อีกาโคนปากขาว

ชนิดของอีกาในวงศ์ Corvidae

อีกาโคนปากขาว, รุก หรือ นกรุก (อังกฤษ: rook; ชื่อวิทยาศาสตร์: Corvus frugilegus) จัดอยู่ในวงศ์นกกา (Corvidae) ในอันดับนกเกาะคอน (Passeriformes) พบได้ในเขตชีวภาพพาลีอาร์กติก ตั้งแต่สแกนดิเนเวียและยุโรปตะวันตกไปจนถึงไซบีเรียตะวันออกและประเทศจีน เป็นนกขนาดใหญ่ มีขนสีดำล้วน อาศัยเป็นฝูง และมีลักษณะแตกต่างจากนกกาแท้ชนิดอื่นตรงที่บริเวณหน้ารอบจะงอยปากไม่มีขนและเห็นผิวหนังสีขาวออกเทาอย่างชัดเจน อีกาโคนปากขาวทำรังอยู่ร่วมกันบนยอดไม้สูงและมักอยู่ใกล้กับเขตกสิกรรมหรือหมู่บ้าน กลุ่มของรังอีกาโคนปากขาวเรียกว่ารังฝูงหรือรุกเคอรี (rookery)

อีกาโคนปากขาว
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: สมัยไพลสโตซีนตอนปลาย–ปัจจุบัน
อีกาโคนปากขาวในสหราชอาณาจักร
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
Chordata
ชั้น: สัตว์ปีก
Aves
อันดับ: Passeriformes
Passeriformes
วงศ์: วงศ์นกกา
Corvidae
สกุล: Corvus
Corvus
Linnaeus, 1758
สปีชีส์: Corvus frugilegus
ชื่อทวินาม
Corvus frugilegus
Linnaeus, 1758
พิสัยการกระจายพันธุ์
การกระจายพันธุ์ของอีกาโคนปากขาวตะวันตก (C. f. frugilegus) (1) สีส้มอ่อน: พื้นที่ผสมพันธุ์ในฤดูร้อน; ลูกศรสีส้ม: ทิศทางการอพยพหนีหนาว; (2) สีเขียว: พื้นที่ที่เป็นนกประจำถิ่น (ไม่อพยพ) หรือนกอพยพบางส่วน; (3) สีน้ำเงิน: พื้นที่หลบหนาว ไม่ผสมพันธุ์; และการกระจายพันธุ์ของอีกาโคนปากขาวตะวันออก (C. f. pastinator) (4) สีส้มเข้ม: พื้นที่ผสมพันธุ์ในฤดูร้อน; (5) สีเขียวขี้ม้า: พื้นที่ที่เป็นนกประจำถิ่น (ไม่อพยพ) หรือนกอพยพบางส่วน; (6) สีฟ้า: พื้นที่หลบหนาว ไม่ผสมพันธุ์ ในฤดูหนาวของอีกาโคนปากขาวตะวันออก

อีกาโคนปากขาวเป็นนกประจำถิ่น (ไม่อพยพ) แต่ประชากรของนกชนิดนี้บางส่วนในทางเหนือสุดอาจอพยพไปทางใต้เพื่อหลีกเลี่ยงสภาพฤดูหนาวที่เลวร้ายในบางปี ในฤดูหนาวอีกาโคนปากขาวมักบินหรือรวมกันเป็นฝูง และบ่อยครั้งอาจรวมฝูงกับนกกา (Corvus) ชนิดอื่น ๆ หรือกับอีกาแจ็กดอว์ (jackdaw) ในฤดูใบไม้ผลิอีกาโคนปากขาวจะกลับไปที่รังฝูงเดิมเสมอเพื่อผสมพันธุ์ อีกาโคนปากขาวมักหาอาหารตามพื้นดินเพาะปลูกได้และทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ โดยขุดคุ้ยสำรวจพื้นดินด้วยจะงอยปากที่แข็งแรง อาหารที่กินส่วนใหญ่เป็นแมลงจำพวกด้วงและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ ที่อาศัยในดิน รวมทั้งธัญพืชและวัสดุจากพืชอื่น ๆ ด้วย ในอดีตเกษตรกรมักกล่าวหาว่าอีกาโคนปากขาวเป็นตัวทำลายพืชผลทางการเกษตร ทำให้ต้องขับไล่หรือกำจัดอีกาเหล่านี้ทิ้ง เช่นเดียวกับนกกาชนิดอื่น ๆ อีกาโคนปากขาวเป็นนกที่ฉลาด มีลักษณะพฤติกรรมที่ซับซ้อน และยังมีความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างง่าย

ลักษณะทางกายวิภาค

แก้
 
อีกาโคนปากขาวกำลังหาอาหารที่พื้นในเดวอน สหราชอาณาจักร

อีกาโคนปากขาวเป็นนกที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ หนักประมาณ 280–340 กรัม (9.9–12.0 ออนซ์) ยาวประมาณ 44–46 เซนติเมตร (17–18 นิ้ว) และปีกกางเต็มที่กว้าง 81–99 เซนติเมตร (32–39 นิ้ว)[2] มีขนสีดำซึ่งมักมีประกายสีฟ้าหรือสีครามในแสงแดดจ้า ขนที่หัว คอ และไหล่มีความหนาแน่นและละเอียดเนียนเป็นพิเศษ ขาและเท้าโดยทั่วไปมีสีดำ จะงอยปากสีเทาดำ และม่านตาสีน้ำตาลเข้ม ตัวเต็มวัยไม่มีขนบริเวณผิวรอบจะงอยปากและด้านหน้าดวงตา เป็นผิวเปล่าสีขาวออกเทาชัดเจน ซึ่งเป็นลักษณะที่สร้างความแตกต่างจากอีกาชนิดอื่นอย่างเด่นชัด ผิวเปล่าเปลือยนี้ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่ามีจะงอยปากยาวและหัวดูกลมเล็กกว่าปกติ ขนปุกปุยรอบขา ดกกว่าและหลวมกว่าอีกาชนิดอื่นโดยเฉพาะอีกากินซาก[3] ที่มีลักษณะและขนาดใกล้กันมาก ความแตกต่างที่สังเกตได้คือ อีกาโคนปากขาวมีปีกที่ยาวและแคบกว่าเมื่อกางออก

ขนนกของลูกอีกาโคนปากขาว (นกรุ่น) มีสีดำเป็นเงาเลื่อมออกเขียวเล็กน้อย ยกเว้นที่คอส่วนหลัง หลัง และส่วนท้องซึ่งมีสีน้ำตาลปนดำ ดูเผิน ๆ คล้ายกับอีกาธรรมดาเพราะมันไม่มีผิวเปลือยที่รอบจะงอยปาก แต่สังเกตได้จากจะงอยปากที่บางกว่าและขนรอบจะงอยปากที่จะร่วงออกเมื่อมีอายุประมาณหกเดือน[4]

การกระจายพันธุ์และถิ่นที่อยู่

แก้

อีกาโคนปากขาวเป็นนกประจำถิ่นในหมู่เกาะอังกฤษและส่วนใหญ่ของยุโรปเหนือและยุโรปกลาง แต่อาจพลัดหลงไปยังไอซ์แลนด์และบางส่วนของสแกนดิเนเวียซึ่งโดยทั่วไปแล้วอาศัยอยู่ทางใต้ของเส้นละติจูดที่ 60 พบในถิ่นที่อยู่ที่นกเรเวนไม่เลือกอาศัย โดยมักเลือกอาศัยในพื้นที่เกษตรกรรมแบบเปิดที่มีทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์หรือพื้นดินเพาะปลูกได้ ตราบเท่าที่มีต้นไม้สูงที่เหมาะสมสำหรับการผสมพันธุ์ โดยทั่วไปอีกาโคนปากขาวจะหลีกเลี่ยงอาศัยในป่า หนอง บึง ทุ่งฮีท และทุ่งมัวร์ อีกาโคนปากขาวเป็นนกที่อยู่ในที่ราบต่ำทั่วไป โดยส่วนใหญ่จะพบรังฝูงได้ในพื้นที่ต่ำกว่า 120 เมตร (400 ฟุต) เหนือระดับน้ำทะเล ในกรณีที่มีแหล่งอาหารที่เหมาะสมอาจผสมพันธุ์ได้ในพื้นที่ระดับความสูง 300 เมตร (1,000 ฟุต) หรืออาจสูงกว่า อีกาโคนปากขาวมักเลือกอาศัยในพื้นที่ที่มีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างไร่นา หมู่บ้าน และเมืองเปิด แต่ไม่ใช่ในพื้นที่เมืองขนาดใหญ่หรือพื้นที่ที่มีสิ่งก่อสร้างอย่างหนาแน่น[5]

อีกาโคนปากขาวชนิดย่อยทางตะวันออกซึ่งพบในเอเชียมีขนาดโดยเฉลี่ยเล็กกว่าเล็กน้อย และมีขนบนหน้าที่มีค่อนข้างสมบูรณ์กว่า

กลุ่มที่อาศัยทางตอนเหนือมีแนวโน้มที่จะอพยพไปทางใต้ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ส่วนกลุ่มประชากรทางตอนใต้มีแนวโน้มที่จะอยู่กระจายกันอย่างประปราย อีกาโคนปากขาวหลายร้อยตัวถูกนำเข้ามาปล่อยในนิวซีแลนด์ตั้งแต่ ค.ศ. 1862 ถึง ค.ศ. 1874 แม้ว่าพิสัยการกระจายพันธุ์จะจำกัดวงแคบมาก แต่ในปัจจุบันอีกาโคนปากขาวถูกมองว่าเป็นศัตรูพืชรุกรานและอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างแข็งขันของสภาท้องถิ่นหลายแห่ง[6] นำไปสู่การกวาดล้างอาณานิคมอีกาโคนปากขาวขนาดใหญ่ในนิวซีแลนด์จนเหลือเพียงอีกากลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งมีความหวาดระแวงมนุษย์มากขึ้น[7]

การอพยพ

แก้

อีกาโคนปากขาวเป็นนกประจำถิ่นของยุโรปกลาง ร้อยละ 60 ของประชากรอาจอพยพไปสู่แหล่งที่ดีกว่าในฤดูหนาว แต่ทั้งนี้ระยะทางการอพยพจะไม่เกิน 1,000 กิโลเมตร ส่วนประชากรอีกาโคนปากขาวในรัสเซียยุโรปและพื้นที่อื่น ๆ นอกเขตยุโรป ทั้งหมดอพยพด้วยระยะทางระหว่าง 1,000 ถึง 3,000 กิโลเมตร และส่วนใหญ่อพยพไปทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้โดยพยายามเข้าถึงคาบสมุทรบอลข่าน กรีซ และเอเชียไมเนอร์ และอาจไปยังซีเรียและอิรัก เพื่อหลีกเลี่ยงสภาพฤดูหนาวที่เลวร้าย ประชากรนกส่วนนี้ส่วนใหญ่เริ่มอพยพในช่วงกลางเดือนตุลาคมและสร้างอาณานิคมขนาดใหญ่ประปรายตามรายทาง นกที่อายุมากมักเริ่มอพยพในระยะหลังแม้เป็นช่วงฤดูหนาวแล้วในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ การอพยพในช่วงฤดูหนาวแล้วนี้ทำให้อีกาโคนปากขาวมีความสามารถในการ "ปรับเส้นทางการบิน" ให้เหมาะกับการหลีกหนีสภาพอากาศเลวร้ายของแต่ละพื้นที่ซึ่งโดยหลักการแล้วจะช่วยให้พวกมันอพยพไปในทิศทางใดก็ได้[8]

พฤติกรรมและนิเวศวิทยา

แก้
 
กะโหลกศีรษะของอีกาโคนปากขาว
 
อีกาโคนปากขาวเป็นนกสังคม ในตอนค่ำจะรวมตัวกันเป็นฝูงใหญ่ซึ่งอาจมีจำนวนหลายพันตัว บางคนโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในเมืองจะรู้สึกว่าการรวมตัวกันนี้เป็นสิ่งน่ารำคาญ
เสียงตัวอย่างของอีกาโคนปากขาว

อีกาโคนปากขาวเป็นนกสังคมซึ่งชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง โดยทั่วไปจะเห็นเป็นฝูงขนาดต่าง ๆ โดยอีกาโคนปากขาวเพศผู้และเพศเมียจะจับคู่กับนกตัวเดิมไปตลอดชีวิตและอยู่ด้วยกันกับคู่อื่น ๆ เป็นฝูง ในตอนพลบค่ำ อีกาโคนปากขาวเหล่านี้มักจะกลับไปที่รังฝูง (อาณานิคม) และจากนั้นบินไปรวมฝูงเกาะราวนอนในเวลากลางคืนด้วยกันที่จุดรวมฝูงนอน (communal roosting) ที่ฝูงเลือกไว้ ฝูงนกจะเพิ่มขนาดขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงโดยมีกลุ่มต่าง ๆ ที่มารวมตัวกันและนกที่มารวมตัวกันตอนพลบค่ำก่อนที่จะรวมฝูงนอน ซึ่งมักมีจำนวนมากและอาจอยู่ร่วมกับอีกาแจ็กดอว์ การรวมฝูงนอนมักเกิดขึ้นในป่าไม้หรือพื้นที่เพาะปลูกที่มีไม้ยืนต้นมาก แต่นกส่วนน้อยจำนวนหนึ่งที่อายุไม่มากอาจยังคงเกาะนอนอยู่ที่รังฝูงของพวกมันตลอดฤดูหนาว และนกตัวผู้ที่โตเต็มวัยอาจเกาะอยู่รวมกันในบริเวณใกล้เคียง นกจะแยกย้ายออกทันทีในตอนเช้าโดยกระจายกันไปเป็นระยะทางห่างกันถึง 10 กิโลเมตร (6 ไมล์)[9]

อีกาโคนปากขาวมักหาอาหารบนพื้นดินโดยเดินหรือกระโดดและคุ้ยสำรวจพื้นดินด้วยจะงอยปากที่ทรงพลัง โดยปกติการบินของอีกาโคนปากขาวจะบินตรงด้วยการกระพือปีกและใช้วิธีบินร่อนเล็กน้อยในการบินแบบมีจุดมุ่งหมาย ในทางตรงกันข้ามนกอาจบินร่อนนานมากขึ้นเมื่อเป็นการบินแบบพักผ่อนซึ่งมักทำใกล้กับบริเวณรังฝูง ในฤดูใบไม้ร่วงบางครั้งฝูงนกจะทำการบินเป็นกลุ่มในแบบที่น่าประทับใจ ได้แก่ การบินแบบประสานกันเป็นฝูงและการบินผาดแผลงอย่างการบินดิ่ง การบินควงรอบ (ควงสว่าน) และการบินตีลังกาเป็นต้น[9]

อาหารและการหาอาหาร

แก้
 
การเดินหาอาหารของอีกาโคนปากขาว

การตรวจสอบสิ่งที่บรรจุในกระเพาะอาหารนกชนิดนี้พบว่าประมาณร้อยละ 60 ของอาหารเป็นพืชผัก ส่วนที่เหลือเป็นเนื้อสัตว์ อาหารประเภทผักได้แก่ ธัญพืช มันฝรั่ง รากไม้ ผลไม้ โอ๊ก เบอร์รี และเมล็ดพืช ในขณะที่อาหารประเภทสัตว์ส่วนใหญ่เป็นไส้เดือนและตัวอ่อนของแมลงที่นกพบจากการขุดคุ้ยพื้นดินด้วยปากที่แข็งแรง นอกจากนี้ยังกินแมลงปีกแข็ง แมงมุม กิ้งกือ ทาก หอยทาก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก นกขนาดเล็ก ไข่และลูกอ่อนของนก และซากสัตว์เน่าในบางครั้ง[9]

ในพื้นที่เขตเมือง อีกาโคนปากขาวจะเก็บกินเศษอาหารของมนุษย์จากที่ทิ้งขยะและตามถนนในเวลาหัวค่ำหรือตอนค่ำที่ค่อนข้างเงียบ เช่นเดียวกับอีกาชนิดอื่น ๆ บางครั้งอีกาโคนปากขาวจะชอบแหล่งอาหารที่มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ในระดับสูง และมักพบว่ากำลังไล่หาอาหารในพื้นที่ท่องเที่ยวหรือจิกถุงขยะที่ไม่ได้มัดไว้[10] ในฝรั่งเศสอีกาโคนปากขาวถูกฝึกให้เก็บขยะในสวนสนุกแห่งหนึ่ง[11]

การเกี้ยวพาน

แก้

โดยปกติอีกาโคนปากขาวตัวผู้จะเริ่มเกี้ยวพานบนพื้นดินหรือบนต้นไม้โดยการผงกหัวหลายครั้งให้ตัวเมียด้วยปีกที่ลู่ลง ในขณะเดียวกันก็ร้อง "กา ๆ" และรำแพนหางออก อีกาตัวเมียอาจตอบสนองโดยการหมอบลง โก้งโค้งหลัง และสั่นปีกเร็ว ๆ สั้น ๆ หรืออาจเป็นฝ่ายให้ท่าก่อนโดยการย่อหัวและปีกลง รำแพนหางออกบางส่วนและยกหางไปทางลำตัวด้านหลัง[9] การแสดงออกเพิ่มเติมมักตามมาด้วยพฤติกรรมการขออาหารของอีกาตัวเมียและพฤติกรรมคล้ายกับการให้อาหารของอีกาตัวผู้ ก่อนการทับกันจะเกิดขึ้นในรัง ในขั้นตอนนี้อีกาตัวผู้อื่น ๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงมักเข้ารุมโจมตีคู่ผสมพันธุ์ และระหว่างการต่อสู้แย่งชิงที่เกิดขึ้นตามมา อีกาตัวผู้ตัวใดก็ตามที่สามารถเกาะบนหลังของอีกาตัวเมียได้จะพยายามทับตัวเมียนั้น แต่ตัวเมียจะยุติขั้นตอนการผสมพันธุ์ลงเมื่อมันรู้ว่าเป็นอีกาตัวผู้อื่นที่ไม่ใช่คู่ของมันเองด้วยการออกจากรังและเกาะอยู่ใกล้ ๆ[12] อีกาโคนปากขาวที่เป็นคู่ชีวิตกันมักจะไซ้จะงอยปากของกันและกัน และพฤติกรรมนี้ก็พบเห็นได้แม้นอกฤดูผสมพันธุ์ เช่นในฤดูใบไม้ร่วง[9]

การผสมพันธุ์

แก้
 
ไข่อีกาโคนปากขาว ของสะสมของพิพิธภัณฑ์วีสบาเดินในเยอรมนี

การทำรังในรังฝูงมักเป็นแบบอาณานิคมเสมอ โดยปกติจะอยู่บนยอดไม้ใหญ่และมักจะอยู่บนเศษซากรังของปีก่อนหน้า ในพื้นที่ที่เป็นเนินเขา อีกาโคนปากขาวอาจทำรังบนต้นไม้ขนาดเล็กกว่าหรือไม้พุ่ม รวมถึงบนปล่องไฟหรือยอดแหลมของโบสถ์ในบางโอกาส นกทั้งสองเพศมีส่วนร่วมในการสร้างรัง โดยตัวผู้หาวัสดุทำรังเป็นส่วนใหญ่และตัวเมียวางเรียงวัสดุ รังมีลักษณะเป็นรูปถ้วยและประกอบด้วยกิ่งไม้รวมกับดินและมีหญ้า มอส รากไม้ ใบไม้แห้ง และฟาง[9] นกจะหักกิ่งไม้และก้านไม้ออกจากต้นไม้โดยตรง แต่ก็พบว่ามีกิ่งก้านที่ถูกขโมยมาจากรังใกล้เคียงมากพอ ๆ กับกิ่งก้านที่หักมาโดยตรง วัสดุบุรังมักจะถูกนำมาจากรังอื่น ๆ เช่นกัน[13]

นกตัวเมียโตเต็มวัย พร้อมผสมพันธุ์เมื่อมีอายุ 2 ปี[14]

โดยปกติไข่จะมีจำนวน 3–5 ฟอง (บางครั้ง 6 ฟอง และน้อยครั้งมากที่มี 7 ฟอง) นกอาจวางไข่ในปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายนในสหราชอาณาจักร แต่ในสภาพอากาศที่รุนแรงกว่าของยุโรปตะวันออกและรัสเซียอาจเข้าสู่ต้นเดือนพฤษภาคมก่อนที่การวางไข่จะเสร็จสมบูรณ์[13] สีของไข่เป็นสีเขียวอมฟ้าถึงเขียวอมเทา และเกือบทั้งฟองแต้มด้วยจุดสีเทาและน้ำตาล ไข่มีขนาดเฉลี่ย 40 × 28.3 มิลลิเมตร (1.57 × 1.11 นิ้ว)[9] นกจะฟักไข่เป็นเวลา 16–18 วัน ตัวเมียเป็นผู้ฟักไข่เกือบทั้งหมดโดยมีตัวผู้เป็นผู้หาอาหารให้ หลังจากที่ไข่ฟักเป็นตัวแล้ว ผู้จะนำอาหารมายังรังในขณะที่ตัวเมียคอยกกลูก หลังจากผ่านไป 10 วัน ตัวเมียจะร่วมหาอาหารกับตัวผู้โดยบรรทุกอาหารมาในช่องคอ นกรุ่นจะออกจากรังเมื่อมีอายุ 32 หรือ 33 วัน แต่ยังคงได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ต่อไปหลังจากนั้นสักพัก ปกตินกจะมีลูกเพียงครอกเดียวในแต่ละปี แต่ก็มีบันทึกเกี่ยวกับนกที่พยายามผสมพันธุ์ในฤดูใบไม้ร่วง[9]

ในฤดูใบไม้ร่วง นกรุ่นจะรวมตัวกันเป็นฝูงใหญ่พร้อมกับนกที่ไม่ได้จับคู่ในฤดูกาลก่อน ๆ ซึ่งบางครั้งจะอยู่รวมฝูงกับนกกาชนิดอื่น ในช่วงเวลานี้ของปีจะมีการแสดงการบินทางอากาศที่งดงาม อีกาโคนปากขาวมีคู่แบบผัวเดียวเมียเดียว โดยตัวเต็มวัยจะจับคู่ในระยะยาว คู่นกมักจะสนับสนุนซึ่งกันและกันในการเผชิญหน้าในทุกสถานการณ์ นกอาจกลับไปหาคู่ของมันหลังการทะเลาะและอาจแสดงความผูกพันกันด้วยการไซ้จะงอยปาก[15]

อายุขัย

แก้

อัตราการตายของอีกาโคนปากขาว ในอายุปีแรกและปีที่สองอยู่ระหว่างร้อยละ 54–59 และมีอายุขัยเฉลี่ยต่ำกว่า 6 ปี[16] การตายส่วนใหญ่เกิดจากการขาดอาหารโดยตรง หรือโดยอ้อมจากโรค[17] ในบางกรณีเท่านั้นที่อีกาโคนปากขาวอาจจะมีอายุยืนยาว อายุสูงสุดของอีกาโคนปากขาวในปัจจุบันจากการวัดอายุในอีกาที่ตายแล้วในบริเตนใหญ่อยู่ที่ 22 ปี 11 เดือน[18]

เสียง

แก้

เสียงร้องของอีกาโคนปากขาวมักเป็นเสียงคล้าย คอ ๆ หรือ กา ๆ และค่อนข้างคล้ายกับเสียงร้องของอีกากินซาก แต่แหบพร่าน้อยกว่า เป็นเสียงร้องที่มีความหลากหลายในระดับเสียงและรูปแบบเสียงที่แตกต่างกันในสถานการณ์ที่แตกต่างกันด้วย การร้องเกิดขึ้นทั้งในขณะบินและขณะเกาะอยู่ซึ่งในแต่ละครั้งที่ร้องนกจะรำแพนหางและโก้งโค้งหัวไปด้วย โดยปกติการร้องในขณะบินจะทำเพียงตัวเดียว ตรงกันข้ามกับอีกากินซากซึ่งร้องเป็นกลุ่มสามหรือสี่ตัวในขณะบิน เสียงร้องอื่น ๆ เกิดขึ้นรอบ ๆ รังฝูง เช่น เสียงแหลมสูง เสียง "เรอ" และเสียงร้องเจื้อยแจ้วคล้ายนกชนิดอื่น อีกาโคนปากขาวที่โดดเดี่ยวจะ "ร้องเพลง" เป็นครั้งคราวให้กับตัวมันเอง โดยการเปล่งเสียงแปลก ๆ เช่น เสียงกิก ๆ เสียงหวีดฮืด ๆ หรือทำนองเสียงคล้ายของมนุษย์ เสียงเพลงเช่นนั้นได้รับการบรรยายว่าเป็นเสียงร้องจากช่องคอที่เลียนแบบเสียงเพลงของนกกิ้งโครง[9]

 
ในภาพวาด การกลับมาของรุก (The Rooks Have Returned, ค.ศ. 1871) โดยอะเลคเซย์ ซัฟซารอฟ จิตรกรชาวรัสเซีย แสดงการมาถึงของอีกาโคนปากขาวที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ
ภาพเคลื่อนไหวของอีกาโคนปากขาวในรัง
 
ฝูงอีกาโคนปากขาว
 
อีกาโคนปากขาวขณะบิน

ความสามารถทางสติปัญญา

แก้

แม้ว่าอีกาโคนปากขาวในธรรมชาติจะไม่ได้แสดงพฤติกรรมการใช้เครื่องมือให้เห็น แต่ในกลุ่มที่เลี้ยงในที่กักขังได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการใช้และการไขปริศนา หนึ่งในปริศนาที่ได้รับการทดสอบบ่อยที่สุดคือปริศนากับดักท่อกลมซึ่งอีกาโคนปากขาวเรียนรู้วิธีการเอารางวัลจากในท่อโดยหลีกเลี่ยงกับดักอีกด้านหนึ่งได้[19][20]

อีกาโคนปากขาวที่เลี้ยงในที่กักขังได้รับการบันทึกว่าเป็นนกชนิดหนึ่งในหลาย ๆ ชนิดที่นอกจากจะสามารถใช้เครื่องมือได้แล้ว ยังสามารถดัดแปลงเครื่องมือให้ตรงกับความต้องการได้ด้วย[21] อีกาโคนปากขาวเรียนรู้ได้ว่าหากพวกมันผลักก้อนหินออกจากแผ่นกระดานให้ตกลงไปในท่อ พวกมันจะได้รับอาหาร จากนั้นก็ค้นพบว่าพวกมันสามารถหาและนำก้อนหินมาไว้ที่ท่อหากตรงนั้นยังไม่มีก้อนหินอยู่ พวกมันยังสามารถใช้ไม้และลวดรวมทั้งหาวิธีการงอลวดให้เป็นตะขอเพื่อเข้าถึงสิ่งของได้ด้วย[22] อีกาโคนปากขาวมีความเข้าใจแนวคิดเรื่องระดับน้ำ เมื่อให้ก้อนหินจำนวนหนึ่ง ท่อที่มีน้ำอยู่เต็ม และรางวัลที่ลอยน้ำอยู่ พวกมันไม่เพียงแต่เข้าใจว่าต้องทิ้งก้อนหินลงไปในท่อเท่านั้น แต่ยังเข้าใจว่าควรใช้หินก้อนใดจึงจะดีที่สุดด้วย[23]

ในการทดลองชุดหนึ่ง อีกาโคนปากขาวสามารถเคาะรางวัลออกจากแท่นได้โดยการกลิ้งก้อนหินลงท่อไปที่ฐานของแท่น ดูเหมือนว่าอีกาโคนปากขาวจะเข้าใจความคิดที่ว่าหินที่หนักกว่าจะกลิ้งเร็วกว่าและมีแนวโน้มที่จะกระแทกแท่นให้ล้มได้มากขึ้น ในการทดสอบชุดเดียวกันนี้ อีกาโคนปากขาวแสดงให้เห็นว่าพวกมันเข้าใจว่าพวกมันจำเป็นต้องเลือกหินที่มีรูปร่างที่จะกลิ้งได้ง่าย[21]

อีกาโคนปากขาวยังแสดงความสามารถในการทำงานร่วมกัน (ปริศนาความร่วมมือ) เพื่อรับรางวัล ในการที่จะได้รับรางวัล อีกาแต่ละตัวจะต้องช่วยกันดึงเชือกเพื่อให้ฝากล่องยกขึ้นและพวกมันเข้าถึงรางวัลได้ แต่ดูเหมือนว่าอีกาโคนปากขาวจะไม่ชอบการทำงานเป็นกลุ่มเมื่อเทียบกับการทำงานเดี่ยว[24]

ยังดูเหมือนว่าพวกมันจะเข้าใจแนวคิดเรื่องแรงโน้มถ่วง ซึ่งเทียบได้กับทารกอายุ 6 เดือน และแม้แต่มีความสามารถเกินความสามารถของลิงชิมแปนซี[25] แม้ว่าพวกมันจะไม่ใช้เครื่องมือในธรรมชาติ แต่การศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นว่า อีกาโคนปากขาวสามารถทำเช่นนั้นได้ในการทดสอบความรู้ความเข้าใจที่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือ สามารถที่แข่งขันกับลิงชิมแปนซีได้ และในบางสถานการณ์ก็ทำได้ดีกว่าลิงชิมแปนซีอีกด้วย[26]

ความสัมพันธ์กับมนุษย์

แก้

เกษตรกรได้สังเกตเห็นอีกาโคนปากขาวในไร่นาของตนและมองว่าพวกมันเป็นศัตรูพืช หลังการการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ไม่ดีนักหลายฤดูกาลในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1500 พระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษได้ทรงออกพระราชบัญญัติศัตรูพืชฉบับหนึ่งใน ค.ศ. 1532 โดยสั่งทำลายนกกาสามจำพวกได้แก่ นกกาภูเขาปากแดง อีกา และอีกาโคนปากขาว เพื่อปกป้องพืชผลเฉพาะจากการลงขโมยกินของนกกาเหล่านั้น แต่พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้รับการบังคับใช้อย่างไม่เป็นกิจจะลักษณะนัก ถัดมาสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษได้ทรงออกพระราชบัญญัติเพื่อการอนุรักษ์ธัญผลใน ค.ศ. 1566 ซึ่งได้ยกระดับการบังคับใช้อย่างเข้มงวดและทำให้นกกาจำนวนมากถูกกำจัดไป[27]

ฟรานซิส วิลลาบี กล่าวถึงอีกาโคนปากขาวในหนังสือ ปักษีวิทยา (Ornithology, ค.ศ. 1678) ว่า "นกกาเหล่านี้เป็นที่ไม่พึงประสงค์อย่างยิ่งต่อข้าวโพดและธัญพืช ดังนั้นชาวไร่ชาวนาจำเป็นต้องจ้างคนเพื่อบีบแตร จุดประทัด เขย่ากระดิ่ง และแม้กระทั่งด้วยขว้างปาก้อนหิน เพื่อไล่นกเหล่านั้นออกไป"[28] นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงหุ่นไล่กา "ที่ถูกตั้งไว้ทั่วทุ่งนาและสวมเครื่องแต่งกายของแต่ละท้องถิ่น นกเหล่านี้เข้าใจว่าหุ่นเป็นชาวไร่ชาวนาจึงไม่กล้าเข้ามาใกล้พื้นดินที่มีหุ่นตั้งอยู่"[28] เป็นระยะเวลานานพอสมควรก่อนที่นักธรรมชาติวิทยาผู้ช่างสังเกตอย่างจอห์น เจ็นเนอร์ เวียร์ หรือทอมัส เพ็นนันต์ จะตระหนักได้ว่า อีกาโคนปากขาวให้ประโยชน์มากกว่าโทษในการกินศัตรูพืชที่อยู่ตามพื้นดิน[28]

รังฝูงของอีกาโคนปากขาวมักถูกมองว่าเป็นสิ่งน่ารำคาญในชนบทของสหราชอาณาจักร และในอดีตมีความนิยมไล่ยิงลูกนกอีกาโคนปากขาวที่ยังบินไม่ได้ (brancher) เป็นเกมกีฬา พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นไปทั้งทางสังคมและในฐานะแหล่งอาหาร เนื่องจากในสมัยนั้นพายเนื้อกระต่ายผสมเนื้อลูกอีกา (เมื่ออีกาโตเต็มวัยจะกินไม่ได้) ถือว่าเป็นอาหารอันโอชะอย่างหนึ่ง[29]

อีกาโคนปากขาวมีถิ่นที่อยู่กระจายตัวกว้างมากและมีประชากรทั้งหมดเป็นจำนวนมาก ภัยคุกคามหลักที่นกชนิดนี้เผชิญมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การใช้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และสารเคมีเคลือบเมล็ดพืช การถูกไล่ล่าด้วยการยิง แม้ว่าประชากรนกชนิดนี้อาจลดลงเล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้อยู่ในอัตราที่รวดเร็วจนก่อให้เกิดความกังวล และสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติได้ประเมินสถานะการอนุรักษ์ของอีกาโคนปากขาวว่า "มีความเสี่ยงต่ำต่อการสูญพันธุ์"

อนุกรมวิธานและศัพทมูลวิทยา

แก้

อีกาโคนปากขาวได้รับการตั้งชื่อทวินามว่า Corvus frugilegus โดยคาโรลัส ลินเนียส นักธรรมชาติวิทยาชาวสวีเดน กำหนดชื่อทวินามจากภาษาละตินไว้ในหนังสือ ระบบธรรมชาติ (Systema Naturae, ค.ศ. 1758) คำ Corvus แปลว่า "กา" และคำ frugilegus แปลว่า "ซึ่งเก็บผลไม้" แผลงมาจากคำ frux หรือ frugis ที่แปลว่า "ผลไม้" กับคำ legere ที่แปลว่า "เลือก, เก็บ"[30] ชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า rook มีที่มาจากเสียงร้องที่ดังและเกรี้ยวกราดของอีกาโคนปากขาว[31] พฤติกรรมการทำรังในอาณานิคมของพวกมันก่อให้เกิดคำในภาษาอังกฤษว่า rookery[32] ซึ่งในสหราชอาณาจักรยังใช้ในความหมายว่า "รังโจร"

อีกาโคนปากขาวไม่ใช่นกที่พบในประเทศไทย ยกเว้นที่เป็นนกพลัดหลงซึ่งพบได้น้อยมาก[33]

2 ชนิดย่อยที่ได้รับการยอมรับ[34] ได้แก่

  • อีกาโคนปากขาวตะวันตก (Corvus frugilegus frugilegus Linnaeus, 1758) – พบได้ตั้งแต่ยุโรปตะวันตก ไปจนถึงรัสเซียตอนใต้และบางส่วนทางตะวันตกเฉียงเหนือสุดของจีน[35][36][37]
  • อีกาโคนปากขาวตะวันออก (Corvus frugilegus pastinator Gould, 1845) – พบได้ตั้งแต่ไซบีเรียตอนกลางและมองโกเลียตอนเหนือ ไปทางตะวันออกทั่วเอเชียตะวันออก ได้แก่ จีน เกาหลี เกาะคีวชูของญี่ปุ่น[35][36][38]
ชนิดที่คล้ายกัน
อีกาโคนปากขาว อีกากินซาก อีกาแจ็กดอว์ นกเรเวน อีกาปากหนา
 
อีกาโคนปากขาว
 
อีกากินซาก
 
อีกาแจ็กดอว์
 
นกเรเวนหรืออีกาเรเวน
 
อีกาปากหนา
  • จะงอยปากเรียว
  • ผิวหนังที่เปลือยเปล่ารอบจะงอยปาก
  • ขนปีกที่หลวม ๆ
  • ขนโคนขาดกและหลวม
  • หัวแบน
  • โคนจะงอยปากมีขนสีดำ จะงอยปากสั้นและหนาโค้งลงเล็กน้อย
  • ปีกสั้น กว้าง ปลายปีกตัดดูคล้ายสี่เหลี่ยม
  • ขนที่แน่น
  • ขนโคนขาน้อยและแน่น
  • หัวส่วนบน (กระหม่อม) แบน
  • จะงอยปากสีดำ โคนจะงอยปากสั้นและหนา
  • ขนสีเทาขึ้นรอบคอและท้ายทอยอย่างเห็นได้ชัด
  • ตาสีขาว
  • ขนาดตัวค่อนข้างเล็ก
  • หัวส่วนบน (กระหม่อม) แบน หัวใหญ่
  • จะงอยปากแหลมสีดำ ปลายโค้งงอ โคนจะงอยปากมีขนหนาสีดำปกคลุม
  • ขนที่คอยาวกว่าซึ่งสามารถพองออก ตั้งชี้เป็นเหมือนเคราได้
  • จะงอยปากใหญ่มาก ยาว และหนา
  • ขนาดตัวค่อนข้างใหญ่
  • ขนสีออกเทาขึ้นรอบคอ และลำตัวด้านล่าง
นกพลัดหลงในประเทศไทย[33] ไม่พบในประเทศไทย ไม่พบในประเทศไทย ไม่พบในประเทศไทย นกประจำถิ่นของประเทศไทย[39]

อ้างอิง

แก้
  1. BirdLife International (2016). "Corvus frugilegus". IUCN Red List of Threatened Species. 2016. {{cite journal}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  2. "RSPB: Rook bird facts". สืบค้นเมื่อ 24 December 2020.
  3. Witherby, H. F., บ.ก. (1943). Handbook of British Birds, Volume 1: Crows to Firecrest. H. F. and G. Witherby Ltd. pp. 17–22.
  4. Witherby, H. F., บ.ก. (1943). Handbook of British Birds, Volume 1: Crows to Firecrest. H. F. and G. Witherby Ltd. pp. 17–22.
  5. Witherby, H. F., บ.ก. (1943). Handbook of British Birds, Volume 1: Crows to Firecrest. H. F. and G. Witherby Ltd. pp. 17–22.
  6. Heather, Barrie; Robertson, Hugh (2005). The Field Guide to the Birds of New Zealand. Penguin Group. ISBN 978-0-14-302040-0.
  7. Porter, R.E.R. (2013). "Rook". New Zealand Birds Online. สืบค้นเมื่อ 18 May 2019.
  8. Axel Siefke. Zug, Durchzug und Überwinterung der Saatkrähe (Corvus frugilegus) nach Beringungsergebnissen aus der DDR. Ber. Vogelwarte Hiddensee พิมพ์ครั้งที่ 8 (1987) หน้า 34-48.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 9.6 9.7 9.8 Witherby, H. F., บ.ก. (1943). Handbook of British Birds, Volume 1: Crows to Firecrest. H. F. and G. Witherby Ltd. pp. 17–22.
  10. Carlson, Lauren; Townsend, Kelsey. "Corvus frugilegus: Rook". ADW. สืบค้นเมื่อ 18 May 2019.
  11. Weisberger, Mindy (13 August 2018). "Brainy crows trained to pick up trash at theme park". Live Science. สืบค้นเมื่อ 18 May 2019.
  12. Goodwin, Derek (1955). "Some observations on the reproductive behaviour of rooks" (PDF). British Birds. 48 (3). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-05-18. สืบค้นเมื่อ 2021-01-05.
  13. 13.0 13.1 Carlson, Lauren; Townsend, Kelsey. "Corvus frugilegus: Rook". ADW. สืบค้นเมื่อ 18 May 2019.
  14. Carlson, Lauren; Townsend, Kelsey. "Corvus frugilegus (rook)". Animal Diversity Web (ภาษาอังกฤษ).
  15. Clayton, Nicola S.; Emery, Nathan J. (August 21, 2007). "The social life of corvids". Current Biology. 17 (16): R652–R656. doi:10.1016/j.cub.2007.05.070. PMID 17714658.
  16. "Rook | The Wildlife Trusts". www.wildlifetrusts.org.
  17. HBV Bd. 13/3 (1994) S. 1802–1803
  18. Euring-Datenblatt (englisch)
  19. Tebbich, Sabine; Seed, Amanda M.; Emery, Nathan J.; Clayton, Nicola S. (2007). "Non-tool-using rooks, Corvus frugilegus, solve the trap-tube problem". Animal Cognition. 10 (2): 225–231. doi:10.1007/s10071-006-0061-4. PMID 17171360.
  20. Seed, Amanda M.; Tebbich, Sabine; Emery, Nathan J.; Clayton, Nicola S. (2006). "Investigating Physical Cognition in Rooks, Corvus frugilegus". Current Biology. 16 (7): 697–701. doi:10.1016/j.cub.2006.02.066. PMID 16581516.
  21. 21.0 21.1 Bird, Christopher D.; Emery, Nathan J. (2009). "Insightful problem solving and creative tool modification by captive nontool-using rooks". Proceedings of the National Academy of Sciences. 106 (25): 10370–10375. doi:10.1073/pnas.0901008106. ISSN 0027-8424. PMC 2700937. PMID 19478068.
  22. Morelle, Rebecca (May 26, 2009). "Rooks reveal remarkable tool-use". BBC News. สืบค้นเมื่อ May 22, 2010.
  23. Bird, Christopher D.; Emery, Nathan J. (2009). "Rooks Use Stones to Raise the Water Level to Reach a Floating Worm". Current Biology. 19 (16): 1410–1414. doi:10.1016/j.cub.2009.07.033. PMID 19664926.
  24. Bugnyar, T. (2008). "Animal Cognition: Rooks Team up to Solve a Problem". Current Biology. 18 (12): R530–R532. doi:10.1016/j.cub.2008.04.057. PMID 18579099.
  25. Bird, Christopher D.; Emery, Nathan J. (2010). "Rooks perceive support relations similar to six-month-old babies". Proceedings of the Royal Society of London B: Biological Sciences. 277 (1678): 147–151. doi:10.1098/rspb.2009.1456. ISSN 0962-8452. PMC 2842627. PMID 19812083.
  26. Sample, Ian (26 May 2009). "Rooks rival chimpanzees in their ability to use tools". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 25 June 2019.
  27. Lovegrove, Roger (2007). Silent Fields: The Long Decline of a Nation's Wildlife. Oxford, United Kingdom: Oxford University Press. pp. 79–81, 162–63. ISBN 978-0-19-852071-9.
  28. 28.0 28.1 28.2 Froude, James Anthony; Tulloch, John (1857). "Rooks". Fraser's Magazine. Vol. 55 no. 327. pp. 297–311.
  29. Greenwood, Colin (2006). The Classic British Rook & Rabbit Rifle. Crowood Press. ISBN 978-1-86126-880-8.
  30. Jobling, James A (2010). The Helm Dictionary of Scientific Bird Names. London: Christopher Helm. pp. 119, 165. ISBN 978-1-4081-2501-4.
  31. "Rook". Oxford English Dictionary (3rd ed.). Oxford University Press. กันยายน 2005.
  32. "Rookery". The Oxford English Dictionary. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-02. สืบค้นเมื่อ 18 May 2019.
  33. 33.0 33.1 ภาพถ่ายนกทุกชนิดที่พบในประเทศไทย อีกาโคนปากขาว Rook 15 พฤศจิกายน 2561.
  34. Madge, S. (2019). "Rook (Corvus frugilegus)". Handbook of the Birds of the World Alive. Lynx Edicions, Barcelona. สืบค้นเมื่อ 27 May 2019.
  35. 35.0 35.1 "Corvus frugilegus (Rook) - Avibase". avibase.bsc-eoc.org.
  36. 36.0 36.1 "Rook (Corvus frugilegus)". fog.ccsf.edu.
  37. "Subspecies Corvus frugilegus frugilegus". iNaturalist.
  38. "Subspecies Corvus frugilegus pastinator". iNaturalist.ca.
  39. ภาพถ่ายนกทุกชนิดที่พบในประเทศไทย อีกาปากหนา Large-billed Crow สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2564.