ชักช้าลงด้วยเหล่าเครื่องกีดขวางตามเส้นทาง หรือถูกเรียกเก็บค่าผ่านทางในราคาที่ไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ พระจักรพรรดิรวมถึงพระเจ้าโรเบิร์ต ผู้คุมด่านค่าผ่านทางทั้งหลาย รวมไปถึงบรรดาผู้มีศักดิ์ทั้งมวลต่างก็เห็นด้วย แลออกประกาศให้อาณาราษฎร์ของข้าพเจ้า ทั้งพวกพ่อค้าวาณิช แลจำพวกอื่น ๆ ซึ่งเดินทางเพื่อการแสวงบุญ จักเดินทางไปกลับจากกรุงโรมโดยมิต้องถูกขัดขวางโดยเครื่องกีดขวางหรือนายด่านผ่านทางใด ๆ โดยสะดวกและปลอดภัยภายใต้กฎหมาย

— พระราชหัตถเลขาของพระเจ้าคนุต ฉบับ ค.ศ. 1027, Trow 2005, p. 193

พระนาม "โรเบิร์ต" ในพระราชหัตถเลขาของพระเจ้าคนุต แท้จริงแล้วหมายถึงพระเจ้าโรดอล์ฟที่ 3 พระมหากษัตริย์รัชกาลสุดท้ายของราชอาณาจักรบูร์กอญ ก่อนถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ การบันทึกพระนามผิดเพี้ยนไปเช่นนี้อาจจะเกิดจากความผิดพลาดของนายอาลักษณ์เอง คำประกาศของพระสันตะปาปา พระจักรพรรดิ และพระเจ้าโรดอล์ฟ มีขึ้นโดยมีอาร์ชบิชอปสี่องค์ บิชอปยี่สิบองค์ พร้อมกับ "ดยุกและขุนนางนับไม่ถ้วน" เป็นพยาน[64] ทำให้เชื่อได้ว่าประกาศดังกล่าวมีขึ้นก่อนที่พระราชพิธีจะเสร็จสิ้น[64] พระเจ้าคนุตทรงเชื่อมั่นในบทบาทของพระองค์อย่างเคร่งครัด[65] ดูเหมือนว่าภาพลักษณ์ของพระองค์ในฐานะกษัตริย์คริสตชนผู้ยุติธรรม รัฐบุรุษ นักการทูต และผู้นำในการต่อสู้กับความอยุติธรรมจะมีเค้าความจริงอยู่บ้าง และสอดคล้องกับภาพลักษณ์ที่พระองค์ต้องการสร้างเช่นกัน

การเสด็จไปร่วมพระราชพิธีราชาภิเษกยังสะท้อนให้เห็นถึงสถานะของพระองค์ในสายตาของชาวยุโรปบนภาคพื้นทวีป เมื่อพระเจ้าคนุตและพระมหากษัตริย์แห่งบูร์กอญ ได้โดยเสด็จเคียงข้างพระจักรพรรรดิระหว่างขบวนพระราชพิธี[46] และทรงยืนบนแท่นในระดับที่เท่ากัน[66] ข้อมูลหลายชิ้นกล่าวว่าพระเจ้าคนุตและจักรพรรดิค็อนราท[66]ทรงนับถือกันเฉกเช่นพี่น้อง เนื่องจากมีพระชนมายุไล่เลี่ยกัน จักรพรรดิค็อนราททรงยกพื้นที่บริเวณชายแดนของแคว้นชเลสวิช อันเป็นดินแดนซึ่งเชื่อมเหล่าอาณาจักรในสแกนดิเวียกับภาคพื้นทวีปให้พระเจ้าคนุต เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระราชไมตรีของทั้งสองพระองค์[67] บริเวณดังกล่าวยังเป็นสถานที่ซึ่งความขัดแย้งระหว่างชาวเดนส์และชาวเยอรมันเกิดขึ้นบ่อยครั้งมาตั้งแต่หลายศตวรรษก่อน นำไปสู่การสร้างแนวป้องกันเดนเนวิกค์ อันทอดยาวตั้งแต่แคว้นชเลสวิช บริเวณปากนํ้าชไลน์ ที่แตกแขนงมาจากทะเลบอลติกไปจนจรดทะเลเหนือ

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนกรุงโรมของพระเจ้าคนุตประสบความสำเร็จอย่างมาก ในบาทหนึ่งของบทกวี คนุตดราพา ซิกวาทร์ ธอร์ดาร์สัน สรรเสริญพระเจ้าคนุต นายเหนือหัวของตนว่า "เป็นที่รักใคร่ขององค์จักรพรรดิ แลสนิทชิดเชื้อกับนักบุญเปโตร"[68] ในสมัยนั้นมีความเชื่อกันว่ากษัตริย์ที่ทำพระองค์ให้เป็นที่พึงพอพระทัยของพระเป็นเจ้าจะได้ปกครองราชอาณาจักรที่สงบสุข[68] พระราชอำนาจของพระองค์มีความมั่นคงขึ้น ไม่ใช่เพียงเพราะการสนับสนุนจากศาสนจักรและราษฎรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเชี่อมสัมพันธ์กับอริของพระองค์ในแดนใต้ เพื่อให้สามารถยุติความขัดแย้งกับศัตรูของพระองค์ในแดนเหนือ พระราชหัตถเลขาของพระองค์ไม่เพียงแต่บอกเหล่าข้าราชบริพารถึงความสำเร็จของพระองค์ในกรุงโรม แต่ยังรวมไปถึงเป้าหมายของพระองค์ในสแกนดิเนเวียด้วย

...ข้าพเจ้า ขอแจ้งให้ท่านทั้งหลายทราบว่า ข้าพเจ้าได้เดินทางกลับโดยใช้เส้นทางเดิม ข้าพเจ้ากำลังเดินทางไปยังเดนมาร์กเพื่อเจรจาสันติภาพและจัดการสนธิสัญญาให้มั่นคง ภายใต้การแนะนำของชาวเดนส์ทั้งปวง อันเป็นชนชาติที่จะพรากชีวิตและกฎระเบียบทั้งหลายไปจากเราหากมีโอกาส แต่ก็หามีไม่ ด้วยเหตุว่าพระเป็นเจ้าได้ทลายพละกำลังของพวกเขาไปเสียสิ้น ขอพระองค์จงทรงปกปักษ์เราภายใต้การปกครองอันการุญและมีเกียรติยิ่งของพระองค์ ขอพระองค์โปรดบันดาลให้ศัตรูของเราจงแตกกระจายไป แลอย่าประทานแรงพละกำลังให้แก่ศัตรูทั้งหลายของเรา! และข้อสุดท้าย เมื่อสันติภาพได้บังเกิดมีกับชนชาติโดยรอบเรา แลได้จัดแจ้งความเรียบร้อยในอาณาจักรทั้งมวลทางทิศตะวันออก ซึ่งจะทำให้เรามิต้องกังวลเรื่องสงครามรบพุ่ง หรือความบาดหมางส่วนตัวประการใด ข้าพเจ้าจะกลับไปยังอังกฤษอย่างเร็วที่สุดในหน้าร้อนนี้ หากกองเรือของข้าพเจ้าพร้อม

— พระราชหัตถเลขาของพระเจ้าคนุต ฉบับ ค.ศ. 1027[64]

พระเจ้าคนุตเสด็จพระราชดำเนินออกจากกรุงโรมกลับสู่เดนมาร์ก เพื่อจัดแจงความเรียบร้อยภายใน[12] หลังจากนั้นจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับอังกฤษ

ชิงราชบัลลังก์นอร์เวย์และการได้มาซึ่งดินแดนบางส่วนของสวีเดน

แก้
 
จักรวรรดิทะเลเหนือของพระเจ้าคนุตมหาราช ราว ค.ศ. 1030 (โปรดสังเกตว่าดินแดนซาร์นา แยมต์ลันด์ อิเดร และเฮลเยดาลันด์ ของนอร์เวย์ [ปัจจุบันเป็นของสวีเดน] ไม่ได้รวมอยู่ในแผนที่ฉบับนี้)

ในพระราชหัตถเลขาฉบับ ค.ศ. 1027 ของพระองค์ พระเจ้าคนุตทรงกล่าวถึงตัวพระองค์เองว่าทรงเป็นกษัตริย์แห่ง "ชาวนอร์เวย์ทั้งปวง แลบางพื้นที่ของชาวสวีด" เชื่อกันแม่น้ำเฮลกาที่พระองค์รบชนะกองทัพสวีเดนน่าจะอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุปลันด์ และไม่ใช่แม่น้ำชื่อเดียวกันที่ตั้งอยู่ในทางตะวันออกของจังหวัดสกัวเนอ ในขณะที่กษัตริย์สวีเดนถูกกล่าวถึงในแง่ลบ[69] สันนิฐานกันว่าเมืองซิกทือนาในประเทศสวีเดนเคยอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าคนุต เพราะมีการพบเหรียญกษาปณ์ที่ผลิตในเมืองนั้นซึ่งจารึกว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ปกครองดินแดนนี้ ทว่ากลับไม่มีบันทึกเกี่ยวกับการยึดครองของพระองค์เลย[70] อย่างไรก็ดี โดยส่วนมากแล้วมองว่าเหรียญกษาปณ์เหล่านี้เป็นของทำเลียนแบบเหรียญที่ผลิตขึ้นในเดนมาร์ก นอกจากนี้ยังมีการพบเหรียญที่จารึกว่าพระเจ้าโอลอฟ สก็อทโคนุงแห่งสวีเดนทรงเป็นกษัตริย์อังกฤษในเมืองซิกทือนาด้วย[71][72] พระเจ้าคนุตยังตรัสถึงพระราชปณิธาณของพระองค์ในการเสด็จไปยังเดนมาร์กเพื่อสร้างสันติภาพระหว่างเหล่าราชอาณาจักรในสแกนดิเนเวีย สอดคล้องกับคำบันทึกของจอหน์แห่งวุร์สเตอร์ ซึ่งระบุว่าใน ค.ศ. 1027 พระเจ้าคนุตทรงทราบว่ามีชาวนอร์เวย์บางส่วนมีความขุ่นเคือง พระองค์จึงพระราชทานเงินและทองให้พวกเขา แลกกับการสนับสนุนการอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์ของพระองค์[12]

ใน ค.ศ. 1028 พระเจ้าคนุตทรงเข้ารุกรานนอร์เวย์ พระองค์เสด็จขึ้นฝั่งที่นครทร็อนไฮม์พร้อมกับกองเรือจำนวนห้าสิบลำ โดยที่พระเจ้าโอลาฟที่ 2 แห่งนอร์เวย์ไม่สามารถต้านการรุกรานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากขุนนางของพระองค์ถูกพระเจ้าคนุตติดสินบน และ (ตามบันทึกของอาดัมแห่งเบรเมิน) เพราะพระองค์มักมีพระราชดำรัสสั่งให้จับภรรยาของขุนนางเหล่านั้นในความผิดฐานทำการเกี่ยวกับไสยศาสตร์และคาถาอาคม[73] พระเจ้าคนุตจึงได้เป็นกษัตริย์ปกครองเหนืออังกฤษ เดนมาร์ก และนอร์เวย์ รวมไปถึงส่วนหนึ่งของสวีเดน[29] พระองค์พระราชทานเขตปกครองของเอิร์ลแห่งเลดให้แก่โฮกุน อีริคสัน เชื้อสายของตระกูลผู้ปกครองเดิม คาดกันว่าอีริค บิดาของเขาน่าจะเสียชีวิตไปแล้วเมื่อถึงช่วงเวลานี้[74] โฮกุนอาจจะได้สืบบรรดาศักดิ์เป็นเอิร์ลแห่งนอร์ทัมเบรียต่อจากอีริคเช่นกัน[75]

ตระกูลของโฮกุนมีความบาดหมางกับราชวงศ์นอร์เวย์มาเป็นเวลานานแล้ว และยังมีศักดิ์เป็นพระญาติของพระเจ้าคนุตด้วย เขามีดินแดนในปกครองตนอยู่ก่อนแล้วในหมู่เกาะบริติชไอลส์ คืออาณาจักรเอิร์ลแห่งวุร์สเตอร์ โดยอาจจะปกครองระหว่าง ค.ศ. 1016 ถึง 1017 เส้นทางเดินเรือผ่านทะเลไอริชและหมู่เกาะเฮอร์บริดีส อันนำไปสู่ออร์กนีย์และนอร์เวย์ ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อพระราชปณิธานของพระเจ้าคนุตที่จะเข้าครอบงำสแกนดิเนเวียและบริติชไอลส์ โฮกุนจะทำหน้าเสมือนมือขวาต่างพระเนตรพระกรรณของพระองค์ในแผนยุทธศาสตร์นี้ โดยขั้นตอนสุดท้ายในแผนคือการตั้งเขาเป็นข้าหลวงรักษาราชการนอร์เวย์ หลังจากที่ขับพระเจ้าโอลาฟที่ 2 ออกจากราชสมบัติได้ใน ค.ศ. 1028 ทว่าโฮกุนกลับเสียชีวิตลงเสียก่อนจากเหตุเรือล่มที่เพนท์แลนด์ฟิฟฟ์ (ตั้งอยู่ระหว่างหมู่เกาะออร์กนีย์และแผ่นดินใหญ่สกอตแลนด์) ในราวปลายปี 1029 หรือต้นปี 1030[76]

หลังจากการเสียชีวิตของโฮกุน พระเจ้าโอลาฟที่ 2 จึงชิงเสด็จกลับนอร์เวย์พร้อมไพร่พลชาวสวีเดนเพื่อทวงราชบัลลังก์คืน แต่ก็ถูกปลงพระชนม์ในยุทธการที่สติกเคิลสตาดซึ่งเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1030 ความพยายามของพระเจ้าคนุตในการปกครองนอร์เวย์โดยไร้ซึ่งการสนับสนุนจากสายตระกูลของเอิร์ลแห่งเลด ผ่านทางเอลฟ์จิฟูแห่งนอร์แธมตัน พระมเหสีพระองค์แรก และเจ้าชายสเวน คนุตสัน พระราชโอรสพระองค์โตที่ประสูติแต่พระนางไม่ประสบความสำเร็จ ช่วงเวลาดังกล่าวถูกเรียกว่า รัชสมัยของเอลฟ์จิฟู ในประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการจัดเก็บภาษีอย่างหนัก นำไปสู่การกบฏและการฟื้นฟูราชวงศ์นอร์เวย์เดิมภายใต้พระเจ้ามักนุสที่ 1 พระราชโอรสนอกสมรสของพระเจ้าโอลาฟที่ 2

อิทธิพลในเส้นทางเดินเรือตะวันตก

แก้

ใน ค.ศ. 1014 ขณะที่พระเจ้าคนุตกำลังทรงเตรียมการรุกรานอังกฤษอีกครั้ง ในเวลาเดียวกัน กองทัพของหลายฝ่ายได้มาประจัญหน้ากันในยุทธการที่คลอนทาร์ฟ ที่ท้องทุ่งนอกกำแพงเมืองดับลิน พระเจ้ามีล มอร์ดา แม็ค มูร์ชาดา กษัตริย์แห่งไลนสเตอร์และพระเจ้าซิกทริงจ์ที่ 2 ผู้ปกครองราชอาณาจักรดับลิบของชาวนอร์ส-เกลิก ได้ส่งทูตไปยังอาณาจักรต่าง ๆ ของชาวไวกิงเพื่อขอความช่วยเหลือในการกบฎต่อต้านไบรอัน โบรู จอมกษัตริย์แห่งไอร์แลนด์ ซีเกิร์ดผู้แข็งแกร่ง เอิร์ลแห่งออร์กนีย์[77]ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บังคับบัญชากองกำลังทั้งหมดของชาวนอร์ส ด้านพระเจ้าไบรอัน โบรู ทรงขอความช่วยเหลือจากชาวอัลบานาซ ซึ่งนำโดยดอมเนล แมค ไอร์มินน์ แมค แคลนนิก มอนเมอร์แห่งมาร์[78] กองทัพพันธมิตรไลนสเตอร์-นอร์สพ่ายแพ้ และแม่ทัพทั้งสอง คือ เอิร์ลซีเกิร์ดและพระเจ้ามีล มอร์ดาถูกฆ่าและปลงพระชนม์ในการรบตามลำดับ พระเจ้าไบรอัน พระราชโอรสกับพระราชนัดดาของพระองค์ และดอมเนล มอนเมอร์แห่งมาร์ ก็เสด็จสวรรคตและเสียชีวิตในการรบเช่นเดียวกัน กองกำลังพันธมิตรของพระเจ้าซิกทริงจ์แตกพ่ายไป ถึงกระนั้นพระองค์ก็สามารถเสด็จหนีรอดมาได้ ผลของการศึกครั้งนี้ทำให้ราชบัลลังก์จอมกษัตริย์แห่งไอร์แลนด์ตกไปอยู่กับมีล เชชเนล แม็ค ดอมนีลจากราชวงศ์โอนีลล์อีกครั้ง[79]

เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดช่วงเวลาอิสระระยะสั้นในบริเวณทะเลไอริชสำหรับชาวไวกิงในดับลินและสุญญากาศทางการเมืองที่แพร่กระจายไปทั่วบริเวณเส้นทางเดินเรือตะวันตกของกลุ่มเกาะตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก พระเจ้าคนุตทรงนับเป็นหนึ่งในผู้ที่มีความโดดเด่นท่ามกลางผู้ที่พยายามเข้ามาแทนที่สุญญากาศทางการเมืองนั้น "ผู้ซึ่งความเป็นผู้นำของชาวสแกนดิเวียจะทำให้พระองค์มีอิทธิพลอันโดดเด่นต่อเหล่านิคมในทิศตะวันตก และการที่พระองค์ทรงควบคุมเส้นทางการค้าสำคัญของพวกเขา ทำให้พระองค์มีความได้เปรียบทางเศรษกิจในการครอบงำทางการเมือง"[80] เหรียญกษาปณ์ที่ออกโดยพระเจ้าซิกทริงจ์ที่ 2 ในราว ค.ศ. 1017–25 มีการทำลวดลายดอกจิกสี่แฉกลักษณะอย่างเดียวกับเหรียญของพระเจ้าคนุต โดยเปลี่ยนเพียงพระนามที่จารึกบนเหรียญและการเติมสร้อยพระราชอิสริยยศ "แห่งดับลิน" หรือ "ในหมู่ชนไอริช" เท่านั้น แสดงให้เห็นถึงการได้รับอิทธิพลจากพระเจ้าคนุต[81] นอกจากยังมีการพบชื่อของ "ดยุกซิทริงจ์" (Sihtric dux) ในกฎบัตรจำนวนสามฉบับของพระเจ้าคนุตด้วย[82]

ซิกวาทร์ ธอร์ดาร์สัน กวีประจำราชสำนัก เขียนเท้าความไว้ในกลอนบาทหนึ่งว่า เจ้านายผู้มีชื่อเรืองนามทั้งหลายต่างพากันเอาเศียรของตนมาถวายแด่พระเจ้าคนุต ก่อให้เกิดความสงบสุข (หมายถึงถูกสังหารทั้งหมด) [83] กลอนบาทนี้กล่าวถึงพระเจ้าโอลาฟที่ 2 ด้วยไวยากรณ์อดีตกาล (Past tense) ข้อเท็จจริงปรากฏว่าพระองค์สวรรคตในยุทธการที่สติกเคิลสตาดใน ค.ศ. 1030 ดังนี้จึงแสดงให้เห็นว่า ในช่วงเวลาหลังจากนั้น และเป็นช่วงก่อนที่จะทรงสร้างฐานพระราชอำนาจในนอร์เวย์ พระเจ้าคนุตได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังสกอตแลนด์พร้อมกองทัพบก[84] และกองทัพเรือในทะเลไอริช[85] ใน ค.ศ. 1031 เพื่อรับการสวามิภักดิ์ (โดยที่มิได้เกิดจากการรบพุ่งกันมาก่อน) จากสามกษัตริย์สกอต อันได้แก่ พระเจ้ามัลคอล์มที่ 2 แมคเบธ มอนเมอร์แห่งมอร์เรย์ และเอียมัค (Iehmarc)[86] พระเจ้าเอียมัคที่ว่านี้ อาจจะหมายถึงเอียมาคาซ แม็ค แร็กเนล ประมุขของราชวงศ์อูร์ไอวาร์ และผู้ปกครองอาณาจักรในแถบทะเลไอริช[46] โดยมีแคว้นแกลโลเวย์เป็นหนึ่งในดินแดนที่ทรงปกครอง ถึงกระนั้น ดูเหมือนว่าพระเจ้ามัลคอล์มที่ 2 แห่งสกอตแลนด์จะมิได้เกรงพระราชอำนาจของพระเจ้าคนุตเท่าใดนัก และอิทธิพลของอังกฤษเหนือสกอตแลนด์ก็จางหายไปหมดสิ้นในห้วงเวลาที่พระเจ้าคนุตเสด็จสวรรคต[10]

นอกไปจากนี้ บทกวีประเภท เลาซาวิซูร์ ชิ้นหนึ่งซึ่งเชื่อว่าเป็นผลงานของสเคล อกตตรา สวาติ มีบาทที่แสดงความเคารพต่อเจ้าผู้ปกครองแห่นชนเดนส์ ไอริช อังกฤษ และหมู่เกาะทั้งหลายด้วย[87] ชน ไอริช ในที่นี้น่าจะหมายถึงอาณาจักรของชาวเกลล์กาดริล (ชาวนอร์ส–เกลล์) มากกว่าอาณาจักรของชาวเกลลิค เพราะเนื้อหาของบทกวี "ชวนให้หวนคำนึงถึงเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ดในทะเลไอริช และเรื่องเล่าในบันทึกของอาดัมแห่งเบรเมินเกี่ยวกับการที่พระองค์เป็นพระราชอาคันตุกะของ กษัตริย์แห่งสโกโทรัม (rex Scothorum ซึ่งอาจมีความหมายว่า "กษัตริย์แห่งชนไอริช") [88] [และ]อาจมีความเกี่ยวข้องกับ...พระเจ้าเอียมัคผู้เข้าสวามิภักดิ์ใน ค.ศ. 1031 [และ]อาจจะทรงมีบทบาทสำคัญในความสัมพันธ์ของพระเจ้าคนุตกับชาวไอริช"[85][โปรดขยายความ]

ความสัมพันธ์กับศาสนจักร

แก้
 
เทวทูตทรงสวมมงกุฎให้พระเจ้าคนุต ขณที่พระองค์และพระนางเอ็มมาแห่งนอร์ม็องดี[89] (เอลฟ์จิฟู) พระมเหสี ถวายไม้กางเขนทองคำขนาดใหญ่แด่อารามไฮด์ในนครวินเชสเตอร์ ภาพจากหนังสือ ลิเบอร์วิเต ของโบสถ์นิวมินส์เตอร์ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่หอสมุดบริติช

ด้วยความที่พระเจ้าคนุตเป็นกษัตริย์จากดินแดนของผู้รุกราน และทรงกระทำการโหดเหี้ยมต่อราชวงศ์เวสเซกซ์ อันเป็นราชวงศ์เดิมที่ปกครองอังกฤษ จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และศาสนจักรไม่สู้ดีนัก ทั้งนี้ พระองค์ทรงเป็นคริสตชนมาตั้งแต่เสด็จพระราชสมภพแล้ว โดยมีพระนามเมื่อทรงรับศีลล้างบาปว่า แลมเบิร์ต[90][91] กระนั้นการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในสแกนดิเนเวียก็ยังไม่เสร็จสมบรูณ์ดี การที่พระองค์อภิเษกสมรสกับพระนางเอ็มมาแห่งนอร์ม็องดี ทั้งที่มีพระมเหสีอยู่ก่อนแล้ว คือ พระนางเอลฟ์จิฟูแห่งนอร์แธมตัน ซึ่งถูกส่งไปประทับในภาคใต้ที่พระราชฐานในนครเอ็กซิเตอร์ ก็เป็นอีกหนึ่งการกระทำที่ขัดต่อคำสอนของศาสนจักร พระเจ้าคนุตทรงพยายามปรองดองกับเหล่านักบวชด้วยการมีพระราชกระแสให้ซ่อมแซมโบสถ์และอารามที่ถูกชาวไวกิงเข้าปล้น ทรงบริจาคพระราชทรัพย์เพื่อจุนเจือการเงินของศาสนจักร ทั้งยังมีพระราชดำรัสสั่งให้สร้างโบสถ์ใหม่จำนวนมาก และทรงอุปถัมภ์ชุมชนนักบวชหลายแห่ง เดนมาร์ก ถิ่นพระราชสมภพของพระองค์นั้นเป็นชาติที่พึ่งเข้ารับศาสนาคริสต์ และความต้องการทำนุบำรุงศาสนาใหม่นี้ยังมีคงอยู่มาก ยกตัวอย่างเช่น การสร้างโบสถ์หินแห่งแรกในสแกนดิเนเวีย (เท่าที่มีบันทึกไว้) ที่นครรอสกิลด์ เมื่อราว ค.ศ. 1027 โดยมีเจ้าหญิงแอสทริด พระขนิษฐาในพระเจ้าคนุตเป็นผู้สนับสนุน[92]

เป็นการยากที่จะทราบแน่ชัดว่าท่าทีของพระเจ้าคนุตต่อศาสนจักรมีที่มาจากความศรัทธา หรือเป็นเพียงการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือเพื่อควบคุมประชากรเท่านั้น มีหลักฐานชี้ถึงการแสดงความเคารพต่อศาสนาดั่งเดิมของชาวนอร์สในบทกวียอพระเกียรติของพระองค์ ซึ่งก็ดูเหมือนว่าพระองค์จะโปรดให้เหล่านักกวี สเคล ในราชสำนักพรรณาถึงตำนานเทพยดานอร์ส ในขณะที่ผู้นำไวกิงกลุ่มอื่น เช่น พระเจ้าโอลาฟที่ 2 แห่งนอร์เวย์ ทรงพยายามปฏิบัติพระองค์ตามวัตรปฏิบัติของคริสต์ศาสนาอย่างเคร่งครัด[93] กระนั้นพระองค์ก็ทรงแสดงพระราชปณิธานที่จะสร้างอาณาจักรคริสต์อันเปี่ยมธรรมขึ้นในทวีปยุโรป แหล่งข้อมูลบางชิ้นระบุว่า พระองค์ประทับอยู่ที่แคนเทอร์เบอรีใน ค.ศ. 1018 เพื่อรอรับไลฟิง อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีที่เดินทางกลับมาจากกรุงโรมพร้อมสมณสาสน์สรรเสริญจากพระสันตะปาปา[94] หากเรื่องที่บันทึกนี้ถูกต้อง พระเจ้าคนุตอาจจะเสด็จพระราชดำเนินออกจากแคนเทอร์เบอรีไปยังนครออกซฟอร์ด ที่ประชุมของสภาวิททัน พร้อมกับอาร์ชบิชอปวูลฟ์สตานแห่งยอร์ก เพื่อมีพระราชกระแสให้บันทึกเรื่องนี้ไว้[95]

ของกำนัลที่พระองค์ทรงถวายให้ศาสนจักรมีมากมาย และยังโปรดถวายแก่โบสถ์หลายแห่ง[96] โดยมากพระองค์จะทรงถวายเป็นที่ดินหรือเรลิก นอกนี้ยังพระราชทานสิทธิงดเว้นไม่เก็บภาษี อาทิในกรณีของอารามไครสต์เชิร์ช ซึ่งอาจจะได้รับสิทธิในการใช้ท่าเรือของเมืองแซนด์วิช ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญ อภิสิทธิ์ไม่ถูกเก็บภาษี และมีพระราชกระแสให้นำเอกสารยืนยันสิทธิเหล่านั้นไปวางบนแท่นบูชาประจำอาราม[95] อารามไครสต์เชิร์ชยังได้รับถวายเรลิกของนักบุญเอลฟ์ฮีท[97] ทำให้ชาวกรุงลอนดอนไม่พอใจอย่างยิ่ง อีกเขตมุขมณฑลหนึ่งที่พระเจ้าคนุตโปรดก็ได้แก่วินเชสเตอร์ ซึ่งได้รับของถวายมากจนมีความมั่งคั่งเป็นอันดับสองรองจากมุขมณฑลแคนเทอร์เบอรี[98] หนังสือ ลิเบอร์วิเต ของโบสถ์นิวมินส์เตอร์ บันทึกพระนามของพระเจ้าคนุตไว้ในฐานะผู้อุปถัมภ์ของอาราม[98] และยังเป็นผู้ถวายกางเขนวินเชสเตอร์ ซึ่งเป็นไม้กางเขนทำจากเงิน 500 มาร์ก และทองคำอีก 30 มาร์ก รวมถึงเรลิกของนักบุญหลายองค์[99] ทรงสร้างสักการสถานถวายโบสถ์โอลด์มินสเตอร์ เพื่อบรรจุเรลิกของนักบุญบริรินุสและอาจจะพระราชทานเอกสารรับรองอภิสิทธิ์ให้ด้วย[98] อารามที่อีฟส์แฮม ซึ่งลือกันว่าเอลฟ์เวียร์ด เจ้าอาวาสของวัดมีศักดิ์เป็นพระญาติของพระเจ้าคนุตผ่านทาง "ท่านหญิงเอลฟ์จิฟู" (อาจจะหมายถึงเอลฟ์จิฟูแห่งนอร์แธมตัน พระมเหสีพระองค์แรก มากกว่าที่จะเป็นพระนางเอ็มมาแห่งนอร์ม็องดี พระมเหสีพระองค์ที่สอง ซึ่งในเอกสารของชาวแองโกล–แซกซันออกพระนามว่าเอลฟ์จิฟูเช่นกัน) ได้รับถวายเรลิกของนักบุญวิกสตัน[100] ชาวอังกฤษบางส่วนชื่นชมพระราโชบายนี้ ในขณะที่เหล่านักกวีสเคลวิจารณ์ว่า "เป็นการทำลายพระราชทรัพย์"[101] ทำให้ราษฎรในวงกว้างได้รับความลำบากจากการเก็บภาษี[102] ขณะที่ทัศนะของพระองค์ที่มีต่อเขตมุขมณฑลลอนดอนก็มิได้ดีขึ้นเลย อารามในเขตมุขมณฑลอีลีและแกลสตันบูรีเองก็มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีนักกับพระองค์

พระองค์ยังทรงถวายของกำนัลแด่อารามในอาณาจักรใกล้เคียง ตัวอย่างหนึ่งคือเมืองชาทร์ในฝรั่งเศส ซึ่งบิชอปประจำเมืองได้เขียนจดหมายชื่นชมว่า "ครั้นเราได้เห็นของถวายที่พระองค์ทรงส่งมา เราทั้งหลายก็ได้แต่ตะลึงงันในพระปรีชาญาณและความศรัทธาของพระองค์...เหตุว่าพระองค์ ซึ่งเราทราบมาว่าเป็นเจ้านายของชาวนอกรีต บัดนี้กระจ่างแล้วว่าเป็นคริสตชนผู้หนึ่ง แลเป็นผู้จุนเจือที่มีพระทัยกว้างต่อศาสนจักรของพระเจ้าและข้ารับใช้ของพระองค์ยิ่งนัก"[98] เป็นที่ทราบกันว่าพระองค์เป็นผู้ส่ง หนังสือเพลงสวดสดุดีและหนังสือประกอบคริสต์ศาสนพิธีที่ทำขึ้นในเมืองปีเตอร์บะระ (เป็นแหล่งขึ้นชื่อในด้านการผลิตเอกสารตัวเขียนสีวิจิตร) ไปยังนครโคโลญ[103] และยังเป็นผู้ส่งหนังสือที่เขียนด้วยตัวอักษรทองคำ พร้อมของอื่น ๆ เป็นกำนัลให้แก่ดยุกกีโยมที่ 5 ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอากีแตน[103] หนังสือที่เขียนด้วยตัวอักษรทองคำนี้อาจจะมีพระราชดำรัสสั่งให้ทำขึ้นเพื่อหนุนการผลักดันของฝ่ายอากีแตนที่ต้องการให้นักบุญมาร์ซียาล องค์อุปถัมป์ประจำแคว้นตนได้รับประกาศเป็นอัครสาวก[104] ดยุกกีโยมผู้ครองแคว้นอากีแตนนี้มีชื่อเสียงอยู่พอควรว่าเป็นผู้สนใจในด้านงานฝีมือและวิชาการอย่างยิ่งยวด นอกจากนี้ยังเป็นชาวคริสต์ที่มีความศรัทธามาก แอบบีย์แซ็ง-มาร์ซียาลในเมืองลีมอฌ นับเป็นห้องสมุดและโรงเขียนหนังสือที่มีความใหญ่เป็นอันดับสองรองจากของเมืองกลูว์นี มีความเป็นไปได้ของกำนัลของพระเจ้าคนุตจะมีมากกว่าที่ความรู้ของนักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันทราบ[103]

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนกรุงโรมของพระเจ้าคนุตใน ค.ศ. 1027 นับเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่บ่งบอกถึงการอุทิศพระองค์ให้แก่คริสต์ศาสนา แม้พระองค์อาจจะตั้งพระราชหฤทัยเสด็จพระราชดำเนินร่วมพระราชพิธีราชาภิเษกของจักรพรรดิค็อนราทเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างสองอาณาจักร แต่ก่อนหน้านั้นพระองค์ก็ทรงสาบานว่าจะธำรงพระองค์ให้เป็นที่ชอบธรรมในสายตาของนักบุญเปโตร ผู้กุมกุญแจสู่อาณาจักรสวรรค์[105] ขณะประทับในกรุงโรม พระเจ้าคนุตก็ทรงทำข้อตกลงกับพระสันตะปาปาให้มีการลดราคาเงินค่าธรรมเนียมที่เหล่าอาร์ชบิชอปอังกฤษต้องจ่ายเพื่อรับผ้าคลุมไหล่แพลเลียม พระองค์ยังจัดแจงให้นักเดินทางจากอาณาจักรของพระองค์ไม่ต้องจ่ายค่าผ่านทางในราคาที่ไม่เป็นธรรม และจะได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยตลอดเส้นทางสู่กรุงโรม ทั้งขาไปและกลับ หลักฐานบางชิ้นบ่งบอกว่าพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนกรุงโรมเป็นครั้งที่สองใน ค.ศ. 1030[106]

เสด็จสวรรคตและการสืบราชสันตติวงศ์

แก้
 
หีบที่เชื่อว่าบรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าคนุตมหาราช และพระนางเอ็มมา พระมเหสี ในอาสนวิหารวินเชสเตอร์

พระเจ้าคนุตเสด็จสวรรคตในวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1035 ณ เมืองชาฟท์สบรีในเทศมณฑลดอร์เซต[1] เจ้าชายฮาร์ธาคนุต พระราชโอรสทรงรับสืบราชบัลลังก์เดนมาร์กต่อมา เฉลิมพระปรมาภิไธยว่าพระเจ้าคนุตที่ 3 ทว่าด้วยความที่ทรงติดพันการสงครามในสแกนดิเนเวียกับพระเจ้ามักนุสที่ 1 แห่งนอร์เวย์ พระเจ้าฮาร์ธาคนุตจึงทรงถูก "ละทิ้ง [โดยชาวอังกฤษ] เหตุว่าพระองค์ประทับอยู่ในเดนมาร์กนานเกินไป"[107] พระนางเอ็มมา พระราชมารดาของพระองค์ ซึ่งประทับอยู่ที่นครวินเชสเตอร์ทรงถูกบีบให้เสด็จหนีไปยังเมืองบรูชในเคาน์ตีฟลานเดอส์ พร้อมทหารราชองค์รักษ์ฮัสคาร์ลจำนวนหนึ่งของพระราชโอรส ภายใต้แรงกดดันจากกลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิในราชบัลลังก์ของเจ้าชายฮาโรลด์ แฮร์ฟุต พระราชโอรสพระองค์รอง (ถัดลงมาจากพระเจ้าสเวน คนุตสัน) ที่ประสูติแต่พระนางเอลฟ์จิฟูแห่งนอร์แธมตัน เจ้าชายฮาโรลด์ทรงทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในอังกฤษในพระปรมาภิไธยพระราชอนุชาต่างมารดาอยู่ระยะหนึ่งระหว่าง ค.ศ. 1035–37 ก่อนที่จะทรงชิงราชสมบัติและครองราชย์ตราบจนเสด็จสวรรคตใน ค.ศ. 1040 เมื่อสงครามในสแกนดิเนเวียสงบลง พระเจ้าฮาร์ธาคนุตก็ทรงสืบราชบัลลังก์อังกฤษพร้อมถวายพระเกียรติคืนให้แด่พระราชมารดา[ต้องการอ้างอิง] ราชบัลลังก์เดนมาร์กและอังกฤษจึงมีประมุขร่วมกันอีกครั้งจนกระทั่งพระองค์สวรรคตใน ค.ศ. 1042 หลังจากนั้นเดนมาร์กก็ตกอยู่ในภาวะโกลาหลจากแย่งชิงอำนาจกันระหว่างเจ้าชายสเวน เอสตริดเซน พระราชภาดา (ลูกพี่ลูกน้องชาย) ของพระเจ้าฮาร์ธาคนุต และพระเจ้ามักนุสแห่งนอร์เวย์ เหตุการณ์ดำเนินไปจนกระทั่งพระเจ้ามักนุสเสด็จสวรรคตใน ค.ศ. 1047[ต้องการอ้างอิง]

หากเหล่าพระราชโอรสของพระเจ้าคนุตไม่ด่วนสวรรคตไปเสียก่อน และเจ้าหญิงกันฮิลดา พระราชธิดาพระองค์เดียวของพระองค์ (เท่าที่ทราบ) ซึ่งจะทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้าไฮน์ริชที่ 3 แห่งชาวโรมัน พระราชโอรสและรัชทายาทในจักรพรรดิค็อนราทที่ 2 ในอีกแปดเดือนหลังพระองค์เสด็จสวรรคต ไม่ด่วนสวรรคตเสียก่อนด้วยติดพระโรคไข้ป่าในอิตาลี และมีพระชนม์ชีพยืนยาวจนทรงได้ดำรงพระราชอิสริยยศจักรพรรดินี[108] หากการณ์เป็นดังนั้น รัชสมัยของพระเจ้าคนุตก็อาจจะกลายเป็นรากฐานของรัฐร่วมประมุขสแกนดิเนเวีย–อังกฤษ เป็นจักรวรรดิทะเลเหนือที่มีความเกี่ยวดองกับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์[109]

พระบรมอัฐิที่วินเชสเตอร์

แก้

พระบรมศพของพระเจ้าคนุตได้รับการฝังที่โบสถ์โอลด์มีนสเตอร์ วินเชสเตอร์[1] ต่อมาหลังราชวงศ์นอร์มันพิชิตอังกฤษใน ค.ศ. 1066 ราชวงศ์ใหม่ได้ริเริ่มโครงการก่อสร้างปราสาทและอาสนวิหารเป็นจำนวนมากตลอดช่วงสมัยกลางตอนกลาง รวมถึงอาสนวิหารวินเชสเตอร์ซึ่งถูกสร้างทับโบสถ์โอลด์มีนสเตอร์ของชาวแองโกล-แซกซัน จึงมีการเคลื่อนย้ายพระบรมศพของบูรพกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ทั้งหลายไปบรรจุไว้ในหีบเก็บศพของอาสนวิหารใหม่[1] ระหว่างช่วงสงครามกลางเมืองอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ทหารฝ่ายรัฐสภาได้เข้าปลันตัวอาสนวิหาร พระบรมอัฐิของพระเจ้าคนุตถูกเทออกมาจากหีบและกระกระจายปะปนไปกับร่างในหีบอื่น โดยเฉพาะหีบที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าวิลเลียมที่ 2 หลังการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ ได้มีการเก็บรวบพระบรมอัฐิของพระองค์และนำกลับไปบรรจุในหีบใบเดิม ทว่าก็มีสภาพไม่เรียบร้อยนัก[110]

การอภิเษกสมรสและพระราชโอรสธิดา

แก้

พระราชพงศาวลี

แก้

เหล่าสเคลของพระเจ้าคนุต

แก้

ในหนังสือ สเคลดาเทล ซึ่งเป็นบานแผนกรายชื่อนักกวีสเคลภาษานอร์สเก่า ระบุชื่อของนักกวีจำนวนแปดคนที่ถวายการรับใช้อยู่ในราชสำนักของพระเจ้าคนุต ในจำนวนนี้ มีกวีกึ่งหนึ่ง ได้แก่ ซิกวาทร์ ธอร์ดาร์สัน อกตตรา สวาติ ธอร์อารินน์ ลอฟทุงกา และ ฮัลวาร์รอร์ ฮาเรเคลบีซี ได้ประพันธ์บทกวียอพระเกียรติพระเจ้าคนุต ซึ่งยังมีบางส่วนหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็ไม่พบงานประเภทนี้จากกวีอีกสี่คนที่เหลือเลย ได้แก่ เบอซี ทอร์ฟูสัน อาร์นอร์ ธอร์รอสัน ยาร์ลสเคล (ไม่มีชื่อระบุไว้ในบานแผนก แต่ทราบชื่อจากงานเขียนชิ้นอื่น) สเตน สแคปตาสัน [es; nn] และโอดาร์เคเปีย [nn; sv] (ไม่ทราบนามจริง) งานเขียนหลักที่เกี่ยวกับพระเจ้าคนุต ได้แก่ บทกวี คนุตดราพา ทั้งสามบท ประพันธ์โดยซิกวาทร์ ธอร์ดาร์สัน อกตตรา สวาติ และฮัลวาร์รอร์ ฮาเรเคลบีซี บทกวี ฮอฟฟูลาร์สัน และ ท็อกดราพา ประพันธ์โดยธอร์อารินน์ ลอฟทุงกา พระเจ้าคนุตยังถูกอ้างถึงในงานกวีนิพันธ์สเคลร่วมสมัยอีกสองชิ้น คือบทกวี อีริคดราพา (Eiríksdrápa) ของธอร์รอร์ โคไบน์สัน และ ลิสมันท์นาฟล็อกซ์ ซึ่งไม่ทราบผู้ประพันธ์

เหล่าสเคลของพระเจ้าคนุตเน้นการใช้โวหารเปรียบเปรยการปกครองอาณาจักรของพระองค์กับการปกครองสวรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า[113] อันจะเห็นได้ชัดจากบทสัมผัสรับ เช่น บทสัมผัสรับของบทกวี ฮอฟฟูลาร์สัน ของธอร์อารินน์ ซึ่งแปลได้ว่า "พระเจ้าคนุตทรงปกปักษ์แผ่นดินในฐานะผู้พิทักษ์แห่งพระบิแซนเทียม [หมายถึงพระเจ้า] [ทรงพิทักษ์ไว้ซึ่ง] สวรรค์" และสัมผัสรับในกลอน คนุตดราพา ของฮัลวาร์รอร์ซึ่งแปลได้ว่า "พระเจ้าคนุตทรงพิทักษ์ไว้ซึ่งแผ่นดิน ดั่งที่องค์ผู้เป็นนายของสรรพสิ่ง [ทรงไว้ซึ่ง] ทิวเหล่ามหาบรรพต [เป็นคำอุปมาถึงสวรรค์]"[114] แม้บทกวีเหล่านี้จะมีนัยทางศาสนาคริสต์ เหล่านักกวีก็ได้ทำการอ้างถึงความเชื่อดั่งเดิมของชาวนอร์สด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานเขียนของฮัลวาร์รอร์ ตัวอย่างเช่น ในครึ่งบาทของกลอนชิ้นหนึ่งมีความว่า "เหล่าเฟย์ฮแห่งเสียงอาวุธโครมคราม [หมายถึง นักรบ] ได้ทำให้นอร์เวย์อยู่ใต้พระองค์ เหล่าข้ารับใช้แห่งการประจัญ [หมายถึง นักรบ] ดับความหิวโหยแด่เหล่าเหยี่ยว [เรเวน] ของเหล่าวัลกือริยา"[115] เหล่าสเคลกล่าวถึงพระเจ้าคนุตในที่นี้ว่าทรง "เฟย์ฮแห่งการศึก" ซึ่งเป็นการอุปมาอุปมัยอย่างง่าย (Kenning) โดยใช้พระนามของเทพนอร์ส คือ เทพเฟย์ฮ การอุปมาในลักษณะนี้ถูกหลีกเลี่ยงโดยนักกวีที่ถวายการรับใช้ในราชสำนักนอร์เวย์ แค่ดูเหมือนพระเจ้าคนุตจะทรงมีท่าทีผ่อนปรนมากกว่าในเรื่องของการยกศาสนาดั่งเดิมมาใช้อุปมาอุปมัยในงานวรรณกรรม[116]

ตำนานพระเจ้าคนุตกับกระแสน้ำ

แก้
 
พระเจ้าคนุตทรงติเตียนเหล่าข้าราชบริพาร ภาพพิมพ์หินจากชุด พิคเจอร์สออฟอิงลิชฮิสตอรี (ค.ศ. 1862) โดยโยเซ็ฟ มาร์ทีน โครนเฮ็ล์ม ช่างพิมพ์ชาวเยอรมัน

ตำนานพระเจ้าคนุตทรงพยายามต้านทานกระแสน้ำถูกบันทึกไว้ครั้งแรกโดยเฮนรีแห่งฮันทิงดอนใน ฮิสทอเรีย แองโกลโลรุม ซึ่งเป็นงานเขียนประเภทบันทึกเหตุการณ์ที่เขาจัดทำขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12 ความว่า

ครั้นเมื่อพระราชอำนาจของพระองค์อยู่ในจุดสูงสุด พระองค์มีพระราชดำรัสสั่งให้นำพระราชอาสน์มาตั้ง ณ ริมชายฝั่ง ขณะเกลียวคลื่นกำลังซัดเข้ามา จากนั้นพระองค์จึงตรัสแก่คลื่นนั้นว่า "เจ้าเป็นบ่าวแห่งข้า ดั่งเช่นปฐพีที่ข้านั่งทอดกายนี้เป็นของข้า และมิมีผู้ใดที่ต่อต้านการความเป็นนายเหนือหัวของข้าแล้วจักลอยนวลไปได้ ข้าขอบัญชาแก่เจ้า จงอย่าซัดสาดแผ่นดินข้า อย่าทำให้อาภรณ์ฤๅแขนขาของนายเจ้าเปียกปอนเถิด" แต่น้ำทะเลก็ขึ้นมาตามปรกติวิสัย และซัดถูกพระบาทและพระชงฆ์ของพระองค์อย่างไม่แยแส แล้วจึงกลับลงไป พระเจ้าคนุตจึงมีพระราชปรารภว่า "ให้ทั้งโลการู้ไว้เถิดว่าราชอำนาจของเหล่ากษัตริย์นั้นว่างเปล่าแลไร้ค่าเพียงใด และไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดจะคู่ควรแก่เกียรตินี้ เว้นแต่พระองค์ผู้ซึ่งสวรรรค์ โลก และมหานทีจักเชื่อฟังกฎเกณฑ์อันประดิษฐานถาวร"

ตำนานนี้นับเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าคนุตที่มีผู้รู้จักมากที่สุด ทั้งนี้ในสำนวนสมัยใหม่นั้นจะระบุว่าพระเจ้าคนุตทรงทราบอยู่ก่อนแล้วว่าพระองค์ไม่สามารถควบคุมเกลียวคลื่นได้ตั้งแต่ต้น[117]

ดูเพิ่ม

แก้

เชิงอรรถ

แก้

พระราชมารดาของพระเจ้าคนุตยังคงเป็นหัวข้อถกเถียงในวงการประวัติศาสตร์ บางทฤษฎีบอกว่าคือพระนางกันฮิลด์แห่งเว็นเด็น อีกทฤษฎีบอกพระนางไม่มีตัวตนหรือขาดหลักฐานที่น่าเชื่อถือ นักบันทึกเหตุการณ์ในสมัยกลาง เทตมาร์แห่งเมอร์ซบวร์คและอาดัมแห่งเบรเมิน บันทึกไว้ว่าพระเจ้าคนุตเป็นพระราชโอรสในเจ้าหญิงโปแลนด์ ผู้เป็นพระธิดาในดยุกมิเอสโกที่ 1 แห่งโปแลนด์ และพระขนิษฐาในพระเจ้าบอแลสวัฟที่ 1 ผู้กล้าหาญ พระองค์อาจจะมีพระนามว่า "สเวโตสลาวา" (Świętosława) (ดูเพิ่มที่: ซิกริดผู้ทรนง) : ซึ่งถูกเชื่อมโยงเข้ากับการที่มีทหารโปแลนด์ร่วมกองทัพของพระองค์เมื่อครั้งการพิชิตอังกฤษ และพระนามของพระขนิษฐาของพระองค์ซึ่งเป็นภาษาตระกูลสลาฟ สามารถถอดเป็นภาษาละตินได้ว่า Santslaue Encomiast, Encomium Emmae, ii. 2, p. 18; Thietmar, Chronicon, vii. 39, pp. 446–47; Trow, Cnut, p. 40. Lawson 2010 เขียนไว้ว่าไม่มีผู้ใดทราบพระนามของพระนาง

พระนามในภาษาสมัยใหม่: เดนมาร์ก: Knud den Store หรือ Knud II นอร์เวย์: Knut den mektige สวีเดน: Knut den Store

อ้างอิง

แก้
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 Weir, Alison (1989). Britain's Royal Families. Vintage. p. 30. ISBN 9780099539735.
  2. Somerville & McDonald 2014, p. 435.
  3. "Cnut". พจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับคอลลินส์
  4. สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพมหานคร. 2007. p. 149.
  5. "King Cnut The Great". Historic UK. สืบค้นเมื่อ 9 October 2023.
  6. Laurence M. Larson Canute the Great G. P. Putnam's Sons 1912
  7. Canute 'The Great' (r. 1016-1035) เว็บไซต์ทางการของพระราชวงศ์สหราชอาณาจักร (2023)
  8. Graslund, B.,'Knut den store och sveariket: Slaget vid Helgea i ny belysning', Scandia, vol. 52 (1986), pp. 211–38.
  9. Trow 2005, pp. 197–198.
  10. 10.0 10.1 ASC, Ms. D, s.a. 1031.
  11. Forte, Oram & Pedersen 2005, p. 196.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 Lawson 2004, p. 97.
  13. Cantor, The Civilisation of the Middle Ages, 1995: 166.
  14. Trow, Cnut, pp. 30–31.
  15. Snorri, Heimskringla, The History of Olav Trygvason, บทที่ 34, น. 141
  16. Adam of Bremen, History of the Archbishops of Hamburg-Bremen, บรรพ 2, บทที่ 37; ดูเพิ่มที่ (เรื่องเดียวกัน) บรรพ 2, บทที่ 33, เชิงความเห็น (Scholion) ที่ 25
  17. Snorri, Heimskringla, The History of Olav Trygvason, บทที่ 91, น. 184
  18. Trow 2005, p. 44.
  19. Douglas, English Historical Documents, pp. 335–36
  20. Lawson 2004, p. 160.
  21. Edwards, Paul and Pálsson, Hermann (trans.), Knytlinga saga: the history of the kings of Denmark, Odense University Press (1986), p. 43.
  22. Trow, Cnut, p. 92.
  23. John, H., The Penguin Historical Atlas of the Vikings, Penguin (1995), p. 122.
  24. Howard, Ian (2003). Swein Forkbeard's Invasions and the Danish Conquest of England, 991– 1017. Woodbridge: Boydell Press. p. 67. ISBN 0-85115-928-1. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 April 2023. สืบค้นเมื่อ 16 October 2021.
  25. Ellis 1993, p. 182.
  26. วิลเลียมแห่งมาล์มสบรี Gesta Regnum Anglorum น. 308–10
  27. 27.0 27.1 27.2 Sawyer, History of the Vikings, น. 171
  28. 28.0 28.1 28.2 28.3 28.4 28.5 28.6 Lawson 2004, p. 27.
  29. 29.0 29.1 29.2 Lawson 2004, p. 49.
  30. Bolton, Timothy (2009). The Empire of Cnut the Great: Conquest and the Consolidation of Power in Northern Europe in the Early Eleventh Century (ภาษาอังกฤษ). Brill. p. 248. ISBN 978-90-04-16670-7. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 April 2023. สืบค้นเมื่อ 12 October 2021.
  31. Trow, Cnut
  32. Garmonsway, G.N. (ed. & trans.), The Anglo-Saxon Chronicle, Dent Dutton, 1972 & 1975, Peterborough (E) text, s.a. 1015, น. 146.
  33. Campbell, A. (ed. & trans.), Encomium Emmae Reginae, Camden 3rd Series vol. LXXII, 1949, น. 19–21.
  34. G. Jones, Vikings, p. 370
  35. 35.0 35.1 Trow, Cnut, p. 57.
  36. Lawson 2004, p. 161.
  37. 37.0 37.1 37.2 37.3 37.4 Lawson 2004, p. 28.
  38. Anglo-Saxon Chronicles, pp. 146–49.
  39. Trow, Cnut, p. 59.
  40. บันทึกเหตุการณ์ของชาวแองโกล-แซกซัน, น. 148–50
  41. บันทึกเหตุการณ์ของชาวแองโกล-แซกซัน, น. 150–51
  42. บันทึกเหตุการณ์ของชาวแองโกล-แซกซัน, น. 151–53
  43. บันทึกเหตุการณ์ของชาวแองโกล-แซกซัน, น. 152–53; Williams, A., Æthelred the Unready the Ill-Counselled King, Hambledon & London, 2003, pp. 146–47.
  44. Stenton 1971, p. 393.
  45. Lawson 2004, pp. 82, 121, 138.
  46. 46.0 46.1 46.2 46.3 Forte, Oram & Pedersen 2005, p. 198.
  47. Molyneaux, George (2015). The Formation of the English Kingdom in the Tenth Century (ภาษาอังกฤษ). Oxford University Press. p. 35. ISBN 978-0-19-102775-8. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 April 2023. สืบค้นเมื่อ 14 October 2021.
  48. 48.0 48.1 บันทึกเหตุการณ์ของชาวแองโกล-แซกซัน, น. 154
  49. Lawson 2004, pp. 51–52, 163.
  50. Lawson 2004, p. 83.
  51. Lawson 2004, p. 162.
  52. 52.0 52.1 Lawson 2004, p. 89.
  53. Thietmar, Chronicon, vii. 7, pp. 502–03
  54. Lawson 2004, p. 90.
  55. Museum, The British; Street, Great Russell; T: +4420 73238618, London WC1B 3DG. "Record ID: LEIC-3E8CC4 – EARLY MEDIEVAL coin". The Portable Antiquities Scheme (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2024-07-16.
  56. Graham-Campbell et al. 2016, p. 3.
  57. Coke & Hargrave 1853, p. 20.
  58. Richards 2010, pp. 137–156.
  59. Bolton, Timothy (2009). The Empire of Cnut the Great: Conquest and the Consolidation of Power in Northern Europe in the Early Eleventh Century (ภาษาอังกฤษ). Brill. pp. 41–42. ISBN 978-90-04-16670-7. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 April 2023. สืบค้นเมื่อ 19 March 2020.
  60. Jones, Vikings, p.373
  61. Bartlett 2016, p. 44.
  62. Lawson 2004, pp. 65–66.
  63. Lawson 2004, pp. 124–125.
  64. 64.0 64.1 64.2 Trow, Cnut, p. 193.
  65. Lawson 2004, p. 125.
  66. 66.0 66.1 Trow, Cnut, p. 189.
  67. Lawson 2004, p. 104.
  68. 68.0 68.1 Trow, Cnut, p. 191.
  69. Lawson 2004, pp. 95–98.
  70. Graslund, B.,'Knut den store och sveariket: Slaget vid Helgea i ny belysning', Scandia, vol. 52 (1986), pp. 211–38.
  71. Hagerman 1996, p. 135.
  72. Sawyer 1991, p. 23.
  73. Lawson 2004, pp. 97–98.
  74. Lawson 2004.
  75. Trow, Cnut, p. 197.
  76. Forte, Oram & Pedersen 2005, pp. 196–197.
  77. McGettigan 2013, pp. 61–63.
  78. Ní Mhaonaigh 2018, pp. 131–156.
  79. Ellis, Celt & Saxon, p. 182.
  80. Forte, Oram & Pedersen 2005, p. 227.
  81. Hudson, Knutr, pp. 323–25.
  82. Hudson, Knutr, pp. 330–31.
  83. Townend 2012, p. 660.
  84. Forte, Oram & Pedersen 2005, pp. 197–198.
  85. 85.0 85.1 Lawson 2004, p. 102.
  86. Trow, Cnut, pp. 197–98.
  87. Lausavisur, ed. Johnson Al, pp. 269–70
  88. Lawson 2004, pp. 31–32.
  89. Keynes 2009.
  90. Adam of Bremen, Gesta Daenorum, scholium 37, น. 112.
  91. Lawson 2004, p. 121.
  92. Olsen 1992.
  93. Trow, Cnut, p.129
  94. Lawson 2004, p. 86.
  95. 95.0 95.1 Lawson 2004, p. 87.
  96. Lawson 2004, pp. 139–147.
  97. Lawson 2004, p. 141.
  98. 98.0 98.1 98.2 98.3 Lawson 2004, p. 142.
  99. Lawson, Cnut, p.126
  100. Lawson 2004, p. 143.
  101. Trow, Cnut, p. 128.
  102. Lawson 2004, p. 147.
  103. 103.0 103.1 103.2 Lawson 2004, p. 146.
  104. Lawson 2004, p. 144.
  105. Lawson 2004, p. 145.
  106. Trow, Cnut, p. 186
  107. บันทึกเหตุการณ์ของชาวแองโกล-แซกซัน
  108. Lawson 2004, pp. 98, 104–105.
  109. Lawson 2004, p. 195.
  110. "Photo of a sign posted in Winchester Cathedral marking Cnut's mortuary chest, posted at the astoft.co.uk web site, retrieved 2009-07-25". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 June 2009. สืบค้นเมื่อ 12 June 2009.
  111. Stafford 2004.
  112. 112.00 112.01 112.02 112.03 112.04 112.05 112.06 112.07 112.08 112.09 112.10 112.11 112.12 112.13 112.14 112.15 "Kings of Wessex and England 802–1066" (PDF). The official website of The British Monarchy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-08-24. สืบค้นเมื่อ 2015-07-05.
  113. Lawson 2004, p. 126.
  114. Frank 1999:116.
  115. Frank 1999:120.
  116. Frank 1999:121.
  117. Greenway 1996, pp. 367-69; Bolton 2017, pp. 214-16.

บรรณานุกรม

แก้

อ่านเพิ่ม

แก้
  • Barlow, Frank (1979) [1963]. The English Church, 1000–1066 (2nd ed.). London: Longman.
  • Bolton, Timothy (2009). The Empire of Cnut the Great: Conquest and the Consolidation of Power in Northern Europe in the Early Eleventh Century. The Northern World. North Europe and the Baltic c. 400–1700 A.D.: Peoples, Economies and Cultures. Vol. 40. Leiden: Brill. ISBN 978-90-04-16670-7. ISSN 1569-1462.
  • Hudson, B. T. (1992). "Cnut and the Scottish Kings". The English Historical Review. 107 (423): 350–60. doi:10.1093/ehr/cvii.423.350.
  • Mack, Katharine (1984). "Changing Thegns: Cnut's Conquest and the English Aristocracy". Albion. 16 (4): 375–87. doi:10.2307/4049386. JSTOR 4049386.
  • North, Richard; Goeres, Erin; Finlay, Alison, บ.ก. (2022). Anglo-Danish Empire: A Companion to the Reign of King Cnut the Great. De Gruyter.
  • Rumble, Alexander R., บ.ก. (1994). The Reign of Cnut: King of England, Denmark and Norway. Studies in the early history of Britain. London: Leicester UP.
  • Scandinavica, An International Journal of Scandinavian Studies, (2018) Vol. 57, No 1, issue on "Remembering Cnut the Great"

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
ก่อนหน้า พระเจ้าคนุตมหาราช ถัดไป
พระเจ้าเอ็ดมันด์ที่ 2    
พระมหากษัตริย์อังกฤษ
(ราชวงศ์คนุตลิงกา)

(ค.ศ. 1016 – 1035)
  พระเจ้าฮาโรลด์ แฮร์ฟุต
พระเจ้าแฮรัลด์ที่ 2    
พระมหากษัตริย์เดนมาร์ก
(ราชวงศ์คนุตลิงกา)

(ค.ศ. 1018 – 1035)
  พระเจ้าฮาร์ธาคนุต
พระเจ้าโอลาฟที่ 2    
พระมหากษัตริย์นอร์เวย์
(ค.ศ. 1028 – 1035)
  พระเจ้ามักนุสผู้ทรงธรรม