วิกิพีเดีย:สงครามแก้ไข
หน้านี้เป็นนโยบายของวิกิพีเดียภาษาไทย เป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางซึ่งปกติผู้ใช้ทุกคนควรถือปฏิบัติ การปรับแก้นโยบายควรสะท้อนความเห็นพ้อง |
สรุปนโยบายนี้: อย่าใช้การแก้ไขเพื่อโต้แย้งในประเด็นที่ตนไม่เห็นด้วย ให้ใช้การอภิปรายให้ได้ข้อสรุปแทน |
สงครามแก้ไข (Edit Warring) คือกรณีที่ผู้ใช้บางคนซึ่งไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในบทความ ย้อนการแก้ไขของผู้อื่นซึ่งแก้ไขในหน้านั้นด้วยโดยไม่หาทางพูดคุยเพื่อให้ได้เนื้อหาที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ นอกจากสงครามแก้ไขจะเป็นเรื่องที่ไม่ช่วยในการพัฒนาวิกิพีเดียแล้ว ยังจะก่อให้เกิดความเป็นปรปักษ์ระหว่างผู้แก้ไข ทำให้การหาข้อสรุปนั้นเป็นไปได้ยากขึ้น และผู้ใช้ซึ่งเกี่ยวข้องกับสงครามแก้ไขอาจถูกบล็อกได้
มีหลักที่เกี่ยวกับสงครามแก้ไขที่ชื่อ กฎย้อนสามครั้ง (Three Revert Rule; 3RR) โดยคำว่า "ย้อน" คือการลบการกระทำของผู้ใช้อีกคนหนึ่งออกโดยสิ้นเชิง กฎย้อนสามครั้งกล่าวไว้ว่าผู้ใช้ต้องไม่ย้อนกลับไปมาในบทความหรือหน้าหนึ่ง ๆ มากกว่าสามครั้งภายใน 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใด ไม่ว่าจะเกี่ยวกับเนื้อหาเดิมหรือไม่ และไม่ว่าจะมีการย้อนเพิ่มเติมเป็นครั้งที่สี่หลังจากหมด 24 ชั่วโมงตามกฎ 3RR หรือไม่ก็ตาม เว้นแต่ว่าการย้อนดังกล่าวเป็นการย้อนการก่อกวนหรือการย้อนที่เกี่ยวกับชีวประวัติของบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ อย่างไรก็ดี กฎย้อนสามครั้งมิใช่ความหมายของสงครามแก้ไข แม้มันจะสามารถใช้เป็นขีดจำกัดที่เหมาะสมเมื่อสงครามแก้ไขเป็นไปอย่างรวดเร็วก็ตาม แต่สงครามแก้ไขอาจเป็นไปตามกฎย้อนสามครั้ง กล่าวคือ ไม่มีการย้อนการแก้ไขกลับไปมาระหว่างผู้เขียนหนึ่ง ๆ สามครั้งภายในเวลา 24 ชั่วโมงก็ได้
อะไรไม่ใช่สงครามแก้ไข
ไม่ใช่การแก้ไขที่อาจมีข้อถกเถียง หรือการย้อนการแก้ไขทั้งหมดจะเป็นสงครามแก้ไข กรณีต่อไปนี้ไม่ใช่กรณีที่นับเป็นสงครามแก้ไข
- วิกิพีเดียส่งเสริมให้ผู้ใช้ทุกคนกล้าแก้ไขบทความ การแก้ไขที่อาจก่อให้เกิดข้อถกเถียงอาจเกิดขึ้นได้ หากมีผู้ใช้ไม่เห็นด้วย ก็อาจมีการย้อนการแก้ไขนั้น แต่อาจยังไม่เป็นสงครามแก้ไข สงครามแก้ไขอาจเกิดขึ้นได้หากกรณีแก้ไขดังกล่าวกลายไปเป็นการย้อนการแก้ไขซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง
- การย้อนการก่อกวนไม่ใช่สงครามแก้ไข แต่โปรดทราบว่าการแก้ไขที่ไม่เป็นกลาง การเพิ่มข้อมูลหรือนำข้อมูลออก หรือการแก้ไขด้วยเจตนาดี ไม่ใช่การก่อกวน
- การย้อนเพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย ไม่ใช่สงครามแก้ไข เช่น การย้อนข้อมูลเชิงลบที่ปรากฏหรือถูกใส่ในหน้าของบทความชีวประวัติบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ และจำเป็นต้องถูกนำออก
- การย้อนการแก้ไขของผู้ใช้ที่ถูกบล็อกอยู่ ไม่ใช่สงครามแก้ไข
เมื่อคุณย้อนการแก้ไข กรุณาระบุเหตุผลในการย้อนด้วย เช่น ระบุในคำอธิบายอย่างย่อหรือหน้าพูดคุย อย่าย้อนด้วยมือหรือใช้เครื่องมีอต่อต้านการก่อกวนเพื่อย้อนการแก้ไขซึ่งเป็นข้อขัดแย้งที่มีเจตนาดี โดยไม่ระบุเหตุผลที่เหมาะสม
กฎย้อนสามครั้ง
ผู้ใช้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามแก้ไขมีแนวโน้มจะถูกบล็อกเพื่อป้องกันความเสียหายต่อไป แม้สงครามแก้ไขอาจก่อให้เกิดการลงโทษได้ก็ตาม แต่ก็มีหลักกว้าง ๆ เรียกว่า กฎย้อนสามครั้ง (Three-Revert Rule; 3RR) ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ซึ่งบ่อยครั้งการละเมิดกฎเกณฑ์นี้นำไปสู่การบล็อก กฎย้อนสามครั้งมีเนื้อหาต่อไปนี้
ผู้ใช้ต้องไม่ "ย้อน" การแก้ไขกลับไปมาในบทความหรือหน้าหนึ่ง ๆ มากกว่าสามครั้งภายใน 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใด ไม่ว่าจะเกี่ยวกับเนื้อหาเดิมหรือไม่ และไม่ว่าจะมีการย้อนเพิ่มเติมเป็นครั้งที่สี่หลังจากหมด 24 ชั่วโมงตามกฎ 3RR หรือไม่ก็ตาม เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นด้านล่างนี้
โดยคำว่า "หน้า" หมายความว่าหน้าทุกเนมสเปซในวิกิพีเดีย รวมทั้งหน้าพูดคุยและหน้าโครงการ และคำว่า "ย้อน" หมายความว่า การลบการแก้ไขของผู้ใช้ใด ๆ ออกโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าการย้อนนั้นจะเป็นการย้อนทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใด และไม่ว่าจะเกี่ยวกับเนื้อหาเดิมหรือไม่ บางครั้งการย้อนอาจเป็นเพียงแค่คำเดียวก็ได้
กฎย้อนสามครั้งใช้บังคับกับบุคคล ไม่ใช่บัญชีผู้ใช้ (กล่าวคือหากหลายบัญชีผู้ใช้เป็นคนคนเดียวกัน นับการย้อนการแก้ไขร่วมกัน) ผู้ใช้ที่ละเมิดกฎย้อนสามครั้งนี้จะถูกบล็อก 24 ชั่วโมงในขั้นแรก และแม้ว่าจะไม่มีการละเมิด 3RR ผู้ดูแลระบบอาจบล็อกหรือดำเนินการตามสมควรหากเห็นว่าพฤติกรรมการแก้ไขอาจก่อให้เกิดสงครามแก้ไข และผู้ใช้อาจรายงานเกี่ยวกับสงครามแก้ไขโดยไม่มีการละเมิดหรือมีการละเมิดกฎ 3RR นี้ก็ได้ ทั้งนี้ กฎ 3RR ไม่ใช่การกำหนดสิทธิ์ในการย้อนหน้าเป็นจำนวนครั้ง
ถ้าผู้ใช้ละเมิดกฎนี้โดยไม่ได้มีเจตนา ผู้ใช้ควรย้อนการแก้ไขล่าสุดเสีย ผู้ดูแลระบบอาจพิจารณาไม่บล็อกในกรณีดังกล่าวได้ เช่น หากผู้ใช้มิใช่บุคคลที่แก้ไขอย่างรุนแรงเป็นประจำ และมีเจตนาแก้ไขความผิดพลาดของตนนั้น
ข้อยกเว้นกฎ 3RR
ข้อยกเว้นต่อไปนี้ เป็นการย้อนซึ่งไม่เข้าหลักย้อนสามครั้ง และไม่ใช้ในการนับจำนวนการย้อน
- ย้อนการแก้ไขของตนเอง
- ย้อนการแก้ไขในหน้าผู้ใช้ของตนเอง ตราบที่ยังไม่มีการละเมิดนโยบายหน้าผู้ใช้
- ย้อนการแก้ไขของผู้ใช้ที่ถูกบล็อก หุ่นเชิด และผู้ต้องสงสัยว่าเป็นหุ่นเชิดของผู้ใช้ที่ถูกบล็อกถาวร
- ย้อนการก่อกวน (ต้องเป็นการแก้ไขที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นการก่อกวน เช่น การเพิ่มภาษาที่หยาบคาย ไม่เหมาะสม หรือการทำหน้าว่าง ดูนิยามของคำว่า "ก่อกวน" เพิ่มได้ที่ วิกิพีเดีย:การก่อกวน)
- การลบข้อมูลที่ละเมิดลิขสิทธิ์หรือละเมิดข้อปฏิบัติในการใช้เนื้อหาชอบธรรมโดยชัดแจ้ง (เนื่องจากกรณีที่เข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์อาจก่อให้เกิดข้อพิพาทได้ จึงไม่ควรนับเป็นข้อยกเว้นในการย้อนการแก้ไขตามกฎ 3RR)
- การลบเนื้อหาที่ผิดกฎหมายตามกฎหมายแห่งรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่ตั้งของเซิร์ฟเวอร์วิกิพีเดีย เช่น ภาพลามกอนาจารเกี่ยวกับเด็ก และซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์
- การลบเนื้อหาหมิ่นประมาท มีอคติ ไม่มีหรือมีแหล่งอ้างอิงไม่ดีพอ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายชีวประวัติของบุคคลที่มีชีวิตอยู่
ทั้งนี้หากมีการอ้างข้อยกเว้นนี้ กรุณาอ้างให้เห็นโดยเด่นชัดในคำอธิบายโดยย่อ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งในหน้าพูดคุย เพื่ออธิบายเหตุผล หากมีข้อสงสัย อย่าย้อน ให้ใช้วิธีระงับข้อพิพาทแทน หรือขอความช่วยเหลือจากชุมชนเพื่อช่วยระงับข้อพิพาทแทน
กฎย้อนอื่น ๆ
ข้อบังคับอื่นที่เกี่ยวกับการย้อนอาจใช้กับผู้ใช้ใดผู้ใช้หนึ่ง หรือหน้าใดหน้าหนึ่ง โดยการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ (บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่สามที่คู่กรณีพิพาทยินยอมให้เข้ามาวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท) ผู้ดูแลระบบ หรือมติชุมชน ซึ่งประกอบด้วยกฎดังต่อไปนี้
- กฎย้อนครั้งเดียว (One-Revert Rule; 1RR) ซึ่งมีเนื้อความเหมือนกับ 3RR ทุกประการ เว้นแต่จำนวนครั้งที่อนุญาตให้ย้อนได้คือ 1 ครั้งเท่านั้น และอาจเพิ่มระยะเวลาจาก 24 ชั่วโมงเป็น 1 สัปดาห์ หากมีการจำเป็นต้องย้อน ให้อภิปรายในหน้าพูดคุยก่อน
- กฎห้ามย้อน (Zero-Revert Rule; 0RR) คือห้ามย้อนการแก้ไขไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น เว้นแต่จะเป็นไปตามข้อยกเว้นของกฎ 3RR
นอกจากจะมีการบังคับใช้กฎในกรณีหนึ่ง ๆ แล้ว ผู้ใช้อาจปฎิบัติตามกฎย้อนเหล่านี้โดยสมัครใจ เพื่อลดหรือยุติปัญหาหนึ่ง ๆ หรือเป็นหลักการแก้ไขเฉพาะตัวของผู้ใช้นั้น ๆ ก็ได้
การรับมือกับสงครามแก้ไข
จะทำอย่างไรเมื่อเกิดสงครามแก้ไข
หากมีสงครามแก้ไขเกิดขึ้น ผู้มีส่วนร่วมทั้งหลายควรพยายามพูดคุยถึงประเด็นดังกล่าวในหน้าพูดคุยเพื่อหาทางออก อย่าเข้าร่วมสงครามแก้ไข หากการไม่ยอมรับซึ่งกันและกันเป็นไปอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายหรือทุกฝ่ายควรหยุดและพูดคุยถึงประเด็นดังกล่าวในหน้าพูดคุย หรือที่อื่น ๆ เช่น ศาลาชุมชน เพื่อหาทางออก
แม้จะพยายามแล้ว แต่หากมีผู้ใช้คนใดคนหนึ่งยังไม่หยุดสงครามแก้ไข ไม่เข้าร่วมหาทางออกต่อกรณีดังกล่าว ไม่สนใจข้อมูลที่กำลังมีการอภิปราย หรือไม่หาข้อยุติ ณ สถานที่ที่เหมาะสม สามารถขอให้ผู้ดูแลระบบดำเนินการได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการเตือนล่วงหน้า แต่หากผู้ใช้ดูเหมือนจะไม่ทราบว่าสงครามแก้ไขเป็นสิ่งต้องห้าม อาจใช้แม่แบบเตือนเพื่อเตือนได้ แต่หลีกเลี่ยงการใช้แม่แบบเตือนกับผู้ใช้ที่เกี่ยวข้องกับสงครามแก้ไขอยู่เป็นประจำ เพราะอาจถือได้ว่าเป็นพฤติกรรมที่ก้าวร้าวได้ หากพบกรณีดังกล่าว กรุณาเขียนข้อความอธิบายที่เหมาะสมกับประเด็นที่ต้องการกล่าวถืง เพื่อลดความขัดแย้งลง
จะเลี่ยงสงครามแก้ไขได้อย่างไร
โดยทั่วไปแล้วการพูดคุยเป็นกุญแจสำคัญเพื่อหลีกเลี่ยงข้อพิพาท แต่หากเกิดข้อพิพาทขึ้นแล้ว อย่าใช้คำอธิบายอย่างย่ออย่างเดียวในการยุติข้อพิพาท ให้นำประเด็นที่เป็นข้อพิพาทไปพูดคุยในหน้าพูดคุยของบทความนั้น ซึ่งเป็นแหล่งที่ผู้ดูแลระบบจะใช้เป็นหลักฐานเพื่อพิจารณายุติข้อพิพาทต่อไป อย่าลึมว่าวิกิพีเดียไม่มีกำหนดเส้นตาย และการติดป้ายเพื่อชี้ให้เห็นประเด็นปัญหาอาจกระทำได้ หากการพูดคุยไม่ส่งผลให้เกิดข้อสรุปได้ การเพิ่มความสนใจของบุคคลต่อประเด็นพิพาทดังกล่าวอาจก่อให้เกิดภัยคุกคามได้ กรุณาลองหาความเห็นจากผู้ใช้ที่เป็นกลาง ซึ่งจะช่วยควบคุมดูแลไม่ให้เกิดการแก้ไขที่เป็นปัญหาขึ้น และพยายามหาข้อพิพาทไปในตัว หากวิธีทั้งหมดเหล่านี้ไม่ได้ผล ให้เข้าสู่กระบวนการยุติข้อพิพาท
ผู้ใช้ที่มีประสบการณ์หลายคนยึดหลักการย้อนการแก้ไขที่เป็นไปตามข้อยกเว้นข้างต้น หรือจำกัดการย้อนไว้เพียงครั้งเดียว หากจำเป็นต้องย้อนมากกว่านั้นจะใช้วิธีขอความช่วยเหลือจากชุมชนแทนที่จะทำให้ปัญหาแย่ลง กล่าวคือ จะย้อนก็ต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น นโยบายนี้อาจใช้ได้กับประเด็นพิพาทซึ่งต่างฝ่ายมีประเด็นที่หลากหลายและมีการย้อนการแก้ไขเป็นประจำ
ท้ายสุดแล้ว กรุณาใช้สามัญสำนึกของตน และอย่าเข้าร่วมสงครามแก้ไข ใช้วิธีพูดคุยเพื่อให้ได้ข้อสรุป หากจำเป็นต้องย้อน ผู้ใช้อื่นจะกระทำให้แทน และถือเป็นข้อสรุปของสงครามแก้ไขนี้ นอกจากนี้ การขอให้ล็อกหน้าก็สามารถนำมาใช้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมสงครามแก้ไข
แนวทางสำหรับผู้ดูแลระบบ
ผู้ดูแลระบบอาจตัดสินใจบล็อกหรือเตือนผู้ใช้ เพื่อป้องกัน ยับยั้ง และขอให้เปลี่ยนพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมเสีย ไม่ใช่ลงโทษ หากจำเป็นต้องบล็อก โดยทั่วไปให้บล็อก 24 ชั่วโมงสำหรับครั้งแรก แต่อาจเพิ่มระยะเวลาบล็อกได้ในการบล็อกครั้งต่อ ๆ ไปหากมีพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ เช่น การประพฤติเยี่ยงอารยชน การบล็อกก่อนหน้า ข้อความจากคู่กรณีอื่น ๆ ในสงครามแก้ไขควบคู่ไปด้วย เพราะการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมเป็นการเติมเชื้อไฟให้สถานการณ์แย่ลง ทั้งนี้ "ผู้ดูแลระบบจะต้องไม่ใช้เครื่องมือผู้ดูแลเพื่อประโยชน์ของตนเองในประเด็นพิพาท (หรือบทความพิพาท) เมื่อมีหรืออาจมีประเด็นอันเกิดจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง"