เหตุกราดยิงที่สยามพารากอน
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เวลา 16:10 น. เกิดเหตุกราดยิงที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยผู้ก่อเหตุได้แก่เด็กชายพสิษฐ์ ตรูทัศนวินท์[4][5] อายุ 14 ปี ใช้ปืนแบลงก์กันดัดแปลง กราดยิงภายในศูนย์การค้าสยามพารากอน เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย โดยเสียชีวิตทันที 1 ราย และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 2 ราย[6] และได้รับบาดเจ็บอีก 4 ราย[3]
เหตุกราดยิงที่สยามพารากอน | |
---|---|
ภาพกล้องวงจรปิดขณะผู้ก่อเหตุถูกควบคุมตัว | |
เครื่องหมายแสดงศูนย์การค้าสยามพารากอน | |
สถานที่ | ภายในศูนย์การค้าสยามพารากอน แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร |
วันที่ | 3 ตุลาคม พ.ศ. 2566 16:10 น. (UTC+7) |
ประเภท | การกราดยิงหมู่ |
อาวุธ | ปืนแบลงก์กันดัดแปลง[1] |
ตาย | 3[2] |
เจ็บ | 4[3] |
ผู้ก่อเหตุ | พสิษฐ์ ตรูทัศนวินท์ |
ภูมิหลัง
แก้อัตราการถือครองปืนในประเทศไทยถือว่าสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค และที่ผ่านมาเคยเกิดเหตุกราดยิงหมู่ในประเทศไทย ใน พ.ศ. 2563 มีผู้เสียชีวิต 30 รายจากเหตุกราดยิงในห้างในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏภายหลังว่าเป็นการใช้อาวุธสงครามที่โจรกรรมมาจากหน่วยทหารมาใช้ในการก่อเกตุ และใน พ.ศ. 2565 มีผู้เสียชีวิต 37 รายจากการกราดยิงและใช้มีดโจมตีศูนย์เลี้ยงเด็กในจังหวัดหนองบัวลำภู โดยได้มีการประมาณจำนวนอัตราการถือครองปืนในพลเมืองไทยอยู่ที่มากกว่า 10.34[7] ล้านกระบอก ในจำนวนนี้มีเพียง 6.22 [8]ล้านกระบอกที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย ประเทศไทยยังมีอัตราการก่อเหตุฆาตกรรมด้วยปืนสูงที่สุดเป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[9]
สยามพารากอนเป็นห้างสรรพสินค้าที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร เป็นที่นิยมอย่างมากในบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวเมืองกรุงเทพ ภายในประกอบด้วยร้านค้าจำหน่ายสินค้าหรูหรา พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำหนึ่งแห่ง และโรงภาพยนตร์[10]
ลำดับเหตุการณ์
แก้เวลาประมาณ 15:35 น. เด็กชายอายุ 14 ปีซึ่งเป็นผู้ก่อเหตุ เดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส และลงที่สถานีสยาม เดินเข้าสู่ศูนย์การค้าสยามพารากอน และเริ่มก่อเหตุกราดยิงเมื่อเวลาประมาณ 16:10 น. บริเวณภายในและด้านหน้าห้องน้ำ ข้างร้านหลุยส์ วิตตอง ชั้น M ส่งผลให้ผู้ใช้บริการต่างรีบวิ่งหนีออกจากศูนย์การค้า[11] ต่อมาคนร้ายได้ขึ้นบันไดเลื่อนไปกราดยิงบริเวณชั้น 2 และชั้น 3 จนกระทั่งถูกควบคุมตัวไว้ได้ที่ร้านเฟอร์นิเจอร์แห่งหนึ่งในอาคารดังกล่าว เมื่อเวลาประมาณ 17:09 น.[12][13] โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าจับกุมคือ ส.ต.ท.กร ศรีพรหม ผบ.หมู่ ป.สน.สำราญราษฏร์ ช่วยราชการ สน.ปทุมวัน[14][15] โดยมี ส.ต.ท.นันทนัช สุธรรม ผบ.หมู่ ป.สน.สำราญราษฏร์ ช่วยราชการ สน.ปทุมวัน เป็นผู้คุ้มกัน[14][15] และ ร.ต.อ.ธัญอมร หนูนารถ รอง สวป.สน.ปทุมวัน เป็นผู้สั่งการพูดคุยกับผู้ต้องหา[14] ในเวลาต่อมา กองพิสูจน์หลักฐานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เก็บกระสุนปืนได้ 40 นัด[16]
เหยื่อ
แก้มีรายงานเบื้องต้นว่ามีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 3 ราย กระนั้นมีการยืนยันผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุเพียงหนึ่งราย คือ จ้าว จินหนาน (赵金南; Zhào Jīnnán) นักท่องเที่ยวหญิงจีนอายุ 34 ปี จากปักกิ่ง[17] เสียชีวิตในที่เกิดเหตุที่บริเวณลานจอดรถชั้น G[18] ในภายหลังมีรายงานผู้เสียชีวิตอีกราย คือ โม มหยิ่น (မိုးမြင့်, Moe Myint) มีชื่อไทยว่า ตะวัน หญิงพม่าอายุ 31 ปี ชาวเมืองสะเทิม[19] ซึ่งเป็นลูกจ้างของร้านค้าภายในอาคารเกิดเหตุ[20] มีแผลกระสุนปืนบริเวณลำคอ 1 นัด และที่หลัง 2 นัด[3] โดยเสียชีวิตที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ผู้ได้รับบาดเจ็บมีจำนวน 5 คน นำส่งรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สามคน ประกอบด้วยชายวัย 41 ปี เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย, หญิงชาวจีนวัย 40 ปี ทั้งสองคนอาการเบื้องต้นไม่สาหัส มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสเป็นหญิงไทยอายุ 30 ปี ซึ่งถูกยิงเข้าบริเวณศีรษะและเสียชีวิตในวันที่ 13 ตุลาคม ส่วนเหยื่ออีกสองคนคือหญิงไทยอายุราว 50 ปี ถูกยิงเข้าที่ไหล่ซ้าย เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ และหญิงชาวลาว อายุ 28 ปี ได้รับบาดเจ็บสาหัส มีบาดแผลยิงใต้รักแร้ 1 นัด หัวไหล่ 1 นัด และมีบาดแผลที่คอ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน[3]
หลังเกิดเหตุ มติชนรายงานอ้างโพสต์บนสื่อสังคมของผู้ใช้รายหนึ่งว่าเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์ว่าตนได้ให้ความช่วยเหลือเยาวชนฝาแฝดชาวจีนคู่หนึ่งที่ "แม่เขาโดนยิง แล้วเขาหาแม่ไม่เจอ" ก่อนที่จะพบว่า "ตำรวจบอกว่าแม่น้องคนนี้เสียชีวิต"[21] เป็นไปได้ว่าบุคคลที่เสียชีวิตรายดังกล่าวคือ จ้าว จินหนาน อายุ 34 ปี
ตุนกู อิซมาอิล อิบนี สุลต่าน อิบราฮิม มกุฎราชกุมารแห่งรัฐยะโฮร์ พร้อมด้วยครอบครัวและข้าราชบริพาร ทรงติดอยู่ในโรงแรมใกล้จุดเกิดเหตุ ทรงเล่าว่ามีผู้คนตะโกนและวิ่งหนีออกมาจากจุดเกิดเหตุในโรงแรม พระองค์ทรงนำพระประยูรญาติเสด็จไปยังสถานทูตสิงคโปร์ซึ่งอยู่ใกล้ที่สุด โดยมีเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทยอยู่ที่สถานทูตดังกล่าวด้วย และติดต่อนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของมาเลเซียเพื่อแจ้งข่าวให้ทราบ เพื่อความปลอดภัย ต่อมาได้ไปยังสนามบินและเดินทางกลับรัฐยะโฮร์ทันที[22]
ต่อมาเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม เพ็ญพิวรรณ มิตรธรรมพิทักษ์ หญิงไทยอายุ 30 ปี ซึ่งถูกยิงเข้าบริเวณศีรษะ ได้เสียชีวิตลงเป็นรายที่ 3 และเป็นชาวไทยคนแรกที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้[23]
เหยื่อแบ่งตามสัญชาติ[3] | ||
สัญชาติ | เสียชีวิต | บาดเจ็บ |
---|---|---|
จีน | 1 | 1 |
พม่า | 1 | 0 |
ไทย | 1 | 2 |
ลาว | 0 | 1 |
รวม | 3 | 4 |
ผู้ก่อเหตุ
แก้ผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชนชาย อายุ 14 ปี เป็นนักเรียนโรงเรียนดิเอสเซนส์[24] ซึ่งมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ของโรงเรียนนี้[25] โดยเป็นโรงเรียนมัธยมทางเลือกที่ "โฟกัสการเรียนเฉพาะวิชาที่จำเป็นเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำ" ตั้งอยู่ในอาคารสยามสเคป เขตปทุมวัน ที่อยู่ไม่ไกลมากนักจากจุดเกิดเหตุ[26] ในช่วงมัธยมเขามีผลการเรียนไม่ดีนัก อีกทั้งยังถูกกลั่นแกล้งเป็นประจำ และมักจะส่งคลิปการซ้อมยิงปืนของตนให้ผู้ปกครองเมื่อถูกกดดันจากมารดา[27][28] เขามีประวัติการรับการรักษาโรคทางจิตเวชศาสตร์ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี แต่ขาดการรักษาต่อเนื่อง[3][29]
พล.ต.ต.นครินทร์ สุคนธวิท ผบก.น.6 กล่าวว่า ตำรวจตั้งข้อหาผู้ก่อเหตุ 5 ข้อหา ได้แก่ ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, พยายามฆ่า, มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, พกพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และยิงปืนในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งอยู่ระหว่างการสอบสวนเพิ่มเติมว่าผู้ปกครองของเขามีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ด้วยหรือไม่[30]
พ.ต.ท.กฤษณพงศ์ พูตระกูล ประธานกรรมการคณะอาชญวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์ว่าผู้ก่อเหตุเตรียมการมาอย่างดี[31] และอาจมีสภาพจิตไม่ปกติ อีกทั้งยังมีปัจจัยของเกมที่มีผลต่ออารมณ์ ความคิด การตัดสินใจ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย[32] ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของผู้ใช้ดิสคอร์ด ห้องเดียวกับที่ผู้ก่อเหตุเคยเข้าใช้งาน[33] ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นการกระทำที่มุ่งเป้าไปยังสตรีโดยเฉพาะ[34]
ปฏิกิริยา
แก้รถไฟฟ้าบีทีเอสได้ทำการปิดทางเข้า-ออกเลขคี่ของสถานีสยาม ซึ่งอยู่ฝั่งสยามพารากอนที่เป็นพื้นที่เกิดเหตุ ตั้งแต่เวลา 16:25 น. โดยผู้โดยสารยังสามารถใช้ทางเข้า-ออก ฝั่งสยามสแควร์วันได้ตามปกติ[35] และหลังจากตำรวจจับกุมผู้ก่อเหตุแล้วจึงกลับมาเปิดให้บริการสถานีสยามฝั่งสยามพารากอนตามปกติเมื่อเวลา 17:20 น.[36]
นอกจากนี้ ในขณะเกิดเหตุ มีการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติครั้งที่ 1/2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าสยามพารากอน ร่วมเป็นกรรมการด้วย เมื่อได้รับรายงานจึงขอตัวออกจากห้องประชุม และเดินทางไปยังสยามพารากอนเพื่อติดตามสถานการณ์ ขณะที่เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยพลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และคณะทำงาน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ และรายงานความคืบหน้าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ทราบเป็นระยะ[37] ภายหลังเหตุการณ์สงบลง เศรษฐาได้กล่าวแสดงความเสียใจและให้กำลังใจแก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ[38] อีกทั้งได้เข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ[39] และเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บในช่วงค่ำวันเดียวกัน[40]
ช่อง 3 เอชดี ประกาศยกเลิกงาน "เปิดวิกบิ๊ก 3 Best & Beyond" ซึ่งเป็นงานเปิดตัวละครใหม่ของช่อง ที่มีกำหนดจัดที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ ในวันดังกล่าวทันที[41] ทั้งนี้ ในวันถัดจากนั้น งานอื่น ๆ ในอาคารดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียง ยังมีการจัดตามปกติ แต่ได้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้เข้มงวดมากขึ้น[42][43]
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงรับผู้บาดเจ็บจากเหตุดังกล่าวทุกคน เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์[44] อีกทั้งยังพระราชทานดอกไม้และตะกร้าสิ่งของไปยังผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทุกคนอีกด้วย โดยมี พลอากาศโท ภักดี แสงชูโต ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์ เป็นผู้แทนพระองค์[45]
สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเหตุดังกล่าว ระบุได้เร่งใช้กลไกฉุกเฉินในการตรวจสอบ และประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย อีกทั้งระบุว่านายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้โทรศัพท์แสดงความเสียใจมายังนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูต พร้อมให้คำมั่นว่าฝ่ายไทยจะสอบสวนและจัดการเหตุการณ์นี้ตามกฎหมายอย่างรวดเร็ว และเสริมสร้างการจัดการความปลอดภัยทางสาธารณะ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้ชาวจีนที่เดินทางมาประเทศไทย[46]
กระทรวงมหาดไทยออกมาตรการระยะสั้น เช่น ห้ามการนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืน, ห้ามบุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าสนามยิงปืน ยกเว้นนักกีฬายิงปืนทีมชาติ, ระงับการนำเข้าปืนและการออกใบอนุญาตมีอาวุธปืนติดตัว, และขอความร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปราบปรามและปิดเว็บไซต์ เพจออนไลน์ซื้อขายอาวุธปืนเถื่อนและสิ่งเทียมอาวุธปืน เป็นต้น ส่วนมาตรการระยะยาวคือการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490[47] ส่วนกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดศูนย์ Care D+ Space ในพื้นที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวของอาคารสยามพารากอน เพื่อเยียวยาจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว[48]
รัฐบาลไทยและสยามพารากอนได้มอบเงินช่วยเหลือผู้เสียชีวิตรวมคนละ 6.2 ล้านบาท และผู้บาดเจ็บคนละ 350,000 บาท[49]
ครอบครัวของผู้ก่อเหตุได้เผยแพร่จดหมายชี้แจงและขอโทษต่อเหตุดังกล่าวในวันที่ 6 ตุลาคม[50] อีกทั้งในวันดังกล่าว บิดาของผู้ก่อเหตุได้เข้าเคารพศพชาวเมียนมาที่เสียชีวิต[51]
ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขอความร่วมมือประชาชนไม่ขยายผลกระทบจากเหตุดังกล่าวจนเกินความเป็นจริง อีกทั้งเป็นเจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับนักท่องเที่ยว เพื่อเป็นการชดเชยความรู้สึกที่ไม่ดี และแสดงออกถึงความรู้สึกเสียใจต่อเหตุดังกล่าว[52]
ในส่วนของฝ่ายการเมือง พริษฐ์ วัชรสินธุ จากพรรคก้าวไกล เสนอให้รัฐบาลพัฒนาปรับปรุงระบบเตือนภัย, การครอบครองอาวุธปืน และสร้างความเข้าใจกับสังคมในการงดเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของผู้ก่อเหตุ[53] ด้านวทันยา บุนนาคจากพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้มีการบรรจุหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อในสถานศึกษา[54]
หลังสื่อบางสำนักเสนอประเด็นว่าการก่อเหตุรุนแรงดังกล่าวมาจากพฤติกรรมเลียนแบบเกมแบตเทิลรอยัล แฮชแท็ก "#อย่าโทษเกม" ได้ติดอันดับความนิยมในเอกซ์ ฮาร์ตร็อกเกอร์ หนึ่งในสตรีมเมอร์เกมผู้มีชื่อเสียงในไทย กล่าวว่าหลายเกมแสดงให้เห็นผลจากการทำชั่ว การโทษเกมเพียงอย่างเดียวจึงเป็นการปัดภาระและอำพรางสาเหตุอันแท้จริง ด้านนายแพทย์ วรต โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิตให้ความเห็นว่าควรมองถึงปัจจัยอื่น ๆ นอกจากเกมด้วย[55]
ผลกระทบ
แก้กิตติ พรศิวะกิจ นายกสมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทย ประมาณการว่าในช่วงสามเดือนแรกหลังเกิดเหตุ นักท่องเที่ยวจีนจะลดลง 770,000 คน เมื่อรวมนักท่องเที่ยวชาติอื่นด้วยจะลดลงรวม 1 ล้านคน รายได้ลดลงประมาณ 5 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงต้น พ.ศ. 2567[56] ทั้งนี้ผู้ใช้โซเชียลชาวจีนในซินล่างเวย์ปั๋ว ที่แชร์ข่าวเหตุการณ์ดังกล่าวบางส่วน มีความกังวลในการเดินทางมาประเทศไทย[57], กฎหมายการพกอาวุธปืน และการกระทำผิดของเยาวชน[58]
อย่างไรก็ตาม ทราเวลโลก้าซึ่งเป็นบริษัทบริการท่องเที่ยว ประเมินว่าเหตุดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในประเทศไทยมากนัก[59] อีกทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติบางส่วนก็ยังมีความเชื่อมั่นต่อความปลอดภัยในการท่องเที่ยวในไทย[60] ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่าแม้จะยังไม่มีแนวโน้มการยกเลิกเข้าไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ประเมินว่านักท่องเที่ยวจีนอาจชะลอการเดินทางเข้าไทย ซึ่งได้ประสานงานสำนักงาน ททท. ในประเทศจีนให้เร่งสื่อสารทำความเข้าใจกับชาวจีนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น[49]
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ "เหตุยิงสยามพารากอน: เรารู้อะไรแล้วบ้าง เหตุเด็กชาย 14 ปี ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงกลางห้าง". BBC News ไทย. 2023-10-04.
- ↑ "สุดยื้อ 'หนุงหนิง' แฟนคลับ 'นนท์-GOT7' เหยื่อเด็ก 14 เสียชีวิตแล้ว". สืบค้นเมื่อ 13 October 2023.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 "ดับ 2 เจ็บ 5 เหตุยิงในพารากอน ผบ.ตร.ต่อศักดิ์ เผยมือปืน มีประวัติป่วยทางจิต (คลิป)". ไทยรัฐ. 2023-10-03. สืบค้นเมื่อ 2023-10-03.
- ↑ "คุมตัวเด็ก 14 ปี ถึงโรงพักอ้างซื้อบีบีกันดัดแปลงจากเว็บมาเลียนแบบเกม". The Room 44. 3 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2023.
- ↑ "14-jarige schutter in winkelcentrum Bangkok had psychische problemen en ging naar privéschool "voor toekomstige leiders"". Het Laatste Nieuws (ภาษาดัตช์). 2023-10-04.
- ↑ อาลัย 'หนุงหนิง' เหยื่อกราดยิงพารากอน แฟนคลับ GOT7 - นนท์ ธนนท์ เสียชีวิตเป็นรายที่ 3
- ↑ Thailand’s gun laws in spotlight as lone-shooter nightmare returns
- ↑ รายงานพิเศษ : รู้หรือไม่ “พลเรือนไทย” มีปืนมากที่สุดในอาเซียน
- ↑ Olam, Kocha; Stapleton, Anne Claire (3 October 2023). "14-year-old boy arrested after deadly Thai shopping mall shooting". CNN (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 3 October 2023.
- ↑ Thepgumpanat, Panarat; Setboonsarng, Chayut (2023-10-03). "Thailand shooting: teenage suspect arrested after two killed at luxury mall". Reuters (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2023-10-03.
- ↑ "ยิงกันกลางห้างสยามพารากอน ผู้คนหนีตายอลหม่าน มีรายงานผู้บาดเจ็บ". ผู้จัดการออนไลน์. 3 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2023.
- ↑ "ด่วน จับกุมคนร้ายได้แล้ว ก่อเหตุยิงในพารากอน ยอมวางอาวุธ (คลิป)". ไทยรัฐ. 3 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2023.
- ↑ "เปิดไทม์ไลน์ มือยิงวัย14 เดินไล่ล่า ตั้งแต่ชั้นM ถึงชั้น 2 ถูกคุมตัวจนมุมชั้น 3". มติชน. 3 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2023.
- ↑ 14.0 14.1 14.2 admin. "เปิดใจ ตร.สายตรวจ คุมตัวผู้ต้องหากราดยิง ยันยุทธวิธีเป็นสิ่งสำคัญที่สุด – สถานีโทรทัศน์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ".
- ↑ 15.0 15.1 "ชาวเน็ตชื่นชม ตำรวจหมวกทอง คลิปนาทีควบคุมตัวคนร้ายวัย 14 ก่อเหตุยิงในพารากอน". www.sanook.com/news. 2023-10-03.
- ↑ เผยคนร้ายวัย 14 ก่อเหตุยิงถึง 40 นัดกระจายทั่วห้าง กระสุนโดนคนตายคนเจ็บ 11 นัด
- ↑ 【曼谷枪击案】死者包括1中国游客 双胞胎女儿绝望求助. 南洋商报. 4 ตุลาคม 2023.
- ↑ "เศร้า 1 ใน 3 ศพ เหตุยิงในพารากอน เป็นนักท่องเที่ยวสาวชาวจีน (คลิป)". ไทยรัฐ. 3 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2023.
- ↑ အောက်တိုဘာ ၄ ရက် ထိပ်တန်းသတင်းများ - မြန်မာ ၁ ဦးသေဆုံးတဲ့ Siam Paragon ပစ်ခတ်မှု သေနတ်သမားကို ထိုင်းရဲအမှုဖွင့်. BBC News မြန်မာ. 4 ตุลาคม 2023.
- ↑ ""ร้านเทคทอยส์" อาลัยการจากไปของ ลูกจ้างสาวเมียนมา เหยื่อเหตุยิงใน "พารากอน"". ไทยรัฐ. 4 ตุลาคม 2023.
- ↑ "สะเทือนใจ สาวน้ำตาร่วง ช่วยเด็กแฝดจีนตามหาแม่ ถูกยิงในห้างดัง สุดท้ายเจอข่าวเศร้า". มติชน. 3 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2023.
- ↑ "เจ้าชายยะโฮร์ ทรงเล่านาทีระทึก ติดในโรงแรม ขณะเกิดเหตุกราดยิงที่ห้างฯ พารากอน". ไทยรัฐ. 4 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2023.
- ↑ "เพื่อนแห่โพสต์ให้กำลังใจ สาวถูกมือปืนวัย 14 ยิงเข้าหัว ที่พารากอน อาการสาหัส". ข่าวสด. 13 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2023.
- ↑ ""ดิเอสเซนส์" แจงผู้ก่อเหตุเป็นนักเรียนของโรงเรียนจริง พร้อมให้ความร่วมมือสอบสวน". ไทยรัฐ. 2023-10-03. สืบค้นเมื่อ 2023-10-03.
- ↑ "The Essence".[ลิงก์เสีย]
- ↑ "The Essence - About Us". สืบค้นเมื่อ 2023-10-03.
- ↑ "พ่อแม่รู้ เด็ก 14 ปี มีพฤติกรรมชอบยิงปืน กดดันทีส่งคลิปยิงปืนที โทร. ถาม 191 จะติดคุกไหม". kapook.com. 2023-10-04.
- ↑ S, Nateetorn (2023-10-05). "เพื่อนมือปืนอายุ 14 ยืนยัน ผู้ก่อเหตุบอก แผนหลายครั้งว่าจะกราดยิงพารากอน". Thaiger ข่าวไทย.
- ↑ สธ.ยัน ด.ช.14 ปี มีประวัติรักษา รพ.เด็ก จริง แพทย์ขอสังคมอย่าซ้ำเติม
- ↑ "ด่วน แจ้ง 5 ข้อหาผู้ก่อเหตุไล่ยิง 'พารากอน' ดับ 2 เจ็บ 5". bangkokbiznews. 2023-10-04.
- ↑ PPTV Online (2023-10-04). ""น้ำแท้" ชี้ ผู้ก่อเหตุยิงพารากอนเป็น "เด็ก" อาจไม่ต้องรับโทษ". pptvhd36.com.
- ↑ "NEWSROOM : ผู้การแต้ม-นักวิชาการ วิเคราะห์ปม "เด็ก 14" ก่อเหตุยิงที่ "พารากอน"". www.thairath.co.th. 2023-10-03.
- ↑ ธนวัตไชยศรี, กรณ์รัฐภาส (2023-10-06). "เพื่อนร่วมเซิร์ฟเวอร์ Discord เผยเรื่องราวของมือปืนพารากอนก่อนจะลงมือก่อเหตุ #beartai". #beartai (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "6 ใน 7 ของเหยื่อกราดยิงพารากอน เป็น "ผู้หญิง" สิ่งนี้คือ "Femicide" หรือเปล่า?". www.sanook.com/news. 2023-10-04.
- ↑ "ด่วน! บีทีเอสสยาม สั่งปิดสถานีฝั่งพารากอนชั่วคราว หลังมีเสียงปืนในห้าง". ข่าวสด. 3 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2023.
- ↑ ""บีทีเอส" เปิดให้บริการสถานีรถไฟฟ้าสยาม หลังจับคนร้ายยิงกลางห้างพารากอน". ฐานเศรษฐกิจ. 3 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2023.
- ↑ "นายกฯ เผย ผบ.ตร. รุดไปพารากอน "ชฎาทิพ" ผู้บริหารรีบออกจากห้องประชุมติดตามสถานการณ์". ไทยรัฐ. 3 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2023.
- ↑ ""ผมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง" นายกฯ เศรษฐา กล่าวถึงเหตุยิงที่พารากอน". เดอะ แมทเทอร์. 3 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2023.
- ↑ "นายกฯ รุดตรวจเหตุยิงกันที่พารากอน จ่อเข้มมาตรการรักษาความปลอดภัย". www.thairath.co.th. 2023-10-03.
- ↑ "ผบ.ตร.เผยเด็ก 14 ปีมีประวัติรักษาจิตเวช ตร.ตรวจบ้านหาหลักฐานเพิ่ม". Thai PBS.
- ↑ ""โบว์ เมลดา" เหวอ ให้สัมภาษณ์ขณะคนวิ่งหนีจ้าละหวั่น ช่อง 3 ยกเลิกงานเปิดวิกบิ๊ก 3 ทันที". ผู้จัดการออนไลน์. 3 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2023.
- ↑ "เดินหน้าจัดงาน "เที่ยวญี่ปุ่นด้วยตัวเอง & ทัวร์ ครั้งที่ 15" ที่พารากอน พร้อมเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น". mgronline.com. 2023-10-04.
- ↑ "สยามพารากอน เปิดแกรนด์รันเวย์ประกาศศักดาแฟชั่นไทย". bangkokbiznews. 2023-10-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-13. สืบค้นเมื่อ 2023-10-07.
- ↑ ในหลวง-ราชินีทรงรับผู้ป่วยไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ทุกราย
- ↑ ในหลวง พระราชินี ทรงห่วงใย พระราชทานตะกร้าสิ่งของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ
- ↑ "สถานทูตจีนออกแถลงการณ์เรื่องเหตุกราดยิงที่ "สยามพารากอน"". mgronline.com. 2023-10-04.
- ↑ "เคาะ 8 มาตรการระยะสั้นคุมอาวุธปืน-สิ่งเทียมปืน "อนุทิน" สั่งเข้มใช้กฎหมาย". www.thairath.co.th. 2023-10-05.
- ↑ wanpen (2023-10-06). "เปิดศูนย์เยียวยาจิตใจ 'Care D+ Space' สยามพารากอน หลังเหตุกราดยิง - The Bangkok Insight". www.thebangkokinsight.com.
- ↑ 49.0 49.1 "เหตุยิงในห้าง "รัฐ-พารากอน" เยียวยาผู้เสียชีวิตคนละ 6.2 ล้านบาท". Thai PBS.
- ↑ "เปิดจดหมาย ครอบครัวเด็ก 14 น้อมรับผิดเหตุกราดยิงพารากอน ขอโทษและขอขมาเหยื่อ". www.sanook.com/news. 2023-10-06.
- ↑ "พ่อเยาวชนมือกราดยิงพารากอนโผล่เคารพศพ"ตะวัน" ลูกจ้างสาวเมียนมา ขอโทษสังคม ยันไม่ประกันตัวลูกชาย". mgronline.com. 2023-10-06.
- ↑ Nat1459 (2023-10-06). "รัฐบาลวอนหยุดขยายเหตุยิงพารากอนเกินจริง หวั่นกระทบทัวร์จีนมาไทย". ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์.
- ↑ "'พริษฐ์' เสนอรัฐบาล 3 เรื่อง ป้องกันเกิดเหตุซ้ำรอย ยิงในพารากอน". workpointTODAY.
- ↑ ""วทันยา" แนะ รัฐบาล เร่งสร้างความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยว หนุนกวาดล้างปืนเถื่อน". www.thairath.co.th. 2023-10-05.
- ↑ "'พี่เอก HRK' ฟาดสื่อ พาดหัวโทษแต่เกม ชี้ทุกวันนี้เกมให้ข้อคิดมีเยอะแยะ". Thaiger ข่าวไทย. 2023-10-04.
- ↑ ส.ท่องเที่ยว คาดกราดยิงห้างดัง ทำนักท่องเที่ยวจีนหาย 1 ล้านคน สูญรายได้ 5 หมื่นล. แนะปล่อยฟรีวีซ่าอินเดีย
- ↑ PPTV Online (2023-10-04). "ส่องความเห็นชาวจีนหลังเหตุยิงพารากอน บางส่วนชี้เที่ยวเมืองไทยอันตราย!". pptvhd36.com.
- ↑ "เช็กกระแสโซเชียลจีน จากเหตุเด็ก 14 กราดยิงกลางศูนย์การค้าสยามพารากอน". bangkokbiznews. 2023-10-04.
- ↑ ทราเวลโลก้า มั่นใจนักท่องเที่ยวยังอยากเที่ยวไทย
- ↑ "สื่อนอกเผย ไทยสั่งกวาดล้างขายปืนเถื่อนออนไลน์-ฟื้นฟูความเชื่อมั่นการท่องเที่ยว". VOA. 2023-10-04.