แอลัน เชียเรอร์

แอลัน เชียเรอร์ (อังกฤษ: Alan Shearer) เกิดวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ. 1970 เป็นนักฟุตบอลระดับตำนานคนหนึ่งของวงการฟุตบอลอังกฤษ รวมถึงการก้าวขึ้นไปเป็นกัปตันทีมชาติ "ทรีไลออนส์" โดย "บิ๊กอัล" เกิดในเมืองนิวคาสเซิล แต่ทีมที่เขาเริ่มต้นอาชีพนักฟุตบอลก็คือ เซาแทมป์ตัน เนื่องจากถูก "สาลิกาดง" ปฏิเสธที่จะเซ็นสัญญาด้วย แต่กับเซาแทมป์ตัน เขาสามารถสร้างชื่อได้ตั้งแต่นักแรกที่ลงสนามทันที ด้วยการยิงแฮตทริก ทำให้แบล็กเบิร์นโรเวอร์ส คว้าตัวเขาไปร่วมทีม และสามารถที่จะคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก กับทาง "กุหลาบไฟ" ได้สำเร็จ ซึ่งเป็นแชมป์แรกและแชมป์เดียวในชีวิตการค้าแข้งของแอลัน เชียเรอร์

แอลัน เชียเรอร์
แอลัน เชียเรอร์
แอลัน เชียเรอร์
ข้อมูลส่วนตัว
ชื่อเต็ม แอลัน เชียเรอร์
ส่วนสูง 1.79 m (5 ft 10 12 in)
ตำแหน่ง กองหน้า
ข้อมูลสโมสร
สโมสรปัจจุบัน
นิวคาสเซิล
สโมสรอาชีพ*
ปี ทีม ลงเล่น (ประตู)
1988-1992 เซาแทมป์ตัน 118 (23)
1992-1996 แบล็ค​เบิร์น 138 (112)
1996-2006 นิวคาสเซิลยูไนเต็ด 303 (148)
รวม 559

(283

​)
*นัดที่ลงเล่นและประตูที่ยิงให้แก่สโมสรเฉพาะลีกในประเทศเท่านั้น

ต่อมาด้วยค่าตัว 15 ล้านปอนด์ ทำให้เชียเรอร์ได้กลับมาเล่นในถิ่นเซนต์เจมส์พาร์ก และก็ค้าแข้งอยู่ทีมนิวคาสเซิลยูไนเต็ดเป็นเวลาเกือบสิบปี และก็ทำลายสถิติยิงประตูตลอดกาลของแจ็กกี มิลเบิร์น รวมถึงเป็นอดีตผู้ครองตำแหน่งยิงประตูมากที่สุดในศึกพรีเมียรลีก อยู่ในปัจจุบันอีกด้วย ในส่วนของทีมชาติอังกฤษ ที่เขาเคยก้าวขึ้นไปทำหน้าที่กัปตันทีมนั้น เชียเรอร์ลงเล่นให้ทีมชาติ 63 นัด ยิงไป 30 ประตู ปัจจุบันเชียเรอร์ว่างงาน หลังจากดำรงตำแหน่งผู้จัดการทีมนิวคาสเซิลยูไนเต็ด ในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2009[1][2]

เปิดฉาก

แก้

แอลัน เชียเรอร์ เกิดที่เมืองนิวคาสเซิล เติบโตขึ้นในย่านกอสฟอร์ธ (Gosforth) ในครอบครัวชั้นแรงงาน เริ่มให้ความสนใจกับเกมฟุตบอลตั้งแต่อายุเพียง 6 ขวบเท่านั้น แอลันไม่ต่างอะไรจากเด็กในวัยเดียวกัน ใช้ชีวิตเตะฟุตบอลกระทบกำแพง เล่นบอลกับเพื่อนๆ บนถนนคอนกรีตของเมืองนิวคาสเซิล เขาฝึกฝนทุกวัน โดยมากกับเด็กโตกว่ามาก การที่เขามีพ่อเป็น ทูน อาร์มี ขนานแท้ ฟุตบอลจึงไม่เคยห่างไกลจากชีวิตของเชียเรอร์เลย เขาจึงเป็นแฟนของนิวคาสเซิลเช่นเดียวกับผู้เป็นพ่อ และฝันว่าสักวันหนึ่งจะได้ลงสนามภายใต้เสื้อสีขาว - ดำ

มันไม่ใช่แค่ความฝันลมๆ แล้งๆ ของเด็กชายตัวผอม ตั้งแต่วินาทีแรกที่เท้าของเขาได้สัมผัสลูกฟุตบอล เขาก็ต้องการลงแข่งในเกมจริงๆ และการที่มีใจมั่นคงต่อการจะเป็นนักเตะอาชีพให้ได้นี่เอง ทำให้เวลาต่อมาเขาเริ่มฉายแสงความสามารถออกมาให้เห็น มากพอที่จะทำให้เขารู้ตัวว่า เขาต้องทำได้แน่ถ้ามุ่งมั่นทุ่มเทให้กับมัน จากแค่เล่นฟุตบอลในยามว่าง เขาจริงจังกับมันมากขึ้น เริ่มเล่นฟุตบอลกับทีมโรงเรียนกอสฟอร์ธ ไฮ ตอนอายุ 12 เป็นกัปตันทีมและเล่นได้หลายตำแหน่ง โดยมากจะเป็นมิดฟิลด์ แต่ศูนย์หน้า คือตำแหน่งที่เขาทำได้ดีที่สุด ครั้งหนึ่งเขาเคยทำได้ถึง 13 ประตูในเกมเดียวให้กับทีม

สิ่งที่ชัดเจนคือ เชียเรอร์มีอะไรพิเศษในตัว จึงได้รับการสนับสนุนให้ไปลองทีมกับ วอลเซนด์ บอยส์ คลับ เป็นการก้าวอีกระดับจากแค่ฟุตบอลระดับโรงเรียน และที่นี่เองก็เป็นจุดเริ่มต้นของนักเตะดังๆ หลายคน เช่น ปีเตอร์ เบียดสลีย์, สตีฟ บรูซ และรุ่นหลังๆ อย่าง สตีฟ วัตสัน, ลี คล๊าก, ร็อบบี้ เอลเลียต, ไมเคิล คาร์ริค และ แอลัน ธอมป์สัน และเชียเรอร์ก็พาชื่อตัวเองไปอยู่ในลิสต์เช่นกัน เขาเป็นนักเตะคนสำคัญของทีม ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเล่นให้กับ แครมลิงตัน จูเนียร์ส เอฟซี

ภาพลักษณ์ของเด็กชายตัวผอม ผมหยิกสีบลอนด์ ไม่ได้ทำให้ใครสะดุดตา แต่พลังในการวิ่งในสนาม ความแข็งแกร่ง และความสามารถยามอยู่หน้าประตูต่างหาก ที่ทำให้บรรดาผู้สันทัดกับเกมในแถบตะวันออกเฉียงเหนือ สะดุดใจกับเด็กผู้ชายคนนี้ การมีส่วนร่วมในทีมท้องถิ่น เป็นเพียงการรอเวลาให้ทีมเยาวชนของนิวคาสเซิลยูไนเต็ดเรียกเขาเข้าไปทดสอบฝีเท้า แต่ขณะทดสอบ อาการบาดเจ็บที่รบกวนนักเตะร่วมแคมป์คนอื่นๆ ทำให้เชียเรอร์ไม่สามารถโชว์ฟอร์มเก่งได้เท่าที่ควร เขาถูกจับไปเล่นในตำแหน่งผู้รักษาประตูเป็นบางครั้ง ทำให้ช่วงทดสอบฝีเท้ากับทีมรักไม่ประสบผลสำเร็จ เชียเรอร์ถูกปฏิเสธจากนิวคาสเซิลยูไนเต็ด และนี่เป็นการปฏิเสธที่นิวคาสเซิลต้องเสียใจในภายหลัง และต้องจ่ายหนักเพื่อชดเชยกับการตัดสินใจที่ผิดๆ ของทีม

ถึงจะถูกนิวคาสเซิลปฏิเสธ แจ็ค ฮิกซ์สัน แมวมองที่เชียเรอร์ให้ความเคารพก็ยังดูแลเชียเรอร์เป็นอย่างดี เขารู้ดีว่าเขาต้องได้เป็นส่วนหนึ่งของสโมสรอาชีพสักแห่งเป็นแน่ ด้วยความมั่นใจในสายตาของฮิกซ์สัน ที่มองเห็นแววของเชียเรอร์ตั้งแต่อายุเพียง 13 ปี การใส่ใจที่ฮิกซ์สันมีมอบให้ ประกอบกับความใกล้ชิดกับครอบครัว ทำให้เขาได้รับความไว้วางใจให้เป็นตัวแทนของเชียเรอร์ ตัวแจ็คเองก็ไม่ต่างอะไรกับแอลัน เขาเป็นชาวจอร์ดี้ที่มีความผูกพันกับเกมมากมาย ทำงานกับหลายสโมสรในฐานะแมวมอง และสิ่งที่เขามองเห็นในตัวเชียเรอร์นั้นก็เหนือกว่าแค่พรสวรรค์ ทั้งสองจึงเข้ากันได้ดี แจ็คจึงเปรียบเสมือนสมาชิกคนนึงในครอบครัวบิ๊กอัล ในเวลาต่อมา

ไม่เพียงแต่จะถูกปฏิเสธจากนิวคาสเซิลยูไนเต็ด เท่านั้น เชียเรอร์ยังถูกปฏิเสธจาก เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน, ซันเดอร์แลนด์ และ แมนเชสเตอร์ซิตี อีกด้วย แต่ในที่สุดแจ็คก็ผลักดัน จนให้เชียเรอร์ได้มีโอกาสทดสอบฝีเท้ากับเซาแทมป์ตันจนได้ ผลที่ตามมาคือเขาต้องย้ายจากถิ่นไทน์ไซด์ที่คุ้นเคย จากครอบครัว และเพื่อน เพื่อแลกกับก้าวย่างที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต แต่อย่างไรก็ตามความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า และความมุ่งมั่นที่จะคว้าโอกาสมาให้จงได้ ทำให้เชียเรอร์ทุ่มไปทั้งหมดที่เขามี

เชียเรอร์ เทพบุตรแห่งเดอะ เดล

แก้

หลังช่วงทดสอบฝีเท้าอันยาวนาน เชียเรอร์ได้เซ็นสัญญาเป็นนักเตะฝึกหัดกับเซาแทมป์ตัน ทีมดิวิชั่น 1 ในขณะนั้นด้วยวัยเพียง 15 ปี แม้ว่าจะต้องอยู่ไกลจากบ้านเกิด แต่ที่นั่นก็ไม่ได้แย่นัก เพราะมีทีมโค้ชที่เป็นชาวจอร์ดี้หลายคน ไม่ว่าจะเป็น เดฟ เมอร์ริงตัน และมิดฟิลด์ของทีมอย่าง ทอมมี วิดดริงตัน ทำให้เชียเรอร์รู้สึกสบายใจที่นั่นไม่ต่างจากเป็นบ้านอีกแห่งหนึ่ง และทุกครั้งที่เชียเรอร์เกิดคิดถึงบ้านขึ้นมา สโมสรก็อนุญาตให้เขากลับบ้านที่นิวคาสเซิลได้ทุกๆ สุดสัปดาห์ และเนื่องจากเซาแทมป์ตัน มีชื่อเสียง ในเรื่องการดูแลนักเตะเยาวชนในทีมเป็นอย่างดี จึงเป็นสาเหตุสัญคัญที่ทำให้เชียเรอร์เซ็นสัญญากับทีมนี้

15 เดือนแรกในรัง เดอะ เดล คือช่วงเวลาแห่งการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีความรับผิดชอบที่จะดูแลตัวเอง และที่นี่เอง ที่ทำให้เขาได้พบกับภรรยาในอนาคต เขาและเลนย่า พบกันที่ผับแห่งหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่อยู่ในสมองของเชียเรอร์คือฟุตบอล มากกว่าความรัก ความรักเมื่อแรกพบครั้งนั้น ช่วยให้ชีวิตเขาที่เมืองแห่งนี้เข้าที่เข้าทางได้เร็วขึ้น เมื่อไม่มีปัญหาความรัก กองหน้าคนเก่งทำงานอย่างหนักในแต่ละวัน นอกจากฝึกหนักกับสโมสรตามปกติแล้ว เขายังออกวิ่งวันละ 3 ไมล์ ยกน้ำหนักสร้างกล้ามเนื้อ เตรียมพร้อมทางด้านจิตใจให้กับตัวเอง เพื่อให้พร้อมรับความกดดันสำหรับการก้าวขึ้นสู้ทีมชุดใหญ่ แม้จะมีอายุเพียงเท่านี้ แต่เชียเรอร์มีความเชื่อมั่นอย่างสูงว่าเขาจะประสบความสำเร็จ แต่กระนั้นตัวเขาเองก็อดที่จะเซอร์ไพรซ์ไม่ได้ เมื่อการได้ลงเล่นเป็นตัวจริงให้กับเซาแทมป์ตัน เกิดขึ้นหลังจากเขาจากบ้านเกิดเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น

9 เมษายน ค.ศ. 1988 เซาแทมป์ตันต้อนรับการมาเยือนของอาร์เซนอล ที่กำลังลุ้นแชมป์ในขณะนั้น แถมยังมี โทนี่ อดัมส์ ทำหน้าที่เสริมความแกร่งสุดยอดให้กับแผงหลังของทีมอีกด้วย เช้าวันเดียวกัน โอกาสมาถึงมือเชียเรอร์จนได้ เมื่อ แดนนี่ วอลแลนซ์ กองหน้าของทีมเกิดไม่ผ่านการทดสอบความฟิต คริส นิโคล ผู้จัดการทีมไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากตบไหล่เชียเรอร์ แล้วบอกให้เขาเตรียมพร้อมที่จะลงสนามในฐานะตัวจริง และคำตอบที่ได้จากปากเชียเรอร์ก็คือ "I'm ready boss" และสิ่งที่ตามมา ก็เป็นยิ่งกว่าเทพนิยาย

เพียงแค่นาทีที่ 5 ในฐานะนักเตะอาชีพครั้งแรกในชีวิต โดยมีคู่แข่งเป็นทีมอย่างอาร์เซนอล ที่กำลังบินสูงอยู่บนตารางคะแนนดิวิชั่น 1 เชียเรอร์ยิงประตูที่หนึ่ง...และสอง...และสาม ใช่...เชียเรอร์ทำแฮททริก ในเกมที่นักบุญเอาชนะได้อย่างไม่อาจลืมเลือน 4-2 ส่งผลให้เขากลายเป็นนักเตะ ที่อายุน้อยที่สุดที่ทำแฮททริกได้ในลีกสูงสุดของประเทศ เพียง 17 ปี กับอีก 240 วัน ผลงานอันยอดเยี่ยมถูกตามมาด้วยสัญญาในฐานะนักเตะอาชีพด้วยค่าตัว 25 ปอนด์ต่อสัปดาห์ ชีวิตที่เขาเคยรู้จักได้เปลี่ยนไปแล้ว เขาถูกพูดถึงไปทั่วในวงการฟุตบอลอังกฤษ ชื่อของเขาปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ต่อไปอีกหลายวันทีเดียว

อย่างไรก็ตาม นิโคลให้โอกาสเชียเรอร์ลงสนามอีกเพียงแค่ 4 นัดในฤดูกาลนั้น และเพียง 10 นัดในปีถัดมา แม้จะทำได้ 3 ประตูในการลงสนามนัดแรกในฐานะนักเตะอาชีพ แต่หลังจากนั้นเขาก็ไม่สามารถส่งลูกบอลไปสู่ก้นตาข่ายได้อีกเลย และแน่นอน ตัวเชียเรอร์เองก็ไม่ได้แฮปปี้กับสถานการณ์เช่นนี้ ที่ตัวเขาถูกส่งกลับไปเป็นตัวสำรอง หลังจากเริ่มนัดแรกได้อย่างมหัศจรรย์ แต่เขาก็ยอมรับชะตาของตัวเอง และเข้าใจสโมสร เนื่องจากโอกาสที่ได้รับครั้งต่อๆ มา เขาก็ทำประตูไม่ได้เลย เจ้าตัวจึงตัดสินใจตั้งหลักใหม่เพื่อให้ได้กลับไปลงเล่นอีกครั้ง เขาเพียงแค่ต้องอุทิศเวลามากขึ้น และคว้าทุกโอกาสที่มีแล้วทำประตูให้ได้กับทุกโอกาสที่ได้รับ และนี่คือสิ่งที่เชียเรอร์ทำในฤดูกาลที่สามในฐานะนักเตะอาชีพ ลงเล่นทั้งหมด 35 นัด ยิงไป 5 ประตู ขณะเดียวกันความคาดหวังที่เขาจะต้องทำประตูให้ได้ยิ่งมีมากขึ้น โดยเฉพาะจากสื่อ แต่คนที่รู้จักเขาดีไม่ได้กังวลในตัวเชียเรอร์เลย แม้เขาจะทำประตูได้ค่อนข้างน้อยสำหรับการกลับมาอีกครั้ง เพราะเขาได้แสดงให้เห็นว่า เขาไม่ใช่เพียงแค่เครื่องจักรทำประตู และแฟนบอลนักบุญก็รับนักเตะหนุ่มวัย 20 ปีคนนี้เข้าไว้ในอ้อมอกอ้อมใจเรียบร้อยแล้ว สำหรับการทำงานอย่างหนักเพื่อให้ได้ผลงานที่ดี

และตัวเชียเรอร์เองก็พอใจในตัวเองเช่นกัน เขาต้องการเพียงได้ลงเล่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเขารู้ดีว่าประตูจะตามมาแน่นอน และฤดูกาลที่สี่ของเขากับสโมสรก็บ่งบอกอย่างดี 14 ประตู จาก 48 นัดในทุกรายการ เขากลับมาในฐานะกองหน้าที่แข็งแกร่ง และยังได้รับเลือกให้ติดทีมชาติอังกฤษชุดอายุต่ำกว่า 21 ปีไปสู้ศึก Toulon Tournament อีกด้วย และทัวร์นาเมนต์นี้ก็มหัศจรรย์มาก สำหรับทั้งตัวเชียเรอร์เองและชาวอังกฤษทั้งประเทศ อังกฤษเอาชนะฝรั่งเศสได้ในนัดชิง และเชียเรอร์ก็ทำประตูได้ในนัดนี้ จบทัวร์นาเมนต์ในฐานะดาวซัลโว 7 ประตู จาก 4 นัด และได้รับการโหวตให้เป็นนักเตะทรงคุณค่าประจำทัวร์นาเมนต์อีกด้วย

นาทีนี้เชียเรอร์ถูกจับตามองในฐานะดาวรุ่ง ที่ฮ็อตที่สุดในวงการฟุตบอลอังกฤษไปแล้ว สื่อประโคมข่าวว่าเค้านี่แหละคืออนาคตของทีมชาติอังกฤษ และจะเป็นตัวตายตัวแทนของ แกรี ลินิเกอร์ ที่รับใช้ทีมชาติมานานจนใกล้ปลดระวางเต็มที่ ใช่...เขาคือความหวังของใครหลายคน และเชียเรอร์ก็ไม่ได้ทำให้ใครผิดหวัง เมื่อเขาตอบแทนความหวังเหล่านี้ด้วยฤดูกาลใหม ่ที่ไฉไลกว่าเดิมกับนักบุญ ฤดูกาล 1991-92 เขาทำไป 20 ประตูจาก 60 นัด และได้รับการตบรางวัล ด้วยการถูกเรียกตัวติดทีมชาติอังกฤษอย่างที่ใครๆ คาดไว้ไม่มีผิด เชียเรอร์ทำได้อีกหนึ่งประตูในสีเสื้อทีมชาติ ในนัดที่อังกฤษเอาชนะฝรั่งเศสได้อีกครั้ง 2-0 ที่เวมบลีย์ในนัดกระชับมิตร และเป็นอีกครั้งที่เชียเรอร์กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ในอังกฤษ

ประสบการณ์ที่มากขึ้นในระดับทีมชาติ ทำให้เขาได้รับการไว้วางใจจากกุนซือหัวผักกาด แกรห์ม เทย์เลอร์ ถูกเรียกตัวทีมชาติในศึก ฟุตบอลยูโร ที่สวีเดน แต่เชียเรอร์ได้ลงสนามช่วยชาติเพียงนัดเดียวเท่านั้น และหมดเวลาส่วนใหญ่ตลอดทัวร์นาเมนต์ไปกับการรักษาอาการบาดเจ็บ ขณะเดียวกันกับที่ทีมชาติอังกฤษถูกเขี่ยตกรอบในที่สุด แม้จะมีประสบการณ์ติดทีมชาติชุดใหญ่รวมทั้งหมดเพียง 2 นัด แต่เมื่อนักเตะคนอื่นได้รับบาดเจ็บ และแกรี ลินิเกอร์ ได้อำลาทีมชาติไป เชียเรอร์จึงกลายเป็นศูนย์หน้าเท้าวางอันดับหนึ่ง ของอังกฤษไปโดยปริยาย

เชียเรอร์ เดอะ โรเวอร์

แก้

ซัมเมอร์ปี 1992 ฮอตชอตก็ได้ฮอตสมชื่อ เพราะเป็นนักเตะที่เป็นที่ต้องการตัวอย่างหนัก แม้ว่าเซาแทมป์ตันจะออกมาประกาศว่า กองหน้าคนนี้ไม่ได้มีไว้ขาย แต่เงินทองก็ทำให้คนเปลี่ยนคำพูดได้เสมอ แล้วอีกอย่างนักบุญก็ไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะปฏิเสธเงิน 3.3 ล้านปอนด์ ที่ถือเป็นสถิติค่าตัวนักเตะของเกาะอังกฤษในขณะนั้นได้ด้วย ตอนนั้นมีทั้ง แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด และ แบล็กเบิร์นโรเวอร์ส ที่พร้อมจะคว้าตัวเชียเรอร์ไปร่วมทีม และเชียเรอร์ก็ตัดสินใจเลือกแบล็กเบิร์น เพราะเป็นทีมแรกที่ออกมาแสดงความสนใจในตัวเขา แม้ว่าเขาจะฟังข้อเสนอของ แมนฯ ยู อย่างมีมารยาท แต่ในใจของเขาได้มีคำตอบให้กับตัวเองแล้ว เชียเรอร์ พร้อมภรรยาที่กำลังตั้งท้อง 7 เดือน ออกเดินทางตามถนนแห่งชีวิตที่ทอดยาวไปยังแลงคาเชียร์ เพื่อเริ่มต้นบรรทัดต่อไปของชีวิตคนทั้งคู่

แต่มีเรื่องที่คนทั่วไปอาจไม่รู้ คือในตอนนั้น นิวคาสเซิลยูไนเต็ด นำโดย เควิน คีแกน และ เซอร์ จอห์น ฮอลล์ ผู้เข้ามาปลดหนี้ให้สาลิกาดง ก็มีความสนใจในตัวเชียเรอร์เช่นกัน แต่ก็ต้องค้างแผนการไว้แค่นั้น เมื่อเชียเรอร์เซ็นต์สัญญากับแบล็กเบิร์นไปเสียก่อน แม้ว่าเชียเรอร์จะเป็นแฟนนิวคาสเซิลโดยสายเลือด แต่แบล็กเบิร์นก็เป็นคำตอบที่ดีในขณะนั้น เพราะตอนนั้นนิวคาสเซิลเป็นทีมในดิวิชั่น 2 ขณะที่แบล็กเบิร์นพึ่งได้เลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในพรีเมียร์ชิพใหม่ แถมยังมีแบ็คด้านการเงินจากนักธุรกิจร้อยล้าน แจ็ค วอล์คเกอร์ กุหลาบไฟที่นำโดย เคนนี ดัลกลิช ในขณะนั้น ก็เปรียบเสมือนเค้กที่ได้รับการตกแต่งอย่างสวยงาม และเชียเรอร์ก็คือน้ำตาลไอซ์ซิ่ง ที่ตกแต่งเค้กก้อนนั้นให้ทั้งงามและหอมหวานยิ่งขึ้น

สำหรับคนที่เป็นกองหน้าที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ตลอดอาชีพค้าแข่งกับทั้ง เซลติก, ลิเวอร์พูล และ สก็อตแลนด์ อย่าง ดัลกลิช ทำไมเขาจะไม่รู้ ว่าเชียเรอร์นี่แหละจะนำเกียรติยศมาสู่ทีม ทางด้านฝั่ง อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ก็คงอดจะรู้สึกไม่ได้ว่า เขาได้ทำเป้าหมายอันดับหนึ่งหลุดมือไปเสียแล้ว เมื่อในนัดเปิดตัวกับแบล็กเบิร์นเชียเรอร์ทำได้ 2 ประตูอย่างงดงาม แม้ว่าจบเกมทีมจะทำได้เพียงเสมอกับคริสตัล พาเลซไป 3-3 ที่เซลเฮิร์สท์ ปาร์กก็ตาม

จะว่าไปแล้วช่วงเวลานั้นเปรียบเสมือนยุคมืดของวงการฟุตบอลอังกฤษ มีฮูลิแกนอยู่ทั่วทุกหัวระแหง ประกอบกับโศกนาฏกรรมที่ฮิลส์โบโรห์ที่ตามหลอกหลอนแฟนบอลอังกฤษ การฟื้นตัวของวงการฟุตบอลในขณะนั้นเป็นไปอย่างเชื่องช้าและเจ็บปวด การมีสกาย เทเลวิชั่นถ่ายทอดสดการแข่งขันทางโทรทัศน์ กอปรกับแคมเปญให้สนามฟุตบอลทุกสนามเปลี่ยนเป็นที่นั่งให้หมด ก็กระตุ้นวงการฟุตบอลได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่การเกิดใหม่ของบรรดานักเตะดาวรุ่ง จึงไม่ต่างอะไรจากการเกิดใหม่อีกครั้ง ของเสน่ห์ฟุตบอลระดับชาติในอังกฤษ

และเชียเรอร์ ในลุคเด็กหนุ่มนิสัยดีมีเสน่ห์ มีความเป็นมืออาชีพทั้งในและนอกสนาม จึงเข้าไปนั่งในใจแฟนบอลอังกฤษได้ไม่ยากเย็น ฟุตบอลยุคใหม่ โกลเด้น บอยคนใหม่ เหมาะเจาะอะไรถึงเพียงนี้ เกมฟุตบอลในสมัยนี้เริ่มเปลี่ยนไป ค่าเหนื่อยสูง ค่าตัวแพงกลายเป็นเรื่องปกติ และแบล็กเบิร์นก็เป็นอีกทีมที่พร้อมจะจ่ายหนัก ซื้อนักเตะบิ๊กเนมหลายคนมาเสริมทีม ในราคาแบบบิ๊กๆ แต่เงินจำนวนมหาศาลที่มี ก็ไม่สามารถทำให้นักเตะอันดับหนึ่งของทีม รอดพ้นเงื้อมมือของมัจจุราชที่เรียกว่า อาการบาดเจ็บ ได้ เชียเรอร์ต้องพลาดการลงสนามในช่วงท้ายของฤดูกาล ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงต้นของฤดูกาล 1993-94 ด้วย

เชียเรอร์ได้รับอาการบาดเจ็บบริเวณเส้นเอ็น ในแมตช์บ็อกซิ่ง เดย์ กับ ลีดส์ ทำให้เขาต้องอดลงสนามถึง 9 เดือนเต็มๆ เลยทีเดียว ซึ่งนี่ก็ไม่ได้เป็นการสูญเสียสำหรับรังอีวู้ด ปาร์กเท่านั้น แต่เป็นการสูญเสียสำหรับทีมชาติอังกฤษด้วยเช่นกัน ทีมชาติอังกฤษชุด กุนซือหัวผักกาด เกรแฮม เทย์เลอร์ คุมทีม มีอันต้องไม่ผ่านรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก '94 ที่สหรัฐ เพราะขาดกองหน้าตัวสำคัญอย่างเชียเรอร์ และความฝันของเชียเรอร์ที่จะได้สวมเสื้อสีขาวของทีมชาติอังกฤษ ในเวทีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ก็มีอันต้องรอไปก่อนอีกหลายปีกว่าจะได้เติมเต็ม

อย่างไรก็ตาม เขาก็ได้ทำหนึ่งความฝันในวัยเด็กให้เป็นจริง คือการได้ลงเล่นในเซนต์เจมส์ ปาร์ก แม้จะไม่ใช่ภายใต้เสื้อสีขาวดำ หลังหายกลับมาจากอาการบาดเจ็บ เชียเรอร์พาแบล็กเบิร์นไปเสมอกับนิวคาสเซิล ที่พึ่งเลื่อนชั้นมาหมาดๆ 1-1 แม้ว่าจะพลาดการลงสนามในเดือนแรกของฤดูกาล แต่ก็ไม่มีใครหยุดดาวรุ่งพุ่งแรงคนนี้ได้อยู่ เขาพังประตูพาแบล็กเบิร์นจบฤดูกาลด้วยอันดับ 2 และยิงไปถึง 31 ประตูในลีก อุดปากพวกที่วิเคราะห์กันไปต่างๆ นานาว่า เชียเรอร์ไม่มีทางกลับมาเป็นคนเดิมได้อย่างรวดเร็ว หลังต้องบาดเจ็บนานขนาดนั้นไปเสียสนิท

เชียเรอร์ได้รับรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปี เขาไม่ใช่เพียงแค่นักเตะที่ค่าตัวแพงที่สุดในประเทศ กองหน้าอันดับหนึ่งในพรีเมียร์ชิพและอังกฤษ แต่ยังเหนือกว่านักเตะคนอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ฤดูกาล 1994-95 ยิ่งดีกว่าเดิมสำหรับเชียเรอร์และแบล็กเบิร์น34 ประตูในลีกของเชียเรอร์ พาแบล็กเบิร์นคว้าแชมป์พรีเมียร์ชิพ ได้สำเร็จ เป็นครั้งแรกในรอบ 81 ปีของสโมสร การที่แบล็กเบิร์นคว้าตัว คริส ซัตตัน มาร่วมทีมในราคา 5 ล้านปอนด์นั้น ทำให้เชียเรอร์ได้พบกับคู่แท้ในแดนหน้า นอกจากจะได้เหรียญแชมป์แล้ว ฤดูกาลเดียวกันนี้เชียเรอร์ยังได้รางวัล PFA นักเตะยอดเยี่ยมประจำปีอีกด้วย ซึ่งรางวัลนี้ได้มาจากการโหวตของเพื่อนร่วมอาชีพ นั่นหมายความว่าเชียเรอร์ ได้รับการยอมรับอย่างงดงามจากเพื่อนร่วมอาชีพ และเป็นการพิสูจน์ว่า การตัดสินใจปฏิเสธแมนฯ ยูนั้น เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว

หลังจากคว้าแชมป์ลีกได้สำเร็จ ส่งผลให้แบล็กเบิร์นได้ไปตะลุยในเวทีแชมเปียนส์ ลีก แต่น่าเสียดายที่เชียเรอร์ พลาดโอกาสลงสนามเกือบทุกนัดในรอบแบ่งกลุ่ม เนื่องจากอาการบาดเจ็บ และเนื่องจากการขาดกองหน้าตัวสำคัญนี่เอง ทำให้แบล็กเบิร์นมีอันต้องตกรอบไปอย่างน่าเสียดาย ผลงานในลีกฤดูกาลถัดมาของแบล็กเบิร์นก็ไม่ต่างจากเวทียุโรปมากนัก เมื่อพวกเขาไม่สามารถป้องกันแชมป์ได้สำเร็จ เคนนี่ ดัลกลิช ผู้ซึ่งพาทีมจากดิวิชั่น 2 เดิม จนเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีก เปลี่ยนบทบาทของตัวเองภายในทีมในฐานะ ฟุตบอล ไดเร็กเตอร์ และเงียบหายไปจากวงการฟุตบอลไปพักใหญ่ พิสูจน์ให้เห็นถึงจุดเปลี่ยน ของเกมฟุตบอลรอบตัวของเชียเรอร์อีกครั้ง

แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยน คือผลงานการทำประตูอันยอดเยี่ยมของเชียเรอร์นั่นเอง แม้ว่าทีมจะจบฤดูกาลด้วยอันดับ 7 ของตารางพรีเมียร์ชิพ แต่เขาก็ยังทำได้เหยียบ 30 ประตูกับแบล็กเบิร์นเช่นเคย ยิ่งเมื่อยิงไปอีก 5 ประตูในนามทีมชาติอังกฤษบนเวทียูโร 1996 ก็เป็นการเน้นย้ำให้รู้ว่า เขานี่แหละคือกองหน้าระดับเวิร์ล คลาส อีกคนหนึ่ง กระแสความนิยมของแฟนบอลพุ่งสูง เมื่ออังกฤษทำผลงานได้ดีในทัวร์นาเมนต์ ยูโร 96 แม้ว่าเยอรมนีคู่อริเก่าจะมาคว้าแชมป์ได้ในถิ่นเวมบลีย์ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความมั่นใจในตนเอง ของเหล่าแฟนบอลอังกฤษลดลงแม้แต่น้อย เพราะพวกเขาเริ่มมองเห็นความหวังรำไรๆ แล้วสิ

สำหรับเชียเรอร์ ผลงานที่ยอดเยี่ยมในยูโรมีความหมายที่มากมายกว่านั้น เพราะมันคือใบเบิกทางให้เขาได้กลับบ้าน บ้านที่เรียกได้ว่าบ้านจริงๆ โฮม สวีท โฮม

เชียเรอร์ เดอะ แม็กพาย

แก้

1996-1998

แก้

แอลัน เชียเรอร์ พึ่งต่อสัญญาใหม่กับแบล็กเบิร์นไปหมาดๆ และออกมาประกาศว่าเขาจะยังไม่ย้ายไปไหน แต่ไม่ทันไร เขาก็กลายเป็นศูนย์กลางของสื่ออีกครั้ง ในช่วงพรี-ซีซั่น ของปี 1996 ไม่ใช่เพราะทำลายสถิติการพังประตู แต่เพราะเขากำลังจะก้าวออกจากอีวู้ด ปาร์ก ในฐานะนักเตะที่ค่าตัวแพงที่สุดในโลก หลังระเบิดฟอร์มเป็นดาวซัลโว ยูโร 96 เชียเรอร์ได้ถูกจัดให้เป็นกองหน้าที่ดีที่สุดคนหนึ่งของโลก อยู่ในรายการช็อปปิ้งของทีมระดับสุดยอด ไม่ว่าจะเป็น บาร์เซโลนา ยูเวนตุส แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด และ ทีมที่เขาเชียร์มาตั้งแต่เล็กๆ อย่าง นิวคาสเซิล แต่มีเพียงทีมเดียวเท่านั้นที่จะได้ลายเซ็นของเขา และเชียเรอร์ก็เลือกทำในสิ่งที่ช็อกโลกฟุตบอล เขาปฏิเสธข้อเสนอของ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน และไม่ใช่ครั้งแรก แต่เป็นการปฏิเสธแมนฯ ยู เป็นครั้งที่สอง ในที่สุดเชียเรอร์ก็ได้ทำในสิ่งที่เขารอคอยมานับสิบปี และเติมฝันให้เต็มด้วยการเล่นให้ทีมที่เขารัก นิวคาสเซิลยูไนเต็ด

จอร์ดี้กว่า 2 หมื่นคน โดดงาน โดดเรียน เพื่อมาต้อนรอต้อนรับเชียเรอร์ที่ด้านหน้าของเซนต์เจมส์ ปาร์ก นี่คือประสบการณ์ที่เหมือนความฝันของทุกคน ณ ที่นั้น สิ่งหนึ่งที่จะไม่มีวันลืมเลือนคือ นี่คืออีกหนึ่งวันที่ยอดเยี่ยมที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร

เชียเรอร์ติดตามผลการแข่งขันของนิวคาสเซิลเสมอ แม้ขณะที่เป็นนักเตะของแบล็กเบิร์น เพราะการสนับสนุนทีมเป็นสิ่งที่อยู่ในสายเลือดเขา คิดถึงภาพตัวเองยืนอยู่ที่ เดอะ กัลโลว์เกต เอน กับผู้เป็นพ่อ ยืนรอต่อคิวกว่า 9 ชั่วโมง เพื่อให้ได้เข้าไปเจอกับ เควิน คีแกน ตัวเป็นๆ ในนัดประเดิมสนามในปี 1984 แต่ตอนนี้เขาเซ็นสัญญาให้กับทีมที่ฮีโร่ของเขาเป็นผู้จัดการทีม ฮีโร่ผู้ซึ่งเปลี่ยนจากทีมยักษ์หลับ ให้กลายเป็นทีมลุ้นแชมป์อย่างแท้จริง ภายในเวลาเพียง 4 ปี และพลาดพาทีมคว้าแชมป์แรกนับตั้งแต่ปี 1927 เมื่อฤดูกาลก่อนไปอย่างฉิวเฉียด คีแกนบอกว่า การเซ็นสัญญากับเชียเรอร์ คือจิ๊กซอว์ชิ้นที่ขาดหายไปของเขา นิวคาสเซิลคือที่ที่คู่ควรกับการเป็นแชมป์ และทำให้การรอคอยที่ยาวนานนั้นสิ้นสุดลงเสียที

เพียงแค่นัดที่ 2 ที่เขาลงเล่นให้กับทีมในลีกเท่านั้น ที่ความฝันของเชียเรอร์สมบูรณ์ขึ้นอีกระดับหนึ่ง เขาทำประตูได้ในเซนต์เจมส์ ปาร์ก ฟรีคิกระยะ 30 หลา ในนัดที่พบกับวิมเบิลดัน แฟนบอลนับพันตะโดนเรียกชื่อเขาก้องสนาม จากความฝันที่จะได้ใส่เสื้อสีขาวดำ วันนี้เขาทำประตูได้ภายใต้เสื้อทีมรัก นาทีนี้...เชียเรอร์ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ปีกความฝัน

ความฝันของนิวคาสเซิล ที่จะชูถ้วยพรีเมียร์ชิพหลุดลอยไปเมื่อฤดูกาลก่อน เมื่อแมนฯ ยู พิสูจน์ตัวเองว่าพวกเขาทำได้ดีกว่า หลังเบียดคว้าถ้วยแชมป์ไป ทั้งๆ ที่นิวคาสเซิลนำห่างถึง 12 คะแนน แต่การล้างแค้นก็ไม่ต้องรอนานเกินไปนัก เมื่อสาลิกาดง เอาชนะปิศาจแดงได้ 5-0 ในเซนต์เจมส์ ปาร์ก และเชียเรอร์ยิงหนึ่งในนั้น

เชียเรอร์ที่ใช้เวลาหลายปีในวัยเยาว์ พยายามเป็นให้ได้อย่างคีแกนฮีโร่ของเขา ก็ไม่ต่างอะไรกับจอร์ดี้คนอื่นๆ ที่ช็อกอย่างสุดขีด เมื่อผู้ชายที่ทั้งเมืองยกให้เป็น The King ผู้ชายที่เซ็นสัญญาคว้าตัวเขามาร่วมทีม ได้เลือกที่จะหันหลังให้กับสโมสรในเดือนมกราคม 1997 ทั้งๆ ที่นิวคาสเซิลอยู่อันดับ 2 ของตาราง และพึ่งขยี้สเปอร์ส 7-1 อย่างเหนือชั้น ไม่มีใครเข้าใจว่าทำไมอยู่ดีๆ คิง เคฟ ตัดสินใจจากไป โดยเฉพาะสำหรับเชียเรอร์แล้ว นี่คือความขมขื่น เขามีความสุขมากที่ได้ร่วมงานกับคีแกนแม้จะเป็นช่วงสั้น และนอกเกมฟุตบอลทั้งคู่ได้กลายเป็นเพื่อนที่ใกล้ชิด และความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นนั้นก็ยังคงอยู่ตราบจนปัจจุบัน

แต่เมื่อคนคุ้นเคยอย่าง เคนนี่ ดัลดลิช ได้รับเลือกให้เข้ามาทำหน้าที่แทนคีแกน เชียเรอร์ก็รู้สึกยินดีกับมัน จะว่าไปแล้วดัลกลิชกับเชียเรอร์ก็ใกล้ชิดกันมาก ทั้งสองหวังว่าจะสามารถทำในสิ่งที่พวกเขาเคยทำได้กับแบล็กเบิร์นให้เกิดขึ้นอีกครั้งที่นี่ ที่เซนต์เจมส์ ปาร์ก

ดัลกลิช พานิวคาสเซิลคว้ารองแชมป์เป็นฤดูกาลที่สอง พร้อมกับพื้นที่ในแชมเปียนส์ ลีกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร สำหรับเชียเรอร์นั้น ฤดูกาลนี้จัดเป็นฤดูกาลที่เยี่ยมยอด เขายิงได้ 28 ประตูในลีก คว้ารางวัล PFA Player of the Year อีกครั้ง และได้ที่ 3 สำหรับรางวัล World Player of the Year ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นหลังจากเขาต้องอดลงสนามถึงสองเดือน เนื่องจากอาการบาดเจ็บ นอกจากนี้เขายังได้รับตำแหน่งกัปตันทีมชาติอังกฤษ และประตูของเขาก็ช่วยให้อังกฤษเป็นที่หนึ่งในกลุ่ม สำหรับรอบคัดเลือดฟุตบอลโลก

ฤดูกาล 1997-98 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่นิวคาสเซิลหวังจะคว้าแชมป์ให้จงได้ แต่หลายอย่างมันผิดแผนไปตั้งแต่ฤดูกาลยังไม่เริ่มเสียอีก อย่างแรกคือเลส เฟอร์ดินานด์ คู่ขาที่ช่วยเชียเรอร์ถล่มประตู ถูกขายออกไป ประกอบกับตัวเชียเรอร์เองต้องประสบกับปัญหาบาดเจ็บข้อเท้าแตก ระหว่างนัดกระชับมิตรที่กูดิสัน ปาร์ก กับเชลซี และการบาดเจ็บครั้งนี้ทำให้เขาอดลงสนามถึง 7 เดือน

เพื่อชดเชยการขาดหายไปของเชียเรอร์ ดาวรุ่งดัตช์อย่าง ยอน ดาห์ล โทมัสสัน ถูกซื้อเข้ามาเพื่อผลักเกมในแดนหน้า ตามมาด้วย เตมูร์ เคตส์บาย่า ดาวเตะชาวจอร์เจีย และเอียน รัช อดีตคู่ขาของดัลกลิช ทั้งหมดมาช่วยกันกับ ติโน่ อัสปริย่า แต่นั่นก็ช่วยได้ไม่มากนัก เมื่อนิวคาสเซิลอยู่ในอันดับที่ผิดที่ผิดทาง บนตารางในช่วงเดือนมกราคม

แต่นิวคาสเซิลก็ผ่านรอบแบ่งกลุ่มในรายการแชมเปียนส์ ลีกไปได้ หลังเอาชนะ โครเอเชีย ซาเกร็บ ด้วยกฎประตูทีมเยือน หลังเสมอกันไปในช่วงต่อเวลาพิเศษ ถ้าไม่นับนัดที่เอาชนะ บาร์เซโลนา 3-2 ด้วยแฮทริกของอัสปริย่า ในรังเซนต์เจมส์ ปาร์ก ก็นับว่าผลงานของนิวคาสเซิลยังไม่ดีพอ จึงเป็นอันต้องตกรอบไปในที่สุด

ช่วงที่เหลือของฤดูกาลกำลังดำดิ่งสู่หายนะ แต่การรอคอยการกลับมาของเชียเรอร์ก็สิ้นสุดลง เมื่อเขาถูกเปลี่ยนตัวลงมาเป็นสำรองในเกมพบกับโบลตันในบ้าน ในเดือนมกราคม นั่นเป็นสัญญาสู่สิ่งที่ดีกว่า แต่การกลับมาฟิตของเขาก็ยังไม่สามารถช่วยทีมได้มากนัก เมื่อนิวคาสเซิลจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 13 ของตาราง

อย่างไรก็ตาม ในเอฟเอ คัพ เชียเรอร์ก็ยิงประตูพาทีมไปจนถึงเวมบลีย์จนได้ เมื่อยิงประตูชัยให้ทีมเฉือน เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด จากดิวิชั่น 1 ไป 1-0 ในโอล แทรฟฟอร์ด แต่ฤดูกาลนี้ของเชียเรอร์ก็จบลงเหมือนตอนเริ่มต้น คือ ด้วยน้ำตา นิวคาสเซิล แพ้อาร์เซนอล 2-0 ด้วยฟอร์มการเล่นที่ขัดใจแฟนบอล จนถึงกับทำให้แฟนต้องตะโกน "บุก บุก" เมื่อทีมของพวกเขาเล่นได้อย่างไร้ความหวังต่อหน้าต่อตา

แต่สำหรับเชียเรอร์ เขาไม่มีเวลามานั่งสงสารตัวเอง เมื่อเขามีฟุตบอลโลกที่ต้องเผชิญ เชียเรอร์กลับมาฟิตได้ทันเวลาพอดีที่ เกล็น ฮ็อดเดิ้ล จะใส่ชื่อเขาลงไปในทีมชุดลุยฟุตบอลโลกปี 1998 ที่ฝรั่งเศส แต่แม้จะมีศูนย์หน้าอันดับหนึ่งอย่างเชียเรอร์ และการแจ้งเกิดของไมเคิล โอเว่น แต่สิงโตคำรามก็ไม่สามารถผ่านรอบสองไปได้ หลังแพ้การดวลจุดโทษต่ออาร์เจนติน่า รวมแล้วเชียเรอร์ยิงได้ 2 ประตูในฟุตบอลโลก จากการลงสนาม 4 นัด

ฤดูกาล 1998 - 1999 ของทั้งเชียเรอร์ และนิวคาสเซิ่ล ก็ยังบอบช้ำไม่ต่างจากฤดูกาลที่พึ่งผ่านพ้นมา ดัลกลิชถูกปลดออกจากตำแหน่งอย่างไม่มีใครคาดคิด หลังเริ่มฤดูกาลไปได้เพียง 3 นัดเท่านั้น และสิ่งที่มาแทน คือความรู้สึกหรูหราไฮโซที่ได้ รืด คึลลิต อดีตดาวเตะระดับโลกชาวดัชต์ และอดีตผู้จัดการทีมเชลซีมาเป็นผู้จัดการทีม

สมัยคึลลิตคุมเชลซี เขาขึ้นชื่อในเรื่องเทคนิคดี และแฟนนิวคาสเซิ่ลก็ตื้นเต้นกับคำว่า "เซ็กซี่ฟุตบอล" แต่ผลลัพธ์คือ อีกหนึ่งฤดูกาลที่หน้าผิดหวัง นิวคาสเซิ่ลจบฤดูกาลโดยไม่ติดท็อปเท็นเป็นปีที่สองติดต่อกัน และแอลัน เชียเรอร์เป็นดาวซัลโวที่ 21 ประตู

ในเอฟเอ คัพ นิวคาสเซิ่ลหมายมั่นปั้นมือจะทำให้ดีขึ้น และพวกเขาก็ไปถึงนัดชิงได้อีกครั้ง หลังเชียเรอร์ช่วยยิง 2 ประตู เขี่ยสเปอร์ตกรอบ พาทีมไปเจอแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ที่กำลังไล่ล่าแชมป์ลีก แชมเอฟเอคัพ และ แชมเปียนส์ ลีก ในนัดชิง หลายคนคาดว่า ปิศาจแดงจะพุ่งความสนใจไปที่นัดชิงแชมเปียนส์ ลีก กับบาเยิร์น มิวนิก ในอีกไม่กี่วันหลังจากนั้นมากกว่า แต่พวกเขาก็เหมือนอาร์เซนอล แข็งแกร่งเกินกว่าทีมเราจะข้ามไปคว้าถ้วยแชมป์ได้ นิวคาสเซิ่ลแพ้ 2-0 เชียเรอร์และพวก คงต้องรอต่อไปสำหรับถ้วยใบนี้ หลังพลาดนัดชิงสองปีติด

เมื่อความฝันของเจ้าของเสื้อหมายเลข 9 ไม่เป็นไปอย่างที่เขาวางแผนไว้ ก็มีข่าวลือออกมาว่า ทั้งเชลซี, ลิเวอร์พูล, อาร์เซนอล และ บาร์เซโลนา ต่างให้ความสนใจที่จะดึงตัวเชียเรอร์ไปร่วมทีม แต่เขาก็ยังคงซื่อตรงต่อสโมสรเหมือนเช่นเคย และต่อสัญญากับทีมไปอีก 5 ปี ทำให้เชียเรอร์จะอยู่กับสโมสรไปจนถึงอายุนำหน้าด้วยเลข 3

อย่างไรก็ตามความดีใจที่เชียเรอร์ต่อสัญญา กลับตามมาด้วยความหดหู่ เริ่มแรกเขาได้ใบแดงในนัดเปิดสนามปี 1999-2000 ที่เราเจอกับแอสตันวิลลาในบ้าน และเมื่อเวลาผ่านไป เรื่อยมาจนถึงเดือนกันยายน เมื่อนิวคาสเซิ่ลเจอคู่แค้นอย่างซันเดอร์แลนด์ ตอนนั้นอันดับของทีมเราฝังรากอยู่ที่ตอนท้ายของตาราง

ในนัดนี้ เชียเรอร์รู้สึกราวถูกทิ้งให้ยืนอยู่กลางสายฝนอย่างแท้จริง เมื่อเขาถูกดร็อปจากเกมดาร์บี้ เป็นครั้งแรกในชีวิตค้าแข้ง การตัดสินใจครั้งนี้ของผู้จัดการทีม ทำให้คลื่นแฟนบอลช็อกไปตามๆ กัน ทั้งบิ๊ก อัล, โรเบิร์ต ลี และ ดันแคน เฟอร์กูสัน กองหน้าที่คึลลิตซื้อมาเอง จากเอฟเวอร์ตันในราคา 8 ล้านปอนด์ ต่างก็ถูกดร็อปด้วยกันทั้งสิ้น หลังคึลลิตไม่ยอมรับฟังคำขอร้องของพวกเขา ที่ให้ร็อบ ลี กลับไปเป็นมิดฟิลด์ในชุดใหญ่ดังเดิม คำตอบชัดเจนสำหรับลี คึลลิตส่งเขาไปฝึกกับทีมเยาวชน และยึดเสื้อหมายเลข 7 คืนจากเขา และนี่ทำให้เชียเรอร์ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับลีไม่พอใจมาก จนนำมาสู่การแตกหักระหว่างเขา กับคึลลิต

เกมที่สำคัญที่สุดในฤดูกาลของนิวคาสเซิ่ล และทีมต้องเล่นโดยที่นักเตะตัวหลักโดนดร็อป เชียเรอร์ต้องนั่งมองทีมแพ้ 2-1 จากม้านั่งสำรอง ในวันที่ฝนตกพรำและอากาศเย็นเยียบ เย็นวันนั้น...แทบจะกลายเป็นวันที่มืดมิดที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร เชียเรอร์ได้ลงสนามในที่สุดในช่วงท้ายเกม แต่นั่นสายเกินไป และคึลลิตลาออกจากตำแหน่งในเช้าวันต่อมา

บรรดาสื่อสนุกสนานกับการเล่นข่าวและตั้งคำถามว่า จริงหรือไม่ที่เชียเรอร์ใหญ่คับสโมสร? แต่ช่วงพักให้ทีมชาติแข่งขัน ทำให้ทั้งตัวเชียเรอร์และสโมสรเหมือนได้พักหายใจชั่วคราว และเชียเรอร์ก็ทำแฮทริกให้กับทีมชาติอังกฤษในเวมบลีย์

1999-2003

แก้

บ็อบบี้ ร็อบสัน อดีตผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ ซึ่งเป็นชาวจอร์ดี้แท้ๆ ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นผู้จัดการทีมนิวคาสเซิ่ลคนใหม่ แทนที่รุต คึลลิตในเวลาอันรวดเร็ว ความท้าทายแรกของเขาคือ การทำให้เชียเรอร์กลับมาทำในสิ่งที่เชียเรอร์คนเดิมทำจนชินตา นั่นก็คือ "การทำประตู" และเขาก็ไม่ต้องรอนาน เพียงแค่เกมแรกในบ้านของร็อบสัน ในฐานะผู้จัดการทีมสาลิกาดงคนใหม่ เชียเรอร์คนเดิมก็กลับมา ฮ็อตช็อตยิงไป 5 ประตู ในเกมที่นิวคาสเซิ่ลถล่มเชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ 8-0

หลังจากนั้นไม่ทันนาน นิวคาสเซิ่ลก็หลุดออกจากโซนท้ายตาราง ค่อยๆ ไต่ตารางคะแนน จนจบฤดูกาลด้วยอันดับ 11 พร้อมกับเชียเรอร์ ที่ได้มีฤดูกาลที่ดีที่สุดของเขาในสีเสื้อขาวดำ เชียเรอร์ยิงไปถึง 30 ประตูจากทุกรายการในฤดูกาลนี้ อะไรๆ ดูเหมือนจะหันไปในทิศทางที่ดีขึ้นสำหรับเชียเรอร์และสโมสร

ซัมเมอร์เดียวกันนี้เอง ที่เราได้เห็นเชียเรอร์ได้ร่วมงานกับ เควิน คีแกน นายเก่าของเขาอีกครั้ง โดยคราวนี้ คีแกนรับหน้าเสื่อเป็นผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ หลังไปคุมฟูแล่มอยู่พักหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ก่อนยูโร 2000 จะเริ่มต้นขึ้น เชียเรอร์จุดประเด็นที่ทำให้เขาเป็นข่าวหน้าหนึ่ง มากยิ่งกว่าครั้งไหนๆ ที่ผ่านมา โดยการประกาศว่า เขาจะอำลาทีมชาติ ทันทีที่ทัวร์นาเมนต์นี้จบลง เพื่อที่จะทุ่มเทสมาธิให้กับนิวคาสเซิ่ล ยูโร 2000 จึงจะเป็นรายการสุดท้ายในนามสิงโตคำราม ของชายผู้ซึ่งเป็นฮีโร่ของชาวอังกฤษทั้งประเทศ

แม้ว่าจะยิงได้ 2 ประตู หนึ่งในสองคือลูกโหม่งอันเลื่องชื่อ ที่ช่วยให้อังกฤษชนะเยอรมนี 1-0 แต่นั่นก็ไม่เพียงพอที่จะช่วยไม่ให้อังกฤษถูกเขี่ยตกรอบ แบบคอตก และน้ำตาท่วมจอ เชียเรอร์โบกมืออำลาต่อสีเสื้อสิงโตคำราม ตามคำพูดที่ให้ไว้ก่อนหน้า เขาจะไม่มีวันเล่นให้ทีมชาติอีก แม้ว่าจะมีเสียงเรียกร้องให้เขากลับมาหลายต่อหลายครั้ง แม้แต่จากบรรดาสื่อ ที่เคยคอยจิกกัดเขาหลายครั้ง ระหว่างที่ยังสวมเสื้อทีมชาติอยู่ก็ตาม

การตัดสินใจครั้งนี้ ทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งบรรดาสื่อและแฟนบอล เช่นคำพูดที่ว่า 'เขาหันหลังให้กับประเทศชาติ' แต่เชียเรอร์รู้สึกว่า เขาไม่สามารถทำสองงานพร้อมกันได้ และเขาต้องการเป็นอย่างยิ่ง ที่จะคว้าแชมป์สักรายการให้กับนิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ เชียเรอร์ต้องใช้พลังทั้งหมดที่มี กอปรกับตัวเขาเองคิดว่า อังกฤษอยู่ในภาวะที่เข้าที่อยู่แล้ว กับการมีโอเว่น และคลื่นลูกใหม่คนอื่นๆ ที่กำลังก้าวขึ้นมา

ที่ผ่านมา เชียเรอร์ได้รับใช้ชาติเป็นอย่างดีมาโดยตลอด และเขาได้อำลาทีมชาติด้วยความภูมิใจที่ว่า เขาได้ทุ่มทั้งหมดที่เขามีแล้ว และยิงให้ทีมชาติร่วม 30 ประตู ซึ่งนับว่าเป็นสถิติที่สูง สำหรับฟุตบอลในระดับนี้

ตัดกลับมาที่นิวคาสเซิ่ล โดยส่วนตัวแล้ว ร็อบสันก็แอบดีใจอยู่เงียบๆ กับการตัดสินใจของกองหน้าตัวหลักของทีม และหนุนหลังเชียเรอร์ ในฐานะที่ตัวเขาเองก็เป็นทูน อาร์มี่เหมือนกันว่า การตัดสินใจทำเพื่อสโมสรในครั้งนี้ เป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดี โดยเฉพาะจากคนที่ชาวอังกฤษทั้งประเทศภูมิใจอย่างเชียเรอร์ มันสื่อให้แฟนบอลเห็นว่า ตัวเขาเองก็รักสโมสรมากเช่นเดียวกับแฟนๆ ทุกคน เพราะสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในคือ ความเป็นทูน อาร์มี่ในตัวตนของเขานั่นเอง

แต่เหตุการณ์ไม่ได้เป็นไปดังคาด นิวคาสเซิ่ลจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 11 อีกครั้ง สาเหตุหลักก็เนื่องมาจาก อาการบาดเจ็บของเชียเรอร์ จนทำให้เขาพลาดลงสนามไปเสียเยอะ ในฤดูกาลนี้ เชียเรอร์ลงเล่นเพียง 27 นัด และยิงได้เพียง 7 ประตู นี่เป็นหนึ่งเหตุผล ที่ทำให้เชียเรอร์คิดว่า การตัดสินใจอำลาทีมชาติ เพื่อที่จะได้เล่นให้นิวคาสเซิ่ลมากขึ้นนั้น ถูกต้องแล้ว

อย่างไรก็ดี ฤดูกาล 2001-02 เป็นฤดูกาลที่ดีขึ้นมากสำหรับทั้งเชียเรอร์และสโมสร ร็อบสันซื้อ เคร็ก เบลลามี มาจากโคเวนทรี่ ซิตี้ ด้วยค่าตัว 6 ล้านปอนด์, ใช้งบ 9.5 ล้านปอนด์ ซื้อ โลรอง โรแบร์ ปีกซ้ายฝรั่งเศส และต่อสัญญากับ เชย์ กิฟเวน ไปอีก 2-3 ปี

แม้เชียเรอร์จะพลาดลงสนามในเดือนแรกของฤดูกาล อันเนื่องมาจากอาการบาดเจ็บบริเวณขาหนีบ แต่ทันทีที่เขากลับมาลงสนามได้ นิวคาสเซิ่ลก็ใส่เกียร์เดินหน้าทันที การมีโรแบร์ และเบลลามี่ ค่อยวิ่งจี๊ด ในที่สุดหมายเลข 9 ของทีมก็ได้มีกองอย่างที่ควรเป็น และนิวคาสเซิ่ลก็กลับไปอยู่ท่ามกลางทีมใหญ่ๆ อีกครั้ง หลังจบฤดูกาลด้วยอันดับ 4 พร้อมพื้นที่ในแชมเปียนส์ลีก รอบคัดเลือก เราควรต้องขอบคุณเชียเรอร์ กับ 27 ประตูที่เขาทำได้ในฤดูกาลนี้

เมื่อมาได้ไกลถึงเพียงนี้แล้ว นิวคาสเซิ่ลจึงถูกคาดหวังว่าจะเป็นทีมลุ้นแชมป์ในฤดูกาล 2002-03 และเป็นอีกครั้ง ที่บ็อบบี้ช็อปอย่างหนัก เขาใช้เงิน 5 ล้านปอนด์ซื้อ เจอร์เมน เจนาส, 6 ล้านปอนด์ เป็นค่าตัว ไตตัส บรัมเบิล และ 8.5 ล้านปอนด์ สำหรับนักเตะดาวรุ่งยอดเยี่ยมแห่งปีของยุโรป ฮูโก วิอานา จะเห็นได้ว่า ผู้จัดการทีมนิวคาสเซิ่ล กำลังสร้างทีมเพื่อวันนี้ และเพื่ออนาคต

แม้จะออกสตาร์ทฤดูกาลนี้ได้ไม่ดีนัก แต่ชั่วเวลาเพียงไม่นาน สาลิกาดงก็บินสูงอีกครั้ง พร้อมกับฟอร์มการเล่นที่ยอดเยี่ยมของเชียเรอร์ 25 ประตูที่เขาทำได้คือข้อพิสูจน์ ชีวิตใหม่ของเชียเรอร์ ภายใต้การทำทีมของร็อบสันยังดำเนินต่อไป ณ จุดนี้ คำว่า "แชมป์" ไม่ได้ไกลเกินหวัง แต่อาการบาดเจ็บของเคร็ก เบลลามี ก่อนจบฤดูกาล หมายความว่า นิวคาสเซิ่ลต้องจบฤดูกาลด้วยอันดับ 3 และได้สิทธิไปเล่นแชมเปียนส์ลีก เป็นรางวัลปลอบใจอีกคำรบหนึ่ง

สถิติ

แก้

สโมสร

แก้
ระดับสโมสร เกมลีก ฟุตบอลถ้วย ลีกคัพระดับทวีป รวม
ฤดูกาลสโมสรลีก ลงเล่นประตูลงเล่นประตู ลงเล่นประตู ลงเล่นประตู ลงเล่นประตู
1987–88 เซาแทมป์ตัน ดิวิชันหนึ่ง 5 3 0 0 0 0 - 5 3
1988–89 10 0 0 0 0 0 - 10 0
1989–90 26 3 3 0 6 2 - 35 5
1990–91 36 4 4 2 6 6 - 48[3] 14[3]
1991–92 41 13 7 2 6 3 - 60[3] 21[3]
สรุปรวม 118 23 14 4 18 11 0 0 158 43
1992–93 แบล็กเบิร์น พรีเมียร์ลีก 21 16 0 0 5 6 - 26 22
1993–94 40 31 4 2 4 1 - 48 34
1994–95 42 34 2 0 3 2 2 1 49 37
1995–96 35 31 2 0 4 5 6 1 48[4] 37
สรุปรวม 138 112 8 2 16 14 8 2 171 130
1996–97 นิวคาสเซิล พรีเมียร์ลีก 31 25 3 1 1 1 4 1 40[4] 28
1997–98 17 2 6 5 0 0 - 23 7
1998–99 30 14 6 5 2 1 2 1 40 21
1999–2000 37 23 6 5 1 0 6 2 50 30
2000–01 19 5 0 0 4 2 - 23 7
2001–02 37 23 5 2 4 2 - 46 27
2002–03 35 17 1 1 0 0 12 7 48 25
2003–04 37 22 2 0 1 0 11 6 51 28
2004–05 28 7 4 1 1 0 9 11 42 19
2005–06 32 10 3 1 2 1 4 2 41 14
สรุปรวม 303 148 36 21 16 7 48 30 404 206
สรุปรวม 559 283 58 27 50 32 56 32 733 379

ประตูในนามทีมชาติ

แก้
Scores and results list England's goal tally first. "Score" column indicates the score after the player's goal.
# Date Venue Opponent Score Result Competition
1 19 กุมภาพันธ์ 1992 สนามเวมบลีย์, ลอนดอน   ฝรั่งเศส 1–0 2–0 นัดกระชับมิตร
2 18 พฤศจิกายน 1992 สนามเวมบลีย์, ลอนดอน   ตุรกี 2–0 4–0 ฟุตบอลโลก 1994 รอบคัดเลือก
3 17 พฤษภาคม 1994 สนามเวมบลีย์, ลอนดอน   กรีซ 5–0 5–0 นัดกระชับมิตร
4 7 กันยายน 1994 สนามเวมบลีย์, ลอนดอน   สหรัฐ 1–0 2–0 นัดกระชับมิตร
5 7 กันยายน 1994 สนามเวมบลีย์, ลอนดอน   สหรัฐ 2–0 2–0 นัดกระชับมิตร
6 8 มิถุนายน 1996 สนามเวมบลีย์, ลอนดอน   สวิตเซอร์แลนด์ 1–0 1–1 ยูโร 1996
7 15 มิถุนายน 1996 สนามเวมบลีย์, ลอนดอน   สกอตแลนด์ 1–0 2–0 ยูโร 1996
8 18 มิถุนายน 1996 สนามเวมบลีย์, ลอนดอน   เนเธอร์แลนด์ 1–0 4–1 ยูโร 1996
9 18 มิถุนายน 1996 สนามเวมบลีย์, ลอนดอน   เนเธอร์แลนด์ 3–0 4–1 ยูโร 1996
10 26 มิถุนายน 1996 สนามเวมบลีย์, ลอนดอน   เยอรมนี 1–0 1–1 ยูโร 1996
11 1 กันยายน 1996 Stadionul Republican, คีชีเนา   มอลโดวา 3–0 3–0 ฟุตบอลโลก 1998 รอบคัดเลือก
12 9 ตุลาคม 1996 สนามเวมบลีย์, ลอนดอน   โปแลนด์ 1–1 2–1 ฟุตบอลโลก 1998 รอบคัดเลือก
13 9 ตุลาคม 1996 สนามเวมบลีย์, ลอนดอน   โปแลนด์ 2–1 2–1 ฟุตบอลโลก 1998 รอบคัดเลือก
14 30 เมษายน 1997 สนามเวมบลีย์, ลอนดอน   จอร์เจีย 2–0 2–0 ฟุตบอลโลก 1998 รอบคัดเลือก
15 31 พฤษภาคม 1997 Stadion Slaski, Chorzow   โปแลนด์ 1–0 2–0 ฟุตบอลโลก 1998 รอบคัดเลือก
16 7 มิถุนายน 1997 Stade de la Mosson, มงเปอลีเย   ฝรั่งเศส 1–0 1–0 Tournoi de France
17 22 เมษายน 1998 สนามเวมบลีย์, ลอนดอน   โปรตุเกส 1–0 3–0 นัดกระชับมิตร
18 22 เมษายน 1998 สนามเวมบลีย์, ลอนดอน   โปรตุเกส 3–0 3–0 นัดกระชับมิตร
19 15 มิถุนายน 1998 Stade Vélodrome, มาร์แซย์   ตูนิเซีย 1–0 2–0 ฟุตบอลโลก 1998
20 30 มิถุนายน 1998 Stade Geoffroy-Guichard, Saint-Étienne   อาร์เจนตินา 1–1 2–2 ฟุตบอลโลก 1998
21 5 กันยายน 1998 Råsundastadion, สต็อกโฮล์ม   สวีเดน 1–0 1–2 ยูโร 2000 รอบคัดเลือก
22 14 ตุลาคม 1998 Stade Josy Barthel, ลักเซมเบิร์ก   ลักเซมเบิร์ก 2–0 3–0 ยูโร 2000 รอบคัดเลือก
23 28 เมษายน 1999 Nepstadion, บูดาเปสต์   ฮังการี 1–0 1–1 นัดกระชับมิตร
24 9 มิถุนายน 1999 Balgarska Armia Stadion, โซเฟีย   บัลแกเรีย 1–1 1–1 ยูโร 2000 รอบคัดเลือก
25 4 กันยายน 1999 สนามเวมบลีย์, ลอนดอน   ลักเซมเบิร์ก 1–0 6–0 ยูโร 2000 รอบคัดเลือก
26 4 กันยายน 1999 สนามเวมบลีย์, ลอนดอน   ลักเซมเบิร์ก 2–0 6–0 ยูโร 2000 รอบคัดเลือก
27 4 กันยายน 1999 สนามเวมบลีย์, ลอนดอน   ลักเซมเบิร์ก 4–0 6–0 ยูโร 2000 รอบคัดเลือก
28 10 ตุลาคม 1999 สเตเดียมออฟไลต์, ซันเดอร์แลนด์   เบลเยียม 1–0 2–1 นัดกระชับมิตร
29 17 มิถุนายน 2000 Stade du Pays de Charleroi, Charleroi   เยอรมนี 1–0 1–0 ยูโร 2000
30 20 มิถุนายน 2000 Stade du Pays de Charleroi, Charleroi   โรมาเนีย 1–1 2–3 ยูโร 2000

Source

ผู้จัดการทีม

แก้
สโมสร ประเทศ ตั้งแต่ ถึง บันทึก
แข่ง ชนะ เสมอ แพ้ ชนะ %
นิวคาสเซิล   1 เมษายน 2009 2009 8 1 2 5 12.50 %

อ้างอิง

แก้
  1. "ยินดีต้อนรับ ผู้จัดการทีมคนใหม่ ALAN SHEARER". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-05. สืบค้นเมื่อ 2009-04-02.
  2. ตามคาด!ฮอตชอตคุมทัพกู้วิกฤติสาลิกา
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Includes Full Members Cup
  4. 4.0 4.1 Includes Charity Shield

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
ก่อนหน้า แอลัน เชียเรอร์ ถัดไป
โจ คินเนียร์   ผู้จัดการทีมนิวคาสเซิลยูไนเต็ด
(1 เมษายน ค.ศ. 2009 - 30 มิถุนายน ค.ศ. 2009)
  คริส ฮิวจ์ตัน