เรอัลโซซิเอดัด
เรอัลโซซิเอดัดเดฟุตโบล (สเปน: Real Sociedad de Fútbol; แปลว่า ราชสมาคมฟุตบอล) หรือเรียกโดยทั่วไปว่า เรอัลโซซิเอดัด (Real Sociedad) หรือ ลาเรอัล (La Real) เป็นสโมสรฟุตบอลในประเทศสเปน ตั้งอยู่ในเมืองซานเซบัสเตียน แคว้นประเทศบาสก์ ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 7 กันยายน ค.ศ 1909 ปัจจุบันลงเล่นในลาลิกาลีกสูงสุดของฟุตบอลสเปน โดยใช้เรอาเลอาเรนา (สนามกีฬาอาโนเอตา) เป็นสนามเหย้า ความจุ 39,500 ที่นั่ง สโมสรได้รับฉายา "โลสชูริ-อูร์ดิน" หมายถึงสีขาวและสีน้ำเงินซึ่งเป็นสีประจำสโมสร
ชื่อเต็ม | บริษัท เรอัลโซซิเอดัดเดฟุตโบล จำกัด (มหาชน) | |||
---|---|---|---|---|
ฉายา | โลสชูริ-อูร์ดิน (ขาวและน้ำเงิน) | |||
ก่อตั้ง | 7 กันยายน 1909 | |||
สนาม | สนามกีฬาอาโนเอตา | |||
ความจุ | 39,500 ที่นั่ง[1] | |||
ประธาน | โยกิน อาเปร์ริไบ | |||
ผู้จัดการทีม | อิมาโนล อัลกัวซิล | |||
ลีก | ลาลิกา | |||
2023–24 | ลาลิกา อันดับที่ 6 จาก 20 | |||
เว็บไซต์ | เว็บไซต์สโมสร | |||
| ||||
สโมสรชนะเลิศลาลิกาสองครั้งในฤดูกาล 1980–81 และ 1981–82 และรองชนะเลิศในฤดูกาล 2002–03 และยังชนะเลิศโกปาเดลเรย์สามครั้งในฤดูกาล 1909, 1987 และ 2020 รวมทั้งชนะเลิศซูเปร์โกปาเดเอสปัญญา ค.ศ. 1982 พวกเขามีคู่แข่งขันร่วมแคว้นกับอัตเลติกเดบิลบาโอ เรอัลโซซิเอดัดเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งลาลิกาใน ค.ศ. 1929 และเคยลงเล่นในลาลิกายาวนานถึง 40 ฤดูกาลตั้งแต่ ค.ศ. 1967 ถึง 2007[2]
ตามธรรมเนียมสโมสรในอดีต ได้มีนโยบายเซ็นสัญญากับนักเตะชาวบาสก์เท่านั้น (คล้ายกับอัตเลติกเดบิลบาโอ) แต่ได้ยกเลิกไปในปี 1989 หลังจากการย้ายเข้ามาของจอห์น ออลดริดจ์ นักเตะทีมชาติไอร์แลนด์ แต่ยังยึดแนวทางการใช้ผู้เล่นแคว้นบาสก์อย่างเหนียวแน่น สโมสรยังคงประสบความสำเร็จอย่างมากในการพัฒนาผู้เล่นจากสถาบันเยาวชน เช่น ชาบี อาลอนโซ และอ็องตวน กรีแยซมานซึ่งประสบความสำเร็จคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก[3] ปัจจุบันสโมสรมีการผ่อนปรนแนวปฏิบัติดังกล่าว และมีการใช้งานผู้เล่นต่างชาติหลายรายในทีมชุดใหญ่
สโมสรร่วมแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 4 ครั้ง ลงเล่นในฤดูกาล 1981–82 เป็นครั้งแรก และตกรอบแรกโดยแพ้สโมสรกีฬากลางแห่งกองทัพบก โซเฟีย ก่อนจะเข้ารอบรองชนะเลิศในฤดูกาลถัดมา และแพ้ฮัมบัวร์เกอร์ เอ็สเฟา ต่อมาในฤดูกาล 2003–04 ยังได้ผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายก่อนจะแพ้ออแล็งปิกลียอแน และจบอันดับ 4 ในรอบแบ่งกลุ่มฤดูกาล 2013–14 พวกเขาลงแข่งขันรายการนี้ครั้งล่าสุดในฤดูกาล 2023–24 และจบอันดับ 1 ในรอบแบ่งกลุ่ม และแพ้ปารีแซ็ง-แฌร์แม็งด้วยผลประตูรวมสองนัด 4–1 เรอัลโซซิเอดัดลงแข่งขันในยูฟ่ายูโรปาลีก ฤดูกาลปัจจุบัน
นอกเหนือจากฟุตบอล (รวมถึงทีมฟุตบอลหญิง) สโมสรยังมีตัวแทนในแผนกกีฬาอื่น ๆ ได้แก่ กีฬาลู่และลาน, ฮอกกี้ และเปโลตาบาสก์
ประวัติ
แก้ยุคแรก
แก้กีฬาฟุตบอลกลายเป็นที่รู้จักในซานเซบัสเตียนในช่วงต้นทศวรรษ 1900 จากการเผยแพร่โดยกลุ่มนักเรียนและคนงานซึ่งเดินทางกลับมาจากสหราชอาณาจักร พวกเขาร่วมกันก่อตั้งทีมฟุตบอลขึ้นใน ค.ศ. 1904 ในชื่อ San Sebastián Recreation Club ถือเป็นทีมฟุตบอลทีมแรกในเมืองนี้ ก่อนที่ในอีกหนึ่งปีต่อมา สโมสรจะร่วมแข่งขันฟุตบอลถ้วยโกปาเดลเรย์[4] ความขัดแย้งในกลุ่มสมาชิกของสโมสรใน ค.ศ. 1907 ทำให้เกิดความแตกแยกและนำไปสู่การแยกตัวของผู้เล่นหลายคน (รวมถึงตัวหลักอย่าง อัลฟอนโซ เซนา, มิเกล เซนา และ โดมินโก อาร์ริลากา) ซึ่งแยกตัวออกไปตั้งทีมใหม่ใน ค.ศ. 1908 ในชื่อ San Sebastian Football Club (สโมสรฟุตบอลซาน เซบาสเตียน) และลงแข่งขันโกปาเดลเรย์อีกในปี 1909 แต่เนื่องจากปัญหาในการลงทะเบียน สโมสรจึงถูกบังคับให้ลงแข่งในชื่ออื่นแทน โดยได้ใช้ชื่อ Club Ciclista de San Sebastián ในรายการนั้น[5] มีผลงานโดดเด่นด้วยการเอาชนะสโมสรร่วมเมืองอย่างอัตเลติกเดบิลบาโอ 4–2 ในรอบก่อนรองชนะเลิศ ตามด้วยการชนะ Club Español de Madrid (กลุบ อัสปัญญ็อล เด มาดริด) ในนัดตัดสิน 3–1 นับเป็นแชมป์ถ้วยแรกในประวัติศาสตร์สโมสร[6] ผู้เล่นโดดเด่นในชุดนี้ได้แก่ จอร์จ แมคกินนิส ชาวอังกฤษซึ่งทำ 6 ประตูในการแข่งขัน รวมทั้งทำประตูแรกในนัดตัดสิน
ไม่กี่เดือนหลังจากชนะการแข่งขัน กลุ่มผู้เล่นในทีมชุดนั้นร่วมกันก่อตั้ง Sociedad de Futbol ขึ้นในวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1909 และลงแข่งขันโกปาเดลเรย์อีกครั้งในปีต่อมา แต่ยังพบปัญหาเดิมคือต้องเปลี่ยนไปใช้ชื่ออื่นลงแข่งแทน สโมสรร่วมแข่งขันในชื่อ Sociedad de Futbol เข้าชิงชนะเลิศอีกครั้ง แต่ในครั้งนี้แพ้อัตเลติกเดบิลบาโอ 1–0[7] ในปีเดียวกันนั้น สโมสรได้รับการอุปถัมภ์โดยพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 แห่งสเปน ซึ่งทรงโปรดปรานซานเซบัสเตียนในฐานะเมืองหลวงฤดูร้อน สโมสรได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น Real Sociedad de Fútbol การแข่งขันครั้งแรกในชื่อ เรอัลโซซิเอดัด เกิดขึ้นในปี 1913 ในนัดชิงชนะเลิศโกปาเดลเรย์ซึ่งบาร์เซโลนาต้องใช้เวลาถึง 3 นัดจึงจะเอาชนะพวกเขาได้ (การแข่งขัน 2 นัดแรกจบด้วยผลเสมอ 2–2 และ 0–0 และในนัดสุดท้ายเรอัลโซซิเอดัดแพ้ 2–1)[8] พวกเขาห่างหายจากการแข่งขันไปอีก 15 ปี และกลับมาเข้าชิงชนะเลิศอีกครั้งในปี 1928 ซึ่งเป็นอีกครั้งที่บาร์เซโลนาเอาชนะพวกเขาในการแข่งขัน 3 นัด ณ เมืองซันตันเดร์[9]
เรอัลโซซิเอดัดเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งฟุตบอลลาลิกาในปี 1929 พวกเขาจบอันดับ 4 ในฤดูกาลแรกจากผลงานโดดเด่นของปาโก เบียนโซบาส ผู้ทำประตูสูงสุด สโมสรมีการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งใน ค.ศ. 1931 เป็น Donostia Club de Futbol พร้อมกับการถือกำเนิดของสาธารณรัฐสเปนที่ 2 แต่ได้เปลี่ยนกลับมาใช้ชื่อเรอัลโซซิเอดัดใน ค.ศ. 1939 ภายหลังสงครามกลางเมืองสเปน สโมสรมีผลงานไม่แน่นอนในทศวรรษ 1940 โดยสลับระหว่างการตกชั้นและการลงเล่นในลีกสูงสุดถึง 7 ครั้ง ในยุคนั้นเป็นช่วงที่สโมสรมีเอดูอาร์โด ชิลลิดา เป็นผู้รักษาประตูมือหนึ่งและมีผลงานเป็นที่ยอมรับ
ความสำเร็จในทศวรรษ 1980
แก้สโมสรมีอันดับที่ดีที่สุดในลาลิกา โดยคว้าอันดับ 2 ในฤดูกาล 1979–80 มีคะแนน 52 คะแนน แพ้แชมป์อย่างเรอัลมาดริดเพียงคะแนนเดียว และห่างจากอันดับ 3 อย่างเอสปอร์ตินเดฆิฆอน 13 คะแนน สโมสรถึงจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ด้วยตำแหน่งชนะเลิศลีกสูงสุดครั้งแรกในฤดูกาล 1980–81 ด้วยการมี 45 คะแนนเท่ากับเรอัลมาดริด แต่มีผลงานการพบกับที่เหนือกว่า[10] ผู้เล่นโดดเด่นในทีมชุดนั้นคือ เฆซุส มาเรีย ซาทรูสเตกี กองหน้าชาวสเปนซึ่งยิง 16 ประตูในลีก และเป็นการหยุดสถิติการคว้าแชมป์สมัยที่ 4 ติดต่อกันของเรอัลมาดริด ต่อมา สโมสรได้สิทธิ์แข่งขันฟุตบอลยูโรเปียนคัพ ฤดูกาล 1981–82 แต่ตกรอบแรกจากการแพ้สโมสรกีฬากลางแห่งกองทัพบก โซเฟีย ด้วยผลประตูรวมสองนัด 1–0[11] สโมสรป้องกันแชมป์ลาลิกาได้ในฤดูกาล 1981–82 มี 47 คะแนนเหนือกว่ารองแชมป์อย่างบาร์เซโลนา 2 คะแนนเปโดร อูรัลเด ทำ 14 ประตูในลาลิกาฤดูกาลนี้[12] และลงแข่งขันยูโรเปียนคัพ ฤดูกาล 1982–83 แม้พวกเขาจะเอาชนะทีมดังจากสกอตแลนด์อย่างเซลติกในรอบที่ 2 ด้วยผลประตูรวม 3–2 ตามด้วยการชนะสปอร์ติงลิสบอนด้วยผลรวม 2–1 แต่ต้องยุติเส้นทางในรอบรองชนะเลิศโดยแพ้ฮัมบัวร์เกอร์ เอ็สเฟาด้วยผลรวม 3–2 นับเป็นผลงานที่ดีที่สุดของสโมสรในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก
เรอัลโซซิเอดัดชนะการแข่งขันซูเปร์โกปาเดเอสปัญญาในปี 1982 เอาชนะเรอัลมาดริดด้วยผลประตูรวม 2 นัด 4–1 แม้จะแพ้ในนัดแรกด้วยผลประตู 1–0 แต่พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จในถ้วยรางวัลใดตลอด 4 ปี ต่อมา จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 1987 สโมสรทำสถิติยิงประตูมากที่สุดในรอบก่อนรองชนะเลิศ (8 ทีมสุดท้าย) ถ้วยโกปาเดลเรย์ ด้วยการเอาชนะเอร์เรเซเด มายอร์กาด้วยผลประตู 10–1 และเอาชนะคู่ปรับสำคัญคืออัตเลติกเดบิลบาโอในรอบรองชนะเลิศด้วยผลประตูรวมสองนัด 1–0 การแข่งขันนัดตัดสินจัดขึ้นที่ซาราโกซาพบกับอัตเลติโกเดมาดริด จบลงด้วยการเสมอกัน 2–2 เรอัลโซซิดัดเอาชนะการยิงจุดโทษ 4–2 คว้าแชมป์รายการนี้เป็นสมัยที่ 2 (สมัยแรกในชื่อเรอัลโซซิเอดัด)[13] พวกเขาทำผลงานในรายการนี้ได้ดีต่อเนื่องในฤดูกาลต่อมา โดยเอาชนะอัตเลติโกมาดริดได้อีกครั้งในรอบก่อนรองชนะเลิศ และเอาชนะเรอัลมาดริดในรอบรองชนะเลิศด้วยผลประตูรวมสองนัด 5–0 แต่ในรอบชิงชนะเลิศพวกเขาแพ้บาร์เซโลนาที่สนามกีฬาซานเตียโก เบร์นาเบว 1–0 วันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1988[14] เรอัลโซซิเอดัดคว้าอันดับ 2 ในลาลิกา ฤดูกาล 1987–88 ตามหลังแชมป์อย่างเรอัลมาดริด 11 คะแนน มีผู้ทำประตูสูงสุดได้แก่ โฆเซ มาเรีย เบเกโร (17 ประตู)
นับเป็นเวลาหลายปีที่สโมสรถือธรรมเนียมปฏิบัติในการใช้ผู้เล่นในแคว้นบาสก์เท่านั้น ซึ่งเป็นธรรมเนียมเดียวกับที่คู่แข่งร่วมแคว้นอย่างอัตเลติกเดบิลบาโอใช้มายาวนาน สโมสรผ่อนปรนนโยบายดังกล่าวเป็นครั้งแรกในปี 1989 ด้วยการเซ็นสัญญากับจอห์น ออลดริดจ์ นักเตะทีมชาติไอร์แลนด์ ย้ายมาจากลิเวอร์พูล และในฤดูกาลแรกเขาทำ 16 ประตูในลาลิกากลายเป็นผู้ทำประตูสูงสุดประจำฤดูกาลของทีม ช่วยให้สโมสรจบอันดับ 5[15] ต่อมาในปี 1990 สโมสรเซ็นสัญญากับเดเลียน แอตกินสันจากเชฟฟีลด์เวนส์เดย์ซึ่งกลายเป็นนักฟุตบอลผิวสีคนแรกของสโมสร เขาทำ 12 ประตูในฤดูกาลนี้ เป็นรองเพียงออลดริดจ์ซึ่งทำ 17 ประตู และเป็นฤดูกาลสุดท้ายของออลดริดจ์กับสโมสรก่อนจะย้ายร่วมทีมแทรนเมียร์โรเวอส์[16] และในเวลาต่อมา แอตกินสันได้ย้ายร่วมทีมแอสตันวิลลา
เรอัลโซซิเอดัดจบอันดับ 3 ในฤดูกาล 1997–98 นับเป็นอันดับที่ดีที่สุดตั้งแต่ได้รองแชมป์ฤดูกาล 1987–88 มีคะแนน 63 คะแนนตามหลังบาร์เซโลนา 11 คะแนน และน้อยกว่าบิลบาโอ 2 คะแนน และเหนือกว่าเรอัลมาดริดด้วยผลต่างประตูได้และเสีย กองหน้าชาวยูโกสลาเวียอย่างดาร์กอ กอวาเซวิชทำ 17 ประตูในฤดูกาลนี้ และเป็นผู้ทำประตูสูงสุดในลีกเป็นอันดับ 4[17] สโมสรยังได้สิทธิ์ลงแข่งขันยูฟ่าคัพรอบคัดเลือก ฤดูกาล 1998–99 ซึ่งสโมสรผ่านคู่แข่งในสองรอบแรกอย่างสปาร์ตา ปราก และดีนาโมมอสโก แต่ก็แพ้อัตเลติโกเดมาดริดในรอบที่ 3
ศตวรรษที่ 21
แก้ภายหลังจบอันดับ 13 เป็นเวลา 3 ฤดูกาลติดต่อกัน สโมสรกลับมาคว้ารองแชมป์ในฤดูกาล 2002–03 เป็นอันดับที่ดีที่สุดในรอบ 15 ปี[18] จำนวน 76 คะแนนที่ทำได้น้อยกว่าทีมแชมป์เรอัลมาดริดเพียง 2 คะแนน และมากกว่าทีมอันดับ 3 อย่างเดปอร์ติโบเดลาโกรุญญา 4 คะแนน[19] ผู้จัดการทีมในชุดนั้นคือเคนาล เดอโนเอ ชาวฝรั่งเศส ด้วยผลงานโดดเด่นของสองผู้เล่นกองหน้าอย่างนิฮัต คาห์เวซี ชาวตุรกี และกอวาเซวิช ทั้งสองกลายเป็นผู้ทำประตูสูงสุดอันดับ 3 และ 4 ในลาลิกาจากผลงาน 23 และ 20 ประตูตามลำดับ[20] สโมสรยังนำเข้าผู้เล่นตัวหลักอย่างซานเดอร์ เวสเตอร์เฟลด์ ผู้รักษาประตูชาวดัตช์ รวมทั้งเป็นช่วงแจ้งเกิดของชาบี อาลอนโซซึ่งเป็นผลผลิตจากทีมเยาวชนของสโมสร และได้รับรางวัล Don Balon ปี 2003 ซึ่งมอบให้แก่นักฟุตบอลชาวสเปนที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดในลีก ผู้จัดการทีมอย่างเดอโนเอยังได้รับรางวัลผู้จัดการทีมยอดเยี่ยมในปีนั้น[21]
ช่วงเวลาสำคัญในฤดูกาลนี้คือการเปิดสนามอาโนเอตา เอาชนะเรอัลมาดริดด้วยผลประตู 4–2 ในเดือนเมษายน ทำให้สโมสรขึ้นเป็นทีมนำของตารางจนถึงนัดที่ 37 ของฤดูกาลซึ่งพวกเขาพลาดท่าแพ้ให้กับเซลตาเดบิโก 3–2 และเรอัลมาดริดเอาชนะอัตเลติโกเดมาดริด 4–0 แซงขึ้นเป็นอันดับ 1 ในนัดสุดท้ายซึ่งเรอัลโซซิเอดัดเอาชนะอัตเลติโกมาดริด 3–0 แต่ก็ไม่เพียงพอเนื่องจากเรอัลมาดริดเอาชนะอัตเลติกเดบิลบาโอ 3–0[22] เรอัลโซซิเอดัดไม่แพ้ทีมใดในบ้านตลอดทั้งฤดูกาล และทำได้ 71 ประตูและแพ้เพียง 6 นัดในลาลิกา ได้สิทธิ์แข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2003–04 และคว้าอันดับ 2 ของกลุ่มจากผลงานชนะ 2, เสมอ 3 และแพ้ 1 นัดตามหลังอันดับ 1 คือยูเวนตุส[23] แต่แพ้ออแล็งปิกลียอแนในรอบ 16 ทีมสุดท้ายด้วยผลรวมสองนัด 2–0[24] แต่นับว่าพวกเขามีผลงานในลาลิกาที่ตกลงไปมาก จบเพียงอันดับ 15 จาก 20 ทีมมี 46 คะแนนมากกว่าทีมตกชั้นอันดับ 18 เพียง 5 คะแนน และมีผลต่างประตูได้และเสียที่ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี[25] และยังย่ำแย่ต่อเนื่องด้วยการจบอันดับ 16 ในฤดูกาล 2005–06 รอดพ้นการตกชั้นเหนือทีมอย่างเดปอร์ติโบอาลาเบสเพียงคะแนนเดียว
สโมสรพบกับช่วงตกต่ำที่สุดในรอบกว่า 40 ปีด้วยการตกชั้นจากลาลิกาในฤดูกาล 2006–07 แม้จะลงเล่นครบ 2,000 นัดในลีกสูงสุดเมื่อวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 2006 พวกเขาจบในอันดับ 19 คริส โคลแมน ได้รับการแต่งตั้งให้คุมทีมในปี 2007 และลาออกในปีต่อมา[26] หลังจากระยะเวลา 3 ปีในลีกระดับสอง พวกเขากลับขึ้นสู่ลาลิกาอีกครั้งในฤดูกาล 2010–11 แต่ยังคงสถานะการเป็นทีมกลางตารางและท้ายตารางเป็นส่วนใหญ่ และจบอันดับ 15 อีกครั้ง ภายใต้ผู้ฝึกสอนชาวอุรุกวัย มาร์ติน ลาซาร์เต มีคะแนนมากกว่าพื้นที่ตกชั้นเพียง 2 คะแนน ตามมาด้วยการจบอันดับ 12 ในฤดูกาล 2011–12
สโมสรกลับมายกระดับผลงานได้จากหน้ามือเป็นหลังมือ กลับมาเป็นทีมหัวตารางอีกครั้งและจบอันดับ 4 ในฤดูกาล 2012–13 ด้วยการคุมทีมของฟีลิป มงตานีเย ผู้จัดการชาวฝรั่งเศส และกัปตันทีมอย่างชาบี เปรียโต กองหน้าคนสำคัญการ์โลส เบลา จากทีมชาติเม็กซิโกทำได้ 14 ประตู และผ่านบอลให้เพื่อนร่วมทีมทำประตูอีก 9 ครั้ง ต่อมาในฤดูกาล 2013–14 สโมสรยังคงอยู่หัวตารางและจบอันดับ 7 เบลาทำไป 16 ประตูโดยมีตัวหลักอีกหนึ่งคนอย่างอ็องตวน กรีแยซมาน ซึ่งทำ 14 ประตู และในการแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2013–14 สโมสรจบอันดับสุดท้ายโดยไม่ชนะทีมใด[27] ยาโกบา อาร์ราซาเต ถูกปลดและแทนที่โดยเดวิด มอยส์ ในฐานะผู้จัดการทีมจากสหราชอาณาจักรคนที่ 6 ในประวัติศาสตร์สโมสร[28] แต่ก็ถูกปลดในเดือนพฤศจิกายน ปี 2015 จากผลงานย่ำแย่ด้วยการชนะเพียง 5 จาก 17 นัดแรกของลาลิกา และสโมสรจบอันดับ 12 ต่อมา อูเซเบียว ซาคริสตัน พาทีมจบอันดับ 9 ในฤดูกาล 2015–16 และกลับมาอยู่หัวตารางด้วยการจบอันดับ 6 ฤดูกาล 2016–17 ได้สิทธิ์แข่งขันยูฟ่ายูโรปาลีก ฤดูกาล 2017–18 แต่กลับไปจบอันดับ 12 ในฤดูกาล 2017–18 และอันดับ 9 ในฤดูกาล 2018–19
เรอัลโซซิเอดัดกลับสู่การแข่งขันฟุตบอลยุโรปด้วยการคว้าอันดับ 6 ในฤดูกาล 2019–20 ภายใต้ผู้ฝึกสอนชาวสเปนอิมานอล อัลกูอาซิล ผ่านเข้าสู่ยูฟ่ายูโรปาลีก ฤดูกาล 2020–21 รอบแบ่งกลุ่ม และจบอันดับ 2 เข้ารอบตามหลังนาโปลี แต่แพ้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในรอบแพ้คัดออกด้วยผลประตูรวมสองนัด 4–0 สโมสรมีอันดับที่ดีที่สุดในรอบหลายปีด้วยอันดับ 5 ในฤดูกาล 2020–21 กลับไปแข่งขันยูฟ่ายูโรปาลีก ฤดูกาล 2021–22 และจบอันดับ 2 ในกลุ่มบีตามหลังมอนาโกแต่เข้าไปแพ้แอร์เบ ไลพ์ซิชในรอบแพ้คัดออกด้วยผลประตูรวม 5–3 สโมสรยังคงทำอันดับไปเล่นฟุตบอลยุโรปได้อย่างต่อเนื่องจากการจบอันดับ 6 ในฤดูกาล 2021–22 และคว้าอันดับ 4 ในฤดูกาล 2022–23 ทำไปถึง 71 คะแนนทำให้พวกเขากลับไปแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2023–24 เป็นการเข้าร่วมรายการนี้เป็นครั้งที่ 4 และคว้าอันดับ 1 ได้ด้วยการไม่แพ้ทีมใดตลอด 6 นัด แต่ก็ต้องตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายอีกครั้งจากการแพ้ทีมใหญ่จากฝรั่งเศสอย่างปารีแซ็ง-แฌร์แม็งขาดลอย 4–1
รายชื่อผู้เล่น
แก้ผู้เล่นชุดปัจจุบัน
แก้- ณ วันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 2023[29]
หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ
|
|
เกียรติประวัติ
แก้ระดับประเทศ
แก้ลีก
แก้- ลาลิกา
- ชนะเลิศ (2): 1980–81, 1981–82
- รองชนะเลิศ (3): 1979–80, 1987–88, 2002–03
- เซกุนดาดิบิซิออน
- ชนะเลิศ (3): 1948–49, 1966–67, 2009-10
ถ้วย
แก้- โกปาเดลเรย์
- ชนะเลิศ (3): 1909, 1986–87, 2019–20
- รองชนะเลิศ (5): 1910, 1913, 1928, 1951, 1987–88
- ซูเปร์โกปาเดเอสปัญญา
- ชนะเลิศ (1): 1982
ระดับภูมิภาค
แก้- กิปุซโกอาแชมเปียนชิป
- ชนะเลิศ (6): 1918–19, 1922–23, 1924–25, 1926–27, 1928–29, 1932–33
อ้างอิง
แก้- ↑ "Anoeta: bienvenido el fútbol en color" [Anoeta: welcome football in color]. El Diario Vasco (ภาษาสเปน). 8 September 2019. สืบค้นเมื่อ 13 September 2019.
- ↑ "Real Sociedad". free-elements.com.
- ↑ Athletic Bilbao v Real Sociedad: How La Real's trust in youth is paying off, Alex Bysouth, BBC Sport, 29 December 2020
- ↑ Ramajo, Roberto (2009-08-15). "Todo empezó en el Club Ciclista San Sebastián..." Diario AS (ภาษาสเปน).
- ↑ Ramajo, Roberto (2009-08-15). "Todo empezó en el Club Ciclista San Sebastián..." Diario AS (ภาษาสเปน).
- ↑ "Spain - Cup 1909". www.rsssf.org.
- ↑ "Spain - Cups 1910". www.rsssf.org.
- ↑ "Spain - Cups 1913". www.rsssf.org.
- ↑ "Spain - Cup 1928". www.rsssf.org.
- ↑ "Spain, Final Tables 1979-1989". www.rsssf.org.
- ↑ UEFA.com. "The official website for European football". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Real Sociedad 1981-1982". free-elements.com.
- ↑ "Spain - Cup 1987". www.rsssf.org.
- ↑ "Spain - Cup 1988". www.rsssf.org.
- ↑ "Spain, Final Tables 1989-1999". www.rsssf.org.
- ↑ "Real Sociedad 1990-1991". free-elements.com.
- ↑ "La Liga Top Scorers - 1997-1998". free-elements.com.
- ↑ "Futbolme - 404". futbolme.com (ภาษาสเปน).
- ↑ "Spain La Liga Predictions, Head to Head (H2H) Statistics, Match Fixtures, Odds and Results - SoccerPunter.com". www.soccerpunter.com.
- ↑ "La Liga Top Scorers - 2002-2003". free-elements.com.
- ↑ "Spain - Footballer of the Year". www.rsssf.org.
- ↑ "Real Sociedad 2002/03". Holding Midfield (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2011-08-26.
- ↑ UEFA.com. "The official website for European football". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ UEFA.com. "The official website for European football". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "2003/04 Spanish Primera División Spain: La Liga Table - ESPN Soccernet". web.archive.org. 2010-12-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-02. สืบค้นเมื่อ 2024-12-10.
- ↑ "Coleman resigns as Sociedad boss" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2008-01-16. สืบค้นเมื่อ 2024-12-10.
- ↑ UEFA.com. "The official website for European football". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "David Moyes confirmed as new manager of Real Sociedad". The Telegraph (ภาษาอังกฤษ). 2014-11-10.
- ↑ "First team numbers and shirt names". Real Sociedad. สืบค้นเมื่อ 14 August 2018.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- Official website
- Thirteen Months Of Obstinacy - Real Sociedad's 38 game unbeaten run เก็บถาวร 2012-05-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Real Sociedad at La Liga เก็บถาวร 2012-06-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน) (อังกฤษ)
- Futbolme team profile (สเปน)
- Russian website เก็บถาวร 2013-04-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Estadios de Espana
- เรอัลโซซิเอดัด ที่เฟซบุ๊ก
- เรอัลโซซิเอดัด ที่เฟซบุ๊ก